ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การปฏิบัติธรรมมีลำดับอย่างไร.? พระพุทธองค์ตรัสไว้ดังนี้...  (อ่าน 2767 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ทรงมีหลักเกณฑ์ฝึกตามลำดับ (อย่างย่อ)

    ดูก่อนพราหมณ์ ! ในธรรมวินัยนี้ เราสามารถบัญญัติกฎเกณฑ์แห่งการศึกษาตามลำดับ การกระทำตามลำดับ และการปฏิบัติตามลำดับได้เหมือนกัน.

    ๑. พราหมณ์! เปรียบเหมือนผู้ชำนาญการฝึกม้า ได้ม้าชนิดที่อาจฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมฝึกให้รู้จักการรับสวมบังเหียนก่อน แล้วจึงค่อยฝึกอย่างอื่นๆให้ยิ่งขึ้นไป ฉันใด,
    พราหมณ์เอย! ตถาคตครั้นได้บุรุษที่พอฝึกได้มาแล้ว ในขั้นแรกย่อมแนะนำอย่างนี้ก่อน
    "มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้มีศิลสำรวมด้วยดีในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปรกติเห็นเป็นภัยแม้ในโทษที่เล็กน้อย  จงสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด" ดังนี้.

    ๒. พราหมณ์ ! ในการใดภิกานั้นเป็นผู้มีศิล (เช่นที่กล่าวแล้ว)ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า 
    "มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย ได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว
    จักไม่ถือเอาโดยนิมิตร(คือรวบถือทั้งหมด ว่างามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี)
    จักไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ (คือแยกถือเอาแต่บางส่วนว่าส่วนใดงามหรือไม่งามแล้วแต่กรณี), 
    บาปอกุศลกล่าวคือ อภิชฌาและโทมนัส  มักไหลไปตามอารมณ์ เพราะการไม่สำรวมจักขุอินทรีย์ใดเป็นเหตุ 
    เราจักสำรวมอินทรีย์นั้นไว้ เป็นผู้รักษาสำรวมจักขุอินทรีย์," ดังนี้.
    (ในกรณี โสตินทรีย์คือหู ฆานินทรีย์คือจมูก ชิวหาอินทรีย์คือลิ้น กายินทรีย์คือกาย และมนินทรีย์คือใจ ก็มีข้อความในเดียวกัน)

     ๓. พราหมณ์ ! ในการใด ภิกษุนั้นเป็นผู้สำรวมอินทรีย์(เช่นที่กล่าวนั้น)ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า 
     "มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอยู่เสมอ
     จงพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉัน ไม่ฉันเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อประดับตกแต่ง,
     แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อป้องกันความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์,
     โดยคิดว่า เราจักกำจัดเวทนาเก่า(คือหิว)เสีย แล้วไม่ทำเวทนาใหม่(คืออิ่มจนอึดอัด)ให้เกิดขึ้น.
     ความที่อายุดำเนินไปได้ ความไม่มีโทษเพราะอาหาร และความอยู่ผาสุกสำราญจักมีแก่เรา" ดังนี้.

    ๔. พราหมณ์ ! ในการใดภิกษุนั้นเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ(เช่นที่กล่าวนั้น) ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า 
     "มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (ไม่หลับ ไม่ง่วง ไม่มึนชา).
     จงชำระจิตใจให้หมดจดสิ้นเชิงจากอาวรณิยธรรมทั้งหลาย ด้วยการเดินการนั่งตลอดวันยันค่ำไปจนสิ้นยามแรกแห่งราตรี. 
     ครั้นยามกลางแห่งราตรี สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์(คือตะแคงขวาเท้าเหลื่อมเท้า) มีสติสัมปชัญญะในการลุกขึ้น.
     ครั้นถึงยามท้ายแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้วชำระจิตใจให้หมดจดจากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินการนั่ง อีกต่อไป"  ดังนี้.





    ๕. พราหมณ์ ! ในการใดภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (เช่นที่กล่าวนั้น)ดีแล้ว  ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า 
    "มาเถิดภิกษุ ! ท่านจงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ
    รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง,
    การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิบาตรจีวร, การฉัน  การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม,
    การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ, การไป การหยุด, การนั่ง การนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง" ดังนี้.


    ๖. พราหมณ์ ! ในการใดภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ (เช่นที่กล่าวนั้น)ดีแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า 
     "มาเถิดภิกษุ !  ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าละเมาะ โคนต้นไม้ ภูเขา ซอกห้วย ท้องถ้ำ  ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง). 
     ในการเป็นปัจฉาภัตต์  กลับจากบิณฑบาตแล้ว  นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า, 
     ละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌาคอยชำระจิตจากอภิชฌา,
     ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณามีจิตหวังความเกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตจากพยาบาท, 
     ละถีนะมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนะมิทธะ, 
     มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัว คอยชำระจิตจากถีนะมิทธะ, 
     ละอุทธัจจะกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน คอยชำระจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะ, 
     ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า"นี่อะไร นี่อย่างไร" ในกุศลธรรมทั้งหลาย(เพราะความสงสัย) คอยชำระจิตจากวิจิกิจฉา" ดังนี้.

     ภิกษุนั้นครั้นละนิวรณ์ห้าประการ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทำปัญญาให้ถอยจากกำลังเหล่านี้
     จึงบรรลุฌานที่ ๑ มีวิตกวิจาร มีปิติและสุขอันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่,
     เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุฌานที่ ๒ เป็นเครื่องผ่องในภายใน เป็นที่เกิดสมาธิแห่งใจไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปิติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่, 
     เพราะความจางแห่งปิติ ย่อมอยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุฌานที่ ๓ อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข,
     และเพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงได้บรรลุฌานที่ ๔ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่มีสติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่.





     พราหมณ์เอย! ภิกษุเหล่าใดที่ยังเป็นเสขะ(คือยังต้องทำต่อไป) ยังไม่บรรลุอรหัตตมรรค ยังปรารถนานิพพานอันเป็นที่เกษมจากโยคะ ไม่มีอื่นยิ่งไปกว่าอยู่,
     คำสอนที่กล่าวมานี้แหละ เป็นคำสอนสำหรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น. 
     ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว จบพรหมจรรย์แล้ว, ธรรมทั้งหลาย(ในคำสอน)เหล่านี้ เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ด้วย.



ที่มา http://www.bds53.com/index.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=89
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ้ค Weera Sukmetup Phrakrusittisongvon และ http://lh3.ggpht.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 06, 2020, 04:36:55 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


    การศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ สรุปได้ ๗ ประการ
    ๑. จงเป็นผู้มีศิลสำรวมด้วยดีในปาติโมกข์
    ๒. จงเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย
    ๓. จงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอยู่เสมอ
    ๔. จงประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น (ไม่หลับ ไม่ง่วง ไม่มึนชา)
    ๕. จงเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ
    ๗. จงเสพเสนาสนะอันสงัด



       ask1 ask1 ask1
       ข้อธรรมนี้อยู่ในพระสูตรใด.?

       ans1 ans1 ans1
        อยู่ใน "คณกโมคคัลลานสูตร"
       เป็นพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
       และยังมีอีกสูตรที่คล้ายกัน คือ มหาอัสสปุรสูตร ว่าด้วยธรรมทำความเป็นสมณพราหมณ์
       อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
       ขอยกเอา "คณกโมคคัลลานสูตร" มาแสดงโดยสังเขปดังนี้





คณกโมคคัลลานสูตร

     [๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขา มิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์คณกะโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วได้ทักทายปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า


     ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ตัวอย่างเช่น ปราสาทของมิคารมารดาหลังนี้ ย่อมปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือ กระทั่งโครงร่างของบันไดชั้นล่าง
     แม้พวกพราหมณ์เหล่านี้ ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือ ในเรื่องเล่าเรียน
    แม้พวกนักรบเหล่านี้ ก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับคือ ในเรื่องใช้อาวุธ
    แม้พวกข้าพเจ้าผู้เป็นนักคำนวณ มีอาชีพในทางคำนวณก็ปรากฏมีการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ คือ ในเรื่องนับจำนวน เพราะพวกข้าพเจ้าได้ศิษย์แล้ว เริ่มต้นให้นับอย่างนี้ว่า หนึ่งหมวดหนึ่ง สอง หมวดสอง สาม หมวดสาม สี่ หมวดสี่ ห้า หมวดห้าหก หมวดหก เจ็ด หมวดเจ็ด แปด หมวดแปด เก้า หมวดเก้า สิบหมวดสิบ ย่อมให้นับไปถึงจำนวนร้อย


    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์อาจหรือหนอ
    เพื่อจะบัญญัติ "การศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ"
    ในธรรมวินัยแม้นี้ ให้เหมือนอย่างนั้น ฯ


    :25: :25: :25:

    [๙๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
    ดูกรพราหมณ์ เราอาจบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ ในธรรมวินัยนี้ได้ เปรียบเหมือนคนฝึกม้าผู้ฉลาด ได้ม้าอาชาไนยตัวงามแล้ว เริ่มต้นทีเดียว ให้ทำสิ่งควรให้ทำในบังเหียน ต่อไปจึงให้ทำสิ่งที่ควรให้ทำยิ่งๆ ขึ้นไป ฉันใด
     ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ตถาคตได้บุรุษที่ควรฝึกแล้วเริ่มต้น ย่อมแนะนำอย่างนี้ว่า
     ดูกรภิกษุ มาเถิด เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด ฯ


    [๙๕] ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวรถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ เป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายแล้ว ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า
     ดูกรภิกษุมาเถิด เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เธอเห็นรูปด้วยจักษุแล้วจงอย่าถือเอาโดยนิมิต อย่าถือเอาโดยอนุพยัญชนะ...ฯลฯ......

____________________________________________________
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=1571&Z=1734
ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ้ค Weera Sukmetup Phrakrusittisongvon และ http://lh5.ggpht.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 06, 2013, 11:41:59 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ