เรื่องทั่วไป > ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน)

“พหูสูต” มีคุณสมบัติอย่างไร ใครคือ "พหูสตที่แท้จริง"

(1/2) > >>

raponsan:

“พหูสูตร” มีคุณสมบัติอย่างไร ใครคือ "พหูสตที่แท้จริง"
พหูสูต น. ผู้มีความรู้เพราะได้สดับตรับฟังหรือศึกษาเล่าเรียนมามาก. (ป. พหุสฺสุต).

ที่มา   พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

พหูสูตมีองค์ ๕ (คุณสมบัติที่ทำให้ควรได้รับชื่อว่าเป็นพหูสูต คือ ผู้ได้เรียนรู้มาก หรือคงแก่เรียน)

๑. พหุสสุตา (ฟังมาก คือ ได้เล่าเรียนสดับฟังไว้มาก)

๒. ธตา (จำได้ คือ จับหลักหรือสาระได้ ทรงจำความไว้แม่นยำ)

๓. วจสา ปริจิตา (คล่องปาก คือ ท่องบ่นหรือใช้พูดอยู่เสมอจนแคล่วคล่อง จัดเจน)

๔. มนสานุเปกขิตา (เพ่งขึ้นใจ คือ ใส่ใจนึกคิดพิจารณาจนเจนใจ นึกถึงครั้งใด ก็ปรากฏเนื้อความสว่างชัด)

๕. ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา (ขบได้ด้วยทฤษฎี หรือ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ คือ ความเข้าใจลึกซึ้ง มองเห็นประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา ทั้งในแง่ความหมายและเหตุผล)
 
องฺ.ปญฺจก.๒๒/๘๗/๑๒๙.
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม(ป.อ.ปยุตโต)

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒
พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๗. สีลสูตร

   [๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นที่รักเป็นที่พอใจ เป็นทีเคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ

        ภิกษุผู้เถระเป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกขสังวรถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจร มีปรกติ
เห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑

           เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ
           - เป็นผู้ได้สดับมาก
           - ทรงจำไว้
           - คล่องปาก
           - ขึ้นใจ 
           - แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ
ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑

     เป็นผู้มีวาจาไพเราะ พูดวาจาอ่อนหวาน ประกอบด้วยวาจาของชาวเมืองที่สละสลวย ไม่มีโทษ ให้รู้ความหมายได้ ๑

     เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑ 

     กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ
ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๕ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจรรย์ ฯ
                 
     จบสูตรที่ ๗

ที่มา ประไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน

raponsan:

ทรงบวชเจ้านันทะและพระโอรสราหุล

พระอานนท์เถระ
เอตทัคคะในทางผู้เป็นพหูสูต
    พระอานนท์ เป็นพระราชโอรสของพระสุกโกทนะ ผู้เป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดานามว่า พระนางกีสาโคตมี มีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระบรมศาสดา (พระราชโอรสของพระเจ้าอา) ออกบวชพร้อมกับเจ้าชายอนุรุทธะและอุบาลี (ศึกษาประวัติเบื้องต้นในประวัติของพระอนุรุทธเถระ) เมื่อท่านบวชแล้ว ได้ฟังโอวาทจากพระปุณณมันตานี ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
 


ได้รับเลือกเป็นพุทธอุปัฎฐาก
     ในช่วงปฐมโพธิกาลหลังจากตรัสรู้แล้ว ๒๐ พรรษานั้น ยังไม่มีพระภิกษุใดปฏิบัติรับใช้พระพุทธองค์เป็นประจำ มีแต่พระภิกษุผลัดเปลี่ยนวาระกันปฏิบัติ เช่น พระนาคสมาละ พระนาคิตะ พระอุปวาณะ พระสาคตะ และพระเมฆิยะ เป็นต้น บางคราวการผลัดเปลี่ยนบกพร่อง องค์ที่ปฏิบัติอยู่ออกไป แต่องค์ใหม่ยังไม่มาแทน ทำให้พระพุทธองค์ต้องประทับอยู่ตามลำพังขาดผู้ปฏิบัติ

     บางครั้งพระภิกษุผู้ปฏิบัติ ก็ดื้อดึงขัดรับสั่งของพระพุทธองค์ เช่นครั้งหนึ่ง เป็นวาระของพระนาคสมาลเถระ ท่านได้ตามเสด็จพระพุทธองค์ไปทางไกล พอถึงทาง ๒ แพร่ง พระเถระทราบทูลว่า
    “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์เสด็จไปทางนี้เถิด พระเจ้าข้า”
    “อย่าเลย นาคสมาละ ไปอีกทางหนึ่งจะดีกว่า”
    พระนาคสมาละ ไม่ยอมเชื่อฟังพระดำรัส ขอแยกทางกับพระพุทธองค์ ทำท่าจะวางบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคที่พื้นดิน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
    “นาคสมาละ เธอจงส่งบาตรและจีวรมาให้ตถาคตเถิด”

    พระนาคสมาละ ถวายบาตรและจีวรแด่พระพุทธองค์แล้วแยกทางเดินไปตามที่ตนต้องการ ไปได้ไม่ไกลนักก็ถูกพวกโจรทำร้ายจนศีรษะแตกแล้วแย่งชิงเอาบาตรและจีวรไป ทั้งที่เลือดอาบหน้ารีบกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเล่าเรื่องให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
    “อย่าเสียใจไปเลย นาคสมาละ ตถาคตห้ามเธอก็เพราะเหตุนี้”

    พระพุทธองค์ ได้รับความลำบากพระวรกายเพราะถูกปล่อยให้ประทับอยู่ตามลำพังหลายครั้ง จึงมีพระดำรัสรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์เลือกสรรภิกษุทำหน้าที่ปฏิบัติพระองค์เป็นประจำ ภิกษุทั้งหลายมีฉันทามติมอบหมายให้พระอานนท์เถระรับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากตลอดกาลเป็นนิตย์ ด้วยเห็นว่าท่านเป็นผู้มีสติปัญญา ขยัน อดทน รอบคอบ และเป็นพระญาติใกล้ชิด ย่อมจะทราบพระอัธยาศัยเป็นอย่างดี
 


พระเถระทูลขอพร ๘ ประการ
    แต่ก่อนที่พระเถระจะตอบรับทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากนั้น ท่านได้กราบทูลขอพร ๘
ประการ ดังนี้:-
    ๑ ขออย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์
    ๒ ขออย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
    ๓ ขอได้โปรดอย่าให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
    ๔ ขอได้โปรดอย่าพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์
    ๕ ขอพระองค์จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้
    ๖ ขอให้ข้าพระองค์พาบริษัทที่มาจากแดนไกลเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาถึงแล้ว
    ๗ ถ้าข้าพระองค์เกิดความสงสัยขึ้นเมื่อใดขอให้ข้าพระองค์เข้าเฝ้าทูลถามความสงสัยได้เมื่อนั้น
    ๘ ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ขอได้โปรดตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องนั้น แก่ข้าพระองค์อีกครั้ง
 
พระอานนท์ได้เป็นอุปัฏฐากประจำพระองค์ พระอานนท์ทูลขอพร ๘ ประการ

พระพุทธองค์ตรัสถามคุณและโทษของพร ๘ ประการ
    พระบรมศาสดา ได้สดับคำกราบทูลขอพรของพระอานนท์เถระแล้ว ได้ตรัสถามถึงคุณและโทษของพร ๘ ประการว่า:-
    “ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นคุณและโทษอย่างไร จึงขออย่างนั้น ?”
    “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ ๑-๔ ข้างต้น ก็จะมีคนพูดติฉินนินทา ได้ว่า พระอานนท์ ปฏิบัติบำรุงอุปัฏฐากพระบรมศาสดา จึงได้ลาภสักการะมากมายอย่างนี้ การปฏิบัติอุปัฏฐากมิได้หนักหนาอะไรเลย และถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ ๕-๗ ก็จะมีคนพูดได้อีกว่า พระอานนท์จะบำรุงอุปัฏฐากพระบรมศาสดาไปทำไม แม้กิจเพียงเท่านี้ พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุเคราะห์

    อนึ่ง โดยเฉพาะถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อสุดท้ายแล้ว หากมีผู้มาถามข้าพระองค์ว่า ธรรมข้อนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้าพระองค์ไม่ทราบ เขาก็จะตำหนิได้ว่า พระอานนท์ ติดตามพระบรมศาสดาไปทุกหนแห่ง ดุจเงาตามพระองค์ แต่เหตุไฉนจึงไม่รู้แม้แต่เรื่องเพียงเท่านี้
    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นคุณและโทษ ดังกล่าวมานี้ จึงได้กราบทูลขอพรทั้ง ๘ ประการนั้น พระเจ้าข้า”

    พระบรมศาสดา เมื่อได้สดับคำชี้แจงของพระอานนท์แล้ว จึงประทานสาธุการ และ พระราชทานอนุญาตให้ตามที่ขอทุกประการ ตั้งแต่นั้นมา ท่านพระเถระก็ปฏิบัติหน้าที่บำรุงอุปัฏฐากพระพุทธองค์ตลอดมา ตราบเท่าถึงเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน
 


ยอมสละชีวิตแทนพระพุทธองค์
    พระเถระ ได้ปฏิบัติหน้าที่อุปัฏฐากพระบรมศาสดาด้วยความอุตสาหะมิได้บกพร่อง อีกทั้งมีความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ชีวิตของตนก็ยอมสละแทนพระพุทธองค์ได้ เช่น ในคราวที่พระเทวทัตยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างนาฬาคีรี ด้วยหวังจะให้ทำอันตรายพระพุทธองค์ ขณะเสด็จออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์

    ในขณะที่ช้างนาฬาคีรีวิ่งตรงเข้าหาพระพุทธองค์นั้น พระอานนท์เถระผู้เปี่ยมล้นด้วยความกตัญญูและความจงรักภักดี ได้ยอมมอบกายถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ได้ออกไปยืนขวางหน้าช้างไว้ หวังจะให้ทำอันตรายตนแทน
    แต่พระพุทธองค์ได้ทรงแผ่พระเมตตาไปยังช้างนาฬาคีรี ด้วยอำนาจแห่งพระเมตตาบารมี ทำให้ช้างสร่างเมาหมดพยศ ลดความดุร้ายยอมหมอบถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วลุกขึ้นเดินกลับเข้าสู่โรงช้าง ด้วยอาการอันสงบ

ได้รับยกย่องหลายตำแหน่ง
     พระอานนท์เถระ ได้ปฏิบัติพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด มิได้ประมาทพลาดพลั้ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาทั้งที่ทรงแสดงแก่ตนและผู้อื่น ทั้งที่แสดงต่อหน้าและลับหลัง อีกทั้งท่านเป็นผู้มีสติปัญญาทรงจำไว้ได้มาก จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรม พระบรมศาสดาทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวง ถึง ๕ ประการ คือ
    เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ เป็นผู้มีคติ เป็นผู้มีความเพียร และเป็นพุทธอุปัฏฐาก



ปฐมสังคายนารับหน้าที่สำคัญ
     ในกาลที่พระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพาน พระอานนท์เถระมีความน้อยเนื้อต่ำใจที่ตนยัง เป็นพระโสดาบันอยู่ อีกทั้งพระบรมศาสดาบรมครูก็จะเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานในอีกไม่ช้า จึงหลีกออกไปยืนร้องไห้แต่เพียงผู้เดียวข้างนอก พระพุทธองค์รับสั่งให้ภิกษุไปเรียกเธอมาแล้ว ตรัส เตือนให้เธอคลายทุกข์โทมนัสพร้อมทั้งตรัสพยากรณ์ว่า....
    “อานนท์ เธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันทำปฐมสังคายนา”

    เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้นัดประชุมพระอรหันต์ขีณาสพ จำนวน ๕๐๐ องค์ เพื่อทำปฐมสังคายนา โดยมอบให้พระอานนท์รับหน้าที่วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม แต่เนื่องจากพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ท่านจึงเร่งทำความเพียรอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่สำเร็จจนเกิดความอ่อนเพลีย

    ท่านจึงปรารภที่จะพักผ่อนอิริยาบถสักครู่ จึงเอนกายลงบนเตียง ในขณะที่เท้าพ้นจากพื้น ศีรษะกำลังจะถึงหมอน ท่านก็สำเร็จเป็นพะอรหันต์ ในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง ๔ อย่าง คือ อิริยาบถยืน เดิน นั่ง หรือนอน นับว่าท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แปลกกว่าพระเถระรูปอื่นๆ
 
พระอานนท์ต้องปล่อยให้สุภัททะปริพาชกเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

ปรินิพพานกลางอากาศ
    พระอานนท์เถระ ดำรงอายุสังขารอยู่นานถึง ๑๒๐ ปี พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะปรินิพพานได้แล้ว ท่านจึงเชิญญาติทั้งฝ่ายศากยะและฝ่ายโกลิยะ ไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ ก่อนที่จะปรินิพพาน ท่านเหาะขึ้นไปบนอากาศได้แสดงธรรมสั่งสอนเทวดาและพระประยูรญาติทั้งสองฝ่าย ตลอดทั้งพุทธบริษัทอื่น ๆ เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้วท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า....

    “เมื่ออาตมานิพพานแล้ว ขอให้อัฐิธาตุของอาตมานี้จงแยกออกเป็น ๒ ส่วน จงตกลงที่ฝั่งกรุงกบิลพัสดุ์ ของพระประยูรญาติฝ่ายศากยวงศ์ ส่วนหนึ่ง และจงตกที่ฝังกรุงเทวทหะของพระประยูรญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ส่วนหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายทะเลาะวิวาทกันเพราะแย่งอัฐิธาตุ”

    ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ณ เบื้องบนอากาศ ในท่ามกลางแม่น้ำโรหิณี นั้น เตโชธาตุก็เกิดขึ้น เผาสรีระของท่านเหลือแต่กระดูกและแยกออกเป็น ๒ ส่วน แล้วตกลงบนพื้นดินของ ๒ ฝั่งแม่น้ำโรหิณีนั้นสมดังที่ท่านอธิษฐานไว้ทุกประการ
    ท่านได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวกที่ได้บรรลุกิเลสนิพพาน และขันธนิพพานแปลกกว่าพระสาวกรูปอื่น ๆ

ที่มา http://84000.org/one/1/12.html

raponsan:

ภาพที่ ๖๘
มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ว่า ทรงปลงอายุสังขารแล้วอีกสามเดือนจะนิพพาน
สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
    เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร  คือ  ทรงประกาศกำหนดวันจะเสด็จนิพพานไว้ล่วงหน้า
ถึง  ๓  เดือน   พลันก็ยังเกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว  ผู้คนที่ได้ทราบข่าวต่างๆ  เกิดขนลุก   ปฐมสมโพธิว่ากลอง
ทิพย์ก็บันลือไปในอากาศ  พระอานนท์ประสบเหตุอัศจรรย์นั้น  จึงออกจากร่มพฤกษาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว
ทูลถามถึงเหตุเกิดอัศจรรย์  คือแผ่นดินไหว  พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า  เหตุที่จะเกิดแผ่นดินไหว
นั้นมี  ๘  อย่าง  คือ
 
         ๑.   ลมกำเริบ
         ๒.   ผู้มีฤทธิ์บันดาล
         ๓.   พระโพธิสัตว์จุติจากชั้นดุสิต  มีสติสัมปชัญญะ  ลงสู่พระครรภ์พระมารดา
         ๔.   พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ  ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา
         ๕.   พระพุทธเจ้าตรัสรู้
         ๖.   พระพุทธเจ้าตรัสปฐมเทศนา
         ๗.   พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร
         ๘.   พระพุทธเจ้านิพพาน
 
   พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า  ที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ในวันนี้   เกิดจากพระองค์ทรง
ปลงอายุสังขาร  พอได้ฟังดังนั้น  พระอานนท์นึกได้  คือ  ได้สติตอนนี้  จึงจำได้ว่าพระพุทธเจ้าเคยตรัสบอก
ท่านว่า  ธรรมะ  ๔  ข้อที่เรียกว่า   อิทธิบาท  ๔  คือ    ความพอใจ  ความเพียง  ความฝักใฝ่  และความใตร่
ตรอง   ถ้าผู้ใดได้บำเพ็ญปฏิบัติให้เต็มเปี่ยมแล้ว  ปรารถนาจะให้ชีวิตซึ่งถึงกำหนดดับหรือตาย  ได้มีอายุยืน
ยาวต่อไปอีกระยะหนึ่งก็ย่อมทำได้
 
   พอนึกได้เช่นนี้   พระอานนท์จึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า  ให้ทรงใช้อิทธิบาท  ๔  นั้น
ต่อพระชนมายุยืนยาวต่อไปอีก  พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธถึง ๓  ครั้ง  ตรัสว่าพระองค์เคยทรงแสดงโอภาส
นิมิต  (บอกใบ้)  ให้พระอานนท์ทูลอารธนาพระองค์ให้มีพระชนมายุสืบต่อไปอีกก่อนหลายครั้ง  และหลาย
แห่งแล้ว    ซึ่งถ้าพระอานนท์นึกได้แล้วทูลอาราธนา    พระองค์ก็จะทรงรับคำอาราธนาเพื่อต่อพระชนมายุ
ของพระองค์ออกไปอีก    ว่าอย่างสามัญก็ว่า  พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า  "สายเสียแล้ว"  เพราะ
พระองค์ได้ประกาศปลงอายุสังขารว่าจะนิพพานเสียแล้ว

ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/picture/f68.html

raponsan:

ภาพที่ ๗๑
เสด็จไปกรุงกุสินารา ทรงกระหายน้ำ โปรดให้พระอานนท์ ไปตักน้ำมาถวาย
สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
    ระหว่างทางเสด็จไปเมืองกุสินารา  ภายหลังทรงฉันสูกรมัททวะของนายจุนทะแล้ว    พระ
พุทธเจ้าทรงประชวรด้วยพระโรคปักขันธิกาพาธอย่างหนัก  จวนเจียนจะเสด็จนิพพาน  ณ  ที่นั้นเสีย  ก่อน
กำหนด  แต่ทรงระงับอาพาธนั้นเสียได้ด้วยขันติบารมี  คือ  ความอดกลั้น

   ปักขันธิกาพาธเป็นพระโรคอย่างหนึ่งซึ่งเกิดประจำพระองค์พระพุทธเจ้า    คือทรงพระบัง
คนถ่ายออกมาเป็นโลหิต  มีผู้สันนิษฐานกันว่าคงได้แก่  ริดสีดวงลำไส้

   เพราะเหตุที่ประชวรพระโรคดังกล่าว  พระพุทธเจ้าจึงทรงลำบากพระกายมาก  แต่ทรงมี
พระสติสัมปชัญญะ  ไม่ทรงทุรนทุราย

   เสด็จถึงระหว่างทางแห่งหนึ่ง    ซึ่งมีแม่น้ำเล็กๆ  มีน้ำไหล    พระพุทธเจ้าแวะลงข้างทาง 
เข้าประทับใต้ร่มพฤกษาแห่งหนึ่ง      ตรัสบอกพระอานนท์ให้พับผ้าสังฆาฏิเป็น   ๔   ชั้นแล้วปูลาดถวาย 
เสด็จนั่งเพื่อพักผ่อน  แล้วตรัสให้พระอานนท์นำบาตรไปตักน้ำในแม่น้ำ

   "เราจักดื่มระงับความกระหายให้สงบ"  พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์

   พระอานนท์กราบทูลว่าแม่น้ำตื้นเขิน  เกวียนประมาณ  ๕๐๐  เล่มของพวกพ่อค้าเกวียนเพิ่ง
ข้ามแม่น้ำผ่านไปเมื่อสักครู่นี้    เท้าโคล้อเกวียนบดย่ำทำให้น้ำในแม่น้ำขุ่น      แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า 
"อีกไม่ไกลแต่นี้  มีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อกุกกุฏนที  มีน้ำใส  จืดสนิท  เย็น  มีท่าน้ำสำหรับลงเป็นที่รื่นรมย์  ขอ
เชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  ไปที่แม่น้ำนั้นเถิด  พระเจ้าข้า"

   พระพุทธเจ้าตรัสปฏิเสธคำทูลทัดทานของพระอานนท์ถึง ๓ ครั้ง  พระอานนท์จึงอุ้มบาตร
เดินลงไปตักน้ำในแม่น้ำ  ครั้นเห็นน้ำ  พระอานนท์ก็อัศจรรย์ใจนักหนา  พลางรำพึงว่า

   "ความที่พระตถาคตพุทธเจ้ามีฤทธิ์และอานุภาพใหญ่หลวงเช่นนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก  แม่
น้ำนี้ขุ่นนัก  เมื่อเราเข้าไปใกล้เพื่อจะตัก  น้ำกลับใสไม่ขุ่นมัว"

   ครั้นแล้วพระอานนท์ก็นำบาตรตักน้ำนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า


ที่มา  http://www.84000.org/tipitaka/picture/f71.html

raponsan:

ภาพที่ ๗๓
เสด็จถึงสาลวันกรุงกุสินารา โปรดให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างไม้รังทั้งคู่
สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
   พระพุทธเจ้าพร้อมกับพระสงฆ์บริวารเสด็จไปถึงชานเมืองกุสินาราในเวลาจวนค่ำ  เสด็จข้าม
แม่น้ำหิรัญวดี  แล้วเสด็จเข้าไปในอุทยานนอกเมืองนั้น  ที่มีชื่อว่า  'สาลวโนทยาน'

   เมืองต่างๆ  ในสมัยพระพุทธเจ้าส่วนมาก   มีอุทยานเหมือนสวนสาธารณะอย่างทุกวันนี้   สำ
หรับประชาชนในเมืองและชนชั้นปกครองได้อาศัยเป็นที่พักผ่อนกันทั้งนั้น  กรุงราชคฤห์ก็มีอุทยานชื่อ  ลัฏฐิ
วันที่เรียกว่าสวยตาลหนุ่ม   กบิลพัสดุ์เมืองประสูติของพระพุทธเจ้าก็มีลุมพินีวัน   กุสินาราจึงมีสาลวโนยาน
ดังกล่าว

   สาลวโนทยานอยู่นอกเมืองกุสินารา     มีต้นไม้ใหญ่สองต้นเคียงคู่กันอยู่   เรียกว่า   'ต้นสาละ' 
อุทยานแห่งนี้จึงได้นามตามต้นสาละว่าสาลวโนยานดังกล่าว

   เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงอุทยานแห่งนี้แล้ว   ตรัสสั่งให้พระอานนท์ตั้งเตียง  หันทางเบื้อง
ศีรษะ  ไปทางทิศเหนือ  ให้เตียงอยู่ระหว่างใต้ต้นสาละทั้งคู่  ตรัสว่า  "เราลำบากและเหน็ดเหนี่อยมาก  จัก
นอนระงับความลำบากนั้น"

   พระอานนท์จัดตั้งเตียงและปูผ้ารองเสร็จแล้ว  พระพุทธเจ้าเสด็จบรรทมตะแคงข้างขวา หัน
พระเศียรไปทางทิศเหนือ  ตั้งพระบาทซ้อนเหลี่ยมกัน   ดำรงสติสัมปชัญญะแล้วตั้งพระทัยจะเสด็จบรรทม
เป็นไสยาวสาน  (นอนเป็นครั้งสุดท้าย)  เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  'อนุฐานไสยา'  แปลว่า  นอนโดยจะไม่ลุกขึ้นอีก

   ปฐมสมโพธิว่า  "ในขณะนั้นเอง   มิใช่ฤดูกาลจะออกดอกเลย   แต่สาละทั้งคู่ก็ผลิดอกออกบาน 
ตั้งแต่โคนรากเบื้องต้นถึงยอด และทั่วทุกกิ่งสาขาก็ดาดาด (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานใช้  ดารดาษ 
หรือดาษดา)  ด้วยดอกแลสะพรั่ง   แล้วดอกสาละนั้น   ก็ร่วงหล่นลงบูชาพระพุทธเจ้า  ดอกมณฑารพดอกไม้
ทิพย์ของสวรรค์ตลอดถึงจุณจันทน์สุคนธชาติของทิพย์ก็โปรยปรายลงจากอากาศ  ดนตรีสวรรค์ก็บันลือประ
โคม  เป็นมหานฤนาทโกลาหลเพื่อจะบูชาพระพุทธเจ้าในกาลอันเป็นอวสานพระองค์"


ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/picture/f73.html

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป