ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การตั้งสตรีหรือบุรุษมีศีล ให้เป็นใหญ่ในเรือน  (อ่าน 46 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28550
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



การตั้งสตรีหรือบุรุษมีศีล ให้เป็นใหญ่ในเรือน

พระพุทธเจ้าตรัสถึงแนวคิดเกี่ยวกับผู้บริหารหรือผู้นำที่ดีมีคุณธรรมศีลธรรม มีผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของตระกูลหรือองค์กรหรือองค์การไว้ว่า

    “เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้น ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข”

การแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลให้รับผิดชอบงาน จึงต้องมีการกำหนดคุณสมบัติให้เหมาะสม

@@@@@@@

๑. แนวคิดการกำหนดคุณสมบัติผู้รับผิดชอบงาน

พระพุทธองค์ตรัสถึง ผลกระทบด้านบวกของความมีศีล ที่มีต่อเสถียรภาพของตระกูลหรือองค์การว่า บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูลพราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป และเขาก็ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

ตรัสว่า บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมสว่างโชติช่วงดังดวงไฟ เมื่อบุคคลสะสมโภคทรัพย์อยู่ดังตัวผึ้งสร้างรัง โภคทรัพย์ของเขาก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น ดุจจอมปลวกที่ตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น...

คนชอบนอนหลับในกลางวัน ไม่ลุกขึ้นในกลางคืน เป็นนักเลงขี้เมาประจำ ไม่สามารถครองเรือนได้ ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยหนุ่มสาวที่ละทิ้งการงานโดยอ้างว่า เวลานี้หนาวเกินไป เวลานี้ร้อนเกินไป เวลานี้เย็นเกินไป เป็นต้น ส่วนผู้ใดทำหน้าที่ของบุรุษ ไม่ใส่ใจความหนาว ความร้อน ยิ่งไปกว่าหญ้า ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุข

ในสาธุสีลชาดก พราหมณ์ถาม พระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์ว่า ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ว่า บรรดาคน ๔ คน คือ
    (๑) คนมีรูปงาม
    (๒) คนมีอายุ
    (๓) คนมีชาติสูง
    (๔) คนมีศีลธรรม
ท่านจะเลือกใครหนอ.? อาจารย์ฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว กล่าวว่า ร่างกายก็มีประโยชน์ ข้าพเจ้าขอทำความนอบน้อมต่อท่านผู้เจริญวัย ชาติสูงก็มีประโยชน์ แต่ข้าพเจ้าชอบใจศีล


@@@@@@@

๒. แนวคิดการแต่งตั้งและมอบหมายงาน

แนวคิดในการแต่งตั้งหรือมอบหมายงานนี้ มีปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง เช่น การแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ การแต่งตั้งเจ้าอธิการต่าง ๆ และมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายให้รับผิดชอบงานไว้อย่างชัดเจน

    ๒.๑ การแต่งตั้งอุปัชฌาย์ อาจารย์ และคุณสมบัติผู้ควรเป็นอุปัชฌา อาจารย์
    พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตอุปัชฌาย์ คือ ทรงแต่งตั้งมอบหมายพระอรหันตสาวกให้ดำรงตำแหน่งเป็พระอุปัชฌาย์ เพื่อช่วยให้อุปสมบทคอยตักเตือนพร่ำสอนภิกษุเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ทรงตั้งอาจารย์ เพื่อให้นิสสัยแก่อันเตวาสิกผู้อยู่อาศัยด้วย

ทรงกำหนดคุณสมบัติของภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ไว้ว่า ภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌาย์ให้อุปสมบท ควรเป็นอาจารย์ให้นิสสัย ควรใช้สามเณรให้อุปัฏฐาก ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๖ ประการ คือ
    (๑) รู้จักอาบัติ
    (๒) รู้จักอนาบัติ
    (๓) รู้จักอาบัติเบา
    (๔) รู้จักอาบัติหนัก
    (๕) จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารได้ดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะได้ดี
    (๖) มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ และคุณธรรม ๑๐ ประการ

    ๒.๒ การตั้งเจ้าอธิการ และคุณสมบัติผู้ควรเป็นเจ้าอธิการ
    พระพุทธเจ้าได้ตั้งพระภิกษุให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอธิการต่างๆ เพื่อช่วยรับภาระในกิจการงาน คณะสงฆ์ที่มีเพิ่มขึ้นตามการเจริญรุ่งเรืองและการขยายตัวขององค์กรสงฆ์ พร้อมทรงกำหนดคุณสมบัติสำหรับภิกษุผู้ควรดำรงตำแหน่งเจ้าอธิการต่าง ๆ ไว้ด้วย เช่น พระภัตตุทเทสก์ มีหน้าที่แจกภัตพระเสนาสน ปัญญาปกะ มีหน้าที่จัดเสนาสะที่พักอาศัย พระเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง ภิกษุผู้รับจีวร ภิกษุผู้แจกจีวร ภิกษุผู้ใช้คนวัด ภิกษุผู้ใช้สามเณร พร้อมกำหนดคุณสมบัติไว้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น

         ๒.๒.๑ ทรงอนุญาตให้แต่งตั้งพระภัตตุเทเทสก์มีหน้าที่ในการแจกภัตหรือจัดกิจนิมนต์ กำหนดคุณสมบัติไว้ว่าต้องมีคุณสมบัติ ๕ อย่าง คือ
         (๑) ไม่ลำเอียงเพราะชอบ
         (๒) ไม่ลำเอียงเพราะชัง
         (๓) ไม่ลำเอียงเพราะหลง
         (๔) ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
         (๕) รู้จักอาหารที่แจกและอาหารที่ยังไม่ได้แจก

         ๒.๒.๒ ทรงอนุญาตให้แต่งตั้งพระผู้ใช้สามเณร กำหนดคุณสมบัติไว้ว่าต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ
         (๑) ไม่ลำเอียงเพราะชอบ
         (๒) ไม่ลำเอียงเพราะชัง
         (๓) ไม่ลำเอียงเพราะหลง
         (๔) ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
         (๕) รู้จักงานที่ควรใช้และงานที่ยังไม่ได้ใช้

    ๒.๓ การตั้งบุคคล คณะบุคคล หรือคณะกรรมการรับผิดชอบงาน
    ทรงตั้งพระสารีบุตรให้เป็นทูตประสานภิกษุชาววัชชีผู้บวชใหม่ประมาณ ๕๐๐ รูป นำกลับคืนสู่คณะสงฆ์ คราวพระเทวทัตชักชวนเข้าพวกทำลายสงฆ์ ทรงกำหนดคุณสมบัติของภิกษุ ผู้ควรทำหน้าที่ทูต ไว้ว่า ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง คือ
         (๑) รู้จักฟัง
         (๒) สามารถพูดให้ผู้อื่นฟังได้
         (๓) ใฝ่ศึกษา
         (๔) ทรงจำได้ดี
         (๕) เป็นรู้ได้เข้าใจชัด
         (๖) สามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
         (๗) ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
         (๘) ไม่ก่อความทะเลาะวิวาท

ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง(นี้) ควรทำหน้าที่ทูตได้

หลังพุทธปรินิพพานแล้ว สงฆ์ได้แต่งตั้งภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้จำพรรษาในกรุงราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและวินัย ด้วยวิธียัติทุติยกรรมวาจาที่พระมหากัสสปะประกาศให้สงฆ์ทราบ

และคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๒ สงฆ์ประสงค์จะระงับอธิกรณ์เรื่องวัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุชาวเมืองวัชชี จึงประชุมกัน และได้คัดเลือกภิกษุชาวปราจีน ๔ รูป คือ พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระอุชชโสภิตะ และพระวาสภคามิกะ และภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะอีก ๔ รูป คือ พระเรวตะ พระสัมภูตสาณวาสี พระยสกากัณฑกบุตร และพระสุมนะ แล้วแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานเพื่อระงับอธิกรณ์





ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
บทความ : แนวคิดพระพุทธศาสนา เพื่อการบริหารจัดการองค์การที่ดี อย่างมีเสถียรภาพ , โดย พระมหาวิศิต ธีรวํโส ผศ., ป.ธ.๙ , วารสาร พุทธจักร : ปีที่ ๗๗ ฉบับที่ ๖ [พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๖๖] , หน้า ๙๗-๙๙
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ