ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "นวัคคหายุสมธัมม์" ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกําหนดด้วยองค์เก้า  (อ่าน 68 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



แบ่งปันความรู้ทางศาสนาสู่สาธารณะ "นวัคคหายุสมธัมม์"
โดย นางสาวกัญญา แก้วคำฟุ่น นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯพระราชทานผ้าไตร และสังฆทานถวายในการ คณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม โดยพระเดชพระคุณพระพรหมวัชราจารย์ ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดพิธีนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัย แต่เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชชิดา ในโอกาสที่ทรงพระประชวร เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

เพื่อให้ พุทธศาสนิกชนที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภารได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสํานึกในพระมหา กรุณา คุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเชื่อว่าสามารถช่วยป้องกันภัยอันตรายจากโรคภัยต่างๆ และทําให้เกิด ความสุขสวัสดี เมื่อผู้สวดมนต์ สวดด้วยความเคารพศรัทธาพร้อมกับแผ่เมตตาและทําใจให้สงบเป็นสมาชิก็จะทําให้ พระปริตรนั้นมีพลังและอานุภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนายังได้ประสานไปยังองค์การทางศาสนา ร่วมกันจัดพิธีทางศาสนาถวายพระพรแด่พระองค์ ณ ศาสนสถาน ตามหลักศาสนบัญญัติ ของแต่ศาสนาอีกด้วย

    นวัคคหายุสมธัมม์ อ่านว่า นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ทำ แยกศัพท์เป็น นว + ศห + อายุ + สม + ธัมม์ 
    นวัคคหายุสม + ธัมม์ = นวัคคหายุสมธัมม์ แปลว่า ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกําหนดด้วยองค์เก้า หรือธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์

@@@@@@@

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบําราบปรปักษ์ จะทรงบําเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษา ครบ ๕๐ ปี ใครจะทรงทําพิธีพิเศษ จึงได้ตรัส ปรึกษาเพื่อจัดพิธีขึ้นใหม่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ลา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงจัดรูปแบบพิธีสวดนพเคราะห์ขึ้นถวายใหม่ เรียกว่า “นวัคคหายุสมธัมม์ "

โดยให้พระสงฆ์ ๕ รูป สวดพระธรรมต่างๆ ที่มีข้อธรรมเท่าจํานวนเกณฑ์กําลังของเทวดานพเคราะห์เฉพาะองค์ๆ คือ
     - อนุตริยะ ๖ สําหรับวันอาทิตย์
     - จรณะ ๑๕ สําหรับวันจันทร์
     - มรรค ๘ สําหรับวันอังคาร
     - อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ รวม ๕๔ สําหรับวันพุธ
     - ทศพลญาณ ๑๐ สําหรับวันเสาร์
     - สัญญา ๑๐ อนุปุพพวิหาร ๙ รวม ๑๙ สําหรับวันพฤหัสบดี
     - สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ รวม ๑๒ สําหรับพระราหู
     - สัปปุริสธรรม ๗ อริยทรัพย์ ๗ สัมมาสมาธิปริกขาร ๗ รวม ๒๑ สําหรับวันศุกร์
     - และอาฆาตวัตถุปฏิวินัย ๙ สําหรับพระเกตุ

เมื่อวิเคราะห์ดูจํานวนข้อธรรมแล้วจะพบว่า เท่ากับจํานวนกําลังวันของดาวแต่ละดวง น่าจะมิได้ทรงมุ่งให้ใช้บทสวดเป็นมนต์คาถาถอดถอนพระเคราะห์อย่างเดียว แต่มุ่งจะให้นําธรรมะอันเป็นเนื้อหาในบทสวดเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อกําจัดเคราะห์และเสริมมงคลด้วยการประพฤติปฏิบัติ มากกว่า ดังนั้น ถ้าจะสะเดาะเคราะห์ให้หมดโดยสิ้นเชิงเหมือนการชําระสิ่งสกปรกออกจากภาชนะ ก็ควรนำหลักธรรมะไปปฏิบัติชําระล้างจิตใจอีกชั้นหนึ่ง


@@@@@@@

การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ในปัจจุบัน ได้ถูกกําหนดให้จัดขึ้นทั่วไป ในพระราชพิธีต่างๆ มักจัดขึ้นเป็นประจําในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระมหากษัตริย์ และพระบรม วงศานุวงศ์ โดยจะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีดังกล่าว จะสามารถพบเห็นได้ในพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทุกวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี หรืองานมหามงคลของ ทางราชสํานักในโอกาสอื่นๆ

พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ ได้รับอนุญาตให้ประกอบพิธีเป็นกรณีเฉพาะในงานพระราชพิธีของราชสำนัก โดยมักจัดขึ้นในช่วงเวลาของวันพ่อแห่งชาติ คือ วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี จะประกอบพิธี ในช่วงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ - ๑๗.๓๐ น. ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

แต่เนื่องจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ในปัจจุบันได้ยกเลิกพระราชพิธีเฉลิมพระ ชนมพรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีลงแล้ว วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จึงเป็นปีสุดท้ายในการประกอบพิธี เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ และได้ถูกกําหนดให้จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ขึ้นอีกครั้ง ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร วันที่ ๒๘ กราบของทุกปีแทนธรรมเนียมเต็มที่ได้ปฏิบัติมา




พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ ถูกกําหนดให้ประกอบพิธีในโลกที่เป็นมงคลองราชสํานักไทยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เจ้าหน้าที่กลุ่มพิธี กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหน้าที่นี้โดยตําแหน่งทางราชการ

เริ่มตั้งแต่การขออนุญาตประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ การเตรียมกําหนดการ การประสานงานกับบุคลากรฝ่ายอื่นๆ การจัดเตรียมอุปกรณ์ การเบิกสายสิญจน์จากพระมงคลภาณกาจารย์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้หาพิธีจับสายสิญจน์เพื่อใช้ในพระราชพิธีของหลวง การจัดเตรียมสถานที่ รวมถึงการออกฎีกา นิมนต์พระภิกษุผู้ประกอบพิธี

โดยจะนําบัญชีรายนามพระสงฆ์จํานวน ๕ รูป มีพระราชาคณะเป็นหัวหน้า พร้อมด้วย พระครูสัญญาบัตร พระครูฐานานุกรม หรือพระเปรียญธรรม จากวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เสนออธิบดี กรมการศาสนา หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมการศาสนา เป็นผู้มีอํานาจลงนามในฎีกานิมนต์เท่านั้น และมอบให้เจ้าหน้าที่ดําเนินการวางฎีกานิมนต์ไปถวายพระสงฆ์ผู้มีรายนามดังกล่าวต่อไป

ระเบียบเช่นนี้ยึดถือปฏิบัติมา ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๕ เนื่องจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ทรงนิพนธ์บทเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ขึ้นใหม่ ซึ่งกําหนดให้พระครูฐานานุกรมในสมัยนั้น คือ พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์ (พระครูปลัดขวา) พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์ (พระครูปลัดซ้าย) รับหน้าที่เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์

และเนื่องด้วยวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง มีความเกี่ยวเนื่องสนิท สนมคุ้นเคยทางราชสํานัก ปฏิบัติจริยวัตรที่แสดงออกถึงความใกล้ชิด พระสงฆ์ภายในพระอารามเองก็มีความรู้ ความเข้าใจเข้าใจในขนบธรรมเนียมงานพระราชพิธี “กรมสังฆการีธรรมการ” (ปัจจุบัน คือ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม) จีงนิมนต์พระสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จํานวน ๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เป็นการเฉพาะ


@@@@@@@

พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์กําหนดให้มีผู้ประกอบพิธี ๒ ฝ่าย คือ
    - ฝ่ายพระสงฆ์กําหนดให้ นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จากวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม จํานวน ๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์
    - ส่วนฝ่ายฆราวาสกำหนดให้คณะโหรพราหมณ์ประกอบพิธีบูชาเชิญเทวดานพเคราะห์ทีละองค์ โดยสวดสลับกันไปมาตามลำดับพิธีของฝ่ายตนเอง โดยแบ่งขั้นตอนการประกอบพิธีออกเป็น ๒ ส่วน สลับไปมาเช่นกัน

"ในสมัยแรก" พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์มักถูกกําหนดให้ประกอบพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากเป็นพระราชพิธี จึงได้รับการอุปถัมภ์จากราชสํานักอยู่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะถือว่าพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเฉลิม พระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้อง เนินการจัดงานดังกล่าวอยู่เป็นประจําทุกปี และในโอกาสสําคัญของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ

พิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ยุคแรกใช้เวลานาน ในการประกอบพิธี เนื่องจากบทสวดที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ได้นิพนธ์ ขึ้นใหม่มีจํานวนมาก ใช้เวลาสวดนาน ๔-๕ ชั่วโมง จนกระทั่งในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงดําริตัดทอนความที่มีเนื้อหาซ้ำกันออกไป คงไว้แต่ข้อพระธรรมเท่านั้น ในปัจจุบันพระสงฆ์สวดบทสวดในคัมภีร์เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ใช้เวลา ราว ๑-๒ ชั่วโมงเท่านั้น

"นวัคคหายุสมธัมม์" เป็นคําศัพท์ที่ทั้งพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไม่คุ้นชื่อมากนัก โดยกรมการศาสนา มีภารกิจสนองงานได้เบื้องพระยุคลบาทในฐานะเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับสงฆ์ (สังฆการี) ถือปฏิบัติภารกิจ ดังกล่าวนี้ในพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวาย พระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาหรือพระราชพิธีอื่นๆ เพื่อบํารุงขวัญและกําลังใจให้พุทธศาสนิกชน ที่เป็นพสกนิกรภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีและสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์








ขอขอบคุณที่มา :-
บทความ : แบ่งปันความรู้ทางศาสนาสู่สาธารณะ "นวัคคหายุสมธัมม์" โดยนางสาวกัญญา แก้วคำฟุ่น นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ , กรมการศาสนา
URL : https://e-book.dra.go.th/ebook/2566/E-book_navakakha/mobile/index.html

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :-
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (๒๕๕๔) พระพิธีธรรม กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุม สหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จํากัด
- กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (๒๕๕๔), ศาสนพิธีในพระราชพิธี (เล่ม - กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จํากัด
- พระมหาสี ปี่แก้ว (๒๕๖๒) วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.

พิธีนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ณ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิต มหาสีมาราม 16 ธันวาคมที่ผ่านมา


นวัคคหายุสมธัมม์ ธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์ พระนิพนธ์สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว)

ตามที่ สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2565 เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวร ความทราบแล้วนั้น

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ทรงมีพระบัญชาโปรดให้สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม แจ้งวัดทุกวัดทั่วราชอาณาจักร และวัดไทยในต่างประเทศ ให้คณะสงฆ์พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนร่วมกันเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนาเป็นพิเศษ ต่อจากการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นประจำทุกวัน

วัดวาอารามทั่วประเทศ รวมถึงวัดไทยในต่างแดน ต่างร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล ขอทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ววัน

16 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร และสังฆทานถวายในการที่คณะสงฆ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามโดย พระเดชพระคุณพระพรหมวัชราจารย์ ประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดย อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานพิธีฝ่ายฆราวาส ร่วมกันจัดพิธีนวัคคหายุสมธัมม์ ถวายพระพรชัยแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ

นวัคคหายุสมธัมม์ (อ่าน นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ทำ) แปลว่า ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกำหนดด้วยองค์เก้า หรือธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์ เป็นบทเฉพาะที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปฐมเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ทรงพระนิพนธ์ขึ้นโดยรวบรวมพระธรรมต่างๆ ในหลายพระสูตร อันมีข้อธรรมเท่าจำนวนเกณฑ์กำลังเทวดานพเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์ไทย เมื่อคราวบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 50 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ พุทธศักราช 2412 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์’ โดย พระมหารังสี ปี่แก้ว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 50 ปี ใคร่จะทรงทำพิธีพิเศษ จึงได้ตรัสปรึกษาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) เพื่อจัดพิธีขึ้นใหม่



สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงนิพนธ์ ‘นวัคคหายุสมธัมม์’


คณะสงฆ์ 5 รูป วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เจริญพระพุทธมนต์ นวัคคหายุสมธัมม์


อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานฝ่ายฆราวาส จุดเทียนในพิธี

สมเด็จพระสังฆราชสา ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย จึงทรงจัดรูปแบบพิธีสวดนพเคราะห์ขึ้นถวายใหม่ เรียกว่า ‘นวัคคหายุสมธัมม์’ โดยให้พระสงฆ์ 5 รูป สวดพระธรรมต่างๆ ที่มีข้อธรรมเท่าจำนวนเกณฑ์กำลังของเทวดานพเคราะห์เฉพาะองค์ๆ คือ
     อนุตตริยะ 6 สำหรับวันอาทิตย์
     จรณะ 15 สำหรับวันจันทร์
     มรรค 8 สำหรับวันอังคาร
     อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 รวม 17 สำหรับวันพุธ
     ทสพลญาณ 10 สำหรับวันเสาร์
     สัญญา 10 อนุปุพพวิหาร 9 รวม 19 สำหรับวันพฤหัสบดี
     สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 รวม 12 สำหรับพระราหู
     สัปปุริสธรรม 7 อริยทรัพย์ 7 สัมมาสมาธิปริกขาร 7 รวม 21 สำหรับวันศุกร์
     และอาฆาตวัตถุปฏิวินย 9 สำหรับพระเกตุ

การเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ จึงเป็นธรรมเนียมที่มีปฏิบัติครั้งแรกในคราวนั้นเอง

ครั้นเมื่อ พ.ศ.2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 25 พรรษา มีพระราชปรารภว่าจะทรงจัดพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาให้พิเศษกว่าที่เคยทำมาแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงกราบบังคมทูลให้ทรงทำพิธีสวดนวัคคหายุสมธัมม์ จึงเป็นธรรมเนียมที่มีการสวดถวายในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สำหรับสถานที่ประกอบพิธีในช่วงแรกมักถูกกำหนดให้กระทำ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสสำคัญของพระบรมวงศานุวงศ์


นวัคคหายุสมธัมม์ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2471 (ภาพจากเพจ ‘จตุรเวทวิทยาคม’)


สมุดไทย ‘บูชานพเคราะห์ ว่าด้วยคำบูชา’ สมัยรัชกาลที่ 6 (ภาพจากวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์)


สมุดไทย ‘ตําราโหราศาสตร์ มีประกาศเทวดาเป็นวัน’ ปรากฏพระนาม สมเด็จพระบุรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบําราบปรปักษ์ (ภาพจากวิทยานิพนธ์ วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์)

พิธีในยุคแรกใช้เวลายาวนานราว 4-5 ชั่วโมง กระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริตัดทอนข้อความที่มีเนื้อหาซ้ำกันออกไป คงไว้แต่หัวข้อธรรม ปัจจุบันจึงใช้เวลาสวดราว 1-2 ชั่วโมง

ย้อนกลับไปที่ความหมายของคำว่า นวัคคหายุสมธัมม์ มีที่มาจากศัพท์ 5 คำ ได้แก่
    1. นว แปลว่า ใหม่ จำนวนเก้า
    2. คห แปลว่า เรือน, ยึด
    3. อายุ แปลว่า เวลาที่ดำรงชีวิตอยู่
    4. สม แปลว่า เหมาะสม, ควรแก่, เข้ากันกับ, เสมอ, รับกัน, พอดีกัน
    5. ธมม แปลว่า คุณความดี, คำสั่งสอน, หลักประพฤติปฏิบัติ, ความจริง

ทั้งนี้ นวคห มีความหมายตรงกับคำว่า นวรห หรือ นวารห มาจากศัพท์เต็มว่า นวรหคุณ หรือ นวารหาทิคุณ หมายถึง พุทธคุณ 9 หรือคุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ 9 ประการ

นอกจากนี้ นวคห ยังมีอีกความหมายหนึ่งว่า นวเคราะห์ หรือดาวพระเคราะห์ทั้ง 9

เนื้อหาและข้อธรรมส่วนใหญ่ในบทเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ มุ่งเน้นคุณธรรมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ควรประพฤติให้เกิดมีในตน และชักนำให้บุคคลเข้าสู่เขตบุญพุทธศาสนา

                                         พรรณราย เรือนอินทร์




ตัวอย่างช่วงตอนต้นของ ‘นวัคคหายุสมธัมม์’

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหันตัสสะ ตาทิโน
วิสุทธิเทวะภูตัสสะ สัมมา สามัญจะ โพธิโน
นะโม ธัมมัสสะ เตเนวะ สุอักขาตัสสะ สัพพะโส
ราคัสสะ เจวะ โทสัสสะ โมหัสสะ จาภิฆาฏิโน

นะโม สุปุญญักเขตตัสสะ สังฆัสสะ ธัมมะธาริโน
สัตถุสาสะนะการิสสะ สัจจาภิสะมิตาวิโน
อุตตะมัง วันทะเนยยานัง วันทันตา ระตะนัตตะยัง
เจโตปะสาทะสัมภูตัง ยัง ปุญญัง ปะสะวามะ เส

หัญญันตูปัททะวา สัพเพ ตัสสานุภาวะสิทธิยา
สะมิชฌันตุ จะ สังกัปปา อัมหากัง ธัมมะนิสสิตา
เย เต นะวัคคะหา นามะ คะหัญญูภิวะวัตถิตา
ระวิ จันโท ภุมโม วุโธ โสโร ชีโว จะ ราหุ จะ

สุกโร เกตุติญาเยนะ โหระสัตถานุโลมินา
เตสัง อายุสะเม ธัมมะ- ปะริยาเย กะถัญจิปิ
ภะณิสสามะ, มะยันทานิ กะมะนิกเข ปะตันติยาฯ








Thank to : https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_3733630
ผู้เขียน : พรรณราย เรือนอินทร์ | วันที่ 21 ธันวาคม 2565 - 10:41 น.   

เอกสารอ้างอิง :-
-‘วิเคราะห์การสวดนพเคราะห์ด้วยการเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์’ โดย พระมหารังสี ปี่แก้ว วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พุทธศาสนศึกษา) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562.
-บทเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ เฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ทุกวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน จัดพิมพ์โดย สำนักงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ พระมหาอนุลักษ์ ชุตินันโท บรรณาธิการ, พิมพ์ครั้งที่ 7 พฤษภาคม 2565
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 30, 2024, 10:47:50 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ