ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
  • สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน
แสดงกระทู้
This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.
  Messages   Topics   Attachments  

  Topics - digitalknowledge
หน้า: [1]
1  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / ตัณหายังคนให้เกิด ภัยใหญ่ของคนคือทุกข์ กรรมเป็นที่พำนักของคน เมื่อ: กันยายน 24, 2018, 07:41:07 pm




ตัณหายังคนให้เกิด ภัยใหญ่ของคนคือทุกข์ กรรมเป็นที่พำนักของคน


ปฐมชนสูตรที่ ๕

[๑๖๖] เทวดาทูลถามว่า
        อะไรหนอยังคนให้เกิด
        อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน
        อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร
        อะไรหนอเป็นภัยใหญ่ของเขา.?

[๑๖๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
        ตัณหายังคนให้เกิด
        จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน
        สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร
        ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของเขา.!!


@@@@@@

ทุติยชนสูตรที่ ๖

[๑๖๘] เทวดาทูลถามว่า
        อะไรหนอยังคนให้เกิด
        อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน
        อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร
        สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากอะไร.?

[๑๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
        ตัณหายังคนให้เกิด
        จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน
        สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร
        สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์.!!


@@@@@@

ตติยชนสูตรที่ ๗

[๑๗๐] เทวดาทูลถามว่า
        อะไรหนอยังคนให้เกิด
        อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน
        อะไรหนอเวียนว่ายไปยังสงสาร
        อะไรหนอเป็นที่พำนักของสัตว์นั้น.?

[๑๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
        ตัณหายังคนให้เกิด
        จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน
        สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร
        กรรมเป็นที่พำนักของสัตว์นั้น.!!



ที่มา : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=15&item=143&items=100&preline=&pagebreak=1
2  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / หากกิเลสเป็นตัวตนแล้วไซร้ "จักรวาลนี้ก็แคบไป พรหมโลกก็ต่ำไป" ไม่พอบรรจุกิเลส... เมื่อ: กันยายน 24, 2018, 03:12:19 pm

 :25: :25: :25:

ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้เป็นของหยาบนัก หากกิเลสเป็นตัวตนแล้วไซร้
จักรวาลนี้ก็แคบไป พรหมโลกก็ต่ำไป ไม่พอบรรจุกิเลสได้เลย


     ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า
     “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้หยาบนัก กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์เห็นปานนี้ กิเลสยังให้มัวหมองได้ ทำให้ต้องบวชถึง 7 ครั้ง สึกถึง 6 หน”

     ขณะนั้นองค์พระศาสดาเสด็จมาทรงสดับกถานั้นด้วย จึงตรัสว่า
     “ถูกแล้วภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้เป็นของหยาบนัก หากกิเลสเป็นตัวตนแล้วไซร้ จักรวาลนี้ก็แคบไป พรหมโลกก็ต่ำไป ไม่พอบรรจุกิเลสได้เลย กิเลสนี้เองสามารถทำบุรุษอาชาไนยผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาแม้เช่นเราให้มัวหมองได้ ไม่ต้องกล่าวถึงคนเหล่าอื่น เราเองก็เคยอาศัยข้าวฟ่าง ลูกเดือยเพียงครึ่งทะนานและจอบเหี้ยน (จอบที่ใช้งานมานานแล้วจนสึก) จนต้องบวชแล้วสึกถึง 6 หน”



ที่มา : อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓ (เรื่องพระจิตตหัตถเถระ)
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=25882.msg77763;topicseen#msg77763
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=13&p=5




“กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด”

ในภาษาไทย มีคำพูดเป็นสำนวนเก่า ที่นิยมกล่าวอ้างกันสืบๆ มาแบบติดปากว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด” พึงทราบว่า เป็นถ้อยคำที่อิงหลักธรรม 2 หมวด คือ กิเลส 1500 และ ตัณหา 108 ที่แสดงดังนี้

@@@@@@

กิเลส 1500 (สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง )

กิเลส 1500 ที่จัดเป็นชุดจำนวนอย่างนี้ ไม่มีในพระบาลี แม้จะมีกล่าวถึงในอรรกกถาบางแห่งก็แสดงเพียงตัวอย่าง ไม่ครบถ้วน ระบุไว้อย่างมากที่สุดเพียง 336 อย่าง (ดู อุ.อ.172,424; อิติ.อ.166) เช่น โลภะ โทสะ โมหะ วิปริตมนสิการ อหิริกะ อโนตตัปปะ ถีนะ มิทธะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ อกุศลกรรมบถ 10 ... ตัณหา 108

ในคัมภีร์รุ่นหลังต่อมา ได้มีการพยายามนับจำนวนกิเลสพันห้าให้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน ดังปรากฏในธัมมสังคณีอนุฏีกา (ฉบับ มจร. สงฺคณี.อนุฏีกา 23-24) ซึ่งได้แสดงระบบวิธีนับไว้หลายอย่าง สรุปได้เป็น 2 แบบ คือ แบบลงตัวจำนวน 1500 ถ้วน และแบบนับคร่าวๆ ขาดเกินเล็กน้อย นับแต่จำนวนเต็ม

    แบบที่ 1. จำนวนลงตัว 1500 ถ้วน คือ
       - อารมณ์ 150 x กิเลส 10 = กิเลส 1,500
       - กิเลส 10 ดู [316] กิเลส 10
       - อารมณ์ 150 หมายถึง อารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลส แต่มีวิธีนับ 2 นัย คือ
         ก) อารมณ์ 150 = ธรรม 75 [อรูปธรรม 53 (คือจิต 1 + เจตสิก 52) + รูปรูป 18* + อากาสธาตุ 1 + ลักขณรูป 3**] x 2 (ภายใน + ภายนอก)
         ข) อารมณ์ 150 = ธรรม 75 [อรูปธรรม 57 (คือจิต 1 + เวทนาเจตสิก 5 + เจตสิกอื่นๆ 51) + รูปรูป 18] x 2 (ภายใน + ภายนอก)

    แบบที่ 2. จำนวนไม่ลงตัว ขาดหรือเกินเล็กน้อย นับจำนวนเต็มปัดเศษ
       แบบที่ 2 นี้ ท่านแจงวิธีนับไว้หลายอย่าง เป็น 1,584 บ้าง 1,512 บ้าง 1,510 บ้าง 1,416 บ้าง แต่จะไม่นำรายละเอียดมาแสดงในที่นี้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ


      *รูปทั้งหมดมี 28 (ดู [40]) ในจำนวนนี้ 18 อย่าง เรียกว่า รูปรูป เพราะเป็นรูปที่เป็นรูปธรรมจริงๆ หรือแปลง่ายๆ ว่า “รูปแท้” ได้แก่ มหาภูตรูป 4, ปสาทรูป 5, วิสัยรูป 4, ภาวรูป 2, หทัยรูป 1, ชีวิตรูป 1 และอาหารรูป 1 ส่วนรูปที่เหลืออีก 10 อย่าง (คือ ปริจเฉทรูป 1, วิญญัติรูป 2, วิการรูป 3, ลักขณรูป 4) เป็นเพียงอาการลักษณะหรือความเป็นไปของรูปเหล่านั้น จึงไม่เป็นรูปรูป

   ** ลักขณรูป นับเต็มมี 4 (ดู [40] ฏ.) แต่ 2 อย่างแรก นับรวมเป็น 1 ได้ เรียกว่า ชาติรูป กล่าวคือ อุปจยะ หมายถึง การเกิดที่เป็นการก่อตัวขึ้นทีแรก และ สันตติ หมายถึง การเกิดสืบเนื่องต่อๆ ไป โดยนัยนี้ จึงนับลักขณรูปเป็น 3


@@@@@@@

ตัณหา 108 (ความทะยานอยาก, ความร่านรน)

ตัณหา 108 ในพระบาลีเดิมเรียก ตัณหาวิจริต (ความเป็นไป หรือการออกเที่ยวแสดงตัวของตัณหา) [องฺ.จตุกฺก. 21/199/290; อภิ.วิ. 35/1033/530] จัดดังนี้

    ตัณหาวิจริต 18 อันอาศัยเบญจขันธ์ภายใน = เมื่อมีความถือว่า “เรามี” จึงมีความถือว่า : เราเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างอื่น เราไม่เป็นอยู่ เราพีงเป็นอย่างนี้ เราพึงเป็นอย่างนั้น เราพึงเป็นอย่างอื่น ฯลฯ

   ตัณหาวิจริต 18 อันอาศัยเบญจขันธ์ภายนอก = เมื่อมีความถือว่า “เรามีด้วยเบญจขันธ์นี้” จึงมีความถือว่า : เราเป็นอย่างนี้ด้วยเบญจขันธ์นี้ เราเป็นอย่างนั้น ด้วยเบญจขันธ์นี้ เราเป็นอย่างอื่นด้วยเบญจขันธ์นี้ ฯลฯ

   ตัณหาวิจริต 18 สองชุดนี้ รวมเป็น 36 x กาล 3 (ปัจจุบัน อดีต อนาคต) = 108

   @@@@

   อีกอย่างหนึ่ง ตัณหา 3 (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)
       x ตัณหา 6 (ตัณหาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธรรมารมณ์) = 18
       x ภายในและภายนอก = 36
       x กาล 3 = 108 (วิสุทธิ. 3/180)



ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=359
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=357

3  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / “มารไม่มี บารมีไม่เกิด” พึงระวังมาร 8 ตัวนี้ให้ดี.!! เมื่อ: สิงหาคม 28, 2018, 09:22:37 am



“มารไม่มี บารมีไม่เกิด” พึงระวังมาร 8 ตัวนี้ให้ดี.!!


ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นครูบาที่ได้รับการนับถือมากที่สุดในแผ่นดินล้านนาและแผ่นดินไทย ท่านเกิดในหมู่บ้านยากจนที่บ้านปาง จ.ลำพูน นับตั้งแต่ท่านเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ท่านก็มุ่งหน้าศึกษาธรรมและยังประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาตลอดชีวิตของท่าน

โดยเฉพาะการสร้างและบูรณะวัดวาอารามทั่วแผ่นดินล้านนา ด้วยหวังจะให้เป็นที่ขัดเกลาจิตใจ และเป็นศูนย์รวมในการทำความดีของศรัทธาประชาชนทั่วไป คนทั้งประเทศต่างถิ่นมักจะรู้จักท่านในผลงานสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ที่เป็นผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งจากหลายร้อยผลงาน

@@@@

ตลอดชีวิตของท่านต้องพบ “มาร” มาขัดขวางการสร้างบุญบารมีตลอดเวลา ต้องถูกใส่ป้ายสีจนต้องอธิกรณ์มีการสอบสวนหลายครั้ง กักขังท่านเป็นระยะๆ มารทำกับท่านมากมายสารพัด เพียรพยายามจะ”สึก”ท่านให้ได้ด้วยอุบายต่างๆ ในท่ามการมรสุมร้ายเหล่านี้ ครูบาเจ้าท่านนิ่งสงบ มีเมตตา มีอุเบกขาเป็นที่ตั้ง

ท่านเพียงบอกว่า “มารไม่มี บารมีไม่เกิด” ในชีวิตคนเรานั้น “มาร”มาในรูปแบบต่างๆ เพื่อทดสอบว่า เราเป็นผู้มีบุญบารมีระดับใด พึงระวังมาร 8 ตัวนี้ให้ดี

@@@@@@

1.“มาร” มาช่วยเสริมสร้างบุญบารมีหากเราคิดเป็น มีธรรมในใจจริง
2. “มาร” เข้ามาในชีวิต เพื่อให้เรารู้ว่า กฏแห่งกรรมมีจริง ผลแห่งกรรมมีจริง
3. “มาร” มาในรูปแบบคู่ชีวิต เจ้ากรรมนายเวรมีแต่เรื่องปวดหัว เรื่องร้อนในใจ เข้ามาเพื่อให้เรารู้สึกตัว รู้จักที่จะฝึกจิตให้อดทน รู้จักยับยั้งชั่งใจไม่กระทำบาปกรรมตอบสนอง รู้ดีรู้ชั่ว ไม่สร้างเวรกรรมใหม่ผูกพันกันหนักขึ้นไปอีก
4. “มาร” มาในรูปแบบเพื่อนรอบตัวไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ที่ทำงาน เพื่อนบ้าน เพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ เข้ามาทดสอบจริยธรรม คุณธรรมของเราว่าเราอยู่ในระดับ เข้ามาเพื่อให้เราได้เห็นทางสว่างขึ้น พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น เข้าใจโลกและธรรมมากขึ้น

@@@@

5. “มาร” มาในรูปแบบเงินทั้งการอัตคัดขัดสน เพื่อให้เราจักความจริงแท้ของธรรมชาติ ได้รู้จักตน รู้จักพอประมาณ รู้จักใช้ชีวิตที่พอเพียง ไม่ประมาท เกิดปัญญาในการมีชีวิตโดยไม่เอาเงินเป็นที่ตั้งก็มีความสุขได้
6. “มาร” มาในรูปแบบเงินมากมายที่ยั่วยวนให้เราหลงใหล มาทดสอบกิเลสว่า ทดสอบคุณธรรมว่าเราดีจริงหรือไม่
7. “มาร” มาในรูปแบบปัญหาในเนื้องานที่เราทำ ทำให้เรา”ตื่น” ที่ต้องแสวงหาปัญญาในทางแก้ไข ทำให้เรารู้ว่า”ปัญญา”ของเราอยู่ในระดับไหน ต้องเสริมเพิ่มเติมอย่างไร
8. “มาร”มาในรูปแบบการขัดขวางการสร้างบุญ ทำให้เรารู้คุณค่าของ”บุญ” ที่แท้จริง มาเสริมให้เรามีจิตใจ มีศรัทธา ไม่ยอท้อในการสร้างบุญบารมีมากขึ้น


@@@@@@

ขอให้พิจารณา”มาร”ในความเป็นจริง ในแง่มุมที่เกิดผล
ขอ”บุญบารมี” จงบังเกิดแก่ท่านทุกคน
ขอโมทนาสาธุ เมตตาธรรมของครูบาเจ้าศรีวิชัย



ขอบคุณข้อมูล : rugyim.com
ขอบคุณเว็บไซต์ : https://www.phuea-khun.com/no-excuse/
By เพื่อคุณ , Posted on January 25, 2018
4  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / "วิมุตติสุข และ ผลสมาบัติ" ของ พระอริยเจ้า เมื่อ: สิงหาคม 03, 2018, 04:29:02 pm
 :25: :25: :25:

"วิมุตติสุข และ ผลสมาบัติ" ของ พระอริยเจ้า

วิมุตติสุขนี้นั้นมี ๒ อย่าง โดยการจำแนกความเป็นไปของผลจิต คือ ในมรรควิถี ๑ ในกาลอื่น ๑.
   
ผลจิต ๓ หรือ ๒ (ขณะ) ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ อันเป็นผลของวิมุตติสุขนั้นๆ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับอริยมรรคแต่ละมรรค เพราะโลกุตรกุศลมีวิบากในลำดับ.

ในคราวที่อนุโลมจิต ๒ ดวงเกิดในชวนวารที่อริยมรรคเกิดขึ้น จิตดวงที่ ๓ จัดเป็นโคตรภูจิต ดวงที่ ๔ จัดเป็นมรรคจิต ต่อแต่นั้นไปเป็นผลจิต ๓ ดวง.

แต่ในคราวที่อนุโลมจิตเกิดขึ้น ๓ ดวง จิตดวงที่ ๔ เป็นโคตรภูจิต ดวงที่ ๕ เป็นมรรคจิต ต่อแต่นั้นไปเป็นผลจิต ๒ ดวง. จิตดวงที่ ๔ ที่ ๕ ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจอัปปนา ด้วยประการฉะนี้ ต่อแต่นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะใกล้ต่อภวังคจิต.

    แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า แม้จิตดวงที่ ๖ ก็เป็นอัปปนา. คำนั้นท่านค้านไว้ในอรรถกถาแล้ว.
    พึงทราบผลจิตในมรรควิถี ด้วยประการฉะนี้.


@@@@@@

แต่ผลจิตในกาลอื่น ย่อมเป็นไปด้วยผลสมาบัติ และที่เกิดขึ้นแก่ท่านผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านสงเคราะห์ด้วยผลสมาบัตินั้นเอง.

ก็ผลสมาบัตินี้นั้นว่าโดยอรรถ เป็นวิบากแห่งโลกุตรกุศลจิต อันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ พึงทราบว่าเป็นอัปปนา.

ถามว่า : ผลสมาบัตินั้น พวกไหนเข้าได้ พวกไหนเข้าไม่ได้.?
ตอบว่า : ปุถุชนทั้งหมดเข้าไม่ได้เพราะยังไม่ได้บรรลุ อนึ่ง พระอริยเจ้าชั้นต่ำก็เหมือนกัน เข้าผลสมาบัติชั้นสูงไม่ได้ แม้พระอริยเจ้าชั้นสูงก็ไม่เข้าผลสมาบัติชั้นต่ำเหมือนกัน เพราะท่านสงบระงับด้วยการเข้าถึงความเป็นบุคคลอื่น. พระอริยเจ้านั้นๆ ย่อมเข้าผลสมาบัติของตนๆ เท่านั้น.

@@@@

แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระโสดาบันบุคคลและพระสกทาคามีบุคคล ย่อมไม่เข้าผลสมาบัติ พระอริยบุคคลชั้นสูง ๒ พวกเท่านั้น ย่อมเข้าได้ เพราะท่านกระทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ. ข้อนั้นไม่ใช่เหตุ เพราะแม้ปุถุชนก็เข้าโลกิยสมาธิที่ตนได้ อีกอย่างหนึ่ง จะป่วยกล่าวไปไยด้วยการคิดถึงเหตุในข้อนี้.

     สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า สังขารุเบกขาญาณ ๑๐ เหล่าไหน เกิดขึ้นด้วยวิปัสสนา โคตรภูธรรม ๑๐ เหล่าไหน เกิดขึ้นด้วยวิปัสสนา.

     ในการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ท่านกล่าวถึงการเข้าผลสมาบัติของพระอริยเจ้าเหล่านั้นว่า เพื่อประโยชน์แก่โสดาปัตติผลสมาบัติ เพื่อประโยชน์แก่สกทาคามิผลสมาบัติ.
     เพราะฉะนั้น จึงตกลงกันในข้อนี้ว่า พระอริยเจ้าแม้ทั้งปวงย่อมเข้าผลสมาบัติตามที่เป็นของตน.

 ask1 ans1 ask1 ans1

ถามว่า : ก็เพราะเหตุไร พระอริยเจ้าเหล่านั้นจึงเข้าสมาบัติ?
ตอบว่า : เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน. เหมือนอย่างว่า พระราชาทั้งหลายเสวยสุขในราชสมบัติ เทวดาทั้งหลายเสวยทิพยสุข ฉันใด พระอริยเจ้าทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมกำหนดกาลว่า จักเสวยโลกุตรสุข จึงเข้าผลสมาบัติในขณะที่ต้องการ.

ถามว่า : ก็ผลสมาบัตินั้น เข้าอย่างไร หยุดอย่างไร ออกอย่างไร.?
ตอบว่า : ก่อนอื่นการเข้าผลสมาบัตินั้นมี ๒ อย่าง คือ ไม่มนสิการอารมณ์อื่นจากพระนิพพาน และมนสิการถึงพระนิพพาน เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

     ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติสมาบัติอันไม่มีนิมิต มี ๒ อย่าง คือ
     การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง และการใส่ใจถึงธาตุที่หานิมิตมิได้.


@@@@@@

ก็ในที่นี้ มีลำดับการเข้าผลสมาบัติดังต่อไปนี้ พระอริยสาวกผู้ต้องการผลสมาบัติ ไปในที่ลับ หลีกเร้นอยู่ พึงพิจารณาสังขารด้วยอุทยัพพยญาณเป็นต้น. เมื่อท่านมีวิปัสสนาญาณโดยลำดับ อันดำเนินไปอย่างนี้ จิตย่อมเป็นอัปปนาในนิโรธด้วยอำนาจผลสมาบัติ ในลำดับโคตรภูญาณมีสังขารเป็นอารมณ์. ก็ผลจิตเท่านั้นเกิดมรรคจิตไม่เกิดแม้แก่พระเสกขบุคคล เพราะท่านน้อมไปในผลสมาบัติ.

ส่วนอาจารย์เหล่าใดกล่าวว่า พระโสดาบันคิดว่า จักเข้าผลสมาบัติของตนแล้วเจริญวิปัสสนาเป็นพระสกทาคามี และพระสกทาคามีคิดว่า จักเข้าผลสมาบัติของตนแล้วเจริญวิปัสสนา ได้เป็นอนาคามี ดังนี้

อาจารย์เหล่านั้นพึงถูกต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น พระอนาคามีก็จักเป็นพระอรหันต์, พระอรหันต์ก็จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้าก็จักเป็นพระสัมพุทธเจ้า ดังนี้

     เพราะฉะนั้น วิปัสสนาจึงให้สำเร็จประโยชน์ตามความยินดีในจิตสันดานตามอัธยาศัย
     ด้วยเหตุนั้น แม้สำหรับพระเสกขบุคคลก็เกิดแต่ผลจิตเหมือนกัน มรรคจิตไม่เกิด. ถ้าท่านบรรลุมรรคจิตที่สัมปยุตด้วยปฐมฌานไซร้ แม้ผลจิตที่สัมปยุตด้วยปฐมฌานเท่านั้น ก็เกิดแก่ท่าน ถ้าท่านบรรลุมรรคจิตที่สัมปยุตด้วยฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาทุติยฌานเป็นต้นไซร้ ผลจิตที่สัมปยุตด้วยฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาทุติยฌานเป็นต้น ก็ย่อมเกิด.

 ask1 ans1 ask1 ans1

ถามว่า : ก็เพราะเหตุไร ในที่นี้ โคตรภูญาณจึงไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เหมือนญาณที่เป็นปุเรจาริกของมรรคญาณ.?
ตอบว่า : เพราะผลญาณไม่เป็นนิยยานิกธรรม. ความจริง ธรรมคือ อริยมรรคเท่านั้นเป็นนิยยานิกธรรม. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมเหล่าไหนเป็นนิยยานิกธรรม.? อริยมรรค ๔ ที่เป็นอปริยาปันนะ เป็นนิยยานิกธรรม.

     เพราะฉะนั้น ญาณอันเป็นอนันตรปัจจัยแห่งสภาวธรรมที่เป็นนิยยานิกะโดยส่วนเดียว ซึ่งดำเนินไปโดยสภาวะที่ออกจากทั้งสองฝ่าย พึงออกจากนิมิตได้เลย
     เพราะฉะนั้น โคตรภูญาณนั้น มีพระนิพพานเป็นอารมณ์จึงจะถูก แต่ว่าญาณที่เป็นปุเรจาริกของผลญาณ ซึ่งมีสภาวะไม่ออกไป เพราะไม่เป็นนิยยานิกธรรม เหตุที่ไม่ตัดขาดกิเลส ซึ่งกำลังเป็นไปโดยเป็นวิบากของอริยมรรคนั้น เพราะได้เจริญอริยมรรคไว้ แม้บางคราวจะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ไม่ถูกไม่ควร เพราะอนุโลมญาณในทั้ง ๒ ฝ่าย มีอาการไม่เสมอกัน.

@@@@

จริงอยู่ อนุโลมญาณในอริยมรรควิถี อันถึงความบริบูรณ์อย่างอุกฤษฏ์ด้วยโลกิยญาณ อันเป็นเครื่องทำลายกองโลภะเป็นต้น อันมากมายซึ่งไม่เคยแทงตลอดได้อย่างดี เกิดขึ้นอนุโลมแก่มรรคญาณ ส่วนในผลสมาบัติวิถีอนุโลมญาณนั้นๆ ไม่มีความขวนขวายในอริยมรรควิถีนั้น เพราะตัดกิเลสนั้นๆ ได้เด็ดขาด เกิดเป็นเพียงบริกรรมแห่งความพรั่งพร้อม ด้วยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายอย่างเดียว

     เพราะฉะนั้น อนุโลมญาณเหล่านั้น จึงไม่มีการออกจากปัจจัยไหนๆ เพราะญาณในที่สุดแห่งอนุโลมญาณเหล่านั้น อันมีสังขารเป็นนิมิต พึงมีพระนิพพานเป็นอารมณ์จากการออกจากสมาบัติ.

     ก็เพราะทำคำอธิบายดังว่านี้ เมื่อพระเสกขบุคคลพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยอุทยัพพยญาณเป็นต้น เพื่อจะใช้ผลสมาบัติของตน ผลจิตเท่านั้นจึงเกิดขึ้นในลำดับวิปัสสนาญาณ มรรคไม่เกิด.
     ฉะนั้น เนื้อความดังกล่าวมานี้แล จึงเป็นอันสมบูรณ์แล้ว.
     พึงทราบการเข้าผลสมาบัติดังกล่าวมาอย่างนี้ก่อน.


@@@@@@

ก็ผลสมาบัตินั้นมีการตั้งอยู่โดยอาการ ๓ อย่าง เพราะพระบาลีว่า
      ผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่ของเจโตวิมุตติอันหานิมิตมิได้มี ๓ อย่างแล คือ
      การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑
      การมนสิการถึงธาตุอันหานิมิตมิได้ ๑
      การปรุงแต่งในกาลก่อน ๑.

ใน ๓ อย่างนั้น บทว่า ปุพฺเพ จ อภิสงฺขาโร ได้แก่ การกำหนดเวลาในกาลก่อนเข้าสมาบัติ. ก็ผลสมาบัตินั้นไม่มีการออกตราบเท่าที่ยังไม่ถึงเวลานั้น เพราะท่านกำหนดไว้ว่า จักออกในเวลาโน้น.

@@@@@@

อนึ่ง ผลสมาบัตินั้นย่อมมีการออกโดยอาการ ๒ อย่าง เพราะพระบาลีว่า
      ผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการออกของเจโตวิมุตติ อันหานิมิตมิได้มี ๒ อย่างแล คือ
      มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑
      ไม่มนสิการถึงธาตุอันหานิมิตมิได้ ๑.

ใน ๒ อย่างนั้น บทว่า สพฺพนิมิตฺตานํ ได้แก่ รูปนิมิต เวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิตและวิญญาณนิมิต. พระโยคาวจรไม่มนสิการรวมกันซึ่งนิมิตเหล่านั้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น ด้วยการรวมนิมิตทั้งปวง.
     เพราะฉะนั้น อารมณ์ของภวังคจิตอันใดมีอยู่ การออกจากผลสมาบัติย่อมมีโดยมนสิการถึงอารมณ์นั้น
     พึงทราบการออกจากผลสมาบัตินั้นด้วยประการอย่างนี้.


@@@@@@

ท่านกล่าวว่า วิมุตฺติสุขํ ปฏิสํเวที ดังนี้ หมายเอาการเข้า การตั้งอยู่ และการออกจากผลสมาบัติ
      ดังกล่าวมานี้นั้น จัดเป็นอรหัตผลอันสงบระงับความกระวนกระวาย มีอมตะเป็นอารมณ์ เป็นสุข คายโลกามิส สงบ เป็นสามัญผลอันสูงสุด.
      เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า วิมุตฺติสุขํ ปฏิสํเวที ได้แก่ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข คือ ผลสมาบัติสุข.



ที่มา : อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๑ (ยกมาแสดงบางส่วน)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25.0&i=38&p=4
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1425&Z=1445
5  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / บุคคลไม่ชื่อว่า "เป็นบัณฑิต" เพราะเหตุที่พูดมาก เมื่อ: กรกฎาคม 24, 2018, 11:01:43 am



บุคคลไม่ชื่อว่า "เป็นบัณฑิต" เพราะเหตุที่พูดมาก
จาก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมัตถวรรคที่ ๑๙ เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์
         
ข้อความเบื้องต้น               
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุฉัพพัคคีย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น เตน ปณฺฑิโต โหติ" เป็นต้น.


@@@@@@

ภิกษุฉัพพัคคีย์ทำโรงภัตให้อากูล               
ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวทำโรงภัตให้อากูล ในวัดบ้าง ในบ้านบ้าง. ครั้นวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายถามภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้ทำภัตกิจในบ้านแล้วมา ว่า "ท่านผู้มีอายุ โรงภัตเป็นเช่นไร.?"

ภิกษุหนุ่มและสามเณรตอบว่า "อย่าถามเลย ขอรับ,
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า 'พวกเราแหละเป็นผู้ฉลาด, พวกเราเป็นบัณฑิต จักประหารภิกษุเหล่านี้ โปรยหยากเยื่อที่ศีรษะแล้วนำออกไป’ แล้วจับหลังพวกกระผมโปรยหยากเยื่ออยู่ ทำโรงภัตให้อากูล."

ภิกษุทั้งหลายไปสู่สำนักพระศาสดาแล้ว กราบทูลความนั้น.

@@@@@@

ลักษณะบัณฑิตและไม่ใช่บัณฑิต              
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกคนพูดมาก เบียดเบียนผู้อื่นว่า ‘เป็นบัณฑิต’ แต่เราเรียกคนที่มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัยเลยว่า ‘เป็นบัณฑิต’.

ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
น เตน ปณฺฑิโต โหติ ยาวตา พหุ ภาสติ เขมี อเวรี อภโย ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ.
บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต เพราะเหตุเพียงพูดมาก, (ส่วน)ผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย เรากล่าวว่า เป็นบัณฑิต.


@@@@@@

แก้อรรถ               
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาวตา เป็นต้น ความว่า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต เพราะเหตุที่พูดมากในท่ามกลางสงฆ์เป็นต้น, ส่วนบุคคลใด ตนเองเป็นคนมีความเกษม ชื่อว่าไม่มีเวร เพราะเวร ๕ ไม่มี ผู้ไม่มีภัย คือ ภัยย่อมไม่มีแก่มหาชน เพราะอาศัยบุคคลนั้น, ผู้นั้นชื่อว่า "เป็นบัณฑิต" ดังนี้แล.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์ จบ.         
     


ที่มา : อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมัตถวรรคที่ ๑๙
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25.0&i=29&p=2
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎกได้ที่
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=946&Z=985
หน้า: [1]