ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ขุนเขา พรรณพฤกษา... ดอยหลวงเชียงดาว  (อ่าน 2936 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

อัจฉริยะ

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 123
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
ขุนเขา พรรณพฤกษา... ดอยหลวงเชียงดาว
« เมื่อ: ธันวาคม 24, 2010, 12:47:14 pm »
0
ขุนเขา พรรณพฤกษา... ดอยหลวงเชียงดาว

เรื่อง/ภาพ อำนวยพร ( tava  )


































            ในบรรดายอดเขาสูงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย  “ ดอยหลวงเชียงดาว ” นับว่ามีรูปร่าง ลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นกว่าใครเพื่อน เขาหินปูนหยึกหยักตระหง่านเงื้อม เมื่อมองจากบริเวณใดใกล้ไกล ยอดดอยแห่งนี้ก็คงความแปลกตาชวนมองยิ่งนัก เชียงดาวเผยโฉมให้เห็นได้ในหลายสถานที่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบนทางหลวงหมายเลข 107 ซึ่งผมเคยนั่งรถผ่าน ห้วยน้ำดังสถานที่ชื่อดังแห่งการชมทะเลหมอก ที่นี่ในยามเช้าเราจะพบสายหมอกล่องลอยอยู่กลางหุบเขาโดยมียอดเชียงดาวสูง ตระหง่านเด่นเคียงคู่กัน กลายเป็นภาพคุ้นเคยและเป็นดั่งสัญลักษณ์ของสถานที่นี้ ตลอดจนการมองเชียงดาวในที่ห่างไกลอย่างบนยอดดอยลังกาหลวง ซึ่งมีความสูงอันดับห้าของประเทศแห่งอุทยานแห่งชาติขุนแจ ก็คงค้นพบว่ามัน ยังไม่ลดความยิ่งใหญ่ลงแม้แต่น้อย.... เชียงดาวที่มองจากภายนอกจึงโดดเด่นกว่ายอดเขาใดๆ
 

  เชียงดาว...ในความรู้สึก ความประทับใจที่สัมผัสนั้น ส่วนตัวผมจึงมีทั้งการมองเห็นจากภายนอกและสัมผัส เห็นจากภายใน โดยส่วนของภายในนั้นผมกำลังหมายถึง การก้าวเท้าสู่ยอดดอยแห่งนี้ ดินแดนที่มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต


1 ...

       การเดินทางขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาวปัจุบันเปิดให้ขึ้น-ลงสองเส้นทาง ด้วยกันคือ เส้นทาง “ปางวัว” และ “เด่นหญ้าขัด” ( หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก ) ทั้งสองเส้นระยะทางแตกต่างกัน กล่าวคือ ปางวัวจากจุดเดินเท้าระยะทางประมาณ ๖ กิโลเมตร ส่วนเด่นหญ้าขัด ระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร เส้นทางนี้จะไกลกว่า และยังต้องนำรถไปส่งจุดเดินเท้าซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าดอยหลวงเชียงดาวหลายสิบกิโลฯด้วยกันหรือใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และในฤดูฝนรถที่เข้าไปส่งจะต้องเป็นรถประเภทขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น ส่วนเส้นทางปางวัวอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการเขตฯ ใช้เวลาเพียง 20 นาที เป็นถนนราดยางสะดวกสบายจนถึงจุดเดินเท้า เส้นทางปางวัว จึงได้รับความนิยมกว่าเด่นหญ้าขัด แต่ถ้าไม่รวมระยะทางรถยนต์ ทั้งสองเส้นทางใช้เวลาเดินเท้าพอๆ กัน
 

           ขณะที่ทางเด่นหญ้าขัดก็มีความโดดเด่นทางภูมิประเทศที่ไม่เหมือนทางปางวัว กลายเป็นจุดดึงดูดใจไม่น้อยทีเดียวกล่าวคือ จากจุดเริ่มต้นหน่วยฯ เด่นหญ้าขัด หรือ ขุนห้วยแม่กอก ลัดเลาะผ่านเส้นทางที่ต้องเดินบนสันเขามองเห็นทิวทัศน์ในมุมกว้าง และเดินอยู่ท่ามกลางดงสนสามใบ เพลิดเพลินกับการชมทิวสน ฟังเสียงทิวสนปะทะลมจนเกิดเป็นท่วงทำนองเสียงธรรมชาติไพเราะเสนาะหู บางช่วงต้องลุยป่าหญ้าคาที่สูงท่วมหัว ซึ่งบริเวณเหล่านี้หรือหลายๆ ที่ในอดีตเคยเป็นไร่ฝิ่นของชาวม้งมาก่อน คนที่เคยมาเยือนเชียงดาวเมื่อ สิบกว่าปีก่อน จะได้พบเห็นไร่ฝิ่นที่ออกดอกสะพรั่งทั่วหุบดอย ว่ากันว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมี การปลูกฝิ่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย แต่ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือร่องรอยให้เห็น ตลอดเส้นทางไม่ชันมากนัก ทำให้ความต่างของระยะทางเทียบกับปางวัวแล้วใช้เวลาเดินพอๆ กัน
 

 ทางด้าน ปางวัว จะชันกว่าเล็กน้อย แต่สะดวกในการนำรถมาส่งที่จุดเริ่มต้น จากนั้นเดินไต่ขึ้นเขาจนถึงดงไผ่หกและเดินทางราบในหุบเขาจนถึงดงกล้วย ซึ่งบริเวณดงไผ่หก จะเป็นจุดที่ทางเขตฯ อนุญาตให้กางเต็นท์พักแรมค้างคืนได้สำหรับกรณีที่ต้องการแบ่งช่วงครึ่งทาง ของการเดิน แต่ถ้าเดินรวดเดียวถึงแค้มป์อ่างสลุงใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง เช่นเดียวกับเส้นทางเด่นหญ้าขัด โดยทั้งสองเส้นทางจะมาบรรจบกันระหว่างครึ่งทาง หรือเลยแค้มป์ดงกล้วยมาเล็กน้อย...ไหนๆ มาถึงเชียงดาวทั้งที ต้องเดินให้ครบทั้งสองเส้นทาง ผมและชาวคณะมิตรสหายจึงวางแผนเดินขึ้นทางปางวัว เดินรวดเดียวให้ถึงแค้มป์อ่างสลุง ค้างบนนี้สักสองคืนแล้วขากลับเลือกลงทางเด่นหญ้าขัด






          ...ต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนเริ่มต้นที่ทางเขตรักษาพันธุ์ฯ เชียงดาว กำหนดเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปเที่ยวชมศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียง ดาว จนถึงเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี เพื่อให้ป่าได้พักฟื้นตลอดช่วงฤดูฝน และเหมือนว่าปีนี้ฟ้าฝนอากาศผิดแปลกไป ฝนยาวล่วงเลยมาถึงต้นเดือนพฤศจิกายน พอหมดฝนอากาศหนาวขึ้นมาทันที เข้าหนาวได้สองสามวันอุณหภูมิลดฮวบๆ จนทำให้บนยอดดอยสูงๆ อากาศหนาวเย็นสุดขั้ว ยอดดอยสูงสุดของประเทศอย่างอินทนนท์อุณหภูมิลดต่ำสุดถึง 0 องศา เกิดปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งหรือแม่คะนิ้ง ขณะเดียวกันที่เชียงดาวก็ดูจะไม่ต่างสักเท่าไหร่ และก็เป็นช่วงเดียวกันที่พวกเราเดินทางมาตรงกับความหนาวนี้พอดี มันจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอนกับการเผชิญความหนาวบนยอดดอยแห่งนี้ ขนาดแค่ช่วงวันระหว่างที่เราเดินอยู่นั้น แสงแดดแผ่จ้าเท่าไหร่แต่มันก็ไม่รู้สึกถึงความร้อน มันเหมือนว่าพลังแสงแดดคงไม่อาจต้านทานความหนาวเย็นนี้ไปได้ แต่กลับทำให้พวกเราเดินกันอย่างสบายไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป แม้ว่าบางช่วงของเส้นทางชันที่เราต้องใช้เรี่ยวแรง เรียกเหงื่อขับความร้อนจากร่างกายปะทะความเย็นรายรอบตัว ไม่นานความร้อนความเหนื่อยนั้นก็หายไปในบัดดล จะหลงเหลือก็เพียงความเมื่อยเขม็งตึงของกล้ามเนื้อบริเวณขา พาให้หยุดพักหลายช่วงด้วยกัน  ดูเหมือนพวกเราจะมีความสุขในสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ แต่ก็ไม่อยากนึกถึงเวลาค่ำคืน ซึ่งมันจะหนาวเหน็บเพิ่มเป็นทวีคูณแค่ไหน
 

 ระหว่างพักหลายคนสนุกกับการพูดคุยหยอกล้อ และบางคนรวมถึงผมต่างง่วนอยู่กับการบันทึกภาพ ซึ่งมีให้หยุดคว้ากล้องออกจากกระเป๋าเป็นระยะ ทางเดินช่วงชั่วโมงแรกมองออกไปทิศตะวันตก เห็นหมู่บ้านตั้งโดดเด่นอยู่บนเนิน คือบ้านนาเลา ชุมชนชาวลีซอ กลุ่มชาวเขาที่ยังอาศัยอยู่รอบๆ ป่าเชียงดาว และชาวลีซอบางส่วนก็มารับจ้างแบกหามสัมภาระนักท่องเที่ยวขึ้นดอย เช่นเดียวกับชาวบ้านจากบ้านถ้ำที่เป็นลูกหาบสมัยแรกๆของการท่องเที่ยว ธรรมชาติบนเชียงดาว คนที่นี่หรือชาวบ้านรอบๆป่าเชียงดาวนอกจากจะมีอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไปแล้ว ช่วงฤดูท่องเที่ยวเชียงดาว เขาจะมีรายได้จากการเป็นลูกหาบ บางคนมีรายได้หลายหมื่นบาทตลอดห้าเดือน นับเป็นรายได้พอเลี้ยงตัวและไม่มี ต้นทุนอะไร นอกจากลงแรง อาศัยความขยันและอดทน
 

        นกชนิดแรกที่ทำให้เราได้หยุดดูคือ แซงแซวหัวขาว ส่งเสียงเจื้อยแจ้วอยู่บนยอดไม้หลายสิบตัวด้วยกัน คงได้ดูแต่ตาเพราะถ้าบันทึกภาพก็คงต้องใช้เลนส์ตัวโตๆ สัก 500 มม. นกชนิดต่อมาที่พบเห็นคือกลุ่มนกพญาไฟ เอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ที่มีสีสันแดงสด และนกชนิดที่ตามมาติดๆ เมื่อเลยดงไผ่หกเพื่อไปยังดงกล้วย เราได้บันทึกภาพกันเต็มๆ และดูจะยอมให้ถ่ายภาพใกล้ๆ ไม่บินหนีไปไหน เพราะนกชนิดนี้ไม่ใช่สัตว์ หากมันคือ “เทียนนกแก้ว” ( Impatiens psittacina Hook. f. ) พันธุ์ไม้ในวงศ์เทียนที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายนกแก้วกำลังโผบิน จนเป็นที่มาของชื่อซึ่งใช้เรียกเทียนชนิดนี้ เทียนนกแก้วเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง พบเฉพาะที่เชียงดาวและจีนตอนใต้ ขึ้นอยู่ในป่าดิบเขาตั้งแต่ความสูง 1,400-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความแปลกที่คล้ายนกแก้วนี้เองทำให้กลายเป็นพันธุ์ไม้ที่ถูกกล่าวขวัญถึงของ ผู้คนที่เดินทางมาเยือนเชียงดาว หวังจะได้พบเห็นกับตาสักครั้ง ท่านใดอยากพบตัวเป็นๆ ก็ต้องมาช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พบมากบริเวณช่วงระหว่างเส้นทางดงไผ่หกจนถึงดงน้อย







 

 ป่าเชียงดาวสามารถพบเห็นนกมากมายหลายชนิด เป็นที่นิยมของนักดูนกเส้นทางหนึ่งโดยเฉพาะเส้นทางเด่นหญ้าขัด จังหวะดีๆ ในเส้นทางนี้อาจได้เห็น ไก่ฟ้าหลังขาวกับไก่ฟ้าหางลายขวาง สัตว์ปีกซึ่งหาชมได้ยากในถิ่นอื่นแต่สามารถพบได้ที่นี่และไม่กี่แห่งใน ประเทศไทย ถัดจากดงกล้วยเดินทางราบชั่วครู่ก็ตัดขึ้นทางชันอีกเล็กน้อย บรรจบกับทางแยกระหว่างเด่นหญ้าขัดกับปางวัว ซึ่งมีป้ายบอกเส้นทางไว้ ขวาไปเด่นหญ้าขัด และซ้ายที่เราจะไปต่อคืออ่างสลุงหรือยอดดอย เดินเลาะไปตามไหล่เขาขึ้น-ลงเล็กน้อย และลงทางราบแอ่งหุบเขา มองเห็นยอดพีระมิดทางด้านซ้าย ยอดดอยสามพี่น้องทางด้านขวา และหันหลังกลับไปคือดอยหนอก ส่วนด้านหน้าคือกำแพงเขาหินปูนที่เราต้องข้ามผ่าน มองไปบนยอดกำแพงเขาหินปูนหรือแนวสันเขาเห็นต้นค้อดอย ( Trachycarpus oreophilus Gibbons& Spanner) ยืนต้นเป็นทิวแถวท้าทายสายลมแสงแดดอย่างน่าทึ่ง เวลาผ่านไปมากเท่าไหร่หรือ เดินผ่านดอยสามพี่น้องลึกเข้าไป เมื่อมองย้อนกลับมาการมองเห็นรูปร่างของดอยสามพี่น้องก็จะชัดเจนขึ้น คือเห็นเป็นยอดดอย 3 ยอดเรียงซ้อนทำมุมทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ในช่วงบ่ายพอดี เกิดเป็นลำแสงส่องผ่านตามช่องระหว่างยอดทั้งสาม สร้างความรู้สึกถึงมิติลึกลับน่าเกรงขาม จนต้องหยุดมองและบันทึกภาพเป็นระยะ ทั้งสามยอดมีความสูงไล่เลี่ยกันโดยยอดที่สูงสุดคือ 2,150 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
 

 ช่วงสุดท้ายก่อนตัดข้ามเขาเพื่อมายังอ่างสลุงนั้น จะเป็นทางลาดชันที่ทำให้ต้องไต่เดินฉุดเรี่ยวแรงไม่น้อย มองไปรอบๆ สภาพป่าเป็นทุ่งหญ้าซึ่งโอบล้อมด้วยภูเขาหินปูน ตามไหล่เขาลงมาโขดหินน้อยใหญ่สีดำเทาผุดขึ้นแทรกออกมาจากดงหญ้าเป็นหย่อมๆ เหมือนมีใครนำมาตั้งเอาไว้จนเกิดเป็นประติมากรรมแท่งหินหรือสวนหินธรรมชาติ ที่แปลกตาชวนมองและจินตนาการ หนทางชันที่พาข้ามกำแพงเข้ามายังบริเวณที่ราบซึ่งเรียกว่าดงเย็น ลักษณะเป็น หย่อมป่าดิบเขาที่เหลือรอดจากการบุกรุกทำไร่ฝิ่นสมัยก่อน บริเวณแถบนี้พบพันธุ์ไม้หลายชนิด ได้แก่ เอสเตอร์เชียงดาว กลีบดอกสีขาวเล็กๆ เรียงซ้อนกันมีเกสรสีเหลือง, บัวคำหรือบัวทอง ดอกสีเหลืองสด, เหยื่อจง ดอกมีสีขาวรูปร่างสั้นป้อม เมื่อก้าวออกป่าดิบเขาพื้นที่โล่งเตียนเดินไปตามทางตัดผ่านดงต้นสาบเสือ ที่โดนแม่คะนิ้งหรือน้ำค้างแข็งเมื่อคืนก่อน เกาะจนทำให้ตามใบปรากฏสีดำไหม้เป็นวงกว้าง เดินผ่านมาได้สักครู่เห็นชมพู พิมพ์ใจออกดอกช่อใหญ่สีชมพูสดสะดุดตาตัดกับสีครามของท้องฟ้า นับเป็นอีก หนึ่งพันธุ์ไม้เด่นบนเชียงดาวนี้








2 ...

          เรามาถึงอ่างสลุงเวลาบ่ายอ่อนๆ อ่างสลุง เป็นจุดแค้มป์ตีนดอยแห่งเดียวที่พักแรมได้ ซึ่งอยู่ใกล้กับยอดสูงสุดและยอดเขาสำคัญของดอยหลวงเชียงดาว คำว่าอ่างสลุง ภาษาถิ่นแปลว่าแอ่งรับน้ำ ในลักษณะทางธรณีวิทยา คือ หลุมยุบเกิดจากการที่น้ำฝนละลายหินปูนไหลซึมผ่านลงไปใต้ดิน กัดกร่อนนานวันเข้าจนเกิดเป็นช่องว่างใต้ดินไหลเป็นทางน้ำธรรมชาติ ต่อมาเมื่อผุกร่อนมากขึ้นก็ยุบตัวลงเป็นอ่างใหญ่ แม้จะเป็นอ่างใหญ่แต่ก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ เพราะบริเวณนี้และทั่วไปเป็นพื้นดินซึ่งมีชั้นหินปูนที่ผุกร่อน ฝนที่ตกลงมาไม่นานก็ซึมหายลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่มีแหล่งน้ำใดๆ เลย คนที่ขึ้นมาบนนี้จึงต้องตระเตรียมน้ำกันเอง
 

 อ่างสลุง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,950 เมตร จากตรงนี้มีทางเดินเชื่อมต่อไปยังดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นยอดสูงสุด และอีกทางหนึ่งไปยังดอยกิ่วลมใช้เวลาเดินประมาณ 40 นาที ส่วนการขึ้นยอดดอยหลวงใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาที ผมมีเวลาอยู่บนนี้ 2 คืนในการวางแผนสำรวจถ่ายภาพ โดยช่วงอาทิตย์ตกซึ่งกำลังใกล้เข้ามานี้ จะขึ้นไปยังยอดดอยหลวงเชียงดาว เช้าวันรุ่งขึ้นไปชมอาทิตย์ขึ้นยังดอยกิ่วลม อยู่จนสายๆ เพื่อเก็บภาพพันธุ์ไม้ให้ทั่วถึงโดยกิ่วลมแบ่งออกเป็น กิ่วลมเหนือ และกิ่วลมใต้ ตกเย็นถ้าไม่ขี้เกียจก็อาจขึ้นยอดดอยหลวงอีกทีหรือไม่ก็กิ่วลมใต้เพราะมีจุด ให้ชมทิวทัศน์ด้านทิศตะวันตกได้เหมือนกัน พอถึงวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับเลือกเดินขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาวถ่ายภาพ อาทิตย์ขึ้นและบริเวณโดยรอบ เป็นโปรแกรมปิดท้ายการเยือนดอยหลวงเชียงดาวอย่างสมบูรณ์แบบ
 

       ดอยหลวงเชียงดาวถือเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย ตามลักษณะภูมิประเทศของดอยหลวงเชียงดาวถ้ามองมุมสูงหรือมุมนกมองจะเห็นเป็น รูปเกือกม้าหันหน้าไปทิศตะวันออก ปลายเกือกม้าหันสู่ทิศตะวันตก ความกว้างอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ความยาวอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตกประมาณ 24 กิโลเมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 350 -2,225 เมตร ด้านบนมียอดเขาแหลมที่มีความสูงใกล้เคียงกันวางตัวเรียงรายไปตามแนวเกือก ม้า คือ ดอยพีระมิด ซึ่งสูง 2,175 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ดอยสามพี่น้อง สูง 2,150 เมตร 2,080 เมตรและ 2,060 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดดอยหนอก 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ดอยกิ่วลม 2,140 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และยอดดอยหลวงเชียงดาว สูง 2,225 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยยอดดอยพีระมิด และดอยสามพี่น้อง ทางเขตรักษาพันธุ์ฯ ไม่อนุญาตให้เข้าไปท่องเที่ยวเพราะเป็นพื้นที่อาศัยของ สัตว์ป่า โดยเฉพาะ กวางผา สัตว์ป่าสงวนของไทย สัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่กระนั้นการได้ชมทิวทัศน์ความงาม เหนือหุบผาทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตกของทั้งสองยอด ยากที่ใครจะปฏิเสธในการขึ้นมาสัมผัสด้วยตาตนเองสักครั้ง





 

  บนยอดดอยหลวงเชียงดาว หรือเรียกสั้นๆ ว่าดอยหลวง ซึ่งเป็นยอดสูงที่สุดและเป็นตัวเลขสถิติความสูงเป็นอันดับสามของประเทศไทย ถ้ามองในด้านความงามของทัศนียภาพข้างบนนี้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทุกทิศทุกทางเลยทีเดียว ทิศตะวันออกเห็นที่ราบในเขตอำเภอเชียงดาวจรดแนวเทือกเขาฝั่งตะวันออก หากมองเยื้องไปทางใต้จะเห็นทิวเขายอดลังกาหลวง ซึ่งมีความสูง 2,031 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงเป็นอันดับห้าของประเทศ ส่วนทางด้านใต้เห็นยอดกิ่วลมและไกลออกไปลิบๆ คือดอยอินทนนท์ เจ้าแห่งความสูงที่สุดของเมืองไทย (2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ย้อนกลับไปทางทิศเหนือ มองเห็นแนวภูเขาสลับซับซ้อนจรดเขตอำเภอฝาง ปรากฏยอดดอยสูงอันดับสองของประเทศ คือดอยผ้าห่มปก (2,285 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) และในทิศตะวันตกซึ่งเป็นไฮไลท์ประจำดอย ประมาณว่ามุมทิวทัศน์ด้านนี้เสมือนสัญลักษณ์ของเชียงดาว ข้างหนึ่งคือภูเขารูปหยึกหยักของดอยสามพี่น้อง อีกด้านหนึ่งภูเขาที่งอกเด่นตะหง่านเงื้อมของดอยพีระมิด เป็นสองผู้ยิ่งใหญ่ที่เสมือนเผชิญหน้ากัน ขณะที่ตรงช่องระหว่างเขามองลอดผ่านไปพบคลื่นทะเลภูเขาทอดยาวสลับซับซ้อนเป็น อาณาบริเวณกว้าง เวลาพระอาทิตย์อัสดงแสงสีเหลืองแดงผสมผสานทาทาบไปทั่วผืนฟ้าและทิวเขา มันจะเป็นภาพที่สะกดตาและใจใครๆ ที่พบเห็นได้เสมอ และเช่นเดียวกันหากมุมนี้เวลาเช้ามืดของวันช่วงที่มีทะเลหมอก ปรากฏการณ์อัศจรรย์แห่งธรรมชาติ คนที่มองผ่านมาจากทางห้วยน้ำดัง จะเห็นทะเลหมอกคลอเคลียอยู่กับยอดดอยสามพี่น้อง ครั้งหนึ่งผมก็เคยมองมาจากที่นั่น หากวันนี้ผมยืนอยู่บนยอดดอยหลวง มองย้อนกลับไปยังห้วยน้ำดัง ความรู้สึกจึงเป็นความหมายพิเศษ เช่นเดียวกับการได้มองยอดเชียงดาวจากหลายๆ ที่ และกลับมามองจากยอดนี้ ... ผมกำลังคิดถึงห้วงเวลาการเดินทางบนดอยนั้นๆ “ดอยลังกาหลวง ดอยลังกาน้อย ดอยผ้าห่มปก และห้วยน้ำดัง”
 

       ฉากแสงสุดท้ายกำลังสิ้นลงไปเรื่อยๆ พวกเราจึงชวนกันกลับเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ที่ทยอยลงจากดอยเพื่อไปจุดแค้มป์พักแรมด้านล่าง ขณะที่อุณหภูมิลดต่ำลง สัญญาณแห่งความหนาวผสมผสานกับสายลมระลอกแล้วระลอกเล่าที่พัดพาเอาความเย็นยะ เยือกให้เพิ่มเป็นทวีจนผมไม่อาจทานทนความหนาวนี้ได้นาน เสื้อกันหนาวเป็นทางเดียวที่จะทำให้อบอุ่นขึ้น ความหนาวเย็นเป็นตัวเร่งให้เรารีบกลับลงยังแค้มป์ที่พัก พร้อมกับช่วยกันประกอบอาหารในมื้อค่ำ
 

      ค่ำคืนนี้เป็นเดือนสว่างพระจันทร์เต็มดวง แต่ก็มองเห็นหมู่ดาวเกลื่อนกระจายสุกสกาว จนเห็นดาวตกวาบแสงกลางฟ้า แม้จะอยู่ในหุบแอ่งแต่ความหนาวก็ไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย บนนี้มีกฎห้ามก่อกองไฟเพื่อหลีกเลี่ยงการตัดไม้ อีกอย่างหนึ่ง ควันไฟอาจส่งผลร้ายกับพันธุ์ไม้อันบอบบาง หลังอาหารมื้อค่ำเราจึงได้แต่นั่งจับกลุ่มสนทนากลางผืนฟ้า ไม่นานต่างคนก็ต้องกล่าวราตรีสวัสดิ์ เพราะไม่อาจทนความหนาวเหน็บและความอ่อนล้าจากการเดินทางตลอดวันไปได้






3 ....

  ความหนาวแบบสุดขั้วทำให้ผมหลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืนแม้ว่าเราจะอยู่ในชุดเสื้อกันหนาวหลายชั้นและชุกตัวอยู่ในถุงนอนก็ ไม่อาจต้านความหนาวระดับอุณหภูมิ 1-2 องศาไปได้ ใกล้รุ่งเช้าราวตีสี่จึงลุกขึ้นมาแบบไม่ขี้เกียจ เตรียมออกเดินมุ่งหน้าไปยังดอยกิ่วลมซึ่งตั้งตระหง่านเป็นเงาตะคุ่มไม่ไกล จากแค้มป์ ทางเดินที่เปิดรับด้วยความชันที่แฝงตัวอยู่ในความมืด มีหยาดหยดน้ำค้างใสๆ จับเกาะอยู่ตามยอดหญ้า บางช่วงในแอ่งที่ราบก่อนเดินขึ้นทางชัน เมื่อส่องไฟฉายไปตามใบไม้ใบหญ้า จะพบน้ำค้างแข็งเกาะอยู่ประกายแวววาวสะท้อนกับแสงไฟ ขณะที่ไต่ทางชันหยาดหยดน้ำค้างใสๆ ซึ่งจับตัวอยู่ตามยอดหญ้าสองข้างทางจะทำให้ชายกางเกงเปียกฉ่ำเมื่อต้องลุย ผ่านอย่างไม่มีทางเลือก ผสานผสมกับอุณหภูมิเลขตัวเดียวที่สร้างความหนาวเหน็บสุดขั้ว
 

 ยิ่งสูงขึ้นก็รับสายลมหนาวที่พัดแรงมากขึ้น แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ความพยายามมาชมภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าบนยอดกิ่วลมในระดับ ความสูง 2,140 เมตร ลดลงไปเลยแม้แต่น้อย ทะเลหมอกที่ดูหนาแน่นไหลเลื่อนปกคลุมแอ่งเชียงดาว และทั่วทิศในที่ราบแอ่งหุบเขาใกล้-ไกล ขณะแสงสีส้มแดงตรงปลายขอบฟ้าค่อยๆ สว่างขึ้นพร้อมกับอาทิตย์ดวงกลมโผล่พ้นขึ้นมาให้เห็น ภาพบรรยากาศเช่นนี้คือวัฏจักรธรรมดาของธรรมชาติ แต่ในแง่ของนักเดินทางด้วยกันแล้ว นี่คือการแสวงหาหนึ่งที่รอคอยเสมอกับการก้าวสู่ดินแดนแห่งนี้ 
 

      หลังจากใช้เวลากับภาพประทับใจอยู่นานพอสมควร ฟ้าเริ่มเปิดสว่างจ้า หลังจากกระตุ้นสมองและสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับร่างกายด้วยกาแฟร้อนๆ ที่เตรียมเตาแก๊สสนามและกาน้ำร้อนมาต้มชงดื่มกันบนยอดดอยแห่งนี้ ต่อจากนั้นจึงค่อยออกสำรวจถ่ายภาพพันธุ์ไม้และทิวทัศน์โดยรอบอีกครั้ง หนึ่ง ทั้งที่กิ่วลมเหนือ-ใต้ และรวมถึงยอดดอยหลวงเชียงดาวที่จะขึ้นไปอีกทีช่วงบ่ายๆ ไล่เรียงกันตั้งแต่ตามซอกหินปูนก็จะพบ “ ฟองหินเหลือง ” ( Sedum sarmentosum ) พืชต้นเล็กๆ ชูช่อดอกเหลืองเป็นกลุ่มแน่นขนัด เป็นพืชต้นเล็กๆ  ตามพื้นดินก็ยังได้พบพืชพันธุ์อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น “หญ้าดอกลาย” ( Swertia stiata ) ดอกสีขาวและเส้นขีดสีม่วงเข้มลากไปตามความยาวของกลีบ “หรีดเลื้อยเชียง ดาว” (Gentiana leptoclada ssp. Australis) และ “หรีดศรีเชียงดาว” ( Swertia chiangdaoensis ) โดยทั้งหรีดเลื้อยเชียงดาวและหรีดศรีเชียงดาว เป็นพืชถิ่นเดียวที่ไม่พบที่อื่นใดในโลก
 

 เหนือยอดหญ้าจะพบ “ชมพูเชียงดาว” ( Pedicularis siamensis ) แทงช่อดอกสีชมพูเข้มขึ้นมาอย่างโดดเด่น ไม้ล้มลุกชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่มันเป็นพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นบนดอยหลวงเชียง ดาวหรือมีแห่งเดียวในโลก อีกชนิดหนึ่งที่สวยงามไม่น้อยไปกว่ากัน คือ “ชมพูพิมพ์ใจ” ( Luculia gratissima ) เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง นี่ก็เป็นอีกชนิดที่พบเฉพาะดอยหลวงเชียงดาว




 

 “คำขาวเชียงดาว” หรือกุหลาบพันปีดอยเชียงดาว ( Rhododendron ludwigianum ) ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่เป็นพืชถิ่นเดียว และมีความโดดเด่นไม่แพ้พืชชนิดอื่นๆ เป็นกุหลาบพันปีที่มีดอกใหญ่ที่สุดในบรรดากุหลาบพันปีท้องถิ่นของไทยทั้งหมด แต่ตอนนี้มันยังไม่ออกดอก ถ้าใครอยากเห็นก็ต้องมาราวเดือนมีนาคมนั่นแหละครับ นอกจากนี้ยังมี “ขาวปั้น” ( Scabiosa siamensis ) ลักษณะดอกสีขาวบานรวมกลุ่มเป็นช่อกลมอยู่บนก้านเดี่ยว นับเป็นอีกพรรณพืชเฉพาะถิ่น “ฟ้าคราม” ( Ceratostigma stafiana ) ชูช่อดอกสีฟ้าอ่อนดูสบายตา และ “แสงแดง” (Colquhounia coccinea ) ลักษณะดอกเป็นหลอดมีสีแดงอมส้ม
 

 ...นอกจากที่กล่าวมา ทั่วดงดอยก็ยังพบเห็นพันธุ์ไม้สำคัญอีกมากมายหลายชนิด ทั้งที่ผมได้พบออกดอกและไม่ได้พบเจอก็อีกมาก แต่แค่นี้ก็ดูจะเพียงพอที่ทำให้การเดินทางช่างน่าจดจำ สามวันบนดอยหลวงเชียงดาวแม้ดูเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งน่าประทับใจเป็นประสบการณ์ดีๆ บนดินแดนโลกธรรมชาติแห่งนี้
 

 ดอยหลวงเชียงดาว แหล่งรวมพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวและเป็นสังคมพืชกึ่งอัลไพล์แห่งเดียวของประเทศ ไทย เป็นความอัศจรรย์ยิ่งนัก สิ่งต่างๆ บนนี้ล้วนมีคุณค่า ดังนั้นทุกย่างก้าวที่เราเหยียบย่ำ จึงควรตระหนักให้ดีว่า เราอาจกลายเป็นผู้ทำลาย ทำให้เกิดการสูญเสียไม่มากก็น้อย และสิ่งที่ถูกทำลายนั้นอาจจะเป็นการสูญเสียอย่างไม่มีวันกลับคืนมา ไม่มีใคร ปฏิเสธถึงผลกระทบจากการเดินทางเข้าไปของมนุษย์ แต่เราก็มีทางเลือกที่จะรักษาหรือทำลายให้น้อยที่สุดได้เช่นกัน ซึ่งทำไม่ ยากเลย คำตอบนั้นก็อยู่ที่พวกเราทุกคน ... “ ดอยหลวงเชียงดาว จึงมีคุณค่ามากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต และไม่ว่าจะมองจากภายนอกและสัมผัส จากภายใน มันช่างวิเศษจริงๆ ครับ. ”
บันทึกการเข้า

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7250
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: ขุนเขา พรรณพฤกษา... ดอยหลวงเชียงดาว
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 24, 2010, 04:10:59 pm »
0
การที่จะสัมผัส ธรรมชาติ แท้ ๆ ก็คือการ จาริก หรือ ตั้งแคมป์ เพราะจะได้พบสิ่งที่คนทั่วไปไม่เคยเห็น

พระอาจารย์ก็ชอบการจาริก ที่ไม่อิงกับสถานที่ อยู่เหมือนกัน ในสมัยก่อน ๆ

แต่ปัจจุบันนี้ เพราะความเป็นพระจึงไม่สามารถไปทำอย่างนั้นได้

ดังนั้น คนใดมีโอกาสแบกเป้ ไปในที่ต่าง ๆ แล้วเก็บภาพมาแล้ว ก็ช่วยมาโพสต์ให้ชมหน่อยนะจ๊ะ

เจริญพร

 ;)
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ