ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “แก่งจัน” หนึ่งในแก่งหินอันตรายที่สุดในแม่น้ำโขง ที่บันทึกในประวัติศาสตร์  (อ่าน 277 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ลักษณะทางกายภาพของแก่งจัน แก่งหินกลางลำแม่น้ำโขง ที่บ้านคกเว้า ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย (บันทึกภาพเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565) ภาพถ่ายโดย ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ


“แก่งจัน” หนึ่งในแก่งหินอันตรายที่สุดในแม่น้ำโขง ที่บันทึกในประวัติศาสตร์

แก่งจัน (บ้างเขียน แก่งจันทน์, แก่งจันทร์ ก็มี) เป็นแก่งหินที่มีความอันตรายมากที่สุดในแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของเมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว ลักษณะเป็นแนวโขดหินโสโครกระเกะระกะกระจายอยู่กลางลำแม่น้ำโขง ติดกับบ้านคกเว้า ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ในอดีตมีการบันทึกความน่ากลัวของแก่งจันเอาไว้ แต่ปัจจุบันแก่งจันคือจุดชมทัศนียภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งในอำเภอปากชม จังหวัดเลย

ลักษณะทางกายภาพของแก่งจันเป็นแก่งหินชนิดหินแปรจำพวกหินควอตซ์ไซต์และหินชนวน ที่เกิดจากการถูกบีบอัดอย่างรุนแรง เมื่อถูกกระแสน้ำไหลกัดเซาะไปตามแนวสันหินของชั้นหินที่มีมุมเอียงและชัน จึงเกิดเป็นร่องน้ำลึกและยาว ส่งผลให้เกิดวังน้ำวน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เวิน” กระแสน้ำวนจะมีความแรง สามารถดูดวัตถุขนาดใหญ่ เช่น ขอนไม้ซุง, เรือขนาดใหญ่ ลอยมาตามผิวน้ำ ให้จมลงไปใต้น้ำได้

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า แก่งในแม่น้ำโขงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือเป็นอย่างมาก ดังปรากฏในพระนิพนธ์นิทานโบราณคดี เรื่องแม่น้ำโขง ความว่า

“…แก่งแม่น้ำโขงมีภัยผิดกับแก่งเชียงใหม่เป็นข้อสำคัญอยู่ที่น้ำวนร้าย พวกชาวเมืองเรียกว่า ‘เวิน’ กลัวกันเสียยิ่งกว่าหินที่ในแก่ง เพราะธรรมดาแก่งย่อมมีวังน้ำลึกอยู่ข้างใต้แก่ง… เพราะสายน้ำแรงทำให้น้ำที่ในวังไหลวนเป็นวงใหญ่เวียนลึกลงไปอย่างก้นหอย มีสะดืออยู่ที่กลางวงเป็นนิจ ผิดกันแต่ในฤดูแล้งน้ำวนอ่อนกว่าฤดูน้ำ เรือแพพายลงแก่ง จำต้องผ่านไปในวงน้ำวน ถ้าหลีกสะดือวนไม่พ้น น้ำก็อาจจะดูดเอาเรือจมหายลงไปในวนได้ทั้งลำ…”

@@@@@@@

ด้วยเหตุนี้ ตามแก่งสำคัญๆ ในแม่น้ำโขงจึงมีเครื่องหมายทำไว้แต่โบราณทั้งข้างเหนือและข้างใต้แก่ง เมื่อเรือแพชาวเมืองจะผ่านแก่ง ต้องแวะดูคราบระดับน้ำที่เครื่องหมาย ถ้าเห็นระดับน้ำถึงขนาดมีภัย ก็ต้องจอดเรือคอยอยู่นอกแก่ง จนเห็นระดับน้ำได้ขนาดปลอดภัยจึงขึ้นล่อง

นอกจากความอันตรายของกระแสน้ำต่อการเดินเรือแล้ว ในท้องถิ่นใกล้เคียงกับแก่งจันยังมีเรื่องเล่าว่า แก่งจันยังถูกใช้เป็นที่ทิ้งศพของคนที่ถูกโจรผู้ร้ายอุ้มฆ่าอำพรางศพ เนื่องจากเป็นวังน้ำวนแล้ว ศพจะถูกกระแสน้ำดูดกลืนลงไปใต้น้ำแล้วหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ราว พ.ศ. 1992-1993 ในสมัยพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว โปรดให้มีการอัญเชิญพระบาง-พระพุทธรูปสำคัญของล้านช้าง ลงเรือจากเมืองเวียงคำขึ้นไปยังเมืองหลวงพระบาง แต่ปรากฏว่าเรือที่อัญเชิญพระบางล่มที่แก่งจันใต้เมืองเชียงคาน พระบางพลัดตกเรือจมหายไปใต้น้ำ ดังปรากฏในพงศาวดารเมืองหลวงพระบาง ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน ความว่า “…แล้วพระไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วให้ท้าวพระยาลงไปเชิญพระบาง ณ เมืองเวียงคำ ใส่เรือขึ้นมาถึงแก่งจันใต้เมืองเชียงคานเรือล่มพระบางจมน้ำหายไป…”

แต่ยังโชคดีที่ขุนนางผู้โดยสารมาบนเรือด้วยนั้นไม่ได้รับอันตรายถึงชีวิต และในเวลาต่อมาก็มีการพบพระบางและอัญเชิญกลับไปยังเมืองเวียงคำดังเดิม



อนุสรณ์แก่งจันทร์ ซึ่งเป็นประติมากรรมปูนปั้นผู้หญิงถือบ้างร่อนทองอยู่ริมถนนติดกับแก่งจัน ในท้องที่บ้านคกเว้า ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย (บันทึกภาพเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565) ภาพถ่ายโดย ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ

พ.ศ. 2122 สมัย พระมหาอุปราช พระเจ้าเมืองเวียงจันทน์ (ที่พระเจ้าบุเรงนองตั้งขึ้นภายหลังตีเมืองเวียงจันทน์) เกิดการกบฏ หัวหน้ากบฏอ้างตนเองคือพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่หายสาบสูญไปที่เมืององการ พระมหาอุปราชส่งกองทัพไปปราบแต่ไม่สำเร็จ กองทัพของกบฏยกขึ้นมาตีเมืองเวียงจันทน์ พระมหาอุปราชจึงตัดสินพระทัยพาพระราชธิดา 2 พระองค์ลงเรือขึ้นมาทางเหนือ หวังพึ่งกรุงหงสาวดี แต่เรือพระที่นั่งมาล่มที่แก่งจัน เป็นเหตุให้พระมหาอุปราชและพระราชธิดาสิ้นพระชนม์

ซึ่งใน ตำนานขุนบรมราชาธิราช ฉบับวัดท่าม่วง จังหวัดร้อยเอ็ด (เอกสารใบลานพบที่วัดท่าม่วง บ้านท่าม่วง ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ธนายุทธ อุ่นศรี ทำการปริวรรตเมื่อ พ.ศ. 2564 แต่ยังไม่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการ) ระบุชัดเจนว่า แก่งที่เรือพระที่นั่งของพระมหาอุปราชล่มจนสิ้นพระชนม์เหนือเมืองเวียงจันทน์นั้น คือ แก่งจันทน์ ดังปรากฏความว่า

“…พระมหาอุปราชเจ้าล้านช้างนั้น ก็พ่ายหนีจากเวียงจันทน์ขึ้นมาทางเรือหวังจักเมือเพิ่งเจ้าฟ้าหงสาวดีดังเก่าแล ด้วยแท้ครอบขึ้นมาฮอดแก่งจันทน์หั้น เรือก็ล่มจมเสีย ส่วนว่าตนพระมหาอุปราชทั้งราชธิดากุมารีลูกหญิงทั้ง 2 นั้น ก็ลวดตายที่ท่าน้ำเสียที่นั้น ก็ไปตามกรรมแห่งเจ้าพ่อลูกทั้ง 3 หั้นแล ข้อยเรือบ่ตายรีบแล่นเมือเหนือร้องไห้รำไรไป มาไหว้เทวีว่า พระกษัตริย์เจ้าตนชาย แลราชธิดา วินาศก็ฉิบหายตายไปในน้ำเสียแล้ว…” [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

@@@@@@@

พระวิภาคภูวดล (James McCarthy) เจ้ากรมแผนที่สยามคนแรก ซึ่งเดินทางด้วยเรือสำรวจพื้นที่โดยรอบของอาณาจักรสยามจากเมืองหนองคายมายังเมืองเชียงคาน ช่วงระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2426 คณะของพระวิภาคภูวดลเดินเรือผ่านบริเวณแก่งจัน และขึ้นมาถึงเมืองเชียงคานเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม บันทึกเหตุการณ์ช่วงที่เรือผ่านบริเวณแก่งจันไว้ว่า

“วันที่ 21 พฤษภาคม เรามาถึงเชียงคานอย่างทุลักทุเล เพราะเรือลำหนึ่งล่มในวังน้ำวนที่แก่งจัน แต่โชคดีที่กู้ขึ้นมาได้ ในคืนนั้นฝนตกหนัก ข้าพเจ้าสะดุ้งตื่นจากฝันร้าย พอรู้ตัว ก็พบว่า หัวเรือลำหนึ่งแทงทะลุประทุนเรือเข้ามาอยู่เหนือหน้าอกข้าพเจ้าพอดี เลียวโนเวนส์นอนอยู่ในเรือเจ้ากรรมที่พร้อมจะจมเรือของข้าพเจ้าได้ทุกเมื่อ แม้จะตะโกนร้องเสียงดังแค่ไหน เขาก็ไม่ตื่นจากนิทราเลย ข้าพเจ้าผลักหัวเรือออก ร่างกายเปียกโชก ประทุนเรือพัง ต้องทนหนาวจนถึงเช้า วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าโดนไข้หวัดเล่นงานอย่างหนัก จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ข้าพเจ้ายิ่งโมโหมากขึ้น เพราะเคยเตือนกันแล้ว ว่าอย่าโยงเรือไว้ชิดกันเกินไป เผื่อมีพายุ แต่เขาคงเลื่อนกันทีหลัง ตอนที่ข้าพเจ้าเข้านอนแล้ว” [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

เฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ (Herbert Warington Smyth) นักธรณีวิทยาชาวอังกฤษซึ่งรับราชการในกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา เคยเดินทางล่องเรือจากเมืองหลวงพระบางลงมายังเมืองหนองคายในช่วงหน้าแล้งเมื่อราว พ.ศ. 2435-2436 บันทึกเกี่ยวกับแก่งน้ำเชี่ยวใต้เมืองเชียงคาน ซึ่งคงหมายถึงแก่งจันไว้ว่า

“…แก่งน้ำเชี่ยวมีกระแสน้ำไหลเวียนวนกินพื้นที่กว้างไกลหลายไมล์และสาดซัดเข้าสู่บริเวณแอ่งน้ำที่มีความกว้าง 150 ฟุต เกิดเสียงอึกทึกกึกก้องจากเกลียวคลื่นพุ่งกระจายจนแตกซ่านและหมุนวนดังสนั่นหวั่นไหวน่าสะพรึงกลัว กระแสน้ำที่ไหลผ่านแก่งน้ำเชี่ยวแต่ละแห่งมีลักษณะไม่เหมือนกัน และน้ำวนที่เกิดก็ต่างกันด้วย เรือจำนวนมากไม่สามารถแล่นผ่านบริเวณนี้ไปได้ เนื่องจากกระแสน้ำจะพัดเรือหมุนเข้าไปในน้ำวน หรือบริเวณที่น้ำแตกกระจายรุนแรง ทำให้ท้ายเรือเข้าเกยฝั่งและกระแทกหินพังยับเยิน นับเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยยากที่สุดสำหรับลูกเรือ…”



จุดชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณแก่งจัน ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลหาดคัมภีร์ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (บันทึกภาพเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565) ภาพถ่ายโดย ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ

บันทึกร่วมสมัยเกี่ยวกับ “แก่งจัน” ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ทำให้เห็นว่าแก่งจันเป็นแก่งหินในแม่น้ำโขงที่มีความอันตรายเป็นอย่างมาก เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของนักเดินเรือและชาวเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง

นอกจากแก่งจันแล้ว แก่งฟ้า ที่บ้านหาดเบี้ย ตำบลปากชม อำเภอปากชม จังหวัดเลย เหนือแก่งจันราว 20 กิโลเมตร ก็เป็นแก่งหินที่อันตรายอีกแห่งซึ่งมีน้ำไหลเชี่ยว รวมไปถึงแก่งคุดคู้ที่อยู่ใต้ตัวเมืองเชียงคานเก่าไม่ถึง 1 กิโลเมตร

ดังนั้น ผู้ที่จะเดินทางด้วยเรือจากเมืองหลวงพระบางลงไปยังเมืองเวียงจันทน์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-24 จึงจำเป็นต้องแวะพักที่เมืองเชียงคาน เพื่อเตรียมเรือและเตรียมตัวสำหรับการที่จะเดินทางผ่านแก่งหินต่างๆ จากใต้เมืองเชียงคาน เริ่มตั้งแต่แก่งคุดคู้เรื่อยลงไปจนถึงแก่งจันและแก่งมุก เมืองเชียงคานซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองหลวงพระบางกับเมืองเวียงจันทน์ เป็นที่พักสินค้า ที่พักเรือ เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า จนส่งผลให้เป็นเมืองที่มีบทบาทและความสำคัญเมืองหนึ่งในลุ่มแม่น้ำโขง

แต่ในช่วงฤดูแล้ง แม่น้ำโขงน้ำจะลดลงอย่างมาก บริเวณแก่งจันก็จะมีหาดทรายยาวจากแนวตลิ่งไปจนถึงแนวแก่งหินกลางแม่น้ำ ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงก็จะนิยมมาร่อนทองที่นี่ ช่วงที่สยามมีการปกครองแบบจารีต หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2369-2371 เมืองเชียงคาน (หรือเมืองปากเหือง) มีอาณาเขตปกครองครอบคลุมมาถึงบริเวณแก่งจัน ในเมืองเชียงคานมีกองส่วยทองคำที่เจ้าเมืองทำหน้าที่เป็นนายกองส่วย ไพร่เมืองนี้จึงต้องมีหน้าที่ร่อนทองและนำทองคำมาส่งส่วยทุกปี โดยราชสำนักสยามจะเรียกเก็บทองคำส่วยจากตัวเลกกองส่วยทองคำเมืองเชียงคาน

@@@@@@@


แม้ภายหลังรัฐบาลสยามยกเลิกการเก็บส่วยเปลี่ยนเป็นการเก็บภาษีแทน แต่ยังคงมีชาวบ้านร่อนทองในแม่น้ำโขงบริเวณแก่งจัน เพื่อขายให้กับพ่อค้าทองคำเรื่อยมาจนถึงราว พ.ศ. 2530 คนร่อนทองลดลง และแทบไม่มีคนร่อนทองในปัจจุบัน เพื่อระลึกถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลหาดคัมภีร์ จึงสร้าง “อนุสรณ์แก่งจันทร์” ซึ่งเป็นประติมากรรมปูนปั้นผู้หญิงถือบ้างซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับร่อนทอง ไว้ที่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 บริเวณติดกับแก่งจัน ท้องที่บ้านคกเว้า ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย

ต่อมาทางการทำผนังกั้นแนวตลิ่งตามฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอปากชม ในช่วง พ.ศ. 2563-2564 องค์การบริหารส่วนตำบลหาดคัมภีร์เข้ามาปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ จัดสวนหย่อม สร้างศาลาสำหรับประชาชนได้พักผ่อน และจัดทำจุดเช็คอินสำหรับถ่ายภาพ โดยมีฉากหลังเป็นแก่งจันที่มีความสวยงาม ความอันตรายของแก่งจันจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของชาวบ้านสองฝั่งโขง


คลิกอ่านเพิ่ม :-

    • “แม่โขง” ชื่อยี่ห้อวิสกี้ที่มาจากเพลงปลุกใจ เรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน
    • ตามรอย “พระเจ้าล้านตื้อ” พระพุทธรูปแห่งลำน้ำโขง
    • คนสุโขทัย ไปดื่มแม่โขงกันที่ไหนบ้าง

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ. “แก่งจัน แก่งร้ายที่สำคัญในประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำโขง” ใน, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2565.






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 18 พฤษภาคม 2566
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_108926
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 19, 2023, 07:06:54 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7250
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ