ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: คนข้ามโอฆะ(ห้วงทุกข์)ได้ด้วยศรัทธา  (อ่าน 2128 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28550
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
คนข้ามโอฆะ(ห้วงทุกข์)ได้ด้วยศรัทธา
« เมื่อ: พฤศจิกายน 16, 2015, 08:54:58 am »
0



ศรัทธาในความหมายของพุทธศาสนา
โดย สมเด็จพระญาณสังวร

     สทฺธา  ทุติยา  ปุริสสฺส  โหติ         
     สทฺธา  พนฺธติ  ปาเถยฺยํ
     สทฺธาย  ตรติ  โอฆํ                   
     สทฺธา  สาธุ  ปติฏฺฐิตาติ.


บุคคลจะทำอะไรทุกอย่าง ต้องมีเครื่องชักจูงใจให้ทำโดยมิให้เคลือบแคลงลังเล เครื่องชักจูงใจนั้นมีอยู่ในใจนี่เอง คือ ศรัทธา ที่แปลว่า ความเชื่อ หมายถึงการวางใจลงไปหรือปลงใจลงไปว่า ข้อนั้นพึงเป็นอย่างนั้น สมกับคำกล่าวที่ว่า ศรัทธามีอธิโมกข์เป็นลักษณะ อธิโมกข์คือความปล่อยใจจากความสงสัย หรือใจที่พ้นจากความสงสัย  ไม่มีเฉลียวระแวงที่จะทำให้ลังเล ศรัทธาดังกล่าวนี้เป็นศรัทธาทั่วไป อาจเป็นโทษตัดรอนในเมื่อเป็นศรัทธาในทางที่ผิด อาจเป็นคุณเกื้อกูล ในเมื่อเป็นศรัทธาที่ถูก

 :96: :96: :96: :96:

ศรัทธาเป็นไปในทางผิด เพราะเป็นญาณวิปปยุต ปราศจากญาณคือความรู้จริง มีลักษณะที่แสดงไว้ในกาลามสูตร 10 ประการ คือเชื่อและถือ ดังนี้
     1. โดยได้ฟังตามกันมา     
     2. โดยลำดับสืบๆกันมา   
     3. โดยความตื่นว่าได้ยินมาอย่างนี้ๆ   
     4. โดยอ้างตำรา
     5. โดยเหตุนึกเดาเอา   
     6. โดยนัยคือคาดคะเน   
     7. โดยความตรึกตามอาการ   
     8. โดยชอบว่า ต้องกันกับลัทธิความเชื่อของตน
     9. โดยเชื่อว่าผู้พูด สมควรจะเชื่อได้   
    10. โดยความนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา

รวมความว่า ศรัทธาเช่นนี้เป็น สุตามัย เกิดจากการได้ยินได้ฟังเท่านั้นบ้าง เป็นจินตามัย เกิดจากการคิดไปเองบ้าง รวมแล้วเป็นศรัทธาที่เชื่อก่อนรู้ ถ้าสิ่งที่เชื่อถูกต้องเพราะข้อที่ฟังมาถูกต้อง ก็เป็นคุณเกื้อกูลได้ ถ้าสิ่งที่เชื่อผิดพลาด ก็เป็นโทษตัดรอน แต่ก็ตกอยู่ในลักษณะที่ถูกผู้อื่นชักจูง ดังเรียกว่า ปรปัจจัยสัทธา ศรัทธาที่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย

ส่วนศรัทธาเป็นไปในทางถูก เพราะเป็นญาณสัมปยุต ประกอบด้วยญาณคือความรู้จริง จึงเป็นศรัทธาที่รู้ก่อนเชื่อ  หรือเชื่อเพราะรู้เห็นจริงแล้ว ไม่ต้องมีผู้อื่นชักจูง เรียกว่า อปรปัจจัยสัทธา ศรัทธาที่ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย


 :25: :25: :25: :25:

แต่ก่อนที่จะได้ศรัทธาที่เป็น อปรปัจจัย ไม่มีผู้อื่นชักจูง ก็จำต้องอาศัยศรัทธาที่มีผู้อื่นชักจูงไปก่อน แต่ต้องเลือกผู้ที่สมควรเท่านั้น ฉะนั้นศรัทธาในพุทธศาสนา ท่านจึงสอนให้มีในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก่อน เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา ซึ่งอาจจำแนก ชนิดของศรัทธาที่ควรแก่การเชื่อดังนี้
     1. กัมมสัทธา เชื่อกรรม  คือเชื่อว่าเมื่อทำอะไรด้วยมีเจตนาทำ หรือทำทั้งที่รู้อยู่ ก็เป็นความดีความชั่ว ที่ติดค้างอยู่ มิใช่ทำแล้วก็แล้วกันไป
     2. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่า ผลดีผลชั่วที่ได้รับต่างๆเป็นผลของกรรมที่ติดค้างอยู่นั้นๆ
     3. กัมมัสสกตาสัทธาเชื่อความที่ผู้ทำมีกรรมเป็นของๆตน คือผู้ใดทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่ว ผู้นั้นก็เป็นเจ้าของกรรมนั้น ทั้งต้องเป็นทายาทผู้รับผลของกรรมนั้น คือต้องเป็นผู้รับผิดชอบเต็มที่ต่อกรรมของตน
     4. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

     เมื่อมีศรัทธาใน 4 ข้อนี้ ชื่อว่าได้มีศรัทธา คือเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อในพระพุทธศาสนา แต่เมื่อยังไม่มีปัญญาหรือญาณ รู้เห็นในธรรมตามเหตุผล ก็จัดเป็นศรัทธาอย่างมืดๆ หรือยังมีสงสัยลังเลใจ ชื่อว่ายังไม่ตั้งมั่น ยังกวัดแกว่งเปลี่ยนแปลงได้ ต่อเมื่ออบรมปัญญาให้รู้เห็นธรรมตามเหตุผล เมื่อนั้นจึงเป็นศรัทธาอย่างสว่างด้วยปัญญา



     ศรัทธาในพระพุทธศาสนา มุ่งเฉพาะที่ประกอบด้วยความรู้และตั้งมั่นในทางที่ชอบ มีลักษณะเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่อโดยรู้เหตุผล มิใช่โดยไม่รู้ ในเบื้องต้นแม้ต้องอาศัยผู้อื่นก็อาศัยเฉพาะผู้ที่สมควรและก็ต้องอาศัยตนเองไตร่ตรองพิจารณาจนรู้เห็นจริงด้วยตนเพื่อให้เป็นศรัทธาโดยอิสระไม่ต้องอาศัยผู้อื่น

     ศรัทธาเป็นเพื่อนประจำตนของบุคคลทุกคน เป็นเพื่อนผู้ชักจูงให้เชื่อในเรื่องที่เชื่อทั้งปวง ผู้ชักจูงให้เชื่อในภายนอก ย่อมชักจูงไม่สำเร็จ ถ้าศรัทธาไม่เกิดรับรองในใจสมดังพุทธภาษิตว่า
     “สทฺธา ทุติยา ปุริสสฺส โหติ ศรัทธาเป็นเพื่อนคู่ใจของคน”


     ศรัทธาในทางที่ถูก ย่อมชักจูงให้ปฏิบัติดำเนินในทางที่ถูก ให้ประพฤติแต่การที่ชอบ ปราศจากโทษ เป็นบุญกรรมหรือกุศลกรรม คือกรรมที่ดี ซึ่งเป็นเหมือนเสบียงเดินทางของผู้ทำดี ซึ่งชื่อว่ากำลังเดินทางอยู่ในทางชีวิต  สมกับพุทธภาษิตว่า
     “สทฺธา พนฺธติ ปาเถยฺยํ ศรัทธารวบรวมเสบียงคือกุศล”


    และย่อมข้ามห้วงทุกข์ได้ด้วยศรัทธา ดังพุทธภาษิตว่า
     “สทฺธาย  ตรติ  โอฆํ  ข้ามห้วงทุกข์ได้ด้วยศรัทธา”


     แต่ก็ต้องเป็นศรัทธาที่ตั้งทั่นในทางที่ชอบ จึงจักให้สำเร็จประโยชน์ทุกประการ ดังพุทธภาษิตว่า
     “สทฺ สาธุ ปติฏฺฐิตา ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ”



ที่มา เรียบเรียงและคัดย่อความ จากธรรมบรรยาย ของสมเด็จพระญาณสังวร สุวฑฺฒโน สมเด็จพระสังฆราช ในหนังสือญาณสังวรเทศนา หน้า 66-71 Posted by สมชัย
http://www.oknation.net/blog/movie-som/2014/02/27/entry-1
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ