ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตพิศวงของ “เจ้าจอมหญิงปราง” และพระราชโอรสลับในพระเจ้าตาก?  (อ่าน 534 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

“ตั๊ก บงกช”รับบทเป็น “เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง” พระธิดาใน “เจ้านครศรีธรรมราช” พระสนมในพระองค์ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ในละครเรื่อง ศรีอโยธยา


ชีวิตพิศวงของ “เจ้าจอมหญิงปราง” และพระราชโอรสลับในพระเจ้าตาก.?

เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง เจ้าจอมองค์หนึ่งในพระเจ้าตากสินมหาราช ชีวิตของเจ้าจอมมารดาองค์นี้น่าที่จะแสดงถึงพระราชอัธยาศัย หรือเข้าใจถึงพระบรมราโชบายด้านการเมืองของพระองค์ประการใดประการหนึ่ง หรืออาจเป็นได้ทั้งสองประการ เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง เป็นธิดาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) หัวหน้าชุมนุมเจ้านครฯ ซึ่งเป็นชุมนุมหนึ่งในห้าชุมนุมที่ตั้งขึ้นครั้งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ. ๒๓๑๐

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครฯ นั้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ยอมสวามิภักดิ์ตาม เสด็จเข้ามารับราชการอยู่ ณ กรุงธนบุรี และได้ถวายธิดาเป็นบาทบริจาริกา ๓ องค์ คือ
    - เจ้าหญิงฉิม โปรดสถาปนาเป็น กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์
    - เจ้าหญิงจวน หรือ ยวน
    - และธิดาองค์เล็กสุด คือเจ้าหญิงปราง หรือทูลกระหม่อมฟ้า หญิงเล็กของชาวนครศรีธรรมราช


@@@@@@

ในครั้งนั้นความสัมพันธ์ระหว่างกรุงธนบุรีกับนครศรีธรรมราชใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นอย่างมาก หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงสัมพันธภาพอันสนิทแน่นระหว่าง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) คือการที่โปรดพระราชทานสิทธิพิเศษแก่เจ้าพระยานคร เป็นอย่างมาก เช่นมีพระบรมราชานุญาตให้มีละครหญิงในราชสำนักของเจ้านครฯ ได้ ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูง เพราะแต่เดิมมานอกจากในพระราชสำนักแล้ว จะไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้ใดมีละครหญิง

แต่จะเป็นด้วยเหตุที่ว่าเพราะทรงมีความสัมพันธ์สนิทสนมเป็นส่วนพระองค์กับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) หรือเป็นเพราะทรงมีพระบรมราโชบายด้านการเมืองที่ลึกซึ้งก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปรางก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน อย่างน่าสนใจที่จะศึกษา ดังนี้

@@@@@@

ดังได้กล่าวแล้วว่า เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปรางเป็นธิดาองค์เล็กของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ซึ่งถวายเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แม้จะมิได้มีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตตอนต้นของเจ้าหญิงปรางไว้ในประวัติศาสตร์ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมาชวนให้สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้านครฯ ขณะนั้นเจ้าหญิงปรางน่าจะอยู่ในวัยรุ่นกำดัด ทรงสิริโฉมงดงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจของทหารเอกคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชคนหนึ่ง คือ เจ้าพระยาพิชัยราชา

เจ้าพระยาพิชัยราชาผู้นี้เป็นทหารผู้เคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่ครั้งที่ตีฝ่ากองทัพพม่า มาด้วยกันเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยาและในสงครามอีกหลายครั้ง รวมทั้งคราวปราบชุมนุมเจ้านครฯ ด้วย


@@@@@@

เมื่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ยอมแพ้เข้าสวามิภักดิ์ ถวายธิดาสามองค์เป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ชะรอยเจ้าพระยาพิชัยราชาจะเข้าใจว่าเจ้านครฯ ถวายแต่เจ้าหญิงฉิมเพียงองค์เดียว ส่วนเจ้าหญิงปรางนั้นตามเข้าไปอยู่ด้วยกันกับพี่สาวในพระราชวัง

ดังนั้นเมื่อเสร็จศึกสงครามแล้ว เจ้าพระยาพิชัยราชาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก ผู้สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก และด้วยเหตุพี่เข้าใจผิดดังกล่าว เจ้าพระยาพิชัยราชาจึงส่งเถ้าแก่มาสู่ขอเจ้าหญิงปราง

เรื่องราวตอนนี้ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า “…ในเดือน ๑๒ ปีวอก อัฐศก จศ ๑๑๓๘ (พ.ศ. ๒๓๑๙) นั้น เจ้าพระยาพิชัยราชาผู้เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก ลงมารับราชการอยู่ ณ กรุงแต่งผู้เฒ่าผู้แก่เข้าไปขอน้องสาวเจ้าจอมฉิมพระสนมเอกบุตรตรี เจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในพระราชวัง จะมาเลี้ยงเป็นภรรยา”

@@@@@@

ในครั้งนั้นพระราชพงศาวดารได้บันทึกปฏิกิริยาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทรงมีต่อเรื่องนี้ว่า

“…ครั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสว่ามันทำบังอาจจะมาเป็นคู่เขยน้องเขยใหญ่กับกูผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน จึงดำรัสสั่งให้เอาตัวเจ้าพระยาพิชัยราชาไปประหารชีวิตเสีย ตัดศีรษะมาเสียบประจานไว้ที่ริมประตูข้างฉนวนลงพระตำหนักแพ อย่าให้ใครเอาเยี่ยงอย่างสืบไปภายหน้า…”

ถึงแม้ว่าเจ้าพระยาพิชัยราชาจะถูกประหารชีวิตไปแล้ว แต่เรื่องราวของเจ้าหญิงปรางก็มิได้ยุติเป็นปกติ เพราะในปลายปีนั้นเอง เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ขณะดำรงตำแหน่งพระอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณตามเสด็จไปราชการทัพ รบชนะศึกหลายครั้งเป็นที่โปรดปราน ได้เข้ามาถวายข้อราชการ ณ กรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่าเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็นม่าย ภรรยาคือเจ้าหญิงนวล ธิดาองค์โตของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ออกโอษฐ์พระราชทานเจ้าหญิงปรางให้เป็นภรรยาแทน


@@@@@@

ในพระราชพงศาวดารบันทึกประวัติศาสตร์ตอนนี้ไว้ว่า “…เนื่องจากทรงสงสารด้วยภรรยาตาย…” และแม้ท้าวนางฝ่ายในจะทูลเตือน ว่า “นางนั้นขาดระดูอยู่” แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็มิได้ทรงเปลี่ยนพระทัย กลับดำรัสว่า “ได้ออกปากให้เขาแล้วก็พาไปเถิด”

ด้วยเหตุนี้ เจ้าหญิงปรางซึ่งขณะนั้นทรงอยู่ในตำแหน่งเจ้าจอม และทรงครรภ์ได้ ๒ เดือน จำต้องเสด็จไปอยู่นครศรีธรรมราชตามพระราชประสงค์ของพระราชสวามี

หลักฐานเอกสารเรื่อง “อธิบายเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)” ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

“…เมื่อท้าวนางพาธิดาเจ้านครไปส่งนั้น เจ้าอุปราช (พัฒน์) ก็ทราบความลับนั้น มีความยำเกรงพระบารมีก็ต้องรับไว้เป็น ท่านผู้หญิงอย่างกิตติมศักดิ์อยู่จนตลอดอายุ…”

@@@@@@

การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรับสั่งประหารชีวิต เจ้าพระยาพิชัยราชา ผู้สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก กรณีแต่งเถ้าแก่ไปสู่ขอเจ้าหญิงปราง แต่กลับพระราชทานเจ้าหญิงปรางซึ่งทรงครรภ์ได้สองเดือนแก่เจ้าอุปราช (พัฒน์) นั้นเป็นเรื่องที่แปลกและน่าที่จะศึกษาค้นคว้าหลักฐานเกี่ยวกับพระราชดำริของพระองค์

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมี พระราชวิจารณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ว่า

“…อยู่มาเมื่อปลายแผ่นดินตาก ชายาเจ้าอุปราชเมืองนครตาย ด้วยความโปรดปรานอย่างตึงตังอย่างไร หรือเพราะความคิดของเจ้ากรุงธนบุรีที่จะปลูกฝังลูกให้ได้ครอบครองเมืองอื่น ๆ กว้างขวางออกไปแนวเดียวกันกับให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ออกไปครองเมืองเขมรนั้น จึงได้พระราชทานบุตรหญิงเจ้านครซึ่งเป็นน้องเจ้าจอมมารดาฉิม มารดาพระพงศ์นรินทร์ให้ออกไปเป็นชายา…”

เจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง เสด็จไปประทับอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชอย่างแม่เมือง จนประสูติพระราชบุตรพระนามเจ้าน้อย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เจ้าน้อยผู้นี้คือพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


@@@@@@

เอกสารอธิบายเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) กล่าวว่า

“…ความที่ว่าเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นราชบุตรลับของพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น แม้ฝรั่งทางเมืองเกาะหมากก็รู้ ได้เขียนหนังสือพิมพ์ไว้ แต่ในรัชกาลที่สาม…”

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าน้อยกับพระราชโอรสพระราชธิดาองค์อื่นๆ ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า

“…เจ้าพระยานครผู้นี้มีอำนาจวาสนามากกว่าเจ้าพระยานครทุกคน เป็นเรื่องที่เขาเล่ากระซิบกันเป็นการเปิดเผย และพวกบุตรหลาน เจ้ากรุงธนบุรีก็นับถือว่าเป็นพี่น้อง เหตุฉะนั้นจึงนับเกี่ยวข้องกันใน เชื้อวงศ์เจ้ากรุงธนบุรีกับพวกนครศรีธรรมราช…”

@@@@@@

ด้วยเหตุที่กรุงธนบุรีมีสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชเช่นนี้ จึงมีผู้เล่าลือและเชื่อกันว่าเมื่อเกิดเหตุจลาจลปลายกรุงธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก โปรดให้สำเร็จโทษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น มีผู้ช่วยเหลือให้พระองค์ได้เสด็จหนีไปนครศรีธรรมราช โดยทรงผนวชซ่อนองค์อยู่ในถ้ำวัดเขาขุนพนม ซึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะ

กล่าวกันว่าปัจจุบัน ยังมีหลักฐานและร่องรอยปรากฏให้เห็น เช่น อาคารที่ประทับ และด้านหน้าถ้ำยังปรากฏร่องรอยของกำแพงก่ออิฐถือปูนประดับใบเสมาทำนองเดียวกับกำแพงเมือง และซากป้อมซึ่งมีช่องคล้ายที่ตั้งปืนใหญ่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผู้พบหลักฐานเอกสารยืนยันคำเล่าลือและความเชื่อดังกล่าว



คัดส่วนหนึ่งจาก : หนังสือ ลูกท่านหลานเธอ เขียนโดย ศันสีนย์ วีระศิลป์ชัย. สนพ.มติชน 2558
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_17534
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2562
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ