ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: แนะผู้เข้าอบรม “พระธรรมทูตสายต่างประเทศ” ยึดหลัก “สาราณียธรรม 6 ประการ”  (อ่าน 98 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



แนะผู้เข้าอบรม “พระธรรมทูตสายต่างประเทศ” ยึดหลัก “สาราณียธรรม 6 ประการ”

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ กล่าวให้โอวาทเปิดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 30

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ กล่าวให้โอวาทในพิธีเปิดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 30 ที่อาคาร มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า งานพระธรรมทูตนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เป็นงานที่ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะ ความเสียสละ และความหนักแน่นอดทน เพราะเป็นงานที่ต้องปฏิบัติศาสนกิจในความหลากหลายของกฎหมาย วัฒนธรรม จารีต ประเพณี แต่ถึงอย่างไร ต้องตระหนักในพระธรรมวินัยเป็นที่สุด สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระราชทานพระราโชบายไว้เป็นแนวทางการดำเนินงานของคณะสงฆ์ว่า

“พัฒนาความรู้ และคุณภาพพระสงฆ์ ให้เป็นหลักทางใจของประชาชน ให้พระมีความสำนึก และเป็นประโยชน์ในสังคมไทย” พระราโชบายนี้ เป็นคติเตือนใจที่สำคัญมาก ที่จะต้องประพฤติตนในพระธรรมวินัยให้สมบูรณ์ เพิ่มพูนปณิธานและความเพียรอันแน่วแน่ ที่จะพัฒนาตน พัฒนาความรู้ พัฒนาจิตใจ ให้สมดุล มส.สนองพระราโชบาย ให้ความสำคัญกับงานพระธรรมทูต ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลให้พระธรรมทูต ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนานาอารยประเทศเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่มหาชนในประเทศนั้นๆ ตามพระพุทธประสงค์ ตามพระธรรมวินัย และตามหลักของบุรพาจารย์




สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวต่อไปว่า ขอปรารถสารัตถธรรมถวายคำแนะนำแนวทางในการเข้ารับการอบรมนั้น พึงตระหนักในพระพุทธพจน์ บทที่ว่า
    “สาธุ สพฺพตฺถ สํวโร พึงสำรวมในที่ทั้งปวง เป็นดี” และ
     “ธมฺมํ จเร สุจริตํ พึงทำดีให้สุจริต” ทำให้เหมาะ ทำให้ดี ทำให้ถูกต้อง

พระพุทธศาสนานั้น เป็นศาสนาที่ส่งเสริมให้บุคคลจัดการวิถีชีวิตของตนอย่างสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติให้มากที่สุด การศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน จัดเป็นอุปนิสัย คือปัจจัยเครื่องอาศัยของพระธรรมทูต เพราะการฝึกอบรมนั้นต้องเจริญพระกัมมัฏฐาน รักษาเสนาสนะ สมณบริขาร สถานที่ที่เกื้อกูลต่อการเจริญสมณธรรม เอื้อประโยชน์ต่อการแสวงความรู้ และความสงบสุขทางใจ การอบรมพัฒนาด้วยการภาวนาทางจิต นำพาชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ จักเป็นอุปกรณ์ให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา การอบรมตลอดหลักสูตร ระยะเวลา 3 เดือน

ขอน้อมนำพระพุทธศาสนี ที่หมู่คณะใดน้อมนำไปปฏิบัติแล้วจักเกิดความสามัคคีปรองดอง เกื้อกูล มีน้ำใจไมตรี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกันนั้น ซึ่งเราทั้งหลายทราบประจักษ์อยู่แล้ว คือ หลักสาราณียธรรม 6 ประการ ประกอบด้วย
    - เมตตากายกรรม
    - เมตตาวจีกรรม
    - เมตตามโนกรรม
    - สาธารณโภคี
    - สีลสามัญญตา และ
    - ทิฐิสามัญญตา

ธรรมมทั้ง 6 ประการนี้ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จึงเป็นโอกาสให้ทุกรูปได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินการและเข้ารับการอบรมตลอดโครงการ ตามหน้าที่ของตน ให้ได้ครบถ้วนทั้ง 6 ประการ เพื่อความวัฒนาสถาพรของคณะสงฆ์และพระบวรพุทธศาสนายิ่งขึ้นไป






สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวอีกว่า การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะบริบาลให้ทุกรูป อุดมด้วยปสาทะ ศรัทธา และมีสัมมาปัญญา ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาจารย์ จึงทรงนำหลักเจริญ “มหาสติปัฏฐาน 4” คือการเจริญสติไปในกาย ในเวทนา ในจิตและในธรรม นำเป็นหลักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่ออบรมสติให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจาก “มิจฉาสติ” ไม่วิปริตบกพร่อง แต่เป็น “สัมมาสติ” ที่ถูกต้องบริสุทธิ์ จนบังเกิด “อัปปมาทธรรม” คือ ความไม่ประมาท ขึ้นใน “ปัญญา”

ปราชญ์จึงกล่าวว่า สติ คือ ความไม่ประมาท และความไม่ประมาท คือบ่อเกิดแห่ง “ปัญญา” ผู้เข้ารับการอบรมพระธรรมทูต พึงตั้งใจเจริญปัญญาให้อุดมด้วย “สัมมาปัญญา” ซึ่งตรงกับหลักวิทยาศาสตร์ สามารถยังผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ มิให้ตกไปสู่ที่ชั่วให้ได้รับผลสมกับการปฏิบัติ คือ ให้พ้นทุกข์ ประสบสันติสุขสวัสดีได้อย่างแท้จริง





ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/news/3275143/
20 มีนาคม 2567 | 19:32 น. | การศึกษา-ศาสนา
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ