ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "การกลับเพศ ชายเป็นหญิง หญิงเป็นชาย" ของพระโสไรยยะเถระ  (อ่าน 5282 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28474
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓

   
  ๙. เรื่องพระโสไรยเถระ [๓๒] 
             
               
ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดายังพระธรรมเทศนานี้ว่า “น ตํ มาตา ปิตา กยิรา” เป็นต้น ซึ่งตั้งขึ้นในโสไรยนคร ให้จบลงในพระนครสาวัตถี.

               เศรษฐีบุตรกลับเพศเป็นหญิงแล้วหลบหนี              
               เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี, ลูกชายของโสไรยเศรษฐี ในโสไรยนคร นั่งบนยานน้อยอันมีความสุขกับสหายผู้หนึ่งออกไปจากนคร เพื่อประโยชน์จะอาบน้ำด้วยบริวารเป็นอันมาก.

               ขณะนั้น พระมหากัจจายนเถระมีความประสงค์จะเข้าไปสู่โสไรยนคร เพื่อบิณฑบาต ห่มผ้าสังฆาฏิภายนอกพระนคร. ก็สรีระของพระเถระมีสีเหมือนทองคำ ลูกชายของโสไรยเศรษฐีเห็นท่านแล้ว จึงคิดว่า “สวยจริงหนอ พระเถระรูปนี้ควรเป็นภริยาของเรา, หรือสีแห่งสรีระของภริยาของเรา พึงเป็นเหมือนสีแห่งสรีระของพระเถระนั้น.”

               ในขณะสักว่าเขาคิดแล้วเท่านั้น เพศชายของเศรษฐีบุตรนั้น ก็หายไป, เพศหญิงได้ปรากฏแล้ว. เขาละอายจึงลงจากยานน้อยหนีไป. ชนใกล้เคียงจำลูกชายเศรษฐีนั้นไม่ได้ จึงกล่าวว่า “อะไรนั่นๆ ?” แม้นางก็เดินไปสู่หนทางอันไปยังเมืองตักกสิลา.

              พวกเพื่อนและพ่อแม่ออกติดตามแต่ไม่พบ              
               ฝ่ายสหายของนาง แม้เที่ยวค้นหาข้างโน้นและข้างนี้ ก็ไม่ได้พบ. ชนทั้งปวงอาบเสร็จแล้วได้กลับไปสู่เรือน, เมื่อชนทั้งหลายกล่าวกันว่า “เศรษฐีบุตรไปไหน?” ชนที่ไปด้วยจึงตอบว่า “พวกผมเข้าใจว่า เขาจักอาบน้ำกลับมาแล้ว.” ขณะนั้น มารดาและบิดาของเขาค้นดูในที่นั้นๆ เมื่อไม่เห็น จึงร้องไห้ รำพัน ได้ถวายภัตเพื่อผู้ตาย ด้วยความสำคัญว่า “ลูกชายของเรา จักตายแล้ว.”

              นางเดินตามพวกเกวียนไปเมืองตักกสิลา              
               นางเห็นพวกเกวียนไปสู่เมืองตักกสิลาหมู่หนึ่ง จึงเดินติดตามยานน้อยไปข้างหลังๆ ขณะนั้น พวกมนุษย์เห็นนางแล้ว กล่าวว่า “หล่อนเดินตามข้างหลังๆ แห่งยานน้อยของพวกเรา (ทำไม?) พวกเราไม่รู้จักหล่อนว่า ‘นางนี่เป็นลูกสาวของใคร?’ นางกล่าวว่า “นาย พวกท่านจงขับยานน้อยของตนไปเถิด. ดิฉันจักเดินไป”, เมื่อเดินไปๆ (เมื่อยเข้า) ได้ถอดแหวนสำหรับสวมนิ้วมือให้แล้ว ให้ทำโอกาสในยานน้อยแห่งหนึ่ง (เพื่อตน).

               ได้เป็นภริยาของลูกชายเศรษฐีในเมืองนั้น               
               พวกมนุษย์คิดว่า “ภริยาของลูกชายเศรษฐีของพวกเรา ในกรุงตักกสิลา ยังไม่มี, เราทั้งหลายจักบอกแก่ท่าน, บรรณาการใหญ่ (รางวัลใหญ่) จักมีแก่พวกเรา.” พวกเขาไปแล้ว เรียนว่า “นายแก้วคือหญิง พวกผมได้นำมาแล้วเพื่อท่าน.” ลูกชายเศรษฐีนั้นได้ฟังแล้ว ให้เรียกนางมา เห็นนางเหมาะกับวัยของตน มีรูปงามน่าพึงใจ มีความรักเกิดขึ้น จึงได้กระทำไว้ (ให้เป็นภริยา) ในเรือนของตน.

          ชายอาจกลับเป็นหญิงและหญิงอาจกลับเป็นชายได้               
               จริงอยู่ พวกผู้ชาย ชื่อว่าไม่เคยกลับเป็นผู้หญิง หรือพวกผู้หญิงไม่เคยกลับเป็นผู้ชาย ย่อมไม่มี. เพราะว่า พวกผู้ชายประพฤติล่วงในภริยาทั้งหลายของชนอื่น ทำกาละแล้ว ไหม้ในนรกสิ้นแสนปีเป็นอันมาก เมื่อกลับมาสู่ชาติมนุษย์ ย่อมถึงภาวะเป็นหญิง สิ้น ๑๐๐ อัตภาพ

               ถึงพระอานนทเถระ ผู้เป็นอริยสาวก มีบารมีบำเพ็ญมาแล้วตั้งแสนกัลป์ ท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร ในอัตภาพหนึ่งได้บังเกิดในตระกูลช่างทอง ทำปรทารกรรม ไหม้ในนรกแล้ว, ด้วยผลกรรมที่ยังเหลือ ได้กลับมาเป็นหญิงบำเรอเท้าแห่งชายใน ๑๔ อัตภาพ, ถึงการถอนพืช (เป็นหมัน) ใน ๗ อัตภาพ.

               ส่วนหญิงทั้งหลายทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น คลายความพอใจในความเป็นหญิง ก็ตั้งจิตว่า “บุญของข้าพเจ้าทั้งหลายนี้ ขอจงเป็นไปเพื่อกลับได้อัตภาพเป็นชาย” ทำกาละแล้ว ย่อมกลับได้อัตภาพเป็นชาย. พวกหญิงที่มีผัวดังเทวดา ย่อมกลับได้อัตภาพเป็นชาย แม้ด้วยอำนาจแห่งการปรนนิบัติดีในสามีเหมือนกัน. ส่วนลูกชายเศรษฐีนี้ยังจิตให้เกิดขึ้นในพระเถระโดยไม่แยบคาย จึงกลับได้ภาวะเป็นหญิงในอัตภาพนี้ทันที.

              นางคลอดบุตร               
               ก็ครรภ์ได้ตั้งในท้องของนาง เพราะอาศัยการอยู่ร่วมกับลูกชายเศรษฐีในตักกสิลา. โดยกาลล่วงไป ๑๐ เดือน นางได้บุตร ในเวลาที่บุตรของนางเดินได้ ก็ได้บุตรแม้อีกคนหนึ่ง.
               โดยอาการอย่างนี้ บุตรของนางจึงมี ๔ คน, คือบุตรผู้อยู่ในท้อง ๒ คน, บุตรผู้เกิดเพราะอาศัยเธอ (ครั้งเป็นชายอยู่) ในโสไรยนคร ๒ คน.


               นางได้พบกับเพื่อนเก่าแล้วเล่าเรื่องให้ฟัง               
               ในกาลนั้น ลูกชายเศรษฐีผู้เป็นสหายของนาง (ออก) จากโสไรยนคร ไปสู่กรุงตักกสิลาด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม นั่งบนยานน้อยอันมีความสุขเข้าไปสู่พระนคร. ขณะนั้น นางเปิดหน้าต่างบนพื้นปราสาทชั้นบน ยืนดูระหว่างถนนอยู่ เห็นสหายนั้น จำเขาได้แม่นยำ จึงส่งสาวใช้ให้ไปเชิญเขามาแล้ว ให้นั่งบนพื้นมีค่ามาก ได้ทำสักการะและสัมมานะอย่างใหญ่โต.

               ขณะนั้น สหายนั้นกล่าวกะนางว่า “แม่มหาจำเริญ ในกาลก่อนแต่นี้ ฉันไม่เคยเห็นนาง, ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ไฉนนางจึงทำสักการะแก่ฉันใหญ่โต, นางรู้จักฉันหรือ?”
               นาง. จ้ะ นาย ฉันรู้จัก, ท่านเป็นชาวโสไรยนคร มิใช่หรือ?
               สหาย. ถูกละ แม่มหาจำเริญ.


               นางได้ถามถึงความสุขสบายของมารดาบิดา ของภริยา ทั้งของลูกชายทั้งสอง สหายนอกนี้ตอบว่า “จ้ะ แม่มหาจำเริญ ชนเหล่านั้นสบายดี” แล้วถามว่า “แม่มหาจำเริญ นางรู้จักชนเหล่านั้นหรือ?”
               นาง. จ้ะ นาย ฉันรู้จัก, ลูกชายของท่านเหล่านั้นมีคนหนึ่ง, เขาไปไหนเล่า?

               สหาย. แม่มหาจำเริญ อย่าได้พูดถึงเขาเลย, ฉันกับเขา วันหนึ่งได้นั่งในยานน้อยอันมีความสุขออกไปเพื่ออาบน้ำ ไม่ทราบที่ไปของเขาเลย. เที่ยวค้นดูข้างโน้นและข้างนี้ (ก็) ไม่พบเขา จึงได้บอกแก่มารดาและบิดา (ของเขา), แม้มารดาและบิดาทั้งสองนั้นของเขา ได้ร้องไห้ คร่ำครวญ ทำกิจอันควรทำแก่คนผู้ล่วงลับไปแล้ว.

               นาง. ฉัน คือเขานะ นาย.
               สหาย. แม่มหาจำเริญ จงหลีกไป, นางพูดอะไร? สหายของฉันย่อมงามเหมือนลูกเทวดา, (ทั้ง) เขาเป็นผู้ชาย (ด้วย).
               นาง. ช่างเถอะ นาย ฉัน คือเขา.
               ขณะนั้น สหายจึงถามนางว่า “อันเรื่องนี้เป็นอย่างไร?”
               นาง. วันนั้น เธอเห็นพระมหากัจจายนเถระผู้เป็นเจ้าไหม?
               สหาย. เห็นจ้ะ.

               นาง. ฉันเห็นพระมหากัจจายนะผู้เป็นเจ้าแล้ว ได้คิดว่า ‘สวยจริงหนอ พระเถระรูปนี้ควรเป็นภริยาของเรา, หรือว่าสีแห่งสรีระของภริยาของเราพึงเป็นเหมือนสีแห่งสรีระของพระเถระนั่น’, ในขณะที่ฉันคิดแล้วนั่นเอง เพศชายได้หายไป, เพศหญิงปรากฏขึ้น, เมื่อเป็นเช่นนี้ ฉันไม่อาจบอกแก่ใครได้ ด้วยความละอาย จึงหนีไปจากที่นั้นมา ณ ที่นี้ นาย.

               สหาย. ตายจริง เธอทำกรรมหนักแล้ว, เหตุไร เธอจึงไม่บอกแก่ฉันเล่า? เออ ก็เธอให้พระเถระอดโทษแล้วหรือ?
               นาง. ยังไม่ให้ท่านอดโทษเลย นาย, ก็เธอรู้หรือ? พระเถระอยู่ ณ ที่ไหน?
               สหาย. ท่านอาศัยนครนี้แหละอยู่.
               นาง. หากว่า ท่านเที่ยวบิณฑบาต พึงมาในที่นี้ไซร้, ฉันพึงถวายภิกษาหารแก่พระผู้เป็นเจ้าของฉัน.
               สหาย. ถ้ากระนั้น ขอเธอจงรีบทำสักการะไว้, ฉันจักยังพระผู้เป็นเจ้าของเราให้อดโทษ.

              นางขอขมาพระมหากัจจายนเถระ              
               เธอไปสู่ที่อยู่ของพระเถระ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว เรียนว่า “ท่านขอรับ พรุ่งนี้ นิมนต์ท่านรับภิกษาของกระผม.”
               พระเถระ. เศรษฐีบุตร ท่านเป็นแขกมิใช่หรือ?
               เศรษฐีบุตร. ท่านขอรับ ขอท่านอย่าได้ถามความที่กระผมเป็นแขกเลย, พรุ่งนี้ ขอนิมนต์ท่านรับภิกษาของกระผมเถิด.

               พระเถระรับนิมนต์แล้ว. สักการะเป็นอันมาก เขาได้ตระเตรียมไว้แม้ในเรือนเพื่อพระเถระ.
               วันรุ่งขึ้น พระเถระได้ไปสู่ประตูเรือน. ขณะนั้น เศรษฐีบุตรนิมนต์ท่านให้นั่งแล้ว อังคาส (เลี้ยงดู) ด้วยอาหารประณีต พาหญิงนั้นมาแล้ว ให้หมอบลงที่ใกล้เท้าของพระเถระ เรียนว่า “ท่านขอรับ ขอท่านจงอดโทษแก่หญิงผู้สหายของกระผม (ด้วย).”


               พระเถระ. อะไรกันนี่?
               เศรษฐีบุตร. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในกาลก่อน คนผู้นี้ได้เป็นสหายที่รักของกระผม พบท่านแล้ว ได้คิดชื่ออย่างนั้น; เมื่อเป็นเช่นนั้น เพศชายของเขาได้หายไป, เพศหญิงได้ปรากฏแล้ว, ขอท่านจงอดโทษเถิด ท่านผู้เจริญ.
               พระเถระ. ถ้ากระนั้น เธอจงลุกขึ้น, ฉันอดโทษให้แก่เธอ.

              เขากลับเพศเป็นชายแล้วบวชได้บรรลุอรหัตผล               
               พอพระเถระเอ่ยปากว่า “ฉันอดโทษให้” เท่านั้น เพศหญิงได้หายไป, เพศชายได้ปรากฏแล้ว. เมื่อเพศชาย พอกลับปรากฏขึ้นเท่านั้น. เศรษฐีบุตรในกรุงตักกสิลาได้กล่าวกะเธอว่า “สหายผู้ร่วมทุกข์ เด็กชาย ๒ คนนี้เป็นลูกของเรา แม้ทั้งสองแท้ เพราะเป็นผู้อยู่ในท้องของเธอ (และ) เพราะเป็นผู้อาศัย ฉันเกิด, เราทั้งสองจักอยู่ในนครนี้แหละ, เธออย่าวุ่นวายไปเลย.”

               โสไรยเศรษฐีบุตรพูดว่า “ผู้ร่วมทุกข์ ฉันถึงอาการอันแปลก คือเดิมเป็นผู้ชาย แล้วถึงความเป็นผู้หญิงอีก แล้วยังกลับเป็นผู้ชายได้อีก โดยอัตภาพเดียว (เท่านั้น); ครั้งก่อน บุตร ๒ คนอาศัยฉันเกิดขึ้น, เดี๋ยวนี้ บุตร ๒ คนคลอดจากท้องฉัน; เธออย่าทำความสำคัญว่า ‘ฉันนั้นถึงอาการอันแปลกโดยอัตภาพเดียว จักอยู่ในเรือนต่อไปอีก, ฉันจักบวชในสำนักแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเรา เด็ก ๒ คนนี้จงเป็นภาระของเธอ, เธออย่าเลินเล่อในเด็ก ๒ คนนี้” ดังนี้แล้ว จูบบุตรทั้ง ๒ ลูบ (หลัง) แล้ว มอบให้แก่บิดา ออกไปบวชในสำนักพระเถระ,

               ฝ่ายพระเถระให้เธอบรรพชาอุปสมบทเสร็จแล้ว พาเที่ยวจาริกไป ได้ไปถึงเมืองสาวัตถีโดยลำดับ. นามของท่านได้มีว่า “โสไรยเถระ.”
               ชาวชนบทรู้เรื่องนั้นแล้ว พากันแตกตื่นอลหม่านเข้าไปถามว่า “ได้ยินว่า เรื่องเป็นจริงอย่างนั้นหรือ? พระผู้เป็นเจ้า.”


               พระโสไรยะ. เป็นจริง ผู้มีอายุ.
               ชาวชนบท. ท่านผู้เจริญ ชื่อว่าเหตุแม้เช่นนี้มีได้ (เทียวหรือ?); เขาลือกันว่า “บุตร ๒ คนเกิดในท้องของท่าน, บุตร ๒ คนอาศัยท่านเกิด” บรรดาบุตร ๒ จำพวกนั้น ท่านมีความสิเนหามากในจำพวกไหน?
               พระโสไรยะ. ในจำพวกบุตรผู้อยู่ในท้อง ผู้มีอายุ.

               ชนผู้มาแล้วๆ ก็ถามอยู่อย่างนั้นนั่นแหละเสมอไป. พระเถระบอกแล้วบอกเล่าว่า “มีความสิเนหาในจำพวกบุตรผู้อยู่ในท้องนั้นแหละมาก.” เมื่อรำคาญใจจึงนั่งแต่คนเดียว ยืนแต่คนเดียว. ท่านเข้าถึงความเป็นคนเดียวอย่างนี้ เริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมในอัตภาพ บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว.

               ต่อมา พวกชนผู้มาแล้วๆ ถามท่านว่า “ท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า เหตุชื่ออย่างนี้ได้มีแล้ว จริงหรือ?”
               พระโสไรยะ. จริง ผู้มีอายุ.
               พวกชน. ท่านมีความสิเนหามากในบุตรจำพวกไหน?
               พระโสไรยะ. ขึ้นชื่อว่าความสิเนหาในบุตรคนไหนๆ ของเรา ย่อมไม่มี.
               ภิกษุทั้งหลายกราบทูลพระศาสดาว่า “ภิกษุรูปนี้พูดไม่จริง ในวันก่อนๆ พูดว่า ‘มีความสิเนหาในบุตรผู้อยู่ในท้องมาก’ เดี่ยวนี้พูดว่า ‘ความสิเนหาในบุตรคนไหนๆ ของเราไม่มี,’ ย่อมพยากรณ์พระอรหัตผล พระเจ้าข้า.”


               จิตที่ตั้งไว้ชอบดียิ่งกว่าเหตุใดๆ               
               พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราพยากรณ์อรหัตผลหามิได้, (เพราะว่า) ตั้งแต่เวลาที่บุตรของเรา เห็นมรรคทัสนะ๑- ด้วยจิตที่ตั้งไว้ชอบแล้ว ความสิเนหาในบุตรไหนๆ ไม่เกิดเลย, จิตเท่านั้น ซึ่งเป็นไปในภายในของสัตว์เหล่านี้ ย่อมให้สมบัติที่มารดาบิดาไม่อาจทำให้ได้” ดังนี้แล้ว
               จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ๙.    น ตํ มาตา ปิตา กริยา    อญฺเญ วาปิ จ ญาตกา
                            สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ    เสยฺยโส นํ ตโต กเร.
                            มารดาบิดา ก็หรือว่าญาติเหล่าอื่น ไม่พึงทำเหตุนั้น (ให้ได้),
                            (แต่) จิตอันตั้งไว้ชอบแล้ว พึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้น.
____________________________
๑- บาลีบางแห่งว่า มตฺตสฺส ทิฏฺฐกาลโต แต่กาลเห็นมรรค.

        แก้อรรถ           
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตํ ความว่า มารดาบิดา (และ) ญาติเหล่าอื่น ไม่ทำเหตุนั้นได้เลย.
               บทว่า สมฺมาปณิหิตํ คือ ชื่อว่าตั้งไว้ชอบแล้ว เพราะความเป็นธรรมชาติตั้งไว้ชอบในกุศลกรรมบถ ๑๐.
               บาทพระคาถาว่า เสยฺยโส นํ ตโต กเร. ความว่า พึงทำคือย่อมทำเขาให้ประเสริฐกว่า คือเลิศกว่า ได้แก่ให้ยิ่งกว่าเหตุนั้น.

               จริงอยู่ มารดาบิดา เมื่อจะให้ทรัพย์แก่บุตรทั้งหลาย ย่อมอาจให้ทรัพย์สำหรับไม่ต้องทำการงานแล้วเลี้ยงชีพโดยสบาย ในอัตภาพเดียวเท่านั้น, ถึงมารดาบิดาของนางวิสาขา ผู้มีทรัพย์มากมายถึงขนาด มีโภคะมากมาย ได้ให้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีพโดยสบายแก่นาง ในอัตภาพเดียวเท่านั้น, ก็อันธรรมดามารดาบิดาที่จะสามารถให้สิริ

          คือความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในทวีปทั้งสี่ ย่อมไม่มีแก่บุตรทั้งหลาย. จะป่วยกล่าวไปไย (ถึงมารดาบิดาผู้ที่สามารถให้) ทิพยสมบัติหรือสมบัติมีปฐมฌานเป็นต้น (จักมีเล่า), ในการให้โลกุตรสมบัติ ไม่ต้องกล่าวถึงเลย. แต่ว่าจิตที่ตั้งไว้ชอบแล้ว ย่อมอาจให้สมบัตินี้ แม้ทั้งหมดได้, เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “เสยฺยโส นํ ตโต กเร.”

               ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
               เทศนาได้เป็นประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.


               เรื่องพระโสไรยเถระ จบ.               
               จิตตวรรควรรณนา จบ               
               วรรคที่ ๓ จบ   

ที่มา  http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=13&p=9           
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 25, 2011, 10:03:07 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

juntra

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 108
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: "การกลับเพศ" ของพระโสไรยยะเถระ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 25, 2011, 12:44:59 am »
0
เหตุนี้หรือไม่

นี่อย่างนี้ไม่ต้องแปลงเพศ เลยนะนี่ พวกจิตวิปริต จึงชอบมาแซวพระสงฆ์ ที่ปฏิบัติกันประจำแถววัด
ชอบมาใช้วาจา แทะโลม พวกหลวงตา หลวงพ่อ หลวงพี่ ที่เดินจงกรมกันอยู่ สงสัยหวังจะแปลงเพศด้วยฤทธิ์
จากการปรามาสพระอริยะ แต่สมัยนี้พระสงฆ์ ที่มีคุณสมบัติอย่างท่านพระมหากัจจายนะ นั้นน่าจะมีน้อยหรือไม่มี
นะเพราะเอตทัคคะ อย่างนี้หายาก ผู้ชำนาญใน ปฏิสัมภิทา ผู้เป็นต้นแบบ คัมภีร์ มูลกัจจายนะ

สาธุ กับเรื่องนี้คะ

 :25:
บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28474
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
    พระมหากัจจายนเถระ
    เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร


    พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ตระกูลกัจจายนะ ผู้เป็นปุโรหิต (ที่ปรึกษา)
    ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เดิมท่านชื่อว่า “กัญจนะ” เพราะมีรูปร่างลักษณะงาม
    สง่า มีเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้เรียนจบไตรเพท คือ คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา
    พราหมณ์ เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้วได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา


    เมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวจาริกประกาศหลักธรรมคำสอนตามคามนิคม
    ชนบทอยู่นั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชต มีพระราชประสงค์จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จสู่
    กรุงอุชเชนีของพระองค์บ้าง จึงรับสั่งให้ปุโรหิจกัจจายนะไปกราบทูลอาราธนา กัจจายนะถือ
    โอกาสกราบทูลลาเพื่ออุปสมบทด้วย เมื่อทรงอนุญาตแล้วจึงพร้อมด้วยบริวารติดตามอีก ๗ คน
    เดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา
 
    เมื่อเดินทางไปถึงก็รับเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ตรัสพระธรรมเทศนา
    ให้ ฟังและเท่านทั้ง ๘ คนนั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธ
    องค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปนา เมื่อได้อุปสมบทแล้ว ได้กราบทูล
    อาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จสู่กรุงอุชเชนี ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางมา แต่พระ
    บรมศาสดารับสั่งให้ท่านไปเองพระเจ้าจัณฑปัชโชต และชาวเมืองก็จะเกิดศรัทธาเหมือนกัน


    พระมหากัจจายนะ จึงกราบทูลลาพระบรมศาสดาพาภิกษุบริวารอีก ๗ องค์นั้น เดินทาง
    กลับสู่กรุงอุชเชนี ประกาศหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชต และชาว
    เมืองได้สดับรับฟัง เกิดศรัทธาเลื่อมใส ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่กระจายทั่วกรุงอุชเชนีแล้ว
    ท่านก็ได้เดินทางกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคอีก

    * กราบทูลขอพระบรมพุทธนุญาตแก้ไขพุทธบัตติ
      เสมือนหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ
      ในอวันตีทักขิณาปถชนบท ขณะนั้น มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อว่า โสณกุฎิกัณณะ มีศรัทธาจะ
      อุปสมบท แต่เนื่องจากในอวันตีชนบทนั้นมีพระภิกษุจำนวนน้อย ไม่ครบเป็นคณปูรกะจำนวน
      ๑๐ รูป (ทสวรรค) ตามพระบรมพุทธานุญาต ท่านจึงให้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่นานถึง ๓ ปี
      กว่าจะได้อุปสมบท


      และเมื่อท่านโสณกุฏิกัณณะได้อุปสมบทแล้ว ปรารถนาจะเข้าเฝ้า
      พระบรมศาสดา ได้กราบลาพระมหากัจจายนะ ก็อนุญาตพร้อมทั้งสั่งให้ไปราบทูลขอ
      พระบรมพุทธานุญาต ให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพุทธบัญญัติ ๕ ข้อ ซึ่งไม่สะดวกแก่พระภิกษุผู้
      อยู่ในอวันตีชนบท คือ:-

      ๑) ในอวันตีชนบท มีพระภิกษุจำนวนน้อย ขอให้พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการอุปสมบท
      ด้วยคณะพระภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูปได้
      ข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบท
      ด้วยคณะพระภิกษุ ๕ รูปได้”

      ๒) ในอวันตีชนบท มีพื้นดินขรุขระไม่เรียบไม่สม่ำเสมอ ขอให้พระผู้มีอาภาคทรงอนุญาตให้
      พระภิกษุในอวันตีชนบทสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้นได้
      ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้ามีพื้นหลายชั้น ใน ปัจ
      จันตชนบทได้”


      ๓) ในอวันตีชนบท อากาศร้อน บุคคลต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้
      ภิกษุอาบน้ำเป็นนิตย์ได้
      ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์แก่ภิกษุผู้อยู่ใน ปัจ
      จันตชนบท”

    ๔) ในอวันตีชนบท มีเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังมีหนังแพะ และหนังแกะ เป็นต้น สมบูรณ์ดี
    เหมือนในมัชฌิมชนบท ขอพระพุทธองค์ทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ
    และหนังแกะ เป็นต้นเหล่านั้นเถิด
    ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์เหล่านั้น”

    ๕) ทายกทั้งหลาย มักจะถวายจีวรแก่ภิกษุผู้ที่ออกจากวัดไปแล้ว ด้วยสั่งไว้ว่า “ข้าพเจ้าทั้ง
    หลาย ขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้” เมื่อเธอกลับมาแล้ว ทายกได้นำจีวรเข้าไปถวาย แต่เธอไม่
    ยอมรับด้วยเข้าใจว่า ผ้าผืนนี้เป็นนิสสัคคีย์
    ข้อนี้ ทรงอนุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตให้ภิกษุรับจีวรที่ทายกถวายลับหลังได้ ด้วย
    ว่า ผ้ายังไม่ถึงมือเธอตราบใด จะถือว่าเธอมีสิทธิ์ในผ้าผืนนั้นเต็มที่ไม่ได้ตราบนั้น”


    * ความสามารถพิเศษของพระมหากัจจายนเถระ
      พระมหากัจจายนเถระ เป็นพระพุทธสาวก ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถอธิบาย
      ธรรมที่ย่อให้พิสดาร ให้ผู้ฟังเกิดศรัทธาเลื่อมใสได้โดยไม่ยาก ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งท่านเป็นผู้มี
      ความเชี่ยวชาญในปฏิสัมภิทา ๔ คือ:-

      ๑) อัตถปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในอรรถ
      สามารถอธิบายความย่อให้พิสดารได้

      ๒) ธัมาปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในธรรม
      สามารถถือเอาความโดยย่อจากธรรมที่พิสดารได้

      ๓) นิรุตติปฏสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในนิรุตติ
      มีความเชี่ยวชาญในภาษา สามารถพูดให้คนอื่น
      เลื่อมใสได้

      ๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ผู้มีปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ
      มีไหวพริบและปฏิภาณ สามารถแก้ไขสถานการณ์
      เฉพาะหน้าได้


      นอกจากนี้ยังมีพระธรรมเทศนาของท่านอีกหลายกัณฑ์ ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ ได้
      ยกขึ้นสู่สังคีติ คือการทำสังคายนา ได้แก่:-

      ๑ ภัทเทกรัตตสูตร เป็นสูตรที่แสดงถึงเรื่องบุคคลผู้มีราตรีเดียวเจริญ คือ คนที่เวลา
      วันคืนหนึ่ง ๆ มีแต่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า ได้แก่ ผู้ที่ไม่มัวครุ่นคิดถึงอดีต ไม่เพ้อฝัน
      หวังอนาคต ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์สิ่งที่เป็นปัจจุบัน ทำความดีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย
      ไป มีความเพียรพยายามทำกิจที่ควรทำตั้งแต่ในวันนี้


      ๒ มธุรสูตร เป็นสูตรที่ท่านแสดงแก่พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ในขณะที่ท่านพักอยู่ที่
      คุณธาวัน มธุรราชธานี สูตรนี้มีใจความแสดงถึงความไม่แตกต่างกันของวรรณะ ๔ คือ กษัตริย์
      พราหมณ์ แพศย์ และศูทร วรรณะทั้ง ๔ นี้ แม้จะถือตัวอย่าง เหยียดหยามกันอย่างไร แต่ถ้าทำดี
      ก็ไปสู่ที่ดีเหมือนกันทั้งหมด ถ้าทำชั่วก็ต้องรับโทษไปอบายเหมือนกันทั้งหมดทุกวรรณะเสมอกัน

     
      ในพระธรรมวินัย ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมแล้ว ไม่เรียกว่าวรรณะอะไร แต่เป็นสมณะ
      เหมือนกันทั้งหมด

      ที่พระเถระกล่าวสูตรนี้ ก็เพราะพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตร ถามปัญหากับท่านเกี่ยวกับ
      เรื่องพราหมณ์ถือตัวว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเกิดจากพรหม ท่านจึงแก้ว่าไม่เป็นความจริงแล้วยกตัว
      อย่างเป็นข้อ ๆ ดังนี้:-

      ๑) ในวรรณะ ๔ เหล่านี้ วรรณะใดเป็นผู้ร่ำรวย มั่งมีเงินทอง วรรณะเดียวกัน และ
      วรรณะอื่นย่อมเข้าไปหา ยอมเป็นบริวารของวรรณะนั้น

      ๒) วรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าสู่อบายเสมอ
      เหมือนกันทั้งหมด

      ๓) วรรณะใดประพฤติกุศลกรรมบถ เมื่อตายไป วรรณะนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
      เหมือนกันทั้งหมด

      ๔) วรรณะใดทำโจรกรรม ทำปรทาริกกรรม วรรณะนั้นต้องรับราชอาญาเหมือนกันทั้ง
      หมด ไม่มียกเว้น

      ๕) วรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือ การ
      บำรุง และการคุ้มครองรักษา เสมอเหมือนกันทั้งหมด


      เมื่อพระเถระแสดงเทศนามธุรสูตรจบลงแล้ว พระเจ้ามธุรราช ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส
      ประกาศประองค์เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา

    * พระเถระแปลงร่าง
      ดังที่กล่าวมาในตอนต้นแล้วว่าพระมหากัจจายนเถระ เป็นผู้มีรูปร่างสง่างามผิวเหลือง
      ดุจทองคำสะอาดผ่องใจ เป็นที่ต้องตาถูกใจแก่ผู้พบเห็นทั่วไป จนกระทั่งมีเหตุการณ์วิปริตเกิดขึ้น
      แก่บุตรเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองโสเรยยะ ชื่อว่า โสเรยยะ เหมือนชื่อเมือง ขณะที่เขานั่งบนยาน
      พาหนะกับสหายเพื่อไปอาบน้ำพร้อมกับบริวารทั้งหลาย ได้เห็นพระเถระกำลังยืนห่มจีวร เพื่อ
      เข้าไปบิณฑบาตในเมืองแล้วเกิดความพอใจ


      ในดวงจิตคิดอกุศลขึ้นว่า “งามจริงหนอ พระเถระ
      รูปนี้ น่าจะเป็นภริยาของเรา หรือไม่ก็ขอให้ภริยาของเรามีสีผิวกายเหมือนพระเถระนี้”
      ด้วยอกุศลจิตคิดเพียงเท่านี้ ทำให้เพศชายของเขาหายไป กลายเป็นเพศหญิงไปทั้งร่าง
      ทำให้เขาอับอายเป็นอย่างมาก

      และโดยที่ไม่มีใครรู้เขารีบลงจากยานนั้นแล้วเดินตามกองเกวียน
      พ่อค้าไปยังเมืองตักสิลา และได้เป็นภริยาของลูกชายเศรษฐีในเมืองนั้น อยู่ร่วมกันจนมีบุตร ๒
      คน แต่เดิมทีที่เขาอยู่ในเมือง โสเรยยะนั้น เขาก็มีภริยาอยู่แล้วและมีบุตรด้วยกัน ๒ คน เช่นเดียว
      กัน จึงปรากฏว่าเขาเป็นทั้งพ่อและแม่ หรือเป็นทั้งผัวและเมียในชาติเดียวกันนี้


      ต่อมา พระมหากัจจายนเถระ จาริกมายังเมืองตักสิลา โสเรยยะทราบแล้วจึงเล่าเรื่องราว
      ของตนที่ผ่านมาให้สามีฟัง แล้วพากันไปกราบขอขมาโทษต่อพระเถระ เมื่อท่านทราบเรื่องโดย
      ตลอดแล้วก็ยกโทษให้ และเพศหญิงก็หายไปเพศชายปรากฏขึ้นมาเหมือนเดิม เขาเกิดศรัทธา
      เลื่อมใสในพระเถระเป็นอย่างยิ่ง

      อีกทั้งเห็นว่าตนเองเป็นคนแปลกคือเป็นทั้งชายและหญิงในอัต
      ภาพเดียวเท่านั้น และยังคิดว่าไม่ควรที่จะอยู่ครองเพศฆราวาสต่อไป จึงมอบบุตรทั้ง ๔ คนให้
      บิดามารดาเลี้ยงดูต่อไป ส่วนตนเองได้ขอบวชในสำนักพระเถระ และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
      ในกาลต่อมา


      พระมหากัจจายนะ นอกจากจะมีเรื่องของโสเรยยะแล้ว ยังมีเรื่องพระภิกษุเทวดาและ
      มนุษย์ทั้งหลาย เห็นพระเถระเดินมาแต่ไกลแล้วก็พากันกล่าวว่า “พระบรมศาสดาของพวกเรา
      เสด็จมาแล้ว” แล้วพากันทำความเคารพกราบไหว้ ทั้งนี้ก็เพราะท่านมีรูปลักษณ์ละม้ายกับ
      พระผู้มีพระภาคนั้นเอง

      พระเถระพิจารณาเห็นโทษเช่นนี้แล้ว จึงอธิษฐานจิตเนรมิตรร่างกายของท่านให้เปลี่ยน
      แปลงผิดแปลกไปจากเดิม ร่างกายที่เคยสง่างามก็ย่นย่อ ต่ำเตี้ย ท้องป่อง หมดความสวยงามดังที่
      พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างรูปท่านไว้เป็นที่สักการบูชาในทุกวันนี้


    * ได้รับยกย่องในทางอธิบายความย่อให้พิศดาร
      ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรแต่โดยย่อ แล้วเสด็จเข้าสู่พระวิหาร
      ที่ประทับ พระภิกษุทั้งหลายไม่ได้โอกาสเพื่อจะกราบทูลถามเนื้อความที่ตรัสไว้โดยย่อให้เข้าใจ
      ได้ จึงพากันเข้าไปหาพระมหากัจจายนะ กราบอาราธนาให้ท่านได้เมตตาอธิบายขยายความให้
      ฟัง

      พระเถระได้อธิบายขยายความย่อให้ฟังอย่างพิสดาร แล้วกล่าวแนะนำว่า “ท่านผู้มีอายุ
      ข้าพเจ้าเข้าใจความหมายแห่งพระสูตรนี้ตามที่อธิบายมานี้ แต่ถ้าท่านทั้งหลายมีความต้องการจะ
      ทราบให้แน่ชัดก็จงไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ทรงแก้อย่างไร ก็จงจำไว้อย่าง
      นั้นเถิด”


      พระภิกษุเหล่านั้นพากันลาพระเถระแล้ว เข้าไปกราบทูลเนื้อความที่พระมหากัจจายนะ
      อธิบายไว้ให้พระพุทธองค์ทรงสดับ
      พระผู้มีพระภาค ตรัสสรรเสริญพระเถระว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระมหากัจจายนะ เป็นผู้มี
      ปัญญา เนื้อความนั้นถ้าพวกเธอถามตถาคต แม้ตถาคตก็จะอธิบายอย่างนั้น เช่นกัน ขอพวกเธอ
      จงจำเนื้อความนั้นไว้เถิด”

    เมื่อครั้งพระพุทธองค์ ประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร ทรงตั้งพระมหากัจจายนะ
    ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในฝ่าย ผู้อธิบายเนื้อความย่อให้พิสดาร
    ท่านพระมหากัจจายนเถระ ดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับ
    ขันธปรินิพพาน


ที่มา http://www.84000.org/one/1/15.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ