ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตื่นรู้อย่างฉับพลัน - รู้โลก ไม่สู้รู้ตน  (อ่าน 2696 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ตื่นรู้อย่างฉับพลัน - รู้โลก ไม่สู้รู้ตน


เริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยคำว่า “ตื่นรู้” ละกันนะครับ พอดีว่าช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่เพิ่งผ่านไปนั้น หนึ่งในหนังสือที่ผมได้มาคือ “ชาล้นถ้วย” ของ  พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ที่พูดถึงเรื่อง พุทธนิกาย “เซน” (คำว่า “เซน” นั้นเป็นภาษาญี่ปุ่น ที่สะกดแบบเดียวกันกับภาษาจีนที่อ่านว่า “ฉาน”   ) นั่นแหละครับ ท่าน ว. ใช้คำว่า “ฌาน”

คนไทยเราไม่ค่อยคุ้นเคยกับนิกาย “เซน” สักเท่าไหร่ ที่แตกต่างไปจากชาวตะวันตกหลาย ๆ คนที่ฝึกปฏิบัติธรรมตามแบบเซน ดูง่าย ๆ ก็คือสถานที่ปฏิบัติธรรมหมู่บ้านพลัม เมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส ของหลวงปู่ ติชนัทฮันห์ ชาวเวียดนาม ที่คนจากหลายหลายภูมิภาคทั่วโลก ไปร่วมปฏิบัติธรรม (ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก หรือศึกษาพุทธประวัติ) มาก่อนเลย แต่ที่สุดแล้ว สามารถที่จะ “คลายทุกข์” ได้จากการ “ลงมือปฏิบัติ”

คนไทยเราเองในฐานะที่เป็น เถรวาท เราไม่ค่อยได้รับรู้หรือศึกษาเรื่่อง นิกายเซนมากนัก จวบจนที่ท่านพุทธทาส ได้นำเอาหลักของนิกายเซน มาเผยแพร่ในประเทศไทยเรา และท่านได้เปรียบเทียบเอาไว้ว่า เซน เปรียบเหมือนการเดินทางไปยังจุดหมาย (เพราะเน้นการปฏิบัติ) หากผู้ใดศึกษาธรรมะโดยไม่ปฏิบัติก็เหมือนกับการ อ่านแผนที่จนทะลุปรุโปร่งแต่ยังไม่ได้ออกเดินทางไปจุดหมายนั่นเอง

หนังสือ “ชาล้นถ้วย” ของ ท่าน ว.วชิรเมธี ทำให้ผมนึกถึงสารคดี  “เซน ๒๐๑๐ จากสวนโมกข์สู่หมู่บ้านพลัม” (ของ สถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล สารคดียอดเยี่ยมรางวัล แสงชัย สุนทรวัฒน์) ที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว บอกเราว่า แม้ว่าเราจะเป็นเถรวาท เราก็ควรจะศึกษา “เซน” เช่นกัน

ผมขอเล่าเรื่องของ “เซน” จากมุมของพุทธศาสนิกชนผู้อ่อนภูมิธรรม และศึกษาจากภายนอกจากตำราของผู้รู้ ..ว่าสิ่งที่ “เซน” สอนคือ “การตื่นรู้อย่างฉับพลัน” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “immediate enlightenment” อดไม่ได้ที่จะสงสัยว่า บางทีเราศึกษาธรรมะ อ่านหนังสือมากมาย แต่แล้วกลับไม่สามารถตื่นรู้ได้ (อาจเป็นการตื่นรู้ชั่วครู่เฉพาะขณะ ไม่ใช่ตื่นรู้ หรือบรรลุธรรม ถาวรหรือ “นิพพาน”) มีด้วยหรือ “การตื่นรู้” แบบฉับพลัน

พลันนึกถึง พระอรหันต์สาวกสมัยพุทธกาล ที่หลายรูปที่มาจากวรรณะ ศูทร หรือแม้แต่ จัณฑาล ที่อ่านหนังสือไม่ได้ และไม่ได้มีการศึกษา แต่กลับบรรลุธรรมได้จากการมองผ้าเพียงผืนเดียว หรือจากการมองดอกบัวที่พระพุทธองค์แสดงขึ้นโดยมิได้เอื้อนเอ่ยแสดงธรรม

สิ่งนี้เป็นการบอกว่า การ “ตื่นรู้” และมีสติในชั่วอึดใจหนึ่งใดนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่านการอ่านหนังสืิอจำนวนมากมาย การถกเถียงวิพากษ์เชิงทฤษฎี แต่สำคัญคือเรื่องของการฝึกปฏิบัติ


ในหนังสือ “ชาถ้วยเปล่า” มีข้อเด่นคือการหยิบยกนิยาย “เซน” หลากหลายเรื่อง ที่สั้น ๆ แต่ทำให้คนได้รู้ว่า บางทีการสื่อสารด้วยคำพูดสั้น ๆ ที่ทำให้คน “ได้สติ” และ “ฉุกคิด” และ “ตื่นรู้” ว่าสิ่งที่ตนกำลังคิด หรือจริตที่ครอบงำตัวเองอยู่  (ไม่ว่าจะเป็น โลภะ โทสะ และ โมหะ) มีอะไร และ มันนำไปสู่เส้นทางที่ไม่ถูกต้องอย่างไร

“เซน” เป็นเหมือนวิธีการสอนเรื่อง “สติ” ที่เป็น “ทางลัด ตัดตรง” ไปสู่ภาวะการตื่นรู้ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายด้วย หลักการทฤษฎีที่ยาวแต่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ บ่อยครั้งการสื่อสารเสริมสร้างสติก็เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายด้วยเหตุผล และหรือแม้แต่ไม่ต้องใช้คำพูดเลย

หนึ่งในตัวอย่างที่ผมได้รับจากงานเปิดตัว “เซน ๒๐๑๐ จากสวนโมกข์สู่หมู่บ้านพลัม” เมื่อสองปีก่อนคือการสนทนากับพระอาจารย์ที่เคยบวชเรียนทั้งที่ สวนโมกขพลารามและหมู่บ้าน พลัม ที่ท่าน “ใช้ความเงียบตอบคำถาม” ที่ผมถามไป ...ท่านอธิบายว่า “ระหว่างที่อาตมาไม่ตอบ พวกโยมได้คำตอบอะไรบ้าง” ... เรารู้ว่า ความเงียบทำให้ทุกคนกระวนกระวาย ทำให้ทุกคนฟุ้งซ่านได้ นี่แหละคือการสอนแบบเซน

ดังจะเห็นได้ว่า ตำราพุทธแบบเซนนั้น เป็นตำราที่จะเป็นเล่มบาง ๆ เพราะเน้นการปฏิบัติ เน้นการใช้นิยายอันเป็นปริศนาธรรม “ทำให้คนฉุกคิด” และ “ได้สติ” จากคติสอนใจของบทเรียนนั้น ๆ


วิธีการศึกษาธรรมแบบนี้ ควบคู่ไปกับแบบปริยัติ และการปฏิบัติธรรมแบบเถรวาทของเรา ดูจะเหมาะสมกับจริตของ โลกยุคดิจิตอล ที่คนใจร้อนใจเร็ว และไม่ค่อยยอมที่จะใช้เวลาทำความเข้าใจกับหลักการและหลักธรรมอันแยบคายสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะโลกปัจจุบันเป็นโลกที่คนเรา “งมงายในวิทยาศาสตร์” และ “งมงายในโลกตะวันตก” จนมีอคติในการศึกษาปรัชญาอันทรงคุณค่าของโลกตะวันตก

จึงอยากจะฝากเรื่องของ “ปรัชญาเซน” อันเป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนาเอาไว้ให้กับท่านผู้อ่านเนื่องในปีใหม่ไทยเอาไว้ พร้อมกับขออวยพรทุกท่านให้เจริญทั้งทางโลกและทางธรรมนะครับ ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม สาธุ.


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก http://www.dailynews.co.th/article/630/22732
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ