ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ขอพรพระอุปคุต ที่...วัดศรีดอนมูล อ.สารภี จ.เชียงใหม่  (อ่าน 6583 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28447
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ขอพรพระอุปคุต ที่...วัดศรีดอนมูล อ.สารภี จ.เชียงใหม่


คมชัดลึก :วัดศรีดอนมูล ตั้งอยู่ ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันมีครูบาน้อย เตชปญฺโญ หรือพระครูสิริศีลสังวร เป็นเจ้าอาวาส สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมชื่อวัดพระเจ้าก้นกึ่ง เนื่องจากมีพระพุทธรูปจำนวนมาก และมีสภาพเป็นวัดร้าง จึงมีช้างเข้ามาอาศัยหากินอาหาร และใช้งางัดพระพุทธรูปจนหน้าคว่ำลง ทำให้ฐานพระพุทธรูปยกขึ้น จึงเรียกขานว่า "วัดพระเจ้าก้นกึ่ง" ตามภาษาพื้นเมือง แต่ได้สันนิษฐานว่าสร้างมานานแล้ว ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ต่อมาภายหลังพม่าเข้ามารุกรานอาณาจักรล้านนาไทย ประชาชนได้อพยพหนีภัยสงคราม วัดจึงถูกทิ้งร้างไว้

ต่อมาพระเจ้ากาวิละ ได้กู้อิสรภาพขับไล่พม่าออกไป และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทรงพระนามว่า "พระเจ้าวชิระปราการ" แล้วพระกรุณาโปรดเกล้าให้แสนพิงยี่เป็นแม่ทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน แต่ตีไม่แตก จึงได้กวาดต้อนเอาราษฎรในละแวกชายแดนเชียงแสนมาเป็นจำนวนมาก และทรงโปรดให้พญาชมภูเป็นหัวหน้านำราษฎรที่กวาดต้อนมานั้น ไปหาที่สร้างบ้านเรือนและที่ทำกิน บริเวณบ้านยางเนิ้ง อยู่ในเขต อ.สารภี ในปัจจุบัน


พญาชมภูพร้อมด้วยชาวเชียงแสนทั้งหมด ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทิศตะวันออกของบ้านยางเนิ้ง เห็นว่าเป็นทำเลดี ต่างพากันหักร้างถางพง สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ก็พบวัดร้างอยู่สองวัด วัดที่อยู่ทางทิศเหนือ ชาวพญาชมภูได้บูรณะขึ้นใหม่ ให้ชื่อว่า "วัดพญาชมภู" ส่วนวัดร้างที่พบทางทิศใต้นั้นเป็นชัยภูมิอันเหมาะสม เพราะเป็นที่ดอนมูลพูนขึ้นเป็นเนินสูง ชาวเชียงแสนจึงบูรณะและให้ชื่อว่า "วัดศรีดอนมูล" จนถึงปัจจุบัน

 ศาสนสถานภายในวัดวัดศรีดอนมูล ทั้งโบสถ์ วิหาร ศาลา และกุฏิ เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาจากฝีมือสล่าเชียงใหม่ นอกจากนี้แล้วยังมีบ่อน้ำทิพย์ภายในวัดศรีดอนมูล เชื่อกันว่าช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ชะงัด ก่อนนำไปใช้ต้องทำจิตใจให้บริสุทธิ์ มีสมาธิ จึงจักบังเกิดผลต้องตามความประสงค์


ส่วนโครงการหนึ่งที่ครูบาน้อยกำลังดำเนินการก่อสร้างซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จคือ เจดีย์ ๙ คณาจารย์ ประกอบด้วย ครูบาเจ้าศรีวิชัย ครูบาพรหมมา ครูบาหล้าตาทิพย์ ครูบาคำปัน ครูบาวงศา พัฒนา ครูบาผัด ครูบาอุ่นเรือน ครูบาอินแก้ว และพ่ออาจารย์สล่ากุ่งหม่า ขณะเดียวกันก็จะมีการศาลาที่พักผู้มาปฏิบัติธรรมล้อมรอบเจดีย์ ๙ คณาจารย์ ด้วย

 ครูบาน้อย บอกว่า พระพุทธรูปอุปคุต ในวัดศรีดอนมูล ถูกนำมาประดิษฐานไว้ ๒ องค์ ในลักษณะนั่งอุ้มบาตร และพระพุทธรูปอุปคุตแบบยืน พระอุปคุต เป็นรูปเคารพที่สร้างขึ้นแทนพระอรหันต์สาวกสำคัญรูปหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีความเป็นเลิศทางอิทธิฤทธิ์ ในสมัยหลังพุทธกาล ชาวพม่า รามัญ นับถือพระอุปคุตเถระ กันเป็นจำนวนมาก


จึงมีการสร้างรูปบูชาของท่านขึ้นมา เห็นได้จากพระบูชาพระอุปคุต ที่มีศิลปะแบบพม่าอยู่มากมายพระอุปคุต ปางห้ามมาร ให้คุณในทางคุ้มครองป้องกันภัยต่างๆ ปางสมาธิ หรือพระบัวเข็ม ให้คุณในด้านสติปัญญาดี จิตใจผ่องใส ดำเนินชีวิตเป็นสุข ด้วยปัญญาบารมี ส่วนพระอุปคุตปางใบบัวปรกหัว ซึ่งเชื่อกันว่ามีอานิสงส์ในทางเมตตามหานิยม

 รูปลักษณะของพระอุปคุต ที่เป็นรูปเคารพโดยทั่วไป มักทำเป็นรูปองค์พระนั่งอยู่ภายในหอยสังข์ มีขนาดศีรษะค่อนข้างใหญ่ เน้นส่วนคิ้ว ตา จมูกให้เห็นชัดเจน และเนื่องจากที่อาศัยจำพรรษาของพระอุปคุตอยู่ในปราสาทแก้วกลางมหาสมุทร จึงมักทำรูปสัตว์น้ำเป็นสัญลักษณ์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ จากคติความเชื่อที่ว่า หากผู้ใดมีบุญบารมีได้ใส่บาตรพระอุปคุต มักทำให้ร่ำรวยเงินทอง ปราศจากภัยทั้งปวง มีสมาธิจิตดี ไม่หลงลืม ชีวิตเป็นสุข

ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้สร้างพระอุปคุตปางต่างๆ ที่นิยมกันมากได้แก่ ปางล้วงบาตร หมายถึง กิ๋นบ่เสี้ยง หรือกินไม่หมด ให้คุณทางทรัพย์สินเนืองนอง มากมาย ร่ำรวย ปัจจุบันยังมีความเชื่อในหมู่ชาวล้านนาว่าพระบัวเข็มหรือพระอุปคุตยังมีชีวิตอยู่ ในทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ชาวล้านนาจะเรียกว่าเป็นวันเพ็งปุ๊ด พระอุปคุตจะออกบิณฑบาตในร่างเณรน้อย และจะออกมาเวลาเที่ยงคืน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีตักบาตรกลางคืนขึ้น


ร่ายคำโคลงล้านนารดน้ำมนต์
ครูบาน้อย ศึกษาในพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ที่สำนักเรียนวัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน รวมทั้งได้ฝึกวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงพ่อครูบาผัด และครูบาพรหมมา พรหมจักโก ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน อีกทั้งยังได้ศึกษาวิชาธรณีศาสตร์และพระคาถาต่างๆ จากพระครูจันทสมานคุณ (หลวงปู่หล้า ตาทิพย์) วัดป่าตึง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ด้วยศึกษาอักขระภาษาล้านนา วิทยาคมด้านเมตตามหานิยม ตำรับตำรายาสมุนไพรจากหลวงพ่อพระครูมงคลคุณาธร (ครูบาคำปัน นันทิโย) วัดหม้อคำตวง อ.เมือง เชียงใหม่

 คำประพรมน้ำมนต์ของครูบาน้อยนั้น ท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงปู่หล้าตาทิพย์ (พระครูจันทสมานคุณ) ซึ่งคำประพรมน้ำมนต์นี้เป็นคำโคลงของล้านนาไทย ที่อวยพรให้แก่คณะศรัทธาญาติโยมให้มีความสุขความเจริญในหน้าที่การงาน ตลอดถึงมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ว่าจะไปรดครั้งละกี่คน ท่านร่ายคำโคลงของล้านนาไม่ต่ำกว่า ๑๕ นาที



 คติธรรมคำสอนที่ครูบาน้อยเตือนสติศิษยานุศิษย์อยู่เสมอว่า "คิดก่อนทำ ไม่ใช่ทำแล้วคิด คิดก่อนพูด ไม่ใช่พูดแล้วคิด คิดก่อนไป ไม่ใช่ไปแล้วคิด คิดดีเพื่อดี คิดดีสู่ดี ของจริงทำจริง เห็นจริง ของดีทำดี เห็นดี คิดดีเพื่อดี คิดดีสู่ดี คิดชั่ว ทำชั่ว ได้ชั่ว ฉะนั้นให้ถึงพร้อมทานศีลภาวนา นิพพานัง ปรมัง สุขัง"


 สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปกราบไหว้ของพรครูบาน้อยนั้น ท่านจะออกมาโปรดญาติโยม จะแบ่งออกเป็น ๒ ช่วงคือ ช่วงเช้า เวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๓๐ น. และช่วงบ่าย เวลา ๑๔.๐๐-๑๗.๓๐ น. ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัดศรีดอนมูล โทร.๐-๕๓๔๒-๐๒๗๗ หรือเข้าชมข้อมูลวัดได้ที่ "www.watsridonmoon.com"

"คิดก่อนทำ ไม่ใช่ทำแล้วคิด คิดก่อนพูด ไม่ใช่พูดแล้วคิด คิดก่อนไป ไม่ใช่ไปแล้วคิด คิดดีเพื่อดี คิดดีสู่ดี ของจริงทำจริง เห็นจริง ของดีทำดี เห็นดี คิดดีเพื่อดี คิดดีสู่ดี คิดชั่ว ทำชั่ว ได้ชั่ว"

เรื่อง - ภาพ.... "ไตรเทพ ไกรงู"
ที่มา  http://www.komchadluek.net/detail/20100917/73418/ขอพรพระอุปคุตที่...วัดศรีดอนมูลอ.สารภีจ.เชียงใหม่.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28447
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ตำนาน พระอุปคุต
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 22, 2011, 12:50:01 pm »
0
ตำนาน พระอุปคุต


     ท่านเป็นพระเถระสำคัญองค์หนึ่ง ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ผู้นำกองทัพธรรมแผ่กระจายไปทั่วโลก) เป็นพระเถระผู้เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพ และฤทธิ์เดชเกรียงไกร สามารถปราบพญามารและกำจัดสิ่งชั่วร้าย ที่จะมาทำลายพิธีกรรมใหญ่ ๆ มาแต่ครั้งโบราณ
(พระ คาถา อุปคุตผูกผี ท่องนะโมก่อน๓หน อุปปะคุตโตจะมหาเถโร อุปปะคุตตังจะมหาเถรัง พันธะเวระมาระพันธานุภาเวนะอิมังกายะพันทะนังอฐิษฐามิฯ เวลาใช้งายๆให้เดินไปที่ๆวิญญาณสิงอยู่ด้ยสายสิญพันพร้อมท่อง๓หนพันให้เสร็จ พร้องพระคาถาเพื่อสะกดมิให้วิญญาณอาละวาด ใด้ผลชงัดนัก)
ทุกพระคาถาขึ้นนะโมก่อนทุกครั้งครับ

เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด
เมื่อ ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 2 หลังพุทธปรินิพพาน ณ นครปาตลีบุตราชธานี (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ ภาคใต้อินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ตามตำนานกล่าวว่า ได้ทรงสร้างพระวิหารและพระสถูป มากมายทั่วทั้งชมพูทวีป (เค้าว่ามากถึงแปดหมื่นสี่พันองค์) เป็นผู้รวบรวมและขุดค้นพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อจะนำไปบรรจุในสถูปที่พระองค์ทรงสร้างไว้ทุกแห่ง

เมื่อการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็ทรงปรารภ ที่จะจัดให้มีการฉลองสมโภช พระสถูปเจดีย์ทั้งหมดนั้น เป็นการมโหฬารยิ่ง ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน และเพื่อให้การฉลองสมโภช เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปราศจากอุปสรรค จึงใคร่จะอาราธนาพระสงฆ์ขีณาสพ ที่ทรงอิทธิฤทธิ์ มาเป็นผู้คุ้มครองงาน ให้ปราศจากการรบกวนจากมารร้ายต่าง ๆ

แต่พระสงฆ์ในนครปาตลีบุตร ไม่มีรูปใดที่จะสามารถ เป็นผู้คุ้มครองงานมหกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ ให้พ้นจากภัยทั้งหลายทั้งปวงได้ (โดยเฉพาะภัยจากพญาวัสสวดีมาร ผู้มีฤทธิ์ยิ่งกว่าภูตผีปีศาจทั้งหลาย) นอกเสียจากพระอุปคุตเถระผู้เดียวเท่านั้น พระสงฆ์ทั้งปวงจึงตั้งตัวแทน ๒ รูป ลงไปอาราธนาพระอุปคุตเถระผู้เรืองฤทธิ์ มาช่วยรักษาความปลอดภัย ในงานสมโภชครั้งนี้ ซึ่งกล่าวกันว่า พระอุปคุตเถระองค์นี้ มีปกติสันโดษอยู่องค์เดียว เข้าฌานสมาบัติเสวยวิมุตติสุข อยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ภายในปราสาทแก้วที่เนรมิตขึ้น เหนือรัตนะบัลลังก์ จะออกจากสมาบัติ เหาะขึ้นมาบิณฑบาต ในโลกมนุษย์ ในวันพุธเพ็ญกลางเดือนเท่านั้น


และในครั้งนี้เอง พระอุปคุตเถระ ถูกพระภิกษุสองรูป ผู้ได้อภิญญาสมาบัติ ชำแรกมหาสมุทร ลงมาถึงตัวท่านแจ้งว่า ให้ท่านจงเป็นธุระ ป้องกันพญามารอย่าให้รบกวนงานฉลองพระสถูปเจดีย์ ของพระเจ้าอโศกมหาราชได้

เมื่อพระอุปคุตเถระได้รับนิมนต์ ก็เดินทางมานมัสการ และรายงานตัวต่อคณะสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าอโศกมหาราช จึงได้เสด็จเข้ามานมัสการคณะสงฆ์ เพื่อขอทราบเรื่อง ผู้จะที่จะมาทำหน้าที่รักษาการ งานฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ เมื่อพระองค์ทรงทราบ ว่าผู้ที่จะมาทำหน้าที่นี้ คือพระอุปคุตเถระ ก็ทรงนึกแคลงพระทัย เนื่องจากพระอุปคุตเถระนั้น มีร่างกายผ่ายผอมดูอ่อนแอ ก็ทรงไม่แน่ใจ เกรงจะทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ แต่ไม่ทรงตรัสว่ากระไร

ครั้นรุ่งเช้าวันใหม่ ขณะที่พระอุปคุตหาเถระ ออกบิณฑบาตในนครปาตลีบุตรนั้น พระเจ้าอโศกมหาราช ใคร่จะทดสอบฤทธิ์พระเถระ จึงทรงปล่อยช้างซับมัน (ช้างตกมัน) ให้เข้าทำร้ายพระเถระ พระมหาอุปคุตเถระเห็นดังนั้น จึงสะกดช้าง ที่กำลังวิ่งเข้ามา ให้หยุดอยู่กับที่ ไม่ไหวติงประดุจช้างที่สลักด้วยศิลา พระเจ้าอโศกมหาราช ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงเลื่อมใส จึงเสด็จไปขอขมาพระเถระ พระมหาอุปคุตเถระ ก็ให้อภัยทั้งแก่พระเจ้าอโศกมหาราช และพญาคชสาร

เมื่อเห็นว่าพระอุปคุตเถระ มีฤทธิ์เดชมาก พระเจ้าอโศกมหาราช ก็ทรงวางพระทัย ตรัสสั่งให้เตรียมฉลองสมโภช พระสถูปเจดีย์ทั้งหมด ด้วยการปลูกปะรำร้านโรง ประดับธงทิว และประทีปโคมไฟ ตลอดระยะทางกึ่งโยชน์ ทำให้ตามแนวฝั่งแม่น้ำคงคา สว่างไสวไปทั่วทั้งบริเวณ

บรรลุฤกษ์งามยามดีตามที่กำหนดไว้ บรรดาพระสงฆ์ขีณาสพ และพระสงฆ์ปุถุชน ตลอดจนพุทธศาสนิกชน ทั้งในนครปาตลีบุตร และต่างแดนจากจตุรทิศ ก็เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่บริเวณงาน พร้อมเครื่องสักการบูชา เพื่อร่วมพิธีฉลองสมโภช พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในมหาเจดีย์ และเจดีย์ ทั้งแปดหมื่นสี่พันองค์ ด้วยความเลื่อมใส ศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง


และในเวลานี้เอง พญามาร (พญาวัสสวดีเทพบุตรมาร) ก็มุ่งหน้าเข้ามาในงานกับเค้าเหมือนกัน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะก่อความวุ่นวาย ต่างๆ นานา ทั้งบันดาลให้เกิดลมพายุ ทั้งแปลงร่างเป็นสัตว์ป่า และสัตว์หิมพานต์ แต่ทุกครั้งก็โดนพระอุปคุตเถระ กำราบได้หมด และสุดท้าย เพื่อให้พญามาร ออกไปจากบริเวณพิธี พระอุปคุตเถระ จึงเนรมิตร่างหมาเน่าขึ้นมาตัวหนึ่ง แล้วดึงประคตจากเอวของท่าน ออกมาผูกร่างหมาเน่านั้น คล้องคอพญามารไว้ แล้วสำทับว่าไม่ว่าใครก็ตาม (นอกจากท่านเอง) จะเอาหมาเน่านี้ออก จากคอพญามารไม่ได้ แล้วขับพญามารออกไป จากบริเวณงานทันที

ด้วยความอับอาย พญามารก็ออกมาจากบริเวณงาน และพยายามแก้ร่างสุนัขเน่า ออกด้วยฤทธานุภาพ แต่ทำอย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ได้ เพราะเมื่อเอามือทั้งสอง ต้องสายประคตที่คล้องคอทีไร ต้องมีไฟลุกขึ้นไหม้คอ และมือทันที สุดจะแก้ไขด้วยตนเองได้ ก็ไปหาที่พึ่งอื่น (ที่คิดว่าน่าจะช่วยได้)

แต่ถึงแม้จะไปหาท้าวมหาราชทั้งสี่ พระอินทร์ ท้าวยามา ท้าวสันดุสิต ท้าวนิมิตเทวราช ตลอดจนท้าวสหัสบดีพรม ก็ไม่มีใครสามารถช่วยได้ ต่างได้แต่แนะนำว่า ให้พญามารไปขอขมา และขอความเมตตา จากพระเถระผู้นั้นเสียดีกว่า

พญามารเห็นดังนั้น จึงจำใจต้องกลับไปหาพระเถระ อ้อนวอน ให้ช่วยเอาซากหมาเน่าออกจากคอให้ แล้วจะไม่มารบกวน การจัดงานอีก พระอุปคุตเถระก็อนุโลมตาม แต่ยังไม่ไว้ใจพญามารนัก เกรงพญามาร จะกลับมาทำลายพิธีในภายหลัง จึงเดินนำพญามาร ไปยังเขาใหญ่ลูกหนึ่ง แล้วเอาร่างหมาเน่าทิ้งลงเหว และเนรมิตให้สายประคตยาวขึ้น แล้วพันคอพญามาร ไว้กับเขาลูกนั้น พร้อมทั้งแจ้งว่า เมื่อเสร็จพิธีฉลองสมโภช พระมหาเจดีย์สิ้นสุดลงแล้ว จึงจะแก้โซ่ออก ปล่อยให้พญามารเป็นอิสระ (7 ปี 7 เดือน 7 วัน)

เวลาผ่านไปตามที่ตกลงกัน การจัดงานสมโภชน์ ก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี พระอุปคุตเถระ จึงกลับมาหาพญามาร โดยแอบอยู่ห่างๆ เพื่อฟังเสียงพญามารว่า ละพยศร้ายหรือยัง

พญามารเอง เมื่อจากทิพยวิมานอันบรมสุข มารับทุกขเวทนาเช่นนี้ ก็ละพยศร้ายในสันดาน หวนนึกถึงพระพุทธโคดม จึงกล่าวสดุดี ในความเมตตากรุณา ของพระพุทธเจ้า ในเรื่องที่ทรงมีมหากรุณาธิคุณ อันยิ่งใหญ่ว่า “ทรงบำเพ็ญสิ่งอันเป็นที่สุดหามิได้ เป็นที่พึ่งพำนักแก่สัตว์โลกทั้งมวล ในกาลทุกเมื่อ พระองค์นั้น เป็นผู้ประเสริฐหาผู้เสมอเหมือนมิได้


อนึ่ง ในกาลก่อน ข้าพเจ้าได้ทำร้ายพระองค์ โดยประการต่างๆ แต่พระองค์ ก็ยังทรงมหากรุณาธิคุณ มิได้กระทำการโต้ตอบ แก่ข้าพเจ้าเลย มาบัดนี้ สาวกของพระองค์นามว่าอุปคุต ไม่มีเมตตาแก่ข้าพเจ้าเลย กระทำกับข้าพเจ้า ให้ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส และได้รับความอับอาย เป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าข้ายังมีบุญกุศล ที่ได้สั่งสมไว้แต่กาลก่อน ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐาน ปรารถนาเป็นพระสัพพัญญูในอนาคต ดังเช่นพระองค์ต่อไป” พระยามารแท้จริงคืพระโพธิสัตว์

กล่าวได้ว่า การตกระกำลำบากในครั้งนี้ ทำให้พญามาร ซึ่งความจริงแล้ว ในอดีตชาติ (ในยุคของพระกัสสปพุทธเจ้า) เคยมีจิตตั้งมั่น ที่จะบำเพ็ญเพียร ให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นกัน แต่ที่ได้กระทำการขัดขวาง พุทธศาสดาของพระพุทธโคดม ก็ด้วยความริษยา พระพุทธโคดม (มีมิจฉาทิฐิ) เนื่องด้วยพระองค์ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก่อนตน ทั้งๆ ที่ตนบำเพ็ญบารมี มามากพอสมควรเหมือนกัน แต่การกระทำในแต่ละครั้ง ก็มิได้ล่วงเกิน ทำบาปหนักแต่ประการใด

เมื่อพระอุปคุตเถระ ได้ยินคำปรารภดังนั้น ก็เห็นว่าพญามารสิ้นพยศแล้ว จึงแก้โซ่ออก ปล่อยให้พญามารเป็นอิสระ พร้อมทั้งขอขมาพญามาร และบอกว่า การกระทำครั้งนี้ ก็เพื่อให้พญามาร ระลึกได้ถึงพุทธภูมิ ที่ท่านเคยปรารถนาไว้เท่านั้นเอง มิได้มีเจตนา ที่จะล่วงเกินประการใด ซึ่งพญามารก็เข้าใจด้วยดี ต่อจากนั้นพระเถระ ก็ได้ขอให้พญามาร เนรมิตกาย เป็นพระพุทธองค์ เพื่อจะได้เห็น เป็นพุทธานุสติบ้าง ซึ่งพญามารก็รับคำ แต่ขอร้องว่า เมื่อเห็นเขาเนรมิตกาย เป็นพระพุทธองค์แล้ว อย่าหลงกราบไหว้เป็นอันขาด เพราะจะให้เขาบาปหนัก

ครั้นเมื่อพญามารเนรมิตกาย เป็นพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ และฉัพพรรณรังสี อันวิจิตร มีพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวา แวดล้อมด้วย มหาสาวกทั้งหลายเป็นบริวาร เสด็จเยื้องย่าง ด้วยพุทธลีลาอันงดงามยิ่ง พระเถระ และบรรดาพุทธบริษัททั้งหลาย เห็นเช่นนั้น ก็ลืมตัวพากันถวายนมัสการ ทำเอาพญามารตกใจ รีบคืนร่างเดิม และท้วงติงว่า ทำให้ตนมีบาปหนัก แต่พระเถระ ก็กล่าวให้พญามารสบายใจว่า ทุกคนกราบไหว้พระพุทธเจ้า และพญามารก็ไม่บาปหรอก จะได้กุศลมากกว่า

จากนั้นพญามาร ก็กลับคืนสู่สวรรค์ ชั้นที่ 6 วิมานของตน และนับแต่นั้นมา พญามารได้มีจิตอ่อนน้อมเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา หมดสิ้นน้ำใจริษยา และบำเพ็ญบารมี เพื่อพุทธภูมิต่อไป
ศรัทธาของพระเจ้าอโศก


กิตติศัพท์ด้านความรู้ความสามารถของท่านได้แพร่สะพัดไป จนทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ จึงตั้งพระทัย จะเสด็จไปอาราธนา ท่านพระอุปคุตให้มาโปรดยังกรุง ปาฏลีบุตร

แต่วิสัยของพระอรหันต์ผู้ยิ่งด้วยอภิญญาเฉกเช่นท่านพระอุปคุตนั้น เพียงแค่พระเจ้าอโศกทรงดำริเท่านั้น ท่านก็ทราบแล้ว จึงได้รีบลงเรือเดินทางมาสู่กรุงปาฏลีบุตรในทันที ฝ่ายพระเจ้าอโศก เมื่อทรงทราบว่า ท่านพระอุปคุต ได้เดินทางมาแล้ว จึงได้โปรดให้ตั้งพิธีต้อนรับ และเสด็จมารับ ท่านพระอุปคุต ด้วยพระองค์เอง อันเป็นตำนาน ที่ปรากฎอยู่ ใน คัมภีร์อโศอวทาน

หมายเหตุ
เนื้อเรื่องได้กล่าวถึง พระพระกัสสปพุทธเจ้า ดังนั้นเพื่อความเข้าใจ ในการอ่าน ขอเสริมว่าตามตำนาน โลกเรานั้น แบ่งช่วงเวลาเป็นกัลป์ ซึ่งแต่ละช่วง ในแต่ละกัลป์ ก็จะมีพระพุทธเจ้า ที่มาตรัสรู้ โปรดบรรดาสัตว์โลก เป็นคราวไป ดังนั้นพระพุทธเจ้า จึงมีหลายพระองค์ ซึ่งเวลาหนึ่งกัลป์นั้นนานนัก (กัลป์ที่เราอยู่นี้ มีพระพุทธเจ้า มาตรัสรู้แค่ 5 พระองค์ และมีหลายๆ ช่วงในแต่ละกัลป์ ที่ปราศจากพระพุทธศาสนา โดยสิ้นเชิง ดังนั้นถือว่าเราโชคดีมาก ที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาในชาตินี้

(เมื่อพระอุปคุตสามารถปราบพญามารได้ มารอื่น ๆ ย่อมไม่มีฤทธิ์เหนือพญามาร ผู้ที่ต้องการชนะอุปสรรค ชนะมารที่มาผจญชีวิต หรือธุรกิจการค้าขายของตน ก็มักบูชาพระอุปคุตอยู่เป็นประจำ )

บางตำรากล่าวกิตติศัพท์ด้านความรู้ความสามารถของท่านได้แพร่สะพัดไป จนทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ จึงตั้งพระทัย จะเสด็จไปอาราธนา ท่านพระอุปคุตให้มาโปรดยังกรุง ปาฏลีบุตร

แต่วิสัยของพระอรหันต์ผู้ยิ่งด้วยอภิญญาเฉกเช่นท่านพระอุปคุตนั้น เพียงแค่พระเจ้าอโศกทรงดำริเท่านั้น ท่านก็ทราบแล้ว จึงได้รีบลงเรือเดินทางมาสู่กรุงปาฏลีบุตรในทันที ฝ่ายพระเจ้าอโศก เมื่อทรงทราบว่า ท่านพระอุปคุต ได้เดินทางมาแล้ว จึงได้โปรดให้ตั้งพิธีต้อนรับ และเสด็จมารับ ท่านพระอุปคุต ด้วยพระองค์เอง อันเป็นตำนาน ที่ปรากฎอยู่ ใน คัมภีร์อโศอวทาน

ที่มา  http://phuketindex.com/travel/photo-stories/other/buddha-oppakut/index.htm
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ