ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อสมเด็จเกี่ยว กล่าวถึง "เกี่ยว โชดชัย และ เจ๊เกียว เชิดชัย"  (อ่าน 1954 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


สมเด็จเกี่ยว
คอลัมภ์ : จันทร์สนุก ศุกร์สนาน โดย ดร.วิษณุ เครืองาม

พระผู้ใหญ่เมื่อได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ จะมีชื่อใหม่เช่น พระพุฒาจารย์ พระพุทธโฆษาจารย์ แบ่งออกเป็นฝ่ายมหานิกาย 4 รูป ธรรมยุต 4 รูป แต่เพื่อกันความสับสนและสะดวกต่อการจดจำเพราะจะมีการนำชื่อเหล่านี้มาหมุนเวียนใช้ใหม่กับพระที่ขึ้นมาแทนอยู่เสมอ จึงนิยมเรียกแบบไม่เป็นทางการตามชื่อเดิม เช่น สมเด็จฟื้น สมเด็จอาจ สมเด็จโต บางคนเลี่ยงไปเรียกตามชื่อวัดเช่นสมเด็จวัดปากน้ำ สมเด็จวัดสระเกศฯ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศที่เพิ่งถึงแก่มรณภาพมาครบ 7 วันในวันนี้เดิมชื่อ “เกี่ยว” สกุลเดิมคือ “โชคชัย” แต่มีฉายาเมื่ออุปสมบทว่า “อุปเสโณ” เมื่อได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ทั้งพระและชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า “สมเด็จเกี่ยว” หนักเข้าที่เพี้ยนไปเป็น “สมเด็จเกียว” ก็มี

ผมเคยกราบเรียนถามท่านว่าจริง ๆ คืออะไรแน่ ท่านยิ้มอย่างใจดีตามบุคลิกตอบว่า “เกียวน่ะเจ๊เกียว สุจินดา เชิดชัย เจ้าของธุรกิจเดินรถที่โคราช อาตมาน่ะเกี่ยว โชคชัย แต่ความที่เป็นคนเกาะสมุย เวลาคนปักษ์ใต้ออกเสียงเรียก วรรณยุกต์อาจผันแปรไปบ้างก็ไม่เป็นไร อย่าเป็นสมเด็จเกี๊ยวก็แล้วกัน”





สมเด็จฯ เป็นพระใจดี แววตา สีหน้าและรอยยิ้มที่ปรากฏให้เห็นเสมอแสดงถึงเมตตาธรรมและพรหมวิหาร 4 ท่านพูดจาสุภาพไพเราะอ่อนโยนกับคนทั่วไปไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ พระธรรมยุตหรือพระมหานิกาย ท่านเคยเล่าว่า ที่เป็นกัลยาณมิตรสนิทกับท่านมาก คือ สมเด็จพระวันรัต(นิรันดร์) วัดเทพศิรินทร์ มีอะไรก็ปรับทุกข์สุขกัน ตามวิสัยปราชญ์ต่อปราชญ์รู้เชิงกัน

เมื่อบ้านเมืองแตกแยกเป็น “สี” ต่าง ๆ เคยได้ยินท่านบอกโยมว่า พระวัดนี้นุ่งห่มสีเหลือง แต่ถ้าดูไปที่เจดีย์ภูเขาทองจะเห็นว่าห่มผ้าแดง สีอะไรก็มาได้ ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่ไม่วุ่นวาย ศิษย์ของท่านจึงมีทั้งเหลืองทั้งแดง ที่เขียวขาวก็มี

ท่านเป็นพระคงแก่เรียน สนใจใฝ่รู้ เคยเป็นเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยซึ่งทำประโยชน์ด้านการศึกษาแก่คณะสงฆ์มหานิกายมาก สมัยผมยังหนุ่ม ๆ วัดสระเกศจัดให้มีการอภิปรายให้พระเณรฟังบ่อย ๆ อาจารย์เสฐียร พันธรังษี คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ คุณหญิงเต็มศิริ บุณยสิงห์ และผมมักเป็นขาประจำ นั่งอภิปรายกันบนเมรุนั่นแหละ

วันหนึ่งคุณหญิงจินตนากระซิบว่าสังเกตไหมว่า เจ้าอาวาสวัดนี้จะมานั่งฟังเราทุกครั้ง แล้วอยู่ฟังจนจบ ตอนนั้นท่านยังเป็นพระพรหมคุณาภรณ์ บางครั้งใครเอ่ยถึงเรื่องอะไรที่แปลก พออภิปรายจบท่านจะเรียกมาถามข้อมูลเพิ่มเติม ถ้าอ้างหนังสือก็ปรารภว่าอยากอ่านบ้าง คราวหนึ่งผมเรียนว่า เป็นภาษาอังกฤษ ท่านก็ขอดู อีกราว 2 สัปดาห์เมื่อไปรับคืนท่านก็ชวนสนทนาต่อได้เป็นฉาก ๆ แสดงว่าท่านอ่านจนจบ จนผมต้องขอกลับไปอ่านใหม่อีกที





ตอนผมเป็นเลขาฯ ครม. ต้องตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี นึกอยู่นานว่าควรทำอย่างไร ท่านทราบเข้าก็แนะว่าคนจะบวชเขาให้สอบอันตรายิกธรรมคือไล่ถามเป็นข้อ ๆ ลองถามเป็นรายคนอย่างนี้บ้างสิ คราวเปิดห้องประชุม ครม.แห่งใหม่ที่ใช้จนบัดนี้ ท่านเป็นผู้แทนสมเด็จพระสังฆราชไปเปิด ผมได้นิมนต์ให้ท่านนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นสิริมงคลด้วย

เมื่อคราวที่ผมอยู่ในรัฐบาล เกิดปัญหาขึ้นในวงการคณะสงฆ์จำเป็นต้องพึ่งพาจนท่านพลอยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพราะท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์คือเป็นสมเด็จก่อนสมเด็จรูปอื่นทั้งหมด (ที่จริงยังมีก่อนท่านอีกรูปแต่อาพาธ) เป็นเหตุให้ท่านต้องเผชิญวิบากกรรมไปด้วย ผมไปกราบท่านที่กุฏิเสียใจที่นำท่านเข้ามาเกี่ยว

ท่านตอบว่า “ทุกคนทำหน้าที่ของตัวไปให้ดี อย่ากังวล เมื่อจำเป็นเพราะเป็นหน้าที่ก็ต้องทำ สมเด็จพระพุฒาจารย์อาจวัดมหาธาตุโดนมากกว่านี้อีก ที่สังคมเรายุ่ง ๆ ทุกวันนี้เพราะคนมีหน้าที่ไม่ทำหน้าที่ อาตมานั้นจะเกี่ยวไม่เกี่ยว คนเขาก็เรียกสมเด็จเกี่ยวอยู่แล้ว จะเป็นสมเด็จไม่เกี่ยวได้อย่างไร”





วันหนึ่งตอนท่านเริ่มอาพาธใหม่ ๆ โยมกราบเรียนถามว่าหลวงพ่อสบายดีหรือ ท่านยิ้ม ตอบว่าจะว่าสบายก็พูดความเท็จ จะว่าไม่สบายญาติโยมก็จะเป็นห่วง เอาว่ายังพออยู่ได้ ว่าแล้วท่านก็อธิบายเรื่องความไม่เที่ยงแท้ของสังขารจนโยมหันไปกระซิบกันเองว่าอย่างนี้แปลว่ายังสบายดี

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ที่รอบคอบ คิดอะไรกว้างไกล ในด้านพระศาสนาท่านสนใจงานเผยแผ่พระศาสนาในต่างประเทศมาก เมื่อท่านทราบว่าผมไปเยอรมนีแวะไปเยี่ยมวัดไทยที่เบอร์ลิน ท่านให้พระตามมาซักถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อผมกลับจากสังเวชนียสถาน ท่านก็ถามถึงวัตรปฏิบัติของพระไทยและสิ่งที่คณะสงฆ์ควรปรับปรุง การรอบคอบมองการณ์ไกลของท่านอีกข้อคือท่านปรารภเสมอว่าพระรูปไหนมีแววว่าจะเป็นผู้นำในวงการคณะสงฆ์ได้ ควรส่งเสริมให้มาก ไม่งั้นจะตกเป็นภาระแก่พระผู้เฒ่า

ความรอบคอบนี้เป็นที่ประจักษ์แก่ผมเมื่อคราวท่านไปร่วมงานศพบิดาของผมที่วัดหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว พอพระสวดจบ 3 ท่านก็บอกลากลับ ระหว่างผมเดินไปส่งท่านที่รถ ท่านเปรยว่า ที่จริงไม่ได้มีธุระอะไรหรอก แต่อาตมาเป็นพระผู้ใหญ่ ถ้ารอจนครบจบ 4 แล้วกลับ เจ้าภาพต้องออกมาส่ง แขกอื่น ๆ จะกลับก็กลับไม่ได้ ดีไม่ดีเจ้าภาพก็ไม่ได้ขอบคุณแขกไม่ได้ส่งแขก รถอาตมาเองก็ทำให้รถติดทั้งวัดจึงขอแยกกลับก่อนทุกอย่างจะได้ปลอดโปร่ง


 :25: :25: :25:

บัดนี้เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ในวัย 85 ปี จากเด็กเกาะสมุยที่คิดจะบวชเณรแค่ 7 วัน จนสอบได้ประโยค 9 ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหลวง สมเด็จพระราชาคณะ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชมาร่วม 10 ปี ได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว นับเป็นการสูญเสียสำคัญในวงการคณะสงฆ์ไทย

สำนวนหวือหวาที่ชาวบ้านเคยใช้เรียกกรณีเช่นนี้คือ “รูดม่านปิดตำนาน” แต่กรณีของเจ้าประคุณสมเด็จฯ นั้น เชื่อว่าท่านยังจะเป็นตำนานในวงการคณะสงฆ์ไทยไปอีกนานแสนนาน.


ขอบคุณบทความและภาพจาก
http://www.dailynews.co.th/article/7/226177
https://fbcdn-sphotos-b-a.akamaihd.net/
http://static.cdn.thairath.co.th/
http://image.bangkokbiznews.com/
http://www.matichon.co.th/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 16, 2013, 12:07:32 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ