ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดใจหญิงเก่งด้านศาสนา 'ภิกษุณีธัมมนันทา'  (อ่าน 6103 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เปิดใจหญิงเก่งด้านศาสนา 'ภิกษุณีธัมมนันทา'

แม้พุทธบัญญติสำหรับประเทศไทยยังไม่มีการอนุญาตให้ "ผู้หญิง" เดินเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เฉกเช่น "ผู้ชาย" แต่ด้วยแรงศรัทธาที่อยากจะศึกษาหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยให้เหล่าพุทธศาสนิกชนหลุดพ้นจากความทุกข์ ณ วันนี้ในเมืองไทยจึงมี "ภิกษุณี" หรืออาจจะเรียกว่า "พระผู้หญิง" ซึ่งนุ่งเหลืองห่มเหลืองเช่นเดียวกับพระภิกษุจำนวน 35 รูปแล้ว

                หนึ่งในนั้นที่ได้เจอะเจอล่าสุด ภิกษุณีธัมมนันทา หรือ รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ วัย 67 ปี ผู้ซึ่งสละชีวิตอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วหันเข้าหาโลกธรรมะพร้อมกับอุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกในสายเถรวาท ที่วัดดัมบุลละ ประเทศศรีลังกา เธอใช้ชีวิตเยี่ยงบรรพชิตออกบิณฑบาตและฉันอาหารในบาตรตลอด 8 ปีที่ผ่านมา และจำพรรษาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จังหวัดนครปฐม โดยดำเนินตามรอยหลวงย่าภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ที่นับเป็นภิกษุณีชาวไทยรูปแรก ซึ่งเดินทางไปอุปสมบทที่ไต้หวันเมื่อปี พ.ศ.2514

                เมื่อเป็นภิกษุณีที่ครองผ้าเหลืองมานานกว่า 10 ปีในสายเถรวาทรูปแรกของไทยแบบนี้ เห็นทีคงต้องมาแง้มถึงจุดประสงค์ของการอุปสมบทมาบอกเล่า รวมทั้งแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตแบบภิกษุณี ขอเริ่มจากบรรทัดนี้ล่ะค่ะ ด้วยเพิ่งได้รับรางวัลหญิงไทยคนเก่งในสาขาศาสนาจากนิตยสารชื่อดังไปเมื่อเร็วๆ นี้

ทำไมหลวงแม่ถึงละทิ้งชีวิตฆราวาสแล้วหันเข้าสู่โลกทางธรรม

                หลวงแม่ซึมซับคำสอนพระพุทธศาสนามาจากมารดา (วรมัย กบิลสิงห์) โดยตลอด และเมื่อมารดาได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นภิกษุณีในพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ไต้หวันเมื่อปี 2506 หลวงแม่ในวัย 12 ปี ก็ได้รับฟังธรรมะจากคำสนทนาระหว่างภิกษุณีวรมัยกับแขกที่มาเยือน และซึมซาบกำซาบซ่านกับความปลาบปลื้มในคำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

   แต่จุดเปลี่ยนที่อยากบวชเกิดขึ้นในงานประชุมผู้นำสตรีเพื่อสตรี ศาสนา และการเปลี่ยนแปลงในสังคม ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2525 ซึ่งหลวงแม่ได้ข้อสรุปจากการประชุมครั้งนั้นในสองประเด็นสำคัญคือ "เราต้องยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง โดยไม่มีความโกรธเข้ามาเกี่ยวข้อง" และ "การเป็นนักวิชาการคนเดียวในประเทศไทยที่มีความรู้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสถานะภิกษุณีในบวรพุทธศาสนา

   แต่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นเรื่องที่น่าละอายอย่างยิ่ง" จึงมองว่าถ้าผู้หญิงไม่ได้เป็นแกนหลักให้สังคมเปลี่ยน สังคมก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่ตอนนั้นยังติดพันธะทางโลก พอมีโอกาสได้บวชจึงเป็นเหมือนอีกทางเลือกหนึ่งของชีวิต ที่เราเลือกเดินเข้าหาธรรมะ



จากครั้งนั้นบวชเลยหรือเปล่า

                หลังจากการประชุมดังกล่าว หลวงแม่ได้เริ่มต้นศึกษาวิถีการเป็นชาวพุทธให้ลึกซึ้งมากขึ้น และเริ่มทำหน้าที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในการผนวชเป็น ภิกษุณี ตามหลักพุทธศาสนา จากการเขียนหนังสือ และจดหมายเชิญภิกษุณีใน 37 ประเทศให้เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อร่วมผลักดันการเปิดประตูให้แก่สตรีไทยให้มีสิทธิในการผนวชเป็นภิกษุณี เพราะเชื่อมั่นว่าหากสตรีไม่ยืนหยัดเพื่อสิทธิของตนเองแล้ว ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นในสังคม

สมัยที่หลวงแม่เป็นฆราวาสหลวงแม่มีอาชีพอะไร

                ชีวิตของหลวงแม่เริ่มต้นด้วยการเป็นนักวิชาการ จบดอกเตอร์เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 40 ปี แต่ก็สนใจเรื่องศาสนาพุทธมาตลอด ยิ่งเรารู้ว่าศาสนาพุทธประเทศอื่นๆ เปิดให้ผู้หญิงสามารถบวชเป็นพระได้ก็ยิ่งชื่นชม

ก่อนหน้านี้มีชีวิตครอบครัวด้วยหรือเปล่า

                มีค่ะ มีลูก 3 คน หลวงแม่ใช้ชีวิตฆราวาสจนถึงที่สุดและทำให้ดีที่สุด ก่อนที่จะปลดปลงภาระทั้งหลายทั้งปวง เพื่อเข้าสู่ผ้ากาสาวพัสตร์ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ด้วยวัยที่ล่วงเลยมาถึง 50 ปีเศษก็ได้เข้าสู่บวรพุทธศาสนาในฐานะภิกษุณี แห่งพุทธศาสนานิกายเถรวาท จากการเดินทางไปยังประเทศศรีลังกาเพื่อบวชเป็นสามเณรีเมื่อปี 2542 และผนวชเป็นภิกษุณีในอีก 2 ปีต่อมา โดยได้รับฉายาทางโลกธรรมว่า "ธรรมนันทา"

ตอนนี้มีภิกษุณีในประเทศไทยกี่รูป

                ตอนนี้มีทั้งหมด 35 รูป กระจายกันอยู่ทั่วไปตามจังหวัดต่างๆ 10 จังหวัด แต่ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีจะจัดบวชสามเณรีทุกปี ปีนี้ก็มีจัดบวชไปแล้ว 250 รูป ซึ่งการมีภิกษุณีในประเทศไทย ทำให้เห็นเลยว่าผู้หญิงสามารถสร้างความแตกต่างได้จริงๆ

ความแตกต่างระหว่างภิกษุณีกับภิกษุอยู่ตรงไหนบ้าง

                ภิกษุณี คือ พระผู้หญิง จะรักษาศีล 311 ข้อ ขณะที่พระสงฆ์จะรักษาศีล 227 ข้อ แต่ด้วยความที่หลวงแม่เป็นพระผู้หญิง สามารถใกล้ชิดสนิทสนมกับพุทธศาสนิกชนผู้หญิงได้มากกว่า แล้วรู้สึกว่าการสอนพระธรรมคำสอนต่างๆ สำหรับผู้หญิงโดยพระผู้หญิง จะเข้าใจได้ง่ายกว่าพระภิกษุทั่วไปมาก



แล้วความแตกต่างระหว่างภิกษุณีกับแม่ชีคืออะไร

                ภิกษุณีสามารถที่จะลงโอวาทปาติโมกข์ได้ในวันสำคัญๆ ทางศาสนา สามารถทำพิธีกรรมทางศาสนาได้เหมือนพระภิกษุทั่วไป ทำสังฆกรรมต่างๆ ได้ เพื่อเป็นการเผยแผ่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงให้ไว้เป็นมรดกของพุทธศาสนาสืบต่อไป แต่แม่ชีเขาเพียงแค่ถือศีลไม่สามารถทำพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งในสมัยพุทธกาลก็ไม่มีแม่ชีนะ

ประเทศไทยมีการบวชภิกษุณีที่ไหนบ้าง

                ประเทศไทยเรายังไม่มีการอนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี อย่างที่หลวงแม่บวชก็ต้องเดินทางไปบวชที่ประเทศศรีลังกา แต่กลับมาจำพรรษาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จังหวัดนครปฐม การจะบวชเป็นภิกษุณีมีขั้นตอนมากกว่าพระภิกษุอย่างหนึ่ง คือ ถ้าผู้หญิงสนใจจะออกบวชจะต้องบวชเป็นสามเณรีก่อน 2 ปี

    โดยจะต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไปน้อยกว่านี้บวชเป็นสามเณรีไม่ได้ แล้วถึงแม้อายุจะเกิน 20 ปีแล้วก่อนจะบวชเป็นภิกษุณีจะต้องผ่านการบวชเป็นสามเณรีมาก่อน ไม่เหมือนกับพระภิกษุที่พอเกินอายุ 20 ปีก็สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้เลย ไม่ต้องไปบวชเป็นสามเณรก่อน

วัดที่หลวงแม่จำพรรษาอยู่มีพระภิกษุด้วยหรือเปล่า

                ไม่มีค่ะ วัตรที่หลวงแม่จำพรรษาอยู่ เป็นวัตรที่สร้างโดยภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2503 โดยซื้อที่ดินจากพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ดิศจี พระนางเจ้าในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 แล้วก่อสร้างเป็นวัตรสำหรับผู้หญิง ริมถนนเพชรเกษม เป็นวัตรที่สร้างขึ้นสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ เรียกว่าเปิดโอกาสให้ผู้หญิงปฏิบัติธรรมได้ใกล้ชิดกับพระมากขึ้นกว่าเดิม

หลวงแม่มีเป้าหมายในการเผยแผ่ธรรมะอย่างไรบ้าง

                คนไทยที่นับถือพุทธส่วนใหญ่จะนับถือกันเป็นพิธีการซะเยอะ ในฐานะที่เราเป็นพุทธมามกะต้องศึกษาเรื่องราวพระธรรมแล้วนำไปปฏิบัติ เพื่อช่วยกันปกป้องพระศาสนาของเราเอาไว้ คนส่วนใหญ่มักไปติดอยู่กับตัววัตถุสิ่งของ แต่ไม่ได้เข้าถึงแก่นของศาสนากันอย่างแท้จริง ยิ่งเรื่องของไสยศาสตร์ ของขลังทั้งหลาย พระเองบางทีก็กลายเป็นเครื่องมือของวัตถุเหล่านั้น

    ลองคิดดูซิว่าคนปลุกเสกไม่ใช่พระหรืออย่างไร ดังนั้นศาสนาพุทธสอนคนให้พ้นทุกข์ไม่ใช่สอนให้คนหลงในวัตถุ ซึ่งนั่นไม่ใช่การหลุดพ้นที่แท้จริง แล้วหลวงแม่ก็เชื่อจริงๆ ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าสามารถช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ ด้วยการเดินทางสายกลางไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลวงแม่อยากจะแบ่งปันให้ผู้หญิงด้วยกันรับรู้ เพื่อจะได้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง

และนี่ล่ะค่ะคือแนวคิดของภิกษุณีที่อุทิศตนเพื่อพุทธศาสนาอย่างแท้จริง...

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20111217/117885/เปิดใจหญิงเก่งด้านศาสนา.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

konsrilom

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 69
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: เปิดใจหญิงเก่งด้านศาสนา 'ภิกษุณีธัมมนันทา'
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 19, 2011, 11:05:15 pm »
0
พอเกินอายุ 20 ปีก็สามารถบวชเป็นพระภิกษุได้เลย ไม่ต้องไปบวชเป็นสามเณรก่อน

ในประเทศไทย บวชพระก็ต้องบวช สามเณรก่อน คะ

 :67:

บันทึกการเข้า