ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อาการ สำเร็จธรรมเป็นอย่างไร คะ ช่วยเล่าหน่อยด้วยคะ  (อ่าน 19803 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

pinmanee

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 163
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
อาการ สำเร็จธรรมเป็นอย่างไร คะ ช่วยเล่าหน่อยด้วยคะ

    คือ ไม่ทราบว่า อาการเวลา บรรลุธรรม นั้น มีปรากฏการณ์ อย่างไร คะ ช่วยเหล่าหน่อยคะ

   thk56
บันทึกการเข้า

mitdee

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 67
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ถ้าเป็นอาการ น่าจะหมายถึง การละสังโยชน์ได้ตั้งแต่ 3 ข้อ จน ถึง 10 ข้อ ใช่หรือไม่ ๆ แน่ใจนะครับ

  :49:
บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
อาการ สำเร็จธรรมเป็นอย่างไร คะ ช่วยเล่าหน่อยด้วยคะ

    คือ ไม่ทราบว่า อาการเวลา บรรลุธรรม นั้น มีปรากฏการณ์ อย่างไร คะ ช่วยเหล่าหน่อยคะ

   thk56


    ans1 ans1 ans1
   
    เรื่องนี้ในหมู่ภิกษุจะไม่มีใครกล้าพูด เพราะอาจถูกกล่าวหาว่า อวดอุตริมนุษยธรรม อาจผิดวินัย และอาจถูกชาวบ้านติเตียนหรือที่เรียกว่า "โลกวัชชะ" (สังคมทางโลกเห็นว่าไม่เหมาะสม) เพราะเรื่องนี้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า เป็นปัจจัตตัง เป็นเรื่องที่รู้ด้วยตนเอง คนอื่นไม่สามารถรู้แทนเราได้
    อุปมาเหมือนกินข้าวแล้วอิ่ม คนกินเท่านั้นที่รู้ว่าตัวเองอิ่ม คนอื่นรู้สึกอิ่มแทนไม่ได้หรือรู้ไม่ได้
    ใครอยากจะรู้สึกอิ่มก็ต้องกินด้วยตนเอง จะให้คนอื่นกินแทนแล้วเราจะรู้สึกเหมือนเขา เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้


    หากจะคุยให้ลึกลงไป ต้องไปศึกษาเรื่องวิปัสสนาญาณ หรือ ญาณ ๑๖ ก่อน
    อารมณ์ในวิปัสสนาญาณจะตอบโจทย์ของคุณ pinmanee ได้
    ก่อนอื่นอยากให้ทราบว่า ในชั้นของพระไตรปิฎก มีวิปัสสนาญาณ แค่ ๙ หรือ ๑๐ เท่านี้น
    แต่ที่ทะลุไปถึง ๑๖ นั้น เป็นคำอธิบายของอรรถกถาจารย์ ในคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค

 
ขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammada.net/

ญาณ 16 หรือ โสฬสญาณ (ความหยั่งรู้ ในที่นี้หมายถึงญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด)

    1. นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม)
    2. ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฏแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ 3 ก็ดี เป็นต้น)
    3. สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน)
    4. อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์)
    5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ)
    6. มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น)
    7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป)
    8. สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้ )
    9. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป)

ธรรมหมวดนี้ ท่านปรุงศัพท์ขึ้น โดยถือตามนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นำมาอธิบายพิสดารในวิสุทธิมรรค แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเติม สัมมสนญาณ (ญาณที่กำหนดพิจารณานามรูป คือ ขันธ์ 5 ตามแนวไตรลักษณ์) เข้ามาเป็นข้อที่ 1 จึงรวมเป็น วิปัสสนาญาณ 10 และเรียกชื่อญาณข้ออื่นๆ สั้นกว่านี้ คือ เรียก อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ

    13. โคตรภูญาณ (ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล)
    14. มัคคญาณ (ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น)
    15. ผลญาณ (ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ)
    16. ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่)

   ในญาณ 16 นี้ 14 อย่าง (ข้อ 1-13 และ 16) เป็น โลกียญาณ, 2 อย่าง (ข้อ 14 และ 15) เป็น โลกุตตรญาณ
   ญาณ 16 (บางทีเรียกว่า โสฬสญาณ ซึ่งก็แปลว่าญาณ 16 นั่นเอง) ที่จัดลำดับเป็นชุดและเรียกชื่อเฉพาะอย่างนี้ มิใช่มาในพระบาลีเดิมโดยตรง พระอาจารย์ในสายวงการวิปัสสนาธุระได้สอนสืบกันมา โดยประมวลจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และวิสุทธิมรรค ในกาลต่อมา

______________________________________________________
อ้างอิง : ขุ.ปฏิ. 31/1/1 ; วิสุทธิ. 3/262-319 ; สงฺคห. 55. และ วิสุทธิ. 3/206-328
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)


    ans1 ans1 ans1
   
    การเดินวิปัสสนาญาณนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดสังโยชน์(กิเลสอันผูกใจสัตว์) มี ๑๐ ข้อ
    และการตัดสังโยชน์มี ๔ ระดับ เรียกว่า มรรค ๔ มีรายละเอียดดังนี้


ขอบคุณภาพจาก http://upic.me/

สังโยชน์ 10 (กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล)

   ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 (สังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นอย่างหยาบ เป็นไปในภพอันต่ำ)
       1. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตน เป็นต้น)
       2. วิจิกิจฉา (ความสงสัย, ความลังเล ไม่แน่ใจ)
       3. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร)
       4. กามราคะ (ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ)
       5. ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง)

   ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5 (สังโยชน์เบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง)
       6. รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ )
       7. อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ)
       8. มานะ (ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
       9. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
      10. อวิชชา (ความไม่รู้จริง, ความหลง)


    สังโยชน์ 10 ในหมวดนี้ เป็นแนวพระสูตร หรือ สุตตันตนัย แต่ในบาลีแห่งพระสูตรนั้นๆ มีแปลกจากที่นี้เล็กน้อย คือ ข้อ 4 เป็น กามฉันท์ (ความพอใจในกาม) ข้อ 5 เป็น พยาบาท (ความขัดเคือง, ความคิดร้าย) ใจความเหมือนกัน

_______________________________________________________
อ้างอิง : สํ.ม. 19/349/90 ; องฺ.ทสก. 24/13/18 ; อภิ.วิ. 35/976-977/509.
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

มรรค 4 (ทางเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด)

    1. โสดาปัตติมรรค (มรรคอันให้ถึงกระแสที่นำไปสู่พระนิพพานทีแรก, มรรคอันให้ถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส)
    2. สกทาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 ข้อต้น กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง)
    3. อนาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอนาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้ง 5)
    4. อรหัตตมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นเหตุละสังโยชน์ได้หมดทั้ง 10).

_______________________
อ้างอิง : อภิ.วิ. 35/837/453.
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)


   ans1 ans1 ans1
   
   หากถามว่า การตัดสังโยชน์ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์อะไร
   ตอบว่า ใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค
   ถามต่อไปว่า ใช้อะไรสร้างเครื่องมือนี้ขึ้นมา
   ตอบว่า ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ มรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง
   ถามอีกว่า วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นได้อย่างไร
   ตอบว่า  หากเดินตามมรรคมีองค์ ๘ ได้ถูกต้อง จะเกิดขึ้นเอง โดยมี สติและสมาธิเป็นเครื่องมือสำคัญ
   แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ต้องมีกัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์


   ต่อไปนี้ผมจะยกเอา "อารมณ์ของวิปัสสนาญาณในขณะเกิดโสดาปัตติมรรค"
   มาแสดงให้ดู ในกระทู้ถัดไป

      :25:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 21, 2013, 11:55:09 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ภาพจาก http://wimutti.net/

บทความนี้เป็นของ คุณปราโมทย์ หรือ สันตินันท์ เมื่อครั้งเป็นฆราวาส
(ปัจจุบันคือ พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช)

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ

ปริยัติธรรม
(ขอใช้ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของพระเทพเวที (ปัจจุบัน พระธรรมปิฎก) ประยุทธ์ ปยุตโต เป็นหลัก เนื่องจากท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตเอกทางปริยัติธรรมในยุคปัจจุบัน ซึ่งวงการศึกษายกย่องว่าเป็นเอกในยุครัตนโกสินทร์) ระบุว่านามรูปปริจเฉทญาณคือญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือรู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม และอะไรเป็นนามธรรม


ความรู้จากการปฏิบัติ
ผู้แรกปฏิบัติจะต้องมีเครื่องระลึกของสติ ซึ่งจะเป็นรูปหรือนามก็ได้ เช่น กำหนดพองยุบ (รูป) กำหนดลมหายใจ (รูป) กำหนดอิริยาบถยืน-เดิน-นั่ง-นอน (รูป) กำหนดสุข-ทุกข์ (นาม) กำหนดกุศล-อกุศล (นาม) เป็นต้น ผู้ปฏิบัติจะต้องจำแนกให้ได้ว่า รูปก็ดี นามก็ดีที่กำลังระลึกรู้ในปัจจุบันนั้น เป็นเพียงอารมณ์ที่ถูกจิตรู้ ตัวจิตผู้รู้อยู่ต่างหาก หากยังแยกจิตกับอารมณ์ปรมัตถ์ หรือผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ ยังไม่จัดเป็นวิปัสสนาญาณ แต่เป็นเพียงการทำสมถะเท่านั้น


ผลอันเกิดจากการทำสมถะคือนิมิต เช่น เห็นตัวเองนั่งอยู่ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง มันเป็นนิมิตทั้งสิ้น ซึ่งสามารถรู้เห็นได้เพราะกำลังสมถะ ไม่ใช่เพราะอำนาจของญาณเครื่องรู้อันวิเศษที่เราซักล้างด้วยอินทรีย์สังวรศีล หรือด้วยน้ำใจอันบริสุทธิ์สะอาดของเราแต่อย่างใด เพียงจิตสงบเล็กน้อยก็เห็นได้แล้ว แต่บางคนแม้จะสงบเท่าใดก็ไม่เห็น ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด


๒. ปัจจยปริคคหญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของรูปนาม คือรู้ว่ารูปนามทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนว ปฏิจจสมุปบาทก็ดี ตามแนวกฎแห่งกรรมก็ดี ตามแนววัฏฏะ ๓ ก็ดี


ความรู้จากการปฏิบัติ
คือ ความหยั่งรู้ของจิตที่เห็นว่า เหตุปัจจัยของรูปนามคือวิญญาณ (ความรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) สมดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างแจ้งชัดว่า "วิญญาณ ปัจจยา นามรูปัง" คือวิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป
กล่าวคือเมื่อเราเจริญสติสัมปชัญญะ
    โดยมีสติระลึกรู้ปัจจุบันอารมณ์ที่เป็นรูปหรือนามก็ตาม เราจะค่อยๆ เรียนรู้ว่า แท้จริงแล้วรูปนามปรากฏขึ้นได้เป็นคราวๆ ก็เพราะจิตส่งออกไปรู้มันเข้า โดยวิญญาณหยั่งเข้าที่รูป รูปก็ปรากฏ วิญญาณหยั่งเข้าที่นาม นามก็ปรากฏ หากวิญญาณไม่หยั่งลง สิ่งนั้นก็ไม่ปรากฏมาสู่ภูมิความรับรู้ของจิต เช่น ในขณะที่อ่านหนังสืออยู่นั้น เราเห็นตัวหนังสือ สลับกับการรู้ความหมายของมัน เพราะเรามีวิญญาณทางตาและวิญญาณทางใจ
    แต่ในขณะนั้นเราไม่ได้ยินเสียงเพลงจากวิทยุ เพราะเราไม่มีวิญญาณทางหู เสียงจึงไม่ปรากฏทั้งๆ ที่มีเสียงอยู่ เราจะรู้ความจริงว่า รูปนามเป็นของแยกต่างหากจากจิตชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเห็นชัดว่า รูปนามปรากฏได้เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย
    นอกจากนี้ยังจะเห็นอีกว่า รูปเป็นปัจจัยของนามก็ได้ นามเป็นปัจจัยของรูปก็ได้ รูปนามต่างก็อาศัยกันเกิดขึ้นเป็นคราวๆได้


๓. สัมมสนญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน


ความรู้จากการปฏิบัติ
สัมมสนญาณ เป็นสภาวะต่อเนื่องจากปัจจยปริคคหญาณ คือเมื่อเราเห็นว่านามรูปมีวิญญาณ (ความรับรู้) เป็นปัจจัยให้มันปรากฏและนามรูปต่างก็เป็นปัจจัยแก่กันและกัน เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะมากขึ้น จิตจะเห็นความจริงชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยสัมมสนญาณว่า ทั้งรูปและนามล้วนแต่ปรากฏเป็นคราวๆ ถ้าจิตไม่ไปรู้มันเข้า มันก็ไม่ปรากฏ และสิ่งที่ปรากฏนั้นมันตกอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์ คือมันไม่เที่ยง (อนิจจัง) และเป็นของที่ทนอยู่ได้ชั่วขณะแล้วก็ดับหรือเปลี่ยนสภาพไป (ทุกขัง) ทั้งนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน และสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้นั้น เป็นของภายนอกที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเราหรือของเรา(อนัตตา) ความรู้เหล่านี้เป็นเรื่องของปัญญาล้วนๆ ไม่มีอาการของสมถะเข้ามาปะปนเลย


หลวงตาผนึก สิริมงฺคโล วัดป่าเขวาสินรินทร์ กับ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
(ภาพจากhttp://downmerng.blogspot.com/2010/10/blog-post_4879.html)

๔. อุทยัพพยญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือพิจารณาความเกิดขึ้นและดับไปแห่งขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งหมด ในตำราอื่นๆ กล่าวถึงอุทยัพพยญาณว่ามี ๒ ระดับคือ
  (๑) ตรุณอุทยัพพยญาณ เป็นญาณอย่างอ่อน และหากดำเนินผิดพลาดจะเกิดวิปัสสนูปกิเลส และ
  (๒) พลวอุทยัพพยญาณ เป็นญาณเห็นความเกิดดับที่มีความเข้มแข็ง พ้นจากวิปัสสนูปกิเลส


ความรู้จากการปฏิบัติ
ในทางปฏิบัติจะสอดคล้องกับปริยัติธรรม คือญาณนี้จำแนกเป็น ๒ ช่วงตอน ได้แก่
ตรุณอุทยัพพยญาณ ญาณช่วงนี้เป็นอุทยัพพยญาณขั้นเริ่มต้น ได้แก่ การมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว และมีสติระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายและธรรมารมณ์(ความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ) เช่น รู้รูปนั่ง รูปเดิน รูปยุบ รูปพอง และรู้ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ตามสัญญาอารมณ์
    เช่น ความสุขความทุกข์ กุศลอกุศล เป็นต้น ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่าอารมณ์ที่ถูกรู้ทั้งปวงนั้นเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ในขั้นนี้หากสัมปชัญญะคือความรู้ตัวอ่อนลง จิตจะไหลตามสติไปเกาะอยู่กับอารมณ์ที่จิตรู้ เช่น กำลังเดินจงกรม จิตก็ไปอยู่ที่เท้า กำลังเคลื่อนไหวมือ จิตก็ไปอยู่ที่มือ กำลังระลึกรู้จิต จิตก็ไปเพ่งอยู่กับความนิ่งว่าง ฯลฯ


สภาพนี้คือจิตพลิกจากการทำวิปัสสนาซึ่งต้องประกอบด้วยความรู้ตัวไม่หลงตามอารมณ์ ไปเป็นสมถะคือการที่จิตหลงตามสติไปเกาะอยู่กับอารมณ์อันเดียว ในขั้นนี้หากสิ่งใดปรากฏขึ้น เช่น เกิดแสงสว่าง เกิดปัญญาแตกฉาน เกิดญาณพิเศษต่างๆ เกิดการตั้งสติแข็งกล้าจนอึดอัด ฯลฯ

ผู้ปฏิบัติจะเกิดสำคัญมั่นหมายว่า สิ่งที่เกิดนั้นเป็นของดีของวิเศษ เกิดมานะอัตตารุนแรงนั่นคือ วิปัสสนูปกิเลสพลวอุทยัพพยญาณ เป็นอุทยัพพยญาณที่มีกำลังเข้มแข็ง คือแทนที่ผู้ปฏิบัติจะหลงดูแต่อารมณ์หยาบๆ เช่น รูปนั่ง รูปเดิน หรือความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ ผู้ปฏิบัติที่มีกำลังของสัมปชัญญะและสติปัญญามากขึ้น สามารถดูเข้าไปถึงปฏิกิริยาของจิตที่เกิดขึ้นเมื่อจิตไปรู้อารมณ์ต่างๆ เช่น ในขณะที่เดินจงกรมเกิดความรู้สึกตัวเบา แทนที่สติจะรู้แค่ว่าเดินและตัวเบา สติกลับเห็นลึกซึ้งต่อไปว่า

ในขณะนั้นจิตมีความเบิกบาน เพลิดเพลินยินดีมีราคะที่ตัวเบาสบาย และมีตัณหาอยากให้ตัวเบาอยู่อย่างนั้นนานๆ หรือรู้อารมณ์อยู่ จิตเกิดอึดอัด สติก็รู้ว่าจิตไม่ชอบใจหรือมีโทสะต่อความอึดอัด และจิตมีตัณหาคืออยากให้หายจากความอึดอัด หรือในขณะนั้นความจำ (สัญญา) เกี่ยวกับลูกเกิดขึ้น แล้วจิตคิดกลุ้มใจไปต่างๆ นานาๆ สติปัญญาก็กล้าแข็งพอที่จะเห็นว่า จิตส่งออกไปเกาะเกี่ยวพัวพันเรื่องลูก จิตเป็นทุกข์ไม่สบาย เห็นโทสะที่เกิดขึ้น และเห็นความอยากจะให้ความทุกข์ดับไป

หรือขณะนั้นนั่งดูจิตเห็นว่างๆ ประเดี๋ยวความคิดผุดขึ้นไม่ว่างเสียแล้ว เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดร้าย เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ และเห็นปฏิกิริยาของจิตต่ออารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า เป็นราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เป็นบุญบ้าง เป็นกลางๆบ้าง สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปไม่ขาดสาย นี่เป็นอุทยัพพยญาณที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น อีกชั้นหนึ่ง คือเปลี่ยนจากการเห็นสิ่งที่มากระทบ เป็นการเห็นปฏิกิริยาของจิตต่อสิ่งที่มากระทบนั้น และเป็นขั้นที่วิปัสสนูปกิเลสแผ้วพานไม่ได้ เพราะจิตฉลาดรู้เท่าทันกลมายาของกิเลส เนื่องจากอ่านจิตใจของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


๕. ภังคญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณอันตามเห็นความสลาย คือเมื่อเห็นความเกิดดับแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด


ความรู้จากการปฏิบัติ
เมื่อเห็นอารมณ์เกิดดับบ่อยเข้า และเห็นปฏิกิริยาของจิตต่ออารมณ์บ่อยเข้า ผู้ปฏิบัติที่มีสติสัมปชัญญะเข้มแข็งจะพบว่า เมื่อจิตเกิดปฏิกิริยาใดๆ ต่ออารมณ์เพียงแวบเดียว พอรู้ทัน ปฏิกิริยานั้นก็จะดับไปทันที เช่น กำลังรู้ตัวอยู่ ได้ยินเสียงลูกร้องไห้เสียงดัง จิตมีปฏิกิริยาต่อเสียงคือเกิดความโกรธผ่านแวบเข้ามา สติรู้ทันความโกรธที่กำลังปรากฏ จิตไม่เผลอไปตามความโกรธ ความโกรธจะดับวับไปต่อหน้าต่อตาทันที แม้อารมณ์อื่นเกิดแล้วพอรู้ก็ดับเช่นกัน จิต จะกลับเข้าสู่สภาวะดั้งเดิมคือเป็นกลางและรู้ตัว จะขาดความรู้ตัวไม่ได้เลย


สภาวะที่เห็นปฏิกิริยาของจิตต่ออารมณ์ขาดหายไปต่อหน้าต่อตานั้นคือภังคญาณ ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า อารมณ์ภายนอกที่มากระทบนั้น มันเกิดดับไปตามเหตุปัจจัยภายนอก เช่น ลูกร้องไห้ เราก็ได้ยินเสียงร้องไห้ จะห้ามไม่ให้ได้ยินไม่ได้ สิ่งที่เราแก้ไขได้ก็คือ เมื่อเราได้ยินเสียงนั้นแล้ว หากจิตไม่เป็นกลาง เช่น เกิดโกรธหรือเกิดห่วงใย สติจะรู้ทันอย่างว่องไว แล้วปฏิกิริยาของจิต เช่น ความโกรธหรือความห่วงใยจะดับไป จิตกลับเข้าสู่ความเป็นกลางดังเดิม


๖. ภยญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือเมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ทุกสิ่งนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น


ความรู้จากการปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติจะพบว่า ไม่ว่าอารมณ์ชนิดใดเกิดขึ้น จะเป็นอารมณ์ภายนอก เช่น รูปและเสียง หรืออารมณ์ภายใน เช่น ความสุขและความทุกข์ ความดีและความชั่ว ความฟุ้งซ่านและความสงบ อันเป็นปฏิกิริยาของจิตต่อสิ่งที่มากระทบก็ตาม ก็ล้วนแต่จะต้องดับไปทั้งสิ้น แม้กระทั่งอารมณ์ที่ละเอียดประณีต เช่น ฌานสมาบัติ แม้กระทั่งความว่างของจิต ก็ยังเป็นของไม่เที่ยง


อันแสดงว่าภพชาติทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง พึ่งพาอาศัยถาวรไม่ได้ (ภพก็คือสภาพที่จิตเกาะเกี่ยวอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ถ้าเกาะอารมณ์ละเอียดก็เป็นภพละเอียด เช่น เทวดาและพรหม ถ้าเกาะภพหยาบก็เป็นสัตว์ในอบายภูมิ มีความทุกข์ความเร่าร้อนมาก) ผู้ปฏิบัติไม่ได้เกิดความกลัวตายเพราะความรักตัวกลัวตาย แต่กลัวเกิดเพราะเห็นว่าไม่ว่าเกิดเป็นอะไรก็ต้องทนทุกข์เวียนว่ายไม่รู้จบสิ้น


หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กับ คุณ ปราโมทย์ สันตยากร (ในสมัยนั้น)ภาพนี้ถ่ายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 26–27 ปี
เป็นภาพคู่ระหว่างหลวงปู่ดูลย์และหลวงพ่อปราโมทย์สมัยเป็นฆราวาส
(ภาพจากhttp://downmerng.blogspot.com/2010/10/blog-post_4879.html)

๗. อาทีนวญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือเมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่องจะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์


ความรู้จากการปฏิบัติ
เป็นปัญญาของจิตที่เห็นว่าภพทั้งปวงเป็นที่พึ่งอาศัยไม่ได้ ภพทั้งปวงล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ระคนอยู่เสมอ ไม่ว่าภพหยาบหรือละเอียด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทุกข์ สิ่งที่ดับไปก็คือทุกข์ นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรดับ มันเป็นปัญญาเห็นความจริงของภพทั้งปวง หรืออารมณ์ทั้งปวงนั่นเอง


๘. นิพพิทาญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่ายคือเมื่อพิจารณาเห็นสังขาร(ความปรุงแต่งต่างๆ) ว่าเป็นโทษแล้ว ย่อมเกิดความหน่ายไม่เพลิดเพลินติดใจ


ความรู้จากการปฏิบัติ
นิพพิทาญาณไม่ใช่อารมณ์เบื่อแบบโลกๆ แต่มันเป็นสภาพที่จิตหมดความเพลิดเพลินมัวเมาในภพหรืออารมณ์ต่างๆ เพราะเห็นจริงแล้วว่าภพทั้งปวงเจือระคนด้วยทุกข์โทษ ในขณะที่คนทั่วไปเพลิดเพลินมัวเมาในภพ คือจิตมีเยื่อใยยึดเกาะรุนแรงในอารมณ์ทั้งปวงที่จรมา


๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณอันคำนึงด้วยความใคร่จะพ้นไปเสีย คือเมื่อหน่ายสังขารทั้งหลาย แล้วย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปจากสังขารเหล่านั้น


ความรู้จากการปฏิบัติ
ญาณนี้เป็นปัญญาที่เมื่อหมดความเพลิดเพลินในอารมณ์ต่างๆแล้ว จิตจะมีปฏิกิริยาอยากจะข้ามพ้นภพชาติทั้งปวง คืออยากพ้นจากอารมณ์อย่างสิ้นเชิง จิตจะมีความเพียรพยายามค้นคว้าพิจารณา เพื่อพ้นเด็ดขาดจากอารมณ์ แต่ก็สามารถพ้นได้ชั่วคราว พออารมณ์หนึ่งแก้ไขได้ ก็มีอารมณ์ใหม่มาให้พิจารณาแก้ไขอีก เป็นช่วงที่จิตหมุนตัวติ้วๆ เพื่อหาทางออกจากภพ


๑๐. ปฏิสังขาญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือเมื่อต้องการพ้นไปเสีย จึงกลับมายกเอาสังขารทั้งหลายทั้งปวงขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป


ความรู้จากการปฏิบัติ
เมื่อจิตค้นคว้าพิจารณาที่จะออกจากภพหรือพ้นจากอารมณ์ปรุงแต่งด้วยอุบายต่างๆ มากมาย แต่ไม่สามารถพ้นไปได้ จิตจะค่อยๆ สังเกตเห็นว่า เราไม่สามารถดับอารมณ์ทั้งปวงได้ ตราบใดที่มันมีเหตุ มันก็ต้องเกิด เมื่อหมดเหตุมันก็ดับ อารมณ์ทั้งปวงหมุนเวียนเกิดดับไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา นั่นคือการเริ่มเห็นว่า อารมณ์ต่างๆ ไม่เที่ยง เป็นของทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่อยู่ในบังคับบัญชา ซึ่งก็คือเห็นไตรลักษณ์นั่นเอง


(มีต่อ)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


๑๑. สังขารุเบกขาญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือเมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่ามีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกาะเกี่ยวกับสังขารเสียได้


ความรู้จากการปฏิบัติ
เมื่อจิตพิจารณาเห็นว่าอารมณ์เป็นไตรลักษณ์ จิตจะรู้ความเกิดดับของอารมณ์ด้วยความเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย สติ สมาธิ ปัญญา ก็จะเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ แต่ในขั้นนี้คงเห็นว่าอารมณ์เป็นไตรลักษณ์เท่านั้น แต่ตัวจิตเองยังรู้สึกเป็นตัวตนของตน ไม่เห็นเป็นไตรลักษณ์ไปด้วย
    ญาณนี้เป็นญาณที่สำคัญมาก หากจิตของผู้ปฏิบัติมีสัมปชัญญะคือรู้ตัว มีสัมมาสมาธิคือเป็นกลางและตั้งมั่น ไม่เผลอเลื่อนไหลไปตามอารมณ์ มีสติระลึกรู้ปัจจุบันอารมณ์ที่กำลังปรากฏตามที่มันเป็นจริง จิตจะเห็นอารมณ์ทั้งปวงผ่านมาแล้วผ่านไป เหมือนนั่งอยู่บนฝั่งน้ำเห็นสิ่งของลอยตามน้ำมา เป็นของดีของสวย เช่น ดอกไม้บ้าง ของสกปรก เช่น สุนัขเน่าบ้าง


    แต่จิตก็เป็นกลางระหว่างทั้ง ๒ สิ่งนั้น ไม่ยินดีกับดอกไม้ ไม่ยินร้ายกับสุนัขเน่า จิตรู้ว่าดอกไม้ลอยมาแล้วก็ต้องลอยไป สุนัขเน่าลอยมาแล้วก็ต้องลอยไป ไม่มีความอยากเจือปนว่า อยากให้ดอกไม้ลอยมาอีก หรือไม่อยากให้ดอกไม้ลอยตามน้ำไป แม้ความไม่อยากให้สุนัขลอยมาอีก หรือลอยมาแล้วอยากให้รีบลอยพ้นๆ ไป ก็ไม่มีเช่นกัน

    นี่คือสภาวะของการเจริญมหาสติปัฏฐานที่แท้จริง มันเกิดขึ้นโดยไม่ต้องข่มบังคับจิตให้เป็นกลาง ญาณนี้เป็นทางแยก ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิจะก้าวล่วงเข้าสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนผู้ที่ปรารถนาสาวกภูมิ จิตจะดำเนินพัฒนาต่อไป


๑๒. อนุโลมญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์ คือการวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการรู้อริยสัจจ์ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปเป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ


ความรู้จากการปฏิบัติ
อนุโลมญาณนั้นเป็นสภาวะสืบต่อจากสังขารุเบกขาญาณ คือเมื่อจิตเป็นกลางรู้สังขารหรืออารมณ์ที่เกิดดับต่อเนื่องเฉพาะหน้าตามความเป็นจริงแล้ว จิตจะมาถึงอนุโลมญาณ โดย จิตจะรวมลงสู่ภวังค์ เมื่อจิตไหวตัวขึ้นรู้อารมณ์ทางใจแล้ว จะเกิดอนุโลมญาณสืบเนื่องกันเป็นช่วงสั้นๆ คือหมดความดิ้นรนที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานเพื่อให้พ้นจากอารมณ์ทั้งปวง สิ่งใดจะเกิดมันก็เกิด สิ่งใดจะดับมันก็ดับ ความอยากพ้นจากความเกิดดับไม่มีเลย มีแต่การอนุโลมยอมรับสภาพว่า สิ่งทั้งหลายเมื่อมีเหตุมันก็เกิด เมื่อหมดเหตุมันก็ดับ เป็นสภาพที่จิตคล้อยตามต่ออริยสัจจ์นั่นเอง จิตตรงนี้ขจัดโมหะได้ แต่ยังไม่เห็นพระนิพพาน


๑๓. โคตรภูญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณครอบโคตรคือความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู้ภาวะอริยบุคคคล


ความรู้จากการปฏิบัติ
ถึงขั้นนี้คำสอนทางปริยัติธรรมเข้าไม่ถึงเสียแล้ว จึงไม่สามารถจำแนกอธิบายลักษณาการของโคตรภูญาณได้
โคตรภูญาณเป็นญาณหยั่งรู้ว่า ขณะนั้นกระแสจิตที่ส่งออกนอกไประลึกรู้อารมณ์จะปล่อยวางอารมณ์แล้วถอยย้อนคืนเข้าหาตัวจิตผู้รู้ มันไม่ได้เกาะเกี่ยวกับอารมณ์จึงไม่อาจจัดเป็นโลกียญาณ และไม่ได้เข้าถึงธาตุรู้อันบริสุทธิ์แท้จริง จึงไม่ใช่โลกุตรญาณ แต่เป็นรอยต่อตรงกลางนั่นเอง ขณะนั้นสติสัมปชัญญะจะแจ่มใสตลอด เพียงแต่จิตจะดำเนินวิปัสสนาอยู่ในฌานเท่านั้น



๑๔. มัคคญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณหยั่งรู้ในอริยมัคค์ คือความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น


ความรู้จากการปฏิบัติ
เมื่อสติซึ่งเคยระลึกรู้อารมณ์ย้อนตามโคตรภูญาณเข้ามาระลึกรู้จิตผู้รู้ ซึ่งตัวจิตผู้รู้เองก็มีสัมปชัญญะอยู่ก่อนแล้ว ทั้งสติ ทั้งสัมปชัญญะ ทั้งกุศลธรรมฝ่ายการตรัสรู้ทั้งปวงที่รวมเรียกว่าโพธิปักขิยธรรม ประชุมรวมลงที่จิตผู้รู้ดวงเดียว ในขณะนั้นมโนวิญญาณที่ห่อหุ้มธาตุรู้ถูกกำลังของมรรคหรือมัคคสมังคีแหวกออก ธาตุรู้ซึ่งถูกห่อหุ้มมานับกัปป์กัลป์ไม่ถ้วนก็ปรากฏตัวขึ้นมา สภาพที่มัคคสมังคีแหวกมโนวิญญาณอันนั้นเกิดในขณะจิตเดียว บางคนตามรู้ได้ บางคนตามรู้ไม่ทันเพราะปัญญาอบรมมาได้ไม่เท่ากัน


๑๕. ผลญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณในอริยผล คือความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลขั้นนั้นๆ


ความรู้จากการปฏิบัติ
เมื่อมโนวิญญาณถูกแหวกออกแล้ว ธรรมชาติอันบริสุทธิ์แท้จริงก็ปรากฏขึ้น มันไม่มีรูปร่างตัวตนใดๆทั้งสิ้น ปรากฏเป็นแสงสว่าง ว่างบริสุทธิ์ เป็นตัวของตัวเอง จิตในขณะนั้นมีอาการเบิกบานร่าเริงโดยปราศจากอารมณ์ปรุงแต่ง


๑๖. ปัจจเวกขณญาณ

ปริยัติธรรม
ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือสำรวจรู้มรรคผลและกิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน


ความรู้จากการปฏิบัติ
ในขณะที่บังเกิดมรรคผลนั้น ปราศจากความคิดมีแต่ความรู้ เมื่อมัคคญาณยังไม่ถึงขั้นอรหัตมัคค์ ย่อมมีกำลังไม่มากพอที่จะส่งผลให้จิตหลุดพ้นได้ถาวร แต่จะปรากฏเพียงเล็กน้อย ๒-๓ ขณะก็จะถูกมโนวิญญาณกลับเข้ามาห่อหุ้มปกคลุมอีก เมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้ว ผู้ปฏิบัติจะคิดนึกได้และรู้ชัดว่า อ้อ สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับไป พระพุทธเจ้ามีจริง ทรงสอนธรรมเป็นของจริง ปฏิบัติแล้วหลุดพ้นได้จริง ผู้ปฏิบัติสามารถหลุดพ้นเป็นอริยสาวกตามพระองค์ได้จริง จะรู้ชัดว่าความเป็นตัวตนไม่มีอยู่จริง


โดยเฉพาะจะเห็นชัดว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา ความเป็นตัวเราหรือสักกายทิฏฐิเกิดจากสังขารหรือความคิดเข้ามาปรุงแต่งหลอกลวงจิตเท่านั้น จะหมดความลังเลสงสัยในพระศาสนาสิ้นเชิง ไม่มีทางปฏิบัตินอกลู่นอกทางใดๆ ได้อีก กล่าวโดยย่อ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ สีลัพพตปรามาส เป็นอันหมดไปเด็ดขาด กิเลสในจิตใจเหลือมากน้อยเพียงใดก็รู้ชัดในใจตนเอง



บทสรุปเกี่ยวกับโสฬสญาณ
     โสฬสญาณเป็นพัฒนาการทางปัญญาของจิตที่เจริญสติและ สัมปชัญญะอย่างถูกต้อง มีความต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ โดยเริ่มตั้งแต่
    - การรู้จักจำแนกรูปและนาม อันเป็นสิ่งที่ถูกรู้หรือเป็นอารมณ์เครื่องระลึกของสติออกจากจิตผู้รู้ (ญาณ ๑)
    - รู้ว่ารูปหรือนามปรากฏเป็นคราวๆ เมื่อจิตไปรู้มันเข้า (ญาณ ๒)
    - รู้ว่ารูปนามทั้งปวงนั้นปรากฏเป็นคราวๆ เมื่อถูกรู้ และรูปนามทั้งปวงนั้นล้วนหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ตกอยู่ใต้กฎของไตรลักษณ์ (ญาณ ๓)
    - รู้ว่ารูปนาม และปฏิกิริยาของจิตต่อรูปนามที่จิตไปรู้เข้า ล้วนแต่เกิดดับต่อเนื่องกันไป (ญาณ ๔)
    - ต่อมาพอจิตมีปฏิกิริยาใดๆ ต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ถ้าสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ปฏิกิริยานั้นจะดับไปทันที (ญาณ ๕)
    - ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า ภพชาติทั้งปวง อันหมายถึงการที่จิตเข้าไปอิงอาศัยอารมณ์ต่างๆ นั้น เป็นของไม่ปลอดภัย เนื่องจากอารมณ์ทั้งปวงล้วนแต่เกิดดับ (ญาณ ๖)
    - ในระหว่างที่อิงอาศัยอารมณ์นั้น จิตไม่ได้มีความสุขจริง เพราะภพชาติทั้งปวงล้วนแต่มีทุกข์มีโทษในตัวของมันเอง (ญาณ ๗)
    - จิตคลายความเพลิดเพลินพึงพอใจในภพชาติต่างๆ (ญาณ ๘)
    - จิตพยายามดิ้นรนแสวงหาทางออกจากภพหรือการตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ต่างๆ (ญาณ ๙)
    - จิตพบว่าหนีจากอารมณ์หรือภพไม่ได้ เพราะมันไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเรา จึงจำเป็นต้องอยู่กับมัน (ญาณ ๑๐)
    - จิตเป็นกลางต่ออารมณ์ เพราะเห็นแล้วว่ามันเป็นของเกิดดับ และหนีมันไม่ได้ ยิ่งพยายามไปปฏิเสธมัน ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้น จิตจึงไม่ปฏิเสธอารมณ์ เป็นกลางต่ออารมณ์ (ญาณ ๑๑)
    - จิตปล่อยวางอะไรจะเกิดมันก็เกิด ไม่ได้ปรารถนาแม้กระทั่งมรรคผลนิพพาน (ญาณ ๑๒)
    - เมื่อจิตหมดความอยาก (ไม่มีตัณหา - พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละตัณหาอันเป็นตัวสมุทัย แล้วนิโรธจะปรากฏเอง) จิตก็ปล่อยวางอารมณ์ทั้งปวง ถอยเข้าหาจิตผู้รู้อย่างอัตโนมัติ (ญาณ ๑๓)
    - สติ สมาธิ ปัญญา และธรรมฝ่ายการตรัสรู้ทั้งปวง รวมลงที่จิตดวงเดียวเป็นมรรคสมังคี กำลังของมรรคแหวกมโนวิญญาณซึ่งห่อหุ้มปิดบังธรรมชาติอันบริสุทธิ์ออก (ญาณ ๑๔)
    - ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ปรากฏตัวขึ้น เป็นความว่าง สว่าง บริสุทธิ์ จิตหมดความปรุงแต่ง หมดการแสวงหา หมดกิริยาของจิต แต่ไม่ใช่หมดความรู้สึกอันเป็นการขาดสติสิ้นเชิง (ญาณ ๑๕)
    - ต่อมาสัญญาเกิดขึ้น จิตจะรู้ว่า เมื่อครู่นั้นเกิดอะไรขึ้น รู้จักพระรัตนตรัยที่แท้จริง รู้แล้วว่าทางปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นอย่างไร รู้ว่าสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นแล้วต้องดับไปทั้งสิ้น เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อยังอยู่กับโลกก็ต้องอยู่อย่างสร้างเหตุดี เพื่อเอาผลของกรรมดีเป็นที่อาศัยอันสบาย (ญาณ ๑๖)


    ตลอดสายของโสฬสญาณ ไม่มีเรื่องของนิมิตแปลกปลอมใดๆ เลย แต่ผู้ใดเจริญสติและสัมปชัญญะไม่ถูกต้อง หลงทำสมถะอยู่แล้วคิดว่าเป็นวิปัสสนา จะหลงไปเอานิมิตมาอธิบายเป็นวิปัสสนาญาณ และเห็นญาณต่างๆ ขาดจากกันเป็นท่อนๆ ไม่เห็นความสืบต่อเป็นสายโซ่ของญาณทั้ง ๑๖ ขั้นตอน

     ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่มุ่งโจมตีผู้อื่น แต่เพราะสงสารหมู่เพื่อนผู้ปฏิบัติจะเกิดสำคัญผิดหลงทาง จึงเขียนเพื่อจะสะกิดใจให้คิดสักนิดว่า จะฝึกหัดปฏิบัติธรรมอย่าหลงเชื่ออาจารย์อย่างเดียว ให้รู้จักศึกษาไตร่ตรองให้รอบด้านและรอบคอบ สิ่งที่ผู้เขียนเขียนขึ้นนี้อาจจะไม่จริงหรืออาจจะจริงก็ได้ ไม่ได้ต้องการให้เชื่อ เพียงแต่อย่าหลงงมงายขาดเหตุผลเชื่ออาจารย์ไปข้างเดียว ถ้าผิดขึ้นมาจะเสียประโยชน์ของตนเอง ผู้เขียนไม่ได้เสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ใดๆ ด้วย


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
ลอกมาจากบทความของ คุณปราโมทย์ ๑๘ กันยายน ๒๕๓๙
http://www.cdthamma.com/forums/index.php?topic=186.0 โพสต์โดยคุณกระดิ่งน้อย
http://www.bloggang.com/,http://www.trueplookpanya.com/,http://www.taladhoon.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


กระทู้ของคุณthe suffering
     ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแล้ว มีอาการขณะที่จิต เข้าสู่การเป็นโสดามรรคและโสดาผล เป็นฉไน   
     ทราบมาจากคำตอบของหลวงพ่อปราโมทย์ที่มีผู้ถามว่า
               พระโสดา ดูอย่างไร
               ท่านตอบว่า เป็นอาการชั่วขณะจิตเดียว
               และเมื่อได้โสดามรรค จะได้โสดาผลติดตามมาทันที
     แล้วต้องการทราบว่า อาการชั่วขณะจิตเดียว คืออาการอย่างไร ฮืม
     ขอคำตอบจากผู้ที่ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง มิใช่ ทฤษฎี จากตำรา


ตอบกระทู้โดยคุณ AVATAR
   เป็นคำถามที่ตอบยากพอสมควรนะครับ...เพราะท่านจะเอาคำตอบจากผู้ปฏิบัติได้ด้วยตนเอง...
   เรื่องการได้บรรลุธรรมในชั้นต่างๆนั้น...การเกิดมรรคผลตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์นั้น จะบังเกิดมรรคผลเป็นลำดับไป...บางท่านเกิดมรรคผลทั้งสี่ ในระยะเวลาอันมาก หรือบางท่านอาจเกิดมรรคผลทั้งสี่จนเป็นพระอรหันต์ในชั่วอึดใจ...(อาจจะช้าไปด้วยซ้ำ)


    เรื่องการบรรลุมรรคผลในชั้นต่างๆนั้น...ต้องเข้าใจก่อนว่า...เกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นแล้วกับตนเอง...บางท่านอธิบายให้คนอื่นฟังไม่ได้ แม้แต่พระอริยะบางองค์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น พระปัจเจกพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ชอบได้ด้วยตัวเองแล้ว...แต่ไม่ถ่ายทอดต่อหรือไม่อธิบายให้ใครฟัง...นั้นเนื่องด้วยหลายปัจจัย

    ถ้าเป็นพระด้วยแล้วการจะพูดเรื่องนี้โดยที่ตนเองนั้นยังไม่บรรลุนั้นเป็นปารชิกข้อที่๑ เลยทีเดียว คือ อวดอุตริมนุสสธรรม ต้องขาดจากความเป็นบรรชิตทันที พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้ ด้วยมีเหตุหลายอย่างครับ อันไม่เป็นผลดี...
    ทีนี้ที่คนจะตอบคำถามนั้นจึงยากและอาจไม่มีผู้ที่จะตอบ...เพราะถ้าท่านใดที่ผ่านมาแล้วจะทราบดีด้วยตนเองและเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องรับรองใครแต่ประการใด


    ถ้าท่านสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ทางที่ดีให้ท่านสอบถามหลวงพ่อปราโมทย์โดยตรงจะดีกว่า...
    เพราะผมเชื่อว่าท่านจะเชื่อในคำพูดของท่าน...คนอื่นๆว่าไปคงเท่านั้นแหละนะครับ
    แต่ถ้าให้ผมตอบตามแนวทางนี้ ผมคงตอบได้บ้าง...ผิดหรือถูกประการใดโปรดพิจารณาด้วยตนเองครับ




     อาการชั่วขณะจิตเดียวคืออาการอย่างไร.?
     อาการนี้ คือ ลักษณะในการที่มีสติตั้งมั่น และ มีสัมมาสมาธิ(วิปัสสนาญาณ) เมื่อนั้นมรรคทุกองค์จะรวมประชุมลงเป็นหนึ่งเดียว ตัดสังโยชน์(๓ ตัวแรก)ให้ขาดสะบั้นลงไป ในขณะจิตนั้นนั่นเองคือ โสดาปฏิมรรค และจะรู้ได้ด้วยตนเอง เมื่อถอยออกมาทบทวนสภาวะที่เกิดขึ้น เพื่อรู้แจ้งในมรรคขั้นต้น (หรือแหวกกิเลสออกมาครั้งแรกพอจะเห็นนิพพานบ้างแล้ว) เมื่อรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว ก็คือโสดาปฏิผล ที่ติดตามมาทันทีนั่นเอง

     บางท่านขณะจิตตัดสังโยชน์ได้ โลกธาตุ อาจสั่นไหว(ภายในจิตตนเอง) บางท่านอาจน้ำตาร่วงออกมาเอง โดยไม่รู้ตัว บางท่านอาจสะอื้นไห้ ในปัญญาที่รู้ความจริงของธรรม มีแต่ความสลดสังเวชในตนเอง  แต่สังเกตจากเท่าที่ได้ทราบมายังไม่มีแม้ผู้ใดเมื่อถึงจังหวะนี้จะหัวเราะออกมาดังๆ เก่งที่สุดต่อมาคงเป็นแค่ยิ้มเล็กน้อยเท่านั้นเอง...เมื่อรู้ทันกิเลสทั้งปวงบ้างแล้ว...ไม่ใช่มาหลอกกันตลอดกัป ให้วนเวียนอยู่แต่ในวัฏฏสงสารนี้ และเห็นทางแห่งการหลุดพ้นแล้วอย่างแจ่มแจ้ง...แต่ต้องดำเนินต่อไปอีกครับ...นี่แค่ก้าวแรก

     พอเข้าใจไหมครับผมคงตอบได้แค่นี้ก่อน...แต่ไม่เป็นไรครับ...บางเรื่องยังไม่รู้แจ้งด้วยตนเอง
     ใครอธิบายให้ตายก็ยังไม่เข้าใจหรอกครับ...ต้องผ่านและทราบด้วยตนเองครับ
     ตอนนั้นแค่สบตากันก็รู้แล้วครับ ไม่ต้องพูดมาก


     มีคำตอบของท่านพระอาจารย์ปราโมทย์อยู่ด้วยนะครับในเว็บ kammatan นี้แหละครับ...
     เรื่องปัญหาในการตรวจสอบตนเอง ท่านเขียนไว้เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว
     ตอนที่ท่านเป็นฆราวาสอยู่ น่าจะอธิบายได้ดีกว่าผมครับ ตามลิ้งค์นี้
     http://www.kammatan.com/board/index.php?topic=530.0


ที่มา http://www.kammatan.com/board/index.php?topic=802.0
ขอบคุณภาพจาก http://www.dhammajak.net/,http://210.246.159.139/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ปัญหาเรื่องการตรวจสอบตัวเอง โดยคุณ ธีรชัย วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543
     ตอนนี้จะทำตัวเป็นมนุษย์เจ้าปัญหา(ชั่วคราว) เพราะอยากอ่านข้อธรรม, คอยเตือนสติ,เพื่อเป็นแผนที่และ
ตรวจสอบเส้นทางสำหรับเดินทางต่อไปหลังจากที่ครูออกบวชแล้ว
     ขณะนี้ผมได้เห็นกิเลสอย่างหยาบที่เห็นได้ยากในสมัยก่อนได้อย่างชัดเจน เช่นความจงใจปฏิบัติ, ความอยากหลุดพ้น,ความอยากสงบ,ความยึดถือตัวตนของบุคคล, ความเหม่อซึม, ความอยากได้ไคร่ดี,ฯลฯ
     ผมจะมีวิธีตรวจสอบตัวเองอย่างไรครับ


ความเห็นที่ 2 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พฤหัสบดี ที่ 23 พฤศจิกายน 2543
    คุณเก๋ตั้งคำถามแบบอ้อมค้อม แต่ผมขอตอบอย่างตรงไปตรงมาก็แล้วกันครับ
    การตรวจสอบว่าผู้ใดสำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลหรือไม่ มีหลายวิธี
    อย่างแรกคือการตรวจสอบตนเอง อีกอย่างหนึ่งคือการตรวจสอบผู้อื่น

    การตรวจสอบตนเอง ก็มี 2 แบบ
    แบบแรกเป็นการทราบชัดทันทีที่ผ่านการเกิดมรรคผลแล้ว โดยผู้ที่ผ่านมรรคผล ที่เกิดผลญาณยาวนานและเคยเรียนรู้ปริยัติธรรม ว่าพระโสดาบันละสังโยชน์ใดได้บ้าง และพระโสดาบันมีองค์คุณใดบ้าง
    (คือการเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแน่นแฟ้น การมีศีลบริสุทธิ์ และการไม่เที่ยวแสวงหาบุญกิริยาอื่นนอกหลักของพระศาสนา)
    ในขณะที่ผ่านผลญาณออกมานั้น จิตจะพิจารณาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นทันที แล้วรู้ชัดด้วยตนเองในขณะนั้นเลยว่า เกิดอะไรขึ้นแล้ว บุคคลชนิดนี้ จะไม่สนใจกระทั่งการไปสอบถามครูบาอาจารย์ แต่ก็จะคิดถึงครูบาอาจารย์ เพราะคิดถึงคุณของท่าน
    เมื่อไปกราบครูบาอาจารย์ ก็จะไม่ไปเพื่อขอคำรับรอง เพราะธรรมรับรองตนเองเรียบร้อยประจักษ์ใจไปแล้ว
    (พวกที่ทำผิดแล้วมั่นใจมากๆ ก็มีเหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะพวกที่พลาดไปติดวิปัสสนูปกิเลส)


    การตรวจสอบตนเองอีกชนิดหนึ่ง เป็นการสังเกตตนเองในภายหลัง คือ บางคนบรรลุพระโสดาบันโดยมีผลญาณเกิดในช่วงสั้นๆ หรือ ผู้ที่ไม่เคยรู้ตำราเกี่ยวกับพระอริยบุคคล แม้รู้ธรรมแล้ว สังโยชน์ขาดแล้ว แต่ก็พูดไม่ได้อธิบายไม่ถูก ประเภทนี้ก็ต้องคอยสังเกตเอาในภายหลัง และแม้ผู้ที่เกิดผลญาณยาวดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ควรตรวจสอบตนเองในภายหลังด้วย เพื่อกันความเข้าใจผิดไปหลงติดวิปัสสนูปกิเลส

    วิธีง่ายๆ ในการตรวจสอบตนเองภายหลังก็คือ สังเกตที่จิตตนเอง
    โดยรู้ลงไปที่จิตตนเองว่ายังเหลือ "ความเห็นว่าจิตเป็นตัวเรา" หรือไม่
    เพราะพระโสดาบันนั้น ไม่มีความเห็นผิดว่า จิตเป็นเราเหลืออยู่เลย และกระทั่งจิตยังไม่เป็นตัวเรา ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร เพราะสิ่งเหล่านั้นจะถูกเห็นเป็นตัวเราไปไม่ได้เลย ถ้าไม่เห็นว่าจิตเป็นตัวเราเสียแล้ว
     ถัดจากนั้นก็คอยดูว่า จิตมีความรักศีลเพียงใด มีความจงใจทำผิดศีลหรือไม่
     เพราะพระโสดาบันนั้น จะไม่มีความจงใจทำผิดศีลเกิดขึ้นเลย


     การตรวจสอบตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะครับ ชาวลานธรรม/วิมุตติหลายต่อหลายท่าน เจริญสติยังไม่ถูกต้องเลย ปรมัตถธรรมก็ยังไม่เคยเห็น แต่อาศัยการเรียน ความจำและความคิด จู่ๆ ก็คิดว่า เราน่าจะเป็นพระโสดาบันแล้ว หรือบางท่านจิตรวมด้วยสมถะ แล้วเข้าใจผิดก็มี ต้องคอยสังเกตจิตใจตนเองให้มากๆ นะครับ ว่ายังเห็นว่าจิตเป็นเราหรือไม่



    สำหรับการตรวจสอบผู้อื่นนั้น มีหลายวิธีเช่นกัน
     วิธีแรกเป็นวิธีของผู้ที่ไม่มีเจโตปริยญาณ จะต้องตรวจสอบด้วยการสังเกตพฤติกรรม หรือด้วยการซักถามสอบอารมณ์ โดยเทียบเคียงกับความรู้ด้านปริยัติธรรม เช่น บุคคลผู้นั้นมีอาการของจิตอย่างไรในขณะที่คิดว่าบรรลุพระโสดาบันบุคคลผู้นั้น มีศีลอันงามหรือไม่ จิตโลภของผู้นั้น ยังเจือปนด้วยมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ ผู้นั้น เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเราของเราหรือไม่ เป็นต้น


     วิธีนี้ถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่ค่อยได้ผลสมบูรณ์นักหรอกครับ ที่สำคัญก็คือ แต่ละสำนักวางมาตรฐานของพระโสดาบันไว้ต่างๆ กัน ส่วนผู้ตอบ บางคนก็พูดไม่ได้ อธิบายไม่ถูก ก็มี เท่าที่เคยทราบมา กระทั่งคนที่เข้าไปติดอสัญญสัตตาหรือพรหมลูกฟักก็ได้รับการพยากรณ์มรรคผลไปแล้ว ก็มีครับ

     การตรวจสอบอีกวิธีหนึ่ง เป็นการใช้เจโตปริยญาณ
     วิธีนี้จะให้ผลแม่นยำที่สุดในบรรดาการตรวจสอบทั้งหลาย แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า
     เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า ผู้ตรวจสอบนั้น มีเจโตปริยญาณจริง และไม่เพียงแต่มีเจโตปริยญาณอันเป็นโลกียญาณเท่านั้น ผู้ตรวจสอบนั้นยังจะต้องผ่านมรรคผลมาแล้วด้วย ซึ่งก็ไม่มีใครที่จะพยากรณ์รับรองได้ จึงเข้าทำนองที่ว่า กระทั่งผู้ตรวจสอบก็ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน เพราะผู้ที่มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะรับรองได้ ก็คือพระศาสดาเท่านั้น


     มาถึงจุดนี้แล้ว ผมก็มีความเห็นว่า การสังเกตตนเองในระยะยาว ด้วยการรู้ให้ถึงจิตถึงใจตนเองจริงๆ ไม่ใช่คิดๆ เอา แบบมีอคติเข้าข้างตนเอง น่าจะเป็นวิธีที่มาตรฐานที่สุดในยุคนี้
     ส่วนความเห็นของครูบาอาจารย์ เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้นครับ
     ถ้าท่านรับรองว่าใช่ ก็มาดูกิเลสตนเองว่าใช่จริงหรือเปล่า
     ถ้าท่านว่าไม่ใช่ แต่เราว่าใช่ ก็มาตรวจสอบว่าเราใช่จริงหรือเปล่า
     ที่สำคัญก็คือ ถ้าเราคิดว่าใช่ แล้วมารู้ทีหลังว่าไม่ใช่
     ก็อย่าท้อแท้จนเตลิดเปิดเปิงเลิกปฏิบัติไปเลย ก็แล้วกันครับ


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
http://www.kammatan.com/board/index.php?topic=530.0 โพสต์โดย golfreeze
http://www.bloggang.com/,http://www.utcc.ac.th/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 21, 2013, 01:54:03 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๓. อุทานสูตร
ว่าด้วยการตัดสังโยชน์และความสิ้นอาสวะ

      [๑๐๘] พระนครสาวัตถี. ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ทรงเปล่งอุทานว่า
      ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี
      การปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้.

      [๑๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอุทานอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เรา ดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้อย่างไร พระเจ้าข้า?
      พระผู้มีภาคตรัสว่า
      ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำในสัปปุริสธรรม
      ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑
      ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
      ย่อมเห็นรูปในตน ๑
      ย่อมเห็นตนในรูป ๑
      ตามเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ
      ตามเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ
      ตามเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ
      ตามเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑
      ย่อมเห็นตนมีวิญญาณ ๑
      ย่อมเห็นวิญญาณในตน ๑
      ย่อมเห็นตนในวิญญาณ ๑.
      เขาย่อมไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า เป็นของไม่เที่ยง.
      ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์.
      ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา.
      ไม่ทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความเป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง.
      ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญา แม้สังขาร แม้วิญญาณ จักมี.



      [๑๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแล ผู้ใดเห็นพระอริยเจ้าฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้รับการแนะนำดีในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำดีในสัปปุริสธรรม   
      ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ฯลฯ
      ไม่พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นตน ฯลฯ
      ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ฯลฯ
      เธอย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยง.
      ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงว่า เป็นว่าทุกข์.
      ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอนัตตา ตามความเป็นจริงว่าเป็นอนัตตา.
      ย่อมทราบชัดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ตามความเป็นจริงว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง.
      ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่า แม้รูป แม้เวทนา แม้สัญญาแม้สังขาร แม้วิญญาณ จักมี.
      ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงเช่นนั้น เพราะเห็นความเป็นต่างๆ แห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.

      ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุน้อมใจไปอย่างนี้แลว่า ถ้าว่าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิก็จักไม่มีแก่เราดังนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล.



     [๑๑๑] ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุน้อมใจไปอยู่อย่างนี้ พึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์เสียได้.
     ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อภิกษุรู้เห็นอย่างไร อาสวะทั้งหลายจึงจะสิ้นไปในกาลเป็นลำดับ.
     พ. ดูกรภิกษุ ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้ ฯลฯ ย่อมถึงความสะดุ้ง ในฐานะอันไม่ควรสะดุ้ง.
     ดูกรภิกษุ ก็ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้ว ย่อมมีความสะดุ้ง ดังนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี แม้ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี
กรรมสังขารจักไม่มี ปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้.
 
    ดูกรภิกษุ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้วแล ฯลฯ ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งในฐานะอันไม่ควรสะดุ้ง.
     ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ไม่มีความสะดุ้งดังนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี ขันธปัญจกของเราก็ไม่พึงมี กรรมสังขารจักไม่มีปฏิสนธิของเราก็จักไม่มี ดังนี้.
     ดูกรภิกษุ วิญญาณที่เข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.
     วิญญาณที่เข้าถึงเวทนาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสัญญาก็ดี ฯลฯ วิญญาณที่เข้าถึงสังขารก็ดี
     เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์.
     ภิกษุนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไปจุติ อุปบัติ หรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขารดังนี้ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.


      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัดในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ
      เป็นอันภิกษุละได้แล้วไซร้ เพราะละความกำหนัดเสียได้ อารมณ์ย่อมขาดสูญ
      ที่ตั้งแห่งวิญญาณย่อมไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ไม่งอกงามไม่แต่งปฏิสนธิ หลุดพ้นไป
      เพราะหลุดพ้นไป จึงดำรงอยู่ เพราะดำรงอยู่ จึงยินดีพร้อมเพราะยินดีพร้อม จึงไม่สะดุ้ง
      เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมดับรอบเฉพาะตนเท่านั้น.
      เธอย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
      ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป ในกาลเป็นลำดับ.


      จบ สูตรที่ ๓.

อ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๑๒๔๗ - ๑๓๐๑. หน้าที่ ๕๕ - ๕๗.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=1247&Z=1301&pagebreak=0             
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=108
ขอบคุณภาพจาก http://www.dhammada.net/,http://travel.upyim.com/



    ans1 ans1 ans1
   
    อุทานสูตรนี้ เป็นอารมณ์ของอนาคามีผลครับ เนื่องจากตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้
    เข้าใจยาก เพราะเราไม่ใช่อริยบุคคล คุยมากไปกว่านี้ไม่ได้ อึดอัดครับ
    ขอคุยเป็นเพื่อนเท่านี้

     :25: :25: :25:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 21, 2013, 02:32:48 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

kobyamkala

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 2236
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0


เหตุใดคนในสมัยพุทธกาลจึงบรรลุธรรมง่าย

ครั้งในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น มีผู้คนมากมายรู้ธรรมเห็นธรรมเป็นพระอริยะเจ้าตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ ด้วยพระปรีชาบารมีของพระพุทธองค์ กอรปกับกุศลกรรมที่ท่านเหล่านั้นสั่งสมมาในชาติอดีต แต่ถ้าลองพิจารณาถึงเหตุปัจจัยในปัจจุบันชาติของท่านเหล่านั้น ก็จะเห็นว่าในวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมยุคสมัยก่อนมีรูปแบบการใช้ชีวิตเสพสุขทาง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่หลากหลาย เมื่อการใช้ชีวิตในโลกียรสทั้งหลายถึงจุดหนึ่งซึ่งซ้ำๆ ซากๆ จึงเกิดความเบื่อ มองเห็นถึงความไม่เป็นอิสระเมื่อตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา ซึ่งเป็นสภาพที่ถูกผลักดันจากการต่อสู้ของอำนาจฝ่ายดีกับด้านที่มืดของจิตใจ เขาจึงคิดหาหนทางที่จะไปสู่ความสุขที่ประเสริฐเป็นอมตธรรมกว่า

สภาพสังคมในช่วงพุทธกาลให้ความสำคัญทางด้านจิตวิญญาณ มีความเชื่อ มีศรัทธาในอำนาจที่มองไม่เห็น ประกอบกับมีรูปแบบขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณอันดาษดื่น อันเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วๆไป ในภาวะที่เต็มไปด้วยศาสนา ลัทธิ จารีต การนับถือเทพเจ้า พิธีกรรมต่างๆ จึงเป็นช่องทางแก่ผู้แสวงหาอมตธรรม หาประสบการณ์ความรู้ หาหนทางของการหลุดพ้นจากกิเลส บางคนมีความศรัทธาเชื่อมั่นในลัทธิของตน จึงทุ่มเทเข้าถึงการปฏิบัติชนิดที่ยอมทุ่มเท ทรมารกาย ทรมารจิตใจของตนในรูปแบบพิศดาร โดยหวังว่าคงจะถึงขีดหนึ่งในการพ้นจากความเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อในสิ่งที่ตนศรัทธา

เมื่อตระหนักถึงความไม่ยั่งยืนของความสุขทางโลกีย์วิสัย การปลีกเร้นออกจากกามโลก ทดลองเรียนรู้สิ่งต่างๆ ประพฤติทำความเพียรที่คิดว่าจะนำไปสู่สิ่งที่ต้องการ การแสวงหาประสบการณ์ หาทางที่จะออกจากทุกข์หลากหลายวิธี แต่แล้วเขาเหล่านั้นก็พบว่า สิ่งที่ดำเนินมาทั้งหมดนั้นยังไม่สามารถเอาชนะกิเลสได้ คล้ายกับว่าเหมือนขาดอะไรสักอย่างหนึ่งที่ยังไม่รู้ หรือยังเหลืออยู่เพียงอีกสิ่งเดียวเท่านั้น

จนกระทั่งเมื่อเขามาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบกับจิตของผู้แสวงหาโมกข์ธรรมทั้งหลาย ที่มีอินทรีย์พละพร้อมอยู่แล้ว จึงเป็นการง่ายที่จะทำให้พระสัจธรรมของพระพุทธองค์ช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาด ชดเชยในส่วนที่พร่อง จิตจึงมีความแข็งแกร่งในการที่จะต่อสู้กับอำนาจของอวิชชา รู้ถึงการขจัดความมืดมิดในจิตใจ ก่อเกิดปัญญาสว่างไสว สำเร็จเป็นพระอริยะเจ้าภูมิชั้นต่างๆมากมาย ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงถูกเปรียบดัง “ผู้เป็นดวงตาของโลก” เป็นเสมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด ส่องประทีปโคมไฟในที่มืด บอกทางแก่คนหลงทาง

แต่เมื่อกลับมาพิจารณาถึงการศึกษา กับความเป็นอยู่ของผู้คนยุคปัจจุบัน ซึ่งมุ่งเน้นเป็นไปในทางวัตถุนิยม ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ หมกมุ่นกับการหาความสุขสบายเพลิดเพลินไปกับโลกียรส คนจำนวนไม่น้อยมองว่าศาสนา หรือ การศึกษาทางด้านจิตวิญญาณเป็นส่วนเกิน เป็นที่พึ่งจำเพาะสำหรับผู้มีปัญหาชีวิต สำหรับคนที่ผิดหวัง หรือเป็นเรื่องของคนสูงอายุ คนที่มีความคิดล้าสมัย เป็นเรื่องไร้สาระพิสูจน์ไม่ได้ เป็นเพียงความเชื่อ เป็นกุศโลบาย ฯลฯ

เมื่อความตกต่ำของวัฒนะธรรมที่ดีงาม ถูกอำพรางในคราบความเจริญเติบโตของโลกวัตถุนิยม เป็นผลให้การพัฒนาการทางด้านจิตวิญญาณถดถอยลง สวนทางกับเทคโนโลยีที่นับวันที่จะพัฒนามากยิ่งๆขึ้นไป ความรวดเร็วของวิทยาการทางด้านสื่อสารคมนาคม ทำให้การกระจายตัวของสิ่งมอมเมาโลกขยายตัวออกเป็นวงกว้าง ความหลากหลายของรูปแบบสิ่งยั่วยุ มีมากแปลกแตกต่างตามความพร่องแห่งจิตในแต่ละคน อันเป็นอาหารให้กิเลสมีช่องปรับเปลี่ยนเป็นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กระทั่งความไม่ปกติเข้าครอบงำจนเห็นเป็นสิ่งปกติ ทำให้คนจำนวนมากเป็นผู้ที่จะตกอยู่ภายใต้ความเอร็ดอร่อยของผัสสะมากมายจากความไม่รู้ หลงอยู่ในเกมส์มายาของโลกยากที่จะหลุดพ้นจากวงจรของสังสารวัฏฏ์

ปัจจุบันยังมีเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องน่าจะทำความเข้าใจใหม่สำหรับชาวพุทธ ก็คือ บางท่านคิดว่าตนเองต้องสั่งสมบุญในชาตินี้ก่อน หรืออาจต้องรอสะสมบุญบารมีหลายๆ ชาติ ส่วนการบำเพ็ญภาวนาเพื่อการหลุดพ้นควรเป็นเรื่องของชาติต่อๆไป โดยเฉพาะในยุคพระพุทธเจ้าที่จะอุบัติขึ้นในอนาคตกาล บางท่านก็มองว่าการเป็นพระอริยะการเข้าถึงนิพพานเป็นเรื่องเฉพาะผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุเท่านั้น หรือยังไม่ถึงเวลา มีไม่น้อยที่เข้าใจว่าหมดยุคสมัยในการที่จะได้มรรคผลแล้ว ผู้คนในก่อนๆ เท่านั้นจึงจะเข้าถึงได้ เหล่านี้เป็นต้น จะอย่างไรก็ตามขอให้ท่านได้ลองพิจารณาทบทวนถึงพระพุทธพจน์ที่ทรงประทานไว้แก่ชาวพุทธบริษัททั้งหลายว่า……..

“สิ่งที่ตถาคตสอนให้พวกเธอละเลิกการทำบาปทั้งปวง หันมาบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม
และ ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่พวกเธอสามารถทำได้ถ้าเป็นสิ่งที่พวกเธอไม่สามารถทำได้ตถาคตจะไม่สอน ”
พระพุทธพจน์บทนี้ เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง พระองค์ทรงยืนยันว่า การประพฤติปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งที่ท่านสามารถทำได้ ทำได้ในทุกๆคน ก่อผลได้ในทุกๆ ยุคสมัย แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด เพียงขอให้ท่านมีการเรียนรู้ มีสัมมาทิฏฐิ มีความเข้าใจในแนวทางการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วประพฤติให้ถูกวิธีกับมีความเพียรที่มากพอ ก็จะเกิดผลดับทุกข์สิ้นทุกข์ไปได้……


http://www.facebook.com/photo.php?fbid=364262036933117&set=a.364252480267406.109328.100000479716751&type=1&theater&notif_t=photo_comment_tagged
บันทึกการเข้า
แล้วลองแอบมาแย้มกะลา
เพื่อดูโลก เห็นแล้วตกใจโลกนี้กว้างใหญ่จริง ๆ