ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ชื่อ "วัดเสื่อ" แต่ของจริงเด็ด..ยิ่งกว่าพรมเปอร์เซีย  (อ่าน 2315 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ชื่อ "วัดเสื่อ" แต่ของจริงเด็ด..ยิ่งกว่าพรมเปอร์เซีย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเที่ยวอยุธยา (อีกแล้ว) คราวนี้เกิดนึกขึ้นมาอย่างไรก็ไม่รู้ บอกโชเฟอร์ให้แวะไป "วัดเสื่อ" ....เงียบ..... ผมจึงย้ำชื่อวัดเสื่ออีกครั้ง.....

   หลังจากที่นิ่งไปนานนับอึดใจ  จนผมต้องบอกชื่อวัด ซ้ำอีกถึง 2 ครั้ง  เพราะนึกว่าไม่ได้ยิน 
   เค้าก็ตอบออกมาดื้อๆ ว่า  "ไม่รู้จักครับ" .....
   เอ...เอาละสิ  ก็เคยมากันตั้งหลายครั้ง เพียงแค่ว่างเว้นไปปีสองปี เกิดจะจำไม่ได้ขึ้นมาซะแล้ว...
   เอ้าไม่เป็นไร...ถาม "กู" ก็ได้... ไม่ง้อ... ใช้ GPS นำทางไปเรื่อยๆ วกมาวนไปจนถึงซุ้มประตูวัด
   คนขับรถจึงอุทานว่า "...อ๋อ...วัด-เส-นาด...นี่เอง"  "คน ยุด-ยา เค้าเรียก วัด-เส-นาด คับ..."
   ผมก็ไม่รู้จะว่าต่ออย่างไร  เอ้า...เส-นาด ก็ เส-นาด ในเมื่อมันเป็นวัดเดียวกันแล้วก็ไม่เป็นไร

วัดนี้เป็นวัดที่ผมอยากแนะนำชักชวนทุกท่าน ให้แวะไปเยี่ยมชมกันมากๆ ครับ เพราะสวยงามจริงๆ  สถานที่ตั้งก็หาง่ายมาก อยู่ใกล้ๆ ตลาดหัวรอ และอยู่หลังพระราชวังจันทรเกษม หรือปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วังจันทรเกษม ถาม "คนยุดยา" ได้ทุกคนว่า "วัด-เส-นาด" อยู่ตรงไหน รับรองไม่หลงแน่นอนครับ


 :welcome: :welcome: :welcome:

วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว คะเนได้ว่าอย่างน้อยก็ต้องไม่ต่ำกว่า ช่วงปี พ.ศ.2112-2227 เพราะมีการกล่าวถึงชื่อของวัดนี้ ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา โดยกล่าวถึงว่า....

     พระมหาธรรมราชาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังจันทรเกษมขึ้น  เพื่อให้เป็นวังหน้า และพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขณะทรงดำรงตำแหน่งเป็น พระมหาอุปราช ปกครองเมืองพิษณุโลก ในเวลาที่เสด็จลงมาราชการที่กรุงศรีอยุธยา

     และอาณาเขตทางด้านทิศใต้ ของพระราชวังจันทรเกษมนี้ติดต่อกับ "วัดเสื่อ" ซึ่งเป็นชื่อเดิมในสมัยอยุธยาของวัดเสนาสนาราม ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ได้ขยายพื้นที่ ของวังจันทรเกษมออกไป โดยรวมเอาวัดเสื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังจันทรเกษมด้วย



อนึ่ง เนื่องจากวัดเสื่อนี้เป็นวัดที่อยู่ในเขตพระราชวังหรืออยู่ติดกับวังมาแต่ดั้งเดิม จึงถือว่า วัดนี้เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ พระมหาอุปราช ตลอดจนเจ้านายฝ่ายในใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจส่วนพระองค์มาโดยตลอด

ดังนั้นในครั้งอยุธยาวัดนี้จึงไม่เคยมีพระสงฆ์จำวัด จำพรรษาเลย เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง และไม่เคยมีพระสงฆ์จำพรรษาอาศัยมาโดยตลอดเลยเช่นกัน ครั้นเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 แล้ว พระราชวังและวัดเสื่อก็ได้ถูกทิ้งร้างและเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา


 :bedtime2: :bedtime2: :bedtime2:

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ที่จังหวัดลพบุรี แต่ทรงทราบความแต่หนหลัง ว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้สร้างพระราชวังนี้ ได้เคยทรงหลั่งทักษิโนทกอุทิศถวายให้พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ให้เป็นเขตวิสุงคามสีมา คือทรงพระราชอุทิศให้เป็นวัด เพื่อให้บรรดาเสนาบดีข้าราชการที่จงรักภักดีกับพระองค์ ได้ใช้อุปสมบทลี้ราชภัยจากสมเด็จพระเพทราชา ก่อนเสด็จสวรรคต ไม่นาน จึงทรงมีพระราชดำริว่า

สถานที่นี้เคยเป็นวังและได้อุทิศให้เป็นวัดมาก่อน การที่จะบูรณะให้กลับคืนเป็นวังตามเดิมนั้น จะกลายเป็นการไปเอาของวัดมาเป็นของส่วนตน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทำผาติกรรมตามจารีตประเพณีนิยมแต่ก่อนมา คือการถวายทรัพย์สินเงินทองหรือของอื่นใดเป็นการตอบแทน โดยกำหนดให้มีคุณค่าและราคาที่คู่ควรกัน ตามที่พระวินัยบัญญัติไว้



ดังนั้นในการผาติกรรมของรัชกาลที่ 4 ครั้งนั้น พระองค์จึงทรงกระทำอย่างมหาศาล โดยแบ่งการผาติกรรมของพระองค์ออกเป็น 2 ส่วน

ในส่วนแรกสุดได้พระราชทานพระราชทรัพย์หรือปัจจัยจัดหาซื้อที่นา ให้มีจำนวน เนื้อที่ 40 ไร่ 3 งาน ให้เท่าเทียมเสมอกันกับจำนวนเนื้อที่ดิน ในบริเวณพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เพื่อทรงพระราชอุทิศถวายเป็นที่ธรณีสงฆ์ ในส่วนนี้ทรงหมายความว่า เพื่อเป็นการไถ่ถอนเฉพาะส่วนของที่ดิน แต่จะถวายสงฆ์ ณ วัดแห่งใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน

ส่วนที่สอง คือได้ทรงกระทำการผาติกรรมในส่วนของตัวอาคาร คือพระที่นั่งจันทรพิศาล ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงพระราชอุทิศให้ เป็นพระอุโบสถ สำหรับข้าราชบริพารของพระองค์ได้อุปสมบทเพื่อลี้ภัย ในการนี้ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อใช้ผาติกรรม ในการซ่อมแซมบูรณะวัดสำคัญครั้ง กรุงเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมรวมถึง 3 วัด


 :96: :96: :96:

การที่จะทรงเลือกวัดโบราณ เพื่อทำการบูรณะของพระองค์นั้น ก็ดำเนินไปอย่างมีหลักเกณฑ์ ผมเองเมื่อได้อ่านเอกสารโบราณต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องราวของวัดนี้แล้ว ต้องขอถวายความชื่นชมต่อรัชกาลที่ 4 ในการครั้งนี้เป็นอย่างยิ่งด้วย เพราะทรงวางเกณฑ์ในการเลือกวัดไว้อย่างชัดเจนว่า

เมื่อบูรณะสำเร็จลงแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานให้เป็นที่อยู่ของ พระรามัญหรือพระมอญแห่งหนึ่ง เป็นที่อยู่ของวัดธรรมยุตอันเป็นนิกายที่ทรงสถาปนาขึ้นด้วยพระองค์เอง คือธรรมยุติกนิกายอีกวัดหนึ่ง และเป็นที่อยู่วัดมหานิกาย อันเป็นนิกาย ที่มีมาแต่ดั้งเดิมอีกวัดหนึ่ง วัดในจำนวน 3 วัดนี้  มีวัดเสื่อในจังหวัดพระนครศรีอยุธยารวมอยู่ด้วย 



ดังนั้น ในปีพ.ศ. 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) เป็นแม่กองอำนวยการปฏิสังขรณ์ และได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถ พระวิหาร 2 หลัง หมู่พระเจดีย์ และกุฏิสงฆ์ พร้อมกับพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า "วัดเสนาสนาราม" อันมีความหมายตรงกับนามเดิมของ วัดนี้คือ "เสื่อ" สิ้นพระราชทรัพย์ไปทั้งสิ้น 300 ชั่งเศษหรือประมาณมากกว่า 24,000 บาท

จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกาย จึงนับเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายแห่งแรกของอยุธยาและในภูมิภาคแถบนี้ด้วย ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้รับสั่งให้วัดเสนาสนาราม เป็นวัดหลักของพื้นที่นี้เพียงวัดเดียว สำหรับประกอบ พิธีแปลงนิกาย จากมหานิกายไปเป็น ธรรมยุติกนิกาย โดยกำหนดให้ทำพิธีสวดญัตติที่วัด เสนาสนารามแห่งนี้ ปัจจุบันวัดเสนาสนารามเป็นวัดเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ธรรมยุต) อีกด้วย


 ans1 ans1 ans1

ต่อมาในปี พ.ศ. 2427 หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  เสวยราชสมบัติได้ 16 ปีเศษ และวัดนี้สถาปนาใหม่มาได้ราว 21 ปีเศษแล้ว อาคารสถานที่ต่างๆ ก็ได้ชำรุดทรุดโทรมลง  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตวิสุงคามสีมาของวัด ให้กว้างใหญ่ออกไปจากเดิม ให้สร้างกุฏิพระขนาดใหญ่ หลังละ 4 ห้อง รวม 14 หลัง ยังหลงเหลือปรากฏอยู่บ้างจนทุกวันนี้

จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป เป็นแม่กองในการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยได้มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้เป็นอนุสรณ์ และปัจจุบันถือว่าทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อวิชา ประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมไทยด้วย



สิ่งดีงามของวัดนี้ ที่อยากจะขอแนะนำให้ท่านไปเที่ยวดูชม คือการวางผังสถาปัตยกรรม โดยมีการจัดวางพระอุโบสถ พระเจดีย์ และพระวิหาร เรียงต่อกันในแนวแกนทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก เพียงแค่ด้านนอกของตัวอาคารแต่ละหลังก็งดงามจนตะลึงพึงเพริศแล้ว ยิ่งเข้าไปภายในตัวอาคาร คือ

พระอุโบสถก็ยิ่งสวยสลบแดดิ้นสิ้นใจไปเลยจริงๆ ด้วยการออกแบบให้มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ตั้งลอยตัวเรียงรายเป็น 2 แถว แถวละ 6 ต้น อยู่อยู่ภายในอาคารนี้ เปรียบเสมือนเส้นบังคับสายตาให้มองตรงดิ่งพุ่งไปยังพระพุทธรูปประธานที่สง่างามเหมือนดั่งลอยลงมาจากท้องฟ้า หากท่านใดได้เข้าไปเห็นเป็นครั้งแรกแล้ว ไม่เกิดความรู้สึกแบบที่ผมบรรยายมานี้ ผมก็ขอลงนอนขวางประตูวัดให้ท่านได้เหยียบเลยจริงๆ ครับ...

 :25: :25: :25:

พระพุทธรูปภายพระอุโบสถมีนามว่า พระสัมพุทธมุนี เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดที่ได้สัดส่วนงดงามมาก เรียกว่าเห็นแล้วอยากกราบเลยทีเดียว ตัวซุ้มเรือนแก้วปูนปั้นที่สร้างครอบอยู่เหนือองค์พระพุทธรูป ก็ทำปูนปั้นเป็นยอดรูปมงกุฎ อันเป็นตราพระราชลัญจกรแทนพระนามเดิม คือ

"เจ้าฟ้ามงกุฎ" ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และยังมีพระคาถาภาษาบาลี อักษรขอม ในกรอบรูปไข่ เป็นพระคาถา "อรหังสัมมา..." เรียงเป็นช่องๆ โดยรอบบนกรอบของซุ้ม เริ่มจากพระพาหาหรือไหล่ขวาของพระประธาน คือทางซ้ายมือของพวกเราคนดูครับ โดยเรียงสูงขึ้นไปจนสุดยอดซุ้ม แล้วจึงวกเรียงลงมาอีกข้างหนึ่ง

นอกจากนั้นบริเวณด้านหน้าพระประธานยังมีโต๊ะหมู่บูชา ประดิษฐาน "พระนิรันตราย" อันเป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้หล่อขึ้นหลายองค์ ก่อนเสด็จสวรรคตไม่นาน แต่ยังไม่ได้มีพระบรมราชโองการสั่งต่อว่าจะให้ทำอย่างไรกับพระพุทธรูปเหล่านั้น เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงทรงพระกรุณาฯ ให้กาไหล่ทอง แล้วนำไปถวายตามวัดธรรมยุติกนิกายจนครบทุกวัดในขณะนั้น ตามปกติจะหาพระนิรันตรายกราบได้ยากมากนะครับ ผมจึงอยากชักชวนท่านที่สนใจชอบไหว้พระกราบพระ ให้เดินทางไปที่วัดนี้กัน



สิ่งสำคัญในพระอุโบสถอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่นตามแบบโบราณ แต่มีการพัฒนารูปแบบการเขียนให้มิติ มีความสมจริง มีการเขียนภาพเหมือนของบุคคลสำคัญต่างๆ เช่น รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ครั้งนี้  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านข้างเหนือหน้าต่าง เป็นภาพจิตรกรรมแนวใหม่ที่เริ่มนิยมมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 คือ

แทนที่จะเขียนเป็นรูปพระอินทร์ พระพรหม เทวดา ครุฑ ยักษ์ มนุษย์นาค ฯลฯ ขนาดใหญ่ นั่งคุกเข่าประนมเรียงกัน แถวหันหน้าไปทางพระประธาน และเรียงซ้อนเป็นชั้นๆ ขึ้นไปจนจรดเพดาน กลับเขียนเป็นภาพเทวดานางฟ้าขนาดเล็กนับร้อยนับพันองค์ พากันเหาะเหินเชิญชวนกันไปเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งแทนด้วยพระประธานนั่นเอง นอกจากนั้นยังมีเมฆเป็นปุยเป็นก้อน ทั้งปลิวทั้งลอยเต็มท้องฟ้า น่าตื่นตาตื่นใจมาก

gd1 gd1 gd1

ที่สำคัญที่สุดของจิตรกรรมฝาผนังที่วัดนี้คือ จิตรกรรมที่เขียนไว้ระหว่างบานหน้าต่าง จะเป็นภาพเล่าเรื่องพระราชพิธี 12 เดือน ที่บอกเล่าเรื่องราวรายละเอียดต่างๆ ของประเพณี และพระราชพิธีในราชสำนักไว้ด้วยภาพเขียนอย่างละเอียด ผมจะขอยกตัวอย่างพระราชพิธี เดือน 4 ต่อกับเดือน 5 ที่เขียนอยู่บนผนังแรก ทางขวามือสุดเวลาเดินเข้าในพระอุโบสถ เป็นภาพเล่าเรื่องของพระราชพิธีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนนี้

เช่น  พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีสระสนานใหญ่ พระราชพิธีแห่คเชนทรัศวสนาน พิธีรดเจตร หรือรดน้ำเดือน 5 การรดน้ำพระสงฆ์ในเวลาสงกรานต์ และการเจริญสิริมงคลแก่ช้างต้น ซึ่งเป็นราชพาหนะ และถือว่าเป็นกำลังแผ่นดิน โดยกำหนดให้ปลูกโรงที่พระสงฆ์สรงน้ำ และตั้งพิธีขึ้นในพระบรมมหาราชวัง มีการตั้งขันสาครใบใหญ่ กั้นพระวิสูตร ตรงด้านหน้าของขันสาคร มีแท่นประทับ มีที่ปล่อยน้ำออกจากขันลงสรง นอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง มีภาพขบวนช้างม้า ท้ายขบวนมีภาพคนหาบชะนีและมีร่มกางให้ชะนีด้วย...555


นี่เล่าให้ฟังแค่เป็นน้ำจิ้มเพียงเดือนเดียวเท่านั้นนะครับ ท่านที่สนใจต้องไปดูชมกันเองที่วัดครับ และเอาไว้โอกาสดีๆ ผมจะเล่าเรื่องพระราชพิธี 12 เดือน จากจิตรกรรมฝาผนังของวัดเสนาสนารามแห่งนี้ให้ท่านฟังโดยละเอียดครับ

เผ่าทอง ทองเจือ


ขอบคุณบทความจาก http://www.thairath.co.th/content/edu/367525
ขอบคุณภาพจาก
http://2.bp.blogspot.com/
http://g2.s1sf.com/
http://www.ayutthayatba.com/
http://www.manager.co.th/
http://www.dhammathai.org/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 12, 2013, 08:06:26 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ