ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะจากกฐิน  (อ่าน 1967 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ธรรมะจากกฐิน
« เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2011, 10:46:37 am »
0


ธรรมะจากกฐิน
อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ
ธรรมจักษุ ฉบับ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวด ชีวิตกับธรรมะ กระทู้ 17921 โดยคุณ :mayrin  : 16 ธ.ค. 48

เรื่องกฐินนั้นอันที่จริง เป็นเรื่องทางพระวินัย ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ แต่เรามีวิธีพิจารณาเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องทางธรรมะ

หมายความว่า การที่พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตว่า เมื่อภิกษุจำพรรษาครบสามเดือนแล้ว เหลือเวลาอีก ๑ เดือนในท้ายฤดูฝนนั้น ให้เป็นฤดูกฐิน


แล้วก็ได้มีข้อบัญญัติไว้ว่า ผ้ากฐินนั้นต้องเป็นผ้าที่ชาวบ้านเขาคิดเอามาถวายเอง ไม่ใช่เป็นผ้าที่พระไปพูดจาให้เขานำมาถวาย ตลอดจนเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าต้องการจะดูความพร้อมเพียงของพระ

และอีกข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือต้องการจะดูว่า ทำอย่างไรพระจึงจะสามารถช่วยตัวเองได้ นั้นก็คือว่า

ในครั้งโบราณ การถวายผ้ากฐิน ชาวบ้านไม่ได้เข้ามาช่วยในการเย็บในการตัด ทำเป็นจีวรเหมือนสมัยนี้ พระต้องทำเอง แม้พระพุทธเจ้าเองเมื่อสมัยยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ได้ทรงเป็นประธานในการที่พระจะประชุมกันช่วยกันตัดผ้า แล้วเย็บให้เป็นจีวร

เหตุที่กฐินจะกลายมาเป็นเรื่องทางธรรมะ ก็แล้วแต่ข้อพิจารณาหาประโยชน์ของเรา โปรดทราบไว้ก่อนว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าแม้จะมีมากมายสักเท่าไร ก็แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ เป็นพระธรรมอย่างหนึ่ง พระวินัยอย่างหนึ่ง


พระวินัยนั้นได้แก่ข้อบัญญัติที่ได้ทรงตั้งขึ้นไว้เป็นหลักในการปกครองคณะสงฆ์ ห้ามไม่ให้ทำบางสิ่งบางอย่างหรืออนุญาตให้ทำบางสิ่งบางอย่าง

โดยเฉพาะเรื่องกฐินนี้ก็มีกฎเกณฑ์มากหลายและกฎเกณฑ์ดังกล่าวนั้นต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าเราจะนำเรื่องกฐินมาพิจารณาในทางธรรมะ เราจะได้คติอย่างสูง

กล่าวคือ ในทางพระวินัยที่พระพุทธเจ้าสอนให้พระรู้จักช่วยตัวเอง ในการทำจีวรให้ได้ และต้องทำให้เสร็จในวันนั้น เป็นการหัดความสามารถของส่วนรวมว่า

ในปีหนึ่งๆ ก็มีระยะเวลาเพียงเดือนเดียวที่จะพรักพร้อมช่วยกันทำงาน และถ้าผู้ใดได้ละเลยไม่ช่วยกันโดยเพิกเฉยเสีย เพราะเหตุที่ถือตัวว่าอย่างนั้นอย่างนี้ก็ตาม พระพุทธเจ้าทรงปรับอาบัติ นี่จึงเรียกว่าเป็นวินัย คือบังคับให้ต้องรู้หน้าที่ของตน


ได้กล่าวมาแล้วว่ามีข้อบังคับสำหรับเรื่องกฐินให้พระต้องใช้ผ้าเอามาตัด แล้วเย็บย้อมให้เสร็จเป็นจีวร คำว่าจีวรก็คือผ้านุ่งผ้าห่มจะเป็นสังฆาฎิคือ ผ้าซ้อนอุตราสงค์ผ้าห่มหรืออันตรวาสก ผ้านุ่งก็เป็นจีวรทั้งสิ้น

เรื่องนี้จะเป็นธรรมะได้อย่างไร เพราะเราเห็นกันแต่ในด้านพระวินัย ในการที่เรื่องกฐินจะเป็นธรรมะขึ้นมานั้น เราก็เพ่งเล็งไปในตอนสาระสำคัญที่ว่า เนื้อหาของคำว่ากฐินนั้นอยู่ที่ตรงไหน

คำว่า กฐินนั้นแปลว่าแบบสำเร็จ คือเป็นชื่อของไม้สะดึง เป็นแบบไม้ที่ทำเอาไว้ เอาผ้าทาบลงไป ตัดตามแบบสำเร็จนั้น เมื่อได้ทราบคำแปลเรื่องของกฐิน จึงควรทราบสาระสำคัญๆ ต่อไป

ผมเคยกล่าวอยู่เสมอว่าสาระสำคัญของกฐินอยู่ที่ผ้าผืนเดียวคือผ้าขาว ผ้าขาวนั้น เมื่อเขาถวายพระแล้ว พระจะต้องตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันนั้น


สาระสำคัญในฝ่ายผู้ถวายนั้นอยู่ที่ผ้าขาวผืนเดียว และสาระสำคัญในฝ่ายพระก็คือเป็นการหัดพระให้ทำอะไรได้รวดเร็ว และเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ในทางวัตถุ

ในปัจจุบันนี้พระตัดจีวรไม่ค่อยเป็น เย็บเองก็ไม่ต้องเย็บ เพราะฉะนั้นถ้าไปอยู่ในที่กันดารหน่อยไม่มีใครทำให้ก็คงลำบากยิ่งขึ้น

ตามพระวินัยบังคับให้พระต้องมีด้ายมีเข็มติดตั้งไว้ เพื่อจะได้ช่วยตัวเองได้ เมื่อสาระสำคัญในฝ่ายพระคือการช่วยตัวเองในการทำจีวรให้สำเร็จในวันเดียวเช่นนี้ เรื่องกฐินก็ไม่ใช่เป็นเรื่องมีประโยชน์เฉพาะพระ

เพราะเราอาจจะคิดมาเป็นทางธรรมะว่า ยังมีอะไรอีกบ้าง หรือไม่ที่เราจะต้องช่วยตัวเอง ไม่ว่าเราคนนั้นจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย จะเป็นนักบวชหรือไม่ใช่นักบวช เพราะว่าถ้าช่วยตัวเองไม่ได้ ก็คงจะต้องมีความลำบากเดือดร้อนด้วยกันทั้งสิ้น


ในการปฏิบัติเรื่องช่วยตัวเองนี้ ส่วนใหญ่เรามักจะหาวิธีลัดว่าทำอย่างไรเราจึงไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ให้ได้ผลมากๆ ความจริง พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่ามนุษย์ทั้งหลายขอบทางลัด คือว่าไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก ทำง่ายๆ ลงแรงน้อยๆ แต่ให้ได้ผลมากๆ



พระองค์ก็เคยตรัสกับพระองค์หนึ่งบอกว่า เธอไม่ต้องยุ่งอะไรมาก ถ้าจะต้องการวิธีที่ง่ายละก็คุมจิตของเธออย่างเดียวเท่านั้น อย่างอื่นเป็นอันคุมได้หมด

ผมอยากจะย้ำว่า ถ้าจะตีความเรื่องกฐินนี้ให้มาเป็นธรรมะให้ได้แล้ว เราจะต้องตีความว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยตัวเองได้เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น

เราต้องทำให้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้น และด้วยความสามารถของเรา คราวนี้เมื่อมาตีความในทางปฏิบัติ เราก็จะต้องพิจารณาดูว่าเราอาศัยตัวเองไม่ได้เลยในข้อไหนบ้าง แปลว่าเราช่วยตัวเองไม่ได้จริงๆ ในข้อไหนบ้าง


ซึ่งเพื่อลัดเวลาผมว่าควรไปในทางจิตใจตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะไว้ คือถ้ายุ่งนักไม่รู้จะจับตรงไหน ก็ให้คุมที่จิตใจอย่างเดียว

  เราลองพิจารณาดูว่า จิตใจของเรานี่ เป็นที่พึ่งของเราเองได้ไหม โดยวิธีคุมการปฎิบัติที่จิตใจของเราเองนั้น เราสามารถจะเป็นที่พึ่งของตัวเราเองได้แล้วหรือยัง

ทำอย่างไรเราจึงจะหัดทอดกฐินในจิตใจของเราเองบ้าง ท่านทั้งหลายอาจจะยังไม่เคยมีใครคิด มีแต่คิดว่าจะไปทอดที่วัดโน้นวัดนี้

ถ้าเราคิดให้เป็นธรรมะแล้ว หัดทอดกฐินในจิตใจของเรา ก็คือนำปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งส่งให้แก่จิตใจแล้วขบปัญหานั้นให้แตก ให้ได้ผลออกมาสำเร็จรูปเหมือนอย่างผ้าจีวรที่ทำให้เสร็จในวันนั้น


เป็นต้นว่า การปฏิบัติเพื่อให้จิตใจของเราปลอดโปร่งจากความกลัดกลุ้ม มันเท่ากับเป็นการถางป่าในจิตใจของเราเอง ความกลัดกลุ้มที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องจัดการให้สำเร็จ คือถ้าพกเอาแต่ความกลัดกลุ้มไว้ ก็เป็นกฐินตกค้าง

หมายความว่ามีผ้ามาแล้ว มีวัตถุดิบเกิดขึ้นแล้ว เราไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้ เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันก็ค้างวันค้างคืน เลยเป็นเครื่องทรมานจิตใจของเราไป

แต่ความกลัดกลุ้มหรือความยุ่งยากใจต่างๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เรามาจัดทำให้เสร็จในวันนั้น หรือถ้าจะให้เร็วยิ่งกว่าวันนั้นได้ยิ่งดี จัดการสะสางให้หมด โดยมากเราไม่ชอบทำให้มันสะอาดให้มันปลอดโปร่ง เราพยายามที่จะไปสร้างความยุ่งยากให้มากขึ้น

เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องกฐินตกค้าง คือปัญหาเรื่องขิตใจเราหมักหมมหรือเต็มไปด้วยหญ้ารก คือความกลัดกลุ้มจึงเกิดขึ้น ถ้าเราพยายามช่วยตัวเองได้ด้วยการแก้ปัญหา


ทีแรกเราอย่าเพิ่งไปแก้ปัญหาใหญ่ ๆ หัดแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่นเรื่องความโกรธนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มปัญหาให้มากขึ้นจนถึงปัญหายุ่งยากต่างๆ อันเป็นปัญหาที่คนธรรมดาไม่สามารถจะแก้ได้

แล้วเราพยายามจะขบปัญหาชนิดนั้นเป็นวิธีสะสางให้สงบระงับไปได้ ไม่ทำให้จิตใจของเราพลอยต้องยุ่งยาก ไม่ทำให้จิตใจของเราต้องขุ่นมัวไปตามอารมณ์นั้นๆ

นี่ก็เป็นวิธีใช้ความสามารถของตัวเราเอง ช่วยตัวเราเองให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้น เราจะไม่แบกเอาภาระความกลัดกลุ้มต่างๆ มาไว้เกินหนึ่งวัน

เรื่องกฐินนั้น ถ้าทำผ้านั้นยังไม่สำเร็จล่วงราตรีไปก็เลิกกัน ใช้ไม่ได้แล้ว เช่นมัวแต่เย็บอย่างโอ้เอ้ๆ กันอยู่ สว่างเสียก่อนก็ใช้ไม่ได้แล้ว


เรื่องของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราแบกเอาเรื่องที่ไม่น่าจะแบกมาไว้ เป็นต้นว่าเอาความเจ็บใจมาไว้ในใจของเราเกินคืนหนึ่ง ก็นับว่าใช้ไม่ได้ตามแง่ของกฐิน

เพราะฉะนั้นขอให้พยายามสะสางเรื่องที่จะชวนให้กลุ้มใจต่างๆ นั้นให้หมดไปในวันหนึ่งๆ ถ้าทำได้อย่างนี้แปลว่า เรามีเวลาพัก เรามีเวลาสะสาง เรามีเวลาที่จะทำความสะอาดจิตใจของเราทุกๆ วัน

โดยยึดเอาตัวอย่างการทอดกฐินซึ่งเป็นวินัยนั้น มาตีความเป็นธรรมะสอนใจเราแล้วพยายามทำจิตใจของเราให้สะอาดอยู่ทุกวัน เมื่อครบวันกันครั้งหนึ่งก็ให้เรื่องนั้นหมดไป อย่าได้ผูกเอาความไม่สบายใจไว้ข้างใน

โดยวิธีนี้เราได้ข่าวกฐินที่ไหน หรือเราจะไปทอดกฐินที่ไนห เราจะไม่ไปแบบตามเขา เพียงเห็นเขาไปเราก็ไปแต่อย่างเดียว เราจะได้กฐินอีกชั้นหนึ่ง คือเอามาสอนใจตัวเราเอง


เป็นเรื่องที่ให้เราได้สะสางตัวเราเอง คือวางแบบสำเร็จเอาไว้ เมื่อเรารู้ว่ากฐินนั้นเป็นชื่อของไม้สะดึง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งเป็นแบบสำเร็จของไม้สำหรับเอาผ้าวางลงไปแล้วก็ตัดทำจีวร



  เราจึงวางแบบสำเร็จไว้ในจิตใจของเราบ้าง เป็นต้นว่าในเรื่องการแก้ปัญหาความทุกข์ระทม ความเศร้าหมอง เมื่อเราวางแบบสำเร็จว่า ความกลัดกลุ้มต่างๆ จะต้องให้เข้าไปในช่องนั้น

ด้วยการคิดว่านี่มันไม่จริงจังอะไร มันเป็นเรื่องที่เราปล่อยใจของเราให้ต่ำไปเอง เรามีแบบสำเร็จไว้ทุกอย่างสำหรับต้อนรับอารมณ์ ต้อนรับคำสรรเสริญ ต้อนรับการนินทา ต้อนรับการกระทบกระเทียบเปรียบเปรย ต้อนรับความไม่พอใจทุกชนิด

มีแบบสำเร็จเตรียมไว้ในใจเสมอ พร้อมที่จะต้อนรับอารมณ์ชนิดนั้น พอเอามาเข้าแบบสำเร็จแล้ว เรามีวิธีแจกจ่ายไปตามช่องต่างๆ เป็นต้นว่า ให้รู้จักวางบ้าง ให้รู้จักอดทนบ้าง ให้รู้เท่าทันบ้าง ให้รู้จักพิจารณาแก่นสารอะไรบ้าง


โดยวิธีนี้ เราจึงมีโอกาสที่จะจัดการให้เรื่องยุ่งยากต่างๆ ในชีวิตของเรา ไม่กลายเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ข้ามคืน พอสิ้นวันไปแล้วจิตใจของเราสะอาดครั้งหนึ่ง

ขึ้นวันใหม่ถ้ามีอะไรมา เราก็จัดการเข้าแบบสำเร็จหรือหลอมเสียเลย โดยตั้งเบ้าหลอมเสียให้หมดให้เป็นรูปความสงบระงับ เรื่องที่ร้ายเท่าร้ายพอมาถึงเราหลอมให้สงบระงับไปได้

นั่นจะเป็นทางให้เราได้ประโยชน์ ในการคิดธรรมะ กล่าวคือ เราไปพบเรื่องอะไร เราจะทำบุญกุศลเรื่องอะไร เราไม่ใช่ทำแต่เพียงให้มันครึกครื้นสนุกสนาน

ถ้ามุ่งเพียงครึกครื้นสนุกสนานแล้ว เราก็จะห่างจากสาระสำคัญของพระพุทธศาสนาออกไป เป็นต้นว่า ถ้าในการทอดกฐินนั้น เราประกาศใหญ่โตว่า เราจะต้องมีเครื่องบินเท่านั้นเครื่อง เราจะต้องมีดนตรีเท่านั้นวง เราจะต้องเตรียมลิเกละครอะไรไปเท่านั้น กะคนไปสักกี่พัน


แท้จริงเรื่องของกฐินมีนิดเดียว แต่เป็นเรื่องกินเหล้ากันบ้าง เป็นเรื่องสนุกสนานเฮฮาบ้าง ท่วมเรื่องของกฐิน เลยในที่สุดเราก็หาสาระของกฐินไม่พบ

แต่ถ้าเราได้พยายามศึกษาพระพุทธศาสนาในรูปหาประโยชน์จากเรื่องนั้นๆ ได้เต็มที่แล้ว แม้เรื่องกฐินนี้เอง ก็กลายเป็นเรื่องทำความสบายใจให้แก่เราทุกวัน เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระต้องทำผ้าให้เสร็จในวันนั้น

เราก็มาตั้งข้อกติกาสำหรับตัวเราเอง ว่าถ้ามีเรื่องยุ่งอะไรต้องแก้ให้เสร็จในวันนั้น อย่าให้กลุ้มข้ามคืน ถ้าทำอย่างนั้นได้ ผมว่าเราจะได้ประโยชน์จากเรื่องกฐินนี้

ไม่ใช่ เฉพาะในฤดูกาลหลังพรรษาหนึ่งเดือน แต่ว่าเราจะได้ประโยชน์ตลอดปี ผมจึงใคร่ที่จะขอให้ท่านสาธุชนทั้งหลายได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ตลอดปี จึงได้เสนอมาเป็นแนวพิจารณา


------------------------

คัดลอกจาก: ธรรมจักษุ
พฤศจิกายน ๒๕๔๘

ที่มา http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ubasok-preach-sucheep-index-page.htm
ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/,http://www.dhammaforever.com/,http://www.watpa.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ