ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: หมั่นตรอง เดินทางสู่จุดจบชีวิต  (อ่าน 1773 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

sutthitum

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 77
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
หมั่นตรอง เดินทางสู่จุดจบชีวิต
« เมื่อ: ธันวาคม 17, 2011, 12:17:03 pm »
0
ธัมมะ พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม

คัดจากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง หน้าปก และ หน้าที่ ๒ ฉบับวันจันทร์ที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๙

หมั่นตรอง เดินทางสู่จุดจบชีวิต

ความจริงกับจิตใจเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตของเราทุกคน ตราบใดที่ยังไม่สามารถสร้างอำนาจส่วนคุ้มครองบังคับจิตของเราอย่างสมบูรณ์ก็ไม่สามารถน้อมนำเอาสภาพความจริงทั้งหลายมาให้จิตใจเรายอมรับได้ ต้องตกเป็นทาสกิเลส ตัณหา อุปาทาน ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ไม่ยอมรับความเป็นจริง

สภาพชีวิตของสังคมเราทุกวันนี้ มีเงื่อนแง่ให้คิดระหว่างความจริง กับ จิตใจ อย่างมาก มีการประกาศยึดมั่นในความจริงเป็นสรณะกันมาก แต่จิตใจของผู้ประกาศไม่มีสิ่งคุ้มครองบังคับจิตใจให้ยอมรับความจริง จึงเพียงแต่พูดกันปาวๆ เท่านั้น พฤติกรรมหาเป็นไปด้วยไม่ “ธัมมะวันจันทร์บ้านเมือง” ที่ 8 กันยายน 2529 ใคร่ขอนำข้อธรรมของพระอาจารย์สมชาย  ฐิตวิริโย แห่งวัดเขาสุกิม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ที่ท่านกล่าวถึงความเป็นจริง และจิตใจ เป็นเลิศ หากรับฟังและพิจารณาเพื่อนำมาปฏิบัติ

ท่านได้กล่าวในแง่ของธัมมะว่า การปฏิบัติธรรมนั้น สำคัญอยู่ที่ใจเราไม่ค่อยยอมรับสิ่งที่เรารู้ เพราะเรารู้โดยสัญญา อย่างอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัญญาของบุคคล สอนกันอยู่นั่น ไม่เกินจากนี่ไปเลยว่า อนิจจังคืออะไร ทุกขังคืออะไร ทุกข์ทางไหนบ้าง กายหรือใจ อนัตตาคือไม่ใช่อาตมะตัวเขาตัวเราอะไรเลย เพียงแค่ธาตุโลกมาประชุมกันอยู่ เขาก็ต้องสลายไปตามธาตุโลก ลองคิดดู เราพูดได้ แต่ใจเรารับหรือไม่ต่อความเป็นจริง อย่างนี้นี่คือสิ่งสำคัญความจริงจิตใจ

ต้องสร้างอำนาจคุ้มครองบังคับจิต

ทำไมเราจึงต้องยอมรับความจริงด้วยจิตใจ ถ้าใจเรารับก็ถือเป็นอริยบุคคล หรือยอมรับสภาพเหล่านี้เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่ใช่อาตมะว่าเป็นจริงแท้แน่นอนเพียงแค่นี้ ความทะเยอทะยานเห่อเหิมจะหมดไป สิ่งที่เราเห็นมา คนเจ็บ คนแก่ คนตาย เราเห็นทั้งนั้น

แต่ทำไมใจเราแยกนั่นตายนั่นเป็น

ทำไมไม่เห็นเป็นอันเดียวกัน

ทำไมใจเราจะยอมรับว่า เราเดินกันอยู่ทุกวันนี้ล้วนไปสู่จุบจบของชีวิตกันทุกเวลานาที ถ้าเรายอมรับความจริงนี้ใจเราจะเศร้าสลด วางจากสิ่งฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม คลายจากความหลงที่เรากำลังหลงอยู่เวลานี้


เราจะทำอย่างไรถึงจะให้ใจของเราเป็นไปในแง่ของการรับความจริง มีอยู่วิธีเดียวคือ การบำเพ็ญเพียรภาวนาเท่านั้นเอง ถ้าเราทำได้เป็นการสร้างอำนาจส่วนที่คุ้มครองขึ้น สามารถบังคับจิตเราได้อย่างสมบูรณ์ให้อยู่ใต้ส่วนที่คุ้มครอง เราก็สามารถน้อมนำสภาพความจริงเหล่านั้น มาให้ใจเรายอมรับ แล้วจะรู้สิ่งที่ยังไม่รู้ต่อไป


และรู้ลึกลงไปอีก ส่วนหยาบรู้และเข้าใจดีแล้ว ส่วนกลางก็ย่อมรู้ตามจนกระทั่งส่วนละเอียดของกิเลสต่างๆ อันเป็นภพของจิตที่จะเชื่อมต่อกัน มีรูปลักษณะเช่นไร เราก็จะเข้าใจหมด เห็นสภาพสิ่งอื่นชัดเจนขึ้นมา


ให้เข้าใจคำว่า “พุทธะ” แล้วจะรักยิ่ง


แต่ถ้าเรายังไม่รู้และไม่อาจสร้างสิ่งคุ้มครองให้ได้โดยสมบูรณ์ไม่สามารถบังคับจิตเราให้อยู่ในส่วนที่คุ้มครองได้ แม้เราจะคุยว่ารู้ความจริงก็เพียงคุยได้แค่ปาก ใจยังไม่ยอมรับความจริงนั้น จึงเป็นเพียงแค่ปุถุชน ไม่ใช่อริยะบุคคล

จำต้องบำเพ็ญเพียรภาวนาให้เข้าถึงและยอมรับความเป็นจริงให้ได้ ถ้าเราเร่งความเพียรก็จะเห็น “พุทธะ” อย่างถูกต้อง ถ้าเราสามารถทำสมาธิให้เข้าใจคำว่าพุทธะอย่างถูกต้องแล้ว  เราจะรักศาสนาพุทธยิ่งกว่าชีวิต อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างให้กับพระพุทธศาสนาแน่นอน


น่าเสียดายชาวพุทธที่ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ แต่ยังเข้าใจไม่ถึงพุทธะกัน ยังงมงายอยู่แต่รอบนอก ยังไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เรื่องของพุทธะนี้พิสดารมาก  เป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก  ถ้าผู้ใดเข้าถึงแล้วจะรู้ว่า...อื้อ, คำว่าพุทธะนี้ช่างพิลึก  คำว่าพุทธะนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์  ใครเข้าถึงแล้วจะปลื้มใจที่สุดในชีวิตแล้วจะออกอุทานในทันทีว่า...เราไม่เสียชาติเกิด


อย่าเป็นคนหลงเงา วิ่งตามเงา


พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย แนะวิธีทำจิตใจให้ยอมรับความจริงว่า อยู่ที่การปฏิบัติธรรมภาวนาให้เกิดสมาธินั่นเอง เพื่อสร้างสิ่งคุ้มครองขึ้น  สามารถบังคับจิตเราได้อย่างสมบูรณ์ให้อยู่ใต้ส่วนที่คุ้มครอง จะทำให้ใจเราจำนนต่ออำนาจส่วนที่เราสร้างขึ้นมา


แล้วเราจะใช้โอปนยกะธรรมน้อมธรรมะหรือสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเหล่านั้นเข้ามาสอนใจเรา ให้ใจเรายอมรับต่อสภาพความจริงเหล่านั้นได้ เราอย่าหลงเงา อย่าวิ่งตามเงาเป็นอันขาด


จงเข้าหาสมาธิที่แท้จริง จะได้เป็นอิสระ เป็นไทกันจริงๆ ไม่ตกเป็นทาสสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งปวง การทำสมาธิก็ใช้วิธีง่ายๆ ไม่ต้องไปเคร่งครัดอะไรมาก นั่งลงวางเท้าซ้ายก่อน แล้ววางเท้าขวาทับบนในท่าขัดสมาธิ ถ้าผู้ใดไม่สะดวกในการนั่งสมาธิ จะนั่งพับเพียบก็ได้ หงายมือซ้ายวางบนตัก หลายมือขวาวางซ้อนลงไป ไม่จำเป็นต้องให้หัวแม่มือชนกัน หรือหัวแม่มือชนกับปลายนิ้วชี้ วางมือหงายในท่าสบายๆ ตามถนัด ถ้านั่งหลังตรงไม่ได้ไม่สบาย ก็หย่อนให้กายเขาอยู่ในท่าสบายที่สุด


การนั่งกรรมฐานไม่ใช่เรื่องยาก


เมื่อนั่งในท่าสบายๆ ดีแล้ว ก็ใช้วิธีกำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด กำหนดจุดรับรู้เข้าออกของลมหายใจไว้ตรงปลายจมูกคือรูทั้งสองข้าง เวลาหายใจเข้าก็บริกรรมคำว่า

“พุท” จิตอยู่ตรงลมผ่านเข้าที่ปลายจมูก ไม่ต้องส่งจิตตามลมเข้าไปให้ยุ่งยาก เพียงแค่กำหนดรู้ตรงรูปลายจมูกเท่านั้นว่าลมได้ผ่านเข้าแล้ว


พอหายใจออกให้ภาวนาบริกรรมคำว่า “โธ” กำหนดจิตให้รู้การสัมผัสของลมที่ปลายจมูกเช่นเดียวกับหายใจเข้า ไม่ต้องตามลมออกไป


การบริกรรมระหว่างนั่งภาวนา ไม่ต้องออกเสียง เพียงนึกในใจ “พุท-โธ” เท่านั้นปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามสบาย ไม่ต้องเครียดต้องเกร็ง หลวมๆ

อย่ากำหนดต้องรู้ต้องเห็นอะไรระหว่างนั่นบริกรรมพุทโธ ปล่อยใจให้สบายตามปกติ


แต่ถ้าเกิดวิปริตขึ้นมาระหว่างนั่งกรรมฐาน ก็ต้องปล่อยอย่าไปหลงยึดหลงติด เพราะความวิปริตนั้นหมายถึงการผิดปกติธรรมดา ไม่ใช่เรื่องของความวิเศษใดๆ


การนั่งแล้วไม่มีสิ่งวิปริต จิตว่างสงบนิ่งดีเป็นปกตินี่คือการนั่งที่ถูกต้อง ถ้านั่งแล้วรู้สึกตัวพองใหญ่ขึ้นจนคับห้อง อย่างนี้ไม่ใช่ปกติธรรมดา เป็นอาการวิปริตต้องถอนจิตออกจากสมาธิให้ความวิปริตนั้นหายไป จะเห็นได้ว่าการนั่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ทำตัวทำใจให้สบายๆ แล้วจิตจะเป็นสมาธิเอง


ไม่มีลัทธิใดจะประเสริฐเท่าพุทธ


พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย แห่งวัดเขาสุกิม จันทบุรี เปรียบเทียบลัทธิอื่นกับพระพุทธศาสนาว่า จากประสบการณ์ของชีวิตท่านซึ่งไม่ใช่ชาวพุทธมาก่อน ถือลัทธิอื่นตามต้นตระกูลที่เป็นหัวหน้าลัทธิหนึ่ง แต่พอเติบใหญ่ท่านสนใจในทางพุทธศาสนามาก ยอมถูกตีถูกทำโทษรุนแรงที่แอบมาศึกษาทางพุทธ กระทั่งหัวหน้าลัทธิถึงแก่ชีวิตจึงมีอิสระออกมาชวชเมื่ออายุได้ 19 ปี เป็นเณรก่อน 2 ปี จึงเป็นพระกระทั่งปัจจุบัน


“พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่สุดกว่าลัทธิใดๆ ปฏิบัติให้ถึงพุทธจริงๆ จะภูมิใจที่สุดว่าได้เกิดเป็นชาวพุทธ ไม่เสียทีที่เกิดเป็นมนุษย์แล้วได้พบได้ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา


ลัทธิอื่นถือพิธีกรรมภายนอกเป็นแก่นศาสนา แต่พุทธศาสนาเราถือการปฏิบัติจิตภายในเป็นแก่น ใครปฏิบัติได้ถึงจะอุทานได้เต็มปากว่าไม่เสียชาติเกิดจริงๆ จงปฏิบัติกันเถิดจะบังเกิดผลเป็นอัศจรรย์”
---------------------------------------------------------------------------
บังเอิญไปเจอ นสพ.ฉบับนี้ จึงตั้งใจนำมาพิมพ์เผยแพร่เป็น ธรรมะทาน

อนุโมทนากับทุกท่าน ที่น้อมใจอ่านกระทู้นี้ สาธุ


จากคุณ    : ญัติสมมุติ
บันทึกการเข้า