ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
หน้า: [1] 2 3 ... 10
 1 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 10:57:09 am 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 2 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 10:53:31 am 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ดันกระทู้

 3 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 10:34:05 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้

 4 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 08:32:19 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ - ความรู้จักพอเป็นยอดทรัพย์

พระพุทธเจ้าตรัสว่า  สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ - ความรู้จักพอเป็นยอดทรัพย์

คนจนมีสองประเภท คือ คนจนเพราะไม่มี กับ จนเพราะไม่พอ
คนส่วนใหญ่จนเพราะไม่รู้จักคำว่าพอ

    “ความไม่พอ ใจจน เป็นคนเข็ญ
     พอแล้วเป็น เศรษฐี มหาศาล
     จนทั้งนอก ทั้งใน ไม่ได้การ
     ต้องคิดการ แก้จน เป็นคนพอ”


คนที่มีความสุขในชีวิต ต้องเป็นคนรู้จักพอ นั้นหมายถึง ว่า...
     พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ทำ
     ใครไม่มีสิ่งที่ตัวชอบ ก็ต้องชอบสิ่งที่ตัวมี

ภาษิตฝรั่งว่า...นกตัวเดียวอยู่ในก๋ามือ ดีกว่านกสองตัวบนต้นไม้
คนไทยทุกวันนี้...หลงอยู่ในวัตถุนิยม...ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ





ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
ที่มา : งานนิพนธ์และปาฐกถาธรรม ชุด ธรรมะในชีวิตประจําวัน , เรื่อง “คนมีความสุข เมื่อรู้จักพอ ก็จะพบกับความสุข” โดย พระธรรมโกศาจารย์ (ศ. ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ. ๙, พธ.บ.,Ph.D)

 5 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:38:12 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



วิทยาศาสตร์ผิด หรือน่าจะผิดที่...ตายยาก.!

ถอดรหัส “สมอง” กับ “หัวใจ” กับเรื่องราวของ ที่สุดนักวิทยาศาสตร์โลก อริสโตเติล และไอน์สไตน์ ยังคิดผิด

เมื่อคนคนหนึ่งถูกกล่าวถึงว่า “เธอเป็นคนหัวดี” คนทั่วไปและนักวิทยาศาสตร์ ก็จะยิ้ม เพราะเข้าใจตรงกันหมดว่า เธอที่ถูกกล่าวถึง เป็นคนเก่ง มีไอคิวสูง มี “สมอง” ดี.....แต่ถ้าคนคนหนึ่งถูกกล่าวถึงว่า “เขาเป็นคนใจดี” คนทั่วไปก็จะยิ้ม และอาจนึกถึงหัวใจ.

ยกเว้นนักวิทยาศาสตร์ที่คิดลึก ก็จะยิ้มด้วย แต่ในใจก็จะนึกบอกว่า  “ใจดีหรือ? ไม่เกี่ยวกับหัวใจสักหน่อย”

แถมยังอาจนึกต่อว่า  “ความเคยชิน ตายยากจริง ๆ” 

“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปถอดรหัสสองเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ ที่เรื่องหนึ่ง เป็นความรู้ความเข้าใจที่ผิด แต่ตายยากจริงๆ คือ บทบาทของสมองกับหัวใจ

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นความรู้ความเข้าใจที่น่าจะผิด แต่ก็กลายเป็นเรื่องที่ “ตายยาก” ไปด้วย คือ เรื่องค่านิจจักรวาล (Cosmological constant) ของไอน์สไตน์

บทบาทของสมองกับหัวใจ!

ตามความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ทั้งสมองและหัวใจ มีบทบาท และหน้าที่ชัดเจนในร่างกายมนุษย์

สรุปอย่างสั้นๆ สมอง เป็นศูนย์รวมของความรู้สึกนึกคิด และทำหน้าที่สั่งการ กับควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์

ส่วนหัวใจ เป็นอวัยวะทำหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือ สูบฉีดเลือดแดง ไปหล่อเลี้ยงสมอง และส่วนต่างๆ ของร่างกาย และส่งเลือดดำ ไปฟอก (รับออกซิเจน) ที่ปอดให้เป็นเลือดแดง

ดังนั้น อวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกายมนุษย์ ที่แสดงความเป็นตัวตนของมนุษย์ แต่ละคน ทั้งเรื่องของความสามารถทางสติปัญญา, ไอคิว, ความรู้สึกนึกคิด, อุปนิสัยใจคอ และอีคิว คือ สมอง โดยไม่เกี่ยวกับ หัวใจ

นั่นคือ เรื่องของความเป็นคนเก่ง หรือไม่ และเป็นคนใจดี หรือไม่ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สมอง เป็นสำคัญ ไม่เกี่ยวกับ หัวใจ

แล้วความเข้าใจที่ผิด เกี่ยวกับ บทบาทของสมอง กับหัวใจ เกิดขึ้นได้อย่างไร?



อริสโตเติลกับเกเลน และบทบาทของสมองกับหัวใจ

น่าสนใจว่า ตั้งแต่แรกที่มนุษย์เริ่มเอาใจใส่เกี่ยวกับ กลไกการทำงานของร่างกาย ก็มองเห็น และเข้าใจตรงกันอย่างรวดเร็วว่า อวัยวะสำคัญที่สุดในร่างกายมนุษย์ มีอยู่ 2 อย่าง คือ สมอง กับ หัวใจ ...

แต่ก็น่าสนใจอย่างมากเช่นกันว่า มนุษย์ในระยะแรกๆ ...และต่อเนื่องกันมายาวนานเป็นหลายพันปี ...มองว่า  หัวใจ สำคัญกว่าสมอง!

เพราะอะไร? เพราะหัวใจ ดูจะเป็นอวัยวะที่มนุษย์สัมผัสได้ กับความเป็นตัวตนของมนุษย์เอง ดังเช่น การเต้นแรงของหัวใจ เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ตื่นเต้น หรือการพองโต ของหัวใจ เมื่อพบกับ “คนรัก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความเป็นความตายของมนุษย์ ที่ถือว่า มนุษย์ตายเมื่อ หัวใจ หยุดเต้น

แม้แต่เมื่อมนุษย์เริ่มมีการผ่าตัดร่างกายใน อียิปต์โบราณ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการดีที่สุดที่มนุษย์จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของร่างกาย แต่การผ่าตัดร่างกายใน อียิปต์โบราณ ก็เป็นการผ่าตัด เพื่อการทำมัมมี่  มิใช่การ “ผ่าตัด” ร่างกายเพื่อศึกษาการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของ สมองกับหัวใจ จึงยังคงเดิม คือ หัวใจ เป็นส่วนสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์

ต่อมา เมื่อเข้าสู่ยุคได้ชื่อเป็น “ยุคทองของนักปราชญ์ชาวกรีก” กับนักปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์กรีกโบราณ ดังเช่น โสคราตีส, พลาโต และอริสโตเติล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อริสโตเติล (384-322 ปี ก่อนคริสตกาล) ผู้เปลี่ยนความคิดว่า “โลกกลม” มิใช่ “โลกแบน” ดังที่เชื่อกันมา และเป็นผู้วางรากฐานของ “ระเบียบวิธีวิทยาศาสตร์” (scientific method) ที่ยังใช้กันอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ได้เขียนสรุปบทบาทของ “หัวใจ” กับ “สมอง” ของมนุษย์ในหนังสือเล่มหนึ่งชัดเจนว่า .

“หัวใจ เป็นศูนย์รวมของชีวิต เป็นศูนย์กลางของความรู้สึกนึกคิดของคน สมองเป็นเพียงอวัยวะ ที่รวมโลหิตเท่านั้น”

อริสโตเติล เป็นนักวิทยาศาสตร์และเป็นนักเขียนที่น่าจะเป็นผู้เขียนหนังสือมากที่สุดตลอดกาล เพราะมีบันทึกกล่าวถึง อริสโตเติล ว่า เขาน่าจะเขียนหนังสือไว้มาก ระหว่างสี่ร้อยถึงหนึ่งพันเล่มครอบคลุมสาขาหลากหลาย ทั้งปรัชญา วิทยาศาสตร์ การเมือง วรรณคดี จริยธรรม และคณิตศาสตร์

หลายสิ่งหลายเรื่องราวในหนังสือ มิใช่ผลงานโดยตรงของอริสโตเติล แต่ความสำคัญของ สิ่งที่อริสโตเติลเขียน เป็นเสมือนกับหนังสือรวมข้อมูลความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ถึงขณะที่อริสโตเติลเขียน และจากชื่อเสียงของ อริสโตเติล ก็จึงทำให้ผลงานการเขียนของ อริสโตเติล เป็นที่ยอมรับกันในวงการวิทยาศาสตร์ และต่างๆ ต่อมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

แต่ก็มิใช่ทุกเรื่อง! เพราะหลายเรื่องที่อริสโตเติล เขียนเอาไว้ ต่อๆ มาก็ได้รับการพิสูจน์ ว่า “ผิด”




สำหรับเรื่องบทบาทของสมองกับหัวใจ ที่อริสโตเติลเขียนไว้นั้น ในที่สุด ก็ได้รับการพิสูจน์ว่า “ผิด” และบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการพิสูจน์ คือ เกเลน (Galen) แพทย์และนักปรัชญาโรมันเชื้อสายกรีก มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ.130-200 หรือประมาณ 500 ปี หลังยุคสมัยของอริสโตเติล

เกเลน เป็นแพทย์มีชื่อเสียงมากในยุคสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ และต่อๆ มา อีกยาวนาน จนกระทั่งถึงยุคการแพทย์สมัยใหม่ ในตะวันตก และหลายเรื่องที่ เกเลนทำ ก็ยังเป็นเรื่องที่ “น่าทึ่ง” แม้แต่ในยุคปัจจุบัน ดังเช่น วิธีการรักษาต้อกระจก โดยใช้เข็ม ที่ไม่มีแพทย์คนใดในยุคสมัยเก่าก่อนกล้าทำ

สำหรับเรื่องบทบาทของสมองกับหัวใจ!

ถึงยุคสมัยของเกเลน ความรู้ที่เป็น “หลัก” ในสมัยนั้น ก็เป็นตามที่อริสโตเติลเขียน แต่ เกเลน มิได้เพียงแค่ “ยึดตาม” หากพยายามศึกษาด้วยตนเอง

และวิธีที่จะทราบได้...สำหรับ เกเลน....อย่างตรงๆ ก็ต้องมาจากการศึกษาสมอง และหัวใจโดยตรง

ตั้งแต่ยุคสมัยของอียิปต์โบราณ ในการ “ผ่าตัด” ร่างกาย เพื่อทำมัมมี่  หลังจากนั้นมา เรื่องของการผ่าตัดร่างกาย ด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ก็เป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ด้วยเหตุผลใหญ่ทางศาสนา

ต่อๆ มาจนกระทั่งถึงยุคสมัยของ เกเลน การผ่าตัดร่างกายมนุษย์ ทั้งคนเป็น และคนตาย ก็ยังเป็นสิ่งต้องห้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจักรวรรดิโรมันที่เกเลนทำงานอยู่




เกเลน จึงไม่สามารถผ่าตัดร่างกาย เพื่อการศึกษาทางการแพทย์ได้ เขาจึงเลือกทำการผ่าตัด เพื่อการศึกษากับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลิง และศึกษากับ “กลาดิเอเตอร์” (gladiator) นักรบนักต่อสู้ในสนามการต่อสู้ ระหว่าง กลาดิเอเตอร์ หรือกลาดิเอเตอร์ กับสัตว์ดังเช่น สิงโต และ เสือ

ในระหว่างที่ เกเลน ได้รับตำแหน่งเป็นแพทย์อย่างเป็นทางการของการต่อสู้ของ กลาดิเอเตอร์ เขาได้ช่วยชีวิต กลาดิเอเตอร์ ที่บาดเจ็บจากการต่อสู้ไว้เป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน เขาก็ทำการศึกษา (ในขณะที่รักษาบาดแผล) กลาดิเอเตอร์ เพื่อการศึกษาทางการแพทย์ของร่างกายมนุษย์ด้วย

แล้วก็มีการกล่าวถึง เกเลน ว่า เขาแอบไปผ่าตัดศพมนุษย์ด้วย ทำให้เขาได้ความรู้ทางการแพทย์โดยตรง จากร่างกายมนุษย์ ซึ่งในที่สุด จึงนำมาสู่บทสรุปเกี่ยวกับบทบาทของสมอง กับหัวใจของ เกเลน ซึ่งตรงกันข้ามกับ อริสโตเติล ว่า

“สมอง เป็นศูนย์รวมความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ส่วนหัวใจ เป็นอวัยวะทำหน้าที่สำคัญอย่างเดียว คือ สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงการทำงานของร่างกาย” 

แต่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทของสมองกับหัวใจ ของ เกเลน ก็ต้องใช้เวลายาวนาน กว่าจะเป็นที่ “ยอมรับ” กันในวงการวิทยาศาสตร์ ยุคใหม่ถึงปัจจุบัน

ดังนั้น ถึงในปัจจุบัน จะเป็นที่ทราบกันว่า ความเป็นคนใจดีหรือไม่ของคนเรา ขึ้นอยู่กับการทำงานของ สมอง เป็นสำคัญ มิได้ขึ้นอยู่กับหัวใจ เลยก็คงจะไปเปลี่ยนคำกล่าวถึง “คนใจดี” ว่า  ไม่เกี่ยวกับหัวใจเลย ไม่ได้ง่ายๆ ....

และดังนั้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์วันนี้ ได้ยินการกล่าวถึงคนบางคน ว่า  “เขาหรือเธอ เป็นคนใจดี” ก็จึงน่าจะยิ้ม และถึงแม้จะรู้แก่ใจว่า เป็นความเข้าใจในบทบาทของสมองกับหัวใจที่ผิด แต่ก็คงต้องยอมรับต่อไป ว่า

“ความเคยชิน ตายยากจริงๆ!” 




ค่านิจจักรวาลของไอน์สไตน์!

ไอน์สไตน์ กล่าวว่า ในชั่วชีวิตของเขา มีเรื่องที่เสียใจมากที่สุด 2 เรื่อง

หนึ่ง คือ ค่านิจจักรวาล (Cosmological constant) ที่รู้จักเรียกกันเป็น ค่านิจจักรวาลของไอน์สไตล์

สอง คือ การลงชื่อในจดหมายถึง ประธานาธิบดี ทีโอดอร์ รูสเวลต์ ของสหรัฐอเมริกา ทำให้โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) เพื่อสร้างระเบิดอะตอมเกิดขึ้น และทำให้เกิดโศกนาฏกรรมนิวเคลียร์ ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ

รายละเอียดของทั้งสองเรื่องนี้ ท่านผู้อ่านที่สนใจก็เปิดอ่านได้ใน “เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์ ตอน สองเรื่องที่เสียใจของ ไอน์สไตน์” (ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2565) แต่วันนี้ ผู้เขียนขอโฟกัสในเรื่องเกี่ยวกับ ค่านิจจักรวาล ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องต่อมา ซึ่งก่อนที่ ไอน์สไตล์ จะจากโลกไปในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ.1955 สำหรับไอน์สไตล์ ถือว่าเรื่องของ ค่านิจจักรวาลจบแล้ว คือ ตายไปแล้ว ...

แต่ต่อมา ค่านิจจักรวาล ก็กลายเป็นเรื่องหนึ่งของวิทยาศาสตร์ ที่น่าจะผิด ... แต่ตายยาก! .....




อย่างเร็วๆ เรื่องค่านิจจักรวาลของ ไอน์สไตน์ เริ่มต้นจากการตั้ง ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของไอน์สไตน์ เมื่อปี ค.ศ. 1915

แล้ว ไอน์สไตน์ ก็ทดลองใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป กับสภาพของจักรวาล เพื่อทดสอบความถูกต้องหรือไม่ของ ทฤษฎี ด้วยความหวังว่า  ผลที่ได้ออกมา จะตรงกับสภาพที่เป็นจริง (ตามความเข้าใจของวงการวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้น) ของจักรวาล ซึ่งก็จะทำให้ตัวไอน์สไตน์เอง และวงการวิทยาศาสตร์ ยอมรับว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาค ทั่วไป นั้น ถูกต้อง ... และใช้ประโยชน์ได้จริง

แต่ผลที่ได้ออกมา ก็ทำให้ไอน์สไตน์ ต้อง “ช็อก” เพราะผลจากสัมพัทธภาพภาคทั่วไป ขัดแย้งกับสภาพของจักรวาลที่ยอมรับกันมาเป็นเวลายาวนานว่า จักรวาลมีสภาวะคงที่

แล้วไอน์สไตน์ ก็ทำในสิ่งที่เขายอมรับว่า เป็นหนึ่งในสองสิ่ง ที่เขาเสียใจมากที่สุด  คือ สร้าง “ค่านิจจักรวาล” ขึ้นมา ใส่ลงในสมการจากสัมพัทธภาพภาคทั่วไป เพื่อทำให้ผลการพยากรณ์ โดยสัมพัทธภาพภาคทั่วไป ตรงกับสภาพของจักรวาล ที่คิดว่า “ถูกต้อง”   

จนกระทั่งเมื่อ เอ็ดวิน ฮับเบิ้ล (Edwin Hubble) ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ทันสมัยที่สุด ขณะนั้น ส่องสำรวจท้องฟ้าและจักรวาล  เมื่อปี ค.ศ.1929 แล้วพบว่า จักรวาล มีสภาพกำลังขยายตัว มิใช่เป็นแบบสภาวะคงที่ และไอน์สไตน์ ก็ได้เห็นด้วยตาของไอน์สไตน์เองว่า จักรวาลกำลังขยายตัว สอดคล้องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป โดยไม่ต้องมีค่านิจจักรวาล

จากนั้นมา ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป จึงกลายเป็นหนึ่งในสองทฤษฎีเสาหลักของวิทยาศาสตร์ ยุคใหม่ คู่กับทฤษฎีควอนตัม



เอ็ดวิน ฮับเบิล ( Edwin Hubble )

ค่านิจจักรวาลกับพลังงานมืด

หลังการจากไปของไอน์สไตน์ เมื่อกลางศตวรรษที่ยี่สิบ เรื่องค่านิจจักรวาล ก็ “ดูจะ” ตายไปกับไอน์สไตน์ด้วย!

แต่อย่างช้าๆ ค่านิจจักรวาล ก็มีทีท่าจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่

สาเหตุใหญ่ มาจากความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับจักรวาล ที่มาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศ ทำให้นักดาราศาสตร์ได้ข้อมูลความรู้ ที่ผิดแผกไปจากความเข้าใจ เกี่ยวกับจักรวาลที่ยึดถือกันมา

เช่น จักรวาล มิได้มีรูปร่างเป็นแบบทรงกลม ที่กำลังขยายตัวจากจุดระเบิด บิ๊กแบง ตามทฤษฎีกำเนิดจักรวาลแบบบิ๊กแบง (Big Bang Theory) หากมีรูปร่างอย่างหยาบๆ เป็นแบบ “แบน” หรือเป็นแบบ “อานม้า” คือ  “แบนและโค้ง” 

ในความพยายามของนักดาราศาสตร์ ที่จะอธิบายสภาพของจักรวาล ที่มิใช่เป็นรูปทรงกลม ก็เริ่มมีเสียงในวงการดาราศาสตร์ดังขึ้น “อย่างเบาๆ” ว่า “หรือจะเกี่ยวกับค่านิจจักรวาลของไอน์สไตน์”

แต่ก็เป็นเสียงที่เบาจริงๆ จนกระทั่งก่อนขึ้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เพียงสองปี  คือในปี ค.ศ.1998 ก็เหมือนกับมี “ลูกระเบิด” ตกกลางวงการดาราศาสตร์ที่ปลุกเรื่องค่านิจจักรวาลขึ้นมาใหม่ จากผลงานของนักดาราศาสตร์สองกลุ่ม ...

กลุ่มหนึ่ง นำโดย ซอล เพิร์ลมัตเทอร์ (Saul  Perlmutter) อีกกลุ่มหนึ่ง นำโดย ไบรอัน ชมิดต์ (Brian Schmidt) และ อดัม รีสส์ (Adam Riess )

ทั้งสองกลุ่ม ได้รายงานผลการศึกษาซูเปอร์โนวา เป็นจำนวนรวมมากกว่า 50 ซูเปอร์โนวา ด้วยเป้าหมายที่ตรงกัน คือ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดขึ้น เกี่ยวกับการขยายตัวของจักรวาล

แล้วทั้งสองกลุ่ม ก็ได้ผลออกมาตรงกันว่า แทนที่จักรวาล จะกำลังขยายตัวช้าลง ดังที่เข้าใจกันในวงการดาราศาสตร์ จักรวาลกลับกำลังขยายตัว เร็วขึ้น




จากการขยายตัวเร็วขึ้นของจักรวาล สู่พลังงานมืด และค่านิจจักรวาล!

การค้นพบว่า จักรวาล กำลังขยายตัวเร็วขึ้น ทำให้ ซอล เพริลมัตเทอร์ , ไบรอัน ชมิดต์ และ อดัม รีสส์ ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ร่วมกัน ประจำปี ค.ศ. 2011 และยิ่งทำให้เรื่องการขยายตัวเร็วขึ้นของจักรวาล มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

แล้วเรื่องการขยายตัวเร็วขึ้นนี้ ไปเกี่ยวกับเรื่อง ค่านิจจักรวาลของไอน์สไตน์ ได้อย่างไร?

คำตอบตรงๆ ก็คือ เป็นผลจากความพยายามของนักดาราศาสตร์ในการอธิบาย การขยายตัวเร็วขึ้นของจักรวาล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศและจักรวาล ทำให้วงการดาราศาสตร์ ประมวลผลออกมาว่า จักรวาลของเราดูจะประกอบด้วยสามส่วนใหญ่ๆ คือ   

หนึ่ง : อนุภาค หรือสสารปกติทั่วไป ที่ประกอบเป็นวัตถุต่างๆ ของจักรวาล รวมทั้งมนุษย์ 

สอง : สสารมืด (Dark matter) ที่ทำให้สิ่งต่างๆ ดังเช่น กาแล็กซี  เคลื่อนที่ไปในทิศทางแปลกๆ เหมือนกับการถูกดึงดูดด้วยสสารที่มองไม่เห็น และ

สาม : พลังงานมืด (Dark energy) ที่ทำให้จักรวาลกำลังขยายตัวเร็วขึ้น 

โดยจักรวาลของเรา ดูจะประกอบด้วยสสารปรกติธรรมดา เพียงประมาณ  4%  สสารมืดประมาณ 26% และพลังงานมืดมากที่สุด คือประมาณ 74% ในส่วนของสสารปกติธรรมดา และสสารมืด ดูจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การทำให้จักรวาลกำลังขยายตัว อย่างรวดเร็ว คำตอบที่เหลือจึงถูกมองไปที่ พลังงานมืด ซึ่งก็จะชี้เป้าต่อไปเป็นเรื่องของ ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป

เพราะทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของไอน์สไตน์ จริงๆ แล้ว ก็เป็นทฤษฎีความโน้มถ่วง เช่นเดียวกับ ทฤษฎีความโน้มถ่วง ของ นิวตัน แต่ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไปของไอน์สไตน์ ละเอียดและถูกต้องกว่า

ดังนั้น พลังงานมืด จึงถูกโยงเข้าสู่ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป อย่าง “ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่เป็น “ค่านิจจักรวาล” ที่ไอน์สไตน์ตั้งขึ้นมา แล้วก็ยอมรับไปเองในที่สุด ว่า ไม่จำเป็น หรือไม่มีจริง

ทั้งหมดทั้งปวงถึงขณะนี้ ค่านิจจักรวาล ซึ่งน่าจะตายไปแล้ว จึงกำลังถูกพยายามปลุก ให้คืนชีพขึ้นมาใหม่




แนวโน้ม “บทบาทของสมองกับหัวใจ” กับ “ค่านิจจักรวาล”!

สำหรับ เรื่องบทบาทของ สมองกับหัวใจ แนวโน้มก็ชัดเจน คือ ความเข้าใจที่ผิดระหว่าง บทบาทของสมองกับหัวใจ  ต่อเรื่อง “คนใจดี” ว่า  ไม่เกี่ยวกับหัวใจ ก็คงจะ “ตายยาก” คือ จะอยู่กับมนุษย์เราต่อไป ...

และสำหรับเรื่องค่านิจจักรวาล ของไอน์สไตน์ ที่น่าจะตายไปกับไอน์สไตน์ มีทีท่าว่า  จะ “ ตายยาก”  จริง ๆ เพราะถึงขณะนี้ เรื่องของ พลังงานมืด  กับเรื่อง ค่านิจจักรวาล กำลังเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง สำหรับการศึกษาวิจัยเชิงทฤษฎีของนักดาราศาสตร์ทั่วโลก

และกำลังเป็นเป้าหมายใหญ่ของโครงการอวกาศ ดังเช่น ยูคลิด (Euclid) ของ องค์การอวกาศยุโรป หรืออีซา (ESA) โดยความร่วมมือของ นาซา (NASA)

นอกเหนือไปจากเรื่องวิทยาศาสตร์ผิด หรือน่าจะผิด ที่ “ตายยาก” สองเรื่อง ที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ ยังมีเรื่องคล้ายกันอีกหลายเรื่องในวงการวิทยาศาสตร์ ที่ “ตายยาก” และ “น่าสนใจ” ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านต่อไปในอนาคต 

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ นึกถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ หรือมิใช่เรื่องวิทยาศาสตร์โดยตรง อะไรบ้าง ที่ผิด หรือน่าจะผิด ที่ “ตายยาก” และ “น่าสนใจ”?





Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/world/2788819
1 มิ.ย. 2567 07:35 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > WORLD > ไทยรัฐออนไลน์

 6 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 05:41:03 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan


.

ภาพถ่ายหลุมสำรวจในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเมื่อเดือนเมษายน ปี 2009 โดย Steve from Bangkok, Thailand, via Wikimedia Commons


หลักฐานชี้ ชาวอีสานโบราณแห่ง “บ้านเชียง” กินดีอยู่ดี รักสงบ

นักโบราณคดีเผยผลงานวิจัยการศึกษาโครงกระดูกและเครื่องมือโลหะแห่ง “บ้านเชียง” แหล่งมรดกโลกซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบหลักฐานสำคัญที่แย้งกับความเข้าใจต่อมนุษย์ในอดีตที่ได้จากการศึกษาทาง โบราณคดี ในพื้นที่อื่นๆ ในตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกากลาง

“พัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาคือ คุณูปการของบ้านเชียงต่อการเข้าใจในอดีต สิ่งที่นักโบราณคดีคนหนึ่งเห็นว่าสำคัญ แต่คนอื่นอาจจะแย้งได้ว่ามีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า ยิ่งไปกว่านั้นบางแง่มุมเกี่ยวกับสังคมในยุคโบราณจำเป็นที่จะต้องมีการสืบค้น และเผยแพร่งานศึกษาอย่างกว้างขวาง” ดร.จอยซ์ ไวท์ (Dr. Joyce White) ผู้อำนวยการโครงการวิจัยแห่งบ้านเชียง จากมหาวิทยาลัยพิพิธภัณฑ์เพนน์ซิลวาเนีย (University of Pennsylvania Museum) ในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการศึกษาการการค้นพบในบ้านเชียงมาตั้งแต่ปี 1976 กล่าวกับ “เดอะอีสานเร็คคอร์ด” (The Isaan Record)

ดร.ไวท์ เป็นหนึ่งในพยานผู้เชี่ยวชาญให้กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในการสอบสวนคดีลักลอบเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจากผลของคดีในปี 2014 ทำให้โบราณวัตถุหลายชิ้นที่ถูกลักลอบเคลื่อนย้ายจากบ้านเชียงได้รับการส่งเคลื่อนกลับมายังประเทศไทยแล้ว

สำหรับความพิเศษของบ้านเชียงที่แตกต่างไปจากสังคมโบราณในยุคเดียวกัน ดร.ไวท์ กล่าวว่า “หลักฐานจากโครงกระดูกมนุษย์ในบ้านเชียงเผยให้เห็นว่าสังคมเกษตรยุคโลหะในพื้นที่นี้ของไทยมีความโดดเด่นทั้งด้านสุขภาวะ และสันติภาพ ไม่มีหลักฐานของการใช้ความรุนแรงระหว่างกันด้วยการทำสงครามอย่างสม่ำเสมอ เครื่องมือโลหะถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์และเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก”

@@@@@@@

ดร.ไวท์เสริมว่า หลักฐานของการทำสงครามเริ่มมีให้เห็นบ้างในช่วงปลายยุคเหล็กในบริเวณโนนอุโลก

“สุขภาวะที่ย่ำแย่อย่างมีนัยสำคัญถูกพบในโครงกระดูกประชากรมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์บางส่วนในแถบชายทะเล (บริเวณโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี-เดอะอีสานเร็คคอร์ด) แต่ในอีสาน ชาวบ้านโดยรวมรอดพ้น (จากปัญหาสุขภาพ) ด้วยการกินอาหารที่ดี ผลการศึกษานี้ตรงข้ามกับหลักฐานที่ถูกพบในพื้นที่อื่นๆของโลกที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ (ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกากลาง) ซึ่งสุขภาพของประชากรต่างย่ำแย่ลงหลังรับเอาเศรษฐกิจแบบกสิกรรมมาใช้ และการผลิตเครื่องมือโลหะก็เป็นส่วนที่เร่งให้เกิดการทำสงครามต่อกัน” ดร.ไวท์กล่าว

บ้านเชียง เป็นแหล่ง โบราณคดี ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1966 ก่อนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1992 มีพื้นที่ราว 420 ไร่ ซึ่งข้อมูลจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกระบุว่าถึงปี 2012 มีการขุดสำรวจแล้ว 0.09 เปอร์เซนต์

“ลำดับต่อไปคือการหาคำตอบให้ได้ว่า สังคมก่อนประวัติศาสตร์ของอีสานแห่งนี้สามารถก่อตั้งและรักษาวิถีชีวิตที่สมบูรณ์ด้วยสุภาพและสันติภาพ และพัฒนาเทคโนโลยีโลหะที่ซับซ้อนแต่ทำขึ้นในระดับที่ไม่ใหญ่โตได้อย่างไร” ดร.ไวท์กล่าว ก่อนเสริมว่า ข้อมูลในส่วนนี้เธอจะใส่ไว้ในบทสรุปของงานวิจัยอีกชิ้นที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา


อ่านเพิ่มเติม :-
 
    • ตำนานกำเนิด โขง-ชี-มูล-หนองหาน สายน้ำแห่งชีวิตของคนอีสาน
    • (นาง) นาคแม่น้ำโขง เชื่อมโยงเครือญาติ “ไทย-ลาว” กับ “มอญ-เขมร”

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ The Isaan Record (The legacy of Ban Chiang: Archaeologist Joyce White talks about Thailand’s most famous archaeological site)




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 23 กรกฎาคม 2561
URL : https://www.silpa-mag.com/culture/article_1073

 7 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 05:33:38 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan




สุวรรณโคมคำ คืออะไร.?

“สุวรรณโคมคำ” เป็นเมืองในตำนานของพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำโขง ในประเทศลาว ใกล้กันกับเขตพื้นที่เมืองเชียงแสน จ.เชียงราย ของไทย โดยปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารโบราณชิ้นสำคัญอย่างน้อย 2 ฉบับ ได้แก่ ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ (พงศาวดารภาคที่ 72) และตำนานสิงหนวัติกุมาร

สังเกตดูจากชื่อก็คงจะเดาได้ไม่ยากนะครับว่า เอกสารชิ้นที่เล่าเรื่องของเมืองสุวรรณโคมคำ ไว้อย่างละเอียดและพิสดารมากกว่าย่อมเป็นตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ เพราะชื่อก็บอกอยู่ทนโท่แล้วว่า เนื้อหาจะกล่าวถึงเรื่องราวของเมืองดังกล่าวเป็นการเฉพาะ

ในขณะที่ตำนานสิงหนวัติกุมาร ซึ่งเป็นพงศาวดารกษัตริย์สาย “ไทเมือง” ที่เข้าครอบครองดินแดนล้านนามาก่อนราชวงศ์สาย “ไท-ลาว” ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของเมืองในตำนานเมืองนี้เท่าที่ควรนัก

ปราชญ์ผู้ล่วงลับอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ดูจะเป็นผู้ศักษาเรื่องเมืองสุวรรณโคมคำไว้อย่างละเอียด มีแบบแผนทางวิชาการมากที่สุด โดยจิตรเคยจำกัดความ “ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ” เอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ “ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม” (พิมพ์ครั้งแรกจากเอกสารต้นฉบับของจิตร เมื่อ พ.ศ.2525 หลังจากที่จิตรเสียชีวิตไปสิบกว่าปีแล้ว) เอาไว้ว่า

“ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ…เป็นบันทึกความทรงจำว่าด้วยประวัติความเป็นมาของดินแดนล้านนาก่อนยุคไทยเข้ามาตั้งบ้านเมือง ยุคนั้นเป็นยุคของพวก ‘กรอม’ ตำนานเรื่องนี้จึงเป็นตำนานที่ว่าด้วยเรื่องของกรอมโดยเฉพาะ ไม่มีเรื่องอื่นปน”


@@@@@@@

“กรอม” ที่จิตรว่าก็คือคำเดียวกับคำว่า “ขอม” แต่ในเอกสารโบราณหลายฉบับเขียนด้วยอักขรวิธี จากการถ่ายถอดของสำเนียงเสียงเรียกในแต่ละท้องที่ และยุคสมัยที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น กรอม, กล๋อม, กะหลอม, กำหลอม หรือขอม (ในตำนานของไต, ในภาษาไตลื้อ, ภาษาไทใหญ่, ภาษามูเซอ และหลักฐานของไทย ตามลำดับ) ซึ่งจิตรอธิบายว่าล้วนแล้วแต่หมายถึง “คนที่อยู่ทางใต้”

ส่วนทางด้านทิศใต้ของคนที่เรียกคนอื่นด้วยคำเดียวกันนี้ ในสารพัดสำเนียง จะเป็นชนชาติไหนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่เฉพาะคำว่า “กรอม” ที่เกี่ยวข้องกับ “สุวรรณโคมคำ” นั้น จิตรว่าหมายถึง “ขอม” คือ “เขมร” จากเมืองอินทปัตถ์ ซึ่งก็หมายถึง เมืองพระนคร ที่ตั้งของนครวัด นครธม หรือเขตเมืองโบราณใน จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาปัจจุบันนั่นเอง

ที่จิตรระบุว่า เมืองสุวรรณโคมคำ เป็นเมืองของพวกขอมโบราณ เป็นเพราะในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำนั้นมีข้อความระบุว่า มีเชื้อสายกษัตริย์ปาฏลีบุตร ในอินเดีย ที่ชื่อ “กุรุวงศา” ได้เดินทางมาเขตเมืองโพธิสารหลวงแล้ว “ขนเอาศิลามา ‘ก่อล้อม’ เป็น ‘กรอม’ รั้วปราการอันเป็นที่อยู่” พระยาเมืองโพธิสารหลวงจึงยกทัพไปปราบแต่พ่ายแพ้ “จึงยกเมืองโพธิสารหลวงให้แก่กุรุวงศากุมารปกครองต่อไป ตั้งแต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่าชาวกรอม โดยเหตุที่กุรุวงศากุมารได้ขนเอาศิลามาลิอมเป็นกรอมปราการที่อยู่”

จิตรอธิบายว่า “กรอมปราการ” ที่ “ก่อล้อม” จากศิลา ในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำนั้นก็คือ “ปราสาทหิน” คำอธิบายถึงที่มาของคำว่า “กรอม” ในหนังสือโบราณเล่มนี้ จึงเป็นความพยายามอธิบายที่มาที่เรียกชื่อชนชาวเขมรว่า กรอม ซึ่งก็คือ “ขอม” ของผู้แต่งตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ (ซึ่งต่างจากที่จิตรเสนอว่า คำนี้หมายถึง กลุ่มคนที่อยู่ทางใต้)

@@@@@@@

ดังนั้น เมื่อตำนานเมืองสุวรรณโคมคำระบุว่า กษัตริย์ผู้สถาปนาเมืองสุวรรณโคมคำที่ชื่อ “เจ้าสุวรรณทวารมุขราช” นั้น สืบเชื้อสายมาจากเมืองโพธิสารหลวง ซึ่งต่อมาเมืองนี้จะกลายเป็นนครอินทปัตถ์ และตำนานยังอ้างต่อไปด้วยว่า เมื่อพระองค์ก่อร่างสร้างเมืองได้มั่นคงดีแล้ว ประชาชนจากเมืองโพธิสารหลวง ก็พากันอพยพไปอยู่ที่เมืองสุวรรณโคมคำกันวันละนับพันครอบครัวอย่างไม่ขาดสาย แถมกษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนเมืองแห่งนี้จะล่มสลายยังถูกเรียกว่า พระยากรอมดำ อีกต่างหาก เมืองสุวรรณโคมคำจึงต้องเป็นเมืองของพวกขอม คือเขมรนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ครั้งที่จิตรยังมีชีวิตอยู่ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เคยปรากฏหลักฐานของปราสาทหิน หรือร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรโบราณอื่นๆ ในเขตพื้นที่ใกล้เมืองเชียงแสน และที่อีกฟากของน้ำโขงในฝั่งลาวเลยแม้แต่น้อย แต่กลับมีชนพื้นเมืองที่เรียกว่า “ลัวะ” ที่มีการ “ก่อล้อม” หิน ในทำนองที่ฝรั่งเรียกว่า “standing stone” หรือ “หินตั้ง” อย่างที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่เรียกกันว่า “วงตีไก่” อยู่ให้เพียบ

“กรอม” ในตำนานเมืองสุวรรณภูมิ จึงไม่น่าจะหมายถึงพวกเขมร อย่างที่จิตรเสนอไว้หรอกนะครับ เพราะถ้าจะมีใครที่อยู่ในพื้นที่แถบนั้นมาก่อนพวกไต ก็น่าจะเป็นพวก “ลัวะ” มากกว่า

ที่มาของชื่อเมือง “สุวรรณโคมคำ” นั้น ก็ถูกระบุไว้ในตำนานเรื่องเดียวันนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่มีข้อความอ้างไว้ว่า เมื่อคราวที่ เจ้าสุวรรณทวารมุขราช เมื่อครั้งยังเป็นเด็กน้อย ถูกใส่ร้ายว่าจะเป็นกาลีบ้าน กาลีเมือง จนถูกพระราชบิดานำไปปล่อยลอยแพบนแม่น้ำขลนที (แม่น้ำโขง) เพื่อให้ลอยออกสู่ทะเลนั้น อยะมหาเสนาบดี ผู้มีศักดิ์เป็นพระอัยกา คือตาของเจ้าชายน้อยองค์นี้ เกิดความสงสารในชะตากรรมของหลานชาย จึงได้ตั้ง “เสาโคมทอง” ที่ริมฝั่งโขงเพื่อขอพรพระพุทธเจ้าให้ได้พบหน้าหลาน

ด้วยบุญบารมีของเจ้าทวารมุขราช บรรดาเทวดาและหมู่พญานาคจึงช่วยกันผลักแพของพระองค์ให้ลอยสวนน้ำกลับเข้าทางปากน้ำโขง แล้วกำบังไม่ให้ใครเห็นเจ้าชายเมื่อแพลอยผ่านเมืองโพธิสารหลวง ในที่สุดแพก็ลอยไปจนถึงเสาโคมทอง ที่อยะมหาเสนาบดี และพระราชมารดาของเจ้าชายที่ชื่อ อุรสาเทวี ประทับอยู่ที่นั่น ทั้งสามคนจึงช่วยกันสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมา แล้วตั้งชื่อเมืองว่า “สุวรรณโคมคำ” แปลว่า “เมืองที่ตั้งของเสาโคมทอง”


@@@@@@@

เกี่ยวกับเรื่องการตั้งเสาโคมทองนี้ ในมหากาพย์สองฝั่งโขงอย่าง “ท้าวฮุ่งขุนเจือง” นั้นก็ได้ระบุว่า มีเมืองอื่นด้วยเช่นกันที่ตั้งเสาแขวนโคมทอง ดังโคลงที่ว่า

    “ทะล่วนล้ำทันที่ เชียงเครือ
     ไสวเรืองเรื่อคำ โคมย้อย
     พรายพรายเหลื้อมวันเจือ จูมเมฆ
     เนืองนาคเกี้ยวทุงสร้อย ใส่ยนต์”


โคลงบทข้างต้นเล่าถึงตอนที่ คนสนิทของขุนเจืองเดินทางไปถึงเมืองเชียงเครือ ของนางง้อม ผู้เป็นชายาของขุนเจือง แล้วพบว่ามีการประดับ “โคมคำ” สูงเทียมเมฆ อยู่คู่กับ “ธง” (ทุง) รูปพญานาค เฉพาะการประดับเสาโคมทองนี้ ดูจะเกี่ยวข้องอยู่กับธรรมเนียมการตั้งเสาเป็นพุทธบูชา ในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ โดยจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตทำนองอย่างนี้ไว้ใน ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม เล่มเดิมเช่นกัน

มหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจืองนี้ เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ยังไม่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า การตั้งเสาโคมทองอย่างนี้ น่าจะเป็นธรรมเนียมของกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่นับถือศาสนาผี (ซึ่งมีพวกลัวะเป็นหนึ่งในนั้น) มาก่อน ต่อมาเมื่อได้รับเอาศาสนาพุทธเข้ามาแล้ว จึงได้จับบวชให้เป็นการตั้งเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อย่างที่อ้างอยู่ในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ

พวก “กรอม” ในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำจึงไม่ควรจะเป็นชนชาวเขมรหรอกนะครับ เพราะในช่วงเวลานั้น อาณาจักรเมืองพระนครของเขมร สร้างปราสาทต่างๆ ตามคติในลัทธิเทวราช ที่ถูกฉาบหน้าด้วยศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธแบบมหายาน ไม่ใช่การชักโคมทองขึ้นมาด้วยธรรมเนียมผี ที่ถูกจับบวชให้เป็นพิธีการในพุทธศาสนาแบบเถรวาท

@@@@@@@

ตํานานเมืองสุวรรณโคมคำได้เล่าถึงอวสานของเมืองดังกล่าวเอาไว้อย่างละเอียดลออ แต่อาจจะสรุปโดยย่อได้ว่า เมื่อสมัยพระยากรอมดำครองเมือง ได้ใช้กลโกงริบเอาสินค้าในเรือของมานพหนุ่มนายหนึ่ง แล้วขับไล่จนเขาต้องไปทำไร่อยู่บนเกาะกลางน้ำโขง ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุวรรณโคมคำราว 4,000 วา (ประมาณ 8 กิโลเมตร)

ภรรยาของมานพหนุ่มนายนี้ซึ่งเป็นนางนาค รู้เรื่องเข้าก็นำเรือสินค้าไปซ้อนแผนกลโกงของพระยากรอมดำ แล้วพาสามีกลับไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเขาเอง จากนั้นก็นำเรื่องไปบอกพญานาคผู้เป็นพ่อของตนเอง พญานาคทราบความก็โกรธแค้นจึงนำบริวารจำนวนหนึ่งแสนโกฏิตนขึ้นมาขุดควักแม่น้ำโขงจนเมืองสุวรรณโคคำล่มจมน้ำลงไปในที่สุด

แน่นอนว่า เนื้อหาการล่มสลายของเมืองสุวรรณโคมคำมีลักษณะเป็นนิทาน ที่จะถือเอาเป็นจริง เป็นจัง ไม่ได้ทั้งหมด แต่นิทานเรื่องนี้ก็มีร่องรอยให้ทราบได้ว่า สำหรับคนในยุคสมัยที่แต่งตำนานเมืองสุวรรณโคมคำแล้ว เมืองดังกล่าวถึงกาลอวสานเพราะจมลงใต้แม่น้ำโขง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการกัดเซาะจากกระแสน้ำ กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน และอีกให้เพียบสาเหตุที่จะเป็นไปได้

จิตร ภูมิศักดิ์ คนดีคนเดิม ได้สืบสาวร่องรอยจากตำนานเมืองสุวรรณโคมคำแล้วสรุปถึงทำเลที่ตั้งของเมืองสุวรรณโคมคำเอาไว้ว่า

    “เมืองสุวรรณโคมคำตั้งอยู่บน ‘เกาะใหญ่’ ริมแม่น้ำโขงฝั่งลาว ตรงดอนมูล เยื้องปากแม่น้ำกกลงไปทางใต้เล็กน้อย ตรงข้ามบ้านสวนดอก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย”


@@@@@@@

ข้อสันนิษฐานข้างต้นของจิตร สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่าง และดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับของอีกหลายความคิดเห็น โดยเฉพาะจากฟากฝั่งลาว ที่ก็เชื่อว่าเมืองสุวรรณโคมคำนั้นตั้งอยู่ริมฝั่งโขงฟากลาว บริเวณเดียวกันนั้นเอง

พื้นที่ริมน้ำโขงฟากฝั่งไทยยังมีร่องรอยของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพื้นเมือง ที่ถูกจับบวชเข้าในพุทธศาสนา คือหินใหญ่ในศาสนาผี ที่ถูกสร้างเจดีย์คร่อมไว้อยู่บนหิน ที่รู้จักกันใน “พระธาตุผาเงา” ไม่ต่างอะไรกับการจับบวชเอาเสาโคมทองในศาสนาผี เป็นเครื่องถวายพุทธบูชาในศาสนาพุทธ

ดังที่ปรากฏอยู่ในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำนั่นแหละ

เอาเข้าจริงแล้ว แม้ว่าตำนานเมืองสุวรรณโคมคำจะพูดถึงพวก “กรอม” หรือ “ขอม” ซึ่งหมายถึงชนพื้นเมือง แต่ก็เป็นชนพื้นเมืองที่เปลี่ยนมาสมาทานความเป็นพุทธเรียบร้อยแล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว กลุ่มเมืองต่างๆ ในวัฒนธรรมล้านนา และล้านช้าง จะเริ่มยอมรับนับถือในพุทธศาสนาในช่วงหลัง พ.ศ.1800 ลงมา ดังนั้น เมืองสุวรรณโคมคำ จึงอาจจะไม่เก่าแก่ไปถึงช่วงก่อน พ.ศ.1800 ตามอย่างเรื่องที่เล่าอยู่ในตำนานเรื่องดังกล่าว

ส่วนอีกฟากของน้ำโขงทางฝั่งลาวนั้น ปัจจุบันคือบริเวณบ้านต้นผึ้ง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ซึ่งก็คือ บริเวณพื้นที่ที่เมื่อเร็วๆ นี้พบพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งจมอยู่ใต้น้ำโขง และผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่า ทำไมพระพุทธรูปเหล่านี้จึงได้พบจมอยู่ใต้ลำน้ำโขงบริเวณนั้น •


 



ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2567
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_769962

 8 
 เมื่อ: มิถุนายน 01, 2024, 09:53:10 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ดันกระทู้

 9 
 เมื่อ: มิถุนายน 01, 2024, 07:33:17 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ดันกระทู้

 10 
 เมื่อ: มิถุนายน 01, 2024, 05:23:48 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ดันกระทู้

หน้า: [1] 2 3 ... 10