ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: มือใหม่หัดสวด 'โอ้เอ้วิหารราย'  (อ่าน 1207 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
มือใหม่หัดสวด 'โอ้เอ้วิหารราย'
« เมื่อ: พฤษภาคม 15, 2013, 02:00:33 pm »
0



มือใหม่หัดสวด'โอ้เอ้วิหารราย'
มือใหม่หัดสวด'โอ้เอ้วิหารราย' : โดย...ผกามาศ ใจฉลาด

     ในสมัยอยุธยา ประมาณปี 2025 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้แต่งมหาชาติคำหลวงขึ้น 13 กัณฑ์ เพื่อใช้สวดในเทศกาลเข้าพรรษา ณ วิหารใหญ่ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในการสวดครั้งนั้นจะคัดเลือกเฉพาะนักสวดที่เป็นราชบัณฑิต คือ ผู้ที่มีความสามารถในการสวด ออกเสียง แบ่งวรรคตอนถูกต้อง รู้ความหมายของคำ และมีน้ำเสียงไพเราะ รวมทั้งมีกลเม็ดหรือลูกไม้ในการอ่านเท่านั้น จะได้รับคัดเลือกเข้าไปสวดในวิหารใหญ่เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 3 ชุด ชุดละ 4 คน เพื่อสับเปลี่ยนกัน

     “ส่วนผู้ที่ไม่มีความสันทัด ไม่คล่อง ไม่ถูกทำนองในการสวด ก็จะได้แต่นั่งฝึก นั่งสวดอยู่ตามศาลาที่รายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์ ผู้คนในสมัยนั้นจึงเรียกนักสวดที่ยังต้องฝึกสวดอยู่ว่า โอ้เอ้ศาลาราย หรือโอ้เอ้วิหารราย เมื่อสวดจนชำนาญแล้วจะได้รับคัดเลือกเข้าไปสวดในวิหารใหญ่เฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัว”

    ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือขึ้นที่โรงทาน และโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนโรงทานนำหนังสือที่เรียนเรื่องใดก็ได้มาเป็นบทสวด ณ ศาลารายรอบพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยให้สวดตามที่เรียนมาตามถนัด เป็น 3 ทำนอง คือ ทำนองยานี ฉบัง และสุรางคนางค์

     ทำให้การฝึกสวดมหาชาติคำหลวงเดิมเปลี่ยนเป็นการสวดกาพย์พระไชยสุริยาเสียเป็นส่วนใหญ่ และหลังจากโรงทานเลิกไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดนักเรียนชั้นประถมศึกษาจาก 6 โรงเรียน มารับหน้าที่สวดโอ้เอ้วิหารรายแทน ได้แก่ โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนมหาวีรานุวัตร โรงเรียนวัดชัยชนะสงคราม โรงเรียนวัดพลับพลาชัย โรงเรียนวัดอมรินทราราม และโรงเรียนวัดประยุรวงศาวาส ซึ่งได้รับหน้าที่สวดมาระยะหนึ่ง ก่อนจะหาผู้สืบทอดการสวดต่อไม่ได้ และเลิกสวดไปในที่สุด



    ปัจจุบันสำนักพระราชวังได้ให้มีการรื้อฟื้นการสวดโอ้เอ้วิหารรายขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้กรมการศาสนาประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีสถานศึกษาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจัดนักเรียนเข้ารับการฝึกหัด เพื่อเข้าไปสวด ณ ศาลารายรอบพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกๆ ปี อันเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีที่มีมาแต่โบราณ

     ปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กรมการศาสนา ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาท และหน้าที่ในการรับสนองงานสถาบันพระมหากษัตริย์ด้านพระราชพิธี พระราชกุศล รัฐพิธี ศาสนพิธี และการสืบสานโบราณราชประเพณีการสวดพระมหาชาติคำหลวง มีหน้าที่ต้องฝึกหัดและฝึกซ้อมนักสวด ซึ่งถือเป็นงานราชการที่จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปสวดทุกๆ ปี ดังนั้น จึงมีหน้าที่จัดหาผู้ฝึกสอนการสวดคำฉันท์ตามหนังสือมูลบทบรรพกิจให้แก่นักเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดหาไว้เพื่อนำเข้ามาสวดโอ้เอ้วิหารรายในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาตามหนังสือแจ้งของสำนักพระราชวัง

     ล่าสุดฝ่ายพิธี กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา ได้จัดทำโครงการฝึกหัดสวดโอ้เอ้วิหารรายขึ้น โดยประสานความร่วมมือไปยังโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งนักเรียนที่อยู่ในสังกัดเข้าร่วมกิจกรรมปีนี้ จำนวน 150 คน อบรมที่วัดสามพระยา เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และคัดเลือกโรงเรียนที่รับหน้าที่ในการสวดโอ้เอ้วิหารราย ณ ศาลาราย รอบพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ปี 2556 จำนวน 9 วัน

     “จากการอบรมการสวดโอ้เอ้วิหารรายเมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงโรงเรียนต่างๆ ส่งบุตรหลานและนักเรียนเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้เด็กที่ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงเด็กออทิสติก ได้เข้ารับการอบรมสวดโอ้เอ้วิหารราย ทำให้เด็กกลุ่มนี้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้เสริมสร้างทักษะความจำ มีสมาธิ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ถือเป็นต้นแบบให้แก่เยาวชนไทยอนุรักษ์และสืบทอดการสวดโอ้เอ้วิหารรายที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี ตามแบบแผน อักขรวิธี”



    ปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่า "การสวดโอ้เอ้วิหารราย" ก็คือ
     ทำนองการอ่านหนังสือสวดของเด็กนักเรียนซึ่งใช้กลอนสวดเป็นแบบฝึกอ่าน
     และสำหรับชื่อการสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้น มีที่มาจากการที่ผู้สวดหรือผู้ที่เริ่มหัดสวด
     เสียงสวดยังอ้อแอ้อยู่ ก็ให้สวดตามวิหารรายรอบโบสถ์ไปก่อน
     อ้อแอ้ ต่อมาเพี้ยนเป็น โอ้เอ้

     ต่อมาจึงรวมเรียกการสวดแบบนี้ว่า "โอ้เอ้วิหารราย"
     ปัจจุบันใช้ในความหมายชักช้า ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสวด
     (เรียงร้อยถ้อยไทย, 2546 : รายการโทรทัศน์)


     การฟื้นฟูสวดโอ้เอ้วิหารรายได้รับความร่วมมือร่วมใจจากหลายหน่วยงาน นอกจากจะได้รับประโยชน์โดยตรงที่เป็นการสืบทอดการสวดโอ้เอ้วิหารราย ซึ่งมีมานานกว่า 400 ปี มิให้สูญหายแล้ว ยังเป็นการสร้างให้เยาวชนไทยได้ตระหนักและรับรู้ถึงคติธรรมที่ได้จากเนื้อเรื่องที่นำมาสวด รวมทั้งได้รับอรรถรสขั้นสุนทรีย์จากความงดงามของภาษาและท่วงทำนองที่ใช้ในการสวดซึ่งจะช่วยหล่อหลอม กล่อมเกลาให้เยาวชนมีจิตใจที่งดงาม เข้าถึงแก่นแท้ของขนบธรรมเนียมประเพณีไทย คิดที่จะทำนุบำรุง ปกปักรักษาให้มรดกวัฒนธรรมของไทยคงอยู่คู่ชาติไทยอย่างเข้าใจในคุณค่าอย่างแท้จริงสืบไป

      อย่างไรก็ตาม กรมการศาสนายังพบปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงาน เช่น การจัดกิจกรรมการสวดโอ้เอ้วิหารรายมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนน้อย เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียน และตรงกับช่วงสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย สถานศึกษาไม่ค่อยให้ความร่วมมือ และยังไม่เห็นถึงความสำคัญในการสวดโอ้เอ้วิหารราย อีกทั้งงบประมาณในการดำเนินงานกิจกรรมมีจำกัด ทำให้ต้องรวบรัดการฝึกหัดสวดให้เร็วขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนนักเรียนที่ร่วมสวดโอ้เอ้วิหารรายน้อย หรือซ้ำคนเดิม เนื่องจากยังสวดไม่คล่อง

ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.komchadluek.net/detail/20130514/158406/มือใหม่หัดสวดโอ้เอ้วิหารราย.html#.UZMxK0rSi85
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ