ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การเดินทาง กับ หนทางที่เลือก คร้า...  (อ่าน 3027 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

หมวยจ้า

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +40/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1336
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
การเดินทาง กับ หนทางที่เลือก คร้า...
« เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 02:00:57 am »
0
 เดินทาง...เดินทาง...เดินทาง



การ เดินทางไปสู่ดวงจันทร์ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ซึ่งจะต้องเดินออกไปจากโลกไปสู่ดวงจันทร์ นี้ย่อมเป็นการยากอย่างยิ่งสำหรับผู้ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้วิชาการทางอวกาศของ ผู้ไม่มีปัญญา แต่ก็ไม่เป็นสิ่งที่ง่ายนักและที่สำคัญ ไม่ใช่สิ่งสุดวิสัยของนักวิทยาศาสตร์ เขาย่อมไปสู่ดวงจันทร์ได้ ดังที่เรารู้กันอยู่ทุกวันนี้ การเดินทางจากโลกิยภูมิไปสู่โลกุตรภูมิซึ่งเป็นคนละภูมิกันประมาณไม่ได้ว่า จะต้องใช้เวลาเดินทางอีกสักกี่โกฏิชาติจึงจะถึง นี้ย่อมยากสำหรับผู้ไม่ได้ศึกษาอุดมวิชชาทางพระพุทธศาสนามีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น
แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก และไม่เป็นสิ่งเกินวิสัยของผู้ศึกษาอุดมวิชาทางพระพุทธศาสนามีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้นนั้น ให้สมบูรณ์ดีแล้ว เขาย่อมไปถึงโลกุตรภูมิได้ในที่สุดด้วยวิชชาคือ สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ของเขานั่นเอง.

พุทฺธสโร ภิกฺขุ

สายที่ ๑
ทางไปนรก

บุคคล จะเดินทางไปนรกนั้น ได้นามว่า “มนุสฺสเนรยิโก” ตัวเป็นมนุษย์ แต่ใจตกอยู่ในสภาวะของนรก เพราะกำลังเปิดประตูนรก กำลังจะเดินทางไปนรก
อะไร เป็นทางไปนรก โทสะ ความโกรธนั่นเอง เป็นทางไปนรก นรกมีสภาพเป็นอย่างไรนั้น ผู้ได้อภิญญาจึงสามารถเห็นได้ ส่วนสามัญชนก็อาศัย “ตถาคตโพธิสัทธา” เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตามนัยที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฏกเท่านั้น
มีเหตุผลพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า นรกนั้นต้องเป็นสถานที่ร้อนเพราะเหตุคือ โทสะ อันเป็นทางไป ก็เป็นของร้อนมากอยู่แล้ว เช่น ในเวลาที่โทสะเกิดขึ้นก็จะรู้สึกร้อนใจเป็นกำลัง กลุ้มใจไปหมดทุกหนทุกแห่ง เสียใจไปทุกหนทุกแห่ง ริษยาไป หึงหวงไป รำคาญไป แค้นเคืองใจไปไม่มีที่สิ้นสุด โทสะ ความโกรธอันใดที่มีมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นปัจจัย จนเป็นเหตุให้ทำทุจริต มีการฆ่า หรือว่ากล่าวหยาบช้าต่างๆ เป็นต้นแล้ว นั้นแหละเป็นหนทางไปสู่นรกโดยแน่นอน
ถ้า มีโทสะ แต่ไม่ถึงกับเห็นผิดคิดร้าย เป็นเหตุให้ทำผิดทุจริตต่าง ๆ แล้ว ก็ยังไม่ไปนรก เป็นเพียงให้ทุกข์ ๆ ยาก ๆ พาลำบากอยู่ในมนุษย์เท่านั้น ก็ยังส่งผลให้ได้รับความทุกข์ยากต่อไปในชาติหน้าอีก
ดังนั้น นรกจึงร้อนแรงด้วยไฟนรกเผาผลาญ และมีอาวุธทิ่มแทงให้เสวยทุกขเวทนาอันแสนสาหัสด้วยแรงกรรมที่ทำไว้ ร้อนจนกระทั่งขาดใจตาย แล้วเกิดขึ้นอีก ถูกไฟแผดเผาอีก ทนต่อความร้อนแรงไม่ไหวจนตาย ตายแล้วเกิดอีก เป็นอยู่เช่นนี้จนกว่าจะสิ้นกรรมที่ได้กระทำบาปด้วยอำนาจของโทสะ
บุคคล ที่ทำทางนรกไว้บ่อย ๆ เวลาถึงมรณาสันนกาล เมื่อใกล้จะตายจะปรากฏกรรมเห็นแต่การกระทำบาป หรือปรากฏเห็นแต่กรรมนิมิตเครื่องมือที่ทำบาป และคตินิมิตนรกขุมที่จะไปตก ซึ่งมีไฟและศัสตราวุธ เป็นต้น เมื่อได้อารมณ์อันใดอันหนึ่งเช่นนี้แล้วตายไปในขณะนั้น ย่อมไปตกอยู่ในนรกสิ้นกาลนาน แม้พ้นจากนรกแล้วเศษบาปที่เหลืออยู่ ก็จะตามสนองให้ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย หรือสัตว์ดิรัจฉาน ถ้าบุญในภพก่อน ๆ มีอยู่บ้าง ก็จะส่งผลให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ จะเป็นมนุษย์ที่พิกลพิการทุพพลภาพไม่สมประกอบ ใบ้ บ้า หนวก บอด วิกลจริตต่าง ๆ ทั้งนี้ก็ล้วนเป็นเพราะเศษบาปที่เหลืออยู่ประทับตราสัญลักษณ์ของนรกไว้ด้วย อำนาจแห่งโทสะ ความโกรธเป็นมูลมานั่นเอง.

สายที่ ๒
ทางไปเปรต – อสุรกาย

ทาง ไปเปรต อสุรกายนี้ มีโลภะเป็นทาง แต่ต้องเป็นโลภะที่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด กระทำทุจริต ด้วยการทำโจรกรรม ปล้นสะดม ประพฤติผิดในกาม (มีชู้) และพูดโกหก หลอกลวงต้มตุ๋นต่าง ๆ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นความยากได้สามัญธรรมดาแล้ว กระทำสุจริต พากเพียรพยายาม หาทรัพย์ในทางที่ชอบ ไม่เป็นเหตุให้ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย ความอยากได้ไม่ถึงกับเห็นผิดหรือกระทำทุจริตนี้เป็นเพียงให้ทุกข์ ๆ ยากๆ ทะเยอทะยานมักใหญ่ใฝ่สูงอยู่ในโลกนี้เท่านั้นหรือทางทีวิบากแห่งกรรมนั้น ก็ตามสนองให้ไปเกิดเป็นคนยากจนต่อไปในชาติหน้าก็ได้ เรียกคนที่มีโลภะมากนี้ว่า “มนุสฺสเปโต” ตัวเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นเปรต
ภูมิ แห่งเปรตและอสุรกายนั้น เป็นภูมิที่หิวกระหายทรมานอยู่ตลอดเวลา และไม่กล้าปรากฏกาย หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ในภูมินั้นตลอดกัปป์ ตลอดกัลป์ จนกว่าจะสิ้นวิบากกรรมที่ตนได้กระทำไว้
ความจริงคนที่มีโลภะจิตนั้น ย่อมมากไปด้วยความหิวกระหายจมอยู่ด้วยความคิดว่า “ไม่มี ๆ ๆ”
ดังนั้น จึงเป็นคนมากไปด้วยความไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ อันเป็นเหตุให้ทำทุจริต มีประการต่าง ๆ
ครั้นเมื่อจวนจะสิ้นชีวิต จึงได้ปรากฏทุจริตกรรมที่ตนได้กระทำมามีอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร หรือมุสาวาท เป็นต้น
บาง ทีได้ปรากฏเป็นกรรมนิมิต เครื่องหมายแห่งการขโมย หรือเครื่องหมายที่เป็นชู้สาว หรือโกหก หลอกลวง ปรากฏขึ้นมาเป็นอารมณ์ บางทีก็ได้ปรากฏเป็นคตินิมิต เห็นเป็นโคลนตมริมแม่น้ำลำคลองหรือชายป่า ถ้าขาดใจตายลงไปในขณะนั้น ก็จะไปเกิดในภพภูมิแห่งเปรตและอสุรกายตามผลแห่งวิบากกรรมที่ตามสนองนั้น แล้วยังมีเศษแห่งบาปที่เหลืออยู่นั้นให้ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้อีก
พ้น จากภูมิแห่งสัตว์ดิรัจฉานแล้ววิบากแห่งบาปนั้นก็ตามสนองให้เกิดเป็นคนยากจน อนาถา เป็นคนเข็ญใจ สิ่งอัปมงคลเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะอาศัยอำนาจของโลภะนั่นเอง

สายที่ ๓
ทางไปดิรัจฉาน

ทางไปเป็นสัตว์ดิรัจฉานนั้น มีโมหะเป็นทางไป ผู้ที่เดินทางไปเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เรียกว่า
“มนุสฺสติรจฺฉาโน” ตัวเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นสัตว์ดิรัจฉานคือ มีโมหะ ความหลงไม่รู้ มืดมน อนธการอยู่เสมอ
ความ เป็นสัตว์ดิรัจฉานนั้นคือ ความเป็นสัตว์ที่ไปขวางคือ ไม่รู้จักบำเพ็ญบุญกุศล เป็นต้น ตลอดถึงขวางแนวทางปฏิบัติเพื่อความสำเร็จและขวางมรรคผล เมื่อโมหะอกุศลกรรมนำไปเกิดในอบายภูมิ คือดิรัจฉานภูมินี้แล้วก็หมดโอกาสไปตลอดชาติ ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ แม้พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระธรรมอุบัติขึ้น พระสงฆ์อุบัติขึ้น ก็หารู้ไม่กินแล้วนอน และสืบพันธุ์เท่านั้น นอกจากนั้น ยังได้รับภัยต่าง ๆ มิได้ขาดสาย เช่น ถูกมนุษย์เบียดเบียน ถูกนำไปฆ่า นำไปใช้งาน นำไปกักขังไว้ดูเล่น นอกจากนั้น ยังถูกสัตว์ใหญ่เบียดเบียนนำเอาไปเป็นอาหารบ้าง ถูกความเจ็บป่วยไข้เบียดเบียนบ้าง ให้ได้รับทุกขเวทนาต่าง ๆ สัตว์เมื่อโมหะครอบงำเสียแล้วย่อมไม่รู้หนทางพ้นทุกข์ ไม่รู้จักหนทางที่จะออกจากทุกข์ จึงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฎฏสงสารยาวนาน อันหาเบื้องต้นและที่สุดไม่ได้อย่างนี้เรื่อยไป
บุคคลที่ทำอกุศลกรรม ด้วยอำนาจแห่งโมหะดังกล่าวมาแล้ว เวลาใกล้จะตายจะปรากฏกรรม การกระทำบาปต่าง ๆ เป็นอารมณ์ หรือเป็นกรรมนิมิต คตินิมิต เมื่อตายแล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๕๐๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติเป็นต้น จนกว่าจะสิ้นวิบากแห่งบาปกรรม บางทีได้สร้างอกุศลกรรมในภูมิที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานไว้อีก ก็จะไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานที่ต่ำต้อยลงไปทุกที ๆ จากช้างเป็นม้า เป็นลา กระบือ วัว หมู แมว สุนัข ลิง ค่าง บ่าง ชะนี งู นก หนู ปู ปลา ตะขาบ กิ้งกือ กุ้ง หอย ไส้เดือน ตลอดถึงสัตว์เล็ก ๆ ที่เป็นจุลินทรีย์ ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ยากที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก หากพ้นจากสัตว์ดิรัจฉานมาเกิดเป็นมนุษย์ก็กลายเป็นคนโง่ เซ่อ ขาดสติ หลง ๆ ลืม ๆ ไม่เต็ม นับสิบไม่ถ้วน ไม่อาจสามารถดำรงสติปัญญา ทำความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัวโดยลำพังตนเองได้

สายที่ ๔
ทางไปมนุษย์

การ ที่มนุษย์เราได้อุบัติบังเกิดขึ้นมานี้ มีหนทางมา หากไม่มีหนทางมาแล้ว ก็จะมาเกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้ การมาเกิดเป็นมนุษย์ต้องมีมนุษยธรรมเป็นทาง ซึ่งได้แก่ เบญจศีล-เบญจธรรมนั้นเอง ถ้าประพฤติมนุษยธรรมบกพร่องการเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่สมบูรณ์บกพร่องไปตามสัด ส่วนแห่งวิบากของบาป
เบญจศีล คือ ศีล ๕ ได้แก่
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการลักทรัพย์
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานาเวรมณี เว้นจากการดื่มสุราเมรัยของมึนเมา อันเป็นเหตุให้เกิดความประมาท
เบญจธรรม คือ ธรรม ๕ ได้แก่
๑. เมตตากรุณา รักสงสารสรรพสัตว์
๒. สัมมาอาชีพ เลี้ยงชีพโดยสุจริตชอบธรรม
๓. สทารสันโดษ ยินดีเฉพาะภรรยา-สามีของตนเท่านั้น
๔. สัจจวาจา พูดคำสัตย์จริง
๕. สติสัมปชัญญะ มีความระลึกได้ และมีความรู้รอบ

บาง คนเกิดมามีอายุสั้น พลันตายเสียแต่ยังเป็นหนุ่มสาว หรือยังมีชีวิตอยู่ก็เจ็บป่วยอยู่เสมอ เพราะชาติก่อนนั้นบกพร่องด้วยศีลข้อ ๑ หมายความว่า ในชาติปางก่อนนั้น เว้นจากการฆ่าสัตว์ไม่สมบูรณ์ ยังมีการเบียดเบียนสัตว์ ขาดเมตตากรุณาอยู่บ้าง จึงเป็นเหตุทำให้อายุสั้นหรือโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอยู่เสมอ
บางคน เกิดมาเป็นคนยากจน หาเช้ากินค่ำ ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำก็ยังยากจนอยู่ บางทีต้องขอทานเขากิน ก็เพราะเหตุว่า ในชาติปางก่อนโน้น ได้เป็นผู้บกพร่องในศีลข้อ ๒ ธรรมข้อ ๒ คือ เว้นจากการลักทรัพย์ไม่สมบูรณ์ ประพฤติมิจฉาชีพเป็นครั้งคราว จึงเป็นเหตุให้มาเกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์ในชาตินี้
บางคนเกิดมา ถูกหลอกลวง เสียทรัพย์สินเงินทอง ตลอดถึงเสียตัว เสียความบริสุทธิ์ ก็เพราะชาติก่อนบกพร่องในศีลข้อ ๓ ไม่ยินดีเฉพาะภรรยาสามีของตน จึงได้รับความชอกช้ำระกำใจ เพราะถูกหลอกลวงในชาตินี้
บางคนเกิดมาถูกใส่ ความต่าง ๆ นานา เรื่องไม่ผิดก็ถูกกล่าวหาว่าผิดเพราะในชาติก่อนประพฤติผิดศีลข้อ ๔ หมายความว่า เป็นผู้ชอบพูดเท็จไม่จริง ขาดสัจจวาจาไม่ค่อยพูดความจริงจึงเป็นผลสะท้อนให้ถูกใส่ร้ายป้ายสีอยู่ใน ชาตินี้มิได้หยุดหย่อน
บางคนเกิดมาพิการวิกลจริต เป็นใบ้ บ้า หนวก บอด ก็เพราะประพฤติผิดศีลข้อ ๕ ทำให้บกพร่องไม่สมบูรณ์ คือเว้นจากการดื่มสุราเมรัยไม่เด็ดขาด ปราศจากสติสัมปชัญญะในชาติก่อน จึงพาให้มาเกิดเป็นคนมีสติวิปลาสวิกลจริตในชาตินี้ พลาดจากประโยชน์ที่จะพึงได้พึงถึง เป็นคนที่สังคมรังเกียจ ชาวโลกไม่ต้องการน่าเสียดายชีวิตที่เกิดมาแล้วไร้ค่า
บางคนเกิดมาแล้วมี อายุยืนยาวนาน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนทั้งเป็นคนร่ำรวย มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ พร้อมยศและบริวาร ทั้งไม่มีผู้ใดหลอกลวงหรือใส่ร้ายได้ เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะดีอยู่เสมอ ก็เพราะอานิสงส์รักษาศีล ๕ และปฏิบัติเบญจธรรม ๕ อย่างมั่นคงสมบูรณ์ นั่นเอง

สายที่ ๕
ทางไปสวรรค์

จะไป เกิดในภพภูมิของเทวดา จะต้องมีหิริโอตตัปปะ ตามภาษิตที่ว่า หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร แปลว่า สัปบุรุษทั้งหลายผู้สงบในโลกผู้ประกอบด้วยธรรมอันขาว ถึงพร้อมแล้วด้วยหิริและโอตตัปปะ เรียกว่า ผู้มีเทวธรรม.

หิริ ความละอายต่อบาป ไม่กล้าทำบาป มีความกระดากใจ เพราะเห็นว่าจะต้องได้รับทุกข์ต่าง ๆ จึงไม่กล้าฆ่าสัตว์ ไม่กล้าลักทรัพย์ ไม่กล้าประพฤติผิดในกาม ไม่กล้าพูดเท็จ ไม่กล้าดื่มสุราเมรัย รู้สึกละอายแก่ใจอยู่เสมอ
โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปทุจริต เพราะเห็นว่าจะได้รับทุกข์ต่าง ๆ ในอบายภูมิ มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำบาปอยู่เสมอ ตลอดถึงความคิด ก็คิดแต่เรื่องที่เป็นกุศล

เมื่อ ไม่กล้าทำบาป เพราะมีหิริและโอตตัปปะ แล้วกลับใจได้เช่นนั้นแล้ว ก็คิดแต่จะทำบุญกุศล ถวายทาน รักษาศีล เจริญภาวนาไปตามกำลังและความสามารถ บำเพ็ญบุญกิริยาเนือง ๆ สร้างวัดวาอาราม สร้างโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฎี สร้างโรงเรียน เป็นต้น ในเวลาสิ้นชีวิต อาศัยวิบากแห่งบุญกุศลที่ตนได้กระทำไว้ ด้วยอำนาจแห่งหิริและโอตตัปปะนั้น ๆ มาปรากฏเป็นธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่ตนเคยทำบุญไว้ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ
๑. การถวายทาน
๒. การรักษาศีล
๓. การเจริญภาวนา
๔. การอุทิศส่วนบุญ (ประกาศบุญที่ตนกระทำไว้แล้วให้ผู้อื่นทราบ)
๕. การอนุโมทนาในส่วนบุญที่ผู้อื่นได้บำเพ็ญแล้ว
๖. การอ่อนน้อมถ่อมตน คารวะต่อผู้ใหญ่
๗. การช่วยเหลือ ขวนขวายกิจการที่ชอบที่ควร และเหมาะสม
๘. การแสดงธรรม
๙. การฟังธรรม
๑๐. การทำความเห็นของตนให้ตรงตามธรรม

ถึง แม้นึกถึงกุศลกรรมเหล่านี้ไม่ได้ หรือไม่ได้นึกถึง วิบากแห่งกุศลกรรมเหล่านั้นก็จะมาปรากฏเป็นกรรมนิมิต อันเป็นเครื่องหมายหรือบริวารของกรรม เช่น ปรากฏเห็นวัตถุทานต่าง ๆ เห็นจีวร เห็นภัตตาหาร เห็นเสนาสนะ ที่อยู่ที่อาศัย และยารักษาโรค แล้วจิตก็ยึดเอากรรมนิมิตเหล่านั้นเป็นอารมณ์หรือมิฉะนั้นก็จะปรากฏเป็นคติ นิมิต อันเป็นเครื่องหมายแห่งการที่จะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เช่น ปรากฏเห็นวิมาน เห็นอาหารทิพย์ เห็นผ้าทิพย์ เห็นเครื่องทรงของเทวดา เป็นต้น แล้วจิตก็ยึดเอาคตินิมิตเหล่านั้นเป็นอารมณ์
ถ้ากรรม กรรมนิมิต หรือคตินิมิตดังกล่าวมาแล้วนั้นมาปรากฏเป็นอารมณ์ เมื่อเวลาตายก็จะถือปฏิสนธิบังเกิดในเทวโลกกามาวจรสวรรค์ กามาวจรสวรรค์นั้นมี ๖ ชั้น คือ
๑. ชั้นจาตุมหาราชิกา อายุยืน ๕๐๐ ปีทิพย์ ก็เท่ากับ ๙ ล้านปีมนุษย์
๒. ชั้นดาวดึงส์ อายุยืน ๑,๐๐๐ ปีทิพย์
๓. ชั้นยามา อายุยืน ๒,๐๐๐ ปีทิพย์
๔. ชั้นดุสิตา อายุยืน ๔,๐๐๐ ปีทิพย์
๕. ชั้นนิมมานรดี อายุยืน ๘,๐๐๐ ปีทิพย์
๖. ชั้นปรนิมมิตวัสสวัตตี อายุยืน ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์

ก็ จะไปบังเกิดในชั้นใดชั้นหนึ่งสุดแล้วแต่อำนาจของบุญกุศลที่ได้ทำไว้มากน้อย ต่างกัน เมื่อเกิดเป็นเทวดาแล้ว ย่อมได้เสวยทิพยสมบัติ มีอาหารเป็นทิพย์ มีอาภรณ์เครื่องประดับเป็นทิพย์ มีร่างกายอันละเอียดประณีตสุขุมยิ่งนัก เหมาะสำหรับของทิพย์ทุกประการ เสวยแต่ความสุขอันเกิดจากกามารมณ์อยู่เป็นนิตย์ ตลอดกาลนาน ร้อยปีทิพย์ พันปีทิพย์หรือหมื่นปีทิพย์ จนกว่าจะสิ้นอายุแห่งบุญ เมื่อสิ้นอายุแห่งบุญแล้วก็จุติจากเทวโลกลงมาปฏิสนธิในมนุษย์โลก
ส่วน มากย่อมปฏิสนธิในราชตระกูลหรือในตระกูลเศรษฐี หรือตระกูลสาธุชนผู้เป็นสัมมาทิฏฐิได้รับความสุขสำราญจากการบำรุงบำเรอทุก ประการด้วยอำนาจเศษวิบากของบุญเหลือมาจากเทวดานั่นเอง

“อุฏฺฐหถ นิสีทถ โกอตฺโถ สุปิเตนโว
อาตุรานํ หิ กา นิทฺทา สลฺลวิทฺธาน รุปฺปตํ
อุฏฺฐหถ นิสีทถ ทฬฺหํ สิกฺขถ สนฺติยา”

จง ลุกขึ้นเถิดท่านทั้งหลาย จงนั่งเถิด ท่านจะมัวนอนฝันเอาประโยชน์อะไร เพราะเมื่อชาวโลกทั้งหลาย กำลังวุ่นวาย ถูกลูกศร คือความยากจน ชั่วร้าย เสียบแทงป่นปี้ ฉะนี้ จะมัวหลับอยู่ทำไม จงลุกขึ้นเถิดท่านทั้งหลาย จะนั่งเถิดท่านทั้งหลาย จงศึกษา จงปฏิบัติ เพื่อสันติให้มั่นเถิด

สายที่ ๖
ทางไปพรหมโลก

ทาง ไปเกิดเป็นพรหมนั้น ต้องมีฌานเป็นหนทางไป บุคคลที่จะทำฌานให้บังเกิดขึ้นได้นั้น ได้แก่ พระโยคาวจร หรือเรียกว่า โยคีบุคคล ผู้ละปลิโพธเครื่องกังวลห่วงใยต่าง ๆ หลีกออกจากกามารมณ์ไปสู่เรือนว่างหรือภูเขาที่สงบสงัด ไม่ลำบากด้วยความเป็นอยู่เรื่องอาหาร เข้าหาครูอาจารย์ ผู้พร่ำสอนสมถกรรมฐาน ซึ่งอาจารย์จะนำเอาอารมณ์กรรมฐาน ๔๐ อย่าง คือ กสิน ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อสุภะ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูป ๔ นอกนั้นอีก ๑๐ อย่าง เป็นเพียงให้ได้อุปจารฌานเท่านั้น ถ้าผู้มีปัญญาก็สามารถทำให้เป็นบาทของวิปัสสนาได้ คนราคะจริต พึงเจริญอสุภะ ๑๐ หรือกายคตาสติ จึงจะเหมาะสม คนโทสะจริต เจริญ อัปปมัญญา ๔ หรือวัณณกสิณจึงเหมาะสม คนโมหะจริตหรือวิตกจริต เจริญอานาปานัสสติ กำหนดลมหายใจเข้าออกจึงจะเหมาะสม คนศรัทธาจริตเจริญอนุสสติ ๖ คือ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ จึงจะเหมาะสม จะทำให้สงบเร็ว คนมีปัญญาจริต หรือพุทธิจริต เจริญกรรมฐาน ๔ อย่าง คือ มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัตถาน จึงเหมาะสมทำให้สงบเร็ว
ส่วนกรรมฐานที่เหลือ ๑๐ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย อาโลโก อากาโส และอรูปกรรมฐาน ๔ เหมาะสมกับคนทุก ๆ จริต
เมื่ออาจารย์ได้ให้กรรมฐานนั้นไปปฏิบัติ จนถึงอัปปนาภาวนาแน่วแน่เป็นฌาน ผู้ทำสมถะนั้นย่อมได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน๔
รูปฌาน ๔ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อรูปฌาน ๔ ได้แก่
อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

- ผู้ได้ปฐมฌาน ย่อมมีวิตก นึกถึงกรรมฐานอย่างเดียว วิจารณ์พิจารณากรรมฐานอย่างเดียว ปีติ อิ่มใจในกรรมฐานอย่างเดียว สุขด้วยอำนาจของปีติ เอกัคคตา (ถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เดียว)
- ผู้ที่ได้ทุติยฌาน ไม่มีวิตก วิจารณ์ มีแต่ปีติ สุข เอกัคคตา
- ผู้ที่ได้ตติยฌาน ไม่มีปีติ มีแต่สุข เอกัคคตา
- ผู้ที่ได้จตุตถฌาน เปลี่ยนสุขเป็นอุเบกขาพร้อมกับมีเอกัคคตาเท่านั้น ทั้งนี้นับโดยจตุกนัย แต่ถ้านับโดยปัญจกนัยแล้วได้ฌาน ๕ คือ ปฐมฌาน ทุตติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และ ปัญจมฌาน เมื่อรวมเข้าเป็นจตุกนัย คือ เอาทุติยฌานกับตติยฌาน เป็นทุติยฌาน ส่วน จตุตถฌานเป็นตติยฌาน และปัญจมฌานเป็นจตุตถฌาน
- ผู้ได้อากาสานัญจายตนฌาน มีแต่อุเบกขา เพ่งอากาศเฉยอยู่กับมีเอกัคคตารู้เฉพาะอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเท่านั้น
- ผู้ได้วิญญานัญจายตนฌาน มีแต่เพ่งวิญญาณเฉยอย่างเดียวว่าวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด
- ผู้ได้อากิญจัญญายตนฌานมีแต่เพ่งนัตถิภาวะเฉยอยู่อย่างเดียวว่าไม่มีอะไร น้อยหนึ่งก็ไม่มี นิดหนึ่งก็ไม่มีเท่านั้น
- ผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีแต่เพ่งสัญญาเฉยอยู่อย่างเดียว ว่าสัญญานี้สงบประณีตอย่างยิ่ง จะว่ามีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ไช่

เมื่อได้จตุตถฌานหรือปัญจมฌานแล้วอภิญญาย่อมเกิดขึ้นได้ถึง ๕ อย่าง คือ
๑. อิทธิวิธิอภิญญา- แสดงฤทธิ์ได้
๒. ทิพพโสตอภิญญา-หูทิพย์ ฟังเสียงมนุษย์และเทวดาที่อยู่ในที่ไกลเหนือสามัญชนได้
๓. ปรจิตตวิชานนอภิญญา - รู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสสติอภิญญา – ระลึกความเป็นอยู่ในชาติก่อน ๆ ได้
๕. ทิพพจักขุอภิญญา – ตาทิพย์ เห็นสิ่งล้ำลึกต่าง ๆ อันสามัญชนทั่วไปเห็นไม่ได้

บุคคลได้ฌานเห็นปานนี้แล้ว ถ้าฌานไม่เสื่อมในเวลาสิ้นชีวิต มรณภาพลง ฌานจะเป็นปัจจัยให้ไปปฏิสนธิในพรหมโลก ตามลำดับชั้นดังต่อไปนี้
- ผู้ได้รูปาวจรฌานกุศลอย่างต่ำ มีอำนาจให้เกิดปฐมฌานวิปากจิต ปฏิสนธิในพรหมปาริสัชชาในปฐมฌานภูมิ มีอายุยืน ส่วน ๑ใน ๔ ของกัปป์
- ผู้ได้รูปาวจรปฐมฌานกุศลอย่างกลาง มีอำนาจให้เกิดปฐมฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหม ปุโรหิตา ในปฐมฌานภูมิ มีอายุยืนส่วน ๑ ใน ๒ ของกัปป์
- ผู้ได้รูปาวจรปฐมฌานกุศลอย่างประณีต มีอำนาจให้เกิดฌานวิปากจิตปฏิสนธิเป็นมหาพรหม ในปฐมฌานภูมิ อายุยืน ๑ มหากัปป์
- ผู้ได้รูปาวรจรทุติยฌานกุศลอย่างต่ำ มีอำนาจให้เกิดทุติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหม ปริตตาภา ในทุติยฌานภูมิ อายุยืน ๒ มหากัปป์
- ผู้ได้รูปาวจรทุติยฌานกุศลอย่างกลาง มีอำนาจให้เกิดทุติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมอัปปมาณาภา ในทุติยฌานภูมิ อายุยืน ๔ มหากัปป์
- ผู้ได้รูปาวจรทุติยฌานกุศลอย่างประณีต มีอำนาจให้เกิดทุติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมอาภัสรา ในทุติยฌานภูมิ อายุยืน ๘ มหากัปป์
- ผู้ได้รูปาวจรตติยฌานกุศลอย่างต่ำ มีอำนาจให้เกิดตติฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหม ปริตตาภา ในตติยฌานภูมิ อายุยืน ๑๖ กัปป์
- ผู้ได้รูปาวจรตติฌานกุศลอย่างกลาง มีอำนาจให้เกิดตติฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหม อัปปมาณาสุภา ในตติยฌานภูมิ อายุยืน ๓๒ มหากัปป์
- ผู้ได้รูปาวจรติยฌานกุศลอย่างประณีต มีอำนาจให้เกิดตติยฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหมสุภกิณหกา ในตติยฌานภูมิ มีอายุยืน ๖๔ มหากัปป์
- ผู้ได้จตุตถฌานภูมิ มีอำนาจให้ไปเกิดในจตุตถฌานวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นพรหม ๓-๗ จำพวก ดังต่อไปนี้
ชั้นพรหมเวหัปผลา และพรหมอสัญญีสัตตาพรหม มีอายุยืนถึง ๕๐๐ มหากัป

ชั้นสุทธาวาส ๕ (ที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์)ซึ่งเป็นที่ปฏิสนธิของพระอนาคามี มีอายุยืนตามลำดับดังนี้
๑. ชั้นอวิหา อายุยืน ๑,๐๐๐ มหากัปป์
๒. ชั้นอตัปปา อายุยืน ๒,๐๐๐ มหากัปป์
๓. ชั้นสุทัสสา อายุยืน ๔,๐๐๐ มหากัปป์
๔. ชั้นสุทัสสี อายุยืน ๘,๐๐๐ มหากัปป์
๕. ชั้นอกนิฏฐา อายุยืน ๑๖,๐๐๐ มหากัปป์

- ผู้ได้อรูปฌานย่อมเกิดในอรูปภูมิ ตามลำดับดังนี้
- ผู้ได้อากาสานัญจายตนกุศล ให้เกิดอากาสานัญจายตนวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ในอากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุยืน ๒๐,๐๐๐ มหากัปป์
- ผู้ได้วิญญานัญจายตนกุศล ให้เกิดวิญญานัญจายตนวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ในวิญญายตนภูมิ มีอายุยืน ๔๐,๐๐๐ มหากัปป์
- ผู้ได้อากิญจัญญายตนกุศล ให้เกิดอากิญจัญญายตนวิปากจิต ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ในอากิญญายตนภูมิ มีอายุยืน ๖๐,๐๐๐ มหากัปป์
- ผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนกุศล ให้เกิดเนวสัญญานาสัญญายตนวิปากจิต ปฏิสนธิเป็น อรูปพรหม (ภวัคคพรหม) ในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัปป์

พรหมสิ้นอายุ
พรหมต่าง ๆ ที่มีอายุยืนตั้งแต่ส่วน ๑ ใน ๔ มหากัปป์ จนถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัปป์นั้น ย่อมยาวนานเหลือตณานับ ได้แต่เพียงอุปมาว่า นับตั้งแต่โลกเกิดขึ้นแล้ว จนเจริญเต็มที่ จนกระทั่งโลกพินาศ จึงนับเป็นมหากัปป์ ๑ หรืออุปมาเหมือนภูเขาแท่งทึบ กว้างด้านละ ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ เวลาร้อยปีทิพย์ จึงมีเทวดานำเอาผ้าทิพย์อันละเอียดมาปัดไปทีหนึ่ง จนกระทั่งภูเขานั้นเรียบเสมอพื้นดิน จึงเรียกว่า มหากัปป์ หรืออุปมาเหมือนสระใหญ่กว้างด้านละ ๑ โยชน์ทั้ง ๔ ด้านลึก ๑ โยชน์ เวลา ๑๐๐ ปี มีเทวดานำเอาเมล็ดผักกาดใส่ลงในสระใหญ่นั้น จนกระทั่งเต็มสระเรียบเสมอพื้นดิน เรียกว่า มหากัปป์

พรหมจะสิ้น อายุ แล้วกลับมาปฏิสนธิเป็นเทวดาหรือมนุษย์แต่จะไม่ไปตกอบายภูมิ เพราะอำนาจของฌานรักษาไว้ ต่อเมื่อทำความชั่วในเทวดาหรือมนุษย์ จึงจะตกอบายภูมิ เมื่อพรหมจุติเป็นมนุษย์นั้น ย่อมเป็นมนุษย์ที่มีสติปัญญา ประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ชอบอิสระ อยู่เป็นโสด ยินดีในสิ่งที่สงัด ชอบทำกรรมฐาน พอใจในเพศบรรพชิตเป็นส่วนมาก ทั้งนี้ ก็เพราะอำนาจ บารมีที่ตนได้บำเพ็ญฌานมาเป็นปัจจัยอุปถัมภ์ให้เป็นไป ทำอะไรมักจะได้ดีเป็นพิเศษอยู่เสมอ

สายที่ ๗
ทางไปพระนิพพาน

หน ทางสายที่ ๗ นี้ จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติบังเกิดขึ้นในโลก แล้ว ทรงประกาศสัจจธรรมชี้แนะแนวทางแห่งการปฏิบัติเพื่อวิวัฏฏะ คือพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะทุกข์ จนกระทั่งพุทธบริษัทผู้มีสติปัญญา มีบารมีที่สั่งสมมาดีแล้วได้พากันปฏิบัติตามเป็นเหตุให้ได้บรรลุ มรรค ผล พระนิพพาน เข้าถึงความบริสุทธิ์กลายเป็นพระอริยสงฆ์เจ้าเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ทางไป พระนิพพาน มีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
ส่วน ทาง ๖ สายที่แสดงมาแล้วนั้น เป็นทางอันเป็นไปในวัฏฏะทุกข์อันมีประจำโลกมานานแล้ว จนคณานับไม่ได้ พระพุทธศาสนาจะมีหรือไม่ก็ตามชาวโลกทั้งมวลย่อมเดินไปสู่อบายภูมิ ด้วยการประกอบการทุจริตต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทุจริต ถึงแม้บางคราวบางสมัย บางโอกาสก็ทำความดีประพฤติมนุษยธรรมหรือเทวธรรมหรือพรหมธรรม อันเป็นวิบากให้ไปเกิดในสุคติมนุษย์ เทวดา พรหม ตามฐานะแห่งกุศลกรรมของตน เมื่อสิ้นบุญจากพรหมหรือเทวดามาเกิดเป็นมนุษย์อีกแล้ว ประกอบกรรมชั่ว อันเป็นเหตุให้ไปตกอบายภูมิอีก ท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ไม่มีที่สิ้นสุด
ทางไปสู่พระนิพพาน จึงเป็นทางอมตะ เป็นมรดกธรรมอันล้ำค่ายิ่งที่พระบรมศาสดาทรงประทานมอบไว้ให้ จึงควรอย่างยิ่งที่พุทธบริษัทจะพลีชีพอุทิศชีวิตต่อพระพุทธองค์ เพื่อศึกษาและปฏิบัติตามหนทาง อันจะนำไปสู่พระนิพพาน ให้ถูกต้องตามรอยยุคลบาทที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้พระองค์เสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุขชั่วนิรันดร แล้วก็ตาม ทางไปพระนิพพานนั้นคือ วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง เพราะวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น ที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานได้ จึงควรเข้าใจในเรื่องวิปัสสนากรรมฐานตามหลักของปริยัติเสียก่อน เพื่อจะนำไปปฏิบัติและยังปฏิเวธธรรมให้เกิดขึ้นในภายหลัง
คำว่า วิปัสสนากรรมฐาน หมายความว่า กรรมฐานของวิปัสสนาได้แก่ วิปัสสนาภูมินั้นเอง ฉะนั้น คำว่า กรรมฐาน ในที่นี้ ถ้าเรียกอย่างเดียวเรียกว่า ปรมัตถธรรม ถ้าเรียก ๒ อย่าง เรียกว่า รูปธรรม นามธรรม ถ้าเรียกหลายอย่าง เรียกว่า ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจจ์ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวกรรมฐานอันเป็นทางดำเนิน อันเป็นที่เกิดขึ้น อันเป็นที่ตั้งอยู่ อันเป็นที่ดับไปของวิปัสสนาทั้งสิ้น
คำว่า วิปัสสนา นั้น หมายความว่า เห็นโดยวิเศษ เห็นโดยพิเศษซึ่งมีคำวิเคราะห์ว่า “วิเสเสน ปสฺสตีติ วิปสฺสนา” การเห็นโดยวิเศษ ชื่อว่า วิปัสสนา การเห็นโดยวิเศษนั้นไม่ใช่ว่าเห็นด้วยตา หรือเห็นอย่างธรรมดา แต่เห็นด้วยปัญญา ด้วยญาน หรือวิชชา ได้แก่ ความรู้แจ้งเห็นจริงแทงตลอดซึ่งรูปนามนั่นเอง ถ้ากล่าวโดยตรงแล้ว วิปัสสนาก็คือ ปัญญาเจตสิกที่รู้รูปธรรม นามธรรม ตามสภาวะอันเป็นปรมัตถ์ที่มีจริงเป็นจริงอยู่เท่านั้นถ้ากล่าวโดยปริยาย แล้วอย่างย่อ ได้แก่ ไตรสิกขา ๓ อย่างกลาง ได้แก่ วิสุทธิ ๗ อย่างพิสดาร ได้แก่สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเรียกว่า “โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ” นั่นเอง ซึ่งเป็นธรรมที่จะนำผู้ปฎิบัติให้ตัดตรงไปสู่พระนิพพาน
..........................................................
ข้อมูลนี้คัดลอกมาจาก
พระบวรปริยัติวิธาน(บุญเรือง สารโท). (๒๕๔๘). วิสุทธิธรรม คู่มือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน. อุบลราชธานี

 


 

 ผู้รังสรรค์ ให้เกิดบทความนี้ขึ้นในเว็บไซต์วัดอีสานดอทคอม
บันทึกการเข้า
ถึงเป็นผู้หญิง ตัวเล็ก แต่ก็ยังสู้ได้อยู่ด้วยตัวคนเดียว
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกถึง

บุญสม

  • ศิษย์ตรง
  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *****
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 94
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: การเดินทาง กับ หนทางที่เลือก คร้า...
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 12:49:03 pm »
0
ข้าพเจ้า เป็นผู้ไม่ปรารถนา ในทางที่ 1 - 3 เจ้าข้า

ขอบคุณครับ กับบทความ เรื่องทาง กับทางเลือก ครับ

 :25:
บันทึกการเข้า