ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กรุงสุโขทัย มาจากไหน.? | ศึก 2 พระนคร กรุงศรีอยุธยา-กรุงสุโขทัย  (อ่าน 236 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28499
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



วัดพระศรีสรรเพชญ์ ณ พระราชวังหลวง พระนครศรีอยุธยา


กรุงสุโขทัย มาจากไหน.? | ศึก 2 พระนคร กรุงศรีอยุธยา-กรุงสุโขทัย และอาณาเขตที่เป็นจริง

กรุงสุโขทัย ไม่ใช่รัฐใหญ่รัฐโต และ ไม่ใช่รัฐอยู่ใกล้ทะเล แต่เป็นรัฐขนาดเล็กที่อยู่ดินแดนภายในห่างไกลทะเล อีกทั้งเป็นรัฐ “กึ่งกลาง” ที่แวดล้อมด้วยบ้านเมืองและแว่นแคว้นน้อยใหญ่ กรุงสุโขทัยจึงไม่อยู่ในฐานะปลอดภัยจากการคุกคาม

นอกจากจะเต็มไปด้วยปัญหาภายใน คือความแตกแยกของบ้านเมืองในแว่นแคว้นและความขัดแย้งระหว่างตระกูลซึ่งมีอยู่ก่อนขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระยาลิไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาภายนอกจากบ้านเมืองและแว่นแคว้นโดยรอบอีกด้วย

@@@@@@@

รอบบ้านรอบเมืองสุโขทัย

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่พระยาลิไทยประหารศัตรูขึ้นสู่บัลลังก์เป็นกษัตริย์กรุงสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๐ ขณะนั้นมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย

ด้านเหนือ ขึ้นไปมี รัฐล้านนา ที่สามารถผนวกดินแดนที่ราบลุ่มน้ำปิง-วังเข้ากับดินแดนที่ราบลุ่มน้ำกก-อิง และมีความพยายามจะขยายอำนาจลงมาถึงดินแดนลุ่มน้ำยม-น่าน บริเวณที่เป็นเมืองแพร่และเมืองน่านด้วย

ด้านตะวันออก มี แคว้นล้านช้าง (หลวงพระบาง-เวียงจัน) ที่กำลังวุ่นวาย และฝ่ายท้าวฟ้างุ้มได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์กัมพูชาให้มีอำนาจกล้าแข็ง ถึงขนาดยก “ลูกสาว” ให้เป็นมเหสี ทำให้ท้าวฟ้างุ้มเป็นใหญ่ขึ้นมาในละแวกลุ่มน้ำโขงตอนบน และขยายอำนาจเข้ามาในดินแดนภาคอีสานใกล้พรมแดนกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

ด้านใต้ ลงมา ราชวงศ์อู่ทองมีอำนาจเป็นใหญ่อยู่แคว้นละโว้-อโยธยา บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เมื่อพระยาลิไทยขึ้นเสวยราชย์ที่กรุงสุโขทัย พระเจ้าอู่ทองเป็นใหญ่อยู่ในกรุงอโยธยาแล้ว ครั้นต่อมา พ.ศ. ๑๘๙๓ (ค.ศ. ๑๔๕๐) ก็ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ (ตรงที่เดิมของกรุงอโยธยา) และเฉลิมพระนามาภิไธยพระองค์ว่าสมเด็จพระรามาธิบดี จากนั้นจึงให้พระราเมศวรราชโอรสไปครองเมืองลพบุรี ส่วนขุนหลวงพ่องั่วก็ครองเมืองสุพรรณบุรีตามเดิม

@@@@@@@

ตำราประวัติศาสตร์ไทย บอกว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก ต่อเมื่อสุโขทัยล่มสลาย จึงเกิดกรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ แต่หลักฐานจริงไม่เป็นอย่างตำราเหล่านั้น เพราะสุโขทัยมีขึ้นมาพร้อมๆ กับ อโยธยาศรีรามเทพ (อยุธยา) สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ที่มีพัฒนาการสืบเนื่องจากรัฐเก่าแก่ยุค “ทวารวดี” ถ้าดูตามพัฒนาการแล้ว สุโขทัยจะเป็นรัฐใหม่ล่าสุดด้วยซ้ำไป ซึ่งได้แสดงหลักฐานให้เห็นแต่แรกแล้วว่าเกิดจากการอุดหนุนของรัฐละโว้ (หรือกัมโพช) ที่ย้ายราชธานีแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อโยธยาศรีรามเทพ การเกิดของ กรุงศรีอยุธยา เป็นเพียงสถาปนาราชวงศ์ใหม่ คือ รามาธิบดี ที่ครองรัฐเดิม คือ อโยธยาศรีรามเทพ นั่นเอง

สมเด็จพระรามาธิบดี ที่รู้จักกันอีกชื่อว่า พระเจ้าอู่ทอง เป็นกษัตริย์ครองแคว้นกรุงศรีอยุธยาขณะนั้น ขุนหลวงพ่องั่ว (หรือพะงั่ว) เป็นกษัตริย์ครองแคว้นสุพรรณภูมิ (ที่สุพรรณบุรี) เป็นเวลาเดียวกัน สมัยเดียวกันกับ สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) ครองแคว้นสุโขทัย ที่มีขอบเขตทางทิศใต้ลงไปแค่ เมืองพระบาง (คือ นครสวรรค์เท่านั้น ถ้าต่ำลงไปกว่านั้นเป็นดินแดนของอโยธยากับสุพรรณภูมิ)

สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) ก็ไม่ได้มีอำนาจนัก เพราะขณะนั้นมีเครือญาติฝ่ายตรงข้าม คือ ราชวงศ์ศรีนาวนำถุม-ผาเมือง มีขุมกำลังตั้งหลักอยู่ลุ่มน้ำน่านที่ เมืองพิษณุโลก และยังไม่อ่อนน้อมภักดีต่อลิไทย ความสำคัญของเมืองพิษณุโลกนี่เองทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างอยุธยากับสุโขทัย หรือระหว่างสมเด็จพระรามาธิบดี-อู่ทอง กับสมเด็จพระมหาธรรมราชา-ลิไทย จนที่สุดสมเด็จพระรามาธิบดีกับเครือญาติลุ่มเจ้าพระยา คือขุนหลวงพ่องั่วแห่งสุพรรณภูมิ ก็ยกพลมายึดได้เมืองพิษณุโลก ทำให้พระมหาธรรมราชาลิไทย จำยอมอยู่ในอำนาจการกำกับของพระรามาธิบดีอู่ทอง

เรื่องราวเหล่านี้มีร่องรอยบอกไว้ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ เอกสารเล่มสำคัญของล้านนา ที่แต่งใกล้เหตุการณ์จริง มีชื่อและเรื่องราวของบุคคลบางคน ตลอดจนเรียงลำดับเหตุการณ์อย่างมีระเบียบ



วัดพระศรีสรรเพชญ์ ณ พระราชวังหลวง พระนครศรีอยุธยา

อาณาเขตกรุงสุโขทัย

จากการตรวจสอบข้อความในจารึกสมัยสุโขทัยและสำรวจเอกสารด้านตำนานพงศาวดารตลอดจนงานภาคสนาม อาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม จึงประมวลมาอธิบายสถานที่ตั้งและขอบเขตแคว้นสุโขทัยที่ควรจะเป็นจริงมาดังนี้

ถ้ากำหนดตามลักษณะภูมิศาสตร์ที่มองเห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว แคว้นสุโขทัยจะมีขอบเขตตั้งอยู่บริเวณตอนล่างของลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน และตอนบนของลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งอาจนับอยู่ในเขตจังหวัดต่างๆ คือ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร และนครสวรรค์

ทางเหนือ มีเมืองแพร่ (จังหวัดแพร่) เป็นเมืองปลายแดนด้านเหนือสุด ทางใต้ ถึงเมืองพระบาง (จังหวัดนครสวรรค์) เป็นสุดเขตแดนด้านใต้ ทางตะวันตก มีเมืองฉอด (อยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) เป็นเมืองชายแดนที่จะติดต่อเข้าไปยังเมืองมอญในพม่า ทางตะวันออก ถึงเมืองสะค้าใกล้แม่น้ำโขงในเขตภาคอีสานตอนเหนือ

สภาพภูมิศาสตร์ของแคว้นสุโขทัยประกอบด้วยที่ราบลุ่มหล่อเลี้ยงโดยลำน้ำปิง ลำน้ำยม และลำน้ำน่าน ซึ่งล้วนแต่ไหลจากเหนือลงใต้ ด้านตะวันตกมีเทือกเขาถนนธงชัย-ตะนาวศรี เป็นแนวขนาบกั้นบริเวณลุ่มน้ำปิงออกจากลุ่มน้ำสาละวินในเขตพม่า ส่วนด้านตะวันออกมีเทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นแนวขนาบกั้นบริเวณลุ่มน้ำน่านออกจากลุ่มน้ำป่าสัก

@@@@@@@

ในระยะแรกๆ มีบ้านเมืองเกิดขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านก่อน ต่อภายหลังจึงค่อยๆ ขยายขอบเขตออกไปถึงลุ่มน้ำปิงทางตะวันตก และลุ่มน้ำป่าสักทางตะวันออก

ลักษณะการกระจายของชุมชนที่เป็นเมืองมักขยายไปตามแนวตะวันตกและตะวันออกมากกว่าตามแนวเหนือและใต้ ความหนาแน่นของบ้านเมืองจะอยู่ระหว่างฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิง ไปจนถึงฝั่งตะวันออกของลำน้ำน่าน ต่อมามีการขยายตัวออกไปทั้งทางตะวันตก ข้ามเทือกเขาถนนธงชัย-ตะนาวศรี เข้าไปในเขตมอญ-พม่า และทางตะวันออก ข้ามเทือกเขาเพชรบูรณ์เข้าไปยังลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำโขงในเขตภาคอีสานตอนเหนือ

อาณาเขตกรุงสุโขทัยทางทิศใต้จำกัดอยู่แค่เมืองพระบางที่จังหวัดนครสวรรค์ ไม่ลงไปต่ำกว่านั้น เพราะมีรัฐสุพรรณภูมิกับรัฐละโว้-อโยธยา ยันเป็นสำคัญอยู่

ที่โฆษณากันว่าพ่อขุนรามคำแหงขยายอาณาเขตลงไปตลอดแหลมมลายู มีอำนาจเหนือรัฐปัตตานี จึงไม่ถูกต้องตามพยานหลักฐาน ควรแก้ไข จะได้ยืนอยู่กับความจริง ทิ้งความเท็จ






ขอขอบคุณ :-
ข้อมูลจาก : คอลัมน์อ่านแผ่นดินฯ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17-23 มิ.ย. 2548
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2565
website : https://www.matichonweekly.com/culture/article_7437
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ