สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

ธรรมะสาระ => สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน => ข้อความที่เริ่มโดย: Admax ที่ มกราคม 17, 2013, 01:05:56 pm



หัวข้อ: วิธีดับความติดข้องใจในการกระทำของผู้อื่น(ละจิตไม่ให้ไปผูกไว้กับผู้อื่น)
เริ่มหัวข้อโดย: Admax ที่ มกราคม 17, 2013, 01:05:56 pm
- ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลสตรัสรู้เองโดยชอบมีคุณเป็นเอนกอนันต์ได้ตรัสธรรมคำสอนอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ที่ประเสริฐนั้นให้เราได้รับรู้
- ขอนอบน้อมแด่พระพธรรมซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วมีความหมดจดงดงามไม่มีธรรมใดยิ่งกว่าทั้งขั้นต้นขั้นกลางและที่สุดเป็นธรรมคำสอนซึ่งเป็นหนทางแห่งการพ้นจากทุกข์ทั้งสิ้นนี้
- ขอนอบน้อมแด่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นผู้ที่ควรแก่เขากราบไหว้ต้อนรับเป็นผู้เผยแพร่พระธรรมอันประเสริฐยิ่งแล้วของพระพุทธเจ้าให้ผู้อื่นได้ปฏิบัติตามทางพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบได้ตรัสธรรมนั้นไว้ดีแล้ว

- บัดนี้กระผมใคร่ขอสาธยายธรรมเรื่อง "วิธีดับความติดข้องใจในการกระทำของผู้อื่น(ละจิตไม่ให้ไปผูกไว้กับผู้อื่น)" ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้ประสบพบเจอ และ ได้เพียรเจริญปฏิบัติพิจารณาจนเห็นทางแก้ไขนี้
- หากผมได้กล่าวผิดพลาดในข้อธรรมเป็นการบิดเบือนพระธรรมใดๆที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วนี้ขอให้พระรัตนตรัยและท่านทั้งหลายโปรดอดโทษไว้แก่ผม และ ช่วยตักเตือนชี้แนะ เพื่อให้ธรรมอันที่ผมจะกล่าวนี้ที่คิดว่าประกอบไปด้วยประโยชน์ได้สำเร็จประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายที่ยังความทุกข์อยู่ดังนี้


- เราทุกคนส่วนมากมักจะเอาความสุขความสำเร็จของตนไปผูกไว้กับผู้อื่น เช่น เอาไปผูกไว้กับคนรัก หรือ เพื่อนร่วมงาน หรือ เพื่อนฝูงเพื่อนสนิท
- พอการพูดจา และ การแสดงท่าทางของเขาเหล่านั้น ไม่เป็นไปตามที่เราพอใจใคร่ได้ยินดี เราก็ทุกข์ใจ ขุ่นมัวใจ คับแค้นกาย-ใจ ทรมานทั้งกาย-ใจ
- นี่ทุกข์เพราะเอาความสุขและความสำเร็จไปผูกไว้กับคนอื่นโดยแท้
- พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า "อย่าเอาความสุขและความสำเร็จของตนไปผูกไว้กับผู้อื่น"
- สุขก็อยู่ที่กายใจเรา ทุกข์ก็อยู่ที่กายใจ ทุกอย่างสำเร็จที่ใจ
- ให้เราคงมั่นตรงเจตนาต่อ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ ทาน เป็นเบื้องต้น
- ความคิดดี พูดดี ทำดี กุศลจิต กุศลกรรมทั้งหลาย ความมีปกติสุขยินดีทั้งหลายก็จะอยู่ที่เรา โดยไม่ต้องไปผูกความสุขเอาไว้ที่ใคร
- สุขทุกข์ทั้งหลายเกิดดับที่กาย-ใจเราเท่านั้น ไม่ใช่ที่คนอื่นหรือใครที่ไหน


เมื่อเกิดความอัดอั้นคับแค้นใจ ไม่สบายกาย-ใจ ขุ่นมัวใจ ขัดเคืองใจ ไม่พอใจยินดีใดๆ ให้พึงเจริญปฏิบัติในสมถะ(ความเป็นกุศลจิต มีสัมมาสมาธิ)ตรองพิจารณาเข้าถึงสมุทัยใดๆดังนี้

พิจารณาลมหายใจเข้า-ออก ระลึก พุทธ-โธ
หายใจเข้าระลึก "พุทธ" หายใจออกระลึก "โธ"
โดยเริ่มต้น ให้หลับตา
ให้หายใจเข้า-ออกแรงๆ และ ยาวหน่อยสัก 3-5 ครั้ง เพื่อเรียกสติและสมาธิ
ระลึก "พุทธ-โธ" ระลึกถึง "พระพุทธเจ้า"

จากนั้นจึงค่อยๆหายใจแบบธรรมดา โดย หายใจเข้าระลึก "พุทธ" หายใจออกระลึก "โธ"
สังเกตุเมื่อจิตเราสงบลงแล้ว ลมหายใจจะไม่แผ่วร้อน ไม่ระส่ำระส่าย ไม่หายใจติดขัด มีความผ่อนคลาย ลมหายใจละเอียดนุ่มขึ้น
เมื่อมีความสงบใจขึ้นแล้ว มีสมาธิจะเกิดแก่จิตแล้ว
ให้พึงละความสำคัญมั่นหมายของใจที่เรามีต่อเขา
ละความปารถนาใดๆ ที่เราต้องการ หวัง ที่จะได้รับจากเขา
ละความติดข้องใจใดๆที่เราเอาจิตของเราไปผูกความสุขและความสำเร็จไว้กับเขา
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวหน่อยระลึก พุทธ-โธ

หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ.. พึงระลึกว่า จะไม่เอาจิตของเราไปผูกความสุขและความสำเร็จใดๆไว้กับเขาอีก
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ.. พึงระลึกว่า ติดข้องใจจากการกระทำใดๆทาง กาย วาจา ของเขาไปก็มีแต่ทุกข์
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ.. พึงระลึกว่า เราจะละความติดข้องใจนี้ จะละความสำคัญมั่นหมายของใจที่มีต่อเขานี้
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ.. พึงเจริญทำสติให้เกิดรู้ ระลึกเข้าสู่ความว่าง ไม่หยิบจับเอาความพอใจยินดีและความไม่พอใจยินดีใดๆที่มีต่อเขา
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ.. พึงระลึกเข้าสู่ความว่างอันไม่ปรุงแต่งความพอใจยินดี และ ไม่พอใจยินดีที่มีต่อเขา
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ.. พึงระลึกว่า ความติดข้องใจนี้ย่อมดับไปด้วยเดชแห่ง สมาธิจิต และ สติ นั้น
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ.. พึงระลึกถึงพระพุทธรูปที่เรามองดูสงบใจ หรือ รูปพระพุทธเจ้าที่เขาถ่ายติดใต้ต้นโพธิ์
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ.. พึงระลึกว่า พระองค์มีความว่าง สงบ สุข ปกติยินดี ไม่มีปรุงแต่งจิตอกุศลใดๆ
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ.. พึงระลึกเอาความว่างสงบนั้น

หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. เราควรละความผูกใจที่เป็นเหตุแห่งความเบียดเบียนทำร้ายกาย-ใจของเราและเขาเหล่านี้ไปเสีย ผูกใจไปก็รังแต่จะทำให้เป็นทุกข์ทั้งกาย-ใจ (เจริญเข้าสู่ "เมตตาจิต")
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. เขาเป็นอย่างนั้นของเขามาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่เราเองต่างหากที่เอาจิตไปผูกติดไว้กับเขาเอง ก็เลยทุกข์ (พิจารณาตามจริง เพื่อละความสำคัญมั่นหมาย)
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. ก็เมื่อผูกใจ-ผูกโทษเบียดเบียนต่อเขาแล้ว ทำให้เราทุกข์ทั้งกาย-ใจ เราจึงควรปล่อยวางความคิดเบียดเบียนนั้น ควรละความผูกโทษ-ผูกใจ และ เราควรอดโทษใดๆที่มีต่อเขา นั้นคือ อภัยทาน (เจริญจิตเข้าสู่ความปารถนาดีไม่ผูกติดใจเบียดเบียนใดๆต่อเขา มีความเอื้ออนุเคราะห์ให้เขาโดยการอดไว้ซึ่งโทษใดๆแก่เขา จนถึงการให้อันประเสริฐที่เรียกว่า "เมตตาทาน" จนถึงแก่ "อภัยทาน")
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. ปล่อยเขาไป ให้เขาเป็นไปของเขา ธรรมชาติของจิตและจริตเขาเป็นอย่างนั้น (เจริญเข้าสู่ "ขันติจิต")
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. เขาเป็นอย่างนั้นของเขามาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่เราเองต่างหากที่เอาจิตไปผูกติดไว้กับเขาเองก็เลยทุกข์ (พิจารณาตามจริง ด้วยเหตุแห่งทุกข์นั้น)
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. เขาเป็นของเขาอย่างนั้น เราจะไปหวังปารถนาอะไรกับเขา เราควรหยุด-ควรอด-ควรละความปารถนานั้นๆไปเสีย ควรปล่อยเขาเป็นของเขาไป ละความติดข้องใจนั้นไปเสีย อย่าใส่ใจให้ความสำคัญกับมัน วางเฉยด้วยความมีใจกลางๆไม่หยิบจับเอาความพอใจยินดีและความไม่พอใจยินดีใดๆที่มีต่อเขา (เจริญเข้าสู่ "ขันติจิต" และ "อุเบกขาจิต")
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. เขามีความสุขที่จะอยู่อย่างนั้นของเขา ก็ปล่อยให้เขาเป็นสุขไป
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. สิ่งที่เราเอื้ออนุเคราะห์ให้เขาได้ คือ อดโทษใดๆไว้แก่เขา รู้วางใจไว้กลางๆ ไม่ติดข้องใจ-ไม่ขุ่นมัวใจ-ไม่ขัดเคืองใจใดๆต่อเขา (เจริญเข้าสู่ "กรุณาจิต" และ "ทานจิต" พร้อมยกจิตเข้าสู่ "อุเบกขาจิต")
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาถึง.. ความมีใจกลางๆ รู้ว่า ควรหยุด ควรปล่อยผ่าน ควรอด ควรละในความติดข้องใจใดๆที่มีต่อเขานี้เสีย (เจริญจิตเข้าสู่ "ขันติจิต")
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. เราไปติดข้องใจ-ขัดเคืองใจใดๆในเขาไปมันก็แค่นั้น มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น เราควรปล่อบผ่าน-ควรละความติดข้องใจ ละความผูกใจนั้นไปเสีย (เจริญเข้าสู่ "อุเบกขาจิต" และ "ขันติจิต)
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. คำนึงว่าเราจักไม่ให้ความสำคัญในการกระทำของเขาอีก ไม่ใส่ใจการกระทำเขาอีก ไม่ติดผูกใจใดๆไว้กับเขาอีก (เจริญเข้าสู่ "อุเบกขาจิต")
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. ติดข้องใจ ขัดเคืองใจ ติดผูกใจใดๆไว้กับเขาไปก็ไม่มีประโยชน์นอกจากทุกข์ (เจริญเข้าสู่ "อุเบกขาจิต")
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. สุข-ทุกข์เกิดและดับที่กาย-ใจเรา ไม่ใช่กาย-ใจเขา (พิจารณาตามจริง)
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาถึง.. ความมีใจกลางๆ รู้ว่า ควรหยุด ควรปล่อยผ่าน ควรอด ควรละ ในความติดข้องใจใดๆที่มีต่อเขานี้เสีย (เจริญจิตเข้าสู่ "ขันติจิต")
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. ความสงบจักเกิดขึ้นแก่ใจเรา
หายใจเข้าออกระลึก พุท-โธ พึงระลึกรู้พิจารณาว่า.. ความไม่ทุกข์จักเกิดขึ้นแก่เรา


- ทีนี้เมื่อจิตเราสามารถละจากการผูกติดในตัวผู้อื่นได้แล้ว สงบใจแล้ว
- ให้พึงรับรู้ในสภาพจริงๆนั้นๆ หรือ สภาพจริงของกุศลจิตใดๆที่เกิดขึ้นแก่เรา
- ระลึกถึงสภาพกุศลจิตที่ดับความผูกใจ ที่ทำให้เราละความติดข้องใจนั้นๆไปได้ หรือ เห็นโทษของการผูกติดใจไว้กับผู้อื่นนี้
- เมื่อคราหลังที่เกิดขึ้นอีก เราก็พึงระลึกตามสภาพความรู้สึกข้างต้น หรือ ระลึกว่ามันหาประโยชน์ใดๆไม่ได้
- แล้วพึงระลึกสภาพจิตเข้าสู่สภาพแห่งกุศลจิตนั้น มีความไม่เบียดเบียน มีความปารถนาดี มีความอื้ออนุเคราะห์แบ่งปันสุข มีการให้อันประเสริฐ มีความพอใจยินดีเมื่อเขามีปกติสุข ปราศจากความเบียดเบียนทั้งกายและใจ มีจิตรู้ว่าควรปล่อย-ควรผ่าน-ควรละ-ควรวาง จนถึงมีความวางใจไว้กลางๆ ไม่หยิบจับเอาความพอใจยินดีและไม่พอใจยินดีมาตั้งเป็นอารมณ์ของจิต
- จากนั้น ความติดใจ ความผูกใจ ความขุ่นมัวขัดเคืองใจ ความทุกข์ใจใดๆเหล่านี้ก็จะหายไป ไม่มีอีก ด้วยการทรงอารมณ์โดยไม่ต้องระลึกพร้อมอาปานานสติอีก



ผมขออนุญาตพระอาจารย์ธัมมวังโส ท่านเสบมาสเตอร์ และ ผู้ดูแลระบบทุกท่าน ขอกลับมาเผยแพร่กระทู้ธรรมที่ผมปฏิบัติเจริญอยู่ตามทางที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนโดยผมได้พลิกแพลงประยุกต์ให้ใช้เข้าได้ตามจริตผม ซึ่งเป็นประโยชน์และให้ผลได้ไม่จำกัดกาลมาเผยแพร่ต่อท่านสมาชิกเวบมัชฌิมาทั้งหลายได้ลองปฏิบัติกัน หากเมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติแล้วเห็นผลได้ มีประโยชน์แท้จริง ผมใคร่ขอรบกวนท่านทั้งหลายได้อุทิศส่วนบุญกุศลแห่งธรรมทานนี้ให้แด่

คุณพ่อกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2556 เวลา 15.49 น.

ประวัติโดยย่อของท่าน

- ท่านได้เลี้ยงลูกและเอาใจใส่ปลูกฝังให้ลูกมี ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี ซึ่งตัวท่านเองก็ปฏิบัติเช่นนี้อยู่เป็นประจำเพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกๆเห็นแล้วทำตาม
- เท่าที่ผมจำความได้ท่านสอนให้ผม เว้นจากความเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น เว้นจากการฆ่าสัตว์แม้ มด ยุง ริ้น ไร ก็ห้ามไม่ให้ฆ่า ให้ผมไม่ขโมยลักทรัพย์ ไม่เอาของๆผู้อื่นที่เขาไม่ได้ให้ ให้ผมซื่อสัตย์-ซื่อตรงทำดีต่อครอบครัวตนเองและผู้อื่น ชี้ให้ผมเห็นโทษของสุราเมรัยไม่ให้ปารถนาที่จะดื่มกิน รู้สวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิเป็นประจำทุกวัน มีจิตปารถนาดีต่อผู้อื่น รู้เอื้ออนุเคราะห์แบ่งปันผู้อื่น มีการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีสติรู้ตน รู้สิ่งที่ควรละ-ควรปล่อย-ควรผ่าน-ควรวาง มีความยินดีเมื่อผู้อื่นมีความปกติสุข-ปราศจากความเบียดเบียนทั้งกาย-ใจ รู้วางใจกลางๆในการอันควร ไม่หยิบจับเอาความพอใจยินดีหรือไม่พอใจยินดีมาตั้งเป็นอารมณ์แห่งจิต คิดดี พูดี ทำดี
- ท่านเป็นสหายธรรมของหลวงปู่นิล มหันตปัญโญ ครูอุปัชฌาย์ของผมเอง สมัยเด็กๆจะเห็นท่านปั่นจักรยานไปสนทนาธรรมกับหลวงปู่นิลเป็นประจำ และ น้อมเอาแนวปฏิบัติสายพระป่ามาเจริญปฏิบัติจนท่านสิ้นอายุขัยด้วยอายุ 90 ปี

ผมขอบุญแห่งการเผยแพร่ธรรมปฏิบัติเพื่อความมีประโยชน์สุขของท่านทั้งหลายนี้มอบให้แด่ เตี่ยกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา ให้ได้อยู่ในภพภูมิที่ดีงาม มีความสุขกายสบายใจ ไม่มีทุกข์กายใจใดๆ ตราบสิ้นกาลนานเทอญ สาธุ สาธุ สาธุ


หัวข้อ: Re: วิธีดับความติดข้องใจในการกระทำของผู้อื่น(ละจิตไม่ให้ไปผูกไว้กับผู้อื่น)
เริ่มหัวข้อโดย: komol ที่ มกราคม 18, 2013, 01:01:24 am
 st12 st12 st12 st11

  คุณพ่อกิมคุณ เบญจศรีวัฒนา  คงได้รับทราบผลบุญธรรมทาน นี้แล้วครับ

  thk56


หัวข้อ: Re: วิธีดับความติดข้องใจในการกระทำของผู้อื่น(ละจิตไม่ให้ไปผูกไว้กับผู้อื่น)
เริ่มหัวข้อโดย: Admax ที่ มกราคม 18, 2013, 01:41:53 pm
สาธุครับท่านโกมล ขอบพระคุณมากครับ