ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตามดูลมหายใจ ไม่ได้ มีแต่จะเข้าไปสภาวะ กึ่งหลับ กึ่งตื่น ต้องแก้อย่างไรครับ  (อ่าน 3948 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

prayong

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 72
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ผมพยายามฝึก อานาปานสติ คือพยายาม ดูลมหายใจเข้า และออก ในระหว่างที่ภาวนาอยู่นั้นก็พยายามที่ดูลมหายใจเข้าออก แต่ พอภาวนาไป ก็จะกลายเป็นสภาวะกึ่งหลับ กึ่งตื่น อีก และก็ไม่ไ้ด้ดูลมหายใจ ทุกอย่างหายไปหมดแม้การตามดูลมหายใจ เข้าออก ก็หายไป ด้วยครับ

   ต้องแก้อย่างไร ครับ
 :smiley_confused1:
บันทึกการเข้า

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7250
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
สาเหตุเป็น เพราะผู้ฝึกภาวนามุ่งให้จิตเป็นสมาธิ ทำให้กำลัง สติ นั้นไม่เพียงพอ ดังนั้นต้องไปเริ่มภาวนาที่การเจริญสติ โดยตรงก่อนนะจ๊ะ

  การเจริญ สติ ในอานาปานสติ ให้ใช้ หลัก อนุพันธนา ติดตามลมหายระหว่าง การเดิน จะได้ผลมากที่สุด เมื่อสติเเต็มพอแล้ว ก็ให้กลับมาเจริญเป็นสมาธิ ในหลักของอานาปานสติ ต่อไป โดยใช้ หลัก คณนา การนับ

  เมื่อสติเข้าได้ นิมิต เป็น อุคคหนิมิต แล้ว ก็ให้เจริญเป็น ฐปนา

  แล้วคำถามว่า ผุสนา จะเอาไว้ฝึกตอนไหนละ ผุสนา เอาไว้ฝึกตอนนอน จะดี ที่สุด นะจ๊ะ

ดังนั้น สาเหตุที่เป็น คือ สติยังไม่มีกำลัง ต้องพัฒนา สติ ให้ดีก่อน


อานาปานสติ ตอนที่ภาวนา เพื่อให้จิตสงบเป็น สมาธิ ตอนนั้นเป็นสมถะ คือ เพื่อความสงบระงับ

  พระอริยเจ้า ที่บรรลุธรรมแล้ว ก็ภาวนาเป็น สมถะทั้งหมด นะจ๊ะ ( เพราะไม่มีวิปัสสนา ต่อไปแล้ว )
ดังนั้นส่วนใหญ่แล้ว ท่านก็จะเจริญ อยู่เพียง สองส่วน คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ส่วน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มิต้องเจริญต่อไปแล้ว เพราะเมื่อบรรลุธรรมก็จะเป็นไปตามอำนาจผล คือ นิโรธ เอง

 สำหรับ อานาปานสติ จัดเป็น สมถะ และ วิปัสสนา มีอยู่ ในสโตริกาญาณ ที่ 1 - 12
 ส่วน ขั้นที่ 13 - 16 นั้น เป็น วิปัสสนา อย่างเดียว

 สำหรับผู้ฝึกปฏิบัติ ถ้ามุ่งในการ ละกิเลส ก็เป็น วิปัสสนา
                     ถ้ามุ่งในการ ลดกิเลส ก็เป็น สมถะ
                    ถ้ามุ่งทั้งสองประการ ก็เป็น ทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา
 
อานาปานัสสะติ     
    กายานุปัสสนา
   1.เป็นผู้มีสติ หายใจเข้า  และ หายใจออก   
   2.หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว ก็มีสติรู้ชัด ว่า หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว   
   3.หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น ก็มีสติรู้ชัด ว่า หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น   
   4.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กาย ทั้งปวง หายใจเข้า และ หายใจออก   
   
   เวทนานุปัสสนา
   5.ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก   
   6.ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้ปีติ ทั้งหายใจเข้า หายใจออก   
   7.ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตตสังขาร ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก   
   8.ย่อมศึกษาว่า จักระงับ จิตตสังขาร ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก   
   
   จิตตานุปัสสนา
    9.ย่อมศึกษาว่า จักกำหนด รู้จิต ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   10.ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิง ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   11.ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่น ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   12.ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิต ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   
   ธรรมานุปัสสนา
   13.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความเป็นของไม่เที่ยง ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   14.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความคลายกำหนัด ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   15.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความดับสนิท ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   16.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความสลัดคืน ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
 
   อ่านเพิ่มเติมจากลิงก์
   
   อานาปานสติ ปฏิสัมภิทามรรค เพื่อการภาวนา   
  http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=811.0

บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ดรุณี

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 96
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
นำมาเสริมคะ


วิธีเจริญอานาปานสติจนจิตตั้งมั่นทะลุแนวต้าน จนเกิดอัปปนาสมาธินั้น
เริ่มด้วยหายใจเข้า และหายใจออกตามที่ตัวของท่านนั้นชอบ

แต่ละคนอาจชอบต่างกันไป บางคนชอบหายใจเข้าจนสุดแล้วค่อยระลึกรู้
และหายใจออกจนสุดแล้วค่อยระลึกรู้

บางคนชอบระลึกรู้ตลอดเส้นทางเดินลมเข้า และระลึกรู้ตลอดเส้นทางเดินลมออก

บางคนคอยระลึกรู้อยู่ที่ปลายจมูกเพียงตำแหน่งเดียว ลมเข้าปลายจมูกก็รู้ ลมออกที่ปลายจมูกก็รู้

บางคนหายใจเข้าก็ท่องคำว่าพุทในใจเบาๆ หายใจออกก็ท่องคำว่าโธในใจเบาๆ

บางคนหายใจเข้าจนสุดก็ท่องคำว่าพุทในใจเบาๆ หายใจออกจนสุดก็ท่องคำว่าโธเบาๆ

บางคนคอยระลึกรู้อยู่ที่ปลายจมูกเพียงตำแหน่งเดียว พอสูดลมเข้าปลายจมูกก็ท่องคำว่าพุทในใจเบาๆ
พอปล่อยลมออกที่ปลายจมูกก็ท่องคำว่าโธในใจเบาๆ

ท่านจะทำวิธีใดก็ได้ แต่ขอให้ทำแล้วสบายจิต สบายใจ หายใจสะดวก รู้สึกสบาย

หายใจไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ลมหายใจของท่านจะค่อยๆเบาลง บางลง ละเอียดขึ้น

จุดนี้หลายท่านประสบปัญหาเรื่องคำบริกรรมหาย เดือดร้อนใจว่าพุทโธหาย
หรือลมหายใจเข้าหาย ลมหายใจออกหาย

ไม่ต้องกังวลใจหรือฟุ้งซ่านไป เป็นเรื่องธรรมดาที่ทำไปๆ ลมหรือคำบริกรรมจะหาย

ถ้า ณ ขณะนั้น ท่านรู้สึกสบาย หรือรู้สึกเย็นในโพรงจมูก หรือรู้สึกเย็นในลำคอหรือในช่องปาก ขอให้ท่านเปลี่ยนไปให้ความสนใจ ณ จุดที่ท่านรู้สึกว่าเย็น รู้สึกว่าสบาย

ขอให้ท่านให้ความสนใจไปกับรู้สึกเย็น ชื่นใจ สุข สบาย ณ ตำแหน่งดังกล่าวให้มากๆ
ยิ่งรู้สึกมากยิ่งดี ยิ่งล้นจิตล้นใจยิ่งดี อย่ากลัวว่าการให้ค่า ใ้ห้ความสนใจกับความสุขความสบายจะทำให้สติหาย
เพราะสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ สติไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่สมาธิพละเด่นชัดกว่าเท่านั้น
เหมือนตอนกลางวันดวงดาวไม่ได้หายไปไหนเพียงแต่สู้แสงอาทิตย์ที่เด่นชัดกว่าไม่ได้เท่านั้น

หรือหากไม่ปรากฏความเย็นสบาย แต่ปรากฏอารมณ์ปีติทางใจแทน ก็ให้ท่านใส่ใจในอารมณ์ปีติที่เกิดขึ้นทางใจ
ขอให้ระลึกนึกถึงแต่อารมณ์ปีติทางใจนั้นให้มากๆ ขอให้รู้สึกแช่มชื่น แจ่มใส
ยินดี ปรีดา ให้มากๆ อารมณ์ปีติทางใจที่ว่านี้ มีลักษณะอารมณ์เหมือนกันกับเวลาที่เราทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมนั่นเอง

ถ้าไม่ปรากฏทั้งความเย็นชุ่มชื่น ความสบาย หรืออารมณ์ปีติทางใจ
ก็ขอให้ปล่อยจิตไปตามลมหายใจไปเรื่อยๆ จนกว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิด
อย่าไปตรึงจิตไว้ อย่าไปคอยกระตุกจิตกลับมา ให้ปล่อยไปเรื่อยๆ สบายๆ

ถ้าไม่เกิดจริงๆ ขอให้ลองยิ้มที่มุมปากในขณะที่หลับตาอยู่ นั่นแหละอารมณ์ปีติ
อารมณ์มันเป็นเช่นนั้น ไม่ต้องกลัวคำครหาว่าบ้า นั่งหลับตาอยู่ดีๆก็ยิ้มที่มุมปาก

ถ้ายิ้มที่มุมปากแล้วยังไม่เกิดปีิติ ก็ให้ระลึกนึกถึงช่วงเวลาที่เราได้เคยทำบุญ
ช่วงเวลาที่เราเคยใส่บาตร เคยกราบพระ เคยสวดมนต์ไหว้พระ แล้วปีติจะเกิดซ้ำ

ขอให้เจริญสิ่งเหล่านี้ให้มากๆ มากระดับที่พองฟู จนล้นจิต ล้นใจ ไม่กัก ไม่กั้นเอาไว้

ไม่ต้องคอยพะวงว่าเมื่อไหร่จิตจะรวม เมื่อไหร่จิตจะตั้งมั่น ขณะนี้เวลาผ่านไปเท่าไร
นานแค่ไหนแล้ว รอบตัวตอนนี้จะเป็นเช่นไรบ้าง ไม่ต้องคอยพะวงว่าลมหายใจหายไปหรือยัง คำบริกรรมหายไปหรือยัง หายก็หาย

และเมื่อหายก็อย่าได้ตกใจไม่มีใครตายขณะนั่งสมาธิ
ถ้านั่งไป นั่งไป แล้วเจอแต่ความว่างๆ นิ่งๆ ตื้อๆ ตันๆเหมือนอยู่ในภวังค์
ก็ขอให้ลืมตาแล้วเริ่มทำใหม่ตั้งแต่ต้นคือเริ่มหายใจเข้าช้าๆ หายใจออกช้าๆ

หรือถ้ารู้สึกว่าหัวโต หัวพอง ตัวโต ตัวพอง หรือรู้สึกแปลกๆ ก็ให้ลืมตาแล้วเริ่มทำใหม่

ส่วนมากคนที่ทำแล้วเหมือนเดินย่ำอยู่กับที่ ไม่ได้ฌานสักที
เพราะไม่ปล่อยจิตไปตามความสบาย ไม่ปล่อยจิตไปตามความสุข เพราะมักกลัวว่าจะไร้สติ

สติคือการระลึกนึกถึงแต่อารมณ์ที่เป็นกุศล ความสุขและความสบายที่เกิดจากการทำสมาธิเป็นอารมณ์ของกุศล
ดังนั้นการปล่อยจิตให้ระลึกรู้แต่ความสุขความสบายในสมาธิตามความเป็นจริง
ก็คือการเจริญสติ

ส่วนการรู้สึกตัวทั่วพร้อมคือการเจริญสัมปชัญญะ สัมปชัญญะคือการรู้สึกตัว
สติคือความระลึกได้

สัมปชัญญะมักเกิดตามหลังสติ บ่อยครั้งเราจึงมักเข้าใจว่าการรู้สึกตัวตลอดเวลา
คือการได้สติ หรือมีสติ

คนมักกลัวว่าถ้าปล่อยจิตไปกับความสุข ความสบาย จะกู่ไม่กลับ จะไร้สติ
แต่พอจิตเปี่ยมล้นด้วยปีติจนถึงจุดหนึ่งนั้น ปฐมฌานจะเกิด
อารมณ์มันจะพลิกกลับ คือจิตจะตั้งมั่นขึ้น หรือรวมลง สติจะเกิดชัด แจ่มใส
แช่มชื่น มีพลัง สว่างไสวรุ่งโรจน์ ผ่องใสไพโรจน์
หลังออกจากฌานแล้วจะรับรู้ทุกอย่างตามความเป็นจริง และรู้ตัวทั่วพร้อม

เบากาย เบาใจ พิจารณาสิ่งใดก็แคล่วคล่องว่องไว ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ
ขณะเข้าฌานมักมีนิมิตผุดขึ้นตรงหน้า เหมือนลอยอยู่ด้านหน้าตรงเปลือกตา
นิมิตในอานาปานสติจะต่างกันไปในแต่ละครั้ง บางทีเหมือนหมอก เหมือนเมฆ
บางทีเหมือนสร้อยเพชร บางทีเหมือนดวงดาว หรือดวงจันทร์ บางทีเหมือนดวงแก้ว

และจะรู้ว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมานั้น นิวรณ์ทั้ง 5 ไม่เคยดับได้สนิทเหมือนครั้งนี้
ความลังเลสงสัยจะหมดไป ความกลัวจะไม่มี

คนที่ติดสุขจากฌานโดยมาก มักติดผรณาปิติ
แต่ถ้าได้ตติยฌาน ละปิติได้เมื่อไร อาการติดใจในผรณาปิตินี้ก็จะหายไปเอง
และได้ความยินดีในความสงบมาแทนที่ความสุข
หรือมีอุเบกขาวางเฉยเป็นกลางไม่ยินดีและไม่ยินร้ายได้ในท้ายที่สุด

เมื่อได้ปฐมฌานจะสามารถทำสมาธิได้นานไม่ง่วง ไม่หลับ
มีสติมหาศาล
ไม่ฟุ้ง ไม่หิว ไม่ปวดไม่เมื่อย ถ้าปวดเมื่อยอยู่ก็หายเป็นปลิดทิ้ง ตำแหน่งที่ถูกยุงกัดจนคันก็หายไปเหมือนไม่เคยถูกยุงกัด

ที่ว่ามีสติรู้ตัวทั่วพร้อม คือ เป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักประมาณ
เมื่อออกจากฌานใหม่ๆ นิวรณ์จะยังไม่เกิด ช่วงนี้เหมาะสำหรับการเจริญวิปัสสนาอย่างยิ่ง เพราะยืน เดิน นั่ง นอน ก็สักแต่ว่า...อย่างแท้จริง
ทำสิ่งใดๆลงไปก็ทำไปตามเหตุและผลโดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่น

เป้าหมายและประโยชน์ของการได้ฌาน ก็คือเพื่อให้วิปัสสนาญาณเกิดง่าย
เหมือนดังน้ำที่หายขุ่นและตกตะกอนแล้ว ย่อมส่องเห็นได้ชัด
หรือเหมือนกระจกเงาที่มัวเมื่อเช็ดและขัดถูจนใสย่อมส่องมองเห็นได้ชัดถนัดตา

วิตกกับวิจาร ก็คือการยกจิตขึ้นรับอารมณ์ปีติ หรือการน้อมจิตเข้าหาอารมณ์ปีิติ
หรือโผเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับอารมณ์ปีติ ไม่ใช่ความคิด หรือการตรึกตรอง
เหมือนดังนกจะบินสู่ท้องฟ้ากว้าง ก็ต้องกางปีกออกแล้วโผขึ้นสู่ฟ้า
หรือเหมือนการจะทำให้ไฟลุกโพลงก็ต้องเป่าลมเข้าหากองไฟหรือพัดลมเข้าไป

ช่วงที่ยังได้ปฐมฌาน ต้องหมั่นประคองปีติ โดยยกจิตขึ้นพิจารณาหรือรองรับปีติ
หรือเข้าหาปีติ เมื่อเข้าหาจนมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวแล้วปีติจะลุกโพลงขึ้นและเกิดต่อเนื่อง มากขึ้น เหมือนนักโต้คลื่นต้องหมั่นเลี้ยงตัวทรงตัวอยู่บนเกลียวคลื่น

ถ้าได้ฌานจริง หลังออกจากฌานและเจริญวิปัสสนา่ต่อ
วิปัสสนาญาณจะเกิดไวมาก และต่อเนื่อง รุนแรง รวดเร็ว สามารถขึ้นสู่วิปัสสนาญาณชั้นสูงๆได้ไว ความแตกดับของรูปและนามปรากฏพร้อมกันได้อย่างมากมาย รุนแรง เห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัยเห็นความน่ากลัวน่าเบื่อหน่ายของรูปและนามได้ชัดเจน

สิ่งที่ต้องระวังอย่างหนึ่งคือเมื่อนิวรณ์กลับมาเป็นปกติ ให้ระวังมานะความถือตัว
ให้ระวังความถือตัวว่าเก่งกว่าผู้อื่นหรือเหนือกว่าผู้่อื่น หรือชำนาญกว่าผู้อื่น

ให้รู้เท่าทัน อย่าให้มานะเติบโต เพราะเวลาทำฌานไม่ได้ เพราะประมาทหรือเพราะละทิ้งการทำสมาธิเกิน 3 วัน จะกลับไปทำอีกครั้งจะทำยากหรือลำบากมากขึ้น
ยิ่งทิ้งไว้เป็นสัปดาห์ยิ่งยากกว่าเดิม และจะเกิดโทมนัสมากกว่าคนทั่วไปว่าเคยทำได้ถึงอัปปนาสมาธิแต่ทำไมกลับทำไม่ได้เหมือนเดิม

ช่วงเวลาที่ตกต่ำ หรือทำไม่ได้ ให้พิจารณาความเสื่อมดังกล่าวว่าเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ให้พิจารณาให้เห็นถึงความไม่เที่ยงและสภาพที่ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความปราถนาของเรา เ็ป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
พลิกสมถะให้เป็นวิปัสสนาโดยพิจารณาตามหลักไตรลักษณ์

แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เคยได้ฌาน เขาจะไม่เริ่มตั้งต้นนับ 1 ใหม่
เขาจะใช้วิธีระลึกนึกถึงอารมณ์ที่เคยได้ในขณะที่เข้าฌาน
ถ้าจำอารมณ์ได้ ก็จะเข้าฌานได้ง่าย ได้ไว ไม่ต้องไปเริ่มหายใจเข้า หายใจออก
แต่ถ้าทิ้งร้างไว้นานก็จะลืม จะจดจำอารมณ์ไม่ได้

ถ้ามีใครทักท้วง คัดค้าน หรือสบประมาท ก็อย่าได้หวั่นไหว หรือขัดเคืองใจ
เพราะความลังเลสงสัย ความไม่มั่นใจ หรือปฏิฆะความขุ่นเคืองเหล่านี้เป็นนิวรณ์
เป็นเครื่องกั้น เป็นสิ่งกีดขวาง ที่ทำให้จิตไม่สงบตั้งมั่น
ถ้าทำได้จริง ก็ต้องทำซ้ำได้ ด้วยวิธีเดิม และได้อารมณ์แบบเดิมทุกครั้ง

หมั่นเข้าให้ได้ง่าย ได้ไว
อย่ารีบร้อนที่จะขึ้นไปสู่ฌานชั้นสูง ทำของเดิมให้ชำนาญเป็นขั้นๆไปก่อน
จะละองค์ฌานชั้นล่างๆได้ต้องพิจารณาให้เห็นความหยาบหรือความไม่ประณีตขององค์ฌานชั้นล่างๆ ค่อยๆละไปทีละตัว ตัวไหนทำให้รู้สึกว่ายังสงบไม่พอให้ละไปทีละตัว ยึดเอกัคคตาเป็นเสาหลัก วางอุเบกขาในองค์ฌานชั้นล่าง คือไม่ยินดี

ที่สำคัญคือ อย่าอยากได้ อย่าเร่งเวลา อย่าบังคับตัวเองว่าเข้าครั้งนี้ต้องได้ฌานชั้นนั้นชั้นนี้ ให้ใส่ใจกับอารมณ์ปัจจุบัน และให้ใส่ใจกับอารมณ์ปัจจุบันมากกว่าสนใจดูนิมิต
ถ้าดูนิมิตมากกว่าใส่ใจกับอารมณ์ปัจจุบัน นิมิตจะหาย
อารมณ์ของฌานก็จะหายตามไปด้วยเพราะไม่ใส่ใจประคองอารมณ์ให้สม่ำเสมอ

จากคุณ    : คืนวันอันแสนดี
บันทึกการเข้า
อยากให้ทุกชีวิต มีความสุข และ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน