ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “๗ ก้าวของสิทธัตถะกุมาร" และ วิสุทธิ ๗ เกี่ยวกันอย่างไร...???  (อ่าน 19932 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

“๗ ก้าวของสิทธัตถะกุมาร" และ วิสุทธิ ๗ เกี่ยวกันอย่างไร..??


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า วิธีการทำให้มรรคเกิดก็คือการทำให้พระพุทธเจ้าเกิด มีข้อสงสัยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ เดินได้เจ็ดก้าว และเดินบนดอกบัวเจ็ดดอก เชื่อได้หรือไม่


มีปัญหามา ถึงว่า เมื่อพระสิทธัตถะโพธิสัตว์ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าเกิด ตอนที่สิทธัตถะกุมาร
อายุตั้ง ๓๕ ปี แล้วทำไมเดินได้แค่ ๗ ก้าว

เพราะ ฉะนั้นสิ่งนี้น่าคิด คำว่าเดินได้เจ็ดก้าว ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นปรัชญาธรรม ตรงนี้เราจะเห็นอันหนึ่ง ที่จะพูดในที่นี้ได้เลยว่า พระพุทธเจ้าประสูติ ตรงกับขณะจิตที่พระองค์ตรัสรู้ และขณะจิตที่พระองค์ตรัสรู้นี้เอง พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ที่ดับกิเลสได้โดยสิ้นเชิงแล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว การไม่เกิดขึ้นอีก คือปรินิพพาน จึงเรียกได้ว่า กิเลสปรินิพพานแล้ว


ดังนั้น ในขณะจิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติก็คือขณะจิตที่พระองค์ตรัสรู้ และขณะจิตที่พระองค์ตรัสรู้ก็คือขณะจิตที่พระองค์ปรินิพพาน ด้วยกิเลสปรินิพพาน

ในอัตถคถาได้กล่าวถึง ปรินิพพานมีอยู่สามอย่าง
หนึ่งก็ คือ กิเลสปรินิพพาน ดับกิเลสโดยไม่มีเหลือและไม่เกิดอีก ดับแล้วดับเลยดับเสถียร
อันที่สอง ดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
ข้อสุดท้ายคือธาตุปรินิพพาน พระบรมสารีริกธาตุปัจจุบัน นานไปก็สลายหมด

 
ดังนั้นจึงเรียกว่า ธาตุปรินิพพานดังนั้นในขณะจิต ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ขณะจิตนั้นนั่นเองที่ตรัสรู้ ขณะจิตที่พระองค์ตรัสรู้ขณะจิตนั้นนั่นเองที่ปรินิพพาน ที่บอกว่าวันประสูติตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นวันเดียวกัน ห่างไป ที่จริงแล้วขณะจิตเดียวกันที่เราพิสูจน์ได้

ส่วนประวัติศาสตร์ที่เขียน เป็นอย่างไรตรงนั้นพิสูจน์ไม่ได้ไม่ขอพูด อาจจะจริงก็ได้ เท็จก็ได้เพราะว่าเขียน จำกันมายาวๆ แต่ว่าโดยธรรมแล้วเราสามารถพิสูจน์ได้ทีนี้มาดูว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอายุตั้ง ๓๕ ปี ประสูติแล้ว ทำไมเดินได้แค่ ๗ ก้าว


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาที่จะประสูติ โลกุตตรอริยสัจให้เกิดขึ้น หรือจะทำให้โลกุตตรมรรคปรากฏ จะต้องเดินได้ ๗ ก้าวเท่านั้น

พระโสดาบันก็เดินได้ ๗ ก้าว พระสกทาคามีก็ ๗ ก้าว
พระอนาคามีก็ ๗ ก้าว พระอรหันต์ก็ ๗ ก้าว
เกินกว่านี้ไม่ได้ ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อน ๗ ก้าวนั้นคืออะไร? ก็คือ วิสุทธิ ๗ มีอะไรบ้าง?


๑. สีลวิสุทธิ คือ ความหมดจดในการรักษาศีล
๒. จิตตวิสุทธิ คือ ความหมดจดในการเห็นสภาวจิต
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความหมดจดในการเห็นการเกิดและดับ และพฤติกรรมของทุกข์ทั้งหลาย
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ คือ ความหมดจดในการเห็นเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ในทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ดับ และวิธีทำให้ทุกข์ดับ
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งปัญญาเป็นเครื่องรู้ว่าทำอย่างไรแล้วมรรคเกิด ทำอย่างไรแล้วมรรคไม่เกิด
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความหมดจดแห่งปัญญาเป็นเครื่องเห็นว่า ทำอย่างไรแล้วมรรคจะเกิดทั้งหมดจนเต็ม
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ คือ เมื่อจิตสะอาดหมดจดดีแล้ว ปรับอินทรีย์ได้ดีแล้ว โลกุตตรมรรคจะปรากฏ โลกุตตรอริยสัจจะปรากฏ



เพราะฉะนั้น ดอกบัวดอกที่หนึ่งก็คือ สีลวิสุทธิ ต้องเบ่งบานเต็มที่แล้ว เหมาะสมที่จะรองรับเบื้องพระพุทธบาทในการที่จะก้าวไปเพื่อจะส่งผ่านไปยัง จิตตวิสุทธิ ในวิปัสสนากรรมฐาน
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเทศน์ไว้ว่า พื้นฐานหรือรากเหง้าของวิปัสสนากรรมฐานก็ คือ สีลวิสุทธิ กับ จิตตวิสุทธิ จะพูดถึงเรื่องของจิตตวิสุทธิ อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำวิปัสสนากรรมฐาน เพราะจิตตวิสุทธิ คือ การเห็นสภาวะจิต ความชัดเจนและความหมดจดในการเห็นสภาวะจิต  อันนั้นเรียกว่า จิตตวิสุทธิ

เมื่อเราเห็นสภาวะจิต เราจึงนำสภาวะจิตนั้นมาสู่กระบวนการทำความสะอาดจิต ซึ่งจะทำให้พละเกิด และมรรคเกิด พอมรรคเกิดก็จะประหารกิเลสที่เกิดมากับจิต จิตก็จะสะอาดหมดจด

เมื่อเป็นแบบนี้วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มที่ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นต้นไป จนถึงญาณทัสสนวิสุทธิ
เมื่อเราจะทำให้จิตตวิสุทธิปรากฏได้จะต้องมี สมาธิและวิริยะ สมาธิและวิริยะทางจิตจะต้องสมดุลกัน เมื่อสมดุลกันแล้ว จึงจะสามารถเห็นสภาวะจิตได้ และเราจะนำเอาสภาวะจิตนั้นมาสู่กระบวนการทำความสะอาด ตรงนี้ ถ้าพูดเป็นธรรมาธิษฐานดังนี้


ตัวอย่าง คือ ตู้ปลา เราเอาตู้ใหญ่ๆ เท่าสนามหลวงเลย แล้วพวกเราช่วยกันแบกไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงที่ ที่สามารถรองรับได้แล้วเราก็เอาตู้นี้แหละ ค่อยๆ คว่ำปากลงไป ตอนแรกผิวน้ำจะกระเพื่อมด้วยระลอกคลื่น เราก็คว่ำลงไปให้แตะกับพื้น เมื่อมันแตะกับพื้นดินใต้แม่น้ำแล้วระลอกคลื่นเข้าไม่ได้ ผิวน้ำไม่เป็นระลอกเรียบอยู่ก็ทำให้เห็นว่า น้ำนี้ ความจริงแล้วมันขุ่นด้วยเหตุ ๓ ประการ

ประการที่หนึ่ง ลมหรือระลอกคลื่นทำให้น้ำขุ่น
ประการที่สอง การไหลหมุนเวียนของน้ำนั่นเองทำให้น้ำขุ่น
ประการที่สาม สัตว์น้ำที่อยู่ในน้ำนั่นเองทำให้น้ำขุ่น


เราต้องการที่จะดูว่าน้ำมันขุ่นอย่างไร?
เราจึงนำตู้ปลามาคว่ำเป็นกำแพงกันลมในครั้งแรก เมื่อลมพัดไม่ได้ ผิวน้ำก็เรียบ เราก็จะสามารถเห็นได้ว่าน้ำที่มันยังไหลเวียนยังมีอยู่ต่อมาเราจึงกดตู้ปลาลงไปอีกมันก็จะกักน้ำ เมื่อกักน้ำ น้ำไหลเวียนไม่ได้ ลมก็พัดไม่ได้

ดังนั้นน้ำก็จะเริ่มชนข้างฝา ชนกันเอง และเริ่มไหลช้าลงช้าลงช้าลง เพราะไม่มีปัจจัยภายนอกกระทบ ในที่สุดก็นิ่ง
นิ่งนี้เปรียบเหมือนกับสมาธิ อัปนาสมาธิ (สมาธิแน่วแน่) ขึ้นไป
ในขณะที่ใกล้นิ่งเข้าไปทุกขณะ เปรียบเหมือนอุปจารสมาธิ (สมาธิเฉียดๆ)


ขณะนั้น ตะกอนต่างๆ ที่แขวนลอยอยู่ก็จะเริ่มตกลง เมื่อตะกอนตกลงน้ำจะเริ่มใส พอน้ำใส เราก็จะเริ่มเห็นปลาที่อยู่ในน้ำเห็นสัตว์ที่อยู่ในน้ำ สมมุติว่าเอาปลาอย่างเดียว ขณะที่เห็นปลานั้นน้ำเริ่มนิ่งแล้วเริ่มใสแล้ว

ถ้าหากว่ามีแต่น้ำใส ไม่มีไฟสว่าง เราจะไม่เห็นตัวปลา เพราะฉะนั้น จะต้องมีทั้งน้ำใสและก็ไฟสว่าง
ความลึกของน้ำใสคือปริมาณของสมาธิความเข้มของไฟสว่างคือ ปริมาณของวิริยะ

 

ดังนั้นบัณฑิตทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น จึงได้ทรงตรัสว่า สมาธิ วิริยะ ต้องสมดุลกัน ทัดเทียมกัน เท่าๆ กัน เราจึงสามารถมองเห็นสภาวะจิตได้ในขณะที่เราเห็นปลา ในขณะใด ขณะนั้น สมาธิมีแล้ว วิริยะมีแล้ว
ในขณะที่เราเห็นปลา เราก็รู้ว่ารูปร่างหน้าตาของปลาเป็นอย่างไร

ดังนั้น ปัญญาจึงเกิด ในขณะที่เราเห็นปลา มีสติ มีความเชื่อมั่นว่าเราเห็นปลาเมื่อมีความเชื่อมั่น ศรัทธาจึงเกิดตามมาในขณะที่เราเห็นปลา มีอะไรบ้าง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิปัญญา หรือเรียกว่า อินทรีย์ ๕ การจะทำให้มรรคเกิด
 
ถ้าอินทรีย์ ๕ ไม่เกิดและไม่ถูกพัฒนาขึ้นไป พระพุทธเจ้าไม่ไปเทศน์โปรด
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าจะไปเทศน์โปรดใคร จะดูก่อนว่าอินทรีย์แก่หรือยัง?


ดังนั้นถ้าเราทำวิปัสสนากรรมฐานถูกต้อง ต้องพัฒนาอินทรีย์ขึ้นไปทีนี้ในขณะที่เราเห็นปลาครั้งแรก เราก็ตามดูปลาไปไม่ให้คลาดสายตา ในขณะนั้น มีสมาธิชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นจากการตามดูปลาถ้าเราไม่ตามดูปลาเราก็ไม่เห็น เพราะเราตามดูปลา สมาธิชนิดนี้จึงเกิดขึ้นในขณะที่เราตามดูปลาเกิดความเพียรขึ้น เป็นความเพียรที่เกิดจากการตามดูปลา ไฟสว่างอยู่ก่อนแล้ว ความเพียรชนิดนี้เกิดทีหลังไฟสว่าง จึงเป็นคนละอย่างกัน

ในขณะที่เราตามดูปลาไม่ให้คลาดสายตาในขณะนั้นสติเกิดขึ้นแล้ว เป็นสติคนละชนิดกับสติขณะเห็นปลา ขณะที่เราตามดูปลาไม่ให้คลาดสายตา เราก็จะเห็นว่า

ปลานั้นมันว่ายน้ำอย่างไร?  ลีลาอย่างไร?  กระดิกหางอย่างไร?  พุ้ยครีบอย่างไร?
เหลือบตาอย่างไร?  ขยับเหงือกอย่างไร?  ทานอาหารอย่างไร?  และว่ายไปแล้วทำให้น้ำเราขุ่นอย่างไร? 
เมื่อปลาหยุดนิ่งแล้วน้ำตกตะกอนอย่างไร?


แสดงว่าปัญญาเราเกิดแล้ว เป็นปัญญาคนละชนิดกับขณะเห็นรูปร่างปลาครั้งแรก เมื่อเราตามดูปลาไม่ให้คลาดสายตา เราก็รู้ว่าตัวเราต้องการน้ำใส แล้วถ้าปลาอยู่ในน้ำ ยังว่ายเล่นไปมาได้ ความปลอดภัยจะมีแก่น้ำใสเหล่านี้ไม่ได้ เราไม่ได้เดือดร้อนเพราะปลาแต่เราเดือดร้อนเพราะน้ำขุ่น ปลาอยู่ในน้ำได้ แต่ปลาต้องไม่ทำให้น้ำขุ่น

ดังนั้นปลาควรที่จะต้องอยู่เฉยๆ ประเด็นคือ ทำอย่างไรจะให้ปลาอยู่เฉยๆ เมื่อเราเห็นว่าปลามันเคลื่อนที่จึงทำให้น้ำขุ่น วันใดก็ตาม มันตกใจว่ายเร็วๆ น้ำก็ขุ่นมาก วันใดก็ตามมันดีใจออกกำลัง น้ำก็ขุ่นอีกวันใดก็ตามมันไม่ดีใจไม่ตกใจ แต่มันหิว ค่อยๆ ว่ายไป น้ำก็ขุ่นระดับหนึ่ง ยกเว้นมันนอนหลับ นอกนั้นไม่มีโอกาสที่จะทำให้น้ำใสได้เลย

เพราะฉะนั้นอันตรายเกิดเสมอ เมื่อปัญญาเราเห็นดังนี้ ศรัทธาก็เห็นว่าการทำอย่างนี้ทำให้น้ำขุ่น และศรัทธาก็เชื่อว่า ถ้าต้องการให้น้ำใสจำเป็นจะต้องให้ปลาอยู่เฉยๆ
 

วิธีการทำให้ปลาอยู่เฉยๆ คือต้องทำให้ปลาดับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ใช้ธนูยิง
ตอนที่เราเห็นปลายังไม่ได้ยิงธนูนะ เอาแค่เห็นปลา แล้วตามดูปลาไปไม่ให้คลาดสายตา
คุณธรรมที่อยู่ในที่นี้ครบแล้ว มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันนี้เรียกว่า พละ ๕
เพราะฉะนั้น พละกับอินทรีย์ทำหน้าที่ต่างกัน ตอนนี้ได้สมาธิไปสองอย่างแล้ว เหลืออย่างที่สาม


ในขณะที่เราเห็นปลา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ใช้ธนูยิงในขณะที่เราเล็งเพื่อจะยิง สมาธิเกิดเป็นสมาธิคนละอย่างกับสมาธิในขณะตามดูปลา สมาธิขณะเล็งเพื่อที่จะยิงปลานั้นแรงกว่า มีกำลังมากกว่า ในขณะที่เราเล็งปุ๊บแล้วก็ยิงปั๊บ สมาธิในการเล็งยิงหมดแล้วเหลือสมาธิในการตามดูต่อ ตามดูใหม่ ยิงใหม่ ลูกที่สอง ลูกที่สาม

เพราะฉะนั้น สมาธิขณะเล็งยิงเกิดเพียงแค่ขณะแป๊บเดียว สมาธิในการเล็งยิงนี้เอง คือ สมาธิในมรรค ๘
ในขณะที่กำลังเล็งยิงมีความเพียรและหมดพร้อมกับสมาธิ ขณะที่เล็งยิงมีสติขณะที่เล็งปุ๊บยิงปั๊บ สติจบพร้อมในขณะนั้น เหลือสติในการตามดู


เพราะฉะนั้น สมาธิในการเล็งยิงก็จบตรงนั้น ความเพียรในการเล็งยิงก็จบตรงนั้น สติในการเล็งยิงก็จบตรงนั้น จบเพียงแค่ปล่อยลูกธนูเสร็จ

ดังนั้นจึงเกิดแค่แป๊บเดียวเท่านั้น สมาธิในมรรคนี้ พระอริยอาจารย์ทั้งหลายจึงได้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ขณิกสมาธิ คือสมาธิที่เกิดเพียงแค่ขณะลงมือประหารกิเลสเท่านั้น ไม่ใช่ไปเกิดก่อนอุปจารสมาธิ มันคนละเรื่องกัน
เพราะว่าถ้าสมาธิในพละไม่เกิด สมาธิในมรรคก็เกิดไม่ได้ และถ้าสมาธิในอินทรีย์ไม่เกิด สมาธิในพละจะเกิดไม่ได้


ดังนั้น สมาธิในอินทรีย์เบื้องต้นเกิดมาก่อน แล้วเราจึงจะสามารถทำให้พละเกิดได้ คือตามดูปลาได้ และเราจึงสามารถยิงปลาได้ตามลำดับ ถ้าสมาธิในอินทรีย์ไม่เกิด พละเกิดไม่ได้ ถ้าสมาธิในพละไม่เกิด สมาธิในมรรคเกิดไม่ได้ เมื่อมรรคไม่เกิด ดับทุกข์ไม่ได้ บริสุทธิ์ไม่ได้

เพราะฉะนั้นการจะทำ วิปัสสนากรรมฐานให้ถูกต้องตามครรลอง จึงต้องประกอบด้วย อินทรีย์ พละ และมรรค ไม่ว่าอารมณ์กรรมฐานชนิดนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม แม้ว่าจะทำสติปัฏฐาน ๔ ก็จะต้องทำให้อินทรีย์เกิด พละเกิด มรรคเกิด

เพราะมรรคเกิดแล้ว จึงดับทุกข์ได้อริยสัจนี้ จึงเกิดได้เป็นตามลำดับดังนี้
วิธีการทำให้มรรคเกิด จึงมีความสำคัญในการทำวิปัสสนากรรมฐาน

 

ที่มา หนังสือ วิธีทำให้มรรคเกิด
จาก เทปบันทึกธรรมบรรยาย ของอาจารย์พระปลัดชัชวาล ชินสโภ
ประธานคณะกรรมการบริหาร ศูนย์กลางการศึกษาวิปัสสนาธุระพุทธวิหาร
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

สมภพ

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 485
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
เคยฟังพระอาจารย์ สอนเจริญวิปัสสนา วิสุทธิ 7 ครับ ยอดเยี่ยมมากครับ
กระจ่างในการภาวนา จนไม่มีคำถามเลยครับ ได้ทราบข่าวว่าพระอาจารย์สอนเจริญโพชฌงค์ 7 แล้ว
เป็นปลื้มแทนจริง ๆ เพราะผมยังไม่มีโอกาสได้รับฟังเลยครับ มีเสียงบรรยายธรรมแจกกันบ้างหรือไม่ครับ

 :25:
บันทึกการเข้า

meditation

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 127
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
อยากฟังบ้างครับ ใครมี สื่อเสียงพระอาจารย์ แบ่งปันกันให้ดาวน์โหลดกันบ้างครับ

 :s_hi:
บันทึกการเข้า
ข้าพเจ้าปรียบเหมือนนกที่กำลังหัดเดิน มีสิ่งใดที่ล่วงเกินใคร ก็ขอกราบอภัยไว้ล่วงหน้านะคะ
ภาวนากรรมฐาน เพื่อใคร เพื่ออะไร ทำไม ? หาคำตอบจากใจเราก่อนนะคะ