ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "ขันติ" : ทนลำบาก ทนตรากตำ ทนเจ็บใจ | มีคุณธรรม ๖ ประการ อยู่ในขันติ  (อ่าน 760 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28510
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



"ขันติ" : ทนลำบาก ทนตรากตำ ทนเจ็บใจ | มีคุณธรรม ๖ ประการ อยู่ในขันติ

คำในพระสูตร : ขนฺตี จ (ขัน-ตี จะ)

“ขันติ” อ่านว่า ขัน-ติ

“ขันติ” เขียนแบบบาลีเป็น “ขนฺติ” อ่านว่า ขัน-ติ รากศัพท์มาจาก ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น นฺติ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (ขมฺ > ข) : ขมฺ > ข + ติ > นฺติ : ข + นฺติ = ขนฺติ

หรือจะว่าอีกนัยหนึ่ง ขมฺ (ธาตุ = อดทน) + ติ ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (ขมฺ > ขนฺ) : ขมฺ + ติ = ขมติ > ขนฺติ

“ขนฺติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่อดทนได้” หมายถึง ความอดทน, ความอดกลั้น, การให้อภัย (patience, forbearance, forgiveness)

@@@@@@@

บาลี “ขนฺติ” สันสกฤตเป็น “กฺษานฺติ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

“กฺษานฺติ : (คำนาม) ความเพียร; ความอดกลั้น, ความอดทน; patience; forbearance; endurance.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

“ขันติ, ขันตี : (คำนาม) ความอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่พอใจ, ความอดทน. (ป. ขนฺติ = ความอดทน เป็นบารมี ๑ ในบารมี ๑๐).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้ใหม่เป็นดังนี้
“ขันติ, ขันตี : (คำนาม) ความอดกลั้นต่อสิ่งที่ไม่พอใจ, ความอดทน. (ป. ขนฺติ ว่า ความอดทน เป็นบารมี ๑ ในบารมี ๑๐).”

ขอเชิญชวนให้สังเกตว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้ตรงไหน.?
ข้อความในวงเล็บ พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกว่า “ขนฺติ = ความอดทน”
พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 แก้เป็น “ขนฺติ ว่า ความอดทน”
พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 ใช้เครื่องหมาย =
พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 แก้เครื่องหมาย = เปลี่ยนเป็นคำว่า “ว่า”
เล็กๆ น้อยๆ แต่มีความหมาย บอกถึงความละเอียดถี่ถ้วนในการปรับแก้

@@@@@@@

ในทางวิชาการ ท่านว่า คุณธรรมเหล่านี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของขันติ (เมื่อมีขันติ ก็จะมีคุณธรรมเหล่านี้แฝงอยู่ด้วยเสมอ) กล่าวคือ

(1) เมตตา = ความรัก (love)
(2) ตีติกขา = ความอดกลั้น (forbearance)
(3) อวิหิงสา = ความไม่เบียดเบียน (tolerance)
(4) อักโกธะ = ความไม่โกรธ (meekness)
(5) โสรัจจะ = ความสงบเสงี่ยม, ความว่านอนสอนง่าย (docility, tractableness)
(6) มัททวะ = ความสุภาพอ่อนโยน (gentleness)

ในทางปฏิบัติ ท่านนิยมใช้ขันติใน 3 ทาง คือ

(1) ทนลำบาก คือทนต่ออาการเจ็บป่วยไม่สบายต่างๆ
(2) ทนตรากตรำ คือทนต่อหนาวร้อนในการทำกิจการงาน
(3) ทนเจ็บใจ คือทนต่อกิเลสที่เกิดขึ้นในใจตน

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความ “ขันติ” ไว้ว่า

“ขันติ (ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม — Khanti: patience; forbearance; tolerance).”

@@@@@@@

ขยายความ

มงคลข้อที่ 27 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “ขนฺตี จ” (ขัน-ตี จะ) แปลว่า “ความอดทน ประการหนึ่ง”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า (27.) ขนฺตี จ (มีความอดทน — Khanti: patience; forbearance; tolerance)

ในคัมภีร์ท่านแสดงอานิสงส์ของ “ขันติ = ความอดทน” ไว้ดังนี้

เอวํ อธิวาสนกฺขนฺติยา ยุตฺโต ปุคฺคโล ยถาวุตฺเต คุเณ อธิคญฺฉิ. ตสฺมาสฺส สา ขนฺติ ยถาวุตฺตคุณานญฺเจว ปสํสสฺส จ อธิคมเหตุโต มงฺคลนฺติ เวทิตพฺพา. ตาทิโส หิ ปุคฺคโล อิสิเทวตาพุทฺเธหิ ปสํสนีโย โหติ.

บุคคลผู้ประกอบด้วยอธิวาสนขันติบรรลุคุณตามที่กล่าวแล้วอย่างนี้. เพราะฉะนั้น ขันติของบุคคลนั้นพึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณตามที่กล่าวแล้วและเป็นเหตุให้ได้รับความสรรเสริญ. ด้วยว่าบุคคลเช่นนั้นย่อมเป็นผู้อันฤษี เทพดา และพระพุทธเจ้าพึงสรรเสริญ.

_________________________________
ที่มา : มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 426 หน้า 332

ดูก่อนภราดา.! วิ่งเข้าสู้กับอุปสรรคจนยืนไม่ไหว ดีกว่ายังยืนได้ แต่ยืนเฉยอยู่กับที่



ขอบคุณ ; dhamma.serichon.us/2021/07/06/ขันติ-ในมงคลสูตร-มีความอ/
บทความของ ทองย้อย แสงสินชัย ,6 กรกฎาคม 2021 ฺฺ, By admin.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 06, 2021, 07:18:37 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ