ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
หน้า: 1 ... 8 9 [10]
 91 
 เมื่อ: เมษายน 16, 2024, 05:48:17 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.
มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (2) รอยต่อระหว่างตำนานกับประวัติศาสตร์






ในตำนานมีประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์มีตำนาน

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ได้อธิบายถึงเรื่องเส้นทางของ “พระแก้วอมรโกฏ” (พระแก้วมรกต) จากปาฏลีบุตรสู่สยาม ต่อไปว่า

มีทั้งการนำ “เรื่องจริง” เหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ มาผสมปนเปกับ “เรื่องเล่า” หรือตำนาน ที่กระโดดไปมา ต่างยุคต่างสมัยกัน ตลอดทั้งเรื่อง

จากตอนที่ 1 เราค้างถึงเหตุการณ์ที่ “พระนาคเสน” ได้บูชาพระแก้วมรกต จนกระทั่งเข้านิพพานไปแล้ว

ต่อมาพระแก้วมรกตได้รับการอัญเชิญให้ไปประดิษฐาน ณ เกาะลังกาประมาณ พ.ศ.800 ตำนานระบุชื่อพญามหากษัตริย์ของอินเดีย 3 องค์สุดท้ายในช่วงกลียุคและมหากลียุค ผู้ไม่สามารถรักษาพระแก้วมรกตไว้ได้

อันนามเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่จริง (ชินกาลมาลีปกรณ์ใช้ชื่อว่า พระเจ้าพันธุ พระเจ้ากลันธรรม และพระเจ้าสิริธรรมกิตติ ในขณะที่รัตนพิมพวงศ์ใช้ชื่อ บัณฑุราช ตักกลาธรรม และศิริธรรมกิตติราช) หรือหากมีชื่อที่พอจะเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์จริงได้อยู่บ้าง ก็ถือว่าไม่ได้เรียงลำดับรัชกาลตามนี้ ทั้งศักราชก็คลาดเคลื่อน

ในที่สุดได้มีผู้นำเอาพระรัตนปฏิมาหนีไปอยู่เกาะลังกา หรือลังกาทวีป ดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญขึ้นแทนชมพูทวีปตามคำนาย



นัตของชาวพม่า ในรูปแบบที่เชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของพระเจ้าอนิรุทธมหาราช


เพิ่มอิทธิฤทธิ์ด้วยยี่ห้อ “อนิรุทธ” บลั๊ฟฟ์ “สูริยวรมันที่ 2” ไม่ทศพิธราชธรรม

พระแก้วมรกตอยู่ที่เกาะลังกาได้สักระยะ มีกษัตริย์ชื่อ อนิรุทธ หรือ อนุรุทธราช เสวยราชย์ในเมือง “มลานปุระ” แต่ชินกาลมาลีปกรณ์เรียก “อริมัททนะ” (ทั้งสองชื่อหมายถึงพุกาม) โดยระบุว่าตรงกับปี พ.ศ.1200 ในขณะที่รัตนพิมพวงศ์ให้ศักราชเก่ากว่านั้นอีก ตรงกับปี พ.ศ.1000

พระเจ้าอนิรุทธตั้งใจนั่งเรือสำเภามาขอ “พระไตรปิฎก” จากลังกา ลังกาเห็นว่ากองทัพของอนิรุทธนั้นเกรียงไกรนัก จึงยอมให้พระไตรปิฎกไป แถมอนิรุทธเมื่อทราบว่าลังกามีพระแก้วมรกตจึงรวบอัญเชิญพระรัตนปฏิมาไปอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า พระเจ้าอนิรุทธมหาราช เป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนอยู่จริงในสมัยพุกาม แต่ตรงกับ พ.ศ.1500-1600 และในความเป็นจริงนั้น พระองค์จะยกทัพไปลังกาจริงหรือไม่ ก็ยังไม่มีความแน่ชัด ยุคของพระองค์กำลังก่อสร้างอาณาจักรพุกาม ตามหลักฐานมีการยกทัพไปขอพระไตรปิฎกจากเมืองสะเทิม (สิริธรรมนคร) จากชาวมอญนี่แน่นอน

ทำให้เข้าใจได้ว่า ชินกาลมาลปกรณ์และรัตนพิมพวงศ์ ได้นำชื่อของพระเจ้าอนิรุทธมหาราช เข้ามาเกี่ยวข้องก็เพื่อช่วยเสริมบารมีของพระแก้วมรกตให้ทรงอิทธิฤทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก เพียงแต่ว่าผู้เขียนอาจไม่มีความแม่นยำทางประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้าน จึงระบุให้อนิรุทธเป็นโอรสของพระเจ้าสิริธรรมราช ทั้งๆ ที่พระเจ้าสิริธรรมราชนั้นเป็นชาวมอญ ปกครองเมืองสิริธรรมนคร (สะเทิม) เมืองที่อนิรุทธยกทัพมาตีเพื่อขอพระไตรปิฎก

ตำนานกล่าวต่อไปว่า เมื่ออนิรุทธได้พระรัตนปฏิมาจากลังกาไปแล้ว แต่เรือสำเภากลับแตก ทั้งพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกพลัดหลงขึ้นไปยังฝั่งชายหาดแห่งหนึ่งของเมืองที่ชื่อ “มหานคร” แห่ง “กัมโพชทวีป” บ้างเรียก “นครอินทปัตถ์”

เมื่อเราเห็นชื่อเมืองเหล่านี้ ไม่ว่าจะใช้คำใด คงพอจะเดาออกว่า ตำนานต้องการสื่อถึงเมืองสำคัญยิ่งคือ เมืองพระนคร Angkor Thom ในกัมพูชา เพิ่มความเข้มข้นของตำนานให้ขลังยิ่งขึ้นไปอีก

แต่น่าแปลก หลังจากที่พระเจ้าอนิรุทธยกพลขึ้นบกที่เมืองมหานครได้แล้ว แทนที่จะเอาทั้งพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกซึ่งอุตส่าห์บากบั่นไปแย่งมาชิงมาจากลังกาได้ เอากลับคืนกรุงอริมัททนา (พุกาม) ไว้ทั้งหมด

กลับกลายเป็นว่า พระเจ้าอนิรุทธพอใจที่จะขนเอาแค่พระไตรปิฎกลงสำเภาอย่างเดียวเท่านั้น ทิ้งพระแก้วมรกตไว้ที่กัมโพชนคร

น่าสนใจทีเดียวที่บทบาทของพระเจ้าอนิรุทธช่วงนี้ตั้งใจ “ลืมพระแก้วมรกต” ให้ตกค้างอยู่ที่กัมโพช

ซ้ำร้ายฉากนี้ยังวาดให้ “พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์” กษัตริย์แห่งกัมโพช ไม่มีทศพิธราชธรรมเข้าไปอีก เหตุที่ไปสั่งประหารเด็กเล็กๆ ลูกของปุโรหิต ด้วยเหตุผลเพียงแค่เด็กสองคนทะเลาะกันเรื่องเอาสัตว์เลี้ยง (พวกแมลงวันหัวเขียว แมลงวันหัวเสือ) มาชนแข่งกัน แล้วแมลงวันของลูกพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แพ้แก่แมลงวันของลูกปุโรหิต

ตำนานเล่าเหตุการณ์ว่าเกิดอาเพศ น้ำท่วมทะเลสาบเมืองกัมโพชมหานคร แต่โชคดีที่มีพระภิกษุรูปหนึ่งทันเห็นเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลตั้งแต่กษัตริย์สั่งประหารเด็กเล็กๆ ด้วยเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง เกิดไหวตัวทัน รีบเอาพระแก้วไปลอยน้ำ ทำให้พระรัตนปฏิมาไม่จมหายไปในทะเลสาบ

เรื่องราวช่วงแรกนี้พระแก้วมรกตยังไม่เข้ามาสู่สยามประเทศ เห็นได้ว่าผู้รจนาตำนานตั้งใจหยิบยกเอาเหตุการณ์บ้านเมืองในรัฐจารีต 4 รัฐอันยิ่งใหญ่ หรือในตำนานใช้คำว่า “ทวีป” คือชมพูทวีป ลังกาทวีป อริมัททนะทวีป กัมโพชทวีป มารองรับความสำคัญของพระแก้วมรกตว่าเป็นของสูงของสำคัญ จนเกิดการช่วงชิงกันไปมาระหว่างรัฐต่อรัฐ

หรือมาตรแม้นว่ารัฐไหนหรือทวีปใดได้ครอบครองไปแล้ว หากผู้ปกครองบ้านเมืองไม่อยู่ในศีลในธรรม พระแก้วมรกตก็จักอันตรธานหายไปจากทวีปนั้นๆ ไม่ด้วยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง เช่น ไม่สำเภาแตกก็น้ำท่วมเมือง



รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยากรท่านแรกที่เปิดประเด็นเรื่องพระแก้วมรกต ในรายการคลับเฮาส์


ปริศนาอาทิตยราช VS กรุงอโยฌปุระ

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์หลังจากนี้ จะเริ่มเข้าสู่โหมดการเดินทางของพระแก้วมรกตในดินแดนสยามแบบเต็มๆ แล้ว (หมายเหตุ สยามคำนี้ควบรวมรัฐโยนกตอนเหนือด้วย) อีกทั้งตัวละครต่างๆ ก็เป็นบุคคลจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ผู้เขียนตำนานอาจผูกเรื่องแบบผิดฝาผิดตัวไปบ้าง

หลังจากนครอินทปัตถ์ล่มจมใต้ทะเลสาบเพราะพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ (ตั้งใจจะสื่อถึง สูริยวรมันที่ 2) ลงโทษผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว ในช่วงเวลานั้น มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อ “พระญาอาทิตยราช” ครองราชย์ ณ กรุงอโยฌยา (อโยฌปุระ) ได้เดินทางมายังมหานคร เป็นผู้มีบุญญาธิการสามารถครอบครองพระแก้วมรกตได้ และนำไปไว้ในกรุงอโยฌปุระ

คำว่า “อโยฌปุระ” หรือ “อโยธยา” ทันทีที่ทุกคนได้ยินชื่อนี้ปั๊บ มักปิดตานึกถึง กรุงศรีอยุธยาช่วงต้นๆ ในยุครอยต่อตอนปลายของรัฐรัฐละโว้ รัฐสุพรรณภูมิที่กำลังล่มสลายแล้วกำลังจะเริ่มก่อเกิดกรุงศรีอยุธยา ซึ่งช่วงนั้นเรียกกันว่า อโยธยา

ทว่า คำว่า “อโยฌปุระ” หรือ “อโยธยา” ในตำนานกลับมีนัยยะซับซ้อนมากกว่านั้น มิได้หมายถึงแค่ช่วงต้นของกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใดเลย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ฝากให้พินิจพิเคราะห์ว่า ชื่อกษัตริย์ “อาทิตยราช” นั้น เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงของนครรัฐหริภุญไชย มีอายุร่วมสมัยไล่เลี่ยกับพระเจ้าอนิรุทธแห่งพุกาม และพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 แห่ง Angkor Thom

ดังนั้น ตำนานน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในการประพันธ์ ไปเอาชื่ออโยธยาเข้ามาใส่ให้แก่กษัตริย์ผู้มีอำนาจเกรียงไกรอย่างสูงสุดในแว่นแคว้นเมืองเหนือ ซึ่งพระญาอาทิตยราชนี้ก็เคยกรีธาทัพลงมาสู้รบกับรัฐละโว้ (ลพบุรี) หลายครั้งอีกด้วย

การเขียนตำนานแบบผิดฝาผิดตัวในช่วงนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ อธิบายว่า อย่าว่าแต่ยุคสมัยของเราเลยที่อ่านแล้วสับสน แม้แต่ผู้ปริวรรตตำนานรัตนพิมพวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ พระธรรมปรีชา (แก้ว) เอง ก็ไม่ทราบว่าจะหาคำอธิบายให้คนอ่านเข้าใจอย่างไรดีต่อข้อความในตำนานช่วงนี้

ได้แต่ทำคำขยายเพิ่มว่า “พระเจ้าอาทิตยราช คือผู้ครองแว่นแคว้นแดนสยามประเทศฝ่ายเหนือ ซึ่งเมืองโบราณนั้นเรียกว่า กรุงอโยธยา แต่จักตั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งใดนั้น ยังมิอาจทราบชัดถนัดแน่”

เห็นได้ว่าปราชญ์รัตนโกสินทร์ ช่วงที่ต้องจัดทำคำอรรถาธิบายเกี่ยวกับความย้อนแย้งของกษัตริย์ที่ชื่อ “อาทิตยราช” (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-ต้น 17) กับการที่พระองค์ครองเมืองอโยธยา (เป็นที่รับรู้กันว่า เมืองนี้หมายถึงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีขึ้นไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 19) ปราชญ์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ทำได้เพียงแค่

“ปฏิเสธเช่นกัน ว่าอโยธยาในตำนานพระแก้วมรกตมิใช่กรุงศรีอยุธยาตามที่เรารู้จัก แต่ต้องเป็นเมืองที่อยู่หนไหนสักแห่งในภาคเหนือ”



ชินกาลมาลีปกรณ์ เขียนขึ้นก่อน รัตนพิมพวงศ์


พระแก้วมรกต-พระพุทธสิหิงค์ เริ่มมาบรรจบกันที่กำแพงเพชร

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐาน ณ กรุงอโยฌยาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่า “พระเจ้าติปัญญา” แห่งกำแพงเพชร (ในรัตนพิมพวงศ์ใช้ชื่อว่า “ภูบดี” เสวยราชย์ในวชิรปราการปุระ)

เมื่อทราบถึงเดชานุภาพของพระรัตนปฏิมา ได้เดินทางมาเอาพระแก้วอมรโกฏนั้นไปจากอโยฌยา โดยไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมจึงสามารถเอาไปได้โดยง่าย?

หลังจากกำแพงเพชร (ซึ่งเป็นรอยต่อของรัฐสุโขทัยแห่งลุ่มน้ำปิง) แล้ว พระแก้วมรกตได้ถูกอัญเชิญขึ้นไปยังนครเชียงราย โดย “ท้าวมหาพรหม” พระอนุชาของกษัตริย์กือนา ทั้งสองพี่น้องเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์

และท้าวมหาพรหมท่านนี้เอง เป็นคนเดียวกันกับที่อัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” จากกำแพงเพชรขึ้นสู่ดินแดนโยนกล้านนาเป็นครั้งแรกอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อของ “เจ้าติปัญญา” แห่งกำแพงเพชรคนเดียวกันนี้ ยังได้ไปปรากฏซ้ำ แบบสอดคล้องกันกับตำนานพระพุทธสิหิงค์

อาจารย์รุ่งโรจน์จึงสรุปว่า นับแต่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเชียงรายเป็นต้นไปนับต่อจากนี้ เริ่มน่าจะมีเค้าโครงจริงทางประวัติศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เพราะพระแก้วมรกตสร้างขึ้นในล้านนานี่เอง

ทว่า เรื่องเล่าก่อนหน้านั้นทั้งหมด เป็นการรวบรวมเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของบุคคลผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ของรัฐเพื่อนบ้าน มาเชื่อมโยงให้มีสีสันจนดูเสมือนจริง เพื่อให้พระแก้วมรกตมีความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้นนั่นเอง •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_755984

 92 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 09:31:53 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 93 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 07:20:57 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 94 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 02:56:06 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 95 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 02:09:23 pm 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.
 :25: :25: :25:

รูปวิเคราะห์ชื่อแห่งนิพพานที่เขียนพรรณนามาทั้งหมดมีปรากฏในอนาสาวาทิสูตรและคัมภีร์อภิธานทั้งสอง ชื่อแห่งนิพพานดังต่อนี้ไปมีปรากฏเฉพาะในคัมภีร์อภิธานเท่านั้น ซึ่งพระโมคคัลลานะเถระกล่าวไว้ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาว่า มี 46 บท โดยเพิ่มหรือมากกว่าในอนาสาวาทิสูตร 12 บท ( 2536 : 4) ดังต่อไปนี้

    (1) โมกฺโข แปลว่า ธรรมเป็นที่หลีกเร้น ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสมีราคะ เป็นต้น
    (2) นิโรโธ แปลว่า ความดับ พระบาลีว่า นิโรโธ มีใช้จำนวนมากในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ที่สำคัญที่สุดพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้เป็นจุดสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาว่า นิโรธ สจฺจํ ซึ่งหมายถึงนิพพานนั่นเอง พระบาลีว่า นิโรธ ซึ่งหมายถึงสิ้นจากกิเลส ราคะ
    (3) อรูปํ(น + รูป) แปลว่า ธรรมที่ไม่มีรูปลักษณ์, อรูปธรรม
    (4) อมตํ (น + มร ธาตุ ปราศจากชีวิต + ต ปัจจัย = อมตะ) แปลว่า สภาพที่พ้นจากความตาย พระบาลีว่า อมตํ เป็นภาวะแห่งนิพพาน ที่ปฏิเสธความตาย เหตุคือการปฏิเสธการเกิดนั่นเอง

    (5) อกตํ แปลว่า อกตธรรม พระพุทธองค์ตรัสว่า อชาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขต (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 25 ข้อ 73 : 213) แปลว่า นิพพานเป็นธรรมชาติไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกปัจจัยกระทำ ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 25 ข้อ 73 : 323) พระบาลีว่า อกตํ เป็นภาวะที่ปฏิเสธการสร้างขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ในโลกนี้ จึงเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน
    (6) เกวลํ (เกว ธาตุ เป็นไปในความไม่ประกอบ หมายถึงนิพพาน, นอกจากนี้ยังมีความหมายว่า โดยมาก มั่นคง พอประมาณ ทั้งหมดทั้งสิ้น) ธรรมที่ไม่มีสังขารปรุงแต่ง พระบาลีว่า เกวลํ เป็นสภาพแห่งนิพพานที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้

    (7) อปวคฺโค ธรรมเว้นจากสังขารปรุงแต่ง พระบาลีว่า อปวคฺโค เป็นสภาพแห่งสังขารโลกทั้งปวง
    (8) อจฺจุตํ ธรรมที่ไม่มีจุติของพระอรหันต์ ดังมีพระบาลีว่า อจฺจุตํ อมตํ ปทํ ตํ ญาณํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 32 ข้อ 12 : 225) แปลว่า พระองค์ทรงบรรลุอมตบทที่ไม่จุติด้วยพระญาณ พระบาลีว่า อจฺจุตํ เป็นสภาพแห่งนิพพานที่ไม่มีการจุติคือตายอีก ก็คือ อนุปาทิเสสนิพพานเท่านั้น เพราะไม่เกิดและตายอีกต่อไป
    (9) ปทํ แปลว่า ธรรมที่พระอริยะเข้าถึง ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า สนฺตํ ปทํ อชฺฌคมา (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 15 ข้อ 732 : 275)แปลว่า บรรลุนิพพานอันสงบ พระพุทธองค์อธิบายไวพจน์แห่งนิพพานว่า สนฺตํ ปทํ นิพฺพานํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 11 ข้อ 210 : 257) แปลว่า พระบาลีว่า ปทํ นิพพานที่พระอริยเข้าถึงได้

   (10) โยคกฺเขโม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องสิ้นโยคะทั้ง 4 คำว่า โยคกฺเขโม มีปรากฏใพระไตรปิฎกว่า อนุตฺตโร โยคกฺเขโม (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 19 ข้อ 528 : 205) แปลว่า ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม พระบาลีว่า โยคกฺเขโม
   (11) สนฺติ (สมุ ธาตุ ในความสงบ + ติ ปัจจัย) แปลว่า ธรรมที่สงบจากกิเลส พระพุทธองค์ตรัสว่า ผุฏฐสฺส ปรมา สนฺตินิพฺพานํ อกุโตภยํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 21 ข้อ 23 : 31) แปลว่า สัมผัสความสงบอย่างยิ่ง คือ นิพพานอันไม่มีภัยจากที่ไหน ๆ
   (12) นิพฺพุติ (อิตฺถี) แปลว่า ธรรมที่ออกจากตัณหา หรือธรรมที่ปราศจากตัณหาเครื่องกั้นให้ติดอยู่ในสงสาร ดังพุทธวจนะว่า ตถาคเตน สา นิพฺพุติ อธิคตา (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 29 ข้อ 709 : 423) นิพพานนั้นพระตถาคตทรงบรรลุแล้ว

ไวพจน์หรือชื่อแห่งนิพพานตามรูปศัพท์แห่งนิพพานที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มีจำนวนมาก นอกจากอนาสวาทิสูตร และคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ก็มีอีกจำนวนมาก เช่น คำว่า อจลํ เป็นต้น (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 32 ข้อ 293 : 40) ซึ่งก็เป็น ศัพท์ไวพจน์ของนิพพานเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่า น่าจะมีประมาณเกือบ 100 บท แต่ที่มีใช้มากรองจากนิพพาน ได้แก่ อสังขตะ และนิโรธ





2.2 การตีความนิพพานโดยสภาวะ

การตีความโดยสภาวะนั้นยึดพยัญชนะทั้งหมดนั่นแหละ แล้วนำมาตีความโดยความเป็นจริง ที่มีอยู่โดยธรรมชาติ หรือ โดยสภาวะธรรม มีอยู่ 2 ระดับ คือ ระดับที่ยังมีชีวิตอยู่หรือพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน และระดับชีวิตดับสิ้นหรือพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน ดังนี้

    2.2.1. สอุปาทิเสสนิพพาน
พระนววิมลเถระ กล่าวว่า “กิเลสปรินิพฺพานเหตุโต สห อุปาทิสงฺขาเตน เสเสน ขนฺเธนาติ สอุปาทิเสสา นิพพานธาตุ” (2542: 120) แปลว่า เพราะกิเลสปรินิพพาน แต่ยังเหลือขันธ์ 5 ที่เป็นเศษกรรมแห่งอุปาทานยึดไว้ จึงชื่อว่า สอุปาทิเสสนิพพาน

การที่พระพุทธองค์จะอธิบายภาวะทางจิตแห่งการสัมผัสนิพพาน อันเป็นโลกุตตระ มาบอกแก่ชาวโลก ซึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกันอย่างไร จึงตรัสอุบายวิธีว่าบรมสุข ดังมีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “นิพฺพานํ  ปรมํ สุขํ” แปลความว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 25 ข้อ 203-204 : 95)

คำว่า นิพพานเป็นบรมสุข คือสุขที่เกิดจากการพ้นจากกิเลส ไม่มีกิเลสเกิด อันเป็นนิโรธสัจ ได้แก่ ความสุขที่เป็นความพ้นทุกข์ นิพพานไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการเสวยปัญจารมณ์ หรือไม่ใช่สุขที่เกิดจากการดื่มด่ำในปัญจารมณ์แต่เป็นสุขที่พ้นจากกิเลส พ้นจากความเป็นขันธ์ (ขันธวิมุตติ) เรียกว่าสันติสุข สันติสุของค์ธรรมคือนิพพาน และเป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

ดังนั้น จากคัมภีร์พระพุทธศาสนาดังกล่าวมาจึงตีความได้ว่า สอุปาทิเสสนิพพาน คือ สภาวะทางจิตใจภายในของบุคคลที่กำจัดกิเลส ความชั่ว อกุศลธรรมได้ทั้งหมดที่เรียกว่า กิเลสตาย หรือ กิเลสปรินิพพาน แต่ยังมีชีวิตดำรงอยู่เหมือนคนทั่วไปตามปกติ บุคคลนั้นเรียกว่า อรหันต์ แปลว่า ผู้กำจัดวงล้อแห่งกิเลสได้ สภาพแห่งจิตที่หมดจากกิเลสขณะมีชีวิตอยู่นี้พระพุทธองค์สื่อให้คนทั่วไปรู้ว่า บรมสุข (ปรมํ สุขํ)

     2.2.2. อนุปาทิเสสนิพพาน
นิพพานที่เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน ชื่อว่าเป็นคติสุดท้ายแห่งพระอรหันต์พระนววิมลเถระ กล่าวถึงอนุปาทิเสสนิพพานว่า “ขนฺธปรินิพฺพานเหตุตาย ขนฺธสงฺขาต อุปาทิ เสเสน วิรหิตตฺตา อนุปาทิเสสา, ทฺวิธา นิพฺพานธาตุภาวโต” (2542, น.120) แปลว่า ชื่อว่า อนุปาทิเสส นิพพาน เพราะไม่มีเศษแห่งอุปาทานยึดได้ กล่าวคือ ขันธ์ 5 เพราะเหตุแห่งขันธ์ 5 ปรินิพพาน โดยที่นิพพานโดย 2 ส่วน คือ กิเลสและขันธ์ 5 หมายถึง กิเลสดับและขันธ์ 5 ดับ

การตีความนิพพานที่สุญสิ้น ดับสิ้นจากสังขารโลกทั้งปวง ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน คือ การที่บุคคลทำลายกิเลสทั้งหมดให้สิ้นไปจากจิตสันดานจนจิตบริสุทธิ์ (สุทฺธิ) ที่เรียกว่า อรหันต์ และพระอรหันต์นั้นนั่นเอง ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณดับพร้อมกัน แล้วไม่เกิดอีกต่อไป เป็นการนิพพาน 2 ประการ คือ กิเลสปรินิพพานและขันธปรินิพพาน พร้อมกันทีเดียว เป็นคติสุดท้ายของพระอรหันต์หลังสิ้นชีวิตแล้ว





2.3 การตีความนิพพานโดยอุปมา

นิพพานเป็นโลกุตตระ แปลว่า พ้นจากโลก นิพพานจึงไม่สามารถอธิบายด้วยสิ่งใดๆ ในโลกนี้ได้ พระบรมศาสดาจึงพยายามสื่อให้มนุษย์ได้ทราบด้วยวิธีการต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการอุปมานิพพาน การอุปมาที่ชัดเจนที่สุดมี 3 เรื่อง คือ
    (1) จิตผู้สัมผัสนิพพานเปรียบ ดังหยาดน้ำบนใบบัว
    (2) เมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดปลายเหล็กแหลม
    (3) เปลวประทีปดับ หมดทั้งเปลวประทีป ไข และไส้

    2.3.1. จิตผู้สัมผัสนิพพานเปรียบดังหยาดน้ำบนใบบัว
บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์นั้นไม่ติด คือ ไม่ติดแน่น ไม่ติดพันได้แก่ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้วไม่เกี่ยวข้องแล้วกับกิเลสเหล่านั้น มีใจเป็นอิสระอยู่ เหมือนหยาดนไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 29 ข้อ 46-47 : 164)

    2.3.2. เมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดปลายเหล็กแหลม
ขันธ์ทั้งหลายถึงการทรงตัวอยู่ไม่ได้แตกไปแล้วกองขันธ์ในอนาคตก็ไม่มีส่วนขันธ์ที่เกิดแล้วในปัจจุบันก็ดำรงอยู่เหมือนเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น(พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 29 ข้อ 10 : 52) จิตของพระอรหันต์เปรียบดังเหล็กแหลม ส่วนอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ ประดุจดังเมล็ดผักกาด เมื่อเอาเมล็ดผักกาดวางบนปลายเหล็กแหลม เมล็ดผักกาดได้โอกาสเพียงสัมผัสปลายยอดเหล็กแหลมเท่านั้น ย่อมกลิ้งตกทันที ฉันใด จิตอรหันต์ก็ฉันนั้น

    2.3.3. เปลวประทีปดับ
พระพุทธองค์ตรัสอุปมาอนุปาทิเสสนิพพาน ประดุจดังเปลวประทีปดับลงว่า พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืชสิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นปราชญ์ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 25 ข้อ 13 : 15)หมายความว่า เมื่อเปลวประทีปดับลง ย่อมหมดทั้งไขและไส้เทียน เมื่อพระอรหันต์เสียชีวิต จิตและรูปกายย่อมดับลง ไม่มีเกิดในภพภูมิ อีกต่อไป

การอุปมาทั้ง 3 ประการนี้ เป็นการตีความสภาวะแห่งนิพพานได้ด้วยเช่นกัน การอุปมาน้ำบนใบบัวและเมล็ดพันธุ์ผักกาดปลายเหล็กแหลม คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ส่วนเปลว แห่งประทีบที่ดับ คือ อนุปาทิเสสนิพพาน จากการอุปมาทั้ง 3 ประการนี้ ทำให้มนุษย์ปุถุชนตีความสภาพแห่งนิพพานได้ใกล้เคียงที่สุดแม้ภาวะจิตไม่สามารถถึงหรือสัมผัสนิพพานได้

@@@@@@@

อภิปรายผล

สภาพแห่งนิพพานอันเป็นโลกุตตระนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่สามารถอธิบายด้วยสภาวะใดๆ ทั้งสิ้นที่มีอยู่ในโลกนี้ พระองค์จึงตรัสหลังจากตรัสรู้ครั้งสมัยก่อนจะโปรดสอนสรรพสัตว์ว่า ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ คือ การดับไปแห่งกิเลส ตัณหาอย่างยั่งยืน ไม่เกิดอีกต่อไป ขณะตรัสรู้พระองค์เรียกว่า นิโรธ ต่อมาเรียกว่า นิพพาน อสังขตะ และคำอื่นๆอีกจำนวนมาก ที่เป็นเช่นนี้เข้าใจว่า ต้องการสื่อสารกับผู้ฟังในท้องถิ่นนั้นๆ ให้เข้าใจและปฏิบัติตามเพื่อให้เข้าถึงภาวะพ้นทุกข์อย่างยั่งยืน คือ สอุปาทิเสสนิพพานและอนุปาทิเสสนิพพาน

กระบวนการที่เข้าถึงนิพพาน เรียกว่า สันติบท เป็นไปเพื่อบรรลุความสงบระงับกิเลส ความแจ่มแจ้งของจิต สันติบทนั้นได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสหมวดธรรมเหล่านี้ว่า โพธิปักขิยธรรม ธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งการตรัสรู้พระนิพพาน หมวดใดหมวดหนึ่ง ที่จะเหมาะสมแก่จริตของผู้ปฏิบัติ

เมื่อบรรลุถึงสันติบทแล้ว มรรค ผล นิพพานก็เป็นเรื่องเดียวกัน ภาษาบาลีว่า อาโลโก ญาณํ จกฺขุํ นิพพานํ อังกฤษว่า Enlightenment นิพพานพอมีสภาพให้ปุถุชนรู้ได้ด้วยบทพยัญนะ อักขระ ชื่อ ไวพจน์ต่าง ๆ อันประกอบด้วยกาล เวลา สถานที่ บุคคล อุปมา มาเกี่ยวข้องเพื่อให้ปุถุชนหาแนวทางที่เหมาะสมกับจริตอันจะนำไปสู่ความเข้าใจหลักแห่งบรมธรรม คือ การไม่เกิดแห่งทุกข์อีกต่อไป

แต่พอถึงกาลเวลาผ่านไป 2,500 กว่าปี นิพพานอันเป็นอุดมธรรมอาจผิดเพี้ยนไปจากพุทธประสงค์ จึงต้องอาศัยการตีความจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิมาช่วยในการไขรหัสเข้าไปสู่ความจริงที่พระพุทธเจ้าประสงค์จะให้ถึงเป้าหมายนั้นอย่างถูกต้องที่สุด

@@@@@@@

สรุป

ชื่อหรือไวพจน์ของนิพพานที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรววาทนั้นมีจำนวนมาก บท แต่ที่ใช้ในพระไตรปิฎกจำนวนมากได้แก่ นิโรธ แปลว่า ดับทุกข์ , นิพพาน แปลว่า ไม่มีเครื่องผูกมัด อสังขตะ มีปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานเมื่อว่าโดยสภาวะ 2 ประเภท คือ สอุปาทิเสสนิพพาน กิเลสตายแต่ชีวิตยังไม่ตาย และ อนุปาทิเสสนิพพาน กิเลสตายและชีวิตตาย

สมัยปัจจุบันการจะเข้าถึงนิพพานตามพุทธประสงค์ต้องอาศัยศาสตร์แห่งการตีความมาช่วย การตีความนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท สรุปโดยย่อแล้วมี 3 ประการ คือ
    (1) โดยพยัญชนะ
    (2) โดยสภาวะ
    (3) โดยอุปมา กล่าวเปรียบเทียบสภาพแห่งนิพพาน

แท้จริง นิพพานเป็นโลกุตตระไม่สามารถอธิบายด้วยภาษาโลกได้ พระพุทธเจ้าจึงพยายามอธิบายได้ด้วยภาษาแห่งโลกิยะ อันเป็นกุศโลบายให้สรรพสัตว์เข้าไปสู่โลกุตตระ คือ นิพพาน







ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
บทความจาก : วารสารพุทธศาสตร์ศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 | มกราคม - มิถุนายน 2562

บรรณานุกรม :-
กัจจายนเถระ. (2536). คัมภีร์ปทรูปสิทธิแปลและอธิบาย. กรุงเทพมหานคร : อุษาการพิมพ์.
คันถรจนาจาริยเถระ. (2552). สัมภารวิบาก. กรุงเทพมหานคร: ส.ธรรมภักดี.
นววิมลเถโร. (2542). อภิธมฺมตฺถสงฺคหฎีกา. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2538). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
________. (2541). พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม.
________. 2542. กรณีธรรมกาย. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสารจำกัด.
________.(2554). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา.
________. (2555). พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร. กรุงเทพมหานคร : คิงออฟแอนด์เวอร์ไทซิ่ง.
พระมหากัจจายนเถระ. (2550). เนตติปกรณ์. พระคันธสาราภิวงศ์ แปลและอธิบาย. กรุงเทพมหานคร : ไทยรายวันการพิมพ์.
พุทธโฆสมหาเถระ. (2539). วิสุทฺธิมคฺคปกรณํ (ปฐโม ภาโค). กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พุทธทาส อินทปญฺโญ. (2553). เทศนาชุดสุดท้ายของพุทธทาส : หัวใจนิพพาน กรุงเทพมหานคร : ฐานการพิมพ์.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2545), พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาเตปิฎกํ 2500 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
โมคคัลลานเถระ.(2550). คัมภีร์อภิธานวรรณนา. พระมหาสมปอง มุทิโต แปลและเรียบเรียง. กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา
โมคคัลลานเถระ.(2536). พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา. กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.
หลวงเทพดรุณานุศิษย์. (2550). ธาตุปฺปทีปกา. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย.
อัคควังสเถระ. (2546). ธาตุมาลา. กรุงเทพมหานสิริมงฺคลาจาริโย (2535). มงฺคลตฺถทีปนี(ทุติโย ภาโค). กรุงเทพมหานคร : มหามกุฎราชวิทยาลัย.
สุมาลี มหณรงค์ชัย. (2546). ฮินดู-พุทธ จุดยืนที่แตกต่าง. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิพม์ศยาม

 96 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 11:11:00 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 97 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 09:36:46 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



1. นิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

นิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2555 : 74) ปุถุชนไม่สามารถจะรู้อธิบายได้ เพราะเป็น โลกุตตรธรรม คือ ธรรมที่พ้นจากโลก ปุถุชนไม่สามารถจะเข้าถึงได้อธิบายได้ด้วยแนวคิดหรือ ตรรกของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามสามารถศึกษาได้จากคัมภีร์ คือ พระไตรปิฎกและอรรถกาได้ แต่ผู้วิจัยได้ศึกษาสภาพแห่งนิพพานจากชื่อหรือไวพจน์ ความหมายของนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนานั้นมีจำนวนมากที่ปรากฏในพระไตรปิฎกโดยเฉพาะปรากฏในอนาสวาทิสูตร (พระไตรปิฎกภาษาบาลีเล่ม 18 ข้อ 409: 328)

พระพุทธองค์ตรัสชื่อหรือไวพจน์แห่งนิพพานไว้ดังนี้

     อสงฺขตํ อนตํ อนาสวํ   สจฺจญฺจ ปารํ นิปุณํ สุทุทฺทสํ
     อชชฺชรนตํ ธุวํ อปโลกินํ   อนิทสฺสนํ นิปฺปปญฺจสนฺตํ
     ปณีตญฺจ สิวญฺจ เขมํ   ตณฺหกฺขโย อจฺฉริยญฺจ อพฺภุตํ
     อนีติกํ อนีติกธมฺมํ   นิพฺพานเมตํ สุคเตน เทสิตํ
     อพฺยาปชฺโฌ วิราโค จ   สุทฺธิ มุตฺติ อนาลโย
     ทีปํ เลณญฺจ ตาณญฺจ   สรณญฺจ ปรายนํ

นอกจากยังมีปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ฎีกา ยังมีไวพจน์อีกจำนวนมาก ในคัมภีร์อภิธาน และธรรมบท ผู้วิจัยจึงได้รวบรวมสรุปดังนี้

   (1) ปรมตฺถสารํ สาระประโยชน์สูงสุดคือนิพพาน
   (2) วิปลฺลํ ความสุขอันไพบูลย์ หมายถึงนิพพาน
   (3) วิวฏํ /วิวฏฺฏํ นิพพาน คือธรรมที่ออกไปจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ ธมฺมมุตฺตมํ นิพพานคือธรรมอันสูงสุด
   (4) สปฺปุริสธมฺมํ นิพพานคือธรรมของสัตบุรุษ
   (5) เนกฺขมฺมาภิรติ นิพพานคือความยินดีในเนกขัมมะ
   (6)อคตํ ทิสํ นิพพานคือทิศที่ไม่เคยไป
   (7) สารํ นิพพานชื่อว่าสาระ
   (8) ปรมตฺถํ ประโยชน์อย่างยิ่งคือนิพพาน
   (9) อโรคํ นิพพานคือความไม่มีโรค
 (10) ราควิราโค นิพพานเป็นธรรมเพื่อสำรอกราคะ
 (11) มทนิมฺมทฺทโน นิพพานเป็นธรรมที่ย่ำยีความมัวเมา
 (12) ปิปาสวินโย นิพพานเป็นธรรมที่บรรเทาเสียซึ่งความกระหายในกามคุณอารมณ์
 (13) อาลยสมุคฺฆาโต นิพพานเป็นธรรมที่ถอนเสียซึ่งความอาลัยในกามคุณอารมณ์
 (14) วฎฺฎปจฺเฉโท นิพพานเป็นธรรมที่ตัดเสียซึ่งการเวียนไปในวัฏฏะทั้ง 3 (กิเลส กรรม วิบาก) ให้ขาด
 (15) เสฎฺฐํ นิพพานเป็นธรรมที่ควรสรรเสริญโดยพิเศษ เป็นต้น

พระบาลีที่ปรากฎในพระไตรปิฎกใช้จำนวนมาก ได้แก่ นิโรธ นิพพาน อสังขตะ ทั้ง ๓ คำนี้ มีปรากฏตามกาลที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นตามลำดับ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 4 ข้อ 13 : 11) และ อสังขตะ ใช้หลังจากสอนปัญจวรรคีย์ต่อๆมา





2. การตีความนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

ผู้วิจัยได้สังเคราะห์การตีความในคัมภีร์พระพุทธศาสนาออก เป็น 3 ประเภทคือ

(1) การตีความโดยพยัญชนะ
(2) การตีความโดยสภาวะ คือ ระดับความเป็นจริงที่มีอยู่โดยธรรมชาติ มี 2 คือ
     (2.1) สอุปาทิเสสนิพพาน
     (2.2) อนุปาทิเสสนิพพาน
(3) อุปมา เปรียบเทียบ

ดังมีความสังเขปดังนี้




    2.1 การตีความนิพพานโดยพยัญชนะ

    ในพระไตรปิฎกนิพพานที่เป็นชื่อหรือไวพจน์มีปรากฏในอนาสวาทิสูตร ถือว่ามากที่สุด ดังกล่าวแล้วว่า นิพพานเป็นเป้าหมายอุดมสูงสุดของพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังตรัสรู้และได้ใช้ระยะเวลา 45 พรรษาในการใช้ภาษามนุษย์หรือภาษาบาลีเพื่อให้สรรพสัตว์เข้าสู่อุดมธรรม ดังนั้น ภาวะแห่งการดับกิเลสอย่างหมดจดมีอยู่ มีภาวะเดียวก็ตามแต่ภาษาที่ทำให้เข้าใจได้นั้นมีจำนวนมาก เช่นเดียวกัน นิพพาน ยังมีการตั้งชื่อไวพจน์ไว้เป็นจำนวนมาก
     ดังนั้น ผู้วิจัยจึงได้ตีความแห่งนิพพานโดยใช้รูปวิเคราะห์ด้วยภาษาบาลีการตีความนิพพานลักษณะนี้เรียกอีกอย่างว่า “วิจยหาระ” (พระมหากัจจายนเถระ, 2550 : 93) ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการตีความอีกประเภทหนึ่งในบรรดา 16 หาระ ผู้วิจัยจึงได้แสดงวิจยหาระแห่งนิพพานดังนี้

     อสงฺขตํ แปลว่า ธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีรูปวิเคราะห์บท อสังขตะ ว่า “น สงฺขตํ สงฺขตลกฺขณรหิตนฺติ อสงฺขตํ นิพพาน ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง และเว้นจากลักษณะที่ถูกปรุงแต่ง จึงชื่อว่า อสังขตะ” (โมคคัลลานเถระ, 2550: 23) อสังขตธรรม ไม่ได้เกิดจากปัจจัย 4 คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร ปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน (และบัญญัติ) พระพุทธองค์ทรงอธิบายอสังขตะว่า ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ และความสิ้นโมหะ (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 366 : 448) อสังขตะธรรมจึงไร้สิ่งที่ปราศจากเหตุปัจจัยในโลกิยะ ได้แก่ โลกุตระนั่นเอง

     อนนฺตํ ธรรมที่ไม่พินาศ มีรูปวิเคราะห์บท อนนฺตํ ว่า น กทาจิปิ ยสฺส อนฺโต วินาโส อตฺถิ ตํ อนนฺตํ นิพพานไม่มีความเสื่อมสลายไปตลอดกาล จึงชื่อว่า อนันตะ และ ปริยนฺตปริจฺเฉทภาวรหิตตฺตา อนนฺตํ วุจฺจติ นิพฺพานํ แปลว่า นิพพาน เรียกว่า อนันตะ เพราะไม่มีที่สุดและไม่มีกำหนดขอบเขต (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 27) อนันตะ เมื่อเข้าถีงอนันตธรรมจึงไม่เสื่อมถอยกลับมาส่ธรรมอันเลว คือ โลกิยะอีกต่อไป

     อนาสวํ แปลว่า อนาสวธรรม มีรูปวิเคราะห์บท อนาสวํ ว่า จตุนฺนํ อาสวานํ อภา เวน อนาสวํ นิพพาน ชื่อว่า อนาสวะ เพราะไม่มีอาสาวะ 4 (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 27) คำว่า อนาสวะ เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ อาสวะ 4 อย่าง คือ
           (1) กามาสวะ
           (2) ภวาสวะ อาสวะ คือภพ
           (3) ทิฏฐาสวะ
           (4) อวิชชาสวะ
อาสวะเหล่านี้ นรชนเหล่าใด ละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ นรชนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 30 ข้อ 51 : 211) พระพุทธองค์ตรัสอธิบายนิพพานคือ อนาสวะว่า บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละ ความถือมั่นบัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้วมีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 24 ข้อ 117 : 270) พระบาลีนี้จึงหมายถึง จิตของพระอรหันต์ที่ไม่มีอาสวะ

     สจฺจํ แปลว่า สัจจธรรม มีรูปวิเคราะห์บท สจฺจํ ว่า ราคกฺขยเหตุภาเวน สจฺจํ นิพพาน ชื่อว่า สัจจะ เพราะเป็นเหตุสิ้นไปแห่งราคะ จึงชื่อว่า สัจจะ และ อวิปรีตตฺตา สจฺจํ นิพพาน ชื่อว่า สัจจะ เพราะไม่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 27) นิพพานจึง เป็นสัจจ ธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ใดมีบารมีธรรม ผู้นั้นย่อมเข้าถึงสัจจธรรมนั้น

     ปารํ แปลว่า ธรรมที่สามารถสงบความเร่าร้อนเพราะทุกข์ในสงสาร มีรูปวิเคราะห์บท ปารํ ว่า ปาเรติ สกฺโกติ สํสารทุกฺขสนฺตาปํ สเมตุนฺติ ปารํ แปลว่า นิพพาน สามารถดับความเร่าร้อนคือทุกข์ในสงสาร จึงชื่อว่า ปาระ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 27) ดังพุทธวจนะตรัสไว้ว่า ปารญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ ปารคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลีข้อ 18 เล่ม 378 : 325) แปลว่า ภิกษุทั้งหลายเราจักแสดงฝั่งนิพพานและทางดำเนินไปสู่ฝั่งนิพพานแก่พวกเธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 378 : 460) ปาระ ที่หมายถึงนิพพานนี้ มีความหมายคือตรงกันข้ามกับโลกทั้ง 3 ได้แก่ กามโลก รูปโลก อรูปโลก เป็นฝั่งทำลายวัฏฏะเสียได้

    นิปุณํ แปลว่า ธรรมอันละเอียด มีรูปวิเคราะห์ว่า เยน จตฺตาโร มคฺคา โอธิโส กิเลเส นิสฺเสสโต ปุนนฺติ โสเธนฺติ ตํ นิปุณํ แปลว่า นิพพานเป็นเครื่องชำระกิเลสของมรรค 4(โสดาบัน สกทาคามี อนาคมี อรหันต์) ให้หมดจด จึงชื่อว่า นิปุณะ (โมคคัลลานเถระ, 2550: 28) ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า นิปุณญฺ จ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ นิปุณคามิญฺ จ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 325) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ละเอียดอ่อนและทางดำเนินไปสู่ธรรมที่ละเอียดแก่พวกเธอ (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408:461) คำว่า นิปุณะ จึงเป็นนิพพานที่ลึกซึ้งยากที่ปุถุชนจะเข้าถึงได้ และเป็นมรรคจิตมีสภาพชำระกิเลสออก

     สุทุทฺทสํ แปลว่า เป็นธรรมที่ปุถุชนมองเห็นได้ยากยิ่ง มีรูปวิเคราะห์บท สุทุทฺทสํ ปสฺสิตุํ สุทุกฺกรตาย สุทุทฺทสํ แปลว่า นิพพานชื่อว่าสุทุททสะ เพราะเป็นธรรมที่มองเห็นได้ยากยิ่ง (โมคคัลลานเถระ, 2550: 24) ดังมีพระบาลีว่า สุทุทฺทสญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ สุทุทฺทส คามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 325) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เห็นได้ยากยิ่งและทางที่ให้ถึงธรรมที่เห็นได้ยากยิ่งแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 461) คำว่า สุทุทฺทสํ จึงเป็นนิพพานที่ปุถุชนไม่สามารถจะไปหยั่งรู้ได้ จึงมีสภาพที่เห็นได้ยากยิ่ง

     อชชฺชรํ แปลว่า ธรรมที่ไม่คร่ำครึ ในคัมภีร์ไวยากรณ์ไม่ได้ให้รูปวิเคราะห์ไว้ ผู้วิจัย เข้าใจว่า ชร ธาตุ ในความมีโรคไข้ พระอัคควังสเถระ กล่าวว่า ยตฺถ ตุ อยํ วโย หานิวาจโก ตตฺถ ปโยเค ชีรติ ชราติ จสฺส

     รูปานิ ภวนฺติ แปลว่า ก็ประโยคใด ชร ธาตุนี้มีอรรถว่า วโยหานิ (ความเสื่อมแห่งวัย) ในประโยคนั้น ชร ธาตุนั้นจะมีรูปว่า ชีรติ แปลว่า ย่อมแก่ ย่อมชรา (2546 : 406)

    อชชฺชร (อ+ชชฺชรํ) แปลว่า ธรรมที่ไม่แก่ ไม่คร่ำครึ ธรรมที่ไม่มีโรค ได้แก่นิพพาน ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า อชชฺชรญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ อชชฺชรคามิญํจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 325) ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ไม่คร่ำครึและทางที่ให้ถึงธรรมที่ไม่คร่ำครึแก่เธอทั้งหลาย (สํ.สฬา. (ไทย). 18/408/461) พระบาลีนี้แสดงว่าพระนิพพานเป็นสิ่งที่ชาวโลกปรารถนาอยู่ทุกกาลสมัย ไม่ล้าสมัย ผู้ใดเห็นภัยในวัฏฏะสมัยใด สมัยนั้นนิพพานจึงเป็นที่ปราถนาของคนในสมัยนั้นๆด้วย จึงชื่อว่า อชชฺชรํ

     อนตํ แปลว่า ธรรมที่ไม่มีน้อมไป (ในวัฏฏะ) บทนี้ไม่ได้วิเคราะห์ในคัมภีร์ไวยากรณ์ไว้ ประกอบด้วย - อ แปลว่า ไม่ + นมุ ธาตุในความน้อมไป + ต ปัจจัย เพราะ ต ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ คือ มุ = สำเร็จรูปเป็น อนตํ (พระอัคควังสเถระ, 2546 : 360) แปลว่า ธรรมที่ไม่มีความน้อมไป ดังมีพุทธวจนะว่า อนตญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ อนตคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 378 : 325) ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความไม่น้อมไป (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 3 ข้อ 377-409 : 174) และทางที่ให้ถึงความไม่น้อมไปแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 378: 461) คำว่า ไม่น้อมไป คือ ไม่น้อมไปเกิดในวัฏฏสงสารอีกต่อไป คือ นิพพาน





     ธุวํ แปลว่า ธรรมที่มั่นคง มีรูปวิเคราะห์ว่า ธวติ มคฺคานมารมฺมณภาวํ คจฺฉตีติ ธุวํ แปลว่า ธรรมที่ไปสู่ความเป็นอารมณ์ของมรรคจิต จึงชื่อว่า ธุวะ (โมคคัลลานเถระ, 2550, น. 29) ดังเช่นพระบาลีว่า ธุวํ จ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ ธุวคามินิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลีเล่ม 18 ข้อ 378 : 326) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ยั่งยืนและทางที่ให้ถึงธรรมที่ยั่งยืนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง (พระไตรปิฏกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 461) พระบาลีว่า “ธุวํ ” เป็นการแสดงถึงจิตของผู้เข้าถึงนิพพาน และสภาพแห่งนิพพาน มั่นคงคือ ไม่กลับวนเวียนไปในวัฏฏะอีก

     อปโลกิตํ (อปโลกิตํ น + ป +สช นสฺสเน + อิ อาคม + ต ปัจจัย, บางแห่งเป็น อปโลกินํ ลง ยุ ปัจจัย) แปลว่า ธรรมที่ไม่เลือนหาย พระโมคคัลลานเถระได้แสดงรูปวิเคราะห์บท อปโลกิตํ ว่า สทา วิชฺชมานตฺตา อปลุชฺชนสภาวํ คจฺฉตีติ อปโลกิตํ แปลว่า นิพพานถึงความเป็นธรรมไม่เลือนหายเพราะมีอยู่ตลอดกาลใน (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 30) บทนี้พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกว่า อปโลกิตํ จ โว ภิกฺขเว เทสสิสฺสามิ อปโลกิตคามิญฺ จ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 378 : 326) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ไม่เสื่อมสลายและทางที่ให้ถึงธรรมที่ไม่เสื่อมสลายแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม18 ข้อ 408: 461) พระบาลีว่า อปโลกิตํ มี 2 ประเด็น คือ
     (1) ไม่เลือนหลายไปไหน เพราะเป็นสัจจธรรมสากล
     (2) เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในโลกนี้ อะไรที่โลกนี้มี แต่นิพพานไม่มี ปราศจากสภาพที่อยู่บนโลกนี้

     อนิทสฺสนํ แปลว่า ธรรมที่มองไม่เห็นด้วยตา มีรูปวิเคราะห์ว่า นตฺถิ จกฺขุนา ทสฺสนเมตฺถาติ อนิทสฺสนํ นิพพานเป็นธรรมที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา จึงชื่อว่า อนิทัสสนะ(โมคคัลลานเถระ, 2550 : 26) ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า อนิทสฺสนญฺ จ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ อนิทสฺสนคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษบาลี เล่ม 18 ข้อ 378 : 326) แปลว่า ภิกษุทั้งหลายเราจักแสดงธรรมที่ใครๆ ไม่พึงเห็น (ด้วยจักขุวิญญาณ) และทางที่ให้ถึงธรรมที่ใคร ๆ ไม่พึงเห็นแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 461) พระบาลีว่า อนิทสฺสนํ เป็นการปฏิเสธการเข้าถึงนิพพานโดยการประจักษ์นิยมทางประสาทสัมผัสทางกาย แต่มีสภาพเข้าถึงโดยการน้อมใจเข้าไปรู้ได้เท่านั้น

     นิปฺปปญฺจา (นิ + ป ทฺเวภาวธาตุ ปจิ ธาตุ + อ ปัจจัย) แปลว่า ธรรมที่ไม่ทำให้สงสารของสัตว์ให้เนิ่นช้า มีรูปวิเคราะห์ว่า เอตา อตฺตนิสฺสิตานํ สตฺตานํ สํสารํ ปปญฺเจนฺติ วิตฺถินฺนํ กโรนฺตีติ ปปญฺจา แปลว่า ที่ชื่อว่า ปปญฺจา เพราะทำสงสารของเหล่าสัตว์ที่อาศัยตนเนิ่นช้า คือ ยืดยาว เอตฺถ ปปญฺจาติ ตณฺหามานทิฏฺฐิโย แปลว่า ในบทว่า ปปญฺจา ได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ (พระอัคควังสเถระ, 2546 : 748) ส่วน คำว่า นิปฺปปญฺจา ใส่ นิ อุปสรรค ซึ่งมีความหมายว่า ไม่ , จึงแปลว่า "ไม่มีธรรมที่ทำให้สัตว์เนิ่นช้า" , หรือ "ไม่ทำให้กระแสจิตยืดยาวในสังสารวัฏเข้าไปสู่วิวัฏฏะ" พระบาลีว่า นิปฺปปญฺจา เป็นการสื่อถึงจิตของพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสที่ทำให้เนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ จึงทำให้พ้นจากชาติ คือ การเกิดในชาติต่อไป

     สนฺตํ (ในรูปวิเคราะห์นี้ประกอบด้วย สมุ ธาตุในความเข้าไปสงบ + ต ปัจจัย ( ลบสระที่สุดธาตุ คือ อุ ที่ มฺ เสีย อาเทศ ที่สุดธาตุ คือ ม เป็น นฺ + ต ) สำเร็จรูปเป็น สนฺตํ ) ธรรมเครื่องสงบจาก (จากราคะเป็นต้น) พระโมคคัลลานะได้แสดงรูปวิเคราะห์ สนฺตํ ว่า ราคาทีนํ สนฺตกรณตฺตา สนฺตํ แปลว่า นิพพานชื่อว่า สันตะ เพราะกระทำให้ราคะเป็นต้น สงบลงได้ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 21) พระบาลีว่า สนฺตํ จึงหมายถึง สอุปาทิเสสนิพพาน ที่กระทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายดับลง

     ปณีตํ แปลว่า ธรรมที่ถึงความเป็นประธาน คือ ประเสริฐสุด มีรูปวิเคราะห์ ปณีตํ ว่า ปธานภาวํ นีตํ = ปณีตํ (ในรูปวิเคราะห์นี้ ประกอบด้วย ป อุปสรรค บทหน้า + นี ธาตุ ในความเข้าถึง + ต ปัจจัย ลงในอรรถ อดีตกาล) แปลว่า นิพพานถึงความเป็นประธาน จึงชื่อว่า ปณีตะ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 29) พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีต นฺติ นิพพานํ ทสฺเสนฺโต อาห แปลว่าพระพุทธเจ้าตรัสแสดงนิพพานว่า “เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ อุตฺตมฏฺเฐน ปณีตํ” (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 15 ข้อ 263 : 113) นิพพาน ชื่อว่า ประณีตเพราะมีอรรถว่าประเสริฐสุด (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 13 ข้อ 377 : 174) พระบาลีว่า ปณีตํ เป็นสภาพแห่งนิพพาน ที่ประณีต ที่ปุถุชนใลกนี้สัมผัสไม่ได้

     สิวํ แปลว่า ธรรมอันเกษมหรือผู้กลัวภัยในวัฏฏสงสารพึงเสพ มีรูปวิเคราะห์บท สิวํ ว่า สํสารภีรุเกหิ เสวิตพฺพตฺตา สิวํ (สิ ธาตุ เสวายํ ในความเสพ + ว ปัจจัย = สิวะ) แปลว่า นิพพานเป็นธรรมที่ผู้กลัวภัยในสงสารพึงเสพ จึงชื่อว่า สิวะ (โมคคัลลานเถระ, 2550: 23) พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ปตฺโต สนฺติสุขํ สิวํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 32 ข้อ 393: 497) แปลว่า บรรลุนิพพานอันเป็นสันติสุข พระบาลีนี้จึงหมายถึงพระอรหันต์ที่หมดกิเลส ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขที่เรียกว่า สิวํ

     เขมํ (ขี ธาตุ ในความสิ้นไป+ ม ปัจจัย) แปลว่า เครื่องสิ้นจากโยคะ 4 ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา มีรูปวิเคราะห์ว่า ขยนฺติ เอเตนาติ เขมํ แปลว่า นิพพานเป็นเครื่องสิ้นจากโยคะ ที่ชื่อว่า เขมะ เพราะหมดภัย (นิพฺภยฏฺเฐน เขมํ ) และที่ชื่อว่า เขมะ เป็นเครื่องทำลาย โลภะ โทสะ โมหะ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 30) พระบาลีว่า เขมํ เครื่องทำลายกิเลส การทำลายกิเลสให้หมดสิ้นย่อมมีแก่พระอรหันต์เท่านั้น

     ตณฺหกฺขโย แปลว่า ธรรมที่สิ้นไปแห่งตัณหา มีรูปวิเคราะห์ว่า ตณฺหาณํ ขยเหตุตฺ ตา ตณฺหกฺขโย(ตณฺหา รัสสะ อา เป็น อะ+ ขี ธาตุ ในความสิ้นไป แปลง อี เป็น เอ อาเทศ เอ เป็น อย, ซ้อน ก หน้า ข สำเร็จรูปเป็น ตณฺหกฺขโย) แปลว่า ชื่อว่า ตัณหักขยะ เพราะเป็นเหตุสิ้นไปแห่งตัณหา (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 21) พระบาลีว่า ตณฺหกฺขโย การทำลายตัณหาให้หมดสิ้นย่อมบังเกิดแก่พระอรหันต์เท่านั้น ดังนั้น ตัณหักขยะ จึงเป็นชื่อของสอุปาทิเสสนิพพานเท่านั้น

    อจฺฉริยํ แปลว่า ธรรมที่ต้องประพฤติให้ยิ่ง มีรูปวิเคราะห์ว่า อาภุโส จริตพฺโพติ อจฺฉริโ (อา + จร + อ ปัจจัย) ธรรมที่บุคคลควรประพฤติให้ยิ่ง ชื่อว่า อัจจริยะ ประกอบด้วย อา บทหน้า แปลว่า ยิ่ง รัสสะ อา เป็น อ + จร ธาตุ ในความ ประพฤติ เปลี่ยน จร เป็น จฺฉริย = อจฺฉริยะ แปลว่า ธรรมที่ต้องประพฤติให้มากยิ่ง (โมคคัลลานเถระ, 2550: 888) เพราะนิพพานจะปรากฏแก่บุคคลที่ประพฤติโพธิปักขิยธรรมให้มากเท่านั้น ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “อจฺฉริยญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ อจฺฉริยคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม18 ข้อ 408 : 326) ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่น่าอัศจรรย์และทางที่ให้ถึงธรรมที่น่าอัศจรรย์แก่เธอทั้งหลาย” (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408: 462) พระนิพพาน หากย่อหย่อน จึงไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงมีไว้สำหรับผู้ที่ประพฤติอย่างแรงกล้า ต่อเนื่องเท่านั้น จึงชื่อว่า อัจฉริยะ





     อพฺภุตํ แปลว่า ธรรมที่ไม่เคยมี ปรากฏมาก่อน มีรูปวิเคราะห์บท ว่า ปุพฺเพ น ภ วิตฺถาติ อพฺภุตํ (น แปลง น เป็น อ+ ภู ธาตุ ในความ มี รัสสะ อู เป็น อุ ซ้อนพยัญชนะที่มีรูปไม่เสมอกัน คือ พฺ + ต ปัจจัย สำเร็จรูปเป็น อพฺภุตํ) แปลว่า สิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เคยปรากฏมาก่อน ชื่อว่า อัพภุตะ (ประกอบด้วยเครื่องปรุงไวยากรณ์ดังนี้ เพราะพยัญชนะ (คือ ภู) อยู่หลัง แปลง น เป็น อะ แปลว่า ไม่ +ภู ธาตุ ในความมี รัสสะ อู เป็น อุ เป็น ภุ แล้วซ้อนพยัญชนะที่มีรูป ไม่เสมอกัน สำเร็จรูป อพฺภุ + ต ปัจจัย = อพฺภุตํ) ดังมีพระพุทธวจนะว่า อพฺภุตญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ อพฺภุตคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 326) ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ไม่เคยปรากฏและทางที่ให้ถึงธรรมที่ไม่เคยปรากฏแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 463) พระบาลีว่า อพฺภุตํ เป็นธรรมที่ไม่ปรากฏมาก่อน คือ ศาสนาทั้งหลายในโลกไม่ได้ค้นพบมาก่อน พระองค์ค้นพบนิพพานด้วยพระองค์เดียว จึงชื่อว่า อพฺภุตํ

     อนีติกํ แปลว่า ปราศจากทุกข์ อันตราย บ่วง มีรูปวิเคราะห์บท อนีติกํ ว่า สตฺเต สํสารํ เนตีติ นีตีติ ลทฺธนามาย ตณฺหาย อภาโว อนีติกํ (น เปลี่ยน น เป็น อะ + นีติ + ก ปัจจัย) นิพพานชื่อว่า อนีติกะ เพราะไม่มีตัณหาที่ชื่อนีติ ที่นำสัตว์ไปสู่สงสาร ดังมีพุทธวจนะตรัสว่า ปญฺจนฺนํ ขนฺธานํ นิโรโธ อนีติกํ นิพพานํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 31 ข้อ 735 : 631) แปลว่า ความดับแห่งขันธ์ 5 ชื่อว่า อนีติกะ ได้แก่ นิพพาน แสดงว่า ตัวนำไปสู่ภพคือการเกิดคือ ตัณหา เมื่อหมดตัวนำไปสู่ภพ คือ ตัณหา ที่เรียกว่า อนีติกธรรม ก็เข้าถึงนิพพาน

    นิพฺพานํ สภาวธรรมที่พ้นจากตัณหา มีรูปวิเคราะห์ว่า
     (1) วานสงฺขาตาย ตณฺหาย นิกฺขนฺตตฺตา นิพฺพาติ นิพฺพานํ แปลว่า สภาพที่ดับสนิทเพราะหลุดพ้นจากตัณหาที่เรียกว่า วานะ
     (2) เอเตน ราคคฺคิอาทิโกติ นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมเครื่องดับไฟคือราคะเป็นต้น (โทสะ โมหะ) (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 20)
     พระบาลีว่า นิพฺพานํ เป็นชื่อของนิพพานโดยตรง หมายถึง สภาพที่ไม่มีจิตที่ประกอบด้วยตัณหา ที่ชื่อว่า วานะ อันเป็นเครื่องผูกมัด แท้ที่จริง นิพพานคือ สภาวะที่ปราศจากตัณหา เมื่อหมดตัณหา 3 คือ กาม ภวะ วิภวะ ย่อมเข้าถึงพระนิพพานได้ทันที

     อพฺยาปชฺโฌ แปลว่า ธรรมที่ทุกข์เบียดเบียนไม่ได้ ธรรมที่ไม่มีความพินาศ มีรูปวิเคราะห์บท อพฺยาปชฺโฌ ว่า ตสฺส ภาโว พฺยาพชฺฌํ , ทุกฺขสฺส ปีฬนาทฺยตฺโถ, ตํ ยตฺถ นตฺถิ, ตํ อพฺยาพชฺฌํ แปลว่า ความเป็นธรรมที่บีบคั้น ชื่อว่า พยาพัชฌะหมายความว่า ทุกขสัจมีความบีบคั้นเป็นต้น, นิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีทุกขสัจนั้น จึงชื่อว่า อัพยาพัชฌะ (โมคคัลลานเถระ,2550 : 28) พระบาลีว่า อพฺยาพชฺฌํ เป็นสภาพแห่งนิพพานที่หมดจากการบีบคั้นกดดันจากกิเลสและภพชาติ เพราะชาติเป็นทุกขสัจจะ

     วิราโค แปลว่า ธรรมที่ปราศจากราคะ มีรูปวิเคราะห์บท วิราโค ว่า สพฺพสงฺขารส มโถ สพฺพูปธิปฏิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมที่สงบระงับสังขารทั้งปวงสลัดออกซึ่งอุปธิทั้งปวง สิ้นตัณหา คลายกำหนัด ดับสนิท ปราศจากตัณหา (นิพพาน) (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 29) พระบาลีนี้จึงหมายถึงพระอรหันต์ที่หมดจากราคะแล้ว เมื่อหมดราคะก็ถึงนิพพาน

     สุทฺธิ และวิสุทฺธิ (ในรูปวิเคราะห์ วิสุทฺธิ นี้ประกอบด้วย วิ อุปสรรค บทหน้า+สุธ ธาตุ ในความบริสุทธิ์, หมดจด + ติ ปัจจัย + อาเทศ(เปลี่ยน) ตฺ (ที่ ติ ปัจจัย) กับที่สุดธาตุ คือ ธ เป็น ทฺธ (เพราะเป็นวรรคเดียวกัน) = สำเร็จรูป เป็น วิสุทฺธิ ในกรณีที่เป็น สุทฺธิ ขณะที่ตั้งรูปวิเคราะห์ก็ตัด วิ ออกเสีย ว่า สุชฉนฺติ สตฺตา เอตาย ราคาทิมเลหีติ สุทฺธิ) แปลว่า ธรรมหมดจดจากมลทินคือกิเลส พระโมคคัลลานเถระ ได้แสดงรูปวิเคราะห์บท สุทฺธิ และ วิสุทฺธิว่า วิสุชฉนฺติ สตฺตา เอตาย ราคาทิมเลหีติ วิสุทฺธิ แปลว่า นิพพานยังสัตว์ให้หมดจดจากมลทิน มีราคะเป็นต้น จึงชื่อว่า วิสุทธิ (โมคคัลลานเถระ, 2550: 30) มีปรากฏในพระไตรปิฎก เช่น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ (สุทฺธิ) ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมองจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า “หลุดพ้นแล้ว” รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว  อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 13 ข้อ 233 : 275) พระบาลีทั้งสองหมายถึงพระอรหันต์ที่มีจิตบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง ย่อมเข้าถึงนิพพาน

     วิมุตติ และมุตฺติ แปลว่า พ้นจากสังขาร (โลก) พระโมคคัลลานะได้แสดงรูป วิเคราะห์บท วิมุตฺติ ว่า สพฺพสงฺขารา วิโมจนโต = วิมุตฺติ แปลว่า เพราะพ้นจากสังขารทั้งปวง นิพพาน จึงชื่อว่า วิมุตติ ส่วน มุตฺติ นั้น แปลว่า ธรรมอันหลุดพ้นจากกิเลส มีรูปวิเคราะห์ ว่า ตีหิ ภเวหิ มุตฺตาย มุตฺติ นิพพาน ชื่อว่า มุตติ เพราะพ้นจากภพทั้ง 3 (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 30) พระบาลีว่า มุตฺติ และ วิมุตฺติ การหลุดพ้นจากอัตตา อินทรีย์ (อินทรีย์ 22) พระบาลีทั้งสองหมายถึงพระอรหันต์ที่ละสังขารไปแล้ว เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน

     อนาลโย แปลว่า ธรรมที่ปราศจากตัณหา มีรูปวิเคราะห์บท อนาลโย ว่า นตฺถิ อาลโย ตณฺหา เอตฺถาติ อนาลยํ แปลว่า นิพพานไม่มีตัณหา จึงชื่อว่า อนาลยะ (โมคคัลลานเถระ, 2550, น. 23) ดังมีพระพุทธดำรัสว่า อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ โย ตสฺสา เยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย (พระไตรปิฎกภาษาบาลีเล่ม 4 ข้อ 14 : 14.) ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วย วิราคะ ความสละ ความสละทิ้ง ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา (พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่ม 4 ข้อ 14 : 22) ผู้ที่ปราศจากตัณหาคือพระอรหัดำนต์ที่รงชีวิตอยู่ เมื่อปราศจากตัณหา ย่อมสัมผัสพระนิพพาน

     ทีปํ แปลว่า เป็นที่พึ่งแก่หมู่สัตว์ มีรูปวิเคราะห์บทว่า ยถา ปกติทีโป นทีโสเตน วุยฺหมานานํ ปติฏฺฐา โหติ เอวมิทมฺปิ นิพฺพานํ สํสารมโหเฆน วุยฺหมานานํ ปติฏฺฐาติ ทีโป วิยาติ ทีโป แปลว่า นิพพานเป็นที่พึ่งแก่หมู่สัตว์ผู้ถูกห้วงน้ำในสงสารพัดไป ดุจเกาะเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ ผู้ถูกกระแสคลื่นพัดพาไป จึงชื่อว่า ทีปะ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 20) ดังมีพระบาลีตรัสว่า ทีปญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ ทีปคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 326)แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็นเกาะและทางที่ให้ถึงธรรมที่เป็นเกาะแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 464) พระบาลีว่า ทีปะ เป็นที่พึ่งสำหรับภัยวัฏฏสงสารที่น่ากลัว พระนิพพานจึงชื่อว่าเกาะที่พึ่งที่ปลอดภัยในวัฏฏะสงสาร

     เลณํ แปลว่า ธรรมที่หลบซ่อนหรือหลีกจากภัยในสงสาร มีรูปวิเคราะห์บท เลณํ ว่า นิลียนฺติ เอตฺถ สํสารภยภีรุกาติ เลณํ แปลว่า นิพพานเป็นที่หลีกเร้นจากความกลัวคือภัยจากสังสาร จึงชื่อว่า เลณะ (โมคคัลลานเถระ, 2550: 20) ดังมีพุทธองค์ตรัสไว้ในอนาสวาทิสูตรว่า เลณญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ เลณคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 326) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่เร้นและทางที่ให้ถึงธรรมเป็นที่เร้นแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408 : 464) พระบาลีนี้จึงหมายถึงพระนิพพานที่เป็นที่หลีกเร้นภัยแห่งวัฏฏสงสารที่น่ากลัว

     ตาณํ แปลว่า ธรรมเครื่องรักษา หรือ ธรรมเป็นเครื่องต้านทาน มีรูปวิเคราะห์บท ตาณํ ว่า ตายติ รกฺขติ อปายาทิโตติ ตาณํ นิพพานปกป้องบุคคลให้พ้นจากอบายเป็นต้นจึงชื่อว่า ตาณะ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 21) ดังมีพระบาลีว่า ตาณญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ ตาณคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 408 : 326) แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ต้านทานและทางที่ให้ถึงธรรมเป็นที่ต้านทานแก่เธอทั้งหลาย”(พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 408: 464) พระบาลีว่า ตาณํ ต้านทานอกุศลและไม่ให้ตกไปในอบาย

     สรณํ แปลว่า ธรรม(นิพพาน) เป็นที่พึ่งของพระอริยะ มีรูปวิเคราะห์บท สรณํ ว่าเยน จตฺตาโร มคฺคา โอธิโส กิเลเส สรนฺติ หึสนฺติ ตํ ธมฺมํ สรณํ แปลว่า นิพพานเป็นเครื่องกำจัดกิเลสแต่ละระดับของมรรค 4 หรือ มรรคธรรม 4 เป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยเฉพาะฉะนั้น ธรรมนั้น (นิพพาน) จึงชื่อว่า สรณะ (โมคคัลลานเถระ, 2550 : 25) พระบาลีว่า สรณํ คือ พระนิพพานจึงเป็นเครื่องกำจัดกิเลส ได้แก่มรรคจิต 4 คือ พระโสดาปัตติมรรค สกทาคา มิมรรค อนาคามิมรรค อรหันตมรรค แสดงว่า จิตที่เข้าถึงพระนิพพานนั้นย่อมสัมผัสแต่พระโสดาบันขึ้นไป

    ปรายนํ ธรรมที่พระอริยะเข้าถึง มีรูปดังนี้ ปเรหิ อุตฺตเมหิ อริยปุคฺคเลหิ อยิตพฺพํ คนฺตพฺพนฺติ ปรายนํ แปลว่า นิพพานอันพระอริยะเจ้าผู้ประเสริฐพึงเข้าถึง ชื่อว่า ปรายนะ (โมคคัลลานเถระ, 2550: 24) พระบาลีว่า ปรายนญฺจ โว ภิกฺขเว เทสิสฺสามิ ปรายนคามิญฺจ มคฺคํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 18 ข้อ 409 : 328) แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้าและทางที่ให้ถึงธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแก่เธอทั้งหลาย (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 18 ข้อ 409 : 464) พระบาลีว่า ปรายนํ นี้ ที่มีความหมายว่า พระอริยะเจ้าพึงเข้าถึง ปุถุชนเข้าถึงไม่ได้

(ยังมีต่อ...)

 98 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 08:03:19 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 99 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 06:40:16 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (1)
จาก ‘รัตนพิมพวงศ์’ ถึง ‘พระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 4’


กลางปี 2564 ช่วงที่สถานการณ์โควิดเข้าขั้นวิกฤต ดิฉันได้ชวนเพื่อนพ้องน้องพี่นักวิชาการหลากหลายสำนัก มาเปิดประเด็นถกวิพากษ์เรื่อง “พระแก้วมรกต” กันในคลับเฮาส์ เพราะเป็นหัวข้อที่ “พูดคุยกันกี่ครั้งก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ มีแต่จะเพิ่มมุมมองใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกันได้เรื่อยๆ โดยที่ใครอยากพูดมิติไหนก็เชิญตามสะดวก ไม่มีใครถูกใครผิด”

นำมาซึ่งภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ในแบนเนอร์ที่ท่านเห็น คือโปรแกรมเสวนาคลับเฮาส์ในค่ำคืนของวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ซึ่งเราเสวนากันอย่างเลื่อนไหลมันส์ในอารมณ์ยิ่งนัก ตั้งแต่ 1 ทุ่มถึงเที่ยงคืนครึ่ง นานกว่า 5-6 ชั่วโมง โดยที่คนติดตามฟังสดก็ไม่มีใครยอมล่าถอย

เพื่อให้ความตั้งใจของวิทยากรที่เสียสละเวลาช่วยกันสืบค้นข้อมูลเชิงลึกเรื่องพระแก้วมรกตในมิติต่างๆ ในครั้งนั้นไม่สูญเปล่า ดิฉันในฐานะแม่งานหลัก จึงขอทำหน้าที่ถอดคลิปเสียง จับประเด็นสาระสำคัญมาขยายความต่อ

ตอนแรกนี้ เป็นการเปิดประเด็นของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ผู้คร่ำหวอดเรื่อง “พุทธปฏิมาในสยาม อินเดีย และอุษาคเนย์” แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยากรท่านแรกนี้ได้รับโจทย์จากดิฉันให้อินโทรเรื่อง “เส้นทางของพระแก้วมรกตจากปาฏลีบุตรสู่สยาม”



แบนเนอร์เก่าเมื่อปี 2564 รายการเสวนาคลับเฮาส์ ประเด็น พระแก้วมรกต รวบรวมวิทยากรคับคั่ง


ตำนานฝ่ายล้านนา vs เอกสารฝ่ายรัตนโกสินทร์

ก่อนที่ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง จักนำเข้าสู่เรื่องเส้นทางจากปาฏลีบุตร ท่านขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ข้อมูล” หรือ “องค์ความรู้” เกี่ยวกับพระแก้วมรกตที่คนไทยรับรู้ตราบจนทุกวันนี้กันนั้น ว่ามีที่มาจากเอกสารสามส่วนหลักๆ

ส่วนแรก คือตำนานฝ่ายล้านนา จำแนกได้เป็น 2 เล่ม คือ
    1. รัตนพิมพวงศ์
    2. ชินกาลมาลีปกรณ์ ทั้งคู่แต่งเป็นภาษาบาลี

ว่าด้วย “รัตนพิมพวงศ์” รจนาโดย พระพรหมราชปัญญา ภิกษุชาวล้านนา น่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-ต้น 22 ตำนานเล่มนี้มีความตั้งใจที่จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระแก้วมรกตโดยตรง ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยสองครั้ง ครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระธรรมปรีชา (แก้ว) ครั้งที่สองสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์)

เวอร์ชั่นหลังนี้เอง กรมศิลปากรนำไปตีพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วนภายใต้ชื่อที่เรียบเรียงใหม่ว่า “ตำนานพระแก้วมรกต” จนเป็นที่รู้จักของคนไทยในวงกว้าง

ในขณะที่ “ชินกาลมาลีปกรณ์” รจนาโดย พระรัตนปัญญาเถระ เมื่อปี 2060 (แต่งขึ้นก่อน รัตนพิมพวงศ์) เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ตั้งใจจะเน้นเรื่องประวัติพระพุทธศาสนา กับเหตุบ้านการเมืองในล้านนามากกว่า

ดังนั้น ประเด็นเกี่ยวกับพระแก้วมรกตจึงนำเสนอแบบค่อนข้างย่นย่อ กล่าวคือ มีเรื่อง “พระรัตนปฏิมา” แทรกอยู่เพียง 7 หน้าเท่านั้น

@@@@@@@

ส่วนที่สอง คือเอกสารฝ่ายล้านช้าง เรื่องราวของพระแก้วมรกตมาปรากฏอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากทรงตีเวียงจันท์ได้ และนำพระแก้วมรกตมาถวายแด่พระเจ้ากรุงธนบุรี กระทั่งต่อมาย้ายราชธานีไปอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพฯ พระองค์ยกทัพไปตีล้านช้างอีกครั้งในปี 2331 ได้ตำนานเรื่องพระแก้วมรกตฉบับล้านช้างกลับมาสู่ราชสำนักสยาม ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีการแปลต้นฉบับจากภาษาลาวมาเป็นภาษาไทย

ส่วนนี้ถือเป็น “ภาคขยายความ” ต่อจากรัตนพิมพวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ ที่เล่าเหตุการณ์เรื่องพระแก้วมรกตจบลงเพียงแค่ประทับอยู่ที่ลำปาง (เขลางค์) และพระเจ้าติโลกราชกำลังอัญเชิญมาสู่เชียงใหม่เท่านั้น

ถือว่า ตำนานพระแก้วมรกตฉบับล้านช้าง ช่วยมาเติมเต็มเหตุการณ์อีกช่วงที่ขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของล้านนา นั่นคือ เหตุการณ์หลังจากที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่ไปไว้ที่หลวงพระบาง จนกระทั่งชาวลาวได้สร้างวัดพระแก้วถวายแด่พระแก้วมรกตที่เวียงจันท์



ตำนานพระแก้วมรกต หรือ “รัตนพิมพวงศ์” ของ “พระพรหมราชปัญญา” ฉบับปริวรรตสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เป็นเอกสารที่นำเสนอเรื่องพระแก้วมรกต เชิงอภินิหาร ตำนานกึ่งประวัติศสตร์ จนเป็นที่แพร่หลายในวงกว้างของสังคมไทย


ส่วนที่สาม คือพระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ 4 เป็นพระราชนิพนธ์ที่มีความน่าสนใจยิ่งสะท้อนถึง การปะทะสังสรรค์ต่อสู้กันทางความคิดระหว่าง “ความศรัทธาทางพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า” ของคนรุ่นก่อนแบบเน้นให้เชื่อโดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามใดๆ ปะทะกับ “องค์ความรู้ใหม่ของโลกสากล” ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ซึมซับมาจากชาวตะวันตก จึงพยายามจะให้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ต่อองค์พระแก้วมรกตอีกด้วย

อาจารย์รุ่งโรจน์วิเคราะห์ว่า จุดมุ่งหมายของการเขียนรัตนพิมพวงศ์ก็ดี ชินกาลมาลีปกรณ์ก็ดี ล้วนยกย่องเชิดชูว่าพระแก้วมรกตมีความสำคัญอย่างสูงสุด ประหนึ่งว่า “มาตรแม้นใครได้ไหว้พระแก้วมรกตแล้ว ก็เท่ากับได้ไหว้พระพุทธเจ้าองค์จริง”

โดยตำนานทั้งสองชิ้นนี้ระบุว่า มีการบรรจุ “พระบรมสารีริกธาตุ” ถึง 7 ชิ้น ภายในองค์พระปฏิมาแก้วมรกตด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประกาศให้รู้ว่า หินเขียวแก้วมณีองค์นี้ หาใช่ประติมากรรมดาดๆ แบบพระอิฐพระปูนทั่วไปไม่

หากแต่ “มีชีวิตจริงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่” เมื่อมนุษย์กราบไหว้แล้ว สามารถสัมผัสได้ว่า พระแก้วมรกตจักเป็นที่พึ่งของปวงสัตว์โลกได้อย่างแท้จริง

@@@@@@@

ในขณะที่มุมมองต่อพระแก้วมรกตของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 กลับเปลี่ยนแปรไป พระองค์ไม่ได้เน้นว่าพระแก้วมรกตจะต้องเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้าจริงแท้แค่ไหนหรือไม่ หากมองเห็นว่า คุณค่าของพระแก้วมรกตที่แท้จริงคือ เป็นเครื่องสะท้อนถึงบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ครอบครองมากกว่า ดังเช่นบางถ้อยบางประโยคที่พระราชนิพนธ์ไว้

   “ด้วยอำนาจและพระบารมีของสมเด็จพระเจ้ามหากษัตริย์ศึก (หมายถึงรัชกาลที่ 1 แต่การที่รัชกาลที่ 4 เรียกด้วยตำแหน่งนี้ เนื่องจากตอนรัชกาลที่ 1 ได้พระแก้วมรกตมา ยังดำรงพระอิสสริยยศดังกล่าว) ซึ่งควรเป็นผู้ครอบครองปฏิบัติบูชาพระรัตนปฏิมาพระองค์นี้ เจ้าร่มขาวหลวงพระบางมาสวามิภักดิ์ ทั้งยังปราบเวียงจันท์ได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้ามหากษัตริย์ศึกได้เวียงจันท์ จึงได้อัญเชิญพระปฏิมาองค์นี้พรอ้มพระบางมาด้วย”

อาจารย์รุ่งโรจน์ชี้ให้เห็นว่า ตัวคัมภีร์ทางศาสนา กับเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกต ผลิตขึ้นต่างสถานที่ ต่างช่วงเวลากัน ตำนานฝ่ายล้านนาเขียนขึ้นเพื่อเน้นว่า พระพุทธเจ้าคือพระแก้วมรกต พระแก้วมรกตคือพระพุทธเจ้า

ในขณะที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 มองว่า ความสำคัญของพระแก้วมรกตไม่ได้อยู่ที่จิตวิญญาณขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าต้องประทับอยู่ในองค์พระปฏิมาหรือไม่ ทว่า อยู่ที่ใครที่ได้ครอบครองพระแก้วมรกตคือผู้ที่มีบุญญาบารมีในการปกครองบ้านเมืองมากกว่า



รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศิลป์อินเดีย ลังกา อุษาคเนย์ สยาม และล้านนา


พระแก้วมรกตสร้างในล้านนา อ้างอิงความเก่าถึงอินเดีย

อาจารย์รุ่งโรจน์ขอให้ทุกท่านช่วยกันพิเคราะห์รูปลักษณ์ “พระแก้วมรกต” กันอย่างละเอียดลอออีกครั้ง เชื่อว่าคงไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่า พุทธศิลป์เช่นนี้จักไม่ใช่ “ศิลปะล้านนา” ซึ่งในอดีตเคยมีผู้ศึกษาวิเคราะห์กันไว้แล้วหลายท่าน อาทิ ท่านอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ก็ดี ท่านศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์คนสำคัญแห่งคณะโบราณคดีก็ดี

ความเห็นเรื่องแหล่งผลิตพระแก้วมรกต ณ ปัจจุบันนี้แทบจะเป็นฉันทามติแล้วว่า หากไม่ทำขึ้นที่เชียงแสน เชียงราย ก็อาจทำขึ้นที่เมืองพาน พะเยา 3-4 แห่งที่ประติมากรมีความถนัดในการแกะสลักหินเท่านั้น

เมื่อเรายอมรับทฤษฎีนี้กันอย่างพร้อมเพรียงแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ มีเหตุผลอันใดเล่า จึงได้เขียนตำนานให้ลากยาวไปไกลมากถึงอินเดีย ลังกา พุกาม เขมร ทั้งๆ ที่พระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นของอาณาจักรล้านนาแท้ๆ ดังนั้น เราควรหมายเหตุไว้ว่า น่าจะมีนัยยะหรือวาระซ่อนเร้นบางประการแอบแฝงอยู่

หันมาดูปฐมบทของการศึกษาพระแก้วมรกตในคัมภีร์ “รัตนพิมพวงศ์” มีการเอ่ยถึงนามของพระภิกษุที่มีชีวิตอยู่จริงในยุคหลังพุทธกาลลงมาประมาณ 5-600 ปี นาม “พระนาคเสน” สะท้อนให้เห็นว่า พระพรหมราชปัญญา ได้แรงบันดาลใจจากคัมภีร์ศาสนาเรื่อง “มิลินทปัญหา” (หรือที่เรารู้จักในนาม ตอบปัญหาพญามิลินทร์) แทรกปนอยู่ด้วย

@@@@@@@

เนื้อเรื่องตอนแรกๆ จึงมีบทบาทของ “พระนาคเสน” ปรากฏอยู่ด้วย โดยตำนานระบุว่า พระภิกษุชื่อนาคเสนชาวเมืองปาฏลีบุตร (เป็นการเขียนแบบสันสกฤต หากเขียน “ปาตลีปุต” เป็นแบบบาลี) ต้องการสร้างพระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นเครื่องสืบอายุพระพุทธศาสนา และประสงค์จะสร้างด้วยวัสดุประเภท “แก้ว”

เมื่อพระอินทร์(ท้าวสักกเทวราช) และพระเวสสุกรรม(วิสสุกรรม) สดับดังนั้น จึงขันอาสาหาแก้วมณีจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์ลูกหนึ่งชื่อ “เขาวิบูล” มาให้ แก้วดวงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “อมรโกฏ” บ้างเขียนว่า “อมรกต” แปลว่าแก้วที่สร้างขึ้นด้วยเทวดา(อมร = พระอินทร์, เทวดา ส่วน โกฏ, กต = การสร้าง ผู้สร้าง การกระทำ)

ไปๆ มาๆ ตัว อ หายไป เหลือแค่ มรโกฏ กร่อนเป็น “มรกต” เท่านั้น ความหมายจึงไปพ้องกับอัญมณีประเภทหนึ่งที่เป็นหินเขียว กลายเป็น Emerald Buddha ซึ่งสอดคล้องกับสีของหินเขียวที่ใช้สร้างพระแก้วพอดี ในความเป็นจริงนั้น วัสดุที่ใช้สร้างพระแก้วมรกตเป็นหินในกลุ่มคล้ายหยก (Jade) มากกว่าที่จะเป็น “มรกต” ตามความหมายของ Emerald

ในขณะที่ท้าวสักกะและพระวิสสุกรรม แปลงกายมาเป็นช่างแกะสลักหินเขียวอยู่นั้น ตำนานระบุว่า พระนาคเสนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 7 องค์ ให้เข้ามาสถิตในองค์พระพุทธรูปด้วย โดยฝังกระจายไว้ 7 จุดดังนี้

    1. พระเมาลี (มวยผม)
    2. พระนลาฏ (หน้าผาก)
    3. พระอุระ (ชินกาลระบุว่า อุระ แต่รัตนพิมพวงศ์ บอกว่า พระนาภี-สะดือ)
    4-5. ข้อพระหัตถ์ 2 ข้าง และ
    6-7. พระชานุ (เข่า) 2 ข้าง

เข้าใจว่าความเชื่อในเรื่องการฝังพระบรมสารีริกธาตุ 7 จุดตลอดองค์พระปฏิมาจากตำนานพระแก้วมรกตเรื่องนี้เอง ต่อมาได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของช่างล้านนากลุ่มหนึ่ง (อาจสังกัดป่าแดงหรือไม่?) ในการสร้างพระพุทธรูป ซึ่งยุคสมัยหนึ่งนิยมฝังหมุดหรือใส่ของมีค่า แล้วเอาสลัก (แส้/เดือย) เชื่อมชิ้นส่วนองค์พระปฏิมาที่หล่อแยก 7 ส่วนบ้าง 9 ส่วนบ้าง ให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว อันเป็นที่มาของ พระบัวเข็ม และพระแสนแส้ต่างๆ

ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เคยพยายามตรวจสอบค้นหาความจริง พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์ไว้ในพระบรมราชาธิบายว่า ไม่พบร่องรอยของการฝังพระบรมสารีริกธาตุ 7 จุดในองค์พระแก้วมรกต ตามที่ตำนานรัตนพิมพวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ระบุไว้แต่อย่างใดเลย •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15-21 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2567
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_753719

 100 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 06:22:17 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว



สิบฯฯวันฯแอ่วฯหาฅ฿นฯเถั้า เกั้าวันฯแอ่วฯหาฅ฿นฯแก่ เหิลฯอฯอนั้นฯค่อฯยฯแว่หาร้างฯหาสาวฯ



สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นก้อยแว่หาฮ้างหาสาว”

คนเถ้า หมายถึง ผู้สูงวัยที่มีความรู้ หรือเป็นปราชญ์ชาวบ้าน
คนแก่ หมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ในทางปกครอง เช่น แก่บ้าน คือ ผู้ใหญ่บ้าน แก่วัด คือ ผู้ที่มีหน้าที่จัดการงานต่างๆ ของวัด แก่เหมืองฝาย คือ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเหมืองฝายต่างๆ
ร้าง หมายถึง หญิงที่หย่ากับผัว

ชาวล้านนามีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ถ้าครอบครัวใดมีบุตรเป็นชาย เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนจบชั้นประถมศึกษาภาคบังคับแล้ว หากไม่ได้ศึกษาต่อ หรือมีเวลาหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว มักจะให้บุตรหลานบรรพชาเป็นสามเณร หากลาสิกขาออกมาเรียกว่า “น้อย” หากไม่ลาสิกขาออกมา เมื่อมีอายุครบก็จะให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

หากบวชไม่นานลาสิกขาออกมาเรียกว่า “หนาน”




ระฯบาฯช์ญฯล้านฯนาฯ “ระฯพสิริมังคฯลาจาร์ยฯ”
อ่านว่า ผาดล้านนา พะสิริมังก๊ะลาจ๋าน
แปลว่า ปราชญ์ล้านนา พระสิริมังคลาจารย์

ล้านนาในอดีต พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจำนวนมาก คัมภีร์ต่างๆ ที่ปราชญ์ได้รจนาขึ้น เป็นต้นแบบของการศึกษาภาษาบาลีสืบมา เช่น คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ที่แต่งโดย พระสิริมังคลาจารย์ เป็นวรรณคดีบาลีที่ได้รับการยกย่อง และเป็นคัมภีร์สำหรับศึกษาของพระภิกษุประโยค เปรียญธรรม 4-7 วัด จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ของพระภิกษุ สามเณร

โดยมีผู้สอนที่ได้รับการถ่ายทอดจากตำราโบราณ หรือพระภิกษุที่บวชมานาน ที่เรียกว่า “แก่พรรษา” เมื่อลาสิกขาออกมาแล้ว “น้อย” หรือ “หนาน” เหล่านั้น ก็มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ตามที่ได้รับการถ่ายทอด เพื่อนำมาประพฤติ ปฏิบัติ ในวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมและประเพณีของชาวล้านนา

@@@@@@@

อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ได้รับทางธรรมอาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในสังคมของชาวโลก จึงมีคำสอนของพ่อแม่ที่สอนลูกหลานว่า “สิบวันแอ่วหาคนเถ้า เก้าวันแอ่วหาคนแก่ เหลือนั้นค่อยแว่หาร้างหาสาว” เมื่อ “หนาน” ได้ลาสิกขาจากพระมาแล้ว ในเวลา 1 เดือน ถ้านับตามจันทรคติ ใน 30 วัน ในข้างขึ้น หรือ 29 วันในข้างแรม หรือใน 30 วัน หรือ 31 วัน ในปฏิทินสากล

หากต้องการความรู้ด้านต่างๆ ให้ไปศึกษาจากผู้ที่มีอายุ เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ประมาณ 10 วัน อีก 9 วัน ให้ไปหาความรู้ทางด้านการปกครอง จากผู้ที่มีตำแหน่งและได้รับการยอมรับ ให้เป็น “แก่”

ที่เหลือจากนั้นจึงค่อยไปมองหาคู่ครอง ซึ่งอาจจะเป็นสาว หรือแม่ม่ายหย่าผัว เพราะถ้าบวชนานๆ โดยไม่มีคู่หมายมาก่อน ผู้หญิงในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็คงจะแต่งงานไปก่อนแล้ว เหลือแต่ หญิงม่าย ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า “ส้มกับแม่มาน หนานกับแม่ร้าง” หมายถึง ของเปรี้ยวคู่กับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนหนานนั้นคู่กับแม่ม่าย เป็นต้น

แม้ว่าคำสอนของพ่อแม่ล้านนาจะมีมานานแล้วก็ตาม ถ้านำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน ก็ยังคงใช้ได้ เพราะหากไม่มีความรู้ความสามารถ หรือไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนให้เชี่ยวชาญ การที่จะดำรงชีวิตให้มีความสุขสบายก่อนที่จะแต่งงานคงเป็นไปได้ยากในสังคมที่มีการแข่งขัน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น ค่านิยมของผู้คนก็เปลี่ยนไปตามฐานะของแต่ละครอบครัว •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : ล้านนาคำเมือง
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_754883

หน้า: 1 ... 8 9 [10]