ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “พก รวม ซ้ำ” แนวทางใช้ถุงพลาสติก สูตรสำเร็จลดปัญหาขยะล้นเมือง  (อ่าน 2076 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28487
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


“พก รวม ซ้ำ” แนวทางใช้ถุงพลาสติก สูตรสำเร็จลดปัญหาขยะล้นเมือง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีรายงานครั้งใหญ่ของธนาคารโลกหรือเวิลด์ แบงก์ ออกมาระบุว่า ขณะนี้โลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ภาวะ “วิกฤติขยะ” อันเนื่องมาจากปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยฝีมือของคนเมืองที่กล่าวกันว่า อาจจะผลิตขยะเพิ่มขึ้นถึงปีละ 2,200 ล้านตัน ภายในปี 2568 เลยทีเดียว
   
จากตัวเลขข้างต้น กล่าวได้ว่าเป็นการเพิ่มปริมาณขยะมากขึ้นถึงร้อยละ 70 จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 1,300 ล้านตัน นับเป็นรายงานที่กระตุ้นเตือนผู้ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายทั่วโลกครั้งใหญ่ เพื่อช่วยกันคิดหาแนวทางแก้ไข นอกจากนี้ เวิลด์ แบงก์ยังมีข้อเรียกร้องให้ ปรับปรุงวิธีจัดการขยะและนำขยะหมุนเวียนมาใช้ใหม่ โดยพยายามกระตุ้นให้แกนนำท้องถิ่นและนานาชาติร่วมดำเนินโครงการ “ลดใช้ ใช้ซ้ำและนำกลับมาทำใหม่” ให้ได้มากที่สุด
   
     สำหรับบ้านเรา ปัญหาขยะถือเป็นปัญหาที่สำคัญเช่นเดียวกัน
     โดยเฉพาะขยะจากถุงพลาสติกที่มักจะสร้างปัญหาให้บ่อย ๆ ด้วยการไปอุดตันท่อระบายน้ำ
     ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง และยังทำลายยาก เพราะกว่าจะย่อยสลายได้ต้องใช้เวลาถึง 450 ปี
     ทำให้เริ่มตระหนักว่า “วิกฤติขยะล้นเมือง” เป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเลย
     และนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น พร้อมที่จะส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย

   
     มีตัวเลขน่าสนใจจากผลสำรวจการใช้ถุงพลาสติกทั่วโลกพบว่า
     คนทั่วโลกใช้ถุงพลาสติกกันถึงปีละ 5 แสนล้านถึง1 ล้านล้านใบต่อปี
     หรือเฉลี่ยทุก 1 นาทีจะมีการใช้ถุงพลาสติกอย่างน้อย 1 ล้านใบ

     สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในปี 2552 พบว่า
     ปริมาณขยะมูลฝอยจากชุมชนทั่วประเทศประมาณ 15.03 ล้านตัน หรือ 41,064 ตันต่อวัน
     เป็นขยะพลาสติกร้อยละ 18 หรือ 7,391 ตันต่อวัน หรือ 2.7 ล้านตันต่อปี
     ซึ่งเท่ากับว่า คนไทย 1 คนจะสร้างขยะปริมาณ 0.64 กิโลกรัมต่อคนต่อวันเลยทีเดียว

   


    จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยในปัจจุบัน มีหลายเรื่องที่น่าเป็นห่วง อาทิ การตัดไม้ทำลายป่า การขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม ปัญหามลพิษต่าง ๆ ที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

     โดยเฉพาะปัญหาขยะถุงพลาสติกที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นตามจำนวนของประชากรที่สูงขึ้นและปัจจัยอื่น ๆ ทางกระทรวงฯ จึงให้ความสำคัญในการลดปริมาณขยะพลาสติกลงอย่างต่อเนื่อง
     จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมากกว่า 40,000 ตันต่อวัน
     เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีขยะที่เก็บได้ถึง 8,500 ตันต่อวัน เป็นขยะจากถุงพลาสติก 1,800 ตันต่อวัน
     ทำให้ กทม.มีค่าใช้จ่ายในการเก็บแต่ละวันสูงถึง 1.78 ล้านบาท
     ส่วนปริมาณการทิ้งขยะ พบว่า พื้นที่เขตกรุงเทพฯ จะมีการทิ้งขยะ 1 กิโลกรัมต่อคน
     โดยพื้นที่ต่างจังหวัดมีการทิ้งขยะโดยเฉลี่ยครึ่งกิโลกรัมต่อคน

   


     “ทางกระทรวงฯ จึงมีโครงการความร่วมมือกับภาคเอกชน คือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีแนวคิดสอดคล้องในเรื่องการรณรงค์และร่วมสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยกันผลักดันโครงการลดใช้ถุงพลาสติกเรื่อยมา

      สำหรับปีก่อนเราได้ร่วมจัดทำโครงการ “ทำดี เพื่อแผ่นดิน ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน” และ “รวมพลัง ลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อน ลดการใช้ถุงพลาสติก โดยเฉพาะเมื่อจับจ่ายสินค้าในเซเว่น อีเลฟเว่น ส่วนปีนี้

     จัดโครงการประกวดคลิปรณรงค์ใช้ถุงพลาสติกอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้ชื่อ “คิดถุ๊ง คิดถุง”
     เพื่อรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างค่านิยมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้มีจิตสำนึก รู้จักคิดก่อนใช้ถุงพลาสติก ลดการก่อขยะ เป็นการปลูกฝังให้เห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าและเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป” จตุพร กล่าว

   

    ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพี ออลล์ กล่าวเสริมว่า สำหรับถุงพลาสติกอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราสะดวกสบายขึ้นก็จริง แต่ในมุมกลับกัน หากยิ่งใช้ถุงพลาสติกมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าได้สร้างขยะให้กับโลกมากขึ้นเท่านั้น
    คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค
    หากจะแก้ไขปัญหานี้คงต้องแก้ไขเรื่องความเคยชินก่อน
    รวมทั้งรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
    โดยเฉพาะการสร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องสำคัญมาก
    เพื่อให้การรณรงค์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

   
   “สำหรับโครงการ “คิดถุ๊ง คิดถุง” ที่ซีพีออลล์จัดร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย จะเป็นการประกวดคลิปวิดีโอด้วยไอเดียสร้างสรรค์เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก
   ภายใต้แนวคิด “ลด ใช้ซ้ำ ทำใหม่ (รีดิวซ์, รียูส, รีไซเคิล)”
   ซึ่งเราเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ได้พัฒนาศักยภาพในการคิดสร้างสรรค์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คิดก่อนใช้หรือใช้ซ้ำในชีวิตประจำวัน ลดการก่อขยะ เพื่อจัดการปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน

      ซึ่งได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จอย่างสูง หลังจากที่โครงการนี้เสร็จสิ้น นอกจากจะเผยแพร่แนวคิดเหล่านี้ออกไปในวงกว้างเพื่อให้เข้าถึงประชาชนแล้ว สิ่งหนึ่งคือทำให้เราตระหนักได้ว่า คนรุ่นใหม่ก็มีความตื่นตัวเช่นเดียวกัน และสนใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยิ่งหากมีช่องทางให้พวกเขาได้แสดงออกถึงแนวคิดและวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยกันรณรงค์อย่างจริงจัง ก็อาจจะมีแนวคิดที่ดี ๆ ที่พร้อมจะเกิดขึ้นอีกมากมาย เพื่อช่วยสังคมไทยอีกมากทีเดียว” กรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพี ออลล์ กล่าว
   
ปัญหาขยะถุงพลาสติกถือเป็นเรื่องใกล้ตัว และทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้ ก็สามารถมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาได้ ขอเพียงแค่ตั้งใจทำอย่างจริงจังเท่านั้นอย่างน้อยคำพูดที่ว่า
  ’พวกเรามิได้รับมอบโลกใบนี้สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ หากแต่เรากำลังยืมโลกใบนี้มาใช้ล่วงหน้าจากลูกหลานเรา“
  คงจะช่วยให้เห็นว่าโลกข้างหน้าจะสดใส หรือแสนเศร้า ก็อยู่ที่พวกเราในวันนี้.




“ขอ 3 คำ” และ “ทำใหม่ ให้แม่” สุดยอดไอเดียจากเวทีคิดถุ๊ง คิดถุง อวอร์ด

    สุขพิชัย คณะช่าง เลขานุการหนุ่ม เจ้าของรางวัลชนะเลิศ กับผลงาน “ขอ 3 คำ” ร่วมแนะนำวิธีลดใช้ถุงพลาสติกด้วยการ “พก รวม ซ้ำ” คือ
    1. พกถุงอยู่เสมอ
    2. เมื่อซื้อของให้รวมของหลายชิ้นไว้ในถุงใบเดียวกัน และ
    3. นำถุงกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง


    สำหรับคลิปนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติทุกวันอยู่แล้ว ตั้งแต่ยังศึกษาด้านการท่องเที่ยว ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อมีโอกาสไปทัศนศึกษา ทำให้พบเห็นขยะและถุงพลาสติกมากมายที่กลาดเกลื่อนเต็มสถานที่ท่องเที่ยวแทบทุกแห่ง ซึ่งเป็นภาพไม่น่าดู คิดว่าเราน่าจะช่วยสังคมได้บ้าง จึงเริ่มลงมือเก็บขยะเหล่านั้นทิ้ง และทำเรื่อยมาไม่ว่าจะเจอที่ไหนจนติดเป็นนิสัย
    จึงเป็นที่มาและแรงบันดาลใจสำคัญจากสิ่งที่ทำเป็นประจำนั่นเอง  สำหรับคลิปนี้ตั้งใจสื่อสารไปตรง ๆ  เพื่อทำให้ดูง่าย เข้าใจได้ทันที และปฏิบัติตามไม่ยาก
   
    ด้าน เกศรินทร์ ไกลถิ่น นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยาประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รางวัลรองชนะเลิศ กล่าวว่า   
    “คิดถุ๊ง คิดถุง” เป็นโครงการที่คิดเรื่องเป็นประโยชน์และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เผยแพร่ได้ชัดเจน ตรงไปตรงมา เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่ต่อไปจะเป็นกำลังสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก สำหรับผลงาน “ทำใหม่ ให้แม่” เนื้อเรื่องสื่อในแนวขบขัน พร้อมสอดแทรกวิธีการนำไปใช้ในชีวิตจริงอย่างละเอียด

    ส่วนแนวคิดและแรงบันดาลใจได้มาจากครอบครัว จากที่ทุกวันจะเห็นภาพยายเก็บขยะ แยกขยะ เห็นน้าพับถุงพลาสติกเก็บไว้ใช้เสมอ จึงเชื่อว่าจิตสำนึกที่ดีสร้างได้จากครอบครัว แม้เด็กตัวเล็ก ๆ ก็สามารถร่วมรักษ์โลกได้เช่นกัน แล้วพวกเราล่ะเริ่มลงมือทำได้หรือยัง
    จึงอยากฝากถึงทุกคนว่าปัญหาการใช้ถุงพลาสติกไม่ใช่ปัญหาแค่ในประเทศ แต่เป็นปัญหาระดับโลก ถ้าทุกคนยังเมินเฉย คนที่ได้รับผลกระทบในท้ายที่สุดก็คือตัวเราเอง แต่หากช่วยกันคนละไม้คนละมือ อาจไม่ต้องถึงขั้นเลิกใช้ถุงพลาสติก ขอแค่ใช้อย่างรู้คุณค่า เพียงเท่านี้ปัญหาเหล่านี้อาจลดลงได้



ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.dailynews.co.th/article/224/163742
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ