ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จิตประภัสสร | อารมฺมณํ จินฺเตตีติ จิตฺตํ  (อ่าน 8 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28499
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



จิตประภัสสร | อารมฺมณํ จินฺเตตีติ จิตฺตํ

จิตคืออะไร.? จิต คือ สิ่งที่คิดถึงเรื่องราว ดังคํานิยามที่ว่า อารมฺมณํ จินฺเตตีติ จิตฺตํ จิตคือ ธรรมชาติที่คิดถึงอารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตคิด 5 ประการ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์(จินตภาพ) เมื่อจิตคิดถึงสิ่งใดก็ตาม จะประกาศเปิดเผยสิ่งนั้นให้ปรากฏในโลก

ถ้าโลกนี้ไม่มีจิตสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ก็ไม่ถูกรับรู้ สิ่งเหล่านี้มีก็เหมือนไม่มี เช่น ต้นหญ้าไม่รู้ว่าตัวเองอยู่บนแผ่นดิน แผ่นดินไม่รู้ว่ามีภูเขา ภูเขา ไม่รู้ว่ามีลําธารอยู่ข้างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในความลับดํามืด เพราะ ไม่มีการรับรู้ซึ่งกันและกัน แต่เพราะโลกนี้มีจิต ความมีอยู่ของสิ่งต่างๆ จึงถูกประกาศเปิดเผยออกมา

จิตจึงเหมือนแสงไฟส่องสว่างโลกนี้ จิตคิดไปทางใด โลกก็ถูก เปิดเผยในทิศทางนั้น เช่นเดียวกับเวลาที่เราขึ้นเฮลิคอปเตอร์ในคืนเดือนมืด เฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนือภูเขา เราฉายไฟสปอตไลต์ลงบน ยอดเขา แสงไฟสปอร์ตไลต์พุ่งไปที่ใด ที่นั่นก็ถูกเปิดเผยให้ปรากฏออกมา จิตเหมือนกับแสงไฟสปอตไลต์นี้ ท่านจึงเรียกว่า ประภัสสร แปลว่า ส่องแสงสว่าง

@@@@@@@

ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
   "ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺฐํ"
    แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย จิตประภัสสร แต่จิตนั้นแลถูกอุปกิเลสที่จรมา ทําให้เศร้าหมอง


จิตได้ชื่อว่าประภัสสร เพราะส่องสว่างให้สิ่งต่างๆ ในโลกปรากฏ จิตเหมือนแสงไฟฉายที่สาดส่องไปในความมืดมิดแล้วเปิดเผย สิ่งต่างๆ บางครั้งแสงไปอาจเปลี่ยนสีไปตามสีของกระจกที่ครอบดวงไฟ ถ้ากระจกสีเขียว แสงไฟจะเป็นสีเขียว และสิ่งที่ถูกเปิดเผยก็จะ เป็นสีเขียวตามสีของแสงไฟ ถ้ากระจกครอบสีแดง แสงไฟจะมีสีแดง และภาพของสิ่งที่ถูกเปิดเผยก็จะเป็นสีแดงเช่นกัน ถ้ากระจกสีขาวสดใส แสงก็จะประภัสสรผ่องใส ภาพที่แสงไฟไปกระทบก็ไม่ถูกบิดเบือน

จิตของคนเช่นเดียวกับดวงไฟฉาย กิเลสต่างๆ เหมือนกับกระจกสีที่ห่อหุ้มดวงไฟนั้น จิตที่มีความโลภห่อหุ้มก็จะมองแต่สิ่งที่ น่าปรารถนาน่าอยากได้ จิตที่มีความโกรธห่อหุ้มก็มักจับผิดคนอื่น จิตที่มีกิเลสห่อหุ้มจะไม่สามารถเปิดเผยสิ่งต่างๆ ให้ปรากฏตามความเป็นจริง เช่นเดียวกับดวงไฟที่มีกระจกครอบเป็นสีเขียว แสงไฟจึงเป็นสีเขียว และทําให้สิ่งต่างๆ ปรากฏเป็นสีเขียวไปด้วย

จิตของปุถุชนที่ถูกกิเลสห่อหุ้ม มักบิดเบือนภาพที่ปรากฏให้ต่างจากความเป็นจริง เมื่อเรามองใครสักคน เรามักตัดสินเขาไปตามอํานาจกิเลสว่าสวยหรือไม่สวย น่ารักหรือน่าชัง ถูกชะตาหรือไม่ถูกชะตา

@@@@@@@

นี่แสดงว่า เราไม่ได้มองเขาตามความเป็นจริง เราปรุงแต่งไปตามอํานาจกิเลส สิ่งที่ปรุงแต่ง จิตมีทั้งฝ่าย และฝ่ายเลว นักอภิธรรมเรียกสิ่งที่ปรุงแต่งจิตว่า เจตสิก ดังคํานิยามที่ว่า เจตสิกนิยุตต์ เจตสิก ธรรมชาติที่ประกอบเข้ากับจิต เรียกว่า เจตสิก ซึ่งมีจํานวน ๕๒ ชนิด มีทั้งฝ่ายดี ฝ่ายเลว และฝ่ายเป็นกลาง

จิตของปุถุชนมองโลกต่างจากจิตของพระอรหันต์ ปุถุชนมักมองโลกด้วยเจตสิกฝ่ายไม่ดีจึงปรุงแต่งเป็นรักชอบหรือเกลียดชังไปตามสถานการณ์ ภาพของโลกที่จิตมองจึงถูกบิดเบือน แต่พระอรหันต์ ผู้ตัดกิเลสได้ขาด ไม่มีการปรุงแต่งเป็นชอบหรือชัง ทั้งนี้เพราะท่าน รู้เห็นตามความเป็นจริง (ยถาภูติ ปชานาติ)

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ท่านพาหิยะทารุจีริยะว่า
    “พาหิยะ ในกาลใดเมื่อท่านเห็นสักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังสักแต่ว่าฟัง เมื่อทราบสักแต่ว่าทราบ เมื่อรู้สึกแต่ว่ารู้ ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มี ในกาลใดท่านย่อมไม่มี ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์"

    จิตปุถุชนประกอบด้วยเจตสิกทั้งฝ่ายดี(กุศล) และฝ่ายเลว(อกุศล)
    เจตสิกฝ่ายอกุศลที่สําคัญคือ โลภะ โทสะ และโมหะ
    ตัวโมหะนี้ คือ อวิชชา เป็นหัวหน้าของกิเลสทั้งหลาย
    เจตสิกฝ่ายกุศลที่สําคัญ ก็คือ อโลภะ อโทสะ และปัญญา
    เจตสิกทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีต่อสู้ แย่งชิงพื้นที่ในจิตมนุษย์
    เราเรียกเจตสิกฝ่ายดีว่า "คุณธรรม" หมายถึง คุณสมบัติที่ดีในจิต
    และเรียกเจตสิกฝ่ายไม่ดีว่า "กิเลส"





กิเลส ๓ ชั้น

กิเลส หมายถึง สิ่งที่ทําให้จิตเศร้าหมอง ตามปกติจิตนี้ประภัสสร ผ่องใสตามธรรมชาติ แต่ต้องเศร้าหมองเพราะมีกิเลสเข้ามาแปดเปื้อน กิเลสมี ๓ ชั้น คือ อนุสัยกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส และวีติกกมกิเลส

๑) อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่ตกตะกอน นอนอยู่ก้นบึ้งส่วนลึกของจิต กิเลสชั้นนี้มักไม่ปรากฏเด่นชัด ท่านจึงเปรียบอนุสัยกิเลส เหมือนตะกอนที่นอนอยู่กันตุ่มน้ำ ในที่มีตะกอน นอนอยู่กันตุ่มนั้น น้ำในตุ่มมีลักษณะใสข้างบน แต่เมื่อใครไปกวนเข้า ตะกอนข้างล่างจะฟุ้งขึ้นมา น้ำก็จะขุ่น

จิตก็เหมือนกัน เมื่อยังไม่ถูกอารมณ์ภายนอกมากระทบ จิตจะสงบอยู่ได้ อนุสัยกิเลสก็ไม่ฟุ้ง จิตก็ดูบริสุทธิ์และประภัสสรผ่องใส เหมือนความใสของน้ำในตุ่มก่อนที่ ตะกอนจะฟุ้งขึ้นมา เมื่อจิตถูกอารมณ์ยั่วยวน อนุสัยที่เป็นตะกอนจะฟุ้งขึ้น จิตก็ขุ่นมัว

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า จิตประภัสสรผ่องใส แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสจรมากระทบ ในที่นี้จิตประภัสสรยังมีอนุสัยกิเลสอยู่ แต่ดูบริสุทธิ์ผ่องใส เพราะกิเลสตกตะกอนนอนอยู่ในส่วนลึก เมื่อมีอะไรมากวนกิเลสส่วนนี้ให้ฟุ้งขึ้นมา จิตก็เศร้าหมอง

      อนุสัยกิเลสมี ๓ ชนิด คือ
      ก. ราคานุสัย คือ เชื้อแห่งความกําหนัดหรือความอยากได้
      ข. ปฏิฆานุสัย คือ เชื้อแห่งความชัง
      ค. อวิชชานุสัย คือ เชื้อแห่งความหลง

๒) ปริยุฏฐานกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างกลางที่กลุ้มรุมจิต ให้อยู่ไม่เป็นสุข ได้แก่ อนุสัยกิเลสที่ถูกกวนให้ฟุ้งขึ้นมาในระดับหนึ่ง นั่นคือ
     - ราคานุสัยฟุ้งออกมาเป็นราคะ
     - ปฏิฆานุสัยฟุ้งออกมาเป็นโทสะ และ
     - อวิชชานุสัยฟุ้งออกมาเป็นโมหะ

กิเลส ๓ กองนี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ เปรียบเหมือนโจรปล้นใจ ทําให้หาความสงบไม่ได้ เช่น เราถูกยั่วให้โกรธ  ความโกรธเป็นโทสะที่ทําให้หงุดหงิด จนนอนไม่หลับ

นี้คือ ปริยุฏฐานกิเลสที่ปล้นความสงบใจ ถ้าควบคุมไว้ได้ก็เพียงแต่อึดอัดกลัดกลุ่ม มีสภาพเช่นเดียวกับน้ำเดือด ที่มีตะกอนหมุนวนอยู่ภายในหม้อน้ำ แต่ถ้าควบคุมไม่ได้ กิเลสก็กระฉอกออกมา เป็นเหตุให้ประกอบกรรมชั่วต่างๆ กลายเป็นกิเลสชั้นที่ ๓

๓) วีติกกมกิเลส คือ กิเลสอย่างหยาบที่ควบคุมไม่ได้ จึงกระฉอกออกมา ทําการล่วงละเมิดศีลธรรม ข้อนี้หมายความว่า เมื่อ ราคะมีกําลังแรงขึ้นกลายเป็นอภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น เมื่อโทสะมีกําลังแรงขึ้นก็กลายเป็นพยาบาท คือ คิดทําร้ายผู้อื่น ลําพังโทสะยังไม่คิดทําร้ายใคร เป็นแค่ความขัดเคืองอยู่ในใจ เมื่อใดโมหะมีกําลังแรงมากขึ้น ก็กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ เห็นผิดเป็นชอบ เช่น ความเห็นผิด ๑๐ ประการดังได้กล่าวข้างต้น

อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็น วีติกกมกิเลส คือ เป็นกิเลสที่จะทําให้ล่วงละเมิดศีลธรรมทางกายและทางวาจา พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นกิเลสที่กระฉอกออกมาแปดเปื้อนรบกวนคนอื่น










ขอบคุณที่มา :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
ข้อธรรม : หนังสือ ปลดบ่วงชีวิต พิชิตกรรม โดย พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ยกมาแสดงบางส่วน หน้าที่ ๓๗-๔๓ , จาก ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปลดบ่วงชีวิต พิชิตกรรม” บรรยายเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ ณ อาคารเรียน มจร. วัดศรีสุดาราม ในกิจกรรมเสริมหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาชีวิตและความตาย รุ่นที่ ๓
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 13, 2024, 07:30:25 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ