ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตามหา หลวงพี่ "มีเมีย" และ "อิ๊กคิวซัง" ณ เกียวโต  (อ่าน 2362 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ตามหา หลวงพี่ "มีเมีย" และ "อิ๊กคิวซัง" ณ เกียวโต


เป็นความรู้สึกแปลกใหม่สำหรับการได้มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่น เพราะนอกจากจะเป็นครั้งแรกแล้ว การไปเยือนดินแดนอาทิตย์อุทัยครั้งนี้ ต้องไปกับพระสงฆ์จากประเทศไทยหลายสิบรูป ที่มุ่งหน้าไปศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ณ เมืองเกียวโต

จากสนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลาเดินทางราว 4 ชั่วโมงกว่า

หลับๆ ตื่นๆ อยู่บนเครื่องบิน งัวเงียๆ อยู่พักใหญ่ รู้ตัว ได้สติเต็มที่ก็ตอนล้อเครื่องบินแตะรันเวย์ สนามบินนานาชาติคันไซ เมืองโอซากา เสียแล้ว รถบัสมารอรับชาวคณะ จัดการธุระส่วนตัว เก็บข้าวของขึ้นรถเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาออกเดินทาง

จากสนามบินมุ่งหน้าสู่เกียวโต ใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมงกว่า ก็ได้มาเห็นความเจริญรุ่งเรืองของเมืองหลวงเก่า ประเทศญี่ปุ่น ความน่าสนใจของเมืองเกียวโตอยู่ที่ตึกรามบ้านช่องเก่าๆ ซึ่งได้รับการดูแลรักษาอย่างดี และเมื่อบวกกับภาพของผู้คนที่ใส่ชุดกิโมโนเดินอยู่ตามท้องถนน เมืองแห่งนี้จึงยิ่งมีเสน่ห์

เกียวโตมีวัดเก่าๆ กระจายอยู่แทบทุกมุมเมือง

ข้อดีของวัด นอกเหนือจากการช่วยลดความรุ่มร้อนใจของผู้คน (เมื่อได้เข้ามาศึกษาธรรมะ) ยังช่วยลดความร้อนรุ่มกายได้ด้วย เพราะด้วยความที่มีพื้นที่อยู่มาก จึงทำให้มีต้นไม้ขึ้นเขียวครึ้มเต็มไปหมด เป็นแหล่งพักผ่อนสบายได้ไปในคราวเดียวกัน

คณะของเราเดินทางมาถึงเมืองเกียวโตแล้วแต่ยังไม่ได้หยุดอยู่ในตัวเมือง

รถบัสพาวิ่งฝ่าเมืองออกไปถึงทาง ภูเขาฮิเออิ ซึ่งเป็นจุดหมายแรกที่ระบุไว้ในกำหนดการเดินทาง เมื่อมาถึงก็ต้องกับตะลึงกับภาพที่เห็นตรงหน้า เพราะที่นี่เป็นจุดที่มีต้นไม้ทั้งใหญ่-น้อยขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ โดยไม้ใหญ่หลายๆ ต้นที่เห็น มีขนาดความกว้างถึง 3-4 คนโอบ และนอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าขนาดเล็กอาศัยอยู่ในป่านี้ด้วย

รถบัสวิ่งขึ้นเขา ชมความสวยงามของป่าไม้ตลอด 2 ข้างทางไปราว 40 นาทีก็มาถึงหน้า วัดเอนยากูจิ

ทันทีที่ลงจากรถ คณะผู้ติดตามพระสงฆ์ทั้งหลายก็ตรงดิ่งเข้าหาต้นไม้ใหญ่ พร้อมกับโอบกอด โพสท่าให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ชวนให้คิดว่าถ้าบ้านเรามีต้นไม้ใหญ่อย่างนี้แทรกอยู่ตามมุมเมืองต่างๆ ก็คงจะดีไม่ใช่น้อย

เที่ยวชมรอบบริเวณวัด สัมผัสธรรมชาติ สูดหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าเต็มปอดแล้วก็ออกเดินทางเข้าตัวเมืองอีกครั้งเพื่อเข้าสู่ที่พัก

"พระมีเมีย?" คือหนึ่งในคำถามที่ติดอยู่ในใจมาเนิ่นนาน

และการเดินทางมาญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะมาค้นหาคำตอบและความจริงข้อนี้ว่าเป็นอย่างไร โดยคณะของเราได้เดินทางไปเยือน มหาวิทยาลัยบุกเกียว ของนิกายโจโด ซินซู (สุขาวดีที่แท้) เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนา และที่นี่ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง เพราะได้พบกับพระมีเมียจริงๆ ซึ่งวันนั้น หลายท่านใส่สูท มีผ้าคล้องคอซึ่งแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นนักบวช มาให้การต้อนรับ



คณะพระสงฆ์จากประเทศไทยร่วมสวดมนต์เพื่อแสดงความเคารพพระพุทธเจ้า ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอยู่เกือบครึ่งวัน ซึ่งตอนนี้ก็ได้มี ผู้มาไขข้อข้องใจให้ว่า สาเหตุที่ท่านมีเมียได้ เป็นเพราะบ้านเมืองมีความเจริญมากขึ้น ทำให้คนในนิกายนี้เชื่อว่า การมีเมียก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำได้

นิกายโจโด ซินซู รวมถึงนิกายอื่นๆ ในญี่ปุ่นเชื่อว่า การเป็นพระไม่ได้อยู่ที่รูปแบบเครื่องแต่งกายหรือการมีเมีย แต่อยู่ที่จิตใจของนักบวช ซึ่งเรื่องนี้ก็โยงเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน การจะปฏิบัติให้หลุดพ้นก็เป็นสิทธิของบุคคล โดยพระนิกายโจโด ซินซู นั้นสามารถมีบุตร ภรรยา สามารถทำธุรกิจต่างๆ ได้ พระในนิกายนี้เน้นให้ระลึกถึง "อมิดา" หรือ "พระอมิตาภะ" เพื่อไปเกิดใน "เนมบุตซู (พุทธเกษตร)" สมาชิกของนิกายนี้ไม่จำเป็นต้องถือวินัยเป็นพิเศษ

นอกจากเรื่อง "พระมีเมีย" อีกเรื่องที่ผมอยากจะรู้มานานแล้วก็คือเรื่องเณรน้อย อิ๊กคิวซัง หนึ่งในการ์ตูนชื่อดังจากแดนอาทิตย์อุทัยที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเผยแพร่ให้คนไทยได้รับรู้เรื่องราวอันชาญฉลาดของเณรน้อย

โดยส่วนตัวสงสัยมาตลอดว่า "อิ๊กคิวซังนั้นมีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่า?"

เพราะมีประวัติระบุไว้ว่า "อิ๊กคิวซัง" มีชื่อในวัยเด็กว่า เซนงิกามารุ เกิด 1 มกราคม พ.ศ.1892 ที่เมืองซะกะโน ใกล้ๆ กับเมืองเกียวโต โดยมีพ่อเป็นจักรพรรดิฝ่ายเหนือ แม่เป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์ฝ่ายใต้ซึ่งถูกขับจากวังตั้งแต่อิ๊กคิวซังยังไม่คลอด เพราะถูกฝ่ายตรงข้ามใส่ร้ายป้ายสี และต่อมาทรงให้อิ๊กคิวซังบวชที่ วัดอังโกะกุจิ ตอนอายุได้ 6 ขวบ เพื่อหนีภัยการเมือง ได้ฉายาว่า ชูเคน

ท่านซูเคนตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอน พร้อมๆ กับที่ความเจ้าปัญญาของท่านเริ่มฉายแววมากขึ้นตามอายุ

สถานที่หนึ่งซึ่งขอแนะนำในการเดินทางไปหาความจริงเกี่ยวกับ "เณรน้อยเจ้าปัญญา" คือ วัดคินคะคุจิ หรือ วัดพลับพลาทอง หรือ วัดทอง แล้วแต่จะเรียก โดยในวัดนี้จะมีพลับพลาสีทองโดดเด่นเป็นสง่า ดังเช่นในภาพยนตร์การ์ตูน

วัดคินคะคุจิ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในญี่ปุ่น ว่ากันว่าถ้ามาเกียวโตและไม่ได้มาวัดนี้ถือว่ามาไม่ถึง

สร้างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.1940 แต่พลับพลาสีทองที่เห็นในปัจจุบันเพิ่งได้รับการแปะผนังด้วยทอง เมื่อปี พ.ศ. 2530 ซึ่งงดงามมาก จนกลายเป็นหนึ่งในจุดที่นักท่องเที่ยวมากมายเดินทางมาชื่นชม



ไหนๆ ก็มากับพระ ไม่ว่าจะพระสงฆ์จากประเทศไทยและพระชาวญี่ปุ่นที่ให้การต้อนรับ ก็เลยถือโอกาสนี้สอบถามเรื่องราวของ "อิ๊กคิวซัง"

เจ้าอาวาสวัดเมียวซินจิ, พระธรรมาจารย์เซน ดร. โซนัน นอริตาเกะ, พระอาจารย์เซน ตอบตรงกันเกี่ยวกับเรื่องราวของเณรน้อยเจ้าปัญญาว่า มีตัวตนอยู่จริง เมื่อยังมีชีวิตอยู่นั้นจำวัดที่ "วัดเมียวโชจิ" หรือ "วัดชูองอัน" ได้ชื่อว่าเป็นเณรและต่อมาเป็นพระที่ชาญฉลาด บรรลุธรรมขั้นสูง ซึ่งหลังจากที่ท่านสิ้นไปแล้ว พระที่ปฏิบัติตามแนวทางนิกายเซนเหมือนท่านก็จะเรียกตัวเองว่าอิ๊กคิวซังเหมือนกัน

ส่วนที่เห็นในหนังการ์ตูน วัดที่อิ๊กคิวซังจำวัดอยู่ นำเอกลักษณ์ต่างๆ ของวัดในนิกายเซนมารวมกัน ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นสถานที่แห่งใดเป็นพิเศษ

เพลิดเพลินกับเรื่องอิ๊กคิวซัง จนลืมเวลาที่จะไปต่อในที่สำคัญอีกแห่งคือ พิพิธภัณฑ์เรียวโกกุ ของมหาวิทยา ลัยเรียวโกกุ

ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงและนำเสนอเรื่องราวครอบคลุมทุกแง่มุมทางพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก สร้างขึ้นปี ในปี พ.ศ.2550 เป็นอาคาร 3 ชั้น ที่มีพระพุทธรูปจัดแสดงถึง 660 องค์ แรกเห็นก็เหมือนเป็นที่จัดแสดงของเก่าธรรมดา แต่เมื่อได้เข้าไปเจอกับข้างใน ซึ่งห้ามถ่ายภาพ และวิดีโอ มีกล้องวงจรปิดติดไปทั่วบริเวณ รู้สึกได้ทันทีว่าของเก่าเหล่านี้ต้องเป็นวัตถุล้ำค่าอย่างแน่นอน

และจริงดังคาด เพราะข้างในมีศาสนสมบัติของพุทธศาสนามากมาย

อาทิ พระอมิตาภพุทธะปางประทับยืน ประทานพร ด้านขวาเป็นเจ้าแม่กวนอิม ทำจากไม้ ศตวรรษที่ 14 ,พระพุทธรูปยืน ขุดพบที่เมืองคันธาระ, พระพุทธรูปนั่ง ขุดพบที่เมืองคันธาระ ศตวรรษที่ 3-4, หินแกะสลัก ตอนพระพุทธเจ้าตัดสินใจออกจากพระราชวังเพื่อบวช มีรัศมีที่พระเศียร (บ่งบอกลักษณะพระพุทธเจ้า) กำลังแลกเครื่องฉลองพระองค์ (ชุดและเครื่องแต่งกาย) กับเสื้อผ้าของนายพราน ขุดพบที่เมืองคันธาระ ศตวรรษที่ 2-3 ฯลฯ


แต่ละชิ้นประมาณมูลค่าไม่ได้ และล้วนมีที่มาที่ไปไม่ธรรมดา เดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก

การเดินทางมาเยือนเกียวโตครั้งแรกนี้ จึงคุ้มค่า และเต็มอิ่มในความรู้สึกเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะการได้รับรู้เรื่องราวของ "พระมีเมีย" และ "อิ๊กคิวซัง"



อ้างอิง
เรียบเรีบงโดย ตวงศักดิ์ ชื่นสินธุ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1312615303&grpid=01&catid=&subcatid=
ขอบคุณภาพจาก www.matichon.co.th/,www.superhui.com/,www.thaidphoto.com/,http://i243.photobucket.com
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 07, 2011, 11:55:50 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ