ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี  (อ่าน 346 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี
« เมื่อ: มกราคม 24, 2024, 12:00:22 pm »
0
.



ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี

โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ป.ธ. ๙, ร.บ. ,อนุศาสนาจารย์กองทัพเรือ
สพฺพทาน ธมฺมทาน ชินาติ - การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง (พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ห้ามจำหน่าย)

ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
ISBN 974-87114-5-5 พิมพ์ครั้งที่ ๓ ธันวาคม ๑,๐๐๐ เล่ม
ปก : วัดพระธาตุเชิงชุม จ.สกลนคร , โดย ธีรภาพ โลหิตกุล



คำนำ

ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้นิยาม"สังฆทาน" ว่า ทานเพื่อสังฆ์, การถวายแก่สงฆ์ คือ ถวายเป็นกลางๆ ไม่จำเพราะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง สังฆทาน ได้ชื่อว่าเป็นยอดแห่งทาน มีอานิสงส์มาก

ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา ได้ตรัสแนะให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีถวายผ้าห่ม ซึ่งพระนางได่ทรงทอด้วยตนเองนั้น แก่สงฆ์ว่า อย่าได้ถวายเจาะจงแก่พระพุทธองค์เลย เพราะเมื่อพระนางถวายผ้าห่มนั้นแก่สงฆ์ ก็เท่ากับว่าพระนางได้บูชาทั้งพระพุทธองค์และพระสงฆ์ด้วย

หนังสือถวายสังฆทานให้ถูกวิธีนี้ เหมาะที่สาธุชนพึงมีไว้ เป็นคู่มือในการทำบุญส่วนที่เกี่ยวกับสังฆทาน อันได้ชื่อว่าเป็นยอดของทานนี้ได้เป็นอย่างดี

     นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
     อนุศาสนาจารย์กองทัพเรือ
     ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๔




     สารบัญ (เรื่อง - หน้า)

     ความเข้าใจหลายหลากเกี่ยวกับการถวายสังฆทาน - ๑
     ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสังฆทาน - ๓
     วิธีทำบุญ - ๔
     ประเภทของทาน - ๕
     สังฆทานคืออะไร - ๖
     ทำไมต้องสังฆทาน - ๖
     หลักการที่ถูกต้องของสังฆทาน - ๑๐
     ผู้เกี่ยวข้องในการบำเพ็ญทาน - ๑๒
     จำนวนพระสงฆ์ที่รับสังฆทาน - ๑๓
     ถวายสังฆทานเวลาไหน - ๒๒
     เครื่องสังฆทาน - ๑๙
     การอุปโลกน์ - ๑๖
     วิธีถวายสังฆทาน - ๒๕
     คำถวายสังฆทาน - ๒๕
     องค์ประกอบที่เป็นเหตุให้การถวายทานได้อานิสงส์เลิศ - ๓๓
     คำขอร้อง - ๓๓
     บทความเรื่อง “วิธีทำบุญ” - ๓๗







๑. ความเข้าใจหลายหลากเกี่ยวกับการถวายสังฆทาน

การถวายสังฆทานที่ทำๆกันอยู่ทุกวันนี้ ดูเหมือนจะมีหลายวิธี เช่น

    - จัดของถวายพระแล้วไปที่วัด บอกแก่พระหรือคนวัดว่า จะมาถวายสังฆทาน ขอให้จัดพระมาให้เท่านั้นเท่านี้รูป แล้วก็ทำพิธีถวายกันไป

    - เตรียมของสำหรับตักบาตร แล้วออกมาดักรอพระที่ออกบิณฑบาต เห็นพระรูปไหนผ่านมา ก็นิมนต์ให้ท่านเข้าไปในบ้านบอกว่าจะถวายสังฆทาน แล้วก็ทำพิธีถวาย

    - ซื้อของตามร้านค้าที่เขาจัดไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอ้างว่าเป็นเครื่องสังฆทาน นำไปถวายพระที่วัด เสร็จแล้วก็เข้าใจกันว่า ได้ถวายสังฆทานแล้ว

    - บางวัดอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติโยม ด้วยการจัดเตรียมของถวายแบบสาเร็จรูปเป็นถังพลาสติกสีเหลืองไว้ให้ใครอยากถวายสังฆทาน ก็เพียงแต่ไปติดต่อพระหรือคนวัดที่เป็นเจ้าหน้าที่ แล้วจ่ายเงินตามอัตราที่กำหนดหรือตามศรัทธา (ซึ่งไม่ควรจะน้อยนัก) ทางวัดก็จะจัดพระมาให้ญาติโยมทาพิธีถวาย ได้ปัจจัยเข้าวัดหรือเป็นอติเรกลาภของพระท่าน ส่วนของถวายนั้นก็เอามาให้หมุนเวียนถวายสังฆทานกันไปเรื่อย ๆ

    - บางท่านเข้าใจว่า หลักสำคัญของการถวายสังฆทานอยู่ที่ต้องเขียนชื่อผู้ตายลงบนแผ่นกระดาษ แล้วกรวดน้ำพร้อมกับเผากระดาษอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ตาย จึงจะเป็นสังฆทาน

    - บางท่านก็ยืนยันว่า จะเป็นสังฆทานได้ ต้องถวายแก่พระภิกษุอย่างน้อย ๔ รูป ถ้าน้อยกว่านี้ไม่เป็นสังฆทาน

    - บางท่านว่าสังฆทานต้องถวายก่อนเที่ยง หลังเที่ยงไปแล้วห้ามถวาย แต่บางท่านก็ว่า ถวายได้ตลอดวัน

    - บางท่านว่า จะเป็นสังฆทานได้ พระสงฆ์จะต้องทำ "อปโลกนกรรม" (คือที่เราเรียกกันว่า อุปโลกน์ ถ้าไม่อุปโลกน์ ไม่เป็นสังฆทาน ฯลฯ

@@@@@@@

๒. ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสังฆทาน

  ก. ฝ่ายผู้ถวาย
      - เข้าใจว่าของถวายสังฆทานต้องใส่ถังพลาสติกสีเหลืองตามแบบที่ร้านค้าจัดไว้จำหน่าย ถ้าไม่มีถังเช่นว่านี้ ไม่เป็นสังฆทาน
      - เข้าใจว่าสังฆทานนั้นถวายเมื่อมีผู้รู้ทางดวงชะตาทำนายทายทักว่า ดวงไม่ดีควรถวายสังฆทานเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา เสริมสิริมงคล
      - เข้าใจว่าเครื่องสังฆทานทั้งหมดถวายได้ทุกเวลา

  ข. ฝ่ายผู้รับ
      - พระสงฆ์ที่รับสังฆทาน ต้องมีจำนวน ๔ รูปขึ้นไป น้อยกว่านี้รับไม่ได้
      - รับสังฆทานแล้วต้องอุปโลกน์ ถ้าไม่อุปโลกน์ สังฆทานไม่สมบูรณ์
      - รับแล้ว นำของถวายนั้นไปเป็นของส่วนตัวได้เลย

  ค. ฝ่ายร้านค้า (พยายามสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ซื้อว่า)
     - สังฆทาน คือ ของที่จัดใส่ถังพลาสติกสีเหลือง
     - ไทยทาน คือ ของที่จัดเป็นห่อๆ (เป็นการนำเอาคำสองคำมาเข้าคู่กัน)


หน้า ๑-๒-๓


@@@@@@@

๓. วิธีทำบุญ

การจะเข้าใจเรื่องสังฆทานได้ดี ควรเข้าใจเรื่องวิธีทำบุญก่อน วิธีทำบุญสาหรับชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ ท่านวางหลักไว้ ๓ ขั้น เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ คือ
    ทาน ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น
    ศีล รักษาการกระทำและคำพูดให้เรียบร้อย
    ภาวนา อบรมบ่มจิตใจให้สงบและรู้แจ้งเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง

จะเห็นว่า ทานเป็นบันไดขั้นต้นเท่านั้น ของการบำเพ็ญบุญ ยังมีบันไดขั้นสูงต่อไปอีก ที่จะต้องดำเนิน คือ ศีล และภาวนา

อนึ่งวิธีทำบุญดังกล่าวนี้ ท่านยังแจกแจงเพิ่มออกไปอีก ๗ วิธี รวมกับของเดิม ๓ วิธี เป็น ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ กล่าว คือ เพิ่ม

     อปจายนะ การอ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ รู้จักเคารพกราบไหว้
     เวยยาวัจจะ การช่วยขวนขวายรับเป็นภาระธุระในกิจการที่ถูกที่ชอบ
     ปัตติทาน การให้ส่วนบุญ คือเฉลี่ยส่วนแห่งความดี ให้แก่ผู้อื่น
     ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาส่วนบุญ คือยินดีในความดีของผู้อื่น
     ธัมมัสสวนะ การฟังธรรมคาสั่งสอน ศึกษาหาความรู้ในทางความดี
     ธัมมเทสนา การแสดงธรรม สั่งสอนธรรม ให้วิชาความรู้
     ทิฏฐุชุกรรม การทำความคิดความเห็นให้ถูกให้ตรง ไม่เห็นผิดเป็นชอบ

@@@@@@@

๔. ประเภทของทาน

ทาน แปลว่า การให้ โดยทั่วไปแบ่งเป็น ๒ คู่ คือ
    คู่ที่ ๑. มุ่งถึงสิ่งที่จะให้ ได้แก่ อามิสทาน ให้สิ่งของ และธรรมทาน ให้ธรรม (ให้คำแนะนา อบรมสั่งสอน ให้วิชาความรู้ เป็นต้น)
    คู่ที่ ๒. มุ่งถึงเจตนาในการให้ ได้แก่ ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ และ สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ คือ ให้เป็นของส่วนรวม

นอกจากนี้ยังมีทานอีกประเภทหนึ่ง คือ อภัยทาน ให้ความไม่มีภัย ให้อภัย ไม่ทำร้าย ไม่ถือโทษโกรธเคือง ไม่เอาผิดกันอีกต่อไป

@@@@@@@

๕. สังฆทานคืออะไร

ทานในบุญกิริยาวัตถุหรือวิธีทำบุญนั้น ท่านหมายเอาอามิสทาน คือการให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น การให้อามิสทานนั้น มี ๒ ลักษณะตามเจตนาของการให้ คือ
    ๑. ให้เป็นของเฉพาะตัวหรือเจาะจงตัวผู้รับ (ปาฏิบุคลิกทาน)
    ๒. ให้เป็นของส่วนรวม ไม่เจาะจงตัวผู้รับ (สังฆทาน)

เพราะฉะนั้น ความหมายของสังฆทาน ก็คือการให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นโดยไม่เฉพาะเจาะจงตัว แต่ให้เป็นของส่วนรวม หรือให้เป็นของส่วนกลาง หรือให้เป็นสาธารณประโยชน์ เพื่อให้ผู้รับได้ใช้หรือได้รับประโยชน์โดยทั่วกัน

ขอได้โปรดจำความหมายที่ถูกต้องนี้ไว้ให้ดี ความหมายอื่นๆที่มิได้เป็นไปตามนัยที่กล่าวนี้ คือความหมายที่คลาดเคลื่อน เป็นความหมายที่พูดกันเอาเอง เข้าใจกันเอาเองทั้งนั้น

@@@@@@@

๖. ทำไมต้องสังฆทาน

โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า สังฆทานไม่ใช่พิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่พิธีกรรมหรือวิธีการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ล้างบาปล้างซวย ไม่ใช่พิธีกรรมเพื่อเสริมสิริมงคลให้เกิดลาภผลถูกโฉลกโชคดี ไม่ใช่พิธีกรรมเพื่อปัดรังควานป้องกันภัยพิบัติอุปัทวันตราย มิใช่พิธีกรรมเพื่อติดต่อขอร้องเจ้ากรรมนายเวรมิให้มาเบียดเบียน ฯลฯ

ตามที่มักจะมีผู้เชื่อและสนับสนุนให้เชื่อ การเชื่อเช่นนั้นเป็นเรื่องที่เชื่อกันเองทั้งสิ้น โปรดจำไว้ว่า สังฆทาน ก็คือวิธีทำบุญ ๑ ใน ๓ หรือ ๑ ใน ๑๐ วิธีเท่านั้นเอง

กล่าวคือ วิธีทำบุญที่ท่านเรียกว่า ทานมัย = บุญที่สาเร็จด้วยการให้ปันสิ่งของของตนแก่คนอื่น ถึงจะไม่ทำบุญด้วยวิธีทานมัย ก็ยังสามารถทำบุญด้วยวิธีอื่นๆ ได้อีกหลายวิธี ทานเป็นเพียงบันไดขั้นต้นของการทำบุญหรือทำความดี อันที่จริงควรจะบอกกันว่า อย่าเพียงแต่ทำสังฆทานอย่างเดียว ควรจะพัฒนาต่อไปด้วยการรักษาศีล บำเพ็ญจิตภาวนา และทำบุญกิริยาวัตถุอื่นๆ อีกด้วย

เหตุที่สังฆทานมีความหมายพิเศษ ก็มีแต่เพียงว่า เป็นการให้ปันที่แสดงออกถึงน้ำใจที่กว้างขวาง ถ้าใช้คำว่า รัก แทนก็เท่ากับพูดว่า “มิใช่รักเฉพาะพ่อแม่ ลูกเมียของตัวเอง แต่รักเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งโลก”

สังฆทาน ก็คือ มิใช่ให้เฉพาะคนนั้นคนนี้ แต่ให้แก่ส่วนรวมทั้งหมด-นั่นเอง หัวใจของสังฆทานอยู่ตรงนี้ แม้ปากจะพูดว่าถวายสังฆทาน และใจก็ตั้งเจตนาจะถวายสังฆทาน แต่ไปเจาะจงว่าอยากถวายแก่พระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ อย่างนี้ก็หาใช่สังฆทานไม่ กลายเป็นอยากถวายสังฆทาน แต่ไม่เข้าใจเรื่องสังฆทานไป


หน้า ๔-๕-๖-๗


อันที่จริง การให้ทานหรือถวายทานนั้น ก็มิได้มีข้อกำหนดตายตัวว่าต้องถวายแก่พระพุทธเจ้า หรือแก่พระสาวก หรือถวายแก่พระวัดนั้นวัดนี้ หรือรูปนั้นรูปนี้ หรือจะต้องให้ต้องถวายแก่ใครคนไหนจึงจะได้บุญ แต่สำหรับชาวพุทธเรา ถือว่าพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ (คือเปรียบการทำบุญด้วยวิธีให้ทานว่า เหมือนการทำนา ถ้าที่นาดี ข้าวที่หว่านดำลงไปก็จะงอกงามได้ผลดี ถ้าผู้รับทานเป็นคนดี ทานที่ทำลงไปก็จะมีผลดี)

ชาวพุทธถือว่าพระสงฆ์เป็นบุญเขต คือเป็นผู้ควรรองรับการทำบุญ เราจึงนิยมทำบุญถวายทานแก่พระสงฆ์ ทั้งในแบบถวายเจาะจงแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ (ปาฏิบุคลิกทาน) และแบบถวายเป็นของสงฆ์หรือถวายเพื่อส่วนรวม (สังฆทาน) แต่กระนั้นก็นิยมกันว่า สังฆทานมีอานิสงส์มากกว่า ดังที่ตรัสไว้ในทักขิณาวิภังคสูตร (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ วิภังควรรค พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ ข้อ ๗๐๖) ซึ่งสรุปความได้ดังนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประกาศพระธรรมคาสั่งสอนของพระองค์จนมีผู้เลื่อมใสเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ และได้บรรลุธรรมเป็นพุทธสาวกเป็นจำนวนมาก สมัยหนึ่งก็ได้เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระประยูรญาติ และประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ซึ่งพวกเจ้าศากยะสร้างถวาย

ครั้งนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระน้านาง และได้เคยบริบาลพระพุทธองค์มาตั้งแต่เพิ่งประสูติได้เพียง ๗ วัน ทรงมีศรัทธาทอผ้าเนื้อดีด้วยพระองค์เอง แล้วนำไปถวายแก่พระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ แต่ตรัสแนะนำให้ถวายแก่สงฆ์แทน และตรัสว่า ทานที่ถวายแก่สงฆ์ (สังฆทาน) มีอานิสงส์มากกว่าทานที่ถวายเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง(ปาฏิบุคลิกทาน) ครั้นแล้วได้ตรัสถึง บุคคลผู้รับทานแบบปาฏิบุคลิกทาน ๑๔ จำพวก และผู้รับทานแบบสังฆทาน ๗ จำพวก

@@@@@@@

ต่อจากนั้นได้ทรงแสดงอานิสงส์ของทานไว้ว่า

     - ให้ทานแก่ สัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเป็นปฏิคาหกชั้นต่ำสุด ได้อานิสงส์ร้อยเท่า(หมายความว่า ได้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ อย่างละร้อยชาติ)
     - ให้ทานแก่คนไร้ศีลธรรมได้อานิสงส์พันเท่า
     - ให้ทานแก่กัลยาณปุถุชน ได้อานิสงส์แสนเท่า
     - ให้ทานแก่คนนอกพระพุทธศาสนาที่ปราศจากความกำหนัดในกาม ได้อานิสงส์แสนโกฏิเท่า
     - ให้ทานแก่ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระโสดาบันได้อานิสงส์นับไม่ถ้วน
     - อานิสงส์ที่นับไม่ถ้วนนี้ จะทวีขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงให้ทานแก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นปฏิคาหกชั้นสุดยอด ก็จะยิ่งนับไม่ถ้วนมากที่สุด

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีอานิสงส์ไม่เท่าสังฆทานชั้นต่ำสุด (ปฏิคาหกของสังฆทานชั้นต่ำสุด คือ ภิกษุณีในฐานะเป็นตัวแทนของภิกษุณีสงฆ์)

พระพุทธเจ้ายังตรัสในเชิงพยากรณ์ด้วยว่า ในอนาคตกาลนักบวชในพระพุทธศาสนา จะมีแต่เพียงผ้าเหลืองผูกคอเป็นสัญลักษณ์ ส่วนความประพฤติจะเลวทรามต่ำช้า มีครอบครัวบุตรภรรยา ประกอบอาชีพเยี่ยงชาวบ้าน แม้ถึงอย่างนั้น การถวายสังฆทานแก่นักบวชประเภทผ้าเหลืองผูกคอ แต่เป็นตัวแทนของสงฆ์ ก็ยังมีอานิสงส์มากกว่าปาฏิบุคลิกทาน แม้ที่ถวายแก่พระอรหันต์

    เหตุผลในข้อนี้ก็คือ ปาฏิบุคลิกทานนั้นเจตนาของผู้ถวายยังคับแคบอยู่ ทั้งผลประโยชน์จากทานก็ตกเป็นของส่วนตัวของบุคคลเท่านั้น
    ส่วนสังฆทานนั้น เจตนากว้างขวางกว่าผลประโยชน์ก็ตกอยู่แก่ส่วนรวม เผื่อแผ่ไปถึงคนหมู่มาก

คนโบราณในเมืองไทยนี้ท่านนิยมบริจาคทานและอุดหนุนกิจที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น ขุดบ่อ ขุดสระ สร้างศาลาที่พักริมทาง สร้างสะพาน สร้างทาง ฯลฯ และที่เรายังได้เห็นสืบเนื่องมาจนถึงคนในสมัยปัจจุบันก็มีหลายอย่าง เช่น สร้างโรงเรียนสร้างโรงพยาบาล เป็นต้น

กิจเหล่านี้โดยเนื้อแท้แล้วคือ สังฆทานนั่นเอง มิใช่อย่างอื่นเลย สังฆทานจึงมีอานิสงส์มากด้วยประการฉะนี้

@@@@@@@

๗. หลักการที่ถูกต้องของสังฆทาน

เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า หลักการของสังฆทานก็คือ ต้องถวายแก่สงฆ์ คือถวายเป็นของส่วนรวม หรือเป็นส่วนกลางของสงฆ์ ไม่ใช่ถวายเป็นสิทธิ์ขาดส่วนตัวแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ของที่ถวายเป็นสังฆทานนั้น เมื่อถวายแล้วจะต้องตกเป็นของส่วนกลางของวัด โดยคณะสงฆ์ในวัดนั้นจะประชุมพิจารณาเพื่อตกลงกันว่า จะนำสิ่งของนั้นไปใช้ในเรื่องไหน หรือว่าจะยินยอมพร้อมใจยกให้แก่ใคร

ว่าโดยเจตนา คือ ความตั้งใจที่จะให้เป็นสังฆทานบริสุทธิ์ ก็คือการไม่เจาะจงตัวบุคคล บางท่านตั้งเจตนากว้างถึงกับไม่เจาะจงวัดด้วย เพราะการเลือกว่าจะต้องไปถวายที่วัดนั้นวัดนี้ ก็ยังมีลักษณะเจาะจงอยู่นั่นเอง จึงตัดความเจาะจงเสียตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว ตั้งจิตให้เป็นกุศลอย่างแน่วแน่ว่า จะถวายเป็นของสงฆ์เป็นของส่วนรวมจริงๆ วัดไหนก็ได้ พระภิกษุรูปไหนจะมารับก็ได้ ไม่มีอาการเลือกที่รักผลักที่ชัง

เมื่อหลักการมีอยู่เช่นนี้ เวลาจะถวายสังฆทานจึงต้องตั้งเจตนาให้ตรงตามหลักการ และจะต้องดำเนินกรรมวิธีใน
การถวายให้เป็นที่เข้าใจได้ชัดเจนว่า พระภิกษุหรือสามเณรที่เป็นตัวแทนสงฆ์มารับของถวายไปนั้น จะรับไปเป็นของส่วนตัวไม่ได้ แต่ต้องรับไปเป็นของส่วนรวม คือเป็นของวัดหรือของสงฆ์

ถึงตรงนี้ ควรทำความเข้าใจด้วยว่า คณะสงฆ์หรือวัดนั้นเป็นสถาบันหรือองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ เพื่อควา มสุข เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชาชนในสังคม นี่เป็นหลักการดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ดังนั้น การอุปถัมภ์บำรุงสนับสนุนคณะสงฆ์ ที่เรียกโดยชื่อว่า “ถวายสังฆทาน จึงถือว่าได้บุญหรืออานิสงส์มาก เพราะผลที่ได้นั้นจะไปตกแก่ส่วนรวมในที่สุด


หน้า ๘-๙-๑๐-๑๑





ดังคำที่ว่า พะหุชะนะ หิตายะ พะหุชะนะสุขายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่สังคมส่วนรวมมากที่สุด มิใช่เป็นศาสนาที่เห็นแก่ตัว หรือสอนให้คนเอาตัวรอดไปคนเดียว ดังที่ผู้รู้ไม่จริงทั้งหลายชอบกระแนะกระแหน

@@@@@@@

๘. ผู้เกี่ยวข้องในการบาเพ็ญทาน

ในการบำเพ็ญทานนี้ จะมีผู้เกี่ยวข้องสำคัญอยู่ ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ให้ เรียกว่า ทายก และฝ่ายผู้รับ เรียกว่า ปฏิคาหก ปฏิคาหกนั้นท่านจำแนกไว้ถึง ๑๔ ชั้น หรือ ๑๔ กลุ่ม ตามคุณสมบัติจากสูงไปหาต่ำ ดังนี้

     ๑. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
     ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
     ๓. พระอรหันตสาวก
     ๔. ท่านผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุอรหัตผล (ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์)
     ๕. พระอนาคามี
     ๖. ท่านผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุอนาคามิผล (ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอนาคามี)
     ๗. พระสกทาคามี
     ๘. ท่านผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุสกทาคามิผล (ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระสกทาคามี)
     ๙. พระโสดาบัน
   ๑๐. ท่านผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล (ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระโสดาบัน)
   ๑๑. คนนอกพระพุทธศาสนา ที่ปราศจากความกำหนัดในกาม (ผู้ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่มีกิเลสเบาบาง)
   ๑๒. กัลยาณปุถุชน (คนธรรมดาทั่วไปที่ยังมีโลภโกรธหลง แต่มีศีลธรรมดำรงชีวิตอยู่ตามปกติ)
   ๑๓. คนที่ไร้ศีลไร้ธรรม (คนชั่วช้าเลวทรามทั้งหลาย)
   ๑๔. สัตว์เดรัจฉาน

ทานแต่ละชั้น มีผลลดหลั่นกันไป ตามคุณสมบัติของปฏิคาหก

@@@@@@@

๙. จำนวนพระสงฆ์ที่รับสังฆทาน

พุทธศาสนิกนั้นมี ๒ ประเภท คือ บรรพชิตและคฤหัสถ์ ในส่วนบรรพชิตนั้นมีอุดมการณ์อยู่ว่า บวชเพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง บวชเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ คือ ถ้าเป็นปุถุชนก็อยู่ในกลุ่มผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลเป็นอย่างต่ำ (กลุ่มหมายเลข ๑๐ ขึ้นไป) ชาวพุทธจึงถือว่า พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก คือ เป็นผู้ที่ควรรับการถวายทานนั่นเอง

ท่านจำแนกผู้ที่จะรับสังฆทานไว้ ๗ กลุ่ม กล่าวคือ

     ๑. ภิกษุพร้อมทั้งภิกษุณีสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
     ๒. ภิกษุพร้อมทั้งภิกษุณีสงฆ์
     ๓. ภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว
     ๔. ภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเดียว
     ๕. ภิกษุและภิกษุณี ในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
     ๖. ภิกษุเป็นฐานะเป็นตัวแทนของภิกษุสงฆ์
     ๗. ภิกษุณีในฐานะเป็นตัวแทนของภิกษุณีสงฆ์

ปัจจุบันนี้ผู้รับสังฆทานกลุ่มที่ ๑ ไม่มีแล้ว เพราะพระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว กลุ่มที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๗ ว่าตามหลักของพระพุทธศาสนาสายเถรวาท ก็ไม่มีแล้ว เพราะภิกษุณีสูญไปแล้ว ยังคงเหลือแต่กลุ่มที่ ๓ คือภิกษุสงฆ์ และกลุ่มที่ ๖ คือ ภิกษุในฐานะเป็นตัวแทนของภิกษุสงฆ์

@@@@@@@

เพราะฉะนั้น จึงยุติได้ว่า จำนวนพระสงฆ์ที่จะรับสังฆทานเป็นคณะภิกษุสงฆ์ กล่าวคือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ก็ได้ ถ้าครบ ๔ รูปขึ้นไปเช่นนี้ ก็รับในฐานะเป็นสงฆ์ได้เลยทีเดียว หรือจะไม่ครบ ๔ รูป คือ ๓ รูป ๒ รูป หรือรูปเดียวก็ได้ ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ก็เข้าลักษณะกลุ่มที่ ๖ คือ รับในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์

การรับในฐานะเป็นสงฆ์ได้เลยทีเดียว หมายความว่า เมื่อทายกถวายแล้ว พระสงฆ์ในที่นั้นสามารถตกลงกันได้เลยว่า ของที่รับไว้นั้น จะทำอย่างไรกัน คือจะเอาไปทำอะไร หรือจะให้แก่ใครหรือจะไม่ให้แก่ใคร โดยจะเก็บไว้เป็นของส่วนรวมส่วนกลางต่อไป ก็สามารถตกลงกันได้เลย

การรับในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ ก็หมายความว่า จำนวนภิกษุที่รับสังฆทานนั้นไม่ครบองค์สงฆ์ (องค์สงฆ์ หมายถึงจำนวนภิกษุอย่างต่ำที่ต้องมีในการทำกิจต่างๆ ของสงฆ์ ซึ่งกิจแต่ละอย่างได้กำหนดจานวนภิกษุไว้ชัดเจน แต่อย่างน้อยที่สุดต้องไม่ต่ำกว่า ๔ รูป ในกรณีการตกลงใจเรื่องสังฆทานนี้ ท่านกำหนจำนวนภิกษุไว้ต่ำสุดคือ อย่างน้อย ๔ รูป)

เมื่อไม่ครบองค์สงฆ์ภิกษุที่รับสังฆทานนั้น จึงต้องรับในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ หมายความว่า ต้องนำของที่รับนั้นไปเข้าที่ประชุมสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง จะนำไปเป็นของส่วนตัวไม่ได้ ในทางปฏิบัติคือ ต้องหาภิกษุมาให้ครบองค์สงฆ์ แล้วตกลงกันว่า ของที่รับไว้นั้นจะทำอย่างไรกันต่อไป ถ้าไม่ได้ดำเนินการดังว่านี้ ของนั้นก็ยังคงเป็นของสงฆ์คือของส่วนกลางต่อไป



หน้า ๑๒-๑๓-๑๔-๑๕.


@@@@@@@

๑๐. การอุปโลกน์

การพิจารณาตกลงกันในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ ว่าจะทำอย่างไรกับของที่รับสังฆทานมานั้น นี่แหละ เรียกเป็นศัพท์ทางศาสนาว่า อุปโลกน์ (อ่านว่า อุ-ปะ-โหลก ศัพท์เดิมว่า อปโลกน์)

การอุปโลกน์ หรือ อปโลกน์ นั้น เป็นรูปแบบสังฆกรรมอย่างหนึ่งมีขั้นตอน มีคำกล่าวที่กำหนดไว้เป็นแบบแผน จะเรียกว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง หรือ “ทำพอเป็นพิธี” ก็ได้ แต่โดยเนื้อหาสาระก็คือ เป็นการลงมติของที่ประชุมสงฆ์ หรือเป็นนโยบายของสงฆ์หรือของวัดนั้นๆ ว่าจะทำอย่างไรกับของที่รับสังฆทาน เมื่อตกลงกันว่าอย่างไร หรือนโยบายวางไว้อย่างไร ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น

หลักสำคัญมีเพียงว่า ข้อตกลงหรือนโยบายนั้นๆ เป็นความเห็นของสงฆ์ คือ เห็นร่วมกันพร้อมใจกันเป็นเอกฉันท์ ไม่มีเสียงคัดค้านเป็นอย่างอื่น บางกรณีแม้ไม่ทำพิธีอุปโลกน์ ก็ถือว่าเป็นสังฆทานแล้ว ตัวอย่างเช่น วัดแห่งหนึ่งตกลงกันว่า เมื่อญาติโยมมาทำบุญที่วัดในวันพระ อาหารที่ถวายเป็นสังฆทานแล้วนั้น เมื่อพระฉันแล้ว ให้ญาติโยมรับประทานกันต่อไป เหลือจากรับประทานแล้ว ก็ให้แจกจ่ายในหมู่ญาติโยมต่อไป กรณีอย่างนี้ แม้จะไม่อุปโลกน์ตอนถวายสังฆทาน หรือแม้จะอุปโลกน์โดยไม่ได้ระบุ

ย้ำว่า…ส่วนที่เหลือจากพระฉันแล้ว ให้เป็นของญาติโยมอุบาสอุบาสิกา…(อย่างที่บางวัดนิยมอุปโลกน์ระบุชัดเจนเช่นว่านี้) ก็คงถือว่าสำเร็จเป็นสังฆทานสมบูรณ์แล้ว และญาติโยมสามารถรับประทานอาหารนั้นได้โดยไม่เป็นบาป (ตามที่บางคนคิด) เพราะสงฆ์ได้ตกลงเป็นหลักการไว้เช่นนั้นแล้ว เว้นแต่สงฆ์หรือทางวัดไม่ได้กำหนดนโยบายไว้ และเมื่อรับสังฆทานแต่ละครั้ง ต้องการจะแจกจ่ายให้เป็นของส่วนตัวของพระภิกษุแต่ละรูป อย่างนี้ต้องอุปโลกน์ก่อนจึงจะถือเอาเป็นส่วนตัวได้

@@@@@@@

สรุปหลักการของสังฆทานที่ถวายแล้ว คือ

     ๑. ตามปกติของที่ถวายสังฆทาน เมื่อถวายแล้วรับแล้ว ต้องตกเป็นของส่วนรวม หรือเป็นของส่วนกลาง ที่เรียกว่า “ของสงฆ์” จะถือเอาเป็นของส่วนตัวของภิกษุผู้รับไม่ได้

     ๒. ถ้าต้องการจะแจกแบ่งของสังฆทานนั้น เพื่อยกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือหลายรูป (ตามจำนวนสิ่งของ) ต้องประชุมสงฆ์คือภิกษุอย่างน้อย ๔ รูป แล้วทำความตกลงกันตามรูปแบบที่กำหนดซึ่งเรียกว่า “อุปโลกน์” มติที่ประชุมต้องเป็นเอกฉันท์

     ๓. ถ้าสงฆ์ในวัดนั้นๆ มีหลักการหรือนโยบายชัดเจนอยู่แล้วว่า ของที่รับสังฆทานแล้วให้นำไปทำอย่างนั้น ๆ (ซึ่งไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย) แม้จะไม่ทำพิธีอุปโลกน์ ก็ถือว่าเป็นสังฆทานสมบูรณ์ (คือมิใช่ว่าเป็นสังฆทานตรงที่อุปโลกน์)

ในที่นี้ขอแสดงคำอุปโลกน์ไว้ เพื่อให้เรื่องนี้สมบูรณ์ ดังนี้

คำอุปโลกน์เพื่อแจกของสังฆทาน

(พระภิกษุรูปที่ ๒ เป็นผู้กล่าว) นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (สามจบ)

อะยัง ปะฐะมะภาโค เถรัสสะ ปาปุณาติ, อะวะเสสา ภาคา อัมหากัง ปาปุณันติ
ทุติยัมปิ อะยัง ปะฐะมะภาโค เถรัสสะ ปาปุณาติ, อะวะเสสา ภาคา อัมหากัง ปาปุณันติ
ตะติยัมปิ อะยัง ปะฐะมะภาโค เถรัสสะ ปาปุณาติ, อะวะเสสา ภาคา อัมหากัง ปาปุณันติ

(พระสงฆ์ทั้งหมดเปล่งเสียงพร้อมกันว่า สาธุ เป็นอันเสร็จพิธี)

ความหมายในคำอุปโลกน์นั้นมีอยู่ว่า สิ่งของส่วนแรกนี้ถึงแก่พระเถระ (คือพระภิกษุที่เป็นประธานอยู่ในที่ประชุมนี้) ส่วนที่เหลือถึงแก่พวกเราทั้งหลาย

@@@@@@@

๑๑. เครื่องสังฆทาน

ทุกวันนี้ เริ่มจะมีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า ของถวายสังฆทานจะต้องจัดใส่ถังพลาสติกสีเหลือง มีพลาสติกใสหุ้มปิดปากถัง ถ้าไม่มีถังเช่นว่านี้ไม่ใช่สังฆทาน เมื่อไปเห็นถังมีลักษณะ เช่นว่านี้ตามร้านค้า ก็เลยเข้าใจกันว่า เป็นเครื่องสังฆทาน แม้ทางร้านค้าเองก็มีการพยายามเรียกของถวายพระให้ต่างกัน คือ ถ้าจัดใส่ถังพลาสติกสีเหลือง หรืออาจจะจัดเป็นภาชนะรูปแบบอื่นก็ตามเรียกว่า สังฆทาน ถ้าจัดไว้เป็นห่อกระดาษแก้วสีเหลือง หรือเป็นถาด มีพลาสติกใสหุ้ม เรียกว่า ไทยทาน

ความจริงการจัดของถวายพระใส่ถังพลาสติกสีเหลืองก็ดี จัดเป็นห่อหรือเป็นถาดก็ดี หรือจะจัดทำภาชนะบรรจุเป็นรูปแบบอื่นใดอีกก็ดี เป็นเพียงศิลปะหรือวิธีการ หรือที่นิยมเรียกเป็นคำฝรั่งว่า เป็นเทคนิคของร้านค้า ที่จะจูงใจลูกค้าโดยวิธีอำนวยความสะดวกให้ แต่พร้อมกันนั้นก็เป็นการบังคับขายไปในตัว เพราะลูกค้าไม่ค่อยมีโอกาสเลือกหรือพิสูจน์ก่อนว่า ของที่จัดไว้นั้นมีคุณภาพดีเลวอย่างไร เป็นสินค้าที่หมดอายุแล้วหรือเปล่า เป็นต้น

โปรดเข้าใจว่า ว่าโดยหลักวิชาการแล้ว ท่านไม่ได้แยกของถวายพระออกเป็นสังฆทานอย่างหนึ่ง และไทยทานอีกอย่างหนึ่ง ตามที่ร้านค้าพยายามเรียกแยกเช่นนั้น โปรดจำไว้ให้มั่นว่า สังฆทาน หมายถึง เจตนาที่มุ่งให้ทานโดยไม่จำเพาะเจาะจงแก่ผู้ใด แต่มุ่งให้เป็นของส่วนรวม หรือเป็นของส่วนกลาง หรือเป็นสาธารณประโยชน์

ไม่จำเป็นจะต้องมีถังสีเหลือง หรือต้องมีภาชนะบรรจุของกินของใช้สำหรับจะเอาไปถวายพระ ตามที่ทางร้านค้าจัดทำขึ้นแต่อย่างใดเลย ของถวายนั้นจะบรรจุภาชนะหีบห่ออะไรอย่างไรก็ได้ ยิ่งเป็นของที่ได้เลือกคัดจัดหามาด้วยตัวเองก็ยิ่งดี เพราะได้รู้ได้เห็นเองว่าอะไรเป็นอะไร

@@@@@@@

คำว่า สังฆทาน ควรคู่กับ ปาฏิปุคลิกทาน ซึ่งหมายถึง เจตนาที่มุ่งให้แก่บุคคลเป็นการเฉพาะเจาะจงตัว ไม่ใช่นำมาเรียกขานคู่กับคำว่า ไทยทาน

คำว่า ไทยทาน (ไท-ยะ-ทาน) แปลตามตัวว่า “สิ่งของที่ควรให้” หมายถึง ของที่เหมาะสมแก่การที่จะนำไปถวายพระ มีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไทยธรรม (ไท-ยะ-ทา) แปลว่า สิ่งของที่ควรให้เช่นกัน และมีคำใช้เรียกรวมๆกัน อีกคำหนึ่งว่า ทานวัตถุ แปลว่า สิ่งของสำหรับให้

ไทยทาน ไทยธรรม และทานวัตถุเหล่านี้ มีความหมายอย่างเดียวกัน

โบราณท่านกำหนดรายการไว้ ๑๐ อย่าง ตามคำบาลีที่ว่า

อันนัง ปานัง วัตถัง ยานัง  มาลา คันธัง วิเลปะนัง
เสยยาวะสะถัง ปะทีเปยยัง  ทานะวัตถู อิเม ทะสะ

มีคำอธิบายว่า ทานวัตถุมี ๑๐ อย่าง ดังต่อไปนี้ คือ

     ๑. อันนะ คือ อาหารหรือของกินทุกชนิด
     ๒. ปานะ คือ เครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มหรือน้ำผลไม้ รวมทั้งเครื่องประกอบที่ใช้ปรุงเป็นเครื่องดื่มต่างๆ
     ๓. วัตถะ คือ เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งเครื่องใช้จำพวกผ้าทุกชนิด
     ๔. ยานะ คือ ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยให้ไปมาสะดวก แม้กระทั่งรองเท้าและร่มก็รวมอยู่ในประเภทนี้
     ๕. มาลา คือ ดอกไม้ทั้งที่ร้อยเป็นพวง หรือจัดให้สวยงาม หรือดอกไม้ธรรมดาๆ
     ๖. คันธะ คือ เครื่องหอม แต่มุ่งถึงเครื่องหอมประเภทสมุนไพร ที่มีผลในทางเป็นยา ไม่ใช่เครื่องหอมประเภทเครื่องสาอาง (ธูป ก็น่าจะสงเคราะห์เข้าในประเภทนี้)
     ๗. วิเลปนะ คือ เครื่องทา มุ่งถึงเครื่องทาประเภทยาเช่นกัน เป็นต้นว่าน้ำมันทานวดเส้นแก้ปวดเมื่อย ไม่ใช่เครื่องทาประเภทประเทืองผิว
     ๘. เสยยะ คือ เครื่องนอน รวมไปถึงโต๊ะ เก้าอี้ เตียงตั่ง เครื่องปูลาดทั้งปวง
     ๙. อาวสถะ คือ ที่พักอาศัย รวมตลอดถึงกุฏิ วิหาร อาคารสถานที่ทั้งปวง
   ๑๐. ปทีเปยยะ คือ เครื่องไฟแสงสว่าง รวมตลอดทั้งเทียนตะเกียง น้ำมันเติมตะเกียง ปัจจุบันนี้ก็รวมอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง(และอาจจะรวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายเข้าด้วย)

รายการทานวัตถุเหล่านี้ เป็นของเก่าที่มีอยู่ในสมัยโบราณ ปัจจุบันอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นหลายสิบหลายร้อย แต่ถึงกระนั้นก็อาจจัดเป็นประเภทได้เพียง ๒ ประเภทคือ ของฉันคือของกิน กับของใช้ และมีหลักอยู่ว่า ต้องเป็นของที่สมควรแก่สมณบริโภค คือ เหมาะแก่การที่พระสงฆ์จะฉันจะใช้ ไม่ผิดวินัยสงฆ์ และไม่ก่อให้เกิดข้อตำหนิติเตียน



หน้า ๑๖-๑๗-๑๘-๑๙-๒๐-๒๑-(๒๒)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 24, 2024, 12:31:06 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 25, 2024, 11:18:49 am »
0
.
 :25: :25: :25:


๑๒. ถวายสังฆทานเวลาไหน

ขอย้ำว่าสังฆทานมิได้ขึ้นอยู่กับสิ่งของที่จะถวาย แต่ขึ้นอยู่กับเจตนาในการถวายว่า จะถวายเป็นของสงฆ์ แต่เมื่อถามว่า จะถวายสังฆทานเวลาไหนได้บ้าง ก็ต้องดูกันที่ของถวายว่า เป็นของประเภทไหน ซึ่งมีหลักง่ายๆ อยู่ว่า ถ้าเป็นของใช้ ถวายได้ตลอดวัน ถ้าเป็นของฉัน(คือของกิน) ต้องถวายก่อนเที่ยง ที่ว่าของกินต้องถวายก่อนเที่ยง ก็เพราะพระสงฆ์จะรับประเคนของกินได้เฉพาะเวลาก่อนเที่ยงเท่านั้น เนื่องจากหลังเที่ยงไปแล้วพระสงฆ์จะฉันอาหารมิได้ จนกว่าจะถึงเวลาอรุณขึ้นในวันใหม่

ของกินที่ว่านี้ไม่ว่าจะเป็นของสด คือ อาหารหวานคาวที่กินได้เลย หรือของแห้ง คือ อาหารที่เก็บไว้กินได้หลายวัน พระสงฆ์จะรับประเคนหลังเที่ยงไม่ได้ทั้งนั้น ดังเป็นที่รู้เข้าใจกันทั่วไปอยู่แล้วว่า หลังเที่ยงไปแล้วจะเอาอาหารไปถวายพระไม่ได้

ปัญหาที่พบเสมอก็คือ ของที่จัดไปถวายสังฆทานมักมีของแห้ง เช่น ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง รวมอยู่ด้วยกับของใช้ เมื่อกล่าวคำถวายแล้ว ผู้ถวายก็ยกประเคนพระ ฝ่ายพระก็รับประเคนง่ายๆ จะเป็นด้วยต้องการรักษาศรัทธาญาติโยม หรือเพราะไม่ตระหนักในวินัย อย่างใดอย่างหนึ่ง กลายเป็นทำบุญผิดวิธี แทนที่จะได้บุญบริสุทธิ์ กลับมีโทษติดอยู่ด้วย

     เรื่องนี้มีคำแนะนำดังนี้

     ๑. ควรแยกของกินออกจากของใช้ให้เด็ดขาดกันไป อย่าเอามารวมกัน
     ๒. ถ้าถวายก่อนเที่ยง ก็ถวายได้ทั้งของกินของใช้ เฉพาะของกินควรมีอาหารคาวหวานที่พร้อมจะรับประทานได้ทันทีเป็นหลัก ของอื่นเป็นบริวาร
     ๓. ถ้าถวายหลังเที่ยง ก็ถวายเฉพาะของใช้
     ๔. ของกินที่เป็นอาหารสด ไม่ถวายหลังเที่ยงเด็ดขาด
     ๕. ถ้าถวายหลังเที่ยง และมีของแห้งรวมอยู่ด้วย ต้องแยกออกไว้ต่างหาก และประเคนเฉพาะของใช้ ส่วนของแห้งไม่ต้องประเคน

@@@@@@@

๑๓. วิธีถวายสังฆทาน

การถวายสังฆทานทำได้ ๒ วิธี คือ

๑. ถวายแบบไม่ต้องมีพิธี การถวายแบบนี้ก็คือ มีของที่จะถวาย มีเจตนาที่ตั้งใจจะถวายเป็นสังฆทาน (ตามความหมายที่พูดมาแล้ว) เมื่อพร้อมแล้วก็นำของนั้นไปที่วัด หรือจะนิมนต์พระไปที่บ้านก็แล้วแต่จะสะดวก แล้วก็บอกกล่าวแก่พระสงฆ์ให้เข้าใจเจตนาของผู้ถวายว่า ขอถวายของสิ่งนี้ๆให้เป็นของสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์รับรู้รับทราบและรับสิ่งของนั้นไปแล้ว ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์เป็นสังฆทานทันที วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทำอะไรเอาแต่สาระ ไม่ชอบพิธีรีตอง

๒. ถวายแบบมีพิธี ปฏิบัติดังนี้
    - เตรียมของถวาย
    - เตรียมจัดสถานที่ คือจัดที่บูชา ตั้งพระพุทธรูป มีดอกไม้ธูปเทียนสำหรับสักการะ และจัดอาสนะสาหรับพระสงฆ์
    - นิมนต์พระสงฆ์ตามจำนวนที่ต้องการ (ไม่ต้องระบุตัว)
    - เมื่อพร้อมแล้ว คือ พระสงฆ์มาพร้อมแล้ว ยกของถวายไปตั้งวางตรงหน้าพระสงฆ์ จุดธูปเทียน กล่าวำคำบูชาพระรัตนตรัย แล้วอาราธนาศีล
    - พระสงฆ์ให้ศีล
    - จบแล้ว กล่าวคำถวายสังฆทาน (ตามแบบเก่านิยมตั้งนะโม ๓ จบ แล้วสวดสังฆคุณ จบแล้วกล่าวคำถวายสังฆทานเป็นภาษาบาลี ต่อด้วยคาแปล)
    - ประเคนของถวายที่สมควรจะประเคน
    - พระสงฆ์อุปโลกน์ (ถ้าในที่นั้นมีพระภิกษุครบองค์สงฆ์ และต้องการแจกของกันให้เสร็จสิ้นไปเลย)
    - พระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ถวายกรวดน้ำ เป็นอันเสร็จพิธี

วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ชอบทำอะไรตามแบบแผน ผลดีของวิธีนี้คือ นอกจากจะได้ทำบุญด้วยวิธีถวายทานแล้ว ยังได้สมาทานศีลเป็นการย้ำเตือนให้งดเว้นบาป ชื่อว่าได้ทำบุญด้วยวิธีรักษาศีลอีกทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นการรักษาแบบแผนประเพณีไว้อีกด้วย



หน้า ๒๒-๒๕




๑๔. คำถวายสังฆทาน

ขอกล่าวซ้ำอีกทีว่า สังฆทานเป็นชื่อของเจตนาที่จะถวายสิ่งของให้เป็นของสงฆ์ ไม่ใช่เป็นชื่อสิ่งของที่จะถวาย ขอให้สังเกตคำถวายสังฆทานที่รู้กันโดยทั่วไป คือ

อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ…. ซึ่งแปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซี่งภัตตาหารพร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้……

คำถวายนี้ที่จริงแล้ว ก็คือคำถวายภัตตาหารนั่นเอง ไม่มีคำว่า สังฆทาน อยู่ด้วยเลย แต่เมื่อตั้งเจตนากล่าวคำถวายเช่นนี้แล้ว ภัตตาหารที่ถวายนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นสังฆทาน

เพราะฉะนั้น คำถวายสังฆทานจึงขึ้นอยู่กับว่า จะถวายอะไร เช่น
ถ้าถวายภัตตาหาร ก็ระบุว่า ขอน้อมถวายซึ่งภัตตาหาร กรณีนี้ภัตตาหารก็เป็นสังฆทานไป
ถ้าถวายจีวรก็ระบุว่า ขอน้อมถวายซึ่งผ้าจีวร กรณีนี้ผ้าจีวรก็เป็นสังฆทานไป
ถ้าถวายกุฏิก็ระบุว่า ขอน้อมถวายซึ่งกุฏิ กรณีนี้กุฏิก็เป็นสังฆทานไป
ถ้าถวายยารักษาโรคก็ระบุว่า ขอน้อมถวายซึ่งยารักษาโรค กรณีนี้ยารักษาโรคก็เป็นสังฆทานไป

เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ถ้าจะพูดให้ถูก เราต้องพูดว่า "ถวายสิ่งของนั้นๆให้เป็นสังฆทาน ไม่ใช่ถวายสังฆทาน" แต่เวลาพูด เราพูดกันสั้นๆว่าถวายสังฆทาน คือ พูดละไว้ในฐานที่เข้าใจกัน แต่เมื่อพูดกันไปพูดกันมา ก็ทำท่าจะเข้าใจไขว้เขว คือ เข้าใจกันว่าสังฆทานเป็นสิ่งของอะไรชนิดหนึ่ง จึงปรากฏว่ามีผู้ผูกคำถวายสังฆทานขึ้นมาใหม่ คือเปลี่ยนคำว่า ภัตตานิ เป็น สังฆะทานิ อย่างนี้ก็มี

สรุปความเข้าใจไขว้เขวในคำถวายสังฆทาน ก็มีดังนี้

     ๑. เข้าใจว่าถ้าจะถวายสังฆทาน ไม่ว่าของที่ถวายจะเป็นอะไรก็ตาม และไม่ว่าจะถวายเวลาไหนก็ตาม คำถวายก็มีอยู่อย่างเดียวคือ อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ….. พวกนี้คือไม่รับรู้ว่า ภัตตานิ แปลว่าอะไร จึงฝังใจอยู่แต่ว่า ถ้าจะถวายสังฆทานก็ต้อง…..ภัตตานิ แม้ของถวายจะไม่ใช่ อาหาร ก็ยัง ภัตตานิ และแม้จะถวายหลังเที่ยงซึ่งพระสงฆ์รับ อาหารไม่ได้ ก็ยังคง ภัตตานิ อยู่นั่นเอง (แต่พอถึงคำแปลก็ไม่แปลว่า ซึ่งภัตตาหาร ตามศัพท์ แต่ไพล่ไปแปลว่า ซึ่งสังฆทาน)

     ๒. พวกที่พอจะรู้อยู่บ้างว่า ภัตตานิ แปลว่า ภัตตาหาร ซึ่งหลังเที่ยงแล้วพระรับไม่ได้ รับได้เฉพาะก่อนเที่ยง เมื่อถวายก่อนเที่ยงก็ยังใช้คำว่า ภัตตานิ แม้ของถวายจะไม่ใช่อาหารหรือไม่มีของกินรวมอยู่ด้วยเลย (คือเข้าใจเหมือนกับในข้อ ๑ ว่า ถ้าถวายสังฆทานก็ต้องใช้คำว่า ภัตตานิ เสมอ) แต่เมื่อถวายหลังเที่ยงก็เลี่ยงคำว่า ภัตตานิ เสีย ผูกศัพท์ขึ้นใหม่ โดยเอาคำว่า สังฆทานที่พูดกันจนคุ้นปากแล้วนั่นเอง มาเทียบกับคำว่า ภัตตานิ เห็นมีคำ
ว่า นิ ลงท้าย จึงผูกศัพท์เป็น สังฆะทานิ ซึ่งไม่ถูกตามหลักไวยากรณ์

ถ้าจะให้ถูกต้องเป็น สังฆะทานัง หรือ สังฆะทานานิ แต่แม้จะประกอบศัพท์เป็น สังฆะทานานิ ถูกตามหลักไวยากรณ์ ก็ยังคลาดเคลื่อนจากแบบแผนของการถวายทาน ตามหลักที่ว่า เราถวายของสิ่งนี้ๆ ให้เป็นสังฆทาน เมื่อกล่าวคำถวายตามพิธีการ ก็ต้องระบุลงไปว่า ของสิ่งนั้นคืออะไร เช่น เป็นภัตตาหาร เป็นจีวร เป็นกุฏิ เป็นยารักษาโรค เป็นร่ม เป็นรองเท้า ฯลฯ

แต่สิ่งของที่มีชื่อเฉพาะว่าสังฆทานนั้นไม่มี การใช้คำว่า สังฆะทานานิ ในคำถวาย จึงไม่รู้ว่าถวายอะไร คำว่า สังฆะทานัง หรือ สังฆะทานานิ แปลตามศัพท์ว่า ทานเพื่อสงฆ์, ให้เป็นของสงฆ์, ของที่ให้เป็นของสงฆ์ ตามศัพท์เท่านี้ ก็ไม่รู้ว่าของที่ให้เป็นของสงฆ์ นั้นคืออะไร อยู่นั่นเอง

เนื่องจากคำถวายขึ้นอยู่กับสิ่งของที่จะถวาย จึงขอแยกเพื่อให้เห็นชัดเจน ดังนี้

     ๑. ถวายเฉพาะอาหาร ไม่มีของอื่นประกอบ (ต้องถวายก่อนเที่ยง) คำถวายว่า อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ ภิกขุสังฆัสสะ… (…ซึ่งภัตตาหารเหล่านี้)

     ๒. ถวายอาหาร มีของอื่นประกอบด้ว (ต้องถวายก่อนเที่ยง) คำถวายว่า อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ.... (…ซึ่งภัตตาหาร พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้) (แบบนี้เป็นคำถวายที่ใช้กันทั่วไป แต่ก็เป็นคำถวายอาหารนั่นเอง)

     ๓. ถวายสิ่งของเพียงชิ้นเดียว (เช่น ร่มคันเดียว รองเท้าคู่เดียว เก้าอี้ตัวเดียว) ไม่มีของอื่นประกอบ คำถวายว่า อิมัง มะยัง ภันเต (ต่อจากนี้เป็นศัพท์ภาษาบาลีที่ระบุชื่อของสิ่งนั้น ผูกเป็นรูปเอกพจน์ ทุติยาวิภัตติ) ภิกขุสังฆัสสะ… (คำแปลก็ระบุลงไปว่าขอน้อมถวาย ซึ่งอะไร)

     ๔. ถวายสิ่งของชิ้นเดียว มีของอื่นประกอบ คำถวายว่า อิมัง มะยัง ภันเต (ศัพท์ภาษาบาลีระบุชื่อของสิ่งนั้นผูกเป็น รูปเอกพจน์ ทุติยาวิภัตติ) สะปะริวารัง ภิกขุสังฆัสสะ…

     ๕. ถวายสิ่งของชนิดเดียว แต่มีหลายชิ้น (เช่น ถวายร่มเพียงอย่างเดียว แต่มีหลายคัน) ไม่มีของอื่นประกอบ

     ๖. ถวายสิ่งของชนิดเดียว มีหลายชิ้น และมีของอื่นประกอบด้วยในข้อ ๕ และ ๖ นี้ ต้องดูว่าของสิ่งนั้นคืออะไร ศัพท์ภาษาบาลีจะใช้คำว่าอะไร แล้วประกอบศัพท์นาม สรรพนาม และคาขยาย ของคำนั้นๆ ให้ถูกตามหลักไวยากรณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ จึงมีผู้รู้จัดทำคำถวายทานต่างๆ ขึ้น ผู้ต้องการจะกล่าวคำถวาย
ให้ถูกต้องพึงแสวงหามาใช้เป็นคู่มือเถิด

     ๗. ถวายสิ่งของ(ของใช้) หลายชนิด ไม่อาจแยกแยะระบุชื่อได้ หรือแม้จะแยกแยะได้ แต่ก็ไม่ทราบว่าจะใช้คำศัพท์บาลีเรียกของสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าอย่างไร อีกทั้งรวมกันอยู่หลายอย่าง (ของถวายสังฆทานที่เห็นอยู่ทุกวันนี้มักมีลักษณะเช่นนี้) กรณีเช่นนี้ มีคำที่ใช้เรียกสิ่งของเหล่านั้นอยู่ว่า กัปปิยะภัณฑะ แปลว่า “สิ่งของอันสมควรแก่สมณบริโภค” เรียกทับศัพท์ว่า กัปปิยภัณฑ์ ตามปกติเมื่อเป็นของหลายๆ อย่างเช่นนี้ย่อมไม่อาจระบุได้ว่า ของสิ่งใดเป็นหลัก ของสิ่งใดเป็นของประกอบ(ของบริวาร) ในคำถวายจึงไม่ควรมีคำศัพท์ว่า สะปะริวารานิ คำถวายกัปปิยภัณฑ์ให้เป็นสังฆทานว่า อิมานิ มะยัง ภันเต กัปปิยะภัณฑานิ ภิกขุสังฆัสสะ…

     ๘. ถวายสิ่งของให้เป็นสังฆทานเพื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ท่านให้เติมคำว่า "มะตะกะ" ซึ่งแปลว่า “ผู้ตาย” เข้าข้างหน้าชื่อของที่ถวาย เช่น มะตะกะภัตตานิ (ภัตตาหารเพื่อผู้ตาย) มะตะกะ จีวะรานิ (จีวรเพื่อผู้ตาย) และให้เติมศัพท์ว่า กาละกะ ตานัง ญาตะกานัง เข้าในท่อนท้ายของคำถวายด้วย (แปลว่า-แก่ญาติทั้งหลาย ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ในข้อนี้มีแนวปฏิบัติอยู่ว่า โดยปกติชาวพุทธเรา เมื่อทำบุญอย่างใดๆ แล้ว นิยมอุทิศส่วนบุญหรือแบ่งส่วนบุญให้แก่ผู้อื่นด้วย เพราะถือว่าได้บุญอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น เมื่อถวายทานเพื่อตัวเองแล้ว ก็ควรมีคำที่แสดงเจตนาแบ่งส่วนบุญให้ผู้อื่นด้วยเสมอไป

@@@@@@@

เท่าที่แยกไว้นี้ เพียงเพื่อให้เห็นว่าการถวายทานนั้นมีหลายกรณี คำถวายจึงต้องแยกไปตามกรณีนั้นๆ แต่ความเป็นจริงอาจไม่เกิดขึ้นทุกกรณีไป ในที่นี้ จึงจะขอแสดงคำกล่าวถวายทานเต็มๆ ไว้เป็นแบบแผนเพียง ๒ แบบที่มักทำกันบ่อย คือ ถวายภัตตาหารมีของอื่นประกอบ และถวายสิ่งของหลายชนิด ไม่อาจแยกแยะได้ (คือที่กล่าวถึงในหมายเลข ๒ และ ๗ ในหัวข้อนี้)

คำถวายสังฆทานแบบมีภัตตาหารเป็นหลัก(ถวายก่อนเที่ยง)

อิมานิ มะยัง ภันเต/ ภัตตานิ/ สะปะริวารานิ/ ภิกขุสังฆัสสะ/ โอโณชะยามะ/ สาธุ โน ภันเต/ ภิกขุสังโฆ/ อิมา
นิ/ ภัตตานิ/ สะปะริวารานิ/ ปะฏิคคัณหาตุ/ อัมหากัญเจวะ/ มาตาปิตุ/ อาทีนัญจะ/ ญาตะกานัง/ ทีฆะรัตตัง/ หิตายะ/ สุขายะ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ/ ข้าพเจ้าทั้งหลาย/ ขอน้อมถวาย/ ซึ่งภัตตาหาร/ พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้/ แด่พระภิกษุสงฆ์/ ขอพระภิกษุสงฆ์/ จงรับ/ ซึ่งภัตตาหาร/ พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้/ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย/ เพื่อประโยชน์/ เพื่อความสุข/ แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย/ และแก่ญาติทั้งหลาย/ มีมารดาบิดาเป็น
ต้น/ ตลอดกาลนาน เทอญ

คำถวายสังฆทานแบบมีเฉพาะของใช้หลายชนิด(ถวายได้ตลอดวัน)

อิมานิ มะยัง ภันเต/ กัปปิยะภัณฑานิ/ ภิกขุสังฆัสสะ/ โอโณชะยามะ/ สาธุ โน ภันเต/ ภิกขุสังโฆ/ อิมานิ/กัปปิยะภัณฑานิ/ ปะฏิคคัณหาตุ/ อัมหากัญเจวะ/ มาตา-ปิตุ/ อาทีนัญจะ/ ญาตะกานัง/ ทีฆะรัตตัง/ หิตายะ/ สุขายะ

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ/ ข้าพเจ้าทั้งหลาย/ ขอน้อมถวาย/ ซึ่งกัปปิยภัณฑ์เหล่านี้/ แด่พระภิกษุสงฆ์/ ขอ
พระภิกษุสงฆ์/ จงรับ/ ซึ่งกัปปิยภัณฑ์เหล่านี้/ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย/ เพื่อประโยชน์/ เพื่อความสุข/ แก่ข้าพเจ้า
ทั้งหลาย/ และแก่ญาติทั้งหลาย/ มีมารดาบิดาเป็นต้น/ ตลอดกาลนาน เทอญ

    มีคำแนะนำดังนี้

     - ผู้ถวายควรกล่าวด้วยตนเอง
     - ถ้าว่าไม่ได้ ควรขอให้ผู้ที่ว่าได้มากล่าวนำ
     - ในที่นี้ได้ทำเครื่องหมาย / ไว้ แสดงว่า ถ้ามีการกล่าวนำ ให้หยุดเป็นวรรคๆ ตามเครื่องหมาย
     - ไม่ควรให้พระสงฆ์เป็นผู้กล่าวนำ



หน้า ๒๕-๓๒
 


@@@@@@@

๑๕. องค์ประกอบที่เป็นเหตุให้การถวายทานได้อานิสงส์เลิศ

ทานที่บริจาคแล้ว จะเป็นทานอันยอดเยี่ยม มีผลมาก มีอานิสงส์มาก อาจเห็นผลทันตา ต้องประกอบด้วยความสมบูรณ์พรั่งพร้อม ที่เรียกว่า สัมปทา ๔ อย่าง คือ

     ๑. วัตถุสัมปทา ถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือ ปฏิคาหกผู้รับทานเป็นผู้ทรงคุณธรรม เช่น เป็นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี ผู้เข้านิโรธสมาบัติได้

     ๒. ปัจจยสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัจจัย คือ สิ่งที่จะให้ที่จะถวายเป็นของบริสุทธ์ ได้มาโดยชอบธรรม

     ๓. เจตนาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือ มีเจตนาในการให้ สมบูรณ์ครบทั้ง ๓ กาล ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ จิตโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา

     ๔. คุณาติเรกสัมปทา ถึงพร้อมด้วยคุณส่วนพิเศษ คือ ปฏิคาหกเป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ออกจากนิโรธ-สมาบัติใหม่ๆ

@@@@@@@

๑๖. คำขอร้อง

ในที่สุดนี้ ขอฝากคำขอร้องไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถวายสังฆทานดังนี้

     • สำหรับวัดหรือสงฆ์ ขอร้องว่า อย่าทำให้การถวายสังฆทานเบี่ยงเบนไปเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาหรือเสริมสิริมงคล แม้แต่จะอ้างว่าเป็นอุบายชักจูงให้คนทำบุญ เพราะการล่อให้คนทำบุญด้วยความหลงอยู่แค่นั้น ไม่ใช่วิถีทางของพระพุทธศาสนา ควรกำหนดนโยบายที่แน่นอนและถูกต้องตามพระธรรมวินัยว่า ของที่รับสังฆทานมาแล้วนั้น จะนำไปใช้เพื่อการอันใด อย่าเห็นแก่ลาภและมุ่งแต่จะหาเงิน โดยละเลยหรือหลีกเลี่ยงหลักการของสังฆทาน
       ตรงกันข้าม ควรจะเผยแพร่หลักการของสังฆทานที่ถูกต้อง ให้ประชาชนได้รู้ได้เข้าใจ ประชาชนจะได้เข้าใจเรื่องสังฆทานและปฏิบัติได้ถูกต้อง วัดหรือสงฆ์ไม่ควรเป็นตัวการทำให้เรื่องสังฆทานเลอะเลือน คลาดเคลื่อนไขว้เขวออกไปจากหลักการที่ถูกต้องเสียเอง

     • สำหรับตัวพระภิกษุผู้รับสังฆทาน ขอร้องว่า ควรศึกษาหลักการของสังฆทานให้เข้าใจถูกต้องถ่องแท้ ควรรู้วิธีการว่า เมื่อจะไปเป็นผู้รับสังฆทานนั้นต้องเตรียมตัวอย่างไร และเมื่อรับของสังฆทานแล้ว ต้องนำไปทำอย่างไร จึงจะถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่ควรทาให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อน อันจะเป็นเหตุให้เจตนาในการถวายสังฆทานของญาติโยมต้องเป็นหมันไป

     • สำหรับเจ้าภาพผู้ถวายสังฆทาน ขอร้องว่า ควรศึกษาไว้ให้พอสมควร ว่าของสิ่งใดควรหรือไม่ควรแก่สมณบริโภค ถวายเวลาไหน ควรจะมีหรือไม่ควรมีของสิ่งใดบ้าง ตลอดจนฉลาดเลือกของที่มีคุณภาพและคุณประโยชน์ อย่าหลงไปตามพ่อค้าที่เขามุ่งประโยชน์ในทางพาณิชย์
       อนึ่ง ถ้าจะทาพิธีถวายสังฆทาน ก็ควรจะมีความรู้ในขั้นตอนของพิธีไว้บ้าง เช่น ไหว้พระ บูชาพระว่าอย่างไร รับศีลว่าอย่างไร คำถวายว่าอย่างไร หากไม่มีมรรคนายกเป็นผู้นำ ก็อย่าถึงกับต้องให้พระสงฆ์ว่านำให้ทุกอย่าง ที่สำคัญที่สุดคืออย่าหลงไปตามคำล่อว่า การถวายสังฆทานเป็นวิธีสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา เสริมสิริมงคล เพราะการทำบุญด้วยศรัทธาที่ขาดปัญญานั้น มิใช่วิถีของชาวพุทธเลย

     • สำหรับมรรคนายกหรือผู้ทำพิธี ขอร้องว่า ควรศึกษาขั้นตอนของพิธีให้ถูกต้องถ่องแท้ กล่าวคำถวายให้ถูกต้องตามหลักภาษาและถูกต้องตามชนิดของสิ่งที่ถวาย อย่าทำอย่ากล่าวตามๆ กันไปส่งเดช โดยเข้าใจเอาเองว่าถูก เพราะการนำไปในทางผิดพลาด ย่อมทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนเลือนหลงไปเรื่อยๆ ก่อให้เกิดโทษอย่างมหันต์

     • สำหรับร้านค้า ขอร้องว่า อย่าฉวยโอกาสเอาความไม่รู้ของประชาชนเป็นเหยื่อขายสินค้าโดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด อย่าอำนวยความสะดวกในทางที่ผิดพลาด เช่นเอาของกินปนไปในเครื่องสังฆทานที่ถวายหลังเที่ยง อย่าเห็นแก่ตัว อย่ามุ่งแต่จะขายสินค้า ด้วยการเอาสินค้าที่หมดอายุแล้ว หรือเสื่อมคุณภาพบรรจุลงในภาชนะหีบห่อที่อ้างว่าเป็น “เครื่องสังฆทาน” ข้อสำคัญ อย่าแนะนำประชาชนผิดๆว่า ถ้าจะถวายสังฆทานก็ต้องซื้อของอย่างนี้ๆ ถ้าไม่มีของสิ่งนี้ๆ จะไม่เป็นสังฆทาน เพียงเพื่อว่าจะได้ขายของ เพราะนั่นเป็นการหลอกลวงที่น่าละอายที่สุด

     และสุดท้าย ขออนุโมทนาคารวะต่อผู้ที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องในเรื่องสังฆทาน สาธุ สาธุ อะนุโมทามิ



หน้า ๓๓-๓๖
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มกราคม 25, 2024, 12:41:06 pm »
0
.



บทความรายการธรรมธารา : เรื่อง “วิธีทำบุญ”

ของกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ , ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ,วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๒ , นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย บรรยาย




 :25: :25: :25:

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพ เมื่อปลายปี ๒๕๔๑ มีข่าวกระทบความรู้สึกของชาวพุทธในเมืองไทยอยู่เรื่องหนึ่ง ข่าวนั้นนำไปสู่คำถามว่า ทำบุญด้วยทรัพย์สินเงินทองมากๆย่อมได้บุญมาก จริงหรือ.? และวิธีทำบุญนั้นต้องบริจาคเงินจำนวนมากๆ เท่านั้นหรือ.? จึงจะเป็นบุญ ไม่มีวิธีทำบุญแบบอื่นหรือ.?

รายการธรรมธาราวันนี้ จึงจะขอถือโอกาสตอบคำถามดังกล่าวนี้ เท่าที่เวลาจะอำนวย

คำถามที่ว่า ทำบุญด้วยทรัพย์สินเงินทองมากๆ ย่อมได้บุญมาก จริงหรือ.?

ข้อนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า คำว่าบุญในคำที่ว่า “ได้บุญ” นี้ หมายถึง ประโยชน์และความสุข หมายความว่า ผู้ทำก็ได้ความสุข ผู้รับก็ได้ประโยชน์ ถ้าผู้รับประโยชน์จากบุญนั้นมีมากก็เป็นบุญมาก ถ้าได้ประโยชน์น้อยคน บุญก็น้อย

ตัวอย่างเช่น ถวายรถยนต์ให้พระภิกษุ ก ไว้ใช้ส่วนตัว ก็ได้ประโยชน์น้อยหน่อย แต่ถ้าถวายรถยนต์ให้วัดไว้ใช้รับส่งพระภิกษุสามเณรทั้งวัดก็ได้ประโยชน์มาก ย่อมจะได้บุญมาก หรือสร้างพระพุทธรูปถวายวัดที่มีพระพุทธรูปบริบูรณ์อยู่แล้ว ก็ได้ประโยชน์มาก นี่มองในแง่เป็นประโยชน์

ส่วนในแง่ความสุขของผู้ทำหรือผู้ให้นั้น ท่านว่าจะได้บุญมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเจตนา หรือความตั้งใจ เต็มใจ ซึ่งมีอยู่ ๓ ระยะ คือ ก่อนทำ เรียกว่า บุพเจตนา ขณะทำ เรียกว่า มุญจนเจตนา และ หลังทำ เรียกว่า อปรเจตนา ถ้าเจตนาทั้ง ๓ ระยะนี้มีอยู่เต็มที่เต็มเปี่ยม ผ่องใสตลอดเวลา แม้ไทยธรรมคือทรัพย์สิ่งของที่บริจาคจะมีจำนวนเล็กน้อย แต่ก็ย่อมได้อานิสงส์มาก

ตรงกันข้าม แม้บริจาคมาก แต่ถ้าเจตนาทั้ง ๓ ระยะไม่ผ่องใส ทำบุญแล้วถูกหวย ทำบุญแล้วคลายแคล้วจากอุบัติเหตุ ทำบุญแล้วหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ผลดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการทำบุญให้ทานโดยตรง แต่เป็นเหตุโดยอ้อม หรือเป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ ที่ต้องย้ำเพราะมักจะมีคนทำบุญจำพวกหนึ่งคร่ำครวญเสมอว่า ทำบุญตั้งมากมายทำไมไม่ถูกหวยสักที ทำบุญแล้วทำไมยังประสบความเดือดร้อนอยู่อีก ซึ่งการคร่ำครวญเช่นนี้เกิดจากความไม่เข้าใจเรื่องผลบุญ หรือเรียกร้องเอาผลบุญแบบไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง

ส่วนคำถามที่ว่า ต้องบริจาคทรัพย์สินเงินทองเป็นจำนวนมากๆ เท่านั้นหรือจึงเป็นบุญ ไม่มีวิธีทำบุญแบบอื่นอีกหรือ ก็ขอตอบว่า วิธีทำบุญมีหลายวิธี ว่าตามหลักในพระพุทธศาสนาแล้ว วิธีทำบุญซึ่งท่านเรียกเป็นคำศัพท์ว่า บุญกิริยาวัตถุนั้น มึถึง ๑๐ วิธี
     ๑. ทาน
     ๒. ศีล
     ๓. ภาวนา
     ๔. อปจายนะ
     ๕. เวยยาวัจจะ
     ๖. ปัตติทาน
     ๗. ปัตตานุโมทนา
     ๘. ธัมมัสสวนะ
     ๙. ธัมมเทสนา
    ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม

ดูตามรายการวิธีทำบุญทั้ง ๑๐ วิธีนี้แล้ว จะเห็นว่า การบริจาคทรัพย์สินเงินทองของกินของใช้ทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นเพียง ๑ ใน ๑๐ วิธีของการทำบุญเท่านั้น คือ เป็นวิธีทำบุญที่ท่านเรียกว่า ทาน ซึ่งแปลว่า การให้

@@@@@@@

วิธีทำบุญวิธีที่ ๑. คือ ทาน การให้

ทานนี้เป็นที่นิยมกันมาก คงเป็นเพราะทำได้ค่อนข้างสะดวก คือเพียงแค่มีของที่จะให้ และเจตนาคิดจะให้ เท่านี้ก็พอแล้ว บุญที่ทำด้วยวิธีนี้เรียกว่า ทานมัย บุญที่สาเร็จด้วยการให้ ของที่จะให้นั้นก็สรุปลงในจำพวกของกินกับของใช้ ซึ่งเป็นของที่ต้องมีอยู่ในชีวิตประจาวันอยู่แล้ว ต้องการเพียงแค่เจตนา คือ ความคิดที่จะแบ่งออกให้แก่ผู้อื่นบ้างเท่านั้น

เมื่อมีเจตนาหรือความคิดอยากจะให้ การทำบุญด้วยวิธีบริจาคทานก็สามารถทำได้แล้ว เพราะผู้รับนั้นมีทั่วไปอยู่แล้ว หาไม่ยาก อาจเป็นเพราะความสะดวกเช่นนี้ คนจึงนิยมทำบุญโดยวิธีบริจาคทานกันมาก จนกระทั่งเมื่อเอ่ยถึงคำว่าทำบุญ เรามักจะนึกถึงการตักบาตร การถวายภัตตาหาร หรือการบริจาคเงิน การชักชวนเชิญชวนให้บริจาคทรัพย์สินเงินทอง ก็เป็นวิธีการที่ถูกนามาใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด ในเมื่อจะบอกให้คนทำบุญ จนดูเป็นว่าการทำบุญมีวิธีเดียว คือ บริจาคเงิน

สรุปว่า คนทำบุญก็เข้าใจแต่เพียงว่าจะทำบุญก็ต้องบริจาคทรัพย์สินเงินทอง คนชักชวนก็มุ่งแต่ชวนให้บริจาค ตกลงว่านิยมบุญกันอยู่วิธีเดียว คือทาน หรือบริจาคทรัพย์สินเงินทอง ผู้ให้ก็สุขใจว่าตนได้ทำบุญ ผู้รับก็ได้ประโยชน์ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่คนไทยชาวพุทธทุกวันนี้

วิธีทำบุญวิธีที่ ๒. คือ ศีล การควบคุมพฤติกรรมทางกายและวาจา

การควบคุมพฤติกรรมทางกายและวาจา ให้อยู่ในสภาพปกติเรียบร้อย การถือศีลหรือรักษาศีลเป็นวิธีทาบุญอีกวิธีหนึ่ง ที่ไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทอง ใช้เพียงการตั้งเจตนาที่จะงดเว้นการกระทำ คำพูด ที่ผิดที่ชั่วหยาบ จะเป็นการงดเว้น ๕ ประการ ที่เรียกว่าศีลห้า หรืองดเว้น ๘ ประการ ๑๐ ประการ ตามประเภทของศีลนั้นๆ ก็แล้วแต่ เมื่อตั้งเจตนางดเว้นแล้วประพฤติตามที่ตั้งนั้นได้โดยตลอดเรียบร้อย ก็ถือว่าได้ทำบุญแล้ว เรียกบุญชนิดนี้ว่า ศีลมัย บุญที่สำเร็จด้วยการรักษาศีล นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๓. คือ ภาวนา การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ

การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ ให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็ง มั่นคง เบิกบาน สงบสุข ผ่องใส พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ และการฝึกอบรมเจริญปัญญาให้รู้เท่าทัน เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครองงำด้วยกิเลสและความทุกข์ หมั่นทำหมั่นอบรมบ่มจิตใจและปัญญาอยู่เช่นนี้ ก็ถือว่าได้ทำบุญแล้ว เรียกบุญชนิดนี้ว่า ภาวนามัย บุญที่สำเร็จด้วยภาวนา การอบรมบ่มจิตใจ นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๔. คือ อปจายนะ การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน

การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ที่เราพูดกันว่ารู้จักที่สูงที่ต่ำ รู้ว่าผู้มีมีชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ สูงกว่าตน ควรปฏิบัติต่อท่านอย่างไร คนเสมอกันและคนต่ำกว่า ควรปฏิบัติอย่างไร ไม่เป็นคนกระด้าง ก้าวร้าว เย่อหยิ่งถือตัว การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้ ต้องพร้อมทั้งไตรทวาร คือพร้อมทั้งการกระทำ คำพูด และความคิดจิตใจ มิใช่เป็นลิงหลอกเจ้า หรือปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ หรือปากหวานก้นเปรี้ยว ทำได้อย่างนี้ก็เป็นการทำบุญเช่นกัน เรียกว่าบุญชนิดนี้ว่า อปจายนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน นี่เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๕. คือ เวยยาวัจจะ การช่วยขวนขวายในกิจที่สมควร

การช่วยขวนขวายในกิจที่สมควร คือ การช่วยเหลือรับใช้ผู้อื่น หรือการทำตัวให้ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม การไม่นิ่งดูดายในเมื่อเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แม้แต่ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น เห็นเศษไม้ ก้อนหิน อยู่กีดขวางทางเดิน ช่วยเก็บออกไปให้พ้น เห็นน้ำประปา ไฟฟ้าสาธารณะ ถูกเปิดทิ้งไว้โดยไร้ประโยชน์ ช่วยปิดให้เรียบร้อย ทำอย่างนี้ก็เป็นบุญ เรียกบุญชนิดนี้ว่า เวยยาวัจจมัย บุญที่สำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายให้กิจที่เป็นประโยชน์ แต่บุญแบบต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง คือ ทำเพราะมุ่งประโยชน์ต่อผู้อื่น มิใช่ทำเพราะหวังชื่อเสียง หวังเป็นข่าว หวังได้ออกโทรทัศน์ จึงจะเป็นบุญบริสุทธิ์ นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๖. คือ ปิตติทาน การให้ส่วนบุญ 

การให้ส่วนบุญ หรือการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น การทำบุญด้วยวิธีนี้คือ เมื่อเราได้ทำบุญ คือ ทำความดีอย่างใดๆ ก็ตาม ก็นำเอาเรื่องการทำดีนั้นไปบอกกล่าวแก่ผู้อื่น เพื่อให้เขาชื่นชมยินดีด้วย การบอกกล่าวนั้นก็บอกกล่าวอย่างเป็นกลางๆ มิใช่บอกเพื่อจะอวดอ้างคุณความดีของตัวเอง ตัวเองที่คนไทยนิยมปฏิบัติกันมา ก็เช่น ไปทำบุญที่วัดในวันพระ ขากลับเดินผ่านบ้านคนที่รู้จักกัน ก็ร้องบอกเข้าไปว่า “ฉันไปทาบุญมา ขอแบ่งส่วนบุญให้ด้วยนะ” เท่านี้ก็เป็นอันสำเร็จคนในบ้านก็จะร้องตอบออกมาว่า จ้ะ อนุโมทนาด้วยจ้ะ บุญที่เกิดจากการให้ส่วนบุญเช่นนี้ เรียกว่า ปัตติทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ

การแบ่งส่วนบุญเช่นนี้ ยังมีผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นการจูงใจให้ผู้อื่นอยากจะทำความดีเช่นนั้นหรือทำความดีอื่น ๆ อีกด้วย ยังมีการให้ส่วนบุญอีกแบบหนึ่ง คือ การอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่นิยมเรียกว่า กรวดน้ำ การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญก็เป็นปัตติทานมัยเช่นกัน ผู้ที่ทำบุญด้วยวิธีที่เรียกว่าปัตติทานนี้ ชื่อว่าได้บุญ ๒ ชั้น คือ ได้ทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้วชั้นหนึ่ง และได้ให้ส่วนบุญนั้นแก่ผู้อื่นอีกชั้นหนึ่ง นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๗. คือ ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาส่วนบุญ

การอนุโมทนาส่วนบุญ หรือ ทำบุญด้วยการยินดีในการทำดีของผู้อื่น กล่าวคือ เมื่อได้ยิน ได้รู้ ได้เห็น ว่าใครเขาทำบุญหรือทำความดีด้วยประการใด ๆก็ตาม ก็แสดงกิริยาวาจาพลอยยินดีกับการทำบุญนั้นด้วย มีคำที่นิยมพูดกันว่า “ยกมือท่วมหัว” เป็นคำพูดที่มองเห็นภาพการพลอยอนุโมทนา และอาจจะได้ยินเสียง “สาธุ” ประกอบกันไปด้วย นั่นคือ กิริยาวาจาพลอยยินดีกับการทำดีของผู้อื่น บุญที่ทำด้วยวิธีเช่นนี้ เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ

การทำบุญวิธีนี้จะว่าง่ายก็ง่ายมาก ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย อะไรเลย เพียงแค่ทำใจให้พลอยยินดีด้วยก็จะสำเร็จเป็นบุญแล้ว แต่จะว่ายาก ก็ยากมาก เพราะใจคนมักจะมีความมริษยาอยุ่ลึกๆ เห็นใครได้ดี เห็นใครทำดีแล้วไม่ค่อยอยากยินดีด้วย คนที่จะทำบุญด้วยวิธีนี้ได้จะต้องเอาชนะกิเลสในใจตัวเองให้ได้เสียก่อน หาไม่แล้ว เรื่องง่าย ๆ นี่แหละก็ทำยากนักหนา นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๘. คือ ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม

พอพูดว่า ฟังธรรม เราก็จะนึกถึงการฟังพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา ตามรูปแบบธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา มีพระสงฆ์ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ มีการอาราธนาธรรมแล้วพระสงฆ์ก็แสดงธรรม จบแล้วก็อนุโมทนายถาสัพพี แต่โดยเนื้อหาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือผู้ใดผู้หนึ่งผู้รู้ธรรม จะแสดงธรรมด้วยวิธีการใดๆ คือจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์ หรือแสดงปาฐกถา หรือแม้แต่พูดอธิบายธัมมีสสวนะทั้งสิ้น บุญที่ทำด้วยวิธีการเช่นนี้เรียกว่า ธัมมัสสวนมัย บุญที่สำคัญด้วยการฟังธรรมคำสั่งสอน จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การฟังมาก ถึงกับจัดเป็นบุญชนิดหนึ่ง เพราะการฟังเป็นทางมาแห่งความรู้ ผู้ทรงความรู้ ท่านเรียกว่า พหูสูต ซึ่งก็แปลว่า ผู้ฟังมากนั่นเอง นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๙. คือ ธัมมเทสนา การแสดงธรรม

การทำบุญวิธี นี้เป็นคู่กับการฟังธรรม เพราะจะมีการฟังธรรมได้ ก็ต้องมีผู้แสดงธรรม ถ้าไม่มีใครแสดงธรรม การฟังธรรมก็ไม่เกิด การแสดงธรรมจึงมีความสำคัญมาก นอกจากจะเป็นบุญในตัวเองแล้ว ยังเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้ทำบุญด้วยวิธีธัมมัสสวนะอีกด้วย การแสดงธรรมนั้นมีทั้งที่เป็นการแสดงตามแบบธรรมเนียม ที่เรียกว่าเทศน์ และการแสดงด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ปาฐกถา อภิปราย การสอน การสนทนา รวมไปจนถึงการแนะนำสั่งสอน การแสดงข้อคิดเห็นต่างๆ การบอกแจ้งข้อมูลเรื่องราวต่างๆ แม้แต่กิจเล็กๆน้อยๆ เช่น การชี้บอกหนทางให้แก่คนที่ไม่รู้ เป็นต้น ก็รวมอยู่ในคำว่าธัมมเทสนาได้ทั้งสิ้น บุญที่ทำด้วยวิธีนี้ เรียกว่า ธัมมเทสนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการแสดงธรรม นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๑๐. คือ ทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นให้ตรง

การทำความเห็นให้ตรง หมายความว่า การแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ตรงนั้น เป็นบุญได้อย่างไง เรื่องนี้ต้องเข้าใจแนวคิดพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาก่อน คือ พระพุทธศาสนามองว่า สภาวะในโลกนี้มี ๒ อย่าง คือ
    - สมมุติสัจจะ สภาวะที่เป็นจริงตามสมมุติ คือตามที่ตกลงกันสมมุติกันว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นนั่นเป็นนี่ นี่อย่างหนึ่ง
    - และอีกอย่างหนึ่งคือ ปรมัตถสัจจะ สภาวะที่เป็นจริงตามที่มันเป็น แม้ใครจะสมมุติอย่างไร มันก็ไม่เป็นไปตามที่สมมุติ แต่จะคงเป็นตามที่มันเป็นอยู่เช่นนั้น

ตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่ง เกิดมาแล้วสมมุติกันว่าชื่อนั้นชื่อนี้ โตขึ้นมีตำแหน่งเป็นนั่นเป็นนี่ มีอำนาจมีหน้าที่อย่างนั่น อย่างนี้ นี่เป็นสมมุติสัจจะ แต่โดยปรมัตถสัจจะแล้ว คนคนนั้นเป็นเพียงธาตุ ๔ มาประชุมกัน มีวิญญาณเข้าครองมีชีวิต เป็นโน่นเป็นนี่ตามเหตุปัจจัย เมื่อหมดเหตุหมดปัจจัย ก็แยกสลายไป ไม่มีอะไรที่เป็นตัวจริงตัววแท้ของคนคนนั้น

คนที่มีความเห็นไม่ตรง ก็จะเข้าไปยึดมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา คือไปยึดเอาสมมุติว่าเป็นแก่นแท้แน่นอน แล้วก็หลงทา หลงพูด หลงคิดไปต่างๆ เพื่อจะให้สิ่งนั้นๆ เป็นเราเป็นของเราตลอดไป ทำให้เกิดปัญหา เกิดทุกข์แก่ตนเอง และก่อทุกข์โทษให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย นี่คือ ผลของการมีความเห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง

ถ้ามีความเห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว เขาก็จะไม่หลงยึดมั่น ทำผิด พูดผิด คิดผิด แต่จะทำชีวิตซึ่งไม่มีสาระให้เป็นสาระ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เพื่อนร่วมโลก แทนที่จะกอบโกยเพื่อตนเอง ก็จะมีแต่ความเมตตาหวังให้คนอื่นเป็นสุข สังคมก็จะมีแต่ความสงบร่มเย็น นี่คืออานิสงส์ของการมีความคิดเห็นที่ถูกต้อง

อาจกล่าวได้ว่า ที่สังคมเกิดปัญหาสารพัด หาความสงบสุขไม่ได้อยู่ทุกวันนี้ ต้นตอก็เพราะคนมีความเห็นผิด ไม่มองชีวิตให้ถูกต้องตามความเป็นจริง หลงยึดมั่นว่าเป็นของเรานี่เอง การทำความเห็นให้ตรง คือแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้อง จึงถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง และเป็นบุญที่สำคัญที่สุดด้วย เพราะถ้าความคิดเห็นไม่ถูกต้องเสียแล้ว ความคิดที่จะทำบุญทำความดีอื่นๆ ก็ไม่อาจจะเกิดมีขึ้นได้เลย ข้อนี้ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ


@@@@@@@

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธศาสนาก็สอนไว้อย่างชัดเจนว่าเราทำบุญได้ถึง ๑๐ วิธี ไม่ใช่เรื่องลี้ลับลึกซึ้งอะไรเลย แต่สำนักบอกบุญทั้งหลายในบ้านเมืองของเรา มักนิยมเน้นบอกกล่าวชักชวนให้ทำบุญกันเฉพาะวิธีบริจาคทานเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆที่เป็นวิธีที่ต้องเสียทรัพย์ ส่วนอีก ๙ วิธีนั้น แม้ไม่มีทรัพย์เลยก็ทำได้ แต่ก็ไม่ค่อยจะมีสานักบอกบุญที่ไหนโฆษณาเชิญชวนให้เอิกเกริกเหมือนวิธีที่ต้องบริจาคทรัพย์

ที่กล่าวเช่นนี้ มิใช่ว่าเราไม่ควรทำบุญด้วยวิธีบริจาคทานกันเลย ตรงกันข้าม เราควรทำบุญทุกๆวิธี จึงจะถูกต้อง หมายความว่า ทานก็บริจาค ศีลก็รักษา ภาวนาก็อบรม อ่อนน้อมถ่อมตนก็ต้องมี ประโยชน์ส่วนรวมก็บำเพ็ญแผ่ความดีให้ผู้อื่นก็ทำ ชื่นชมยินดีความดีผู้อื่นก็ได้ ใครแนะนำสั่งสอนก็ยินดีรับฟัง แนะนำสั่งสอนคนอื่นก็ทำเป็นความคิดเห็นก็ปรับปรุงให้ถูกต้อง

ทำบุญให้ครบถ้วนเช่นนี้จึงนับว่าดี และชักชวนกันให้ทำบุญให้ครบถ้วนเช่นนี้ จึงจะนับว่าประเสริฐ ไม่ใช่ชักชวนกันอยู่เพียงวิธีเดียว แล้วก็ทำกันอยู่เพียงวิธีเดียว ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเป็นทางที่ให้คนมีปัญญาแอบ เฉโกคือ คนหัวแหลม คิดหากำไรด้วยวิธีที่แนบเนียน คือ เอาบุญบังหน้าชักชวนคนที่มีศรัทธาเป็นตัวนำ แต่ขาดปัญญา ทำให้บุญด้วยวิธีบริจาคทานเป็นการใหญ่ เน้นหนักกันอยู่แต่เรื่องทานมัยบุญที่สำเร็จด้วยความควักกระเป๋า เปิดบัญชี ซึ่งทำไปเท่าไรๆ ก็ไม่รู้จักพอ

ขณะเดียวกันก็พากันละเลย หลงลืม มองข้ามทาเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับวิธีทาบุญอีกตั้ง ๙ วิธี ซึ่งแม้ไม่มีเงินสักบาทเดียวก็ทำได้ ทั้งเป็นประโยชน์เป็นความสุข และเป็นสิ่งที่สังคมก็ต้องพอๆ กับการบริจาคทรัพย์สินเงินทองของกินของใช้ ทั้งอาจต้องการมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป ถ้าท่านผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ร่วมมือกับท่านผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ช่วยกันสังคายนาการทำบุญในบ้านเรากันเสียใหม่ ก็จะเป็นมหากุศลยิ่งนัก

แต่ในฐานะของชาวพุทธ เราแต่ละคนไม่ต้องรอใคร คือไม่ต้องรอจนกว่าคนที่มีหน้าที่กับคนที่มีอำนาจท่านลงมือแก้ไขจนเรียบร้อยเสียก่อน เพราะท่านจะแก้ไขเมื่อไหร่ เราก็ทราบไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรอ แล้วก็ไม่ควรเอาแต่ตำหนิติเตียนบ่นว่าท่าเดียว แต่ควรลงมือทาบุญทั้ง ๑๐ วิธีด้วยตัวของเราเองเดี๋ยวนี้ทีเดียว

โปรดอย่าลืมว่า บุญนั้นไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอาเอง และชีวิตของมนุษย์นั้นไม่ยาวพอที่จะมัวผัดวันประกันพรุ่ง เพราะพรุ่งนี้เราอาจไม่มีโอกาสทำบุญเสียแล้วก็ได้

รายการธรรมธาราวันนี้ ขอยุติไว้ด้วยเวลาเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ผู้ฟังตลอดปี ๒๕๔๒ นี้ และตลอดไป

         
หน้า ๓๗-๔๘
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 25, 2024, 12:42:37 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ