ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'พราหมณ์พิธี' กับวิถีไทย ศรัทธาไม่เสื่อมคลาย...แม้ยุคสมัยแปรเปลี่ยน  (อ่าน 1162 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28495
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



'พราหมณ์พิธี' กับวิถีไทย ศรัทธาไม่เสื่อมคลาย...แม้ยุคสมัยแปรเปลี่ยน

เสียงกลองระรัวรับแตรสังข์เป่ายาว ไม่ทำให้เด็กน้อยที่นอนนิ่งในอ้อมกอดพราหมณ์พิธีตกใจหรือตื่นกลัวแม้แต่น้อย แม้ไม่มีข้าวของประกอบพิธีกรรมมากมาย มีเพียงพ่อ-แม่-ลูก ที่หอบหิ้วกันมาเพื่อทำพิธีรับขวัญผู้เกิดใหม่ให้ลืมตาดูโลกใบนี้อย่าง “สุขและสันติ”

สภาพครอบครัวที่เปลี่ยนไปทำให้ “พิธีทำขวัญเดือน” ของเด็กน้อยในปัจจุบันเป็นไปอย่างเรียบง่าย หากเป็นครอบครัวใหญ่เหมือนแต่ก่อน ญาติพี่น้องจะมารุมล้อมรับขวัญหลานคนใหม่ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) หัวหน้าพราหมณ์ ถวายงานพระราชพิธี สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และผู้ดูแลเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับพิธีกรรมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่แก่นหลักทางความคิดยังคงเดิม

พราหมณ์ถือเป็นศาสนาหนึ่งที่คนไทยเรียกกันว่า ฮินดู เข้ามาในยุคทวารวดี ผ่านการค้าขายสินค้ากับชาวต่างประเทศ โดยเรียกยุคที่เข้ามาในไทยว่า ยุครามายณะ เป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาเจริญสูงสุด จนมาถึงปัจจุบันที่เรียกว่า ยุคฮินดู



ส่วนใหญ่การสืบทอดของพราหมณ์มาจากสืบเชื้อสายเป็นหลัก แต่มีหลายคนที่มีความเชี่ยวชาญตั้งนามสกุลใหม่เกี่ยวข้องกับพราหมณ์และสืบทอดต่อกันมา ซึ่งหน้าที่ของพราหมณ์ต้องประกอบด้วย 6 ประการ คือ
   1. ได้รับการศึกษาชั้นสูง และพยายามแสวงหาความจริง
   2. ให้การศึกษาแก่ผู้อื่น หรือสั่งสอนผู้อื่น เช่น ทำหน้าที่เป็นครู
   3. ทำพิธีบูชาต่าง ๆ เช่น พิธียัชญ์ (หรือยัญญกรรม) และจัดพิธีการกุศลต่าง ๆ ด้วยตนเอง คือจัดเป็นเจ้าภาพทำพิธีกรรมโดยเชิญพราหมณ์อื่นมาเป็นกรรมกาณฑ์
   4. ทำพิธีบูชาต่าง ๆ เช่นพิธีการกุศลตามความประสงค์ของผู้ใดผู้หนึ่ง ที่มีจิตศรัทธาใคร่จะให้ประกอบพิธีกรรมใด ๆ ให้
   5. การให้ทานแก่ผู้อื่น ตามกำลัง
   6. การรับทำบุญคือรับ “ทักษิณา” และรับ “ทาน” จากผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส



นอกจากนี้พราหมณ์ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติตามธรรมชาติ 11 ประการคือ
     1. ศม หมายถึง สภาพที่ภายในจิตใจไม่มีความยุ่งยาก หรือปั่นป่วนด้วย กาม โกรธ โลภ หรือหลง แม้แต่ประการใด เป็นธรรมชาติเช่นนั้น 
     2. ทม สภาพที่จิตใจระงับไว้แล้ว มีความข่มใจตัวเองด้วยสำนึกในความเมตตา มีจิตใจอดกลั้นไม่หวั่นไหวตามอารมณ์ง่าย
     3. ตป หมายถึง ฝักใฝ่ในความประพฤติที่จะมีความรู้ และพยายามแต่จะให้ประสบความสำเร็จในการหาความรู้ความจริงนั้น แม้จะเจอความลำบากสักเพียงใด
     4. เศาจ การทำตนให้มีความบริสุทธิ์ทั้งจิตใจและร่างกาย
     5. สนฺโตษ คือสภาพที่พอใจ หรือมีความสุขอยู่แล้วในทางสันติ
     6. กฺษมา ความอดกลั้น พากเพียรพยายามอดทนโดยเอาความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง
     7. สรลตา ความซื่อตรงโดยนิสัยทั้งคำพูดและการกระทำ
     8. ชฺญาน ความรู้ ความเห็น ความชอบ คือความชอบทางการศึกษาหาความรู้
     9. ทยา ความมีเมตตากรุณาต่อชีวะทั้งหลาย
   10. อาสฺติกตา ความเชื่อถือ ไว้วางใจ ตลอดจนเชื่อถือคำสั่งสอนของพระปรมาตมัน
   11. สตฺย ควรแสดงความซื่อสัตย์ต่อกันและกัน จนเป็นที่ไว้ใจเชื่อใจโดยไม่คิดทรยศต่อกัน


“การจะดูพราหมณ์ปลอมที่เป็นมิจฉาชีพ ต้องดูที่ความประสงค์ที่แฝงด้วยความโลภ ทั้งที่มุ่งตรงต่อเงินและทรัพย์สิน หากเจอคนเหล่านี้เราเรียกว่ามิจฉาชีพ แต่ถ้าบางคนมีความรู้หน่อยอาจใช้การหลอกล่อตามพิธีกรรมต่าง ๆ แต่ก็ยังมีประสงค์ต่อความโลภอยู่เช่นเดิม”

พิธีส่วนใหญ่เป็นไปตามวิถีชีวิตของมนุษย์ที่มีมาช้านาน และเป็นไปตามธรรมดาของโลกที่มีเกิด ขึ้นบ้านใหม่ ตั้งศาลพระภูมิ แต่งงาน ทุกอย่างเป็นพิธีกรรมมุ่งให้เกิดสันติสุขแก่ตัวเอง



หลักธรรมของคนแต่ละช่วงวัยประกอบด้วย
      1. การรู้จักตัวเองว่าช่วงนี้ต้องศึกษาหรือเรียนหนังสือ ตั้งแต่เริ่มเกิดถึง 25 ปี
      2. การมีอาชีพสุจริตเลี้ยงตนเอง และการมีครอบครัว
      3. ช่วงวัย 50-75 ปี มีความเข้าใจหลักธรรมพอสมควรเริ่มบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น
      4. อายุ 75 ปีถึงหมดลมหายใจ เริ่มหาความจริงของชีวิต แต่ละช่วงวัยบางคนอาจไม่เป็นไปตามนั้นเพราะติดอยู่กับความโลภ แต่ต้องหาทางอย่างไรให้เขาออกจากสิ่งเหล่านั้น

ความจริงแล้วคนไทยควรให้ความสำคัญต่อหลักธรรมของเทพเจ้ามากกว่ามุ่งแต่ขอพรอย่างที่เป็นอยู่ เช่น พระพิฆเนศ เทพแห่งความสำเร็จ แต่กว่าจะถึงเป้าหมายได้ต้องมีการศึกษาเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้งเสียก่อน แล้วค่อยทำสมาธิในการทำงาน เมื่อเจอปัญหาจะใช้สติในการแก้ไข ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ เกิดขึ้นได้เลย แต่ความสำเร็จต้องผ่านกระบวนการเหล่านี้ก่อน



พระพรหม ผู้สร้างโลก ประกอบด้วยหลักธรรม เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เช่น ถ้ามีใครทำผิดต้องมีความเมตตาก่อน พอทำผิดครั้งที่ 2 ต้องมีความกรุณา และเตือนเขา หากผิดอีกเพราะไม่ฟังต้องมีความอุเบกขา แต่ในรายที่เราเตือนแล้วปรับปรุงต้องแสดงความมุทิตาคือความชื่นชม

พระนารายณ์ รักความยุติธรรม ดังเช่น นารายณ์ 10 ปาง ปราบอสูร ส่วน พระอิศวร คือการดับไปเพื่อเกิดใหม่ สิ่งเหล่านี้คือหลักธรรมที่ควรนำไปเป็นแบบอย่าง แต่ที่ผ่านมาพอนึกถึงเทพเหล่านี้ส่วนใหญ่จะคิดถึงเป้าหมายของความสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วกว่าจะสำเร็จได้ต้องนับหนึ่งไปถึงร้อยด้วยการศึกษา ต่อมาคือลงมือทำและลองผิดลองถูก ไม่ใช่เชื่อตามเพราะเขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าได้ลงมือทำแล้วจะรู้ถึงการแก้ปัญหา พอคราวนี้เราจะเกิดความภักดีในสิ่งที่เราทดลองมาแล้ว



อนาคตของศาสนาพราหมณ์ในไทย เด็ก ๆ และคนวัยทำงานอาจไม่ศรัทธานัก แต่คนที่เป็นผู้ใหญ่สามารถชักชวนให้กลุ่มคนที่ไม่สนใจเหล่านี้หันมาค้นหาความเป็นจริงของหลักธรรมมากขึ้น เพราะปัจจุบันอยู่ในช่วงกลียุค จะมีคนดีหนึ่งในสี่คน แต่เราต้องปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความดีให้เกิดขึ้นในใจพวกเขา อย่างน้อยในสี่ต้องมีความสุขและสันติเพิ่มขึ้น

หลังหมดวันประตูเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ค่อย ๆ ปิดลงอย่างช้า ๆ ท่ามกลางเมืองที่วุ่นวายและโลกที่ความสุขและสันติถูกพูดกันอย่างหนาหูเพียงลมปาก.



ประวัติเทวสถานโบสถ์

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2327 มีโบสถ์อยู่ 3 หลัง ก่ออิฐถือปูนมีกำแพงล้อมรอบ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้าขึ้น เมื่อวันพุธ แรม 4 ค่ำเดือน 5 ปีมะโรง พ.ศ. 2329 ทรงสร้างเทวสถานและเสาชิงช้าขึ้นตามประเพณีพระนครโบราณ

ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.dailynews.co.th/article/224/228491
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ