ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: แผ่เมตตาให้ถูกวิธี  (อ่าน 880 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
แผ่เมตตาให้ถูกวิธี
« เมื่อ: กันยายน 23, 2021, 10:33:51 am »
0





แผ่เมตตาให้ถูกวิธี

เมื่อพูดว่า “แผ่เมตตา” หลายคนจะนึกออกถึงคำว่า “สัพเพ สัตตา” “สัพเพ สัตตา” เป็นคำขึ้นต้นในบทแผ่เมตตา

คนไทยเราเห็นจะคุ้นกับคำแผ่เมตตามานาน จนเมื่อพูดถึงคนหรือสัตว์ที่ประสบเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งและตนไม่สามารถจะช่วยเหลืออย่างไรได้ ก็มักจะพูดว่า ทำอะไรไม่ได้ก็สัพเพสัตตาเถิด เพราะคุ้นกับ “สัพเพ สัตตา” มานาน การแผ่เมตตาก็เลยเหมือนหญ้าปากคอก เห็นกันเป็นเรื่องง่ายๆ จนกลายเป็นเรื่องล้อเล่นล้อเลียน

(โปรดอ่านข้อความในภาพประกอบ - ต้นฉบับไม่มีภาพ) ถ้อยคำล้อเลียนแบบนี้จะไม่มีโอชะเลยถ้าคนอ่านไม่เคยรู้คำแผ่เมตตามาก่อน ที่คิดว่าเป็น “หญ้าปากคอก” นั้น เอาเข้าจริงๆ อาจไม่ใช่ แค่บอกว่า คำในชุดนี้ไม่ได้มีแค่ “แผ่เมตตา” หรอกนะ

อ้าว ชักงงละสิ ไม่ได้มีแค่ “แผ่เมตตา” แล้วมีแผ่อะไรอีก ก็มีแผ่กรุณา แผ่มุทิตา แผ่อุเบกขา ครบชุดของพรหมวิหารนั่นไง ไม่เคยได้ยินละสิท่า ถ้าไม่เคยก็เคยซะ ศึกษาดูเดี๋ยวนี้เลย ไม่ต้องไปพึ่งอาจารย์กู อาจารย์ย้อยเอามาเทียบให้ถึงที่แล้ว


@@@@@@@

บทเจริญพรหมวิหาร

๑. แผ่เมตตา
สัพเพ สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ = จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพยาปัชฌา โหนตุ = อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ = อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ. = จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด

๒. แผ่กรุณา
สัพเพ สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
สัพพะทุกขา ปะมุจจันตุ = จงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเถิด

๓. แผ่มุทิตา
สัพเพ สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
ลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ = จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันได้แล้วเถิด

๔. แผ่อุเบกขา
สัพเพ สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
กัมมัสสะกา = เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน
กัมมะทายาทา = เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนี = เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธู = เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระณา = เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสันติ = จักทำกรรมอันใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา = ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาทา = ภะวิสสันติ. จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.

@@@@@@@

รู้อย่างนี้แล้ว ทีนี้พอจะแผ่เมตตาก็ควรจะแผ่ให้ครบชุด ข้อสำคัญอย่าว่าแต่ปาก อย่าเพียงแค่อ่านตามตัวหนังสือ แต่ควรขบคิดขยายความต่อไปด้วย คำแผ่แต่ละอย่างแต่ละคำมีความหมายอย่างไร ขบออกด้วยตัวเองจะเกิดอรรถรส มีโอชะยิ่งกว่าที่ฟังคนอื่นอธิบายติดขัดจริงๆ หรือไม่คุ้นกับสำนวนบาลีคำไหน ค่อยว่ากันเป็นคำๆ ไป
 
ยกตัวอย่างเสียหน่อยก็ได้ เช่น ตรงคำแผ่มุทิตา คำแปลที่ว่า “อย่าไปปราศจากสมบัติอันได้แล้ว” หมายความว่า ได้ทรัพย์ ได้ยศ ได้ตำแหน่ง ได้อะไรดีๆ มา ก็ขออย่าให้สิ่งนั้นๆ หลุดหายหรือเสื่อมเสียไป ขอให้ได้อยู่ชื่นชมกันไปนานๆเถิด อย่างนี้เป็นต้น

ที่เราเน้นกันที่แผ่เมตตา คงจะเป็นเพราะเมตตาเป็นพื้นฐานสำคัญ เป็นฐานใหญ่ฐานหลัก ถ้าเมตตาตั้งมั่นแล้ว กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ตามมาได้ง่าย แต่ไปๆ มาๆ เรากลับติดกันอยู่แค่แผ่เมตตา ลืมกรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปเสียสนิท อย่างไรก็ตามทีเถิด แม้แต่เมตตาข้อเดียวนี่แหละ คิดดูให้ดีจะเห็นว่าสำคัญนัก

เริ่มตั้งแต่ความหมายของคำว่า “เมตตา” ไปเลย “เมตตา” เขียนแบบบาลีเป็น “เมตฺตา” (มีจุดใต้ ต ตัวหน้า) แปลตามศัพท์ว่า“ธรรมชาติที่รักใคร่” “ธรรมชาติที่มีอยู่ในมิตร” หรือ “ธรรมชาติของมิตร”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เมตฺตา” ว่า love, amity, sympathy, friendliness, active interest in others. แปลเป็นไทยว่า ความรัก, ความเป็นเพื่อน, ความเห็นอกเห็นใจกัน, ความเป็นมิตร, การเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่น

ทำได้หมดตามความหมายนี้ นั่นแหละแผ่เมตตาถูกวิธีแล้ว


@@@@@@@

อาจารย์บางสำนักที่เอาแต่แก่นล้วนๆ บอกว่า แผ่เมตตาไม่จำเป็นจะต้องท่อง สัพเพ สัตตา …. เมตตาไม่ได้อยู่ที่คำท่องบ่น เมตตาอยู่ที่ใจ สำนักที่หนักในธรรมมากกว่านั้นก็บอกว่า คนที่จะแผ่เมตตาได้ต้องปฏิบัติธรรมถึงระดับได้ฌานสมาบัติ คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แผ่เมตตาไม่ได้หรอก ผิดสภาวะ

ฟังแล้วก็กลุ้มเล็กๆ คือ ท่านก็พูดถูก แต่มันเป็นการตัดทางปฏิบัติธรรมแบบชาวบ้านๆ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า แผ่เมตตาไม่ต้องท่องคำอะไร เพราะเมตตาไม่ได้อยู่ที่คำท่อง และเดี๋ยวก็จะไม่มีใครแผ่เมตตา เพราะแต่ละคนก็ล้วนแต่ยังไม่ได้ฌานสมาบัติกันทั้งนั้น

ผมขอแนะนำแบบชาวบ้านๆ นะครับว่า ระดับเราๆ ท่านๆ นี่ ถ้าเป็นพิธีการก็พยายามทำให้ครบไตรทวารไปเลยเถอะ
     ๑. เวลาแผ่เมตตาสำรวมกิริยา เช่นประนมมือได้ก็ยิ่งดี – นี่ทางกาย
     ๒. ปากก็ท่องคำแผ่เมตตาไปด้วย – นี่ทางวาจา
     ๓. พร้อมกันนั้นก็ตั้งจิตให้ดิ่ง ให้นิ่ง แนวแน่ ส่งใจไปตามความหมายของคำที่พูด – นี่ทางใจ

     ใครจะว่าเมตตาไม่ได้อยู่ที่คำท่อง ก็ให้ท่านว่าไป
     ใครจะว่าคนแผ่เมตตาต้องได้ฌานสมาบัติ ก็ให้ท่านว่าไป
     แต่ในทางเนื้อหาสาระจริงๆ ควรจะมีวิธีการที่เป็นหลักสักหน่อย

ขออนุญาตเสนอแนะตามแบบที่ผมใช้อยู่ ง่ายมากครับ นั่นคือ ขอให้ฝึกจิตคิดว่าคนที่เรากำลังเห็นอยู่นั้นคือ “เพื่อนรักของเรา” มองไปทางไหน เห็นใคร รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม ก็ให้น้อมนึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” พูดง่าย แต่อาจจะทำยากหน่อย ทำยากไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ ทำได้ครับ แต่ยาก เพราะฉะนั้นจึงต้องฝึก

ตามตำราแล้ว ท่านแนะว่าให้เริ่มจากคนที่เรารักก่อน เพราะทำได้ง่าย ฝึกทำจนจิตใจค่อยคุ้นกับความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” ต่อจากนั้นจึงค่อยขยายวงไปยังคนที่เรารู้สึกเป็นกลางๆ คือไม่รักไม่ชัง แล้วก็ขยายออกไปถึงคนที่เราไม่ชอบขี้หน้า ทะลุทะลวงไปจนถึงคนที่เป็นอริกับเรา

“นี่คือเพื่อนรักของเรา” เจอใครก็ตั้งอารมณ์นี้ไว้ ตั้งได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร แต่จงหัดตั้งไว้เสมอ อุปสรรคสำคัญ หรือภูเขาหิมาลัยที่ขวางใจเราอยู่ก็คือ ความจริงที่ว่า สังคมมีทั้งคนดีและคนเลว ก็แล้วถ้าไอ้คนที่เราพยายามคิดว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” มันเป็นคนร้ายคนเลว จะให้ทำยังไง เราน่ะคิดว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” แต่มันน่ะจ้องจะแทงเราตลอด

@@@@@@@

ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตั้งอารมณ์แบบนี้เป็นคนละอย่างกับพวก “โลกสวย” นะครับ พวกโลกสวยมองทุกอย่างในแง่ดีหมด แต่แผ่เมตตาแบบนี้คือ มองทุกอย่างในแง่เป็นจริง มองคนทุกคนอย่างเป็นมิตรด้วย และมีสติรู้เท่าทันไปด้วยว่าทุก คนไม่ใช่คนดีทั้งหมด

แบบนี้เป็นการปฏิบัติธรรม ๒ อย่างพร้อมๆ กัน แผ่เมตตาด้วย เจริญสติด้วย แผ่เมตตาคือ ทำดีกับคนอื่น เจริญสติคือ ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นทำชั่วกับเรา อย่าเอาความบกพร่องของคนอื่น มาเป็นเหตุให้เราบกพร่องไปอีกคนหนึ่ง เหมือนคนเห็นพระบางรูปประพฤติตนเป็นอลัชชี เลยประกาศเลิกใส่บาตร มีพระอลัชชี ก็แย่อยู่แล้ว มีคนประกาศเลิกทำความดี ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก ความหวาดระแวงหรือชิงชังคนอื่น ไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น แต่การฝึกมองคนอื่นว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” ช่วยทำให้จิตใจเราดีขึ้น

เมตตาก็คือไมตรี โปรดระลึกไว้ว่า ไม่มีใครเลยที่ไม่ชอบไมตรี แม้แต่คนที่เราเกลียด ยามใดที่เราเห็นกิริยาวาจาของเขาที่แสดงถึงความมีไมตรีกับเรา ปากพาลๆ ของเราอาจจะบอกว่าหมั่นไส้ แต่ลึกๆ ในใจคงยากที่จะเกลียดไมตรีของเขา

     เพลงยาวถวายโอวาทของสุนทรภู่กล่าวไว้ว่า...
     ปรารถนาสารพัดในปัถพี
     เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง

     พระอภัยมณีตอนกษัตริย์สามัคคี พระฤๅษีเทศนาตอนหนึ่งว่า...
     ประการหนึ่งซึ่งขาดพระศาสนา
     ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ
     ซึ่งจะกลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น
     ก็ต้องเป็นไมตรีปรานีกัน


@@@@@@@

เราหลายคนตั้งความปรารถนาขอไปเกิดในศาสนาพระศรีอารย์ พระศรีอารย์นั้นชื่อจริงๆ ที่ถูกต้องคือ “พระเมตไตรย” “เมตไตรย” คำบาลีว่า “เมตฺติ” คำเดียวกับที่เราใช้ว่า “ไมตรี” ในภาษาไทย ถ้าน้ำใจไมตรีที่รออยู่ตรงหน้าในชาตินี้เอง เรายังไม่สร้างไม่ทำกัน แล้วจะไปหวังให้ทันศาสนาพระศรีอารย์กันในชาติไหน.?

เคยสังเกตไหมว่า สัตว์เดรัจฉานนั้นแค่มันไม่ทำร้ายกันและกันก็ประเสริฐแล้ว แต่จะให้มันมีไมตรีต่อกัน ยากมาก ตอนมันมีลูก สัตว์หลายชนิดคาบอาหารมาเลี้ยงลูก แต่พอลูกโต มันก็ไม่ทำแล้ว ยังไม่เคยมีสัตว์ชนิดไหนคาบอาหารไปเลี้ยงพ่อแม่ หรือไปเผื่อญาติมิตร นอกจากในนิทานชาดก

สำหรับมนุษย์ การมีเมตตา-ไมตรีในหมู่ญาติเป็นเรื่องปกติ แต่การมีเมตตา-ไมตรีไปในหมู่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นเรื่องแสนประเสริฐ ผมเห็นภาพช้างช่วยแม่สิงโตพาลูกเดินทาง ถ้าไม่ใช่ภาพจัดฉาก ก็น่าทึ่งมาก ที่สัตว์ต่างสายพันธุ์ยังรู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้ามนุษย์เราไม่สามารถจะมองกันได้ด้วยความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” ผมว่าเรากำลังจะรูดลงไปเท่ากับสัตว์ หรือเผลอๆ อาจจะเตี้ยกว่าสัตว์บางชนิดด้วยซ้ำไป น่ากลัวนะครับ




ขอขอบคุณ :-
บทความ : แผ่เมตตาให้ถูกวิธี
ผู้เขียน : นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ,๒๓ มีนาคม ๒๕๖๓ ,๑๔:๓๖ น.
web : dhamma.serichon.us/2020/03/24/แผ่เมตตาให้ถูกวิธี/
posted date : 24 มีนาคม 2020 , By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ