ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เนรมิต "สกายวอล์ค" สักการะ ‘พญาศรีสัตตนาคราช’ สัญลักษณ์พิทักษ์ ‘นครพนม’  (อ่าน 495 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เนรมิต "สกายวอล์ค" สักการะ ‘พญาศรีสัตตนาคราช’ สัญลักษณ์พิทักษ์ ‘นครพนม’


20 กันยายน 2563 ดร.สมชอบ นิติพจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม(นายก อบจ.นครพนม) เปิดเผยว่า เตรียมแผนผลักดันสร้างสกายวอล์ค (SkyWalk) ริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณองค์พญาศรีสัตตนาคราช ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่มีเสน่ห์ นอกจากนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป จะสามารถเห็นองค์พญาศรีสัตตนาคราชบริเวณด้านหน้าได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังชื่นชมทัศนียภาพแม่น้ำโขงทอดยาวเป็นสาย และฝั่งเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว อีกด้วย

นายก อบจ.นครพนม เปิดเผยว่า เมื่อครั้งได้ให้การต้อนรับคณะติดตามงบประมาณของวุฒิสภา ที่ได้มาตรวจเยี่ยม จ.นครพนม ทางเทศบาลเมืองนครพนมได้เชิญไปล่องเรือชมวิว 2 ฟากฝั่งแม่น้ำโขง ตนมีโอกาสนั่งเรือไปด้วย ซึ่งในคณะกรรมการฯวุฒิสภามี พล.อ.สนธยา ศรีเจริญ อดีตผู้บังคับการทหารบกฯนครพนม ค่ายพระยอดเมืองขวาง ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ท่านเป็นหนึ่งในตำนานผู้สร้างพญาศรีสัตตนาคราช เมื่อเรือแล่นผ่านองค์พญาศรีสัตตนาคราช จึงมีไอเดียว่ามาสร้างสกายวอล์คกันดีหรือไม่  เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธามากราบสักการะองค์พญานาคตรงด้านหน้าอย่างใกล้ชิด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทันสมัย



สำหรับแนวคิด คือ จะสร้างสกายวอล์คยื่นออกไปจากฝั่งเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ประชาชน นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปกราบไหว้และถ่ายรูปเป็นที่ระลึกได้อย่างสะดวก หรือจะยืนชมวิวอยู่บริเวณนั้นได้นานแค่ไหนก็ได้

ตนเห็นเป็นแนวคิดที่ดี จึงเตรียมประชุมหารือกับจังหวัด เทศบาล หอการค้าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเห็นพ้องตรงกันจะตั้งงบประมาณสำรวจ และจัดหางบประมาณมาสร้าง ถ้าตรงนี้เกิดขึ้นจะสร้างมูลค่าในการท่องเที่ยว เป็นการทำให้ผู้มีจิตศรัทธาขอพรได้รอบทิศ 180 องศา

อีกหนึ่งโครงการคือ “หอดูดาว” ของนครพนม แรกเริ่มเล็งมาที่บริเวณศูนย์วิจัยพืชสวนที่อยู่ติดกับ อบจ.ฯ แต่ถ่ายภาพทางอากาศแล้วจากจุดนี้ขึ้นไปสูง 60 เมตร จึงจะมองเห็นองค์พญาศรีสัตตนาคราช ถือว่ายังไม่เหมาะ ก็จะได้หารือกับทางเทศบาลเมือง และ ผวจ.นครพนม ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และหอดูดาวจะสร้างจุดไหนที่เหมาะสมที่สุด

“แต่โครงการแรกคือการสร้างสกายวอล์ค เบื้องต้นได้คุยกับนายกเทศมนตรี ให้ใช้งบประมาณของ อบจ.ฯก่อน ถ้าไม่พอก็จะของบบูรณาการของจังหวัด เป็นงบประมาณของกลุ่มสนุก เบื้องต้นประมาณการว่าการสร้างสกายวอล์ค ต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท” ดร.สมชอบ กล่าว


ทั้งนี้ การกำเนิดพญาศรีสัตตนาคราช นาคาธิบดีแห่งศรีโคตรบูรณ์ หลังจากเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2554  ทำให้เปิดจังหวัดจากซอยตัน เป็นจังหวัดที่มีเส้นทางเชื่อมโยงการค้า การลงทุน เป็นประตูออกสู่อาเซียนและจีนตอนใต้-ตะวันออกได้รวดเร็วและใกล้ ในยุคที่นายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คนที่ 38  นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม ฯลฯ ได้จัดเวทีเสวนาพูดคุยร่วมกับผู้นำชุมชนและท้องถิ่น ว่า ต้องการจะสร้างประติมากรรมที่บริเวณลานพนมนาคาและประติมากรรมนั้น จะต้องเกี่ยวข้อง สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในท้องถิ่น ทุกคนมีความคิดเห็นตรงกันว่าควรเป็นพญานาค เพราะพญานาคมีลักษณะที่งดงามและอยู่ในแม่น้ำโขงเป็นจุดขายเมืองนครพนม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมื่อนักท่องเที่ยวมาไหว้พระธาตุพนมที่ อ.ธาตุพนม เสร็จแล้วสามารถมาเที่ยวต่อพักค้างคืนที่ตัวเมืองนครพนม

แนวคิดการสร้างพญานาคได้ถูกนำไปกราบนมัสการท่านพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม/เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ซึ่งท่านได้ให้คำแนะนำไปศึกษาตำนานพญานาค ทั้งที่วัดพระธาตุพนมฯ วัดมรุกขนคร วัดธาตุมหาชัย พร้อมกับกล่าวว่าโครงการที่คิดขึ้นนี้เป็นโครงการที่ยิ่งใหญ่มาก มีความสำคัญเป็นงานที่ยาก แต่จะสำเร็จด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และเมื่อก่อสร้างเสร็จก็ให้ทำพิธีบวงสรวงใหญ่ให้ถูกต้อง จากนั้นก็เริ่มการขับเคลื่อนแนวคิดสู่การเขียนโครงการและสู่การปฏิบัติการ โดยมุ่งเป้าหมายคือเป็นเรื่องของการพัฒนาที่จะสร้างประติมากรรมพญานาคให้เป็นจุดแลนด์มาร์คที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนชาวจังหวัดนครพนม

หลังนายอนุกูลได้เสนอโครงการผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ ฯลฯ ก็ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อปี พ.ศ.2557 นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ก็มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คนที่ 39 ได้สืบสานงานก่อสร้างประติมากรรมพญานาค เพื่อเป็นแลนด์มาร์คของเมืองนครพนม และยกระดับพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสนุก(สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร) เพื่อความเป็นเลิศในอนุภาคอินโดจีนรองรับ AEC แต่โครงการยังไม่แล้วเสร็จ



ต่อมาในปี พ.ศ.2558 พล.ต.สนธยา ศรีเจริญ ผู้บังคับการทหารบกจังหวัดนครพนม(ในขณะนั้น) ได้นำกองกำลังทหาร นักพัฒนา อาสาสมัคร ผู้มีหัวใจบำรุงพระพุทธศาสนาจากค่ายพระยอดเมืองขวาง มาช่วยเป็นกำลังเสริม ปรับปรุงก่อสร้างแลนด์มาร์ค ฯลฯ ช่วยกันออกแบบจัดภูมิทัศน์เหนือเขื่อนริมแม่น้ำโขงให้สวยงามสะดุดตา ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณที่ต้องบริหารจัดการให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากได้แรงกายจากทหารค่ายพระยอดเมืองขวาง แรงใจจากประชาชน ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองฯ บริจาคข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูกองกำลังพลที่มาปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดความสามัคคีผูกพันระหว่างส่วนราชการ ทหาร และประชาชนนำไปสู่ความก้าวหน้าของการก่อสร้างแลนด์มาร์คนครพนมจนแล้วเสร็จ

กระทั่ง นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คนที่ 40 ได้จัดสรรงบประมาณจังหวัดแบบบูรณาการเพิ่มเติม และแล้วองค์พญานาคนามพญาศรีสัตตนาคราช ก็เดินทางจากโรงหล่อ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ก็เดินทางมาถึงจังหวัดนครพนมในวันที่ 21 สิงหาคม 2559 เวลา 21.09 น. ท่ามกลางพี่น้องประชาชนที่มาเฝ้ารอรับองค์พญาศรีสัตตนาคราชอย่างล้นหลามโดยมิได้นัดหมาย พร้อมจัดงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ 9 วัน 9 คืน(9-17 กันยายน 59)  จากนั้นเป็นต้นมาชื่อพญาศรีสัตตนาคราชก็เป็นที่รู้จักไปทั่วสารทิศ โดยเฉพาะความศักดิ์สิทธิ์ด้านโชคลาภ วาสนา มีผู้คนแวะเวียนมากราบสักการะไม่ขาดสาย

ปริศนาธรรม พญาศรีสัตตนาคราช คือ รูปลักษณะเป็นองค์พญานาค 7 เศียร ประทับพักอิริยาบถสงบนิ่งขนดลำตัว 3 ชั้น บ่งบอกถึงความสงบสุขของจังหวัดนครพนมที่พญานาคเลือกเป็นที่ประทับ รูปทรง 7 เศียรลักษณะทรงบัวสัตตบงกช สื่อถึงความคุ้มครองปกปักรักษา โอบอ้อมอารีเป็นลักษณะของผู้ที่บำเพ็ญศีล ทานบารมี เมื่อรวมกันแล้วในตำนานพญานาคจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หน้าหรือลำตัวพญานาคจะอวบอ้วน เยือกเย็นเสมือนผู้ใหญ่ใจดี ที่สลัดสิ้นซึ่งกิเลส ตัณหา ราคะ เปี่ยมด้วยคุณธรรม ผู้มาขอพรจากท่านจะได้รับความสมประสงค์ สมปรารถนาทุกคน สร้อยสังวาลย์ที่ประดับพระศอสื่อถึงสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ซึ่งมีองค์พระธาตุพนมอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั่วโลก และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต



โหราจารย์ทางโหราศาสตร์อธิบายปริศนาธรรมทิศที่ตั้งว่า การตั้งองค์พญาศรีสัตตนาคราชให้หันหน้าไปทางทิศเหนือเฉียงตะวันออก(ที่ 6 องศา 20 พิลิปดา) สายตาพญาศรีสัตตนาคราชจะมองตัวเมืองนครพนม แสดงถึงการปกปักรักษาคุ้มครองเมืองนครพนม อันจะนำสู่ความเจริญรุ่งเรือง กว้างไกลยิ่งใหญ่ไพศาล และแสดงถึงการว่ายไหลทวนกระแสน้ำโขงขึ้นไปทางทิศเหนือเปรียบประดุจการมีพละกำลังที่แข็งแรง การหันหน้าเฉียงตะวันออกแสดงถึงหนทางที่ออกไปสู่แสงสว่างทุกช่องทางการเศรษฐกิจค้าขายลงทุนคล่องตัว ปราศจากปัญหาอุปสรรคทั้งปวง

ทั้งนี้ หากหันหน้าไปทางทิศใต้ก็จะเป็นการไหลไปตามแม่น้ำโขง เปรียบเสมือนปลาที่กำลังจะตาย ไม่มีแรงว่ายทวนน้ำ จึงปล่อยให้ไหลไปตามสายน้ำ หากหันไปทางทิศตะวันตกก็ดุจดั่งพระอาทิตย์อัสดง กำลังจะลับเหลี่ยมโลก นำไปสู่ความมืดของรัตติกาล บอดสนิทในโชคลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันผู้คนมิพึงปรารถนาได้พบพาน

องค์พญาศรีสัตตนาคราชสร้างด้วยทองเหลืองทั้งองค์ มีขนาดกว้าง 4.49 เมตร สูง 10.90 เมตร น้ำหนักรวม 9 ตัน ประดิษฐานอยู่บนแท่นรวมความสูง 16029 เมตร ถือว่าเป็นพญานาคองค์เดียวที่ไม่เหมือนใครในโลก เพราะที่พระศอมีสร้อยสังวาลย์ที่นำเอาสัญลักษณ์เหนือซุ้มประตูองค์พระธาตุพนมมาสวมคล้องไว้ แสดงถึงองค์พญานาคที่มีความผูกพัน เชื่อมโยง พิทักษ์ ปกปักรักษาองค์พระธาตุพนมตามตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมานานชั่วอสงไขย



ขอบคุณ : https://www.naewna.com/likesara/519713
วันอาทิตย์ ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563, 16.43 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ