ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระไตรปิฎกกล่าวถึง "คุณสมบัติของครู" ไว้ว่าอย่างไร.?  (อ่าน 2163 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28472
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


คนผู้สั่งสอนหรือให้การศึกษา
(ครู อาจารย์ หรือ ผู้แสดงธรรม)

ผู้ที่ทำหน้าที่สั่งสอน ให้การศึกษาแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะครู อาจารย์ พึงประกอบด้วยคุณสมบัติ  และประพฤติตามหลักปฏิบัติ ดังนี้

ก. เป็นกัลยาณมิตร คือ ประกอบด้วยองค์คุณของกัลยาณมิตร หรือ กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ ดังนี้
        ๑. ปิโย น่ารัก คือ มีเมตตากรุณา ใส่ใจคนและประโยชน์สุขของเขา เข้าถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนใจผู้เรียนให้อยากเข้าไปปรึกษาไต่ถาม
        ๒. ครุ น่าเคารพ คือ เป็นผู้หนักแน่น ถือหลักการเป็นสำคัญ และมีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย
        ๓. ภาวนีโย  น่าเจริญใจ คือ มีความรู้จริง ทรงภูมิปัญญาแท้จริง และเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนอยู่เสมอ เป็นที่น่ายกย่องควรเอาอย่าง ทำให้ศิษย์เอ่ยอ้างและรำลึกถึงด้วยความซาบซึ้ง มั่นใจ และภาคภูมิใจ
        ๔. วตฺตา รู้จักพูดให้ได้ผล คือ รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไร อย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
        ๕. วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามแม้จุกจิก ตลอดจนคำล่วงเกินและคำตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ อดทนฟังได้ ไม่เบื่อหน่าย ไม่เสียอารมณ์
        ๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ คือ กล่าวชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ที่ยุ่งยากลึกซึ้งให้เข้าใจได้ และสอนศิษย์ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
        ๗. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร

__________________
องฺ.สตฺตก. ๒๓/๓๔/๓๓


ข. ตั้งใจประสิทธิ์ความรู้ โดยตั้งตนอยู่ในธรรมของผู้แสดงธรม ที่เรียกว่า ธรรมเทศกธรรม ๕ ประการคือ
       ๑. อนุบุพพิกถา สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ คือ แสดงหลักธรรม หรือเนื้อหาตามลำดับความง่ายยากลุ่มลึก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปโดยลำดับ
       ๒. ปริยายทัสสาวี จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล คือ ชี้แจง ยกเหตุผลมาแสดง ให้เข้าใจชัดในแต่ละแง่แต่ละประเด็น อธิบายยักเยื้องไปต่าง ๆ ให้มองเห็นกระจ่างตามแนวเหตุผล
       ๓. อนุทยาตา ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี คือ สอนเขาด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสอน
      ๔. อนามิสันดร ไม่มีจิตเพ่งเล็งมุ่งเห็นแก่อามิส คือ สอนเขามิใช่มุ่งที่ตนจะได้ลาภ สินจ้าง หรือผลประโยชน์ตอบแทน
      ๕. อนุปหัจจ์ วางจิตตรงไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักตามเนื้อหา มุ่งแสดงอรรถ แสดงธรรม ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น

__________________
องฺ.ปจก.๒๒/๑๕๙/๒๐๕




ค. มีลีลาครูครบทั้งสี่ ครูที่สามารถมีลีลาของนักสอน ดังนี้
        ๑. สันทัสสนา ชี้ให้ชัด จะสอนอะไร ก็ชี้แจงแสดงเหตุผล แยกแยะอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง ดังจูงมือไปดูเห็นกับตา
        ๒. สมาทปนา ชวนให้ปฏิบัติ คือ สิ่งใดควรทำ ก็บรรยายให้มองเห็นความสำคัญ และซาบซึ้งในคุณค่า เห็นสมจริง จนผู้ฟังยอมรับ อยากลงมือทำ หรือนำไปปฏิบัติ
        ๓. สมุตเตชน เร้าให้กล้า คือ ปลุกใจให้คึกคัก เกิดความกระตือรือร้น มีกำลังใจแข็งขัน มั่นใจที่จะทำให้สำเร็จ ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก
        ๔. สัมปหังสนา ปลุกให้ร่าเริง คือ ทำบรรยากาศให้สนุกสดชื่น แจ่มใส เบิกบานใจ ให้ผู้ฟังแช่มชื่น มีความหวัง มองเห็นผลดีและทางสำเร็จ
        จำง่าย ๆ สอนให้ แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง

___________________
เช่น ที.สี. ๙/๑๙๘/๑๖๑


ง. มีหลักตรวจสอบสวน เมื่อพูดอย่างรวบรัดที่สุด ครูอาจตรวจสอบตนเอง ด้วยลักษณะการสอนของพระบรมครู ๓ ประการ คือ
       ๑. สอนด้วยความรู้จริง รู้จริง ทำได้จริง จึงสอนเขา
       ๒. สอนอย่างมีเหตุผล ให้เขาพิจารณาเข้าใจแจ้งด้วยปัญญาของเขาเอง
       ๓. สอนให้ได้ผลจริง สำเร็จความมุ่งหมายของเรื่องที่สอนนั้น ๆ เช่น ให้เข้าใจได้จริง เห็นความจริง ทำได้จริง นำไปปฏิบัติได้ผลจริง เป็นต้น

__________________
องุ.ติก. ๒๐/๕๖๕/๓๕๖


จ. ทำหน้าที่ครูต่อศิษย์ คือ ปฏิบัติต่อศิษย์ โดยอนุเคราะห์ตามหลักธรรม เสมือนเป็น ทิศเบื้องขวา ดังนี้
       ๑. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
       ๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
       ๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
       ๔. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ
       ๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกศิษย์ให้ใช้วิชาเลี้ยงชีพได้จริง และรู้จักดำรงตนด้วยดี ที่จะเป็นประกันให้ดำเนินชีวิตดีงามโดยสวัสดี มีความสุขความเจริญ

________________
ที.ปา. ๑๑/๒๐๐/๒๐๓

คัดลอกจาก: ธรรมนูญชีวิต โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตุโต) โพสต์โดย คุณmayrin
http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/009620.htm
ภาพจาก http://teen.mthai.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

Akira

  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 653
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
เครดิต ยายกบ มาศึกษาธรรมะจ้า แก๊งค์ อ๊บ อ๊บ