ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
 11 
 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2024, 04:02:46 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 12 
 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2024, 11:17:18 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้

 13 
 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2024, 08:21:49 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



อานิสงส์ถวายข้าวมธุปายาส
     
ร่างกายที่เราต้องใช้อยู่ทุกวัน ในการประกอบภารกิจการงาน มีความจำเป็นจะต้องชำระล้างให้สะอาดด้วยน้ำ ฉันใด  จิตใจก็เช่นกัน จำเป็นต้องชำระล้างให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการเจริญภาวนา ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสั่งสอนให้พุทธบริษัทเจริญภาวนา อยู่ในหนทางสายกลาง  ให้เราเห็นความสำคัญของการฝึกฝนใจว่า ใจที่ผ่องใส ย่อมเป็นเหตุแห่งความสุข ใจที่ผ่องใสเป็นทางมาแห่งมหากุศล เป็นเครื่องนำสัตวโลกทั้งหลายไปสู่สุคติภูมิ และนำทุกชีวิตไปสู่เป้าหมายอันสูงสุด คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน
     
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ในสุมนสูตรว่า   
    “ยถาปิ จนฺโท วิมโล    คจฺฉํ อากาสธาตุยา
     สพฺเพ ตารคเณ โลเก    อาภาย อติโรจติ ฯ     
     ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน โคจรไปในอากาศ ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งหลาย ด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีศรัทธา ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งหลายในโลก ด้วยการให้ ฉันนั้น”
     
มนุษย์ทุกคนเกิดมาในโลกนี้ ต่างก็ปรารถนาความสุขและความสำเร็จในชีวิต อยากเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ คุณสมบัติ สมบัติทั้ง ๓ นี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยบุญเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง อย่างน้อยผู้นั้นต้องเริ่มต้นด้วยการให้ คือต้องสามารถเอาชนะความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจให้ได้เสียก่อน เปรียบเสมือนดวงจันทร์ เมื่อพ้นจากเมฆหมอกมาได้ ย่อมปรากฏความสว่างไสว ใจที่หลุดพ้นจากกระแสแห่งความตระหนี่ ก็เช่นเดียวกัน จะใสสว่างเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศล และสามารถดึงดูดมหาสมบัติที่จะบังเกิดขึ้นได้โดยง่าย 
     
ปกติของคนตระหนี่จะไม่ชอบให้ทาน เพราะเขากลัวความจน กลัวว่าทรัพย์ที่ให้ไปจะสูญเปล่า  แต่ผู้รู้กลับบอกว่า ยิ่งให้ก็จะยิ่งได้ เพราะการทำความดีใดๆ ที่จะไม่ส่งผลนั้น เป็นไม่มี หากเริ่มดำรงตนอยู่ในสถานะของผู้ให้ ใจของเราจะสูงขึ้น เป็นอิสระจากความตระหนี่ และจะขยายออกไปอย่างไม่มีประมาณ เมื่อถึงคราวที่บุญส่งผล ก็จะส่งผลเกินควรเกินคาด แม้ตัวเราก็จะอัศจรรย์ในตัวเอง

     
@@@@@@@

*ดังเช่นเรื่องของสามเณรอรหันต์ ที่ในอดีตชาติเคยยากจนมาก่อน แต่ด้วยอานิสงส์ที่ทำบุญชนิดทุ่มสุดใจ เพราะเห็นคุณค่าของบุญยิ่งชีวิต ทำให้บุญลิขิตได้มาเกิดเป็นลูกของมหาเศรษฐี

___________________   
*มก. เล่ม ๔๑ หน้า ๒๕๙

ในสมัยพุทธกาล พระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมีความกรุณามาโปรดมหาเสนพราหมณ์ เพราะปรารถนาจะให้อริยทรัพย์อันประเสริฐ ติดตัวเขาไปในสังสารวัฏ จึงไปบิณฑบาตหน้าบ้านของพราหมณ์บ่อยๆ พราหมณ์เห็นพระสารีบุตรแล้วคิดว่า “ทรัพย์สมบัติในบ้านของเราไม่มีเลย เครื่องไทยธรรม ที่พอจะใส่บาตรพระก็ไม่มี” จึงไม่กล้าออกมาพบพระเถระ ได้แต่หลบหน้าอยู่ในบ้าน
     
วันหนึ่ง พระเถระก็ได้ไปที่บ้านของพราหมณ์อีก เผอิญเช้าวันนั้น พราหมณ์ได้ข้าวปายาสมาถาดหนึ่งกับผ้าสาฎกเนื้อหยาบอีกผืนหนึ่ง พอท่านเห็นพระเถระบิณฑบาตผ่านมา ก็คิดว่า
    “ขณะนี้ไทยธรรมของเรามีพร้อม ศรัทธาของเราก็เต็มเปี่ยม เนื้อนาบุญอันบริสุทธิ์ก็อยู่ตรงหน้าแล้ว ฉะนั้นเราควรถวายทานแก่พระเถระในวันนี้แหละ” 
    จึงนิมนต์พระเถระให้รับบาตร แล้วน้อมถวายข้าวปายาสลงในบาตรของพระเถระ ด้วยความปีติเป็นอย่างยิ่ง
     
ขณะที่พราหมณ์ถวายข้าวไปได้ครึ่งหนึ่ง พระเถระก็ปิดบาตร พราหมณ์จึงกล่าวว่า “ขอท่านอย่าได้อนุเคราะห์กระผมเพียงแค่ชาตินี้เลย ท่านโปรดอนุเคราะห์กระผมในภพชาติเบื้องหน้าด้วยเถิด”  ว่าแล้วก็ถวายอาหารจนหมดถาด พร้อมกับผ้าสาฎกอีกหนึ่งผืน นับตั้งแต่วันนั้น พราหมณ์ก็ตามนึกถึงบุญใหญ่ที่ตนเองได้ทำแบบทุ่มสุดใจเรื่อยมา

     


ด้วยผลแห่งทานบารมีที่ได้ทำบุญถูกทักขิไณยบุคคล เมื่อละโลกไปแล้ว บุญก็ส่งผลให้พราหมณ์ไปเกิดในตระกูลอุปัฏฐากพระเถระ ในเมืองสาวัตถี  ในวันที่ท่านเกิด พวกญาติได้นิมนต์พระเถระมาฉันภัตตาหารที่บ้าน ทันทีที่เด็กน้อยได้เห็นพระเถระ ก็ระลึกชาติได้ว่า ที่ตนได้เกิดมาในตระกูลของมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ก็เพราะอาศัยพระเถระรูปนี้  วันนี้นับว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐที่จะได้ถวายทานแก่พระเถระอีก 
     
พอพวกญาติจะอุ้มเข้าไปหาพระเถระ เด็กน้อยจึงใช้นิ้วมือเกี่ยวผ้ากัมพลไว้ไม่ยอมปล่อย ญาติเห็นอาการนั้น จึงอุ้มเด็กเข้าไปหาพระเถระพร้อมผ้ากัมพล พอเข้าไปถึงเบื้องหน้าพระเถระ เด็กน้อยก็ปล่อยผ้าให้ตกลงแทบเท้าท่าน  พวกญาติจึงหยิบผ้าผืนนั้นขึ้นมาถวายพระเถระ แล้วพากันตั้งชื่อเด็กน้อยนั้นว่า “ติสสะ” เหมือนชื่อเดิมของพระเถระก่อนที่จะบวช
     
ต่อมาเมื่อติสสะอายุได้เพียง ๗ ปี บุญในตัวของเขาก็เต็มเปี่ยม เห็นทุกข์ภัย ในการเกิดบ่อยๆ จึงขอบวชเป็นสามเณรอยู่กับพระสารีบุตรเถระ  ฝ่ายบิดามารดาก็ไม่ได้ขัดข้องทั้งยังมีจิตยินดีและอนุโมทนา จึงพาไปหาพระสารีบุตรที่วัด 

พระเถระได้ถามเพื่อทดสอบกำลังใจว่า
    “การบรรพชาเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เมื่อต้องการของร้อนก็ได้ของเย็น เมื่อต้องการของเย็นก็ได้ของร้อน เธอจะอดทนต่อความลำบากได้หรือ” 

ติสสะตอบด้วยความมั่นใจว่า
    “กระผมอดทนได้ และจะทำทุกอย่างตามที่พระอาจารย์สั่งสอน” พระเถระจึงรับเป็นอุปัชฌาย์บวชให้
     
เมื่อออกบวชแล้ว สามเณรได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ด้วยอานิสงส์ ที่เคยถวายทานแด่พระสารีบุตรเถระด้วยความเคารพ โดยไม่มีความตระหนี่ติดค้างอยู่ในใจ ทำให้ชาวเมืองเกิดความรักและศรัทธาในตัวสามเณรมาก จึงชักชวนกันมาถวายทานกันมากมาย

     
@@@@@@@

ในช่วงฤดูหนาว สามเณรได้เห็นเหล่าภิกษุนั่งผิงไฟด้วยความหนาวสั่น จึงได้นิมนต์ภิกษุทั้งพันรูปเข้าไปบิณฑบาตในเมือง แล้วแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการผ้ากัมพลสำหรับพระภิกษุเพื่อห่มกันหนาว ขณะนั้น มีชายคนหนึ่งเห็นว่า การทำทานไม่มีประโยชน์ มีแต่จะทำให้ทรัพย์หมดไป เขาจึงเที่ยวป่าวประกาศ ห้ามชาวพระนครไม่ให้มาทำบุญ แต่ด้วยบุญกุศลที่สามเณรได้ทำไว้ดีแล้ว ทำให้ชาวเมืองที่ได้เห็นสามเณรและพระภิกษุจำนวนนับพันรูป เกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเปี่ยมล้น ต่างก็ช่วยกันบอกบุญรวบรวมผ้ากัมพลจนครบทั้งหนึ่งพันผืนมาถวายสามเณรได้อย่างอัศจรรย์
     
สามเณรติสสะจึงเป็นที่รักของหมู่พระภิกษุทั้งหลาย และถึงแม้จะมีลาภเกิดขึ้น มีบริวารห้อมล้อมมากมาย แต่สามเณรก็มิได้ยึดติดในสิ่งเหล่านั้น ท่านได้หาโอกาสไปบำเพ็ญเพียรภาวนาในป่าตามลำพัง ตั้งใจปฏิบัติจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย
     
เราจะเห็นได้ว่า ชีวิตนี้เราลิขิตเอง เทวดาหรือพรหมไม่สามารถมาลิขิตแทนเราได้ เราปรารถนาจะให้ชีวิตเป็นเช่นไร ก็อยู่ที่เราจะเลือกเดินเอง วิสัยของนักปราชญ์บัณฑิตนั้น แม้จะพรั่งพร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ คุณสมบัติ ท่านก็ไม่ประมาท เพลิดเพลินอยู่เพียงแค่นั้น ยังคงมุ่งหวังจะทำกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป เพื่อให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ที่แท้จริง
     
พวกเรานักสร้างบารมีก็เช่นเดียวกัน ต้องตั้งมั่นในคุณความดี เพื่อสั่งสมบุญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่าได้ย่อท้อต่ออุปสรรค เพราะบุญที่เราทำ จะเป็นพลวปัจจัยเกื้อหนุนให้เราสร้างบารมีได้อย่างสะดวกสบาย เนื่องจากเรายังต้องสร้างบารมีกันเรื่อยไป สร้างกันเป็นทีมใหญ่จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อช่วยเหลือทั้งตัวเองและมวลมนุษยชาติ ให้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต คือให้เข้าถึงพระธรรมกายเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใด จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็อย่าลืมนำใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นแหล่งแห่งบุญกุศล เอาบุญใสใสจากการทำใจให้หยุดนิ่ง  เป็นบุญพิเศษที่จะเป็นเหตุให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้  ดังนั้นให้ทุกๆ ท่านตั้งใจหยุดนิ่งกันให้ดี ให้เห็นดวงธรรมชัดใสสว่าง เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
     




ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
URL : https://buddha.dmc.tv/dhamma/11499

 14 
 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2024, 07:31:45 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



วิธีทำ “ข้าวมธุปายาส” แจกสูตร-ส่วนผสม รับวันวิสาขบูชา

แจกสูตร พร้อมส่วนผสม “ข้าวมธุปายาส” หรือ “ข้าวทิพย์” รับวันวิสาขบูชา ตามความเชื่อที่ว่าหากใครได้ถวายเป็นพุทธบูชาจะนำพามาซึ่งความสุขสวัสดี

“ข้าวมธุปายาส” หรือที่คนไทยมักคุ้นหูกันว่า “ข้าวทิพย์” ถือเป็นอาหารในตำนานพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับวิสาขบูชา เนื่องจากก่อนที่พระพุทธเจ้าจะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ได้รับข้าวที่หุงด้วยน้ำผึ้ง น้ำอ้อย จากนางสุชาดาหลังพระองค์ตัดสินใจเดินทางสายกลางแทนการบำเพ็ญทุกรกิริยา

ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนจึงนิยมทำบุญด้วย “ข้าวมธุปายาส” ในวันวิสาขบูชา และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา



ข้าวมธุปายาส

โดยเชื่อว่าการได้ถวายเป็นพุทธบูชาจะนำพามาซึ่งความสุขและบุญกุศลมาให้แก่ตน มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ มีอนามัยดี หรือมีสุขภาพดีและสมองปลอดโปร่ง

วันนี้ทีมข่าวพีพีทีวีจึงได้นำสูตรและเคล็ดลับการทำข้าวมธุปายาสมาฝากทุกคนกัน

ส่วนผสมข้าวมธุปายาส

    1. ข้าวสาร/ข้าวเหนียว
    2. ถั่วดำ/ถั่วแดง/ถั่วแปบ/ถั่วลิสง
    3. งาดำ/งาขาว/งาหอม
    4. น้ำตาลทราย/น้ำตาลปีบ
    5. น้ำอ้อย
    6. มะพร้าวแห้งสำหรับทำน้ำกะทิ
    7. น้ำเปล่า สำหรับคั้นกะทิ
    8. นมสด/นมกระป๋อง
    9. น้ำอ้อยสด
   10. น้ำตาลสด
   11. น้ำผึ้งแท้

วิธีทำข้าวมธุปายาส

    1. นำ ข้าวสาร/ข้าวเหนียว ลงไปแช่ให้พองตัว
    2. ขูด มะพร้าว ให้เพียงพอ แล้ว คั้นกะทิ เตรียมไว้
    3. นำ ถั่ว และ งา มาล้างให้สะอาด
    4. อุ่นกระทะร้อน หม้อ หรือเตาอั้งโล่
    5. นำ ข้าวสาร/ข้าวเหนียว ที่แช่จนพองตัวแล้วมาซาวน้ำให้สะเด็ด เสร็จนำไปนึ่งต่อจนสุก
    6. เมื่อกระทะร้อน ให้เท น้ำกะทิ ลงไป คนจนเดือดแล้วนำ น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำผึ้ง และ นม เทลงไป
    7. เมื่อกวนจนน้ำตาล น้ำอ้อยละลายได้ที่แล้ว ให้นำ ข้าวสุก ลงไปคน เพื่อให้ข้าวและกะทิเข้ากันอย่างดี ต่อมาให้ใส่ ถั่ว งา ต่างๆ ลงไป กวนสลับกันไปมาเพื่อไม่ให้ไหม้ก้นกระทะ เพราะไม่เช่นนั้นข้าวมธุปายาสจะไม่อร่อยเท่าที่ควร
    8. กวนจนได้ที่แล้ว ให้เทลงไปใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย


ข้าวมธุปายาส


คำกล่าวถวายข้าวมธุปายาส

โดยส่วนมากแล้วชาวบ้านในแต่ละชุมชนมักจะมารวมตัวกันประกอบพิธีทำข้าวมธุปายาส ซึ่งจะมีสาวพรหมจารีเป็นผู้กวนข้าว หรือมีคนผู้สูงวัยที่หมดประจำเดือนแล้วถือศีล เป็นผู้ช่วยอีกแรงหนึ่ง

อย่างไรก็ตามในการประกอบพิธีกรรม จะมีการกล่าวคำถวายข้าวมธุปายาสไปด้วย สามารถดูได้ที่ลิงก์นี้ (คลิก)

ทั้งนี้หากใครที่อยากทำข้าวมธุปายาสเองเพื่อนำไปทำบุญด้วยตัวเองก็สามารถทำได้ หรืออยากไปร่วมประกอบพิธีก็ทำได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้หากจะทำเพื่อนำไปกินเอง เป็นอาหารสุขภาพ ข้าวมธุปายาสนี้ก็ถือเป็นอาหารที่อุดมประโยชน์จากข้าว ธัญพืช ถั่ว และนม





ขอขอบคุณ :-
ข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม
URL : https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/223817
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 15 พ.ค. 2567 ,13:24 น.


 :25: :25:

การกล่าว คำถวาย ข้าวมธุปายาส

สมภารเจ้าอาวาสหรือปู่อาจารย์ เป็นผู้แทนศรัทธาประชาชนกล่าวคำถวาย ศรัทธาประชาชนที่มาร่วมถวายประณมมือตั้งปณิธานตามปรารถนา ปู่อาจารย์กล่าวเป็นคำร่าย ที่คนโบราณได้รจนาไว้ ดังต่อไปนี้

@@@@@@@

โย สันนิสินโน วรโพธิมูเล มารัง สะเสนัง มหันติ๋ง วิชะโย สัมโพธิมาคัจฉิวะ อนันตะญาโน โย โลกกุดตะโม ตัง ปะนะมามิ

พุทธัง ตัง ปะนะมามิ ธัมมัง ตัง ปะนะมามิ สังฆัง ตัง ปะนะมามิ คุณสาครันตัง นะมามิ ธัมมัง มุนิราชะเทสิตัง นะมามิ สังฆัง มุนิราชะสาวะกัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

สุณัณตุ โภนโต เทวทัสสะโน อนุโมทะนามิมัง เอกุนปัญญาสะวจัตตา ปิณฑานิ ยาวะ เทวะปริสายะ วิโนทยา มะยะ กาตานีติ

    สาธุ โอกาสะ  ข้าแต่สะหรี่สัพพัญญู
    พระพุทธเจ้า  ตนสร้างโพธิสมภาร
    มานานว่าได้สี่สูงขัย  ปลายแสนมหากัปป์
    จึงจักได้ตรัส  ผญาสัพพัญญู
    นั่งเหนือแท่นแก้ว  แทบเค้าไม้มหาโพธิรุกขา
    มีหมู่อะระหันตาสาวะกะเจ้าตั้งแปด  นั่งแวดล้อมเป็นบริวาร
    ดูรุ่งเรื่องงามเป็นมหามังคละอันประเสริฐ  ล้ำเลิศกว่านระและเทวา
    บุคคลผู้ใดมีศรัทธาสักการะบูชา  ด้วยข้าวน้ำโภชนาหาร
    แลข้าวตอกดอกไม้ทังมวล  ก็จึงจักได้พ้นจากทุกข์แล้วได้เถิงสุข
    อันมีในชั้นฟ้าและเมืองคน  มีเนรพานเจ้าเป็นยอด เที่ยงแท้ดีหลี
   
    บัดนี้หมายมี  สมณศรัทธาและมูลศรัทธา
    ผู้ข้าทั้งหลาย  ชุตนชุองค์ชุผู้ชุคน
    ก็ได้ตกแต่งพร้อมน้อมนำมา  ยังข้าว ๔๙ ก้อน
    และปานิยังน้ำกิน  เอามารูปนาตั้งไว้
    ในสมุขีกลางคลอง  ส่องหน้าแห่งองค์
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพื่อสวะซวาง
    วางเวนเคนหื้อเป็นทาน  แก่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    จุ่งจักอว่ายหน้า  ปฏิคคาหกะรับเอา
    ยังข้าว ๔๙ ก้อน  และปานิยังน้ำกิน
    พยัญชนะของไขว่  ทั้งหลายมวลถ้วนฝูงนี้ แท้ดีหลี
    ด้วยผู้ข้าจักวางเวน  ตามพระบาลีว่า

    สารโอกาสะ มะยัมภันเต  อิมานิ ปถมัง
    โพธิบังงังกัง ทุติยัง  อะนิมิสสะกัง
    ตะติยัง จังกมะเสฏฐัง  จตุตถัง รัตนฆะรัง
    ปัญจะมัง อัชชะปาลัญจะ  ฉัฏฐมุจจลินกัญจะ สัตตะมัง ราชายะตะนัง

    เอกัสมิง ฐาเน เอเตสัตตเหยัตตกัง วโรพุทโธ วสิ
    เอกนปัญญาสะ นวจัตตาพิสะ สัพพะหิตัง

    ติรัตนพุทธะ จุฬะมณี สิงกุตตะระ บุปผาลาชา
    ติรัตนพุทธะ ธัมมะ สังฆะ

    มหาโพธิ จุฬะมณี สิงกุตตะระ สรีระธาตุ
    ศิริวิหาระ สัจจะคันธะ สมันตา คุตตะ
    สะยัง ภาชนัง ฐเปตวา มัณฑะเร ติรัตตะนัส

    ทุติยัมปิ... ฯลฯ ...
    สักกัจจัง เทมะ ปูเชมะ
   
    ตติยัมปิ สาธุโอกาส มะยังภันเต ... ฯลฯ ...
    สักกัจจัง เทมะ ปูเชมะ

อิทัง โน เอกูนะปัญญาสะ นวจัตตาฬีสะ สัมมาสัมพุทธัสสะ อยัง มหาปูชโก อนุกัมปัง อุปทายะ ทีฆะรัตตัง อัตถายะ หิตายะ สุขายะ ยาวะ นิพพานายะปัจจะโย โหตุ โน นิจจัง

@@@@@@@

เสร็จแล้วนำเอาข้าวมธุปายาส เข้าประเคนพระประธานเป็นเสร็จพิธี

ข้าวมธุปายาสนี้ เรียกว่าข้าวทิพย์ ประชาชนเชื่อกันว่าหากใครได้รับประธานจะมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ มีอนามัยดี จึงนิยมแบ่งกันรับประทาน หากเด็กๆ ได้รับประธาน ก็จะทำให้ผิวพรรณน่ารัก มีสุขภาพดี สมองปลอดโปร่ง นิยมทำเป็นประเพณีตราบเท่าทุกวันนี้


 :96: :96: :96:

หมายเหตุ : ไม่ยืนยันความถูกต้อง ห้ามนำไปอ้างอิง ผู้รู้ช่วยตรวจสอบด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง





ขอบคุณที่มา : https://www2.m-culture.go.th/lampang/ewt_news.php?nid=2172&filename=index

 15 
 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2024, 06:27:35 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



ประวัติ “ข้าวมธุปายาส” อาหารที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชา

รู้ประวัติ “ข้าวมธุปายาส” อาหารที่นางสุชาดาถวายพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ แม้จะมีเรื่องแก้บนมาเกี่ยว แต่ได้กลายเป็นประเพณีสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

อาหารหนึ่งชนิดที่เกี่ยวพันกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกลายเป็นประเพณีที่ผู้คนมักทำถวายในเทศกาลสำคัญ ที่เราอยากพามารู้จักในวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 คือ “ข้าวมธุปายาส” แต่ทำไมถึงต้อง “ข้าวมธุปายาส” วันนี้ทีมข่าวพีพีทีวีจึงได้รวบรวมข้อมูลมาให้ทุกคนได้รู้กัน

@@@@@@@

ประวัติข้าวมธุปายาส

“ข้าวมธุปายาส” นั้นมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือตอนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเดือนเพ็ญวิสาขะหรือวันเพ็ญเดือนหก

พระองค์ได้รับข้าวหุงด้วยน้ำผึ้ง น้ำอ้อย จากนางสุชาดา ภรรยาของคฤหบดีเมืองมคธนำมาถวายเพื่อการบูชาเทพยดา ณ ต้นโพธิพฤกษ์

โดยมีความเป็นมาเกิดขึ้นเมื่อครั้นวันหนึ่ง ภรรยาของคฤหบดีในเมืองราชคฤห์ ปรารถนาอยากได้บุตรชายไว้สืบสกุลสักคน เพราะแต่งงานหลายปีแล้วยังไม่มีบุตร เมื่อนางและภรรยาพากันไปอาบน้ำในแม่น้ำเนรัญชราได้เดินผ่านต้นศรีมหาโพธิพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขากว้างร่มใบหนา ใต้ร่มมีทรายขาวสะอาด ประดุจเงินดูแล้วน่านั่งนอนใต้ต้นไม้มาก

นางจึงมีความคิดว่าต้นไม้นี้น่าจะมีเทพารักษ์สิงสถิตอยู่แน่นอน เมื่อคิดดังนั้นนางจึงเข้าไปกราบที่โคนต้นไม้ แล้วพูดว่า “ข้าแด่เทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์มีมหิทธิฤทธิ์ ผู้สิงสถิตอยู่ ณ ต้นไม้นี้ ดิฉันขอความกรุณาจากท่านช่วยดลบันดาลให้มีบุตรสักคนเถิด เพื่อจะให้เขาสืบสกุลต่อไป ข้าแต่เทวะหากท่านให้ดิฉันสมปรารถนาแล้ว ดิฉันจะนำเอาข้าวมธุปายาสมาแก้บนสังเวยท่านเป็นสัจกิริยา”

เมื่อนางอธิษฐานเสร็จ กลับไปอยู่กับสามีไม่นานก็ตั้งครรภ์  เมื่อครบกำหนดนางก็คลอดลูกเป็นผู้ชายมีลักษณะงดงามสมส่วนตามลักษณะผู้มีบุญ เมื่อคลอดลูกโดยสวัสดิภาพและมีความสมบูรณ์อย่างนี้ นางสุชาดารำลึกถึงคำอธิษฐานที่นางได้ขอกับเทพยดา จึงทำการหุงข้าวมธุปายาส ซึ่งประกอบด้วย ข้าว ถั่ว งา น้ำตาล น้ำผึ้ง มะพร้าว เป็นต้น ทำอย่างประณีตแล้วใส่ถาดทองประดับด้วยดอกไม้อย่างสวยงามเดินทางออกจากบ้านพร้อมด้วยทาสีมุ่งสู่ต้นโพธิพฤกษ์

ขณะนั้นพระพุทธเจ้ามีดำริว่าจะบำเพ็ญเพื่อการตรัสรู้ ณ ต้นโพธิพฤกษ์และประทับนั่งโคนต้นไม้หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก นางสุชาดาและนางทาสีมาถึงได้พบพระพุทธเจ้าครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นรุกขเทพเจ้าจำแลงเพศ เกิดความเลื่อมใสจึงน้อมถาดข้าวมธุปายาสเข้าไปถวายแก้สัจกิริยาท่านได้บนบานไว้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสขอบคุณต่อนาง และบอกแก่นางว่าพระองค์ท่านมิได้เป็นเทพยดา แต่เป็นมนุษย์คือเป็นกษัตริย์แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ออกผนวช เพื่อแสวงหาสัจธรรม นางสุชาดาทราบเรื่องแล้ว ก็กราบถวายบังคมลากลับบ้านเรือนของตน

หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าทรงนำเอาข้าวจากถาดมาทรงทำเป็นก้อนๆ นับจำนวนได้ 49 ก้อน ให้เป็นเครื่องรำลึกถึงวันที่ทรงบำเพ็ญทุกกิริยา เสวยข้าวมธุปายาส 49 ก้อนนั้นหมดแล้ว ทรงนำถาดไปทรงอธิฐานในแม่น้ำเนรัญชรา และทรงอธิฐานว่าถ้าหากพระองค์จะได้ตรัสรู้ก็ขอให้ถาดทองนั้นลอยทวนน้ำขึ้นไป

เมื่อพระองค์ทรงวางถาดลงในน้ำ ก็ปรากฏว่า ถาดทองลอยทวนน้ำขึ้นเหนือน้ำดังคำอธิฐาน ซึ่งพระองค์ทรงถือว่าภัตตาหารมื้อนั้นได้มีส่วนทำให้พระองค์ตรัสรู้อริยสัจ 4 บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ด้วยรำลึกถึงพระพุทธองค์และเหตุการณ์สำคัญนี้ พุทธศาสนิกชนจึงนิยมทำข้าวมธุปายาสในวันวิสาขบูชา เกิดเป็น “ประเพณีกวนข้าวมธุปายาส” หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันคุ้นหูว่า “ประเพณีกวนข้าวทิพย์” โดยเชื่อกันว่าการได้ถวายเป็นพุทธบูชาจะนำความสุขสวัสดีและบุญกุศลแก่ตน



ข้าวมธุปายาส


“ข้าวมธุปายาส” ความหมายเดียวเรียกได้หลายชื่อ

ข้าวมธุปายาสมีชื่อหลายชื่อที่นิยมเรียกกัน แตกต่างกันในท้องถิ่นและประเทศต่างๆ ส่วนมากปรากฏชื่อคือ

    • ข้าวมธุปายาส - ข้าวหุง หรือกวนด้วยน้ำผึ้ง
    • ข้าวยาคู - ข้าวต้มที่ใส่เกลือและน้ำตาล ทำเป็นชนิดเค็มและชนิดหวาน
    • ข้าววิตู - ข้าวกวนด้วยน้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา ทำเป็นผงและก้อน
    • ข้าวกระยาสารท - ข้าวกวนด้วย น้ำตาล น้ำอ้อย น้ำผึ้ง ถั่วงา แปะแซ ทำเป็นก้อน เป็นแผ่น นิยมมีในงานเทศกาลอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพชนในประเพณีเดือน 10 ของภาคกลาง
    • ข้าวกระยาทิพย์/ข้าวทิพย์ - ข้าวที่กวนด้วยพิธีกรรม ใส่น้ำตาล น้ำอ้อย น้ำผึ้ง ถั่วงา น้ำนม ทำให้เป็นก้อนโดยให้หญิงพรหมจารีกวน ถือว่าเป็นข้าวศักดิสิทธิ์ ใครได้รับประทานย่อมจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บและมีความสุขสวัสดีตลอดไป
    • ข้าวซอมต่อหลวง - ข้าวมธุปายาสของชาวไทยใหญ่ นิยมกวนข้าวนี้เมื่อเดือนยี่เหนือถวายพระพุทธในตอนเช้ามืด เรียกว่า “ต่างซอมต่อหลวง”
    • ข้าวพระเจ้าหลวง - การเรียกชื่อข้าวมธุปายาสของชาวภาคเหนือ นิยมถวายในคราวเทศกาลใหญ่ๆ เช่น เดือนยี่เป็ง เดือนสี่เป็ง เดือนแปดเป็ง เป็นต้น โดยมากจะกวนข้าวในรั้วราชวัตรและให้หญิงพรหมจารี หรือผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วถือศีลห้า ถึงศีลแปดเป็นผู้กวนในพิธีนั้น ถวายพระพุทธตอนเช้า เรียกว่าใส่บาตรข้าวพระเจ้าหลวง

@@@@@@@

ความสำคัญของการถวายข้าวมธุปายาส

การถวายข้าวมธุปายาส มีความสำคัญดังนี้

    • เป็นการปฏิบัติตามพุทธประเพณี
    • เป็นการบูชาพระเจ้าในวันเพ็ญเดือนยี่ เดือนสี่และวิสาขบูชา
    • เป็นการรำลึกถึงวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
    • เป็นการสร้างสามัคคีในกลุ่มชน เนื่องจากมีการประกอบพิธีกรรมด้วย
    • เป็นการเรียนรู้ในการทำขนมหรือข้าวมธุปายาส
    • เป็นการถวายผลิตผลที่คนในท้องถิ่นช่วยกันสร้างขึ้นมา
    • เป็นการอนุรักษ์ประเพณีและศิลปะที่บรรพบุรุษสร้างไว้ยืนยงอยู่ตลอดไป



รูปภาพพระ เนื่องในวันวิสาขบูชา


ข้าวมธุปายาสถวายเป็นพุทธบูชาได้เมื่อไร

ในประเทศไทยนอกเหนือจากวันวิสาขบูชาข้าวมธุปายาสยังนิยมถวายในงานเทศกาลสำคัญๆ หลายคราวด้วยกัน คือ
          1. ประพฤติยี่เป็ง
          2. ประเพณีเดือนสี่
          3. ประเพณีปอยหลวง

ทำไมต้องมีประเพณีข้าวมธุปายาส

ในงานประเพณีสำคัญๆ ชาวบ้านหลายชุมชนจะนิยมกวนข้าวมธุปายาสเพื่อสร้างเสริมศรัทธาแก่ประชาชนผู้มาร่วมงาน และทางวัดจะนิยมแจกจ่ายข้าวมธุปายาสแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงกัน เพื่อสร้างความสุขสวัสดีและความสามัคคีให้เกิดในกลุ่มชนด้วย

ข้าวมธุปายาสจึงถือเป็นเครื่องระลึกถึงการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของวันวิสาขบูชา ด้วยเหตุนี้ในช่วงใกล้เทศกาลดังกล่าวจึงอยากชวนให้ทุกคนระลึกถึงไปพร้อมกัน






ขอขอบคุณ :-
ข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดลำปาง และ มหาลัยราชภัฏเทพสตรี
URL : https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/223760
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 15 พ.ค. 2567 ,10:24น.

 16 
 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2024, 06:08:11 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



ส่งคืน “โกลเด้นบอย” สมบัติชาติ ถึงไทย 20 พ.ค. 67 หลังถูกลักลอบขายต่างประเทศ

“โกลเด้นบอย” (Golden Boy) ประติมากรรมสัมฤทธิ์ อายุราว 900-1,000 ปี ในพิพิธภัณฑ์ฯ สหรัฐอเมริกา ส่งคืนถึงไทย วันจันทร์ที่ 20 พ.ค. นี้ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลังทีมงานคนไทยใช้เวลาทวงคืนมายาวนาน พร้อมจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานพระนคร “กรมศิลปากร” เตรียมระดมผู้เชี่ยวชาญศึกษาเพิ่ม เพราะเป็นความรู้ใหม่ประวัติศาสตร์ไทย



นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า “โกลเด้นบอย” (Golden Boy) และโบราณวัตถุอีก 1 ชิ้น ที่จัดแสดงอยู่ใน The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET ประเทศสหรัฐอเมริกา จะส่งคืนให้ไทย วันจันทร์ที่ 20 พ.ค. 67 ณ สนามบินสุวรรณภูมิ และจะมีกระบวนการผ่านการตรวจสอบของกรมศุลกากร จากนั้นจะนำมาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ



จากนั้นจะมีการแถลงข่าวในวันอังคารที่ 21 พ.ค. 67 ถึงความสำเร็จในการนำโบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับคืนมาจากต่างประเทศได้ และมีการให้ความรู้กับประชาชน หลังจากนั้น “โกลเด้นบอย” (Golden Boy) และโบราณวัตถุอีก 1 ชิ้น จะเปิดจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ

โบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น เมื่อสหรัฐฯ ส่งคืนมายังไทยแล้ว ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะ “โกลเด้นบอย” (Golden Boy) จะเป็นความรู้ใหม่ทางวิชาการของไทย จึงต้องศึกษาทั้งส่วนผสม กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการหล่อและขึ้นรูปแบบโบราณ




ทั้งนี้ จากข้อมูลเดิมระบุว่า (Golden Boy) ประติมากรรมสัมฤทธิ์ มีอายุราว 900-1,000 ปี พิพิธภัณฑ์ฯ ในสหรัฐอเมริกา ที่ส่งคืนไทย ถือเป็นจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์สำคัญของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” เชื่อมโยงกับพื้นที่ราบสูงโคราช แต่การทวงคืนครั้งนี้เกือบจะหลุดมือ โชคดีที่นักโบราณคดีไทยไปเจอชุมชนที่ขุดค้นพบ ชี้รอยตำหนิสำคัญ ทำให้อเมริกายอมส่งคืนไทย ถือเป็นโบราณวัตถุสำคัญในการทวงคืนชิ้นอื่นๆ ที่ถูกขโมยไป

สอดคล้องกับข้อมูลที่ไทยรัฐออนไลน์ เคยสัมภาษณ์ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี หนึ่งในทีมติดตามทวงคืนวัตถุโบราณ กล่าวว่า โบราณวัตถุ 2 ชิ้น ที่ The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งคืนให้ไทย เกือบไม่ได้คืน เนื่องจากหาหลักฐานไปยืนยันไม่ได้ในช่วงแรก ขณะที่กัมพูชามีคณะทำงานทวงคืนที่ติดตามอยู่ตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้นำเสนอกับกรมศิลปากร และได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ไปหาข้อมูลนำไปยืนยันกับสหรัฐอเมริกา




ประติมากรรมสัมฤทธิ์ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900-1,000 ปี มีความสูง 129 ซม. เป็นวัตถุโบราณชิ้นสำคัญที่กัมพูชาพยายามนำหลักฐานมายืนยันกับสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นวัตถุโบราณที่มีความงดงาม แต่ไทยก็หาหลักฐานไปยืนยันจนพบว่าเคยมีการขุดค้นพบ Golden Boy อยู่ในปราสาทโบราณ กลางชุมชนบ้านยางโป่งสะเดา อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เมื่อเห็นรูปภาพ ก็ระบุชัดเจนว่ามีครอบครัวหนึ่งในชุมชนเป็นผู้ขุดค้นพบเมื่อปี 2518




จากนั้นได้ขายประติมากรรมสัมฤทธิ์ Golden Boy ให้กับพ่อค้าวัตถุโบราณชาวต่างชาติ ราคา 1 ล้านบาท หลังขายได้ช่วงปี 2518 ทั้งหมู่บ้านจัดงานฉลองใหญ่ 3 วัน 3 คืน สิ่งนี้ทำให้มีพยานบุคคลในหมู่บ้านที่เกิดทันยุคนั้น ระบุได้ถึงการขายโบราณวัตถุดังกล่าว ดังนั้นเรื่องเล่านี้ทำให้คนในหมู่บ้านจำได้แม่น

                                           




Thank to : https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2786363
17 พ.ค. 2567 , 12:09 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > THE ISSUE > ไทยรัฐออนไลน์
บทความโดย : ไทยรัฐออนไลน์ / ทีมข่าวเจาะประเด็น

 17 
 เมื่อ: พฤษภาคม 18, 2024, 05:58:36 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



อุตรดิตถ์จัดงานประเพณี "อัฏฐมีบูชา" ครั้งที่ 69 ที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง

จ.อุตรดิตถ์ จัดงานประเพณี "อัฏฐมีบูชา" หนึ่งเดียวในโลกแห่งแรกในไทย ครั้งที่ 69 เป็นประเพณีสำคัญของจังหวัด ที่จัดช่วงสัปดาห์วิสาขบูชา รวมระยะเวลา 9 วัน 9 คืน เพื่อน้อมรำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างวันที่ 22-30 พ.ค. 67

เมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่  16 พฤษภาคม 2567 ที่บริเวณวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง หรือ วัดพระบรมธาตุ ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รอง ผวจ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วย นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์และนายนันทสิทธิ์ โพธิ์งาม รอง นายก อบจ.อุตรดิตถ์ ร่วมแถลงข่าว การจัดงานประเพณี “อัฏฐมีบูชา”

ซึ่งเป็นแห่งเดียวในโลกและแห่งแรกในประเทศไทย ต่อเนื่องมาปีนี้เป็นครั้งที่ 69 ที่พร้อมยกระดับให้มีความยิ่งใหญ่ ประจำปี 2567 เริ่มงานวันที่ 22-30 พฤษภาคมนี้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทอผ้าห่มองค์พระบรมธาตุ สักการะหลวงพ่อพระประธานเฒ่า โดยมี หัวหน้าส่วนราชการและ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนชาวตำบลทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ร่วมงานดังกล่าว

นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า สำหรับงานประเพณีอัฏฐมีบูชา เป็นงานประเพณีสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสัปดาห์วิสาขบูชาและอัฏฐมีบูชา ซึ่งตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 รวมระยะเวลา 9 วัน 9 คืน เพื่อน้อมรำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา และสืบสานประเพณีอัฏฐมีบูชาให้คงอยู่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมจิตสำนึกที่ดีของพุทธศาสนิกชนต่อพระพุทธศาสนา




นายสุรพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง หรือ วัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ที่กลางเทศบาลตำบลทุ่งยั้ง ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เป็นวัดโบราณประดิษฐานพระมหาธาตุประจำเมืองทุ่งยั้ง เมืองโบราณตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย ได้มีการจัดงานอัฏฐมีบูชา การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระจำลอง ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อแน่นเป็นเจ้าอาวาส

หลังจากหลวงพ่อแน่นมรณภาพ มิได้มีการจัดงานนี้อีกเลย จวบจนราวปีพุทธศักราช 2502 พระครูสถิตพุทธคุณ เจ้าคณะตำบลทุ่งยั้งในสมัยนั้น ได้เห็นความสำคัญของวันอัฏฐมีบูชา ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญที่ชาวเมืองทุ่งยั้งได้ถือปฏิบัติมาแต่โบราณ จึงได้ชักชวนคณะศรัทธา อุบาสก อุบาสิกา ริเริ่มฟื้นฟูประเพณีอัฏฐมีบูชา ของชาวตำบลทุ่งยั้ง อ.ลับแล เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อน้อมรำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐต่อพระพุทธศาสนา

วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวต่อว่า ชาวบ้านทุ่งยั้งที่มีความรู้ในการจักสานพระพุทธเจ้าจำลอง จะร่วมกันสานองค์พระฯ ด้วยไม้ไผ่ ประทับในท่าสีหไสยาสน์ ขนาด 9 ศอก นุ่งห่มด้วยจีวร พร้อมบรรจุในโลงแก้ว และจัดสร้างเมรุมาศจำลอง โดยการใช้ไม้ไผ่ 6 ต้น นำมาเป็นโครงสร้าง ประดับตกแต่งด้วยกระดาษฉลุลายสวยงาม




จังหวัดอุตรดิตถ์ ขอเชิญนักท่องเที่ยว มาร่วมเที่ยวงานประเพณีอัฏฐมีบูชา ครั้งที่ 69 ซึ่งในปีนี้จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกปี ภายในงาน เชิญร่วมทอผ้าห่มพระบรมธาตุ เชิญร่วมสรงน้ำพระบรมธาตุ ด้วยน้ำสรงพระราชทาน การเวียนเทียนวิสาขปุรณมี ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม และชม ชิม ช็อป เลือกซื้อสินค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก ในตลาดวิถีชมชุนคนทุ่งยั้ง พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม การสาธิตอาหารและมรดกภูมิปัญญา การร้อยพวงดอกไม้ การร่วมบุญร่วมกุศลในพิธีห่มผ้าพระบรมธาตุ การถวายสลากภัต

ไฮไลต์สำคัญในพิธีเปิดงานในวันที่ 22 พฤษภาคม วันวิสาขบูชา ชมการรำถวายพระบรมธาตุ 999 คน และเวียนเทียนรอบพระบรมธาตุร่วมกัน พร้อมกับชมแสงสีเสียงมินิ “ตำนานเมืองทุ่งยั้งและเวียงเจ้าเงาะ” และในวันสุดท้ายของงานวันอัฐมีบูชา 30 พฤษภาคม เชิญชมขบวนแห่ทางศิลปวัฒนธรรม ขบวนเครื่องสักการะและขบวนเทิดพระเกียรติ จาก 9 อำเภอ ร่วมสรงน้ำและห่มผ้าพระบรมธาตุ

พร้อมกันนี้ ชมการแสดง แสง สี เสียง “พิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง” รวมถึงเลือกซื้อเลือกหาทุเรียนหลงหลินลับแลมาทานได้ตลอดช่วงงาน ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปร่วมงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ หนึ่งเดียวในโลก งานประเพณีอัฐมีบูชาจังหวัดอุตรดิตถ์ ครั้งที่ 69 อย่าลืมพร้อมใจกันแต่งชุดขาว ไปร่วมงานประเพณีอัฐมีบูชา ในวันที่ 22-30 พฤษภาคม 2567 ที่วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์.







Thank to : https://www.thairath.co.th/news/local/localbusiness/2786396
17 พ.ค. 2567 ,14:30 น. | ข่าว > ทั่วไทย > เศรษฐกิจท้องถิ่น > ไทยรัฐออนไลน์

 18 
 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2024, 09:45:36 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 19 
 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2024, 05:34:11 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 20 
 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2024, 01:49:27 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10