ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การสู้รบที่ “ทุ่งสำริด” คราวสงครามเจ้าอนุวงศ์ หลักฐาน “ลาว” เล่าอย่างไร.?  (อ่าน 28 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28519
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) นครราชสีมา


การสู้รบที่ “ทุ่งสำริด” คราวสงครามเจ้าอนุวงศ์ หลักฐาน “ลาว” เล่าอย่างไร.?

เกิดอะไรขึ้นที่ “ทุ่งสำริด” ? จุดพลิกผันสำคัญในสงคราม “เจ้าอนุวงศ์” เหตุการณ์ซึ่งทำให้วีรกรรมของ “ท้าวสุรนารี” หรือคุณหญิงโม ตราตรึงอยู่ในความรู้สึกของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนโคราช แต่เราจะเข้าใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้อย่างถ่องแท้ได้อย่างไร หากมองเพียงมุมหรือด้านเดียว หลักฐานจากฝั่งลาวจึงเป็นอีกมุมมองที่สำคัญในการฉายภาพอดีตนี้ ให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น

    “…ถ้าไม่มีเจ้าอนุฯ ย่าโมจะเอาวีรกรรมที่ไหนมาสร้างขึ้น…”

นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของ นายเหียม พมมะจัน (ต้นฉบับใช้ ‘พรมมาจัน’) อดีตเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย ในหนังสือพิมพ์มติชน (ฉบับวันที่ 19 ก.ค. 2544)

หากผู้อ่านรู้สึกไม่สบายใจกับวาทะดังกล่าว รู้สึกโกรธเคืองท่านทูตฯ ลาว ว่าพูดไม่เหมาะสม (แม้จะผ่านมาแล้วกว่ายี่สิบปี) หรือไม่รู้สึกอะไรเลยก็ตาม เรามาทำความเข้าใจที่มาของคำให้สัมภาษณ์ข้างต้นเสียหน่อยดีกว่า

คำพูดดังกล่าวเกิดจากประเด็นร้อนแรงในอดีต กรณีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “คุณหญิงโม : เหตุเกิดที่ทุ่งสำริด” เพื่อเทิดเชิดชูเกียรติ “ย่าโม” หรือท้าวสุรนารี ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงลุกลามใหญ่โตข้ามโขงไปถึงฝั่งลาว จนเกิดกระแสคัดค้านการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าว เพื่อเห็นแก่ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ เพราะการรบที่ทุ่งสำริดและประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวเกี่ยวพันถึง “เจ้าอนุวงศ์” วีรกษัตริย์ของลาวด้วย

แน่นอนว่าการที่ภาพยนตร์เล่าในมุมของ “คุณหญิงโม” ตัวร้ายในเรื่องย่อมเป็นกองทัพลาว คู่ขัดแย้งในเหตุการณ์นั้น การยกย่องท้าวสุรนารีจึงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการโจมตีเจ้าอนุฯ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และกระทบต่อความรู้สึกของคนลาว เพราะเจ้าอนุฯ คือกษัตริย์ผู้ได้รับการยกย่องอย่างสูงในประวัติศาสตร์ลาว โดยเฉพาะในตำราเรียน

อ่านเพิ่มเติม : เสียงจากผู้ปราชัย เรื่องราวของ “เจ้าอนุวงศ์” ในตำราเรียนลาว

นายเหียม ยังกล่าวด้วยว่า ประวัติศาสตร์ลาวช่วงเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้เอ่ยถึงท้าวสุรนารี ถ้าจะมีการสร้างหนัง ก็ควรศึกษาประวัติศาสตร์ของลาวด้วย ซึ่ง ผศ. ดร. วริษา กมลนาวิน ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้หยิบยกประเด็นนี้มาเล่าในบทความ “เจ้าอนุวงศ์ในมุมมองของลาว บทสะท้อนจากหนังสือและตำราเรียนลาว” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2544 ดังนี้ [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]





อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) นครราชสีมา


เหตุการณ์สู้รบที่ “ทุ่งสำริด” ในหนังสือลาว

หนังสือทุกเล่มของลาวไม่ปรากฏเรื่องราวของท้าวสุรนารีแต่อย่างใด

ดร.สุเนด โพธิสาน และท่านหนูไซ พูมมะจัน กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า ในขณะที่เจ้าอนุฯ ยึดโคราชและนำพาครอบครัวลาวอพยพกลับคืนเวียงจันนั้น เจ้าเมืองนครราชสีมากำลังยกทัพไปปราบกบฏที่เมืองขุขันธ์ เมื่อเจ้านครราชสีมาได้รับรายงานว่าเจ้าอนุฯ เป็นกบฏ จึงรีบยกกองทัพกลับคืนโคราช แล้ววางแผนให้พระยาปลัดเมืองนครราชสีมาเข้าอ่อนน้อมต่อเจ้าอนุฯ

เจ้าอนุฯ จึงแต่งให้พระยาปลัด และพระยายกกระบัตรเมืองนครราชสีมา เป็นผู้ควบคุมชาวเมืองโคราชขึ้นมาเวียงจัน โดยมีทหารเวียงจันควบคุมขึ้นมาด้วยจำนวนหนึ่ง

พระยาปลัด พระยายกกระบัตร และเจ้าเมืองนครราชสีมาวางแผนตีกองทหารเวียงจัน โดยพระยาปลัดขี่ม้ากลับมาหาเจ้าอนุฯ ที่ค่ายใหญ่ เพื่อขอมีดพร้าและปืนเพื่อจะได้เนื้อกินตามทาง เจ้าอนุฯ ได้อนุญาตให้ไปจำนวนหนึ่ง เมื่อพวกครัวเมืองโคราชเดินทางถึงทุ่งสำริด ก็ขอพักชั่วคราวโดยอ้างว่าอ่อนล้ามาก

แล้วพระยาปลัด พระยายกกระบัตร และพระยาณรงณ์สงครามก็หาทางมอมเมาพวกทหารเวียงจันเพื่อให้กองทัพของเจ้าเมืองนครราชสีมาที่ซ่อนอยู่ในป่าจู่โจมโดยง่าย

พอดึกสงัดกองทัพเจ้าเมืองนครราชสีมาที่ดักสกัดอยู่ ก็เข้าตีทหารของเจ้าอนุฯ แตก

เมื่อยึดเอาครอบครัวได้แล้ว เจ้าเมืองนครราชสีมา พระยายกกระบัตร และพระยาณรงณ์สงครามก็พากันตั้งค่ายขึ้นเพื่อต่อสู้กับกองทัพเจ้าอนุฯ ที่จะมาตีเอาครัวคืน ส่วนพวกนายคุมที่หนีมาได้ ก็พากันรายงานต่อเจ้าอนุฯ ท่านจึงแต่งตั้งให้ตำรวจหน้า 50 คน ขี่ม้าไปสำรวจเหตุการณ์ และได้ถูกทหารของนครราชสีมายิงตาย

@@@@@@@

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของท้าวสุรนารีกลับปรากฏในงานเขียนของดวงไช หลวงพะสี  นักเขียนที่มีชื่อเสียงของลาว ดวงไชกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทุ่งสำริดไว้ในหนังสือเรื่อง “สมเด็ดพะเจ้าอะนุวง” ดังนี้

“พะเจ้าอะนุวงหลงกนอุบาย

ฝ่ายพะยาปลัดเมืองนะคอนราชะสีมา เซิ่งเป็นสามีของนางโม้ (คุณหญิงโม/ท้าวสุรนารี-ผู้เขียน) ที่ออกไปเมืองคูขัน พ้อมกับพะยานะคอนราชะสีมา ได้ซาบข่าวว่า พะเจ้าอนุวงลงมากวาดเอาคัวเมืองนะคอนราชะสีมาหมดแล้วก็ฟ้าวกับคืนมา แล้วเข้าเฝ้าพะเจ้าอะนุวงและกาบทูนว่า ‘ข้าพะบาดจะขอตามสะเด็ดไปอยู่เวียงจันด้วย’ พะเจ้าอะนุวงก็หลงเชื่อ ทั้งมอบให้พะยาปลัดกับพะยาพมยกกะบัดเป็นผู้คุมคอบคัวอบพะยบ

พอมาเถิงท่งสำริด ก็ตั้งพักคอบคัวอยู่ที่นั่น พะยาปลัดกับนางโม้ และพะยาพมยกกะบัดจึ่งลวมหัวกันคิดอุบายเลี้ยงเหล้าพวกทะหานลาวและตำหลวดผู้คุม เมื่อทะหานลาวและตำหลวดผู้คุมเมาเหล้านอนหลับไปหมดแล้ว ก็พากันข้าฟันทะหานตำหลวดตายเกือบหมด ทั้งเก็บเอาอาวุดของลาวได้แล้วก็ตั้งค่ายขึ้นที่ท่งสำริดนั่นเอง

มีตำหลวดที่เหลือตายจำนวนหนึ่งฟ้าวโดดขึ้นม้าลงไปกาบทูนพะเจ้าอะนุวง พะเจ้าอะนุวงแต่งให้ตำหลวด 50 คนขึ้นมาสืบเบิ่ง ก็ถูกหุ้มยิงตำหลวดทั้ง 50 คนนั้นตายหมด

พะเจ้าอะนุวงได้ซงซาบคือแนวนั้นแล้ว จึ่งตรัสสั่งให้เจ้าสุดทิสาน เจ้าปาน เจ้าก่ำพ้า คุมทะหาน 3,000 คนขึ้นมาตีเอาคัวเมืองนะคอนราชะสีมา

พวกของพะยาปลัด และนางโม้ต่อสู้คืนอย่างแข็งแรง อันทำให้เจ้าสุดทิสานเข้าใจว่าต้องมีกองทับของพะยาเมืองนะคอนราชะสีมาขึ้นมาช่วย ก็เลยถอยทับคืนไปกาบทูนต่อพระราชะบิดา”

ดวงไช หลวงพะสี 1996, หน้า 26 – 27


ผู้เขียน (อ.วิริษา) คิดว่า นักเขียนลาวส่วนใหญ่มิได้ให้ความสำคัญกับการมีตัวตนของท้าวสุรนารีมากไปกว่าการบันทึกเหตุการณ์ที่สยามเผาและปล้นสะดมเมืองเวียงจัน อันเกิดจากการตอบโต้ของฝ่ายไทยภายหลังจากเจ้าอนุฯ พยายาม “กอบกู้อิสรภาพ” เหตการณ์ช่วงนี้ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์ลาวแทบทุกเล่ม

@@@@@@@

ดวงไช หลวงพะสี เล่าถึงช่วงที่กองทัพไทยเข้ามาเผาทำลายเมืองเวียงจันไว้ถึง 3 ครั้ง ดังนี้

“…กมหมื่นนะเรดโยที และกมหมื่นเสนีบอริรัก สองแม่ทับใหย่ของไทได้พาทะหานข้ามน้ำของ (น้ำโขง-ผู้เขียน) มาเวียงจันด้วยความโกดแค้นสุดขีด ออกคำสั่งให้ทะหานเก็บกวาดเอาวัตถุสิ่งของที่มีค่าอยู่ในพระราชะวังและตามบ้านเมืองในเวียงจันให้หมด แล้วเผานะคอนเวีนงจันให้เหลือแต่เพียงขี้ถ่านไฟ ตัดกกไม้ที่กินหมากทิ้งให้หมด

จึ่งเฮ็ดให้นะคอนเวียงจันที่สวยงามมาแต่บูรานะกานหลายร้อยไป เหลือเพียงแต่ควันไฟพะยาบาดและกองขี้เถ้าเท่านั้น”

ดวงไชเขียนไว้ในเชิงอรรถว่า “ทะหานไทยทำลายม้างเพและจุดเผานะคอนเวียงจันเป็นเทื่อที่สอง (เทื่อที่หนึ่งในราชะกานพระเจ้าสิริบุนยาสาน) … ไทกลับมาจูดเผานะคอนเวียงจันตื่มอีก”

“เดือน 8 ลาว (เดือนกอละกด 1828) พระยาราชะสุพาวะดีรับพระราชะองกานจากพะเจ้าแผ่นดินไทยให้กับคืนมาจูดเผานะคอนเวียงจันตื่มอีกเพื่อให้สมใจแค้น และเพื่อบ่ให้เมืองเวียงจันหลงเหลือแม้แต่เสาเรือนชี้ฟ้าเพียงเสาเดียว…”

ดวงไช หลวงพะสี 1996, หน้า 37


สิ่งหนึ่งที่หลักฐานจากฝั่งลาวบอกเราได้คือ การยกย่องเจ้าอนุวงศ์เป็นวีรกษัตริย์เป็นเรื่องปกติธรรมดา (มาก ๆ) เพราะคนทุกชาติย่อมมีสิทธิที่จะรักวีรบุรุษของชาติตน และการเขียนประวัติศาสตร์ต่างปนเปไปด้วยความเชื่อหรือทัศนคติของผู้เขียนทั้งนั้น ทั้งนี้ อ.วิริษา สรุปความเห็นเรื่อง “ตัวตน” ของท้าวสุรนารีจากหลักฐานเหตุการณ์สู้รบที่ “ทุ่งสำริด” ว่า

   “ไม่ว่าท้าวสุรนารีจะมีตัวตนในประวัติศาสตร์ลาวหรือไม่ มิได้ทำให้ความเป็น ‘วีรกษัตริย์’ ของเจ้าอนุวงศ์ลดลงไปแม้แต่น้อยในสายตาของคนลาว”




อ่านเพิ่มเติม :-

    • “ศึกเจ้าอนุวงศ์” สงครามปลดแอกชาติลาว
    • ความปราชัยของ “เจ้าอนุวงศ์” วิเคราะห์เหตุความพ่ายแพ้ของมหาราชชาติลาว
    • “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” อนุสาวรีย์ “สามัญชน” ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งแรกของไทย




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 3 พฤษภาคม 2567
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_131916
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 07, 2024, 08:27:06 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ