ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เข้าใจปรากฏการณ์ “มูเตลู” อะไรที่ทำให้บูม หลายคนหันไปพึ่งพิงไสยศาสตร์  (อ่าน 10 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28496
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



เข้าใจปรากฏการณ์ “มูเตลู” อะไรที่ทำให้บูม หลายคนหันไปพึ่งพิงไสยศาสตร์

ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ “มูเตลู” ในสังคมเมืองที่มีให้เห็นเพิ่มขึ้น ไขข้อสงสัยอะไรที่ทำให้ผู้คนหันไปพึ่งพิงไสยศาสตร์

ไสยศาสตร์แม้จะถูกมองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง แต่ไฉนในช่วงสิบปีให้หลังมานี้ โลกของเรากลับเห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวัตถุมงคลเพิ่มขึ้น รวมถึงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หน้าใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นมา เช่น ไอ้ไข่ ท้าวเวสสุวรรณ หรือครูกายแก้ว ที่เป็นประเด็กถกเถียงในสังคมตอนนี้

จนในโลกออนไลน์ในปัจจุบัน ก็มีให้เห็นหลายเพจ หลายแชแนล “สายมู” ผุดขึ้นมามากมาย รวมถึงมีคอนเทนต์พาผู้สนใจเดินทางไปในโลกออนไลน์เพื่อสักการะสิ่งเคารพที่กำลังอินเทรนด์ต่างๆ ด้วย



ประชาชนแห่ทำพิธีหน้าลานเซ็นทรัลเวิล์ด

หรือแม้แต่กระทั่งในทีมฟุตบอลระดับโลกก็ยังมีผ้ายันต์ อีกทั้งการนำเสนอข่าว อาทิ เลขทะเบียนรถของนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องราวแปลกๆ เช่น ปลาช่อนทอง จอมปลวก หรือรูปเหมือนพญานาค ก็มีให้เห็นในช่วงใกล้วันออกผลสลากกินแบ่งรัฐบาล

ดังนั้นการที่ไสยศาสตร์งอกงามขึ้นในสังคมเมือง จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ทำให้ผู้คนเข้าหาและหันไปพึ่งพิงไสยศาสตร์ และผู้คนกำลังแสวงหาอะไรในสังคมนี้!?

วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจร่วมกันกับปรากฏการณ์นี้ใน “งานเสวนา เคลือบแคลง ย้อนแย้ง แสวงหา: ไสยศาสตร์ในวิถีเมือง” ในงานอักษรศาสตร์สู่สังคม ที่มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยคลายคำตอบให้หายข้องใจ

@@@@@@@

ไสยศาสตร์ตอบโจทย์ทางใจมนุษย์ทุกสมัย

ไสยศาสตร์อาจดูเป็นเรื่องลี้ลับ งมงาย หรือเรื่องโบราณล้าสมัย แต่ที่จริงแล้วหากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า กลับกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มนุษย์ทุกสมัยนับแต่โบราณมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปั่นป่วนโกลาหล

เดิมทีคนโบราณสมัยก่อนรัชกาลที่ 4 ไม่ได้มองไสยศาสตร์จำกัดอย่างปัจจุบัน พวกเขาไม่ได้มองว่าไสยศาสตร์เป็นเรื่องลี้ลับหรือมนต์ดำใดๆ เพียงแต่เป็นศาสนาและความเชื่อที่มีองค์ประกอบเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาร์ย ความวิเศษ

เพราะคำว่า “ไสยศาสตร์” หมายถึงการท่องมนต์และพิธีกรรม นอกจากนี้ยังรวมถึงการผสมผสานความเชื่อในท้องถิ่นเข้าไปด้วย

ส่วนหากจะพูดถึงความแตกต่างระหว่างไสยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ ก็ในแง่ระบบความคิดของมนุษย์ ก็ไม่ต่างกัน เพราะไสยศาสตร์เป็นภูมิปัญญา เป็นระบบความคิด ความเชื่อของมนุษย์ที่พยายามสร้างคำอธิบายให้กับสิ่งที่มนุษย์ไม่เข้าใจ เช่น ฝนตกฟ้าร้อง ทำให้เราเข้าใจโลกเข้าใจตัวเอง ตอบโจทย์อนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และบางสิ่งที่เราอาจจะเข้าไปแก้ไขไม่ได้ ชุดความเชื่อทางไสยศาสตร์ทำให้เราคิดกับสิ่งเหล่านี้ได้

ดังนั้นแล้วไม่ว่าโลกสมัยใหม่จะผลักไสยศาสตร์ให้เป็นคู่ตรงข้ามกับพุทธศาสน์และวิทยาศาสตร์ แต่หน้าที่และความหมายของไสยศาสตร์ในพื้นที่ชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์ก็ยังคงซ้ำเดิม ซ้ำในบริบทโลกยุคนี้ กลับทวีความสำคัญขึ้นอีก

     "แม้มนุษย์ในปัจจุบันจะมีความรู้และความเข้าใจเชิงเหตุผล มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเข้าใจความเป็นจริง แต่บางครั้งความจริงก็ไม่ตอบโจทย์ทางอารมณ์ เช่น ความเศร้า ความหวัง — ไสยศาสตร์ แม้จะไม่เมคเซ้นส์ แต่ก็ทำให้อุ่นใจ"



พระสทาศิวะ


ไสยศาสตร์ตัวช่วยรับมือโลกป่วน

สิ่งที่น่าทึ่งคือไสยศาสตร์เกิดขึ้นมากมายในยุคที่ปั่นป่วนมากที่สุด โดยมียุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ทางปรัชญา คือยุคหลังเมืองเอเธนส์ล่มสลายและก่อนโรมเอมไพร์จะก่อตั้งขึ้น ยุคนั้นทางปรัชญามองว่าเป็นยุคที่ยุ่งเหยิงและโกลาหลที่สุด แต่ในยุคนี้นี่เองกลับเกิดระบบความเชื่อเหนือธรรมชาติ (mysticism) มากมาย

นั่นหมายความว่าในยามที่บ้านเมืองปั่นป่วน ชีวิตไม่นิ่ง ผันผวนและมีความไม่มั่นคง มนุษย์จะเข้าหาสิ่งที่คิดว่านิ่งที่สุด เป็นหลักพึ่งพิงเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงของชีวิต และพื้นที่ที่เผชิญกับความโกลาหลและปั่นป่วนที่สุดก็คือพื้นที่เมือง!

จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่เมืองในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของความเจริญทางวัตถุ เทคโนโลยี วิชาการความรู้และความหลากหลายทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมความเชื่อและวิถีปฏิบัติเชิงไสยศาสตร์ที่หลากหลายด้วย

@@@@@@@

ไสยศาสตร์เครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตคนเมือง

“ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตสังคมเมือง” จะพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิด ในสภาพสังคมที่โกลาหล ดูมีความไม่มั่นคง และแน่นอน กลับทำให้คนหันไปหาที่พึ่งทางใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

    "แต่ก่อนไม่คิดว่า หมอ วิศวกร กลุ่มคนที่อาชีพดูมั่นคง จะให้ความสำคัญกับการดูดวงหรือเรื่องอะไรแบบนี้ แต่กลายเป็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ เหมือนกับว่ามันมีสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจตอบได้ แม้คนที่ดูว่าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจมั่นคงแล้ว ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต มีสิ่งที่ไม่รู้ และไสยศาสตร์ก็อาจจะช่วยให้พวกเขาอยู่กับความไม่รู้และความไม่แน่นอนได้"

@@@@@@@

ไสยศาสตร์ผนึกความรู้สึกร่วมของชุมชน

มากกว่านั้น ไสยศาสตร์ยังมีบทบาทค่อนข้างมากและสำคัญกับสังคมชนบท เพราะกิจกรรมของไสยศาสตร์อยู่ในโลกพิธีกรรมและประเพณี ซึ่งโยงกับกลุ่มคนที่มีความเชื่อร่วมกัน ตอบโจทย์การดำรงอยู่ของชุมชม

อย่างไรก็ตามด้วยความที่ไสยศาสตร์เป็นเรื่องของพิธีกรรม ซึ่งสำคัญกว่าความเชื่อ บางความเชื่อ คนอาจไม่เชื่อเรื่องนั้นแล้ว แต่พิธีกรรมยังดำรงอยู่เป็นเครื่องมือยึดโยงคนในชุมชน

เช่น “พิธีกรรมแห่นางแมว” แม้จะยังมีพิธีกรรมนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าชุมชนและผู้ที่ที่ทำพิธีกรรมนี้จะเชื่อว่าแห่นางแมวแล้ว ฝนจะตก แต่พิธีกรรมช่วยตอบโจทย์สภาพจิตใจและความหวังร่วมของชุมชน

@@@@@@@

“มูเตลู” คำเรียกใหม่ ทำให้ไสยศาสตร์โมเดิร์น-ลดความน่ากลัว

ความที่เมืองเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม จึงเกิดชุดความเชื่อ วิถีปฏิบัติย่อย ๆ และวัตถุทางความเชื่อมากมายและหลากหลาย เทพเจ้าและผีตนใหม่ ๆ ปรากฎขึ้นเรื่อย ๆ ให้คนเมืองได้ชอปปิ้งตามสะดวกและตามใจปรารถนา มีทั้งเทพดั้งเดิมที่เป็นเทพเจ้าฮินดู จีน และพุทธ ผีโบราณและผีใหม่ ๆ ที่หลุดมาจากโลกการ์ตูนและวรรณคดี อย่างเช่นที่มีร่างทรงโดเรมอน ร่างทรงพ่อปู่ไจแอ้นท์ และร่างทรงผีเสื้อสมุทร

“การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและภูมิหลังอันหลากหลาย ซึ่งก็มีความเชื่อมีวิธีปฏิบัติบางอย่าง จิตวิญญาณติดมากับตัวเอง พอมาเจอกันในบริบทเมือง ย่อมนำไปสู่ผสมผสานก่อให้เกิดเป็นความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติใหม่ ๆ ขึ้นมา นำไปสู่การเติบโตของความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณรูปแบบใหม่ ๆ”

นอกจากนี้ คนเมืองสมัยใหม่นิยมเรียกชุดความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ว่า “สายมู” หรือ “มูเตลู” ทำให้เรื่องนี้ดูทันสมัยขึ้น ลดความลี้ลับหรือความมืดดำ (ดาร์ค)   

@@@@@@@

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เปิดพื้นที่ให้คนเข้าวงการมูเตลู

ไสยศาสตร์ มีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ แต่แม้จะไม่เชื่อ คำพูดที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ก็ช่วยเปิดพื้นที่ให้ไสยศาสตร์และความเชื่อเหนือธรรมชาติ อยู่ได้และขยายตัวในสังคม

    “คำพูดนี้ทำให้ความเชื่อใหม่ ๆ เข้าไปอยู่ในการรับรู้ของคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นกระแสของสังคมไปโดยปริยาย”

ในกรณีที่มีประเด็นถกเถียงทางความเชื่อในสังคม เช่น เกิดเทพหรือผีตนใหม่ ๆ หรือวิถีปฏิบัติใหม่ ๆ คำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ก็ดูเหมือนจะช่วยเปิดพื้นที่ให้คนได้ทดลอง “ถ้าไม่เสียหาย ไม่ผิดกฎหมาย และศีลธรรม ก็น่าจะลองดู” และทำให้คนที่เชื่อและไม่เชื่อ อยู่ร่วมกันได้บนพื้นที่ของความเชื่อที่ต่างกัน





Thank to : https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/223437
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 9 พ.ค. 2567 ,16:24น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ