สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

กรรมฐาน มัชฌิมา => ถามตอบ ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ กรรมฐาน => ข้อความที่เริ่มโดย: noppadol ที่ มกราคม 06, 2010, 11:49:31 am



หัวข้อ: เกี่ยวกับเรื่อง สมาบัติ ต่างๆ
เริ่มหัวข้อโดย: noppadol ที่ มกราคม 06, 2010, 11:49:31 am
ผมอ่านในเรื่อง นิโรธสมาบัติ แล้วในหัวข้อ  นิโรธสมาบัติคืออะไร ?

แต่คำว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
         อเนญชาสมาบัติ
         เจโตสมาธิอนิมิตร

3 สมาบัติ มีความต่างกันอย่างไร ครับ เป็นคุณธรรมของใคร

ขอบคุณครับ ;)



หัวข้อ: สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 07, 2010, 11:45:36 am
ในเบื้องต้นขอยกเอาประเภทของพระอรหันต์ ที่แสดงไว้ใน พจนานุกรมพุทธศาสน์ ของท่านปยุตโต มาปูพื้นทำความเข้าใจกันก่อน ดังนี้

อรหันต์  ๕ (an Arahant; arahant; Worthy One)
 
๑. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)

๒. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)

๓. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓ — one possessing the Threefold Knowledge)

๔. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา ๖ — one possessing the Sixfold Superknowledge)
 
๕. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔ — one having gained the Four Analytic Insights)

ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น ๒ คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น  พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน ๕ ประเภท)  พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ที่ไม่ได้โลกิยวิชชาและโลกิยอภิญญา ก็มี  ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้ง ๔ ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต

วิมุตติ ๒ (ความหลุดพ้น : deliverance; liberation; freedom)
 
๑. เจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นแห่งจิต, ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการฝึกจิต, ความหลุดพ้นแห่งจิตจากราคะ ด้วยกำลังแห่งสมาธิ : deliverance of mind; liberation by concentration)

๒. ปัญญาวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยปัญญา, ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญญา, ความหลุดพ้นแห่งจิตจากอวิชชา ด้วยปัญญาที่รู้เห็นตามเป็นจริง : deliverance through insight; liberation through wisdom)

ถึงตอนนี้เราจะย่ออรหันต์เหลือเพียง ๒ ประเภท คือ

๑.พระปัญญาวิมุต
 
๒.พระอุภโตภาควิมุต (เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุต)

...............................................................

ขอนำคำสอนของหลวงพ่อฤาษีลิงดำบางส่วน จากลิงค์http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=159.0 (มัชฌิมา)
ที่ถามว่า ผลสมาบัติ คือ อะไร มาแสดง ดังนี้

    นิโรธสมาบัติ “ท่านที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ ต้องเป็นพระอริยะขั้นต่ำตั้งแต่พระอนาคามี เป็นต้นไป
และพระอรหันต์เท่านั้น และท่านต้องได้สมาบัติแปดมาก่อน ตั้งแต่ท่านเป็นโลกียฌาน
ท่านที่ได้สมาบัติแปด เป็นพระอริยะต่ำกว่าพระอนาคามีก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้
ต้องได้มรรคผลถึง อนาคามีเป็นอย่างต่ำจึงเข้าได้”

จะเห็นว่า การที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ ต้องได้ สมาบัติ ๘ และต้องเป็น อนาคามี(ผล)บุคคลเป็นอย่างต่ำ

...............................................................

จากอรหันต์ ๒ ประเภทที่แสดงไว้ข้างบน ระบุว่าพระอุภโตภาควิมุต(เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุต)
ได้อรูปสมาบัติ ซึ่งหมายถึง ได้สมาบัติ ๘ นั่นเอง

...............................................................

เพื่อความเข้าใจในขั้นต่อไป ขอนำบทความเกี่ยวกับนิโรธสมาบัติบางส่วน
จากเว็บ http://www.nkgen.com/434.htm (http://www.nkgen.com/434.htm)  มาแสดง ดังนี้

นิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่ประณีตที่สุดในบรรดาสมาบัติทั้งปวง จัดเป็นอรูปฌานในสมถกรรมฐานอย่างหนึ่ง  แม้จะเป็นสมาบัติขั้นประณีตสูงสุดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ใช่การวิปัสสนาโดยตรง เป็นเครื่องอยู่หรือวิหารธรรมของพระอริยเจ้าเป็นครั้งคราว

เป็นสภาวะจิตที่ถึงภาวะของความสงบประณีตระดับสูงสุด จิตหยุดการทำงาน หรือการเกิดดับ..เกิดดับ..เกิดดับ..ทั้งหลายทั้งปวง ดุจดั่งผู้ถึงกาละ กล่าวคือ เนื่องจากการหยุดการทำงานหรือดับไปของสัญญา อันคือ ขันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความคิด ความนึก อันเป็นความจำได้ ความหมายรู้ ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งสิ้น
 
ดังนั้นเมื่อดับสัญญา หรือดับความคิด ความนึก(และตลอดจนดับความจำ ความหมายรู้ ซึ่งเกิดขึ้นในภายหลัง)ทั้งปวงลงไปจากการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ  จึงเป็นปัจจัยทำให้ธรรมารมณ์ต่างๆเช่นความคิดความนึกต่างๆ แม้แต่สังขารกิเลสต่างๆ ที่ต้องอาศัยสัญญาคืออาสวะกิเลส เป็นเหตุปัจจัยเบื้องต้นในการเกิดขึ้นและเป็นไปของขันธ์ ๕ จึงดับไป 

เวทนาจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หรือต้องดับไปตามเหตุปัจจัยคือสัญญาที่ถูกกุมไว้ด้วยสติ  จึงเป็นปัจจัยให้เวทนาดับลงไปด้วย  จึงเป็นเหตุให้ชื่อว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ที่มาจากรากศัพท์ของคำว่า สัญญา-ความจำได้,ความหมายรู้๑  เวทนา-การเสวยอารมณ์๑  นิโรธ-การดับ๑  และสมาบัติ-ภาวะสงบประณีต๑  ทั้ง ๔ คำ  สมาสรวมกันเป็น

สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ที่หมายถึง สภาวะสงบประณีตที่เกิดจากสัญญาและเวทนาดับไป
...............................................................

จากที่ได้อธิบายมาเป็นลำดับ จะเห็นว่า คำว่านิโรจสมาบัตินั้น มาจากคำเต็มๆว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ

ดังนั้น คนที่จะเข้าสมาบัตินี้ได้ นอกจากต้องอยู่ในกลุ่มของพระอุภโตภาควิมุต ได้อรูปสมาบัติ ๔ หรือ สมาบัติ ๘ แล้ว  จะต้องเป็น

๑.อนาคามี(ผล)บุคคล (ตัดสังโยชน์ ๕ ข้อแรกได้)
๒.อรหันตบุคคล (ตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อได้หมด)

ผมตอบข้อแรกให้แล้วนะครับ


หัวข้อ: อเนญชสมาบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 07, 2010, 11:50:18 am
ต่อไปเป็นคำตอบข้อสอง


จากการค้นหาคำแปลของ คำว่า “อเนญชา”  พบว่า น่าจะมาจากคำเต็มๆว่า อเนญชาภิสังขาร จากพจนานุกรม พุทธศาสน์ ได้ให้ความหมายไว้ว่า

อเนญชาภิสังขาร คือ เครื่องปรุงแต่งที่มั่นคง, สิ่งที่ปรุงแต่งชีวิตจิตใจของสัตว์ทั้งหลาย
กล่าวโดยสรุป มี ๓ อย่าง คือ บุญ บาป และอเนญชา-ภิสังขาร หมายถึง อรูปสมาบัติ ๔.

อภิสังขาร ๓ (สภาพที่ปรุงแต่ง, ธรรมมีเจตนาเป็นประธานอันปรุงแต่งผลแห่งการกระทำ, เจตนาที่เป็นตัวการในการทำกรรม — volitional formation; formation; activity)

๑. ปุญญาภิสังขาร (อภิสังขารที่เป็นบุญ, สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร — formation of merit; meritorious formation)

๒. อปุญญาภิสังขาร (อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญคือเป็นบาป, สภาพที่ปรุงแต่กรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย — formation of demerit; demeritorious formation)
 
๓. อาเนญชาภิสังขาร (อภิสังขารที่เป็นอเนญชา, สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน — formation of the imperturbable; imperturbability-producing volition)
 
อภิสังขาร ๓ นี้ เป็นความหมายของสังขารในหลักปฏิจจสมุปบาท ท่านแสดงไว้อีกนัยหนึ่งเพิ่มจากนัยว่าสังขาร ๓ ดู (๑๑๙) สังขาร ๓
...............................................................

ขอนำอรรถกถาบาลีจากเว็บ http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=343 (http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=343) บางส่วนมาแสดงดังนี้

“บทว่า อเนญฺชํ ความว่า ใส่ใจอเนญชสมาบัติคือ อรูปสมาบัติ ว่า เราจักเป็นอุภโตภาควิมุตติ.”

“บทว่า ตสฺมึเยว ปุริมสฺมึ ท่านกล่าวหมายถึงฌานที่เป็นบาท.”

              “ ก็เมื่อภิกษุนั้นออกจากฌานที่เป็นบาท ที่ยังไม่คล่องแคล่ว ใส่ใจสุญญตาในภายใน จิตย่อมไม่แล่นไปในสุญญตาสมาบัตินั้น.
แต่นั้นใส่ใจไปในภายนอกว่า ในสันดานของผู้อื่นเป็นอย่างไรหนอ จิตย่อมไม่แล่นไปในสุญญตาสมาบัตินั้น. แต่นั้นใส่ใจทั้งภายในและภายนอกว่า
ในสันดานของตนบางครั้งเป็นอย่างไร ในสันดานของผู้อื่นบางครั้งเป็นอย่างไร จิตย่อมไม่แล่นไป แม้ในสุญญตาสมาบัตินั้น.”

“แต่นั้น ผู้ประสงค์จะเป็นอุภโตภาควิมุตติ ใส่ใจอเนญชาสมาบัติว่า ในอรูปสมาบัติเป็นอย่างไรหนอแล จิตย่อมไม่แล่นไป แม้ในอเนญชาสมาบัตินั้น.
ภิกษุผู้ละเพียร ไม่พึงประพฤติตามหลังอุปัฏฐากเป็นต้น ด้วยคิดว่า บัดนี้จิตของเรายังไม่แล่นไป แต่พึงใส่ใจถึงฌานอันเป็นบาทให้สม่ำเสมอด้วยดีอย่างเดียว.”

...............................................................


เมื่่อ ดูความหมายของคำว่า อเนญชา และอ่านอรรถกถาแล้ว จะเห็นว่า
อเนญชภสมาบัติ หมายถึง อรูปสมาบัติ ๔ นั่นเอง และยังเป็นส่วนหนึ่งของอุภโตภาควิมุตติ

จากคำอธิบายและคำตอบในข้อแรก จะเห็นว่า อุภโตภาควิมุตติ หมายถึง
ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อน แล้วได้ปัญญาวิมุตติ
อเนญชสมาบัติ จึงอยู่ในส่วนแรกของอุภโตภาควิมุตติ คือ เจโตวิมุตติ ขั้นอรูปฌาน นั่นเอง

ดังนั้น คนที่จะเข้าอเนญชสมาบัติได้ นอกจากต้องอยู่ในกลุ่มของพระอุภโตภาควิมุต ได้อรูปสมาบัติ ๔ หรือ สมาบัติ ๘ แล้ว  จะต้องเป็น

๑.อนาคามี(ผล)บุคคล (ตัดสังโยชน์ ๕ ข้อแรกได้)
๒.อรหันตบุคคล (ตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อได้หมด)

คำตอบข้อสองเหมือนกับคำตอบข้อแรกทุกประการ(เพราะว่า อเนญชสมาบัติ ก็คือ สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ)



หัวข้อ: อนิมิตตเจโตสมาธิ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 07, 2010, 11:59:37 am
ต่อไปเป็นคำตอบข้อสาม

ขอนำความหมายของคำต่างๆ ตามพจนานุกรม พุทธศาสน์ มาแสดงเพื่อความเข้าใจ ดังนี้

สมาธิ ๓ (ความตั้งมั่นแห่งจิต หมายถึงสมาธิในวิปัสสนา หรือตัววิปัสสนานั่นเอง แยกประเภทตามลักษณะการกำหนดพิจารณาไตรลักษณ์ ข้อที่ให้สำเร็จความหลุดพ้น — concentration)

๑. สุญญตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาเห็นความว่าง ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนัตตลักษณะ — concentration on the void)

๒. อนิมิตตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ — concentration on the signless)

๓. อัปปณิหิตสมาธิ (สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีความตั้งปรารถนา ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดทุกขลักษณะ : concentration on the desireless or non-hankering)
 
อนิจจลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนิจจะ, ลักษณะที่ไม่เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่
๑) เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี
๒) เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ
๓) เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ
๔) แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว

เจโตวิมุตติ ความหลุดพ้นแห่งจิต, การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิ เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติอันละเอียดประณีต (สันตเจโตวิมุตติ)
...............................................................

คำว่า “เจโตสมาธิอนิมิตร” ที่คุณกล่าวถึง ผมหาไม่เจอ
ที่หาเจอคือคำว่า “อนิมิตตเจโตสมาธิ”
แต่ในพจนานุกรม พุทธศาสน์ กลับไม่มีคำนี้
อย่างไรก็ตาม พอที่จะสรุปความหมายได้ดังนี้

เจโต คือ จิต  ถ้าหมายเอาการหลุดพ้นเป็นเกณฑ์ ควรจะเป็นคำเต็มๆว่า เจโตวิมุตติ ซึ่งหมายถึง
ความหลุดพ้นแห่งจิต, การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิ

ปัญหามีอยู่ว่า เจโตวิมุตติ มี ๒ ขั้น คือ รูปสมาบัติ ๔ กับ อรูปสมาบัติ ๔
และทั้งสองขั้น บรรลุเป็น อนาคามี(ผล) และ อรหันต์ได้
ถ้าจะพูดถึงการเข้านิโรธสมาบัติแล้ว ต้องเป็น เจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติ ๔ เท่านั้นที่เข้าได้
ส่วนขั้นรูปสมาบัติ ๔ เข้าได้แต่ผลสมาบัติเท่านั้น
...............................................................

มาถึง คำว่า อนิมิตตสมาธิ   อนิมิตตสมาธิ คือ “สมาธิอันพิจารณาธรรมไม่มีนิมิต
ได้แก่ วิปัสสนาที่ให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดอนิจจลักษณะ”
จากคำอธิบายเรื่อง สมาธิ ๓ ข้างบน จะเห็นว่า
การเจริญวิปัสสนานั้น เมื่อนำเอาไตรลักษณ์มาพิจารณา
เพื่อให้หลุดพ้นสำเร็จเป็นอริยบุคคลขั้นต่างๆนั้น
ไม่จำเป็นต้องพิจารณาทั้ง ๓ ข้อ คือ ทุกข์ อนิจจัง และอนัตตา
สามารถเลือกข้อใดข้อหนึ่งมาพิจารณาก็ได้ สำเร็จได้เหมือนกัน
...............................................................

ดังนันคำว่า “อนิมิตตเจโตสมาธิ” หรือ คำว่า “เจโตสมาธิอนิมิตร” ที่คุณกล่าวถึง
ควรจะหมายถึง ผู้ที่หลุดพ้นดัวยกำลังสมาธิ โดยการพิจารณาอนิจจลักษณะ
...............................................................

ผมขอสรุปคำตอบให้คุณดังนี้

ผู้เป็น “อนิมิตตเจโตสมาธิ” ขั้น รูปสมาบัติ ๔ เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้
เข้าได้เฉพาะผลสมาบัติ เท่านั้น บุคคลที่จะเข้าผลสมาบัติได้ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

-   โสดาบัน(ผล) ได้ รูปสมาบัติ ๔ (ตัดสังโยชน์ ๓ ข้อแรกได้)
-   สกิทาคา ได้ รูปสมาบัติ ๔ (ตัดสังโยชน์ ๓ ข้อแรกได้ ข้อที่เหลือเบาบางลงไปเมื่อเทียบกับโสดาบัน)
-   อนาคามี ได้ รูปสมาบัติ ๔ (ตัดสังโยชน์ ๕ ข้อแรกได้)
-   อรหันต์ ได้ รูปสมาบัติ ๔ (ตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อได้หมด)

ผู้เป็น “อนิมิตตเจโตสมาธิ” ขั้น อรูปสมาบัติ ๔ เข้าได้ทั้งนิโรธสมาบัติ
เข้าผลสมาบัติ บุคคลที่เข้าสมาบัติทั้งสองได้ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

๑.อนาคามี(ผล)บุคคล ได้ อรูปสมาบัติ ๔ (ตัดสังโยชน์ ๕ ข้อแรกได้)
๒.อรหันตบุคคล ได้ อรูปสมาบัติ ๔ (ตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อได้หมด)

อนึ่งผู้เป็น “อนิมิตตเจโตสมาธิ” ขั้นรูปสมาบัติ ๔ และขั้นอรูปสมาบัติ ๔ ต่างก็อยู่ในกลุ่มของพระอุภโตภาควิมุต
...............................................................

สรุปคำตอบโดยย่อ

สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และ อเนญชสมาบัติ เป็นตัวเดียวกัน
ต่างกันที่ การหยิบองค์ธรรมองค์ไหน มาอธิบายความหมายเท่านั้น

ผู้ที่จะเข้าสมาบัตินี้ได้ ต้องเป็นบุคคลที่หลุดพ้นด้วย เจโตวิมุตติ
พร้อมทั้งได้ อรูปสมาบัติ ๔ หรือ สมาบัติ ๘(ปัญญาวิมุตติเข้าไม่ได้)

และต้องเป็นอริยบุคคล ในระดับอนาคามี(ผล) และอรหันต์เท่านั้น

ในส่วนของ “อนิมิตตเจโตสมาธิ” เป็นเพียงแค่ตัวเลือกหนึ่ง
ในวิธีพิจารณาไตรลักษณ์(ทุกข์ อนิจจัง และ อนัตตา)เท่านั้น

“อนิมิตตเจโตสมาธิ” เป็นการพิจารณาอนิจจลักษณะ
ไม่ได้เป็นนิโรธสมาบัติแต่อย่างไร

ผมตอบคำถามทั้งหมดให้แล้วนะครับ สงสัยอะไรก็ถามได้
ขออนุโมทนา



หัวข้อ: Re: เกี่ยวกับเรื่อง สมาบัติ ต่างๆ
เริ่มหัวข้อโดย: ธรรมะ ปุจฉา ที่ ตุลาคม 21, 2010, 01:37:06 am
 :25:


หัวข้อ: Re: เกี่ยวกับเรื่อง สมาบัติ ต่างๆ
เริ่มหัวข้อโดย: tcarisa ที่ ตุลาคม 22, 2010, 09:30:48 am
เป็นบทความ ที่อ่านง่าย ดีคะ
อนุโมทนากับ ผู้ลงบทความด้วยคะ
 :25: :25: :25:


หัวข้อ: Re: เกี่ยวกับเรื่อง สมาบัติ ต่างๆ
เริ่มหัวข้อโดย: PRAMOTE(aaaa) ที่ มกราคม 18, 2015, 01:47:16 pm

      เกี่ยวกับเรื่อง สมาบัติ   ทั้งหลาย