ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ๗ พระธาตุประจำวันเกิด จ.นครพนม  (อ่าน 5989 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
๗ พระธาตุประจำวันเกิด จ.นครพนม
« เมื่อ: เมษายน 19, 2011, 08:13:12 pm »
0
พระธาตุประจำวันเกิดวันอาทิตย์


        พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบล และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ อยู่บนภูกำพร้า หรือดอยกำพร้า ภาษาบาลีว่า กปณบรรพตหรือ กปณคีรี ริมฝั่งแม่น้ำขลนที อันเป็นเขตแขวงนครศรีโคตบูรโบราณ
   
            ตามตำนานพระธาตุพนม ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออก โดย 
 
  ทางอากาศ ได้มาลงที่ดอนกอนเนา แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้เสด็จไปตามลำดับ ได้ทรงประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ โพนฉัน (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

แล้วเสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขง ไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตบูร พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮังเมืองสุวรรณเขต) แล้วกลับมาทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ   

            พญาอินทร์ได้เสด็จมาเฝ้าและทูลถามพระพุทธองค์ ถึงเหตุที่มาประทับที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3  พระองค์ 
 
  ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวก ก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงปรารภถึงเมืองศรีโคตบูร และมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวง ได้ทรงเทศนาโปรดพญาสุวรรณพิงคาระ และพระเทวี ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน หลังจากนั้นก็เสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
 
            เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระสรีระ แต่ไม่สำเร็จ จนเมื่อพระมหากัสสปะมาถึงได้อธิษฐานว่า
   
  พระธาตุองค์ใดที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุองค์นั้นเสด็จมาอยู่บนฝ่ามือ ดังนี้แล้ว พระอุรังคธาตุ ก็เสด็จมาอยู่บนฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะ ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกขึ้นโชติช่วง เผาพระสรีระได้เองเป็นอัศจรรย์  เมื่อถวายพระเพลิงและแจกพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว

พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ มาทางอากาศ แล้วมาลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็กในปัจจุบัน) จากนั้นได้ไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวง เพื่อบอกกล่าวแก่พญาสุวรรณพิงคาระ  ตำนานตอนนี้ตรงกับตำนานพระธาตุเชิงชุม และพระธาตุนารายณ์เจงเวง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้ว   

            เมื่อพญาทั้ง 5 ซึ่งอยู่ ณ เมืองต่าง ๆ อันได้แก่ พญานันทเสน แห่งเมืองศรีโคตบูร พญาจุลณีพรหมทัต พญาอินทปัตถนคร พญาคำแดง แห่งเมืองหนอง  หาร น้อย และพญาสุวรรณพิงคาระ แห่งเมืองหนองหารหลวง ได้พากันปั้นดินดิบก่อแล้วเผาไฟ ตามคำแนะนำของพระมหากัสสปะ แบบพิมพ์ดินกว้างยาวเท่ากับฝ่ามือพระมหากัสสปะ   

            ครั้นปั้นดินเสร็จแล้วก็พากันขุดหลุมกว้าง 2 วา ลึก 2 ศอก เท่ากันทั้ง 4 ด้าน เมื่อก่อดินขึ้นเป็นรูปเตา 4 เหลี่ยม สูง 1 วา โดยพญาทั้ง 4 แล้ว พญาสุวรรณ ภิงคาระก็ได้ก่อส่วนบน โดยรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาปารมีสูง 1 วา รวมความสูงทั้งสิ้น 2 วา แล้วทำประตูเตาไฟทั้ง 4 ด้าน เอาไม้จวง จันทน์ กฤษณา กระลำพัก คันธรส ชมพู นิโครธ และไม้รัง มาเป็นพื้น ทำการเผาอยู่ 3 วัน 3 คืน เมื่อสุกแล้วจึงเอาหินหมากคอยกลางโคก มาถมหลุม เมื่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวเสร็จแล้ว พญาทั้ง 5 ก็ได้บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา
 
            จากนั้น พระมหากัสสปะ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ เข้าบรรจุภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูอุโมงค์ไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยสร้างประตูด้วยไม้ประดู่ ใส่ ดาลปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น มาฝังไว้ที่มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขี (ยักษิณีหน้าเป็นม้า) ไว้โคนต้นเพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีป นำเอาเสาศิลาจากเมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก นำเอาเสาศิลาจากเมืองตักศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก พญาสุวรรณพิงคาระให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศเหนือ

เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากเหนือเจือมาใต้ พระมหากัสสปะให้สร้างม้าพลาหกไว้ตัวหนึ่ง คู่กัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา  เกิดทางใต้และขึ้นไปทางเหนือ เสาอินทขีล ศิลาทั้ง 4 ต้น ยังปรากฏอยู่ 2 ต้น ทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 2 ต้น ได้ก่อหอระฆังหุ้มไว้ ส่วนม้าศิลาทั้ง 2 ตัว ก็ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน   

            พระธาตุพนม ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ การบูรณะครั้งแรกและครั้งที่สอง ไม่ได้บันทึกปีที่บูรณะไว้  การบูรณะครั้งที่สามเมื่อปี พ.ศ.2157  ครั้งที่สี่เมื่อปี พ.ศ. 2233  ครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2349  ครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2444 เป็นการบูรณะครั้งใหญ่ และต่อจากนั้นมาก็มีการบูรณะทั่วไป เช่น บริเวณโดยรอบพระธาตุ  ได้มีพิธียกฉัตรทองคำขึ้นประดิษฐานไว้ที่ยอดองค์พระธาตุ และนำฉัตรเก่ามาเก็บไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2497 มีพุทธศาสนิกชนจากดินแดนสองริมฝั่งโขงทั้งไทยและลาว หลั่งไหลมาร่วมมงคลสันนิบาต และนมัสการองค์พระธาตุเป็นเวลาถึงหนึ่งเดือน 
 
            เมื่อปี พ.ศ. 2518 องค์พระธาตุพนมชำรุดล้มลง ทางราชการได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ ให้คงสภาพเดิม ภายในปีเดียวกัน และได้ยืนยงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ 
 
คำนมัสการพระธาตุพนมมีดังนี้   
"กปณคิริสฺมิ ปพฺพเต มหากสฺสเปน ฐาปิตํ พุทฺธอุรงฺคธาตุ สิรสา นมามิ"  แปล ว่า "ข้าพเจ้าขอนมัสการ พระบรมอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปเถระเจ้า นำมาฐาปนาไว้ ณ ภูกำพร้า ด้วยเศียรเกล้า"
 
            งานนมัสการพระธาตุพนมประจำปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 8 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3

ที่มา http://www.thatphanom.com/2403/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิดวันอาทิตย์.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 21, 2011, 12:14:17 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ๗ พระธาตุประจำวันเกิด จ.นครพนม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 19, 2011, 08:19:22 pm »
0
พระธาตุประจำวันเกิดวันจันทร์


           พระธาตุเรณู เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันจันทร์ มีคาถาสวดบูชาวันละ ๑๕ จบ ดังนี้ "อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา" ชื่อคาถาพระกระทู้เจ็ดแบก ใช้ทางคงกระพันชาตรี ประจำอยู่ทิศบูรพา องค์พระธาตุประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๕๐ กิโลเมตร

          ประวัติโดยย่อคือ ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เป็นพระธาตุคู่เมืองของชาวเรณูนคร โดยจำลองรูปทรงมาจากพระธาตุพนมองค์เดิม คือองค์ก่อนที่จะล้มในปี พ.ศ.๒๕๑๘ แต่มีขนาดเล็กกว่า สูง ๓๕ เมตร กว้างด้านละ ๘.๓๗ เมตร ภายในเจดีย์บรรจุคัมภีร์พระธรรม พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน เพชรนิลจินดา หน่องา และของมีค่าที่เจ้าเมืองเรณูนคร กับประชาชนนำมาบริจาค และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันต์ธาตุ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๙ มีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุเรณูนคร เป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑๑ - ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ รวม ๕ วัน ๕ คืน

          สิ่ง ของบูชาพระธาตุ ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกไม้สีเหลือง ธูป ๑๕ ดอก เทียนขาว ๒ เล่ม มีจำหน่ายที่ศาลาใกล้องค์พระธาตุ เว้นข้าวเหนียวปิ้งมองหาไม่เจอ และที่ศาลาแห่งนี้ยังมีห้องจำหน่ายวัตถุมงคลอีกด้วย เชื่อกันว่าผู้ที่ได้ไปนมัสการ จะได้อานิสงค์ส่งผลให้มีวรรณะงดงามผุดผ่องดังแสงจันทร์

          พระองค์แสน เป็นชื่อของพระพุทธรูปที่ประชาชนเคารพนับถือมากองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดธาตุเรณู เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง เป็นพระเนื้อทองตันทั้งองค์ หน้าตักกว้างและสูง ๕๐ เซนติเมตร เป็นพระคู่บ้าน คู่เมือง แต่จะสร้างเมื่อใด ใครสร้างไม่ได้มีหลักฐานแจ้งไว้ แต่ที่แน่ ๆ คือ สร้างมานานแล้ว สร้างก่อนที่จะสร้างพระธาตุเรณูในปี พ.ศ.๒๔๖๐ แผ่นทองที่นำมาหลอมเป็นองค์พระพุทธรูปได้มาจาก การบอกบุญขอบริจาคจากหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วเรณูนคร ได้แผ่นทองเหลืองที่ลงอักขระมาก็มี

เมื่อนำมาหล่อรวมนั้น กระทำในครั้งแรก หล่อไม่สำเร็จ ไม่ติดเบ้าพิมพ์ ต้องย้ายที่ไปหล่อใหม่จึงสำเร็จ แล้วอัญเชิญมาไว้ ณ อุโบสถหลังเก่าของวัดกลาง หรือวัดธาตุเรณู ในเวลาต่อมา เมื่อสร้างอุโบสถหลังใหม่แล้ว ก็อัญเชิญประดิษฐานอยู่ในอุโบสถหลังใหม่ของวัดเรณู อายุพระองค์แสนจึงมีอายุนานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว

          เหตุ ที่เรียกว่า พระองค์แสน เพราะว่ามีน้ำหนัก ๑๐ หมื่น มาตราชั่งของชาวบ้านกำหนดว่า ๑๒ กิโลกรัม เป็นหนึ่งหมื่น ๑๐ หมื่น จึงเท่ากับหนึ่งแสน เท่ากับ ๑๒๐ กิโลกรัม เท่ากับน้ำหนักขององค์พระทอง

          ชาวบ้านเคารพพ่อองค์แสนมาก เวลาที่ปีไหนเกิดแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็จะอัญเชิญหลวงพ่อลงจากอุโบสถ ทำการแห่แหนไปตามสายต่าง ๆ ทั่วเรณูนคร เพื่อให้ประชาชนได้เคารพบูชา และสรงน้ำพระ เป็นการอธิษฐานรวมพลังให้ฟ้าฝนตกลงมา และในวันสงกรานต์ก็จะมีการอัญเชิญพระองค์แสน นำหน้าขบวนนางสงกรานต์ แห่ไปรอบเมืองในพิธีนี้ จะได้เห็นการฟ้อนรำของสาวสวยชาวเรณูนคร

          ดิน แดนสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงแถบนี้ เดิมเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตรบูร ตัวเมืองศรีโคตรบูร ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือ ฝั่งประเทศลาวเดี๋ยวนี้ อยู่บริเวณทางใต้ของเซบั้งไฟ ตรงกันข้ามกับพระธาตุพนม อาณาจักรนี้ถือเป็นแคว้นหนึ่งในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนั้นมีแคว้นอยู่หลายแคว้น เช่น แคว้นล้านช้าง แคว้นสิบสองจุไทย แคว้นจำปาศักดิ์ และแคว้นศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) เป็นต้น แต่ละแคว้นจะมีเจ้าผู้ครองนคร ปกครองตนเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน

          มาถึงสมัยพญานันทเสน เจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร เมื่อได้สวรรคตแล้ว บรรดาเหล่าเสนาอำมาตย์ ตลอดจนราษฎรทั้งหลายเห็นว่า บ้านเมืองตั้งอยู่ตรงนี้มีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นเสมอ ควรจะย้ายผู้คนไปสร้างเมืองกันใหม่ โดยไปสร้างยังฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง (ฝั่งไทย) ซึ่งเป็นบริเวณป่าไม้รวก แล้วตั้งชื่อเมืองแห่งนี้ว่า "เมืองมรุกขนคร" อันมีความหมายว่า เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในดงไม้รวก

          ใน สมัยที่พญาสุมิตตธรรมิกราช ได้เป็นเจ้าผู้ครองเมืองมรุกขนครอยู่นั้น ปรากฎว่าอาณาจักรศรีโคตรบูร มีอาณาเขตขยายออกไปกว้างขวาง มีเมืองต่าง ๆ มาขึ้นต่อเมืองมรุกขนคร หรืออาณาจักรศรีโคตรบูร ชื่อเมืองสุวรรณภูมิ เมืองจันทบุรี หรือเวียงจันทน์ในปัจจุบัน เมืองร้อยเอ็ดพระนคร และได้มีการบูรณะองค์พระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยก่อกำแพงล้อมไว้ เมื่อสร้างเสร็จแล้วมีการฉลองสมโภช และได้มอบหมายให้หมู่บ้านทั้ง ๗ แห่ง ที่อยู่ในเขตแดนนั้นเป็นผู้ดูแลรักษาองค์พระธาตุ และยังมีไพร่พลให้อยู่ดูแลรักษา และปรนนิบัติองค์พระธาตุพนมอีกเป็นจำนวนถึงสามพันคน

          ต่อจากพญาสุมิต ฯ ได้มีเจ้าผู้ครองนครต่อมาอีกสององค์ มรุกขนครจึงถึงกาลวิบัติ ผู้คนพากันเจ็บป่วยล้มตายกันเป็นอันมาก ในที่สุดจึงมีการอพยพหนีภัย ทิ้งให้มรุกขนครกลายเป็นเมืองร้าง จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ.๑๘๐๐ พระเจ้ารามบัณฑิต กษัตริย์แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้โปรดให้เจ้าศรีโคตร ผู้เป็นโอรส มาสร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่ ใต้เมืองท่าแขก ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง กลับมาสร้างทางฝั่งลาวเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็ให้อยู่ครองเมืองนั้นต่อไป

          พ.ศ.๒๐๕๗ พระเจ้านครหลวงพิชิตทศพิธราชานีศรีโคตรบูรหลวง หรือเจ้าหน่อเมือง ซึ่งเป็นผู้ครองเมืองมรุกขนคร ลำดับที่ ๓ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่า "เมืองศรีโคตรบูร" ให้ตรงตามชื่ออาณาจักรดั้งเดิม และได้ข้ามแม่น้ำโขงมาบูรณะปฎิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม

          พ.ศ.๒๒๘๐ พระบรมราชา หรือเอวก่าน อีสาน เรียกว่า แอวก่าน เป็นเจ้าเมืองศรีโคตรบูรองค์สุดท้าย ได้ย้ายเมืองมาตั้งบนฝั่งขวา ย้ายกลับมาฝั่งประเทศไทย เยื้องเมืองเก่าขึ้นไปทางเหนือ แล้วตั้งชื่อเมืองว่า "เมืองนคร"

          พ.ศ.๒๓๒๑ ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มีการย้ายเมืองอีกครั้งหนึ่งไปตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ห่างจากที่เดิมไปประมาณ ๕๒ กิโลเมตร

          พ.ศ.๒๓๓๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมราชา หรือเจ้าอู่แก้ว เจ้าผู้ครองเมืองนครถึงแก่พิราลัย พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ทรงตั้งให้ท้าวพรหม โอรสของเจ้าเมืองเดิมเป็นพระบรมราชา ขึ้นครองเมืองแทน แต่ได้นำเครื่องบรรณาการมาถวาย ขอขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร ฯ และได้ชื่อเมืองใหม่ว่า "เมืองนครพนม" นับตั้งแต่นั้นมา


          เมือง นครพนม ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองหนึ่ง ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร ฯ เจ้าเมืองมีราชทินนามว่า พระพนมนครานุรักษ์ ศรีสิทธิศักดิ์ เทพลือยศบุรีศรีโคตรบูร "ระหว่างนี้การศึกของประเทศเพื่อนบ้านก็มีอยู่เสมอ เป็นผลให้ผู้คนอพยพข้ามมาอยู่ฝั่งไทยกันหลายเผ่าพันธุ์"

          พ.ศ.๒๔๕๗ ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเสียใหม่ มี มณฑล จังหวัด อำเภอ นครพนมจึงยกขึ้นเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก คือ พระยาพนมนครานุรักษ์

          ในนครพนมนั้นมีชาวไทยหลายเผ่า ที่สำคัญมี ๗ เผ่า คือ ไทยย้อ (ญ้อ) , ผู้ไทย , ไทยกะเลิง, ไทยแสก, ไทยโส้ หรือไทยกะโซ้ ,ไทยข่า และเผ่าไทย - ลาว ชาวเรณูนครนั้นมีเผ่า ผู้ไทย หรือบางทีก็ไปเรียกว่า ภูไท มากที่สุด แทบจะทั้งอำเภอเลยทีเดียว ทั้งเรณูนครไม่มีชาวต่างด้าวอยู่เลย ได้แก่ ชาวจีน และชาวญวน เพราะเคยมีเรื่องบาดหมางกันมาแต่ดั้งเดิม ทำให้พวกเชื้อสายจีน และญวนอยู่ในเรณูนครไม่ได้

          เมื่อทางราชการย้ายที่ตั้งอำเภอเรณูนคร ไปตั้งที่ตำบลธาตุพนม เพราะเห็นว่าติดแม่น้ำโขง และมีองค์พระธาตุพนมอยู่ที่ตำบลนี้ ชาวเรณูนครจึงน้อยใจ เพราะคิดว่าน่าจะมาจากชาวจีนอยู่ที่ธาตุพนมมาก จนค้าขายร่ำรวยจึงมีอิทธิให้ย้ายตัวอำเภอเรณูนครไปตั้งที่อำเภอธาตุพนม ชาวเรณูจึงไม่คบค้าสมาคมกับชาวจีน เมื่อเรณูย้ายกลับมาตั้งที่ตั้งในปัจจุบันนี้แล้ว ชาวจีนก็ไม่กล้าตามมาตั้งรกรากถิ้นฐานในเรณูนคร
 
          ส่วนชาวญวนนั้น สาเหตุมีมาตั้งแต่ชาวผู้ไทยยังอยู่ที่ถิ่นเดิม คือ เมือง น้ำน้อย อ้อยหนู หรือแถน ถูกพวกญวนรังแก ชาวผู้ไทยจึงไม่กล้าคบค้าสมาคมกับพวกญวน และไม่ค้าขายด้วย เมื่อชาวผู้ไทยมาอยู่ที่เรณูนครแล้ว เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ มีคนญวนอพยพไปตั้งหลักแหล่งที่เรณูนคร คนญวนไปแย่งกิจการค้า การทำมาหากินของคนผู้ไทยในเรณูนคร จึงพากันขับไล่ พวกญวนทนไม่ได้ต้องอพยพไปอยู่ที่ตัวจังหวัดนครพนม

          เรณูนคร จึงไม่มีชาวจีน และชาวญวนหรือคนต่างด้าวอื่น ๆ อยู่ในอำเภออีกเลย
          ชาวผู้ไทยมีอยู่หลายจังหวัดในภาคอีสาน คือ
          จังหวัดกาฬสินธ์ ๕ อำเภอ ๖๓ หมู่บ้าน
          จังหวัดนครพนม ๕ อำเภอ ๑๓๒ หมู่บ้าน แต่มากที่สุดในอำเภอนาแก มี ๗๘ หมู่บ้าน
          จังหวัดมุกดาหาร มี ๔ อำเภอ ๖๘ หมู่บ้าน
          จังหวัดสกลนคร ๘ อำเภอ ๒๑๒ หมู่บ้าน


และยังมีอีกบ้างในจังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี หนองคาย ยโสธร ร้อยเอ็ด รวมแล้วอีก ๒๐ หมู่บ้าน
ส่วน ในอำเภอเรณูนครนั้นมี ๓ ตำบล คือ ตำบลโพนทอง ตำบลเรณู และตำบลท่าลาด แต่ตำบลท่าลาด ไม่มีชาวผู้ไทยตั้งหลักแหล่งอยู่เลย รวมแล้ว ๒ ตำบล มีชาวผู้ไทย ๑๙,๐๐๐ คนเศษ

          ตามตำนานการอพยพได้กล่าวไว้ในพงศาวดารล้านช้าง เล่าไว้ว่า
ที่ เมืองน้ำน้อย อ้อยหนู หรือเมืองแถน มีปู่เจ้าลางเชิง ขุนเค็ก ขุนคาน ปกครองชาวผู้ไทยเมื่อเกิดทุพภิกขภัย พญากา หัวหน้าผู้ไทยคนหนึ่งได้เกิดขัดแย้งกับเจ้าเมือง จึงชักชวนชาวผู้ไทยจำนวนหนึ่งมาอยู่ที่เมืองวังอ่านคำ ในแขวงสุวรรณเขต ในปัจจุบัน ที่เมืองแห่งนี้มีชาวข่า อาศัยอยู่ก่อนแล้ว จึงเกิดพิพาทกันขึ้น ต่อมาชาวผู้ไทยถูกชาวข่า และชาวจีนฮ่อบุกรุกทำลายเผาบ้านเรือน และจับเอาพญาเตโช หัวหน้าชาวผู้ไทยไปเมืองจีน พญาเตโชได้สั่งลูกหลานว่า อย่าอยู่เมืองวังเลย ให้อพยพไปอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงเสียเถิด ฝั่งขวาหมายถึง ฝั่งประเทศไทย

 
          ชาวผู้ไทย โดยการนำของท้าวเพชร และท้าวสาย จึงพาชาวผู้ไทยอพยพมาจากเมืองวัง อพยพข้ามมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยการต่อเรือ ต่อแพล่องแม่น้ำโขงลงมา จนมาถึงบ้านพระกลาง เขตอำเภอธาตุพนม พระภิกษุเจ้าสำนักธาตุพนม ในเวลานั้น ได้แนะนำให้ไปตั้งบ้านเรือนที่ "ดงทวายสายบ่อแก" ชาวผู้ไทยจึงต้องอพยพกันต่อไป และตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า "เมืองเว"

          รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้า ฯ ให้ท้าวสาย เป็น "พระแก้วโกมล" เจ้าเมืองคนแรก และยกบ้านนี้ขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร ขึ้นกับเมืองนครพนม ซึ่งปัจจุบันคือ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ชาวผู้ไทยนั้นมี ผู้ไทยดำ และผู้ไทยขาว ซึ่งผู้ไทยที่อยู่เมืองไทยนั้น น่าจะเป็นผู้ไทยดำ ทั้งนี้เพราะความแตกต่างทีสำคัญของชาวผู้ไทยดำ - ขาว คือ เครื่องแต่งกาย

          ชาวผู้ไทยดำ ก็มีผิวขาวสวย ยิ่งสาว ๆ ยิ่งสวย แต่ทั้งชายและหญิง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ หรือสีคราม ในถิ่นเดิม คือแคว้นสิบสองจุไทย นั้นมี ๘ เมือง ได้แก่ เมืองควาย เมืองแถง หรือเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู เมืองดุง เมืองม่วย เมืองลา เมืองโมะ เมืองหวัด เมืองซาง
 
          กลุ่มผู้ไทยขาว ในแคว้นสิบสองจุไทย มี ๔ เมือง ได้แก่ เมืองไล เมืองเจียน เมืองมุม เมืองบาง ชาวผู้ไทยขาวเลยขาวทั้งตัว ผิวก็ขาว เสื้อผ้าก็สีขาว
          ชาวผู้ไทยเรณูนครนั้น น่าจะมาจากเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูมากกว่าเมืองอื่น จึงเชื่อกันว่าผู้ไทยในเมืองไทยเป็นชาวผู้ไทยดำ


          หากมายังเรณูนคร จะผ่านประตูเมืองของเขาเข้ามา ถนนสายนี้จะมุ่งไปยังองค์พระธาตุเรณู ที่วัดพระธาตุเรณู และสองข้างทางมีร้านขายสินค้าพื้นเมือง ที่ขึ้นชื่อลือนามที่สุดคือ "อุ" ใส่ไห ผนึกปิดฝาเอาไว้ ซื้อใส่รถไปได้ จะกินกันเมื่อไรก็นั่ล้อมวงรอบไห แล้วเอาน้ำเทลงไปในไหก็จะกลายเป็นเหล้า ให้ดูดกินได้ กินอุไม่รินใส่แก้ว ต้องใช้หลอดดูดจากในไห และสาวเรณูยั่วหนุ่มต่างเมืองดีนัก เช่น ในการรับรอง เป็นต้น สาวเรณูผู้ไทยแสนสวยจะมาร่วมดื่มอุด้วย อย่าไปดื่มแข่งกับเธอ ก็แล้วกันจะเมานอนเสียก่อน ไม่ทันคุย

          ในวัดธาตุเรณู มีโรงละครน่าจะเป็นของศูนย์วัฒนธรรม ชื่อโรงละครเมืองเว
 ชื่อเว ก็มาจากชื่อของเมืองเรณูนคร ที่ตั้งครั้งแรกนั้นเอง แต่น่าเสียดาย ที่ชาวผู้ไทยมีศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง น่าจะจัดการแสดงให้มีกำหนดเวลาแน่นอน เช่น ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ต้นเดือน หรือเดือนละ ๒ ครั้ง เป็นต้น หากประชาสัมพันธ์ให้ดี ๆ รับรองว่า จะมีผู้เที่ยวชมกันแน่นทีเดียว


          การฟ้อนที่สำคัญที่น่าชมอย่างยิ่งของชาวผู้ไทย ซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่ยังอยู่ในถิ่นเดิมคือ เมืองแถง หรือเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู ในแคว้นสิบสองจุไท การฟ้อนผู้ไทยเรียกว่า "รำผู้ไทย" ดั้งเดิมนั้นจะมีการฟ้อนเน้นความสนุกสนานภายในกลุ่มที่ร่วมฟ้อนด้วยกัน เช่น ในงานทำบุญมหาชาติ งานนมัสการพระธาตุเรณู และงานเทศกาลอื่น ๆ ท่ารำของรำผู้ไทยได้ดัดแปลงมาจากการเดิน การบิน การเต้นของสัตว์

เพราะชาวผู้ไทยมีอาชีพทำนา ขณะไถนาจะมีการ หรือนกหลายประเภท ลงมาหากินตามทุ่งนา และมีการหยอกล้อกัน ฟ้อนผู้ไทยจึงได้ดัดแปลงมาเป็นท่ารำ ท่ารำนั้นมากมายหลายท่า แสดงถึงการเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ท่านกกะบาบิน ท่ากาเต้นก้อนขี้ไถ ท่ากาเต้นก้อนข้าวเย็น ท่าเสือออกท่า ท่าเสือชมหมอก ท่ามวยโบราณ ท่าจระเข้ฟาดหาง ท่ารำเกี้ยว เป็นต้น

ที่มา  http://www.thatphanom.com/2404/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิดวันจันทร์.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 21, 2011, 12:14:48 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ๗ พระธาตุประจำวันเกิด จ.นครพนม
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: เมษายน 19, 2011, 08:23:07 pm »
0
พระธาตุประจำวันเกิดวันอังคาร


            พระธาตุศรีคุณ หรือศรีคูณนี้ เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันอังคาร ซึ่งมีพระพุทธรูปประจำวันเกิด ของคนวันเกิดวันนี้เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์  (ประทับนอน ตะแคงขวา พระหัตถ์ขวาจะขึ้นประคองเศียรให้ตั้งขึ้น)  องค์พระธาตุประดิษฐานอยู่ที่วัดธาตุศรีคูณ บ้านนาแกน้อย หมู่ ๓ ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

          วัดธาตุศรีคูณ ตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ลักษณะของพระธาตุเช่นเดียวกับพระธาตุพนม ซึ่งจะเป็นที่น่าสังเกตว่า พระธาตุในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม ที่สำคัญมักจะมี

ลักษณะเช่นเดียวกับองค์พระธาตุพนม ที่อำเภอธาตุพนม ซึ่งเป็นพระธาตุที่สำคัญองค์หนึ่ง พระธาตุศรีคูณ ก็เช่นกันคือ มีลักษณะคล้ายกับพระธาตุพนม ต่างกันที่ชั้น ๑ มี ๒ ตอน เป็นรูปสี่เหลี่ยม ประดับลวดลายปูนปั้น แต่ชั้นที่ ๒ สั้นกว่าพระธาตุพนม ภายในบรรจุพระอรหันต์ธาตุของโมคคลานะ พระสารีบุตร และพระสังกัจจายนะ ใครได้ไปนมัสการพระธาตุศรีคุณ ไม่ว่าจะเกิดวันใด จะได้อานิสงค์ให้มีศักดิ์ศรีทวีคูณ

          คาถาบูชาดวงประจำวันเกิดวันอังคาร "ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง"  สวดบูชาวันละ ๘ จบ ชื่อคาถาฝนเสน่หา ใช้ทางเมตตามหานิยม ประจำอยู่ทิศอาคเนย์ หรือตะวันออกเฉียงใต้

          สิ่งของบูชาพระธาตุ ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวหนียวปิ้ง ดอกไม้สีชมพู ธูป ๘ ดอก เทียนขาว ๒ เล่ม

        สร้างมานานแล้ว และเพิ่งมาค้นพบเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๐ ส่วนจะสร้างเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน ผู้ที่ค้นพบคือกลุ่มชาวบ้านที่เป็นชาวลาวอพยพมาอยู่ในนาแกจะสร้างหมู่บ้าน จึงพบองค์พระธาตุร้าง และต่อมาจึงมีการสร้างวัดพระธาตุ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑ ภายในวัดมีหลักฐานสำคัญ คือ

           พระธาตุที่มีลักษณะเดียวกับพระธาตุพนม
           หอแจก เป็นหอแจกแบบโปร่ง ยกพื้นสูง ผนังเปิดโล่ง ทั้ง ๓ ด้าน สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒
            ใบเสมา ปักอยู่รอบอุโบสถในลักษณะการยึดคติตามทิศทั้งแปด จำนวนทั้งหมด ๑๑ ใบ และมี ๒ แบบคือ แบบที่มีลวดลายสลักและแบบเรียบ แบบสลักนั้นลวดลายลักษณะเป็นภาพสัญลักษณ์ทางพุทธศานาเช่น สถูป หม้อปุรณฏะ ลายกลีบบัว ลายคั่นลูกประคำ ซึ่งจัดอยู่ในสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖ คือประมาณพันปีล่วงมาแล้ว


เชื่อว่าผู้ใดได้ไปนมัสการจะได้รับอานิสงส์ให้มีศักดิ์ศรีทวีคูณ

ที่มา  http://www.thatphanom.com/2405/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิดวันอังคาร.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 21, 2011, 12:15:29 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ๗ พระธาตุประจำวันเกิด จ.นครพนม
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: เมษายน 19, 2011, 08:25:52 pm »
0
พระธาตุประจำวันเกิดวันพุธ


         พระธาตุมหาชัยองค์เดิม ได้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ โดยดำริของหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ โดยที่สร้างแล้วองค์พระธาตุมีรูปทรงแปดเหลี่ยม ฐานพระกว้าง ๓๒ เมตร ยาว ๓๒ เมตร มี ๒ ชั้น ชั้นล่างสูง ๒.๕๐ เมตร ชั้นบนสูง ๒ เมตร องค์พระธาตุสูง ๑๐.๕๐ เมตร รวมทั้งฐานด้วยสูง ๑๕ เมตร หากนับจนถึงฉัตรด้วยจะสูง ๑๖ เมตร

            พ.ศ.๒๕๑๒ ศิษย์ของหลวงปู่คือ พระมหาเฉวต จำพรรษาอยู่ที่นครเวียงจันทร์ ได้เดินทางมาเยี่ยมหลวงปู่ และได้นำเอาพระอรหันต์สารีริกธาตุของพระอัญญาโกญฑัญญะ ปฐมสาวกถวายแก่หลวงปู่ เพราะเห็นว่าหลวงปู่กำลังจะสร้างพระธาตุอยู่

            พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงปู่ทำพิธีวางศิลาฤกษ์พระธาตุ
            พ.ศ.๒๕๑๗ พล.ตำบลท.วศิษฐ์ เดชกุญชร (ยศในขณะนั้น) ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมชุดคุ้มครองตำบล (ช.ค.ตำบล) และชุดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน ได้มาเห็นองค์พระธาตุเกิดความเลื่อมใส และขอทราบประวัติความเป็นมาขององค์พระธาตุตลอดจนการก่อสร้าง ได้นำความไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายตำรวจประจำราชสำนัก)


          ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่องค์พระธาตุมหาชัย และทรงเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุด้วยพระองค์เอง พร้อมด้วยข้าราชบริพาร และพสกนิกร

          พระธาตุองค์ปัจจุบันเป็นพระธาตุที่หลวงปู่คำพันธ์ ดำริที่จะสร้างองค์พระธาตุรอบองค์เดิม ให้มีระยะห่างจากองค์เดิม ๑ เมตร และจะมีความสูงรวมทั้งฐานด้วยจะสูง ๓๗ เมตร มีความหมายเป็นปริศนาธรรมมคือ แปดเหลี่ยม หมายถึงมรรคมีองค์แปด และที่สูง ๓๗ เมตร หมายถึงธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ ๓๗ ประการ

          มรรคแปดได้แก่สัมมาทิฎิฐิ ความเห็นชอบ, สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ, สัมมาวาจา เจรจาชอบ, สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ, สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ, สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ, สัมมาสติ ระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

          ส่วนโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการคือ ธรรมอันเป็นเครื่องตรัสรู้ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๘ และมรรค ๘

          ซึ่งการสร้างครอบครั้งนี้ทางวัดต้องทำหนังสือถึงสำนักพระราชวัง เพื่อขออนุญาตฺสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบองค์เดิม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ภายในวัดยังมีกุฎฺหลวงปู่คำพันธ์ หอระฆัง โรงเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญ ในศาลามีรูปเหมือนของหลวงปู่

ภายในศาลาการเปรียญมีพระพุทธชินราชจำลอง ตามฝาผนังจะเป็นจิตรกรรมฝาผนัง เขียนภาพในพุทธประวัติ ในอุโบสถมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มหาชัยจำลองมาจากองค์จริงที่อยู่บนกุ ฎิหลวงปู่ เป็นพระประธาน มีพระพุทธรูปยืนที่แกะสลักจากไม้สะเดา ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในอุโบสถยังมีภาพพุทธประวัติ ภาพการอพยพมาสร้างหมู่บ้าน การสร้างพระธาตุ และการเสด็จมาบรรจุพระบรมธาตุของพระเจ้าอยู่หัว วัดพระธาตุมหาชัย ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ๔๘๑๖๐

คาถาบูชาพระธาตุมหาชัย ของคนเกิดวันพุธกลางวัน คือ "ปิ สัม ระโล ปุ สัต พุท" ให้สวดบูชา ๑๗ จบ
ชื่อคาถาพระนารายณ์เลื่อนสมุทร ใช้เสกปูนสูญผี

          คาถาบูชาพระธาตุมหาชัย ของคนเกิดวันพุธกลางคืน คือ "คะ พุท ปัน ทู ธัม วะ คะ"  ให้สวดบูชาวันละ ๑๒ จบ ชื่อคาถาพระนารายณ์พลิกแผ่นดิน ใช้ทางแก้ความผิด

          ใครจะเกิดวันไหนก็ตาม หากได้มีโอกาสไปนมัสการพระธาตุมหาชัย และจะได้อานิสงฆ์ประสบชัยชนะในชีวิต

          สิ่งของบูชาพระธาตุ มีข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกบัว ธูป ๑๗ ดอก หรือ ๑๒ ดอก สุดแล้วแต่จะเกิดเวลากลางวัน หรือกลางคืน  เทียนขาว ๒ เล่ม


ที่มา  http://www.thatphanom.com/2406/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิดวันพุธ.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 21, 2011, 12:15:59 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ๗ พระธาตุประจำวันเกิด จ.นครพนม
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: เมษายน 19, 2011, 08:27:54 pm »
0
พระธาตุประจำวันเกิดวันพฤหัสบดี


          พระธาตุประสิทธิ์  พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันพฤหัสบดี มีคาถาบูชาพระธาตุว่า "ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ"  สวดบูชาวันละ ๑๙ จบ ชื่อคาถา พระนารายณ์ตรึงไตรภพ บูชาแล้วจะเกิดเมตตามหานิยม ประจำอยู่ทิศประจิม หรือตะวันตก

          ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๙๓ กิโลเมตร เดิมเป็นเจดีย์โบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๓๖ จึงได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ โดยจำลองรูปทรงมาจากองค์พระธาตุพนม ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม วัดโดยรอบฐานได้ ๒๐.๘๐ เมตร สูง ๒๘.๕๒ เมตร

พระธาตุประสิทธิ์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ถึง ๗ องค์ และยังบรรจุพระอรหันต์ธาตุเอาไว้อีก ๑๔ องค์ บรรจุจากสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ในอุโมงค์พระธาตุยังได้มีการบรรจุพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ ซึ่งพบอยู่ในอุโมงค์พระธาตุ เมื่อครั้งบูรณะครั้งใหญ่ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธบาทจำลอง ที่อัญเชิญมาจากกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ไว้อีกด้วย

          พระธาตุองค์นี้มีความสำคัญ และความศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นพระธาตุองค์เดียวในประเทศไทย ที่มีการบรรจุสิ่งสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาไว้ครบหมด เป็นโบราณวัตถุที่เก่าแก่เป็นปูชนียวัตถุ ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้สักการะเป็นอย่างยิ่ง เป็นหลักยึดเหนี่ยวของพระพุทธศาสนิกชนทั่วไป จัดว่าเป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐของชาวพุทธโดยแท้   

           ที่ศรีสงครามเป็นอำเภอที่แม่น้ำยมมาบรรจบกับแม่น้ำสงคราม ทำให้เกิดแหล่งปลาชุกชุม ชาวบ้านจึงหาวิธีถนอมอาหารด้วยการทำปลาร้า ปลาร้าที่บ้านปากยามขึ้นชื่อว่าอร่อย และสะอาดที่สุด ซื้อแล้วให้เขาห่อให้อย่างดีรับรองว่าเอากลับมาบ้านได้ ปลาที่ศรีสงครามบ้านปากยามนำมาทำปลาร้าคือ ปลาหนัง ซึ่งเป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด หมักกับเกลือสินเธาว์ บวกกับสูตร และความชำนาญเฉพาะถิ่น ผลิตส่งออกขายทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปเป็นแจ่วบองด้วย ปลาร้าที่บ้านปากยามนี้จะหมักในไหที่ปั้นจากบ้านโนนตาล ซึ่งบ้านโนนตาลนี้อยู่ในอำเภอท่าอุเทน เป็นหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาเช่น โอ่ง ครก ไห ที่ปั้นจากดินคุณภาพดี

ที่มา  http://www.thatphanom.com/2407/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิดวันพฤหัสบดี.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 21, 2011, 12:16:26 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ๗ พระธาตุประจำวันเกิด จ.นครพนม
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: เมษายน 19, 2011, 08:29:37 pm »
0
พระธาตุประจำวันเกิดวันศุกร์


        "พระธาตุท่าอุเทน" พระธาตุประจำวันเกิดวันศุกร์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุอุเทน อ.ท่าอุเทน สร้างเมื่อปีพ.ศ.2455 เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยม จำลองมาจากพระธาตุพนม แต่มีขนาดเล็กและสูงกว่าพระธาตุพนม ภายในบรรจุดพระพุทธสารีริกธาตุ ที่อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า รวมทั้งพระพุทธรูปและของมีค่าต่างๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธาบรรจุถวายเอาไว้

         เชื่อกันว่าผู้ที่เกิดวันนี้เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รักอิสระ รักสวยรักงาม พระธาตุองค์นี้มีสิ่งที่ตรงกับเทพประจำวันศุกร์ คือพระธาตุหันไปทางทิศเหนือของพระธาตุพนม ตรงกับทิศประจำของพระศุกร์ ผู้ที่ไปนมัสการพระธาตุแห่งนี้จะได้รับอานิสงส์ให้ชีวิตมีความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ
 
          องค์พระธาตุมีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม สูง 33 วา จำลองแบบมาจากพระธาตุพนมองค์เดิม แต่มีขนาดเล็กกว่า เรือนธาตุมีสองชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นมีซุ้มประตูหลอกทั้งสี่ทิศ เหนือซุ้มประตูมีทับหลังเป็นปูนปั้นลายดอกบัวบาน รูปบุคคล และสัตว์ต่าง ๆ โดยมีลายพรรณพฤกษาเป็นพื้นหลัง ตามกรอบซุ้มประตูบนเรือนธาตุก็มีลายพรรณพฤกษาประดับอยู่เช่นกันภายในองค์ ธาตุเป็นอุโมงค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ซึ่งพระอาจารย์สีทัตถ์ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า นอก จากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำและของมีค่าอื่น ๆ ที่ผู้ศรัทธานำมาถวาย บรรจุไว้ในองค์ธาตุด้วยบนกำแพงแก้วรอบองค์ธาตุมีประติมากรรมปูนปั้นฝีมือของ พระอาจารย์สีทัตถ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสุภาษิตคำพังเพยพื้นบ้าน ตลอดจนการจำลองนรก-สวรรค์

ที่มา  http://www.thatphanom.com/2408/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิดวันศุกร์.html

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 21, 2011, 12:16:51 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ๗ พระธาตุประจำวันเกิด จ.นครพนม
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: เมษายน 19, 2011, 08:33:02 pm »
0
พระธาตุประจำวันเกิดวันเสาร์


            พระธาตุนคร  เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์ คาถาบูชาดวงประจำวันเกิดวันเสาร์คือ  "โส มา ระ กะ ริ กา โธ "สวดบูชาวันละ ๑๐ จบ ชื่อคาถาพระนารายณ์ถอดจักร ใช้ทางถอดคุณไสยศาสตร์ ประจำอยู่ทิศหรดี คือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้

          ประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ ถนนสุนทรวิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม พระธาตุนครมีลักษณะสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๕.๘๕ เมตร สูง ๒๔ เมตร ก่อสร้างเสร็จในเดือนเพ็ญของปี ๒๔๖๕ มีรูปแบบคล้ายพระธาตุพนมองค์เดิม องค์ก่อนที่จะสร้างขึ้นใหม่ที่เห็นในปัจจุบัน ภายในบรรจุพระอรหันต์สารีริกธาตุ พร้อมกับองค์พระพุทธรูปทองคำ และของมีค่าต่าง ๆ ที่ประชาชนผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย เพื่อบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ

          พระธาตุนคร เป็นประธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์ เชื่อกันว่าไม่ว่าผู้ใดจะเกิดวันไหนก็ตาม หากได้มีโอกาสไปนมัสการพระธาตุองค์นี้แล้ว จะได้รับอานิสงค์ส่งเสริมบุญบารมี และมีอำนาจวาสนา เป็นเจ้าคนนายคน

          พ.ศ.๒๔๖๒  เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ และเจ้าคณะจังหวัดนครพนม จึงเชิญญาติโยมและข้าราชการมาประชุม มีท่านเจ้าเมืองมาประชุมด้วย เพื่อจะค้นหาว่าแสงสว่างที่เกิดขึ้นนั้นมาจากที่ใด เพราะองค์พระธาตุในวัด ก็เก่าแก่ทรุดโทรมมาก ด้วยไม่ได้มีการบูรณะมานับพันปีแล้ว จึงเห็นควรรื้อถอน เพื่อพื้นที่วัดจะได้กว้างขึ้น

จึงตกลงรื้อถอนเพื่อค้นหาพระธาตุ พอรื้อไปได้สัก ๔ - ๕ ธาตุ ก็พบเข้าจริง ๆ เป็นพระธาตุองค์เล็ก เก่าแก่มากมีรากต้นโพธิ์ร้อยรัดอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอรหันต์ธาตุอยู่ พอเปิดดูข้างในพระธาตุก็พบผอบไม้จันทร์แดงอยู่หนึ่งใบ และใต้พระธาตุยังมีงูดำตัวใหญ่ ขนาดลำแข้งของคนตัวใหญ่ ๆ อยู่ตัวหนึ่ง นอนนิ่งอยู่ น่าจะเป็นงูผู้รักษาพระธาตุ

จากนั้นนำผอบไปเปิดดูที่อุโบสถก็พบว่ามี พระพุทธรูปทองคำขนาดหน้าตัก ๒ นิ้ว ๔ องค์  พระพุทธรูปเงิน ๒ องค์ แผ่นทอง บาง ๆ ยาว ๆ ประมาณ ๑ คืบ ๑ แผ่น และมีผอบไม้จันทร์แดงขนาดเท่าไข่เป็ดอีก ๑ ผอบ เปิดดูมีพระสารีริกธาตุอยู่ ๒๐ องค์ ขนาดเท่าเม็ดพุทรา มีนานฝ้ายห่อหุ้มอยู่

            จากนั้นจึงมีการประชุมเพื่อหาฤกษ์งามยามดี สร้างพระธาตุขึ้นเพื่อบรรจุพระอรหันต์สารีริกธาตุ และพระธาตุนคร ก็ได้เริ่มสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓  แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๖๕  นับเป็นพระธาตุคู่เมืองนครพนม
 
            หากมาจากธาตุพนมตามถนนสาย ๒๑๒ หรือมาจากสกลนครตามถนนสาย ๒๒ เมื่อมาถึงริมโขงมีสามแยกก็ตรงมา หรือเลี้ยวซ้ายเข้าเมือง ผ่านโรงแรมที่ผมพัก ซึ่งโรงแรมนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงในจุดที่มีวิวสวยมาก โดยเฉพาะยามเช้า ชมดวงอาทิตย์ขึ้นไปต้องไปชมที่ไหน ตื่นให้ทัน ชมจากหน้าต่างห้องพักนั่นแหละ และหากคืนเดือนหงายแสงจันทร์จะทอดมายังชายหาดสีทอง มีเกาะทรายหน้าโรงแรม มีน้ำไหล และกระทบแสงจันทร์แล้วจะสวยมาก

          สิ่งของบูชาพระธาตุ ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ธูป ๑๐ ดอก เทียน ๒ เล่ม


ที่มา  http://www.thatphanom.com/2409/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิด/พระธาตุประจำวันเกิดวันเสาร์.html
ขอขอบคุณเว็บธาตุพนม http://www.thatphanom.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 21, 2011, 12:17:08 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

รีบอร์น

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 81
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ๗ พระธาตุประจำวันเกิด จ.นครพนม
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: เมษายน 21, 2011, 11:14:10 am »
0
อนุโมทนา กับความรู้เรื่อง พระธาตุ...ครับ

 :25:
บันทึกการเข้า