ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
  • สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน
แสดงกระทู้
This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.
    Messages   Topics Attachments  

  Messages - raponsan
หน้า: [1] 2 3 ... 708
1  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / 8 ความเชื่ออาถรรพ์เกี่ยวกับลางสังหรณ์ เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:08:07 am



 
8 ความเชื่ออาถรรพ์เกี่ยวกับลางสังหรณ์

คนไทยเรามีความเชื่อแปลกๆ อยู่มากมาย มีทั้งเรื่องดีที่ช่วยเสริมดวงเสริมโชคลาภ และเรื่องไม่ดีที่คนเฒ่าคนแก่มักจะคอยย้ำคอยเตือนเราอยู่เสมอว่าไม่ควรทำ วันนี้ขอยกมา 8 ความเชื่อแปลกๆ (บางคนอ่านแล้วอาจจะบอกไม่แปลกก็ได้ เพราะ “ฉันก็ยังเชื่ออยู่นะ”) ของคนไทยโบราณ ใครอยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง ไปดูกัน

@@@@@@@

1. จิ้งจก/ตุ๊กแกร้องทัก

คนที่พอได้ยินความเชื่อนี้ มักกังวลกันว่าห้ามออกจากบ้านเด็ดขาดหากได้ยินเสียงจิ้งจกร้องทัก ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม โดยเฉพาะหากอยู่ด้านหลังหรือตรงกับศีรษะของคุณ จริงๆ แล้วมีรายละเอียดยิ่งกว่านั้น

    - ตุ๊กแกร้อง 9 ครั้ง จะพบความสำเร็จทุกอย่าง
    - ตุ๊กแกร้อง 10 ครั้ง ถือกันว่าเป็นลาง สังหรณ์ที่ดีมาก ทั้งตัวเองและครอบครัวจะมีความสุขความเจริญ ทั้งลาภผลและร่ำรวยเงินทองมากมาย
    - จิ้งจงร้องทัก หากเสียงดังอยู่ เบื้องหน้า ให้รีบเดินทางจะพบโชคลาภความสำเร็จ
    - เสียงดังเบื้องหลังอย่าด่วนรีบไป ควรเปลี่ยนเวลาออกจากบ้าน มิฉะนั้นจะประสบโชคร้ายหรือผิดหวัง
    - เสียงดังจากเบื้องซ้าย การออกเดินทางนอกบ้านจะได้ผลดีประสบความสำเร็จ
    - เสียงดังเบื้องขวา การเดินทางจะไม่ได้ผลดีนักและอาจประสบเคราะห์
    - เสียงดังเบื้องบนศีรษะอย่าเดินทางไปไกลๆเป็นอันขาด จะประสบความเดือดร้อน **ตรงนี้อย่าสับสน ฟังดีๆ อยู่หน้า หรือ อยู่บนศีรษะ ฟังผิดชีวิตเปลี่ยนเลยนะคะ**

2. นกแสก

หากอยู่ๆ นกแสกบินมาเกาะที่หลังคาบ้านของคุณถือเป็นลางร้ายหรือจะมีเรื่องร้ายๆ ตามมา หรือหลายคนเชื่อว่าบ้านนั้นจะมีคนเสียชีวิต

เนื่องจากนกแสกเป็นสัตว์ที่มักจะไม่มาปะปนหรือมาให้ผู้คนพบเห็นได้ง่ายนัก คล้ายนกฮูก (จริง ๆ หน้านางก็น่าเอ็นดูอยู่นะคะ แอดว่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า) นางตื่นในเวลากลางคืน จึงถือเป็นสัตว์ที่ให้ความอัปมงคลแก่ผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้นะ หากได้ยินเสียงนกแสกร้อง ห้ามเอ่ยทักเด็ดขาด จนกว่ามันจะบินไป อย่างไรก็ตาม วิธีแก้เคล็ด คือ ให้จุดธูปเทียน พร้อมดอกไม้บูชา และสุรา อาหาร อาจเพิ่มด้วยข้าวสาร ข้าวตอก ผ้าขาวและเงินทอง กล่าวอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร ก็จะช่วยให้คนในครอบครัวปลอดภัยได้

3. การได้ยินเสียงคนร้องทักตอนกลางคืน

การได้ยินแบบนี้ ห้ามขานรับเด็ดขาดเพราะเชื่อกันว่าเป็นเสียงของดวงวิญญาณที่อาจจะมาหลอกหลอนหรือมาขอส่วนบุญส่วนกุศล หรือหากมองให้ลึกลงไปอีก หากเราขานรับ จะเปรียบเสมือนเป็นการเชื้อเชิญหรือยอมรับให้ดวงวิญญาณนั้นๆ เข้ามาในบ้าน และอาจจะเกิดเรื่องไม่ดีได้ (ถึงบ้านเมืองจะเจริญเป็นตึกสูงเต็มไปหมด ยังมีคนได้ยินเสียงกันอยู่นะคะ บางที่เป็นคอนโดยังได้ยินเสียงกันนอกระเบียงเลย)

4. เงาหัวไม่มี

ชะตาขาด ตามความเชื่อของคนโบราณที่บอกต่อๆกันมา โดยหนึ่งในความเชื่อ ก็คือ “เงาหัวขาด” หากเห็นใครไม่มีหัว นั่นแสดงว่าเขากำลังจะหมดบุญ คือถึงอายุขัยแล้ว หรือบางกรณีก็อาจจะเสียชีวิตกะทันหันเพราะมีเคราะห์หนัก (เสียก่อนถึงอายุขัย)

เห็นคนอื่นคอขาด ไม่มีเงาหัว โบราณว่าเอาไว้ อย่าเพิ่งไปทักคนๆ นั้นให้รู้ตัว แต่ให้รีบนำหมวก หวดนึ่งข้าว ผ้าถุงของแม่ หรืออุปกรณ์อะไรก็ตาม ไปครอบหัวทันทีในตอนนั้น และบอกว่า “ต่อหัวให้แล้วนะ” เป็นเคล็ดต่ออายุให้ยืนยาวออกไป

ส่องกระจก ไม่เห็นหัวตัวเอง แต่ถ้ามองในกระจกหรือมองในน้ำ แล้วไม่เห็นเงาหัวของตนเองก็เช่นกัน ให้เจ้าตัวรีบบอกผู้อื่น นำสิ่งของต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น มาครอบหัวทันที แล้วให้คนๆนั้นพูดว่า “ต่อหัวให้แล้วนะ”

ให้เร่งปล่อยสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า, สวดบทอิติปิโสให้มากกว่าอายุ 1 จบ, สวดมนต์สะเดาะเคราะห์ต่ออายุขัย บท “อุณหิสสะวิชะยะคาถา” ให้สวดทุกๆวันก่อนนอน หรือถ้ามีเวลาควรสวด เช้า – เย็น เพื่อเป็นการต่ออายุขัย และ ถือศีลปฏิบัติธรรมที่วัดเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน (อันนี้แอดไม่เล่นนะคะ เหตุการณ์ไม่ได้พบกันบ่อยครั้ง เร่งทำ เชื่อแอด)

5. ห้ามใช้หวีที่หักไปแล้ว

ไม่ว่าจะหวีไม้หรือพลาสติกก็ตาม มีความเชื่อว่าหากหวีผมอยู่แล้วหวีหัก ให้คิดไว้เลยว่าจะมีเรื่องร้ายเรื่องไม่ดีตามมา วิธีแก้เคล็ดคือ ให้ทิ้งไปเสีย อย่าเสียดายและอย่าเก็บกลับมาซ่อมหรือใช้ต่อ (ฉะนั้น ใช้ทรีทเม้นท์หมักผมกันบ่อนๆนะเธอ)

6. ห้ามเคาะจานข้าวเวลาทานข้าว

“เวลาทานข้าวอยู่ ห้ามเคาะจานข้าว” ตั้งแต่ยังเล็ก ผู้ใหญ่มักจะคอยบอกคอยสอนเรามาแบบนี้ เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการเรียกเชิญวิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณพเนจรให้มากินกับเราด้วย บางความเชื่อก็ว่าจะทำให้รู้สึกว่าทานเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม

7. ได้กลิ่นธูป

ตามความเชื่อหากได้กลิ่นธูปลอยมาโดยในบริเวณนั้นไม่มีใครจุดธูป เป็นเหตุบอกถึงว่าอาจมีวิญญาณของคนสนิท หรือญาติมาหา ให้จุดธูป 1 ดอกแล้วบอกเล่ากับดวงวิญญาณให้ไปสู่ที่สงบ

8. ห้ามตัดผมวันพุธ

เคยสังเกตกันไหมคะว่าทำไมร้านทำผมร้านตัดผมมักจะปิดวันพุธ เพราะเนื่องจากมีความเชื่อกันมาตั้งแต่โบราณแล้วว่าการตัดผมในวันพุธถือเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ควรทำ หากตัดผมในวันนี้ “วันพุธห้ามตัด (โบราณว่าหัวกุดท้ายเน่า) วันศุกร์ห้ามเผา วันเสาร์ห้ามแต่ง”

@@@@@@@

การมีความเชื่อเป็นสิ่งที่ดีนะคะ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องตั้งอยู่บนหลักการของเหตุและผล ความเชื่อบางอย่างคนปัจจุบันก็ยังคงยึดถือและนำมาปฏิบัติกันจนถึงทุกวันนี้ ทำแล้วดีก็ทำกันต่อไป แต่บางความเชื่อก็แปลกจนยากที่จะเชื่อได้ แต่เชื่อเถอะ แอดก็ว่ามันเรื่องจริงนะ แต่หาข้อพิสูจน์ไม่ได้ ทำไมโบราณเขาว่ามาแบบนี้อะเนอะ เพราะฉะนั้นหากใครไม่เชื่อ ไม่ลบหลู่จะดีที่สุดนะจ๊ะ (เชื่อแอด ไม่เชื่อแอด ก็เชื่อโบราณเถอะเนาะ)





Thank to : https://www.sanook.com/horoscope/277891/
28 เม.ย. 67 (10:26 น.)
2  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ส่งคืน 35 โบราณวัตถุอายุพันปี จิ๊กซอว์เทพประจำทิศ ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เมื่อ: วันนี้ เวลา 05:59:48 am
.



ส่งคืน 35 โบราณวัตถุอายุพันปี จิ๊กซอว์เทพประจำทิศ ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์

ส่งคืน 35 โบราณวัตถุอายุพันปี คืนปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ นักประวัติศาสตร์ชี้ จิ๊กซอว์สำคัญ ที่เทพประจำทิศทั้ง 8 มีลักษณะโดดเด่น มีสัตว์พาหนะข้างกาย เป็นปราสาทหินเดียวที่มี เพราะไม่เคยพบลักษณะดังกล่าวในไทยและเขมร



ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า หน่วยงานรัฐที่ดูแลพื้นที่ประวัติศาสตร์ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ส่งคืนโบราณวัตถุ 35 ชิ้น ให้กับปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้หน่วยงานรัฐไปดูแล จัดแสดงให้อยู่กับปราสาทดั้งเดิม หลังชิ้นส่วนโบราณวัตถุทั้งหมดมีอายุกว่าพันปี ถูกนำไปเก็บไว้ที่โคราชมานาน ก่อนจะมีการจัดส่งคืนให้กับปราสาทหินพนมรุ้ง และเป็นการเชื่อมต่อข้อมูลประวัติศาสตร์ใหม่



ชิ้นส่วนโบราณวัตถุที่ส่งคืน ส่วนใหญ่เป็นทวารบาล เทพประจำทิศ มีความพิเศษกว่าปราสาทหินที่อื่น เพราะยังไม่เคยพบโบราณวัตถุที่เป็นเทพประจำทิศในลักษณะนี้ ทั้งในไทยและกัมพูชา ถ้าเป็นปราสาทหินปกติ เทพประจำทิศจะอยู่กับทับหลังและหน้าบัน แต่โบราณวัตถุที่ส่งคืน เป็นเทพประจำทิศ ที่มีลักษณะเป็นหินสลักแบบลอยตัวเป็นสัดส่วน



โบราณวัตถุที่ส่งคืนจะมีทั้งแบบเป็นแท่งสี่เหลี่ยม สลักรูปเทพพร้อมพาหนะ เช่น แรด ควาย หงส์ มีความพิเศษจากที่อื่น บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับเทพประจำทิศทั้ง 8 เพราะปราสาทหินปกติ จะให้ความสำคัญกับเทพที่เป็นศูนย์กลางเพียงอย่างเดียว


ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

โบราณวัตถุที่ส่งคืนมายังปราสาทพนมรุ้ง เป็นการแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ใหม่ของปราสาทหิน ที่ให้ความสำคัญกับเทพประจำทิศ แสดงให้เห็นว่าตัวปราสาทหลังกลางต้องมีความพิเศษมากกว่าที่อื่น

ลักษณะการตั้งจะวางโดยรอบปราสาทหลังกลาง ที่สำคัญคือแท่งสี่เหลี่ยม ด้านบนมีลักษณะคล้ายกับดอกบัว เหมือนกับโบราณสถานในอินเดีย ที่ทางก่อนเข้าปราสาทชั้นในจะมีแท่น ไว้สำหรับวางสิ่งของที่นำมาบูชาเพียง 1 ทิศ แต่ของปราสาทหินพนมรุ้ง มีแท่นบูชาทั้งหมด 8 ทิศ




“ลักษณะเทพประจำทิศดังกล่าว ไม่เคยเจอในปราสาทหินทั้งที่ไทยและเขมร นี่จึงเป็นครั้งแรกที่เทพประจำทิศที่ถูกส่งคืนมา จะได้ไขความลับของปราสาทหินพนมรุ้งที่ถูกเก็บงำไว้”

อีกประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจคือ ใบหน้าของทวารบาลปราสาทพนมรุ้ง มีใบหน้าที่ไม่ดุดัน ต่างจากทวารบาลที่เขมร จะมีการถือกระบอง แต่ทวารบาลที่นี่ มือหนึ่งถือสิ่งของลักษณะกลม สันนิษฐานว่าเป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนมืออีกข้างเป็นเหมือนกำอะไรบางอย่าง ซึ่งของที่ถือได้สูญหายไปแล้ว




“โบราณวัตถุทั้ง 35 ชิ้น ตอนนี้ได้ส่งคืนไปยังศูนย์ข้อมูลของปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ จากเดิมที่ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งถูกเก็บไว้ในคลังหลายสิบปี แต่พอส่งคืนมายังปราสาทหินพนมรุ้ง ทำให้คนที่อยากศึกษาประวัติศาสตร์ปราสาทหินเห็นภาพมากขึ้น และเห็นความพิเศษของปราสาทหลังนี้ ที่มีที่เดียวในโลก”

การส่งคืนเทพประจำทิศ ทำให้เห็นภาพทางประวัติศาสตร์ของปราสาทพนมรุ้งชัดเจนมากขึ้น และเป็นข้อมูลสำคัญที่นักประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศ จะได้เห็นโบราณวัตถุชัดเจนมากขึ้น แต่พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงของปราสาทพนมรุ้งยังค่อนข้างคับแคบ ที่ผ่านมามีความพยายามจะให้ทาง จ.บุรีรัมย์ สร้างพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุของพนมรุ้งแบบครบวงจร เพราะตอนนี้มีโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นที่จะถูกส่งคืนมาจากต่างประเทศ และสามารถทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกจะสามารถมาศึกษาได้




ปราสาทพนมรุ้ง เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่เจอหลักศิลาจารึกมากที่สุด เฉลี่ยมีอยู่ 12 หลัก ซึ่งโบราณวัตถุที่ส่งคืนมายังศูนย์จัดแสดงข้อมูลของปราสาทพนมรุ้ง ยังมีข้อมูลไม่มากพอ จึงต้องใช้เวลาศึกษาอีกสักพัก เพราะโบราณวัตถุกลุ่มดังกล่าวเพิ่งถูกส่งคืนมาไม่นาน หลังถูกเก็บไว้ในโกดังโบราณวัตถุที่โคราช นานหลายสิบปี.




https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2781582
บทความโดย ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์
3  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: รู้จักพระไตรปิฎก เพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ เมื่อ: เมษายน 28, 2024, 04:57:01 pm
.
 :25: :25: :25:

ถ้านับถือพระบรมศาสดา ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎก

ที่กล่าวมานี้ ก็ด้วยมุ่งจะให้รู้จักว่า พระไตรปิฎกคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร การสังคายนาคืออะไร และการรักษาสืบต่อพระไตรปิฎกทำกันมาอย่างไร

เวลานี้น่าเสียดายว่า ชาวพุทธจำนวนมาก ไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเป็นแก่น และเป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา ไม่รู้จักพระไตรปิฎก ไม่รู้จักการสังคายนา ไม่รู้จักวิธีรักษาสืบทอดพระไตรปิฎกหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าธรรมวินัยนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาสหรือเป็นช่องทางให้เกิดความสับสน ตลอดจนความเสื่อมโทรมและความคลาดเคลื่อนต่างๆ พร้อมทั้งคำสอนที่ผิดเพี้ยนแปลกปลอมจะแทรกซ้อนหรือแอบแฝงเข้ามา

เรื่องนี้ต่างจากชาวพุทธในสมัยโบราณมาก แม้เขาจะไม่มีการศึกษารู้อะไรมากมายในความหมายของคนปัจจุบัน แต่เขาเข้าใจสิ่งเหล่านี้ อย่างน้อยรู้จักว่าพระไตรปิฎกคืออะไร เป็นหลักของพระศาสนาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรต่อความเป็นความตายของพระพุทธศาสนา เพราะว่า ถ้าพระไตรปิฎกคลาดเคลื่อน ก็คือพระพุทธศาสนาคลาดเคลื่อน หรือกำลังเลือนลางไป ถ้าพระไตรปิฎกหายไป หมดไป ก็คือพระพุทธศาสนาสูญสิ้น เพราะจะไม่มีแหล่งคำสอนของพระพุทธเจ้าเหลืออยู่

อย่างที่กล่าวแล้วว่า เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ต้องการฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อต้องการรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร เราจะไปรู้เอาเองได้อย่างไร ก็ต้องไปฟังจากพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่อยู่ ก็ต้องไปดูคำสอนที่จารึกไว้ ซึ่งก็ได้จารึกไว้และรักษากันมาในพระไตรปิฎกนี้

ถ้าหมดพระไตรปิฎก ก็คือหมดพระพุทธศาสนา หมดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หมดพระธรรมวินัย หมดพระศาสดาของชาวพุทธ

จึงเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ ที่จะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ ด้วยการเล่าเรียนพระไตรปิฎก แล้วก็รักษาพระไตรปิฎกไว้ให้อยู่มั่นคงด้วยดี ดังที่ชาวพุทธโบราณทุกประเทศได้พยายามรักษากันมาเป็นงานสำคัญของชาติ

@@@@@@@

ถ้าเราเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก ก็คือเห็นความสำคัญของพระพุทธเจ้า เพราะว่าเรานับถือคำสั่งสอนของพระองค์ ถ้าเรารักษาพระไตรปิฎกไว้ได้ พระพุทธศาสนาก็อยู่อย่างดีที่สุด แล้วก็จะมีหลักที่เป็นแกนกลาง ที่เรานับถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ชาวพุทธทั้งหมด ชาวพุทธทั้งปวงในประเทศเถรวาททุกประเทศ ก็จะมีเอกภาพดังที่เคยมีเอกภาพกันแล้วตลอดมา

อย่างที่กล่าวแล้วว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกของประเทศไทย พม่า ลังกา หรือในประเทศไหนๆ แม้แต่ที่เอาไปในยุโรป เช่นที่อังกฤษ ก็เป็นเนื้อหาอันเดียวกันหมด เป็นคำสอนเดียวกัน เช่น ทาน ศีล ภาวนา อันเดียวกัน ศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขา อันเดียวกัน ขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปบาท อันเดียวกัน ไม่ว่าพระสูตรใดๆ ไปดูเนื้อหาก็เหมือนกันหมด ไปที่ไหนก็ใช้กันได้ เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าพระไตรปิฎกที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนายังคงอยู่ ชาวพุทธก็ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ถ้าเราเสียหลักเรื่องนี้เมื่อไร ก็เป็นอันว่าพระพุทธศาสนาจะเริ่มมีปัญหา ชาวพุทธเองก็จะทะเลาะเบาะแว้งกัน นั่นก็คือความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนา และความเสื่อมโทรมแห่งประโยชน์สุขของประชาชน ที่จะไม่รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงและไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น จะต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระไตรปิฎก และชวนกันรักษาด้วยการศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจัง

@@@@@@@

เสรีภาพแห่งความคิดเห็นของบุคคล ต้องไม่สับสนกับความซื่อตรงต่อพระศาสดา

อนึ่ง ขอให้แง่คิดไว้นิดหนึ่งว่า การทำเช่นนี้ไม่ใช่หมายความว่าเราติดตำรา หรือติดพระไตรปิฎก อันนี้เป็นคนละเรื่องกัน แต่เป็นการที่เรารู้ว่าอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสิน หรือเป็นมาตรฐานคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้ได้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร และสอนว่าอย่างไร ส่วนเราจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเรา เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แม้แต่ว่าจะเชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็เป็นสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ ต้องแยกให้ถูก

เวลานี้ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ความสับสนของคนในยุคที่เรียกกันว่ามีการศึกษา แต่การศึกษานี้กำลังพร่ามัวลงไปมาก จนแยกไม่ถูกแม้แต่ระหว่างตัวหลักการกับความคิดเห็นส่วนบุคคล เพียงแค่นี้ก็แยกไม่ถูก จึงแน่นอนว่าความสับสนจะต้องเกิดขึ้น แล้วก็นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย

ถ้าเราถามว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร หรือสอนเรื่องอะไรว่าอย่างไร เราจะดูที่ไหน เราก็ต้องไปดูพระไตรปิฎก เพราะเราไม่มีแหล่งอื่นที่จะตอบคำถามนี้ได้ เราจะว่าเอาเอง หรือไปตอบแทนพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ว่าพระองค์สอนอย่างนั้นอย่างนี้

ต่อจากนั้น เมื่อรู้ว่า หรือได้หลักฐานเท่าที่มีว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไรแล้ว เราจะเชื่อคำสอนนั้นหรือไม่ หรือเรามีความเห็นต่อคำสอนนั้นว่าอย่างไร อันนั้นก็เป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของบุคคลนั้น ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องหลักการ แต่เป็นเรื่องของความคิดเห็น

ฉะนั้นจะต้องแยกส่วนนี้ให้ได้ เวลาจะพูดกันก็ต้องแยกให้ถูกว่าเรากำลังพูดกันเรื่องว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าสอนในเรื่องนี้ว่าอย่างไร หรือว่าเรากำลังพูดเรื่องว่า เรามีทัศนะความคิดเห็นในเรื่องนั้นว่าอย่างไร ต้องแยกให้ถูก แล้วก็พูดให้เป็นขั้นตอน เป็นลำดับ ก็จะไม่เป็นปัญหา

@@@@@@@

เวลานี้ก็เท่ากับว่าได้เกิดปัญหาทั่วไปหมด

    • ตั้งแต่ไม่รู้จักพระไตรปิฎก ไม่รู้จักความสำคัญของพระไตรปิฎก ไม่รู้ว่าการรักษาสืบทอดพระไตรปิฎกเป็นมาอย่างไร
    • แล้วก็มีความสับสนระหว่างคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์สอนอย่างไร กับความคิดเห็นของบุคคลหรือเราแต่ละคนต่อคำสอนนั้นว่าเราคิดอย่างไร

ทั้งหมดนี้ มองกันไม่ชัดเจน คลุมเครือ และว่ากันเลอะเทอะสับสนไปหมด เพราะฉะนั้นก็แน่นอนว่าจะต้องเกิดปัญหา

ที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าจะยากอะไรเลย เพียงแต่แยกให้ถูก

    • *ถ้าใครมาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร เราจะว่าเอาเองก็ไม่ได้ ก็ต้องว่าไปตามที่พระพุทธเจ้าสอน คือไปเอาหลักฐานมาแสดงให้ดู
    • *แต่ถ้าเขาถามว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างนี้แล้ว หรือธรรมะข้อนี้พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่างนี้ คุณจะว่าอย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องของเราจะว่าเอา เราคิดอย่างไรก็เป็นสิทธิของเรา เป็นเสรีภาพของเราที่จะพูด ว่าธรรมะข้อนั้น พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนั้นแล้ว เราจะว่าอย่างไร เราก็ว่าตามความเข้าใจของเราได้

แต่ที่จริงก็ควรจะศึกษาคำอธิบายของท่านให้ชัดแจ้งก่อน แล้วจึงมาสรุปเอา ถ้าสรุปดีก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน สรุปไม่ดีก็ผิดพลาด ก็ศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่อย่างน้อยก็แยกให้ชัดอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามที่พระองค์ทรงสอน แล้วเราเห็นว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามที่เราเห็น เวลานี้คนว่ากันนุงนังสับสนไปหมด

เมื่อเกิดปัญหาอย่างที่รู้กันอยู่ในปัจจุบัน(3-) ก็เป็นโอกาสที่จะต้องมาซักซ้อมในหมู่ชาวพุทธ เพื่อจะสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกตรง และปฏิบัติกันให้ถูกต้อง

ถ้าชาวพุทธจับหลักในเรื่องนี้ได้ มีความเข้าใจถูกต้อง และมีความตรงไปตรงมา ปฏิบัติด้วยความซื่อตรง พระพุทธศาสนาก็จะยังคงอยู่เป็นหลัก เป็นศูนย์รวมชาวพุทธ และมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนทั้งหลายสืบต่อไป




มีพระไตรปิฎกที่สังคายนาไว้ดี ก็ใช้สังคายนาคนได้ด้วย

ได้พูดมายาวมาก จึงควรสรุปไว้อีกครั้งหนึ่งว่า การสังคายนานั้น เป็นการรักษาพระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ให้คงอยู่อย่างดีที่สุด คือให้แม่นยำตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เท่าที่เป็นไปได้

ระยะเริ่มแรก ก็มีการประมวลรวบรวมและรักษาไว้

แต่ระยะหลังต่อๆ มา มีแต่การรักษาอย่างเดียว ให้คงอยู่อย่างเดิม ให้บริสุทธิ์ แม่นยำที่สุด จะตัด จะต่อ จะแต่ง จะเติม อย่างไรไม่ได้ทั้งสิ้น ถ้าไปตัดต่อ หรือแต่งเติม ก็จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป คือของปลอมหรือของเทียม

เพราะฉะนั้นในยุคที่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เวลาสังคายนาก็คือการที่เอาพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ เท่าที่มีอยู่เป็นหลักในประเทศต่างๆ มาตรวจสอบทานกัน เช่น ฉบับของไทย ของพม่า ของลังกา เป็นต้น เท่าที่มีอยู่ในประเทศเถรวาทเป็นภาษาบาลี รวมทั้งฉบับอักษรโรมัน ซึ่งก็มาจากแหล่งเดิมอันเดียวกัน ตรงกันอยู่แล้ว แต่เกรงว่าห่างกันนานมาจะคลาดเคลื่อนกันไป ก็เอามาเทียบกัน

สังคายนาในสมัยนี้ก็เป็นการเอาพระไตรปิฎกฉบับของประเทศต่างๆ เหล่านั้น มาตรวจสอบกัน ถ้ามีผิดแผกอะไร ก็ต้องทำเชิงอรรถลงไป และจดหมายเหตุไว้ ผู้ที่ทำสังคายนาไม่มีสิทธิไปแก้ไขดัดแปลงอะไรทั้งสิ้น

มีแต่ว่าเราจะต้องสังคายนาคน กล่าวคือ คนบางคนบางกลุ่มอาจจะนับถือ เชื่อถือ สั่งสอนผิดแผกไป ก็เอาคนเหล่านั้นมาตรวจสอบกับคำสอนดั้งเดิมในพระไตรปิฎก แล้วก็ให้คนเหล่านั้นปรับการสอนให้ถูกต้องตรงตาม

พระไตรปิฎก อย่างนี้ก็เป็นความหมายที่ขยายออกไปของคำว่า สังคายนาด้วยเหมือนกัน

@@@@@@@

เวลานี้จึงเหมือนกับว่า เรามีความหมายของสังคายนา ๒ อย่าง คือ

    ๑. สังคายนาพระคัมภีร์ หรือ สังคายนาพระไตรปิฎก ได้แก่ตรวจสอบให้คัมภีร์พระไตรปิฎกคงอยู่อย่างเดิม บริสุทธิ์ บริบูรณ์ และแม่นยำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไม่มีอะไรแปลกปลอม

    ๒. สังคายนาคน เป็นการปรับตัวคนให้สอนให้ตรงตามพระไตรปิฎก ถ้าเราจะไม่ต้องมีการสังคายนาคน ก็ทำได้โดยที่ว่า พระจะต้องสั่งสอนตรวจสอบตัวเองให้ตรงตามพระไตรปิฎกอยู่เสมอ

ถ้าพุทธบริษัทไม่เสื่อมโทรม ก็ไม่ต้องมีการสังคายนาคน การที่พุทธบริษัทจะเสื่อมโทรมก็เพราะพากันห่างเหินจากพระธรรมวินัย

เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคง ก็จะต้องมีการศึกษาและสั่งสอนพระธรรมวินัยให้ถูกต้องอยู่เสมอ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ ก็คือพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีหน้าที่อยู่แล้วว่าจะต้องสั่งสอนพระธรรมวินัย

ในยามปกติ พระสงฆ์ก็มีหน้าที่ต้องสั่งสอนอยู่แล้วเป็นประจำ ยิ่งถ้าเกิดเหตุที่แสดงว่าผู้คนไม่รู้ไม่เข้าใจ

พระธรรมวินัย พระสงฆ์ก็จะยิ่งต้องเอาใจใส่สั่งสอนชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจให้ถูกต้องและให้รู้

อย่างน้อยให้รู้ว่า ในพระพุทธศาสนานี้จะใช้อะไรเป็นมาตรฐาน เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ว่าอะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง เป็นพระธรรมวินัยหรือไม่ นั่นก็คือจะต้องรู้จักพระไตรปิฎก ซึ่งสมัยก่อนคนมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น ปัญหาก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

เมื่อเกิดเหตุการณ์คราวนี้ ก็เป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธว่า เราจะต้องหันมารักษาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์ และรู้จักพระไตรปิฎกที่เป็นตัวหลักเดิมที่รักษาพระธรรมวินัยนั้นไว้ แล้วหันมาฟื้นฟูชาวพุทธให้กลับไปสู่พระธรรมวินัย ให้รู้จักศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องความสำคัญของพระไตรปิฎก และการรักษาพระไตรปิฎก คือรักษาพระธรรมวินัยด้วยการสังคายนาเป็นต้น ก็จบเพียงเท่านี้

@@@@@@@

ชวนกันตื่นขึ้นมา ช่วยกันเรียนและรักษาพระไตรปิฎกกันให้ดี

ขอแถมสักนิดว่า ความจริงเรื่องนี้ก็ไม่ได้ยากอะไร เหมือนอย่างว่า เรามีคุณพ่อคุณแม่ มีครูอาจารย์ หรือคนที่เราเคารพนับถือ เราอยากจะจดจำคำพูดของท่านไว้ว่าท่านพูดอะไร สอนอะไร เรามีเทปเราก็บันทึกเสียงท่านไว้ ถ้าไม่มี เราก็เอาสมุดจดบันทึกไว้

เมื่อท่านสิ้นชีวิตไปแล้ว เราไม่มีโอกาสถามท่านอีก เราก็มีเทปนั้น หรือสมุดที่จดบันทึกไว้นั้น เราก็เอามาเปิดดู ถ้าเราต้องการรักษาคำพูดของท่านไว้ เราก็ต้องรักษาเทปหรือสมุดบันทึกนั้นไว้ให้ดี เพราะถ้าหายไป ก็เป็นอันว่าเราจะไม่มีคำพูดของท่านหรือคำสอนของท่าน

ยิ่งคนที่ไม่เคยฟังท่าน ไม่เคยอ่านบันทึกนั้น ไม่มีอะไรอยู่ในความทรงจำ ไม่เคยรู้จักเลย ก็เป็นอันหมดทางที่จะรู้ว่า คุณพ่อ คุณแม่ ครูอาจารย์ ได้พูดได้สอนอะไรไว้

นี่ก็เหมือนกัน เมื่อเราต้องการจะฟัง จะรู้ จะอ่านคำสอนของพระพุทธเจ้า พระสาวกที่ทันเห็น ทันฟัง ทันเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านก็รวบรวมคำสอนคำตรัสของพระพุทธเจ้าไว้ให้เราแล้ว เมื่อสามเดือนหลังพุทธปรินิพพาน แล้วก็เก็บรักษาสืบต่อกันมาให้เราจนถึงปัจจุบันนี้ด้วยความลำบากยากเย็น จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องไปอ่าน ไปศึกษาและเก็บรักษาไว้ต่อไป

ทำไมเราจะไม่รักษาพระไตรปิฎกไว้ ในเมื่อถ้าพระไตรปิฎกหายไป ก็คือว่าบันทึกคำตรัสคำสอนของพระพุทธเจ้าก็หมดไป หายไป เราก็ไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไปนั่งฌานเอา เราจะไปพูดแทนท่าน หรือว่ารู้ขึ้นมาเอง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาขึ้นมาเลย สมัยก่อนก็ไม่เคยมีปัญหาอย่างนี้

นับว่าเป็นเรื่องแปลก ที่คนสมัยนี้กลับไม่เข้าใจว่า พระไตรปิฎกคืออะไร ทำไมต้องรักษาพระไตรปิฎก ทำไมต้องเอาพระไตรปิฎกมาเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่าอะไรเป็นธรรมวินัย อะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เดี๋ยวก็จะกลายเป็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า ใครจะว่าอย่างไรก็ได้

เพราะฉะนั้น จึงควรตื่นขึ้นมา ช่วยกันรักษาพระธรรมวินัยที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้นไว้ให้ดี

(ยังมีต่อ..)



(3-)ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวเกี่ยวกับกรณีปัญหาวัดพระธรรมกาย ในสถานการณ์นั้นได้มีการจ้วงจาบพระไตรปิฎก และชักจูงให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับพระธรรมวินัย ทำให้ชาวพุทธจำนวนมากรู้ตัวว่าได้ห่างเหินจากความรู้เข้าใจในหลักพระพุทธศาสนา และบางส่วนก็ตื่นตัวขึ้นมาแสวงหาความรู้
4  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: รู้จักพระไตรปิฎก เพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ เมื่อ: เมษายน 28, 2024, 04:31:20 pm
.
 :25: :25: :25:

พระไตรปิฎกยุคจารึกเป็นลายลักษณ์ ถือเป็นหลักของชาติ จึงคงอยู่ได้ด้วยดี

ต่อมาถึง พ.ศ.ใกล้ ๕๐๐ จึงได้เริ่มมีการใช้วิธีจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงในใบลาน พอถึงยุคจารึกลงในใบลานนี้แหละ กลายเป็นยุคที่จะมีความคลาดเคลื่อนได้ง่าย เพราะคนเริ่มประมาทว่า เรามีใบลาน มีหนังสือที่จารึกไว้แล้ว อยากรู้ก็ไปเปิดดูและตรวจสอบได้ง่าย เราไม่ต้องจำให้มาก

ไปๆ มาๆ การสวดสาธยายพระไตรปิฎกก็เหลืออยู่แค่สวดมนต์ อย่างทำวัตรสวดมนต์ที่เราเห็นๆ กันอยู่ คนก็จำพุทธพจน์ได้น้อยลงๆ เหลือน้อยลงไปทุกที

นอกจากนั้น ในการคัดลอกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เรียกว่า “จาร” เวลาคัดลอกกันทีหนึ่ง ก็อดไม่ได้ที่จะมีการตกหล่นหรือผิดเพี้ยน เช่นตัว จ เป็น ว หรือตัว ว เป็น จ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการคัดลอกในระดับที่เป็นทางการใหญ่ของคณะสงฆ์ทั้งหมด หรือเป็นระดับของประเทศชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศพุทธศาสนาทุกประเทศ จะถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ จะต้องมีพระไตรปิฎกฉบับหลวงเป็นของราชการ เป็นของแผ่นดิน เป็นของประเทศชาติ รักษาไว้เป็นหลักของกลาง แล้วมาคัดลอกต่อๆ กันไป

นานๆ จึงต้องมีการมาประชุมกันระดับชาติ แล้วก็เอามาตรวจสอบกัน เอามาทานกัน ตรงไหนตกหล่น ผิดพลาดไป ก็ทำเชิงอรรถไว้ คือถือเรื่องความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพระไตรปิฎกเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะนี้คือองค์แทนที่แท้ของพระพุทธเจ้า ที่เป็นพระศาสดา และเป็นตัวพระพุทธศาสนา

จะเห็นว่า ประเทศพุทธศาสนาทุกประเทศถือเรื่องพระไตรปิฎกเป็นหลักสำคัญยิ่ง เวลานำพระพุทธศาสนาไปประเทศต่างๆ ก็คือจะต้องนำพระไตรปิฎกไป อย่างพระเจ้าอโนรธามังช่อ ที่เป็นมหาราชของพุกาม ผู้เป็นต้นความยิ่งใหญ่ของพม่า ที่ปราบมอญลงได้ ตอนนั้นมอญนับถือพระพุทธศาสนา พระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรือพระเจ้าอโนรธามังช่อไปปราบมอญได้แล้ว หันมานับถือพระพุทธศาสนา ก็นำเอาพระไตรปิฎกจากมอญไปยังพุกาม

พระภิกษุทั้งหลายเดินทางไปมาระหว่างประเทศในสมัยโบราณ ก็เพื่อศึกษาพระไตรปิฎก คัดลอกพระไตรปิฎกและอรรถกถา

พระเจ้าแผ่นดินไทยแต่ละยุค เวลาสร้างบ้านเมืองใหม่ ก็ทรงถือเรื่องพระไตรปิฎกเป็นการสำคัญ เช่น เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก ถูกพม่าเผา พระเจ้ากรุงธนบุรีรวบรวมประเทศชาติได้ ทรงตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรี พอตั้งเมืองหลวงเสร็จ ก็จัดการเรื่องคณะสงฆ์ หาพระภิกษุที่น่าเคารพนับถือมาสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

@@@@@@@

พอจัดเรื่องเฉพาะหน้าเสร็จแล้ว ภาระใหญ่อันสำคัญที่พระองค์ทรงกระทำ ก็คือให้รวบรวมพระไตรปิฎก เพราะว่าอยุธยาถูกเผา พระคัมภีร์ถูกไฟไหม้ไปแล้ว ก็โปรดให้ไปรวบรวมพระไตรปิฎกจากหัวเมือง ทั้งเมืองเหนือ เมืองใต้ เอามาเลือกคัดจัดตั้งเป็นสมบัติกลางไว้ที่เมืองหลวง เพื่อเป็นหลักของบ้านเมืองต่อไป

พอมาถึงแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ สมัยกรุงเทพฯ ก็เหมือนกัน พอเริ่มตั้งกรุง เมื่อจัดบ้านเมืองพอเข้าที่ สิ่งที่พระองค์ทรงรีบทำ คือเรื่องของพระไตรปิฎก ถึงกับมีการสังคายนาของกรุงเทพฯ ขึ้นมา ครั้นสังคายนาเสร็จเรียบร้อย สอบทานได้พระไตรปิฎกมาเป็นหลัก ก็จัดตั้งเป็นฉบับหลวงของแผ่นดิน จึงเป็นที่รู้กันว่า การรักษาพระไตรปิฎกเป็นงานสำคัญอย่างยิ่งยวดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ในยุคทรงจำด้วยปาก การรักษาพระไตรปิฎกก็คือ ท่องพร้อมกัน สวดพร้อมกัน มาสอบทานกันด้วยวาจาอยู่เสมอ ต่อมาในยุคที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็คือเอาคัมภีร์ที่จารึกไว้ทั้งหลาย มาเทียบเคียงสอบทานกันอยู่เสมอ

การสอบทานกันนี้ เป็นความหมายของการสังคายนาในยุคหลัง ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า พระไตรปิฎกของเราที่เป็นบาลี จะไปอยู่ในพม่า ไปเป็นของสิงหลอยู่ในลังกา ไปอยู่ในประเทศไทย หรือไปอยู่ในประเทศไหน แม้แต่ฝรั่งเอาไปคัดลอก เป็นฉบับอักษรโรมัน ก็เหมือนกันหมด เนื้อหาอย่างเดียวกัน จะมีแปลกไปก็เพราะพิมพ์ผิดนิดๆ หน่อยๆ อย่างของเรามีอยู่แห่งหนึ่ง ตกหล่นไป ยาวหน่อย สักครึ่งค่อนหน้า ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่มากแล้ว

หมายความว่า พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทเรานี้ ไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหน ทั้งๆ ที่อยู่ห่างไกลกันไปแสนนานเป็นพันปี ก็ยังเหมือนกัน เนื้อหาอย่างเดียวกัน แสดงถึงการที่ท่านให้ความสำคัญยิ่งนักกับการรักษา

ในเวลาที่เรามีการตรวจชำระพระไตรปิฎกครั้งหนึ่ง เราก็เอาของทุกประเทศมาสอบทานเทียบเคียงกัน เพื่อดูว่ามีข้อความถ้อยคำหรืออักษรตัวไหนผิดเพี้ยนกันไหม แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ เพียงอักษร จ เป็น ว เราก็จะทำเชิงอรรถไว้ว่า ตรงนี้ฉบับของเราเป็นอย่างนี้ ฉบับพม่าหรือฉบับไหนเป็นอย่างนั้น

อย่างชื่อ พระอัญญาโกณฑัญญะ มีการผิดเพี้ยนกันไปนิดหน่อย ฉบับของเราเป็น อัญญาโกณฑัญญะ ฉบับอักษรโรมันของ Pali Text Society เป็น อัญญาตโกณฑัญญะ เป็นต้น ความแตกต่างแม้แต่นิดเดียว เราก็บันทึกไว้ให้รู้ในเชิงอรรถ

@@@@@@@

ต้องเข้าใจให้ชัด แค่ไหนใช่ แค่ไหนไม่ใช่สังคายนา

การสังคายนานั้นต้องให้รู้ว่าเป็นการที่จะรักษาคำสอนเดิมเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ใช่ว่าพระภิกษุที่สังคายนามีสิทธิ์เอาความคิดเห็นของตนใส่ลงไป

การสังคายนา ก็คือ การมาทบทวนซักซ้อมตรวจสอบคัมภีร์ให้ตรงตามของเดิม และซักซ้อมตรวจสอบคนที่ไปทรงจำหรือไปนับถืออะไรต่างๆ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไป ให้มาทบทวนตัวเอง ให้มาซักซ้อมกับที่ประชุม ให้มาปรับความเห็นความเชื่อ การปฏิบัติของตน ให้ตรงตามพระไตรปิฎกที่รักษากันมาอย่างแม่นยำ ที่เห็นหลักกลางนี้

บางคนเข้าใจผิดว่า ในการสังคายนานี้ ผู้ที่เข้าร่วมสังคายนา จะไปปรับไปแต่งไปทำอะไรกับพระไตรปิฎกดีไม่ดีอาจจะถึงกับเข้าใจว่ามาแต่งพระไตรปิฎกกันใหม่ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลายเคลื่อนไปไกล แสดงว่าไม่รู้จักการสังคายนา และไม่รู้เรื่องอะไรเลย

เพราะฉะนั้น จะต้องย้ำกันว่า การสังคายนาพระไตรปิฎก ก็คือ การมาทบทวนตรวจสอบซักซ้อมกันในการที่จะรักษาพระไตรปิฎกของเดิมที่ท่านสังคายนาไว้ ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ เมื่อ ๓ เดือน หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ของเดิมนั้นเป็นอย่างไร ก็ให้คงอยู่อย่างนั้น อย่างแม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อะไรที่คลาดเคลื่อน ใครทรงจำผิดไป ก็ให้มาปรับเข้ากับของเดิมของแท้นี้เสีย เพราะว่าเมื่อเรารักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือเราจะต้องรักษาคำตรัสของพระองค์ของเดิมไว้ให้ได้ ถ้าคำสอนคำตรัสเดิมหมดไป ก็คือพระพุทธศาสนาหมดไปแล้ว

แต่เราก็ต้องรู้ด้วยว่า ในพระไตรปิฎกไม่ใช่มีเฉพาะคำตรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว คำของพระสาวกก็มี เช่นคำของพระสารีบุตรที่ได้แสดงวิธีสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้นั้น ก็เป็นพระสูตรอยู่ในพระไตรปิฎก ชื่อ สังคีติสูตร แต่ธรรมะที่พระสารีบุตรนำมาสังคายนาไว้ในสังคีติสูตรนั้น ก็คือคำตรัสของพระพุทธเจ้า หรือธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้นั่นเอง นอกจากนั้นก็มีคำสนทนากับผู้อื่น ซึ่งมีคำของผู้อื่นรวมอยู่ด้วยในนั้น

หลักคำสอนอะไรเก่าๆ ก่อนพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับ ทรงนำมาเล่าให้นับถือปฏิบัติกันต่อไป ก็มาอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย อย่างเรื่องชาดก เฉพาะส่วนที่เป็นตัวคำสอนแท้ๆ

@@@@@@@

คัมภีร์ที่นิพนธ์แม้หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา ท่านได้เห็นว่า พระในสมัยนั้น บางพวกมีความเชื่อถือวิปริตผิดแผกแตกออกไป ท่านก็เรียบเรียงคัมภีร์ขึ้นมาเล่มหนึ่ง เพื่อวินิจฉัยความเชื่อถือ หรือการสั่งสอนที่ผิดพลาดเหล่านั้น

แต่การวินิจฉัยนั้นก็เป็นเพียงว่า ท่านมาเชื่อมโยง โดยยกเอาคำสอนคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่โน้น ที่นี่ ในเรื่องเดียวกันนั้น มารวมกันไว้เป็นหลักฐานอ้างอิง เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรื่องนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร เพื่อจะวินิจฉัยความเชื่อหรือคำสอนของผู้ที่เชื่อผิดพลาดไปนั้น อย่างนี้ก็กลายเป็นคัมภีร์ใหม่ แต่แท้จริง ก็เป็นการนำเอาพุทธพจน์ในเรื่องนั้นๆ มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราวหรือข้อคิด หรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน

แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า พระไตรปิฎกนี้เป็นประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน เป็นของส่วนรวมที่พระสงฆ์ทั้งหมด โดยเฉพาะท่านที่เป็นครูอาจารย์และพระเถระที่รับผิดชอบการพระศาสนา ต่างก็คอยจับตา คอยระแวดระวัง ถือเป็นสำคัญ ฉะนั้นใครจะไปเที่ยวใส่เติมอะไรลงไปไม่ได้ จะต้องเป็นที่ยอมรับกันอย่างแน่นอน และไม่ใช่ประเทศเดียวรักษาไว้ หลายๆ ประเทศต่างก็มีแล้วก็ต้องคอยทานเทียบกัน หมั่นตรวจสอบไม่ให้คลาดเคลื่อนกันไป

รวมความก็คือให้จำไว้เลยว่าประเทศพุทธศาสนาเถรวาท ทั้งหมดมีพระไตรปิฎกชุดเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด แม้จะต่างกันในตัวอักษร เช่น จ เป็น ว บ้าง บางแห่ง หรือตกหล่นบางคำบ้าง ก็น้อยเต็มที

ความสำนึกตระหนักมั่นนี้ อย่าว่าแต่ต่างประเทศเลย แม้แต่ประเทศไทยเรา ต่อไป ถ้าไม่เห็นความสำคัญ เราเองก็อาจจะทำให้เลือนลางคลาดเคลื่อน

@@@@@@@

เวลาแปลคำว่า “สังคายนา” เป็นภาษาอังกฤษ เรามักไปเทียบกับภาษาฝรั่ง เช่น Council อย่างของศาสนาคริสต์ เขามี Vatican Council เป็นต้น เราก็แปลว่าเป็นการสังคายนา อันนั้นเป็นการแปลเพียงเทียบในบางแง่ความหมาย ซึ่งที่จริงไม่เหมือนกันเลย

การประชุม Council ของศาสนาคริสต์นั้นเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการมาตกลงกันกำหนดหลักความเชื่อ และแม้แต่การวางนโยบายในการเผยแผ่ศาสนาของเขา แต่การสังคายนาในพระพุทธศาสนา เป็นการรักษาคำสอนเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ให้แม่นยำที่สุด ไม่ให้ใครมาเที่ยวแก้ไขให้คลาดเคลื่อนหรือตัดแต่งต่อเติม จะมาทำให้ตกหล่นก็ไม่ได้ ต่อเติมก็ไม่ได้ ต้องรักษาไว้ให้แม่นยำที่สุด เราเพียงมาตรวจทาน มาซักซ้อม ทบทวนกัน ใครที่เชื่อถือหรือสั่งสอนคลาดเคลื่อน หรือผิดแผกไป ก็มาปรับให้ตรงตามของแท้แต่เดิม

เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ส่วนพระสูตรต่างๆ ของพระพุทธศาสนาแบบมหายาน ที่เป็นอาจริยวาท/อาจารยวาท เดี๋ยวนี้ก็รู้กันหมดแล้วว่าเป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง ไม่รักษาคำสอนเดิมแท้ๆ ไว้ ก็เลยคลาดเคลื่อนหรือหาย คัมภีร์ส่วนมากก็สาบสูญไป เขาก็เลยมายอมรับกันว่า คำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าที่จะหาได้ครบสมบูรณ์ที่สุด ก็ต้องมาดูในพระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาเถรวาทของเรานี้

เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล คือนักปราชญ์ วงวิชาการทั่วโลก จะเป็นมหายาน หรือ เถรวาท หรือเป็นวัชรยาน ก็รู้กันทั้งนั้น




ควรเห็นคุณค่าของอรรถกถา ที่ค้ำชูอยู่เคียงข้างพระไตรปิฎก

เมื่อถือพระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานชั้นหนึ่งแล้ว ต่อจากนั้น ก็จะมีการปิดรายการว่า เอาละ พระไตรปิฎกมีแค่นี้ ต่อจากนี้พระเถระ พระอาจารย์ผู้ใหญ่ ที่เป็นนักปราชญ์ ก็ทำหน้าที่ช่วยกันรักษาพระไตรปิฎกนี้ไว้

นอกจากรักษา ท่านก็มีหน้าที่อธิบายด้วย เพราะต้องสั่งสอนลูกศิษย์จำนวนมากมาย ซึ่งเมื่อศึกษาพระไตรปิฎกนั้น ก็อาจไปติดขัด ไม่เข้าใจบางส่วนบางตอนที่ยาก พระอาจารย์ผู้ใหญ่เหล่านี้ท่านสืบต่อคำสอนกันมา และถ่ายทอดคำอธิบายกันมาเรื่อย ตั้งแต่สมัยพุทธกาลไม่ขาดสาย พระเถระจนถึงพระมหาเถระผู้เป็นครูอาจารย์เหล่านี้ ก็อธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน หรือผู้ที่ศึกษาค้นคว้า แล้วคำอธิบายเหล่านี้ก็มารวบรวมกันเป็นคัมภีร์ระดับรองจากพระไตรปิฎก เรียกชื่อว่า “อรรถกถา” คือไม่จัดรวมเข้าในพระไตรปิฎก

ตอนนี้เท่ากับมีคัมภีร์ ๒ ระดับ

   ระดับที่ ๑ คัมภีร์ที่จารึกพุทธพจน์ พร้อมทั้งเรื่องเกี่ยวข้องที่เป็นหลักฐานดั้งเดิม เป็นมาตรฐานใหญ่ เป็นเกณฑ์ตัดสินพระพุทธศาสนา เรียกว่า พระไตรปิฎก และ

   ระดับที่ ๒ คัมภีร์เคียงข้างพระไตรปิฎก ซึ่งมีมาแต่เดิมเหมือนกัน โดยถ่ายทอดกันมา เป็นคำอธิบาย
พระไตรปิฎกนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่า อรรถกถา

@@@@@@@

น่าสังเกตว่า การรักษาพระไตรปิฎก กับการรักษาอรรถกถานี้ต่างกัน คือ พระไตรปิฎกนั้นจะต้องรักษาไว้อย่างเดิม ตัวภาษาก็ต้องของเดิมคือภาษาบาลี แต่อรรถกถา ซึ่งเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎก มุ่งให้ผู้ศึกษาใช้ประกอบการศึกษาให้เข้าใจพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นอย่างในลังกาสมัยก่อน เดิมนั้นก็รักษากันมาด้วยภาษาสิงหล ซึ่งเป็นภาษาของชาวลังกา หมายความว่า ผู้ศึกษาเรียนพระไตรปิฎกโดยอาศัยคำอธิบายของอรรถกถา จึงเรียนพระไตรปิฎกที่เป็นภาษาบาลี ด้วยอรรกถาคือคำอธิบายที่เป็นภาษาสิงหลของชาวลังกาเอง

เป็นเช่นนี้จนกระทั่งต่อมา พ.ศ. ๙๐๐ เศษ พระพุทธโฆสาจารย์ซึ่งอยู่ในอินเดีย จึงได้เดินทางมายังลังกา และแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี

ตอนนั้น ในอินเดีย พระพุทธศาสนาเสื่อมมากแล้ว กลายเป็นว่าศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทได้มาอยู่ในลังกา

พระพุทธโฆสาจารย์ซึ่งอยู่ในอินเดีย ต้องการจะให้คนอินเดียได้เรียนรู้พระพุทธศาสนามากหน่อย จึงต้องการอรรถกถาซึ่งเป็นคำอธิบายพระไตรปิฎกที่อยู่ในลังกา ท่านจึงเดินทางจากอินเดียมาลังกา แล้วมาขอแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี เพื่อนำไปศึกษาในอินเดีย

ตอนนี้เราจึงได้อรรถกถาที่เป็นภาษาบาลีอีก ก็เลยมีทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เป็นภาษาบาลี

@@@@@@@

คัมภีร์พุทธศาสนามีหลายชั้น ทรงความสำคัญลดหลั่นลงมา

ต่อจากนั้นก็ยังมีคัมภีร์รุ่นสืบมาหลังจากอรรถกถา กล่าวคือ เนื้อหาในพระไตรปิฎก ส่วนใดที่อรรถกถาอธิบายไว้ อาจารย์ใหญ่รุ่นต่อมาเห็นว่าอธิบายยังไม่พอ ควรจะให้ชัดกว่านั้น คือพุทธพจน์บางแห่งในพระไตรปิฎก

พระอรรถกถาจารย์เห็นว่าง่าย รู้กันดีอยู่แล้ว เพราะรุ่นของท่านยังใกล้พุทธกาล ท่านก็ไม่อธิบาย พระอาจารย์รุ่นต่อมาเห็นว่าคนรุ่นหลังนี้ไม่เข้าใจ ก็อธิบายเสียด้วย หรือแม้แต่คำของพระอรรถกถาจารย์นั้นเอง คนรุ่นหลังก็อาจเข้าใจไม่ชัด ก็มีพระอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เชี่ยวชาญมาอธิบายขยายความไปอีก

คัมภีร์รุ่นหลังต่อจากอรรถกถานี้เรียกว่า ฎีกา ต่อจากฎีกาก็มี อนุฎีกา หลดหลั่นกันลงมา

คัมภีร์เหล่านี้ใช้เป็นหลักที่จะตัดสินวินิจฉัยคำสอนในพระพุทธศาสนาลดหลั่นกันลงมา โดยถือว่าพระไตรปิฎกเป็นอันดับหนึ่ง เป็นมาตรฐานใหญ่ และเป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งตัดสินเด็ดขาดว่าเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ต่อจากนั้น ก็มีอรรถกถามาช่วยเป็นเกณฑ์วินิจฉัยต่อ คือถ้าในพระไตรปิฎกนั้นเรามีข้อสงสัยอะไร ก็มาดูคำวินิจฉัยในอรรถกถา

ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความว่าอรรถกถามาตัดสินพระไตรปิฎก แต่หมายความว่า เราคนรุ่นหลังอ่านพระไตรปิฎกกัน อาจจะเข้าใจไม่ชัดเจน พระอรรถกถาจารย์ก็มาอธิบายไว้ให้ชัด เราจึงใช้อรรถกถาเป็นเครื่องช่วยวินิจฉัยในส่วนที่เรายังไม่ชัดเจน ต่อจากนั้นก็มีฎีกา อนุฎีกา ตามลำดับต่อกันไป

@@@@@@@

คัมภีร์เหล่านี้ท่านถือเป็นสำคัญสืบกันมา เพราะผู้ที่จะเรียบเรียงคัมภีร์ขึ้นมาได้ ก็ต้องเป็นที่ยอมรับ เป็นครูอาจารย์ เป็นผู้ที่รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เชี่ยวชาญจัดเจนตลอดพระไตรปิฎก และช่ำชองทั่วตลอดในคัมภีร์ทั้งหลายในชั้นที่เหนือตนขึ้นไป และเมื่อนิพนธ์ขึ้นมาแล้วก็ต้องเป็นที่ยอมรับของปราชญ์ด้วยกันในยุคนั้นแล้วจึงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหลักของพระศาสนา

ถ้าอยากดูว่าพระเถระปางก่อนท่านเชี่ยวชาญจัดเจนขนาดไหน ไม่ต้องไปถึงยุคอรรถกถาหรอก ขอให้ดูคัมภีร์ มังคลัตถทีปนี ที่พระสิริมังคลาจารย์นิพนธ์ไว้ที่เชียงใหม่ เมืองไทยเรานี้เอง เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๐ เศษนิดหน่อย เป็นตัวอย่าง ก็จะเห็นชัดว่าพระเถระผู้ทรงพระศาสนา ท่านซื่อตรงเจนจบ และมีระบบการแสดงหลักฐานอ้างอิงแม่นยำสมบูรณ์เพียงใด

พระอาจารย์รุ่นหลังต่อจากยุคอรรถกถา ฎีกา ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในยุคนั้นๆ ที่มาแสดงคำสอนหรือคำอธิบายต่างๆ เรียกกันว่าเป็น อัตตโนมติ หมด ไม่ว่าจะเป็นพระอาจารย์องค์ไหนก็ตาม แต่ละองค์ๆ ก็เรียก อัตตโนมติ คือมติของบุคคล หรือเป็นมติส่วนตัวของท่านผู้นั้นๆ ซึ่งถือเป็นสำคัญน้อยลงมา

เป็นอันว่า ถือพระไตรปิฎกเป็นหนึ่ง อรรถกถาเป็นสองรองลงมา แล้วก็เป็นฎีกา อนุฎีกา เป็นต้น จนมาถึงคำอธิบายของอาจารย์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้ก่อนนั้น ที่แต่งตำรับตำราไว้หลังจากรุ่นอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา จัดเป็นอัตตโนมติทั้งหมด

(ยังมีต่อ..)

5  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: รู้จักพระไตรปิฎก เพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ เมื่อ: เมษายน 28, 2024, 11:53:05 am
.



ความสำคัญ และ การรักษาพระไตรปิฎก (2-)

ก่อนจะพูดถึงพระไตรปิฎก ควรทำความเข้าใจกันก่อนว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร

พระพุทธศาสนา ก็คือคำสอนของพระพุทธเจ้า การที่เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือนับถือคำสอนของพระพุทธเจ้า

ขอให้นึกย้อนหลังไปถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าออกประกาศพระศาสนา ยังไม่มีพระพุทธศาสนา ท่านทั้งหลายที่มาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ก็คือต้องการมาฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุที่ต้องการฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็จึงเป็นผู้ฟังที่เราเรียกว่าเป็นสาวก คำว่า “สาวก” นั้น ก็แปลว่าผู้ฟังนั่นเอง

เมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไปปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ การฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตามนั้น ก็เป็นพระพุทธศาสนาอีก พระพุทธศาสนาจึงมีความหมาย ทั้งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และการปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น

@@@@@@@

ถึงความหมายขยายไกล ก็จับหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้

ต่อมาก็มีการจัดตั้งเป็นชุมชน เป็นสถาบัน เป็นองค์กร หมายความว่า คนมารวมกันเรียน มาฟังคำสั่งสอน ขยายออกไป เรียกว่าเล่าเรียนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็ปฏิบัติ ทำกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง เป็นจำนวนมาก ก็ต้องมีการจัดสรรดูแลต่างๆ เพื่อให้คนทั้งหลายที่มาอยู่รวมกันเพื่อวัตถุประสงค์อย่างนี้ ได้เรียนได้ฟัง แล้วก็ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างได้ผล การจัดสรรดูแลให้มีการเล่าเรียน สดับฟัง และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนาด้วย ความหมายของพระพุทธศาสนาก็เลยกว้างขวางออกไป

พอถึงขั้นจัดตั้ง การดูแลให้มีการเล่าเรียนและปฏิบัติ ก็เลยรวมไปถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาเป็นชุมชน เป็นองค์กร เป็นสถาบันหรืออะไรๆ ที่กว้างขวางออกไป ความหมายของพระพุทธศาสนาก็ขยายออกไป เป็นอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบันนี้ จนกระทั่งไปๆ มาๆ ก็เลยลืมไปเลย ไม่รู้ว่าตัวพระพุทธศาสนาคืออะไร อยู่ตรงไหน ถ้าไม่ทบทวนกันไว้ให้ดี ต่อไปก็จับไม่ถูก ว่าที่แท้นั้นพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่จุดเริ่ม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น จะต้องจับตัวพระพุทธศาสนาไว้ให้อยู่ที่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ได้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้ามีการปฏิบัติ มีการเชื่อถือกันไปมากมายใหญ่โต แต่เสร็จแล้วไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา

ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อน เป็นอันว่า คนที่มาหาพระพุทธศาสนา ก็คือต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราไม่เอาอะไรอย่างอื่น เราไม่ได้ต้องการคำสั่งสอนของคนอื่น เป็นต้น

เมื่อเราต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล จะทำอย่างไร เราก็ไปฟังพระพุทธเจ้า ถ้าอยู่ในวัดเดียวกับพระองค์ ก็ไปหาไปเฝ้าพระองค์ ไปที่ธรรมสภา ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรม ไปฟังพระองค์ หรือซักถามพระองค์ ทูลถามปัญหาต่างๆ ให้พระองค์ตรัสตอบให้ ถ้าอยู่ไกลก็เดินทางมา บางคนมาจากต่างประเทศ ขี่ม้า หรือว่านั่งเกวียน เดินทางกันมาเป็นวันเป็นเดือน ก็เพียงเพื่อมาฟังพระพุทธเจ้าสั่งสอน

@@@@@@@

จุดเริ่มความคิดรวบรวม-รักษาพระพุทธศาสนาคือต้นแบบของการสังคายนา

ต่อมา พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์จากเราไปแล้ว ถ้าเราต้องการพระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราจะเอาจากที่ไหน พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถ้าไม่มีการรวบรวมบันทึกคำสั่งสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็เป็นอันว่าหมดสิ้น

ฉะนั้น เรื่องต่อไปนี้สำคัญมาก คือการรวบรวมและบันทึกจารึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ ต่อจากนั้นก็นำสืบทอดกันมาจนถึงยุคปัจจุบันว่าทำอย่างไร พวกเราเวลานี้ จึงโชคดีที่มีโอกาสรู้จักพระพุทธศาสนา

ขอย้อนไปเล่าว่า แม้แต่เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธเจ้าเองและพระสาวกองค์สำคัญ โดยเฉพาะพระสารีบุตร ก็ได้คำนึงเรื่องนี้ไว้แล้วว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ถ้าไม่มีการรวบรวมประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็จะสูญสิ้น ดังนั้นทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็ได้มีการริเริ่ม เป็นการนำทางไว้ให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า ให้มีการรวบรวมคำสอนของพระองค์ ซึ่งเราเรียกว่า สังคายนา

สังคายนา คือการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วทรงจำไว้เป็นแบบแผนอันเดียวกัน คือรวบรวมไว้เป็นหลัก และทรงจำถ่ายทอดสืบมาเป็นอย่างเดียวกัน ตัวอย่างในสมัยพุทธกาลก็มี เป็นพระสูตรหนึ่งเลย

ตอนนั้นก็ปลายพุทธกาลแล้ว นิครนถนาฏบุตรผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้ และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว สาวกลูกศิษย์ลูกหาก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร

@@@@@@@

ครั้งนั้น ท่านพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวงร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้ เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน (ที.ปา.๑๑/๑๐๘/๑๓๙)

เวลานั้น พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้แล้วก็กล่าวว่า ปัญหาของศาสนาเชนนั้น เกิดขึ้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้ เพราะฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายทั้งปวงของพระพุทธเจ้าของเรานี้ ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรองประมวล คำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลัก เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน

เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่างๆ มาแสดงตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ คือเป็นธรรมหมวด ๑ ธรรมหมวด ๒ ธรรมหมวด ๓ ไปจนถึงธรรมหมวด ๑๐ เมื่อพระสารีบุตรแสดงจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ (ที.ปา.๑๑/๒๒๕-๓๖๓/๒๒๔-๒๘๖)

หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่า สังคีติสูตร แปลง่ายๆ ว่าพระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือสังคีติ

นี้เป็นตัวอย่างที่พระอัครสาวกสูงสุด คือพระสารีบุตรได้กระทำไว้ แต่ท่านพระสารีบุตรเองได้ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็เป็นอันว่า พระสารีบุตรไม่ได้อยู่ที่จะทำงานนี้ต่อ แต่ก็มีพระสาวกผู้ใหญ่ที่ได้ดำเนินงานนี้ต่อมาโดยไม่ได้ละทิ้ง กล่าวคือพระมหากัสสปเถระ ซึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เป็นพระสาวกผู้ใหญ่ มีอายุพรรษามากที่สุด

@@@@@@@

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน งานรักษาพระพุทธศาสนาก็เริ่มทันที

พระมหากัสสปเถระนั้น ทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ ๗ วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่พร้อมด้วยหมู่ลูกศิษย์จำนวนมาก

เมื่อได้ทราบข่าวนั้น ลูกศิษย์ของพระมหากัสสปะจำนวนมากซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้นมีพระภิกษุที่บวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะ ได้พูดขึ้นมาว่า ท่านทั้งหลายจะร้องไห้กันไปทำไม

พระพุทธเจ้าปรินิพพานนี้ก็ดีไปอย่าง คือว่า ตอนที่พระองค์ยังอยู่นั้น พระองค์ก็คอยดูแล คอยกวดขัน ตรัสห้ามไม่ให้ทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ แนะนำให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ พวกเราก็ลำบาก ต้องคอยระมัดระวังตัว ทีนี้พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วนี่ พวกเราคงจะทำอะไรได้ตามชอบใจ ชอบอะไรก็ทำ ไม่ชอบอะไรก็ไม่ทำ

พระมหากัสสปเถระได้ฟังคำนี้แล้ว ก็นึกคิดอยู่ในใจ แต่ไม่ได้กล่าวออกมา คือท่านนึกคิดว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปใหม่ๆ แค่นี้ ก็ยังมีคนคิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัย ท่านก็เลยคิดว่าควรจะทำการสังคายนา

ท่านวางแผนไว้ในใจว่าจะชักชวนพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีอยู่สมัยนั้น ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า จะชวนให้มาประชุมกัน มาช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้ ก็คือคิดว่าจะทำ สังคายนา

@@@@@@@

แต่เฉพาะเวลานั้น ท่านต้องเดินทางไปที่ปรินิพพาน และจัดการเรื่องการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระให้เสร็จเสียก่อน ท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินารา แล้วก็เป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ในพระราชูปถัมภ์ของกษัตริย์มัลละทั้งหลาย

เมื่องานจัดการเรื่องพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว พระมหากัสสปเถระก็ดำเนินงานตามที่ท่านได้คิดไว้ คือได้ชักชวน นัดหมายกับพระอรหันต์ผู้ใหญ่ เพื่อจะทำการสังคายนา

ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของงานใหญ่แห่งการสังคายนา ซึ่งมีการเตรียมการถึง ๓ เดือน ซึ่งได้ที่ประชุมที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ ภูเขาชื่อเวภาระ เมืองราชคฤห์ พระเจ้าแผ่นดิน ตอนนั้นทรงพระนามว่าอชาตศัตรู ซึ่งได้ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์การสังคายนา ตั้งแต่การจัดเตรียมสถานที่

เมื่อจะทำสังคายนา ก็มีการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะเข้าร่วมประชุม จึงคัดเลือกได้พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ที่เห็นร่วมกันว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถ เช่นเป็นหัวหน้าหมู่คณะ เป็นผู้ได้จำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้มากและชัดเจน

@@@@@@@

ในการประชุมนี้ พระมหากัสสปเถระทำหน้าที่เป็นประธาน โดยเป็นผู้ซักถาม

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าเองทรงแบ่งไว้เป็น ๒ ส่วน เรียกว่า ธรรมส่วนหนึ่ง และวินัยส่วนหนึ่ง

ธรรม คือ หลักคำสอนว่าด้วยความจริงของสิ่งทั้งหลาย พร้อมทั้งข้อประพฤติปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำตรัสแสดงไว้โดยสอดคล้องกับความจริงนั้น

ส่วน วินัย คือประมวลพุทธบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการเป็นอยู่ หรือกฎระเบียบต่างๆ ของสงฆ์ ที่จะดำรงไว้ซึ่งภาวะอันเกื้อหนุนให้ภิกษุและภิกษุณีประพฤติปฏิบัติตามธรรมนั้นอย่างได้ผลดี และรักษาพระศาสนาไว้ได้

ด้วยเหตุนี้จึงเรียกพระพุทธศาสนา ด้วยคำสั้นๆ ว่า ธรรมวินัย

ฝ่ายธรรมนั้น ผู้ที่ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา เพราะติดตามพระองค์ไปอยู่ใกล้ชิด เป็นผู้อุปัฏฐากของพระองค์ ก็คือพระอานนท์ ที่ประชุมก็ให้พระอานนท์เป็นผู้นำเอาธรรมมาแสดงแก่ที่ประชุม หรือเป็นหลักของที่ประชุมในด้านธรรม

ส่วนด้านวินัย พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอุบาลีไว้ว่าเป็นเอตทัคคะ ที่ประชุมก็คัดเลือกพระอุบาลีให้มาเป็นผู้นำในด้านการวิสัชนาเรื่องของวินัย

ทั้งหมดนี้เราเรียกกันง่ายๆ ว่า สังคายนาพระธรรมวินัย

เมื่อได้ตัวบุคคลเรียบร้อยแล้วก็เริ่มประชุมกัน อย่างที่กล่าวแล้วว่า ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา โดยมีพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ เริ่มการประชุมเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๓ เดือน การประชุมดำเนินอยู่เป็นเวลา ๗ เดือน จึงเสร็จสิ้น แสดงว่าเป็นงานที่ใหญ่มาก

เรื่องการทำสังคายนาครั้งแรกนี้ ท่านเล่าไว้ในพระไตรปิฎกด้วย ผู้ต้องการความละเอียดสามารถไปอ่านได้เอง (วินย.๗/๖๑๔-๖๒๘/๓๗๙-๓๙๔)

@@@@@@@

เมื่อสังคายนาพระธรรมวินัย ก็ทำให้พระพุทธศาสนาเถรวาทเกิดขึ้นมา

วิธีการสังคายนา ที่เรียกว่าวิธีการร้อยกรองหรือรวบรวม พระธรรมวินัย หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือ นำเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดงในที่ประชุม แล้วก็มีการซักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นแน่นอน เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใดก็ให้สวดพร้อมกัน

การสวดพร้อมกันนั้น แสดงถึงการลงมติร่วมกันด้วย และเป็นการทรงจำกันไว้อย่างนั้นเป็นแบบแผนต่อไปด้วย หมายความว่า ตั้งแต่นั้นไป คำสอนตรงนั้นก็จะทรงจำไว้อย่างนั้น เมื่อจบเรื่องหนึ่งก็สวดพร้อมกันครั้งหนึ่ง อย่างนี้เรื่อยไป ใช้เวลาถึง ๗ เดือน

การสวดพร้อมกันนั้นเรียกว่า สังคายนา เพราะคำว่า “สังคายนา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สังคีติ” แปลว่า สวดพร้อมกัน คายนา หรือคีติ (เทียบกับคีต ในคำว่าสังคีต) แปลว่าการสวด สํ แปลว่าพร้อมกัน สังคายนา ก็คือสวดพร้อมกัน ถ้าเป็นชาวบ้านก็ร้องเพลงพร้อมกัน

เป็นอันว่า ผ่านเวลาไป ๗ เดือน พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ก็ได้ทำสังคายนา ประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นมติร่วมกันได้เรียบร้อย คำสอนที่รวบรวมประมวลไว้นี้ เป็นที่มั่นใจ เพราะทำโดยท่านที่ได้ทันรู้ทันเห็นทันเฝ้าทันฟังจากพระพุทธเจ้าโดยตรง

คำสอนที่ลงมติกันไว้อย่างนี้ซึ่งเรานับถือกันมา เรียกว่า เถรวาท แปลว่า คำสอนที่วางไว้เป็นหลักการของพระเถระ คำว่าเถระในที่นี้ หมายถึงพระเถระผู้ประชุมทำสังคายนา ครั้งที่ ๑ ที่ว่าไปแล้วนี้

พระพุทธศาสนาซึ่งถือตามหลักที่ได้สังคายนาครั้งแรกดังกล่าวมานี้ เรียกว่า เถรวาท หมายความว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือพระธรรมวินัย ทั้งถ้อยคำและเนื้อความ อย่างไรที่ท่านสังคายนากันไว้ ก็ทรงจำกันมาอย่างนั้น ถือตามนั้นโดยเคร่งครัด

เพราะฉะนั้นจึงต้องรักษาแม้แต่ตัวภาษาเดิมด้วย หมายความว่ารักษาถ้อยคำข้อความดั้งเดิมที่เป็นของแท้ของจริง ภาษาที่ใช้รักษาพระธรรมวินัยไว้นี้ เรียกว่าภาษาบาลี เพราะฉะนั้น คำสอนของเถรวาทจึงรักษาไว้ในภาษาบาลีตามเดิม คงไว้อย่างที่ท่านสังคายนา

@@@@@@@

พระธรรมวินัยสำคัญเพียงใด จึงทำให้ต้องมีการสังคายนา

ธรรมวินัย หรือหลักคำสอนที่สังคายนาไว้นี่แหละ เป็นตัวพระพุทธศาสนา เพราะได้บอกแล้วว่าพระพุทธศาสนาก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็คือเรานับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติไปตามคำสั่งสอนนั้น พร้อมทั้งดูแลจัดสรรทำการต่างๆ เพื่อให้ชาวพุทธทั้งหลายได้เรียนรู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น

การปฏิบัติอย่างนี้ก็เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าเองได้ตรัสไว้ คือเมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสไว้เองว่า พระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระภิกษุสาวกองค์ใดให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่พระองค์ตรัสไว้เป็นภาษาบาลีว่า

โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. (ที.ม.๑๐/๑๔๑/๑๗๘)

แปลว่า : ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป

หมายความว่า พระพุทธเจ้าตรัสให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระองค์นี้ เป็นศาสดาแทนพระองค์

เพราะฉะนั้น การสังคายนาจึงถือด้วยว่าเป็นการปฏิบัติตามพุทธพจน์ ที่เหมือนกับได้ทรงฝากฝังสั่งเสียไว้ว่า ให้พระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นศาสดาแทนพระองค์

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้า เราก็ต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ให้ดี เพราะการรักษาพระธรรมวินัยที่สังคายนาไว้ ก็คือรักษาพระศาสดาของเราไว้ เหมือนรักษาพระพุทธเจ้าไว้นั่นเอง




จากพระธรรมวินัย มาอย่างไรจึงเป็นพระไตรปิฎก

ขอกล่าวต่อไปว่า การสังคายนาที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นการประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ หรือประมวลพระธรรมวินัยไว้นั้น นอกจากประมวลคือรวมมาแล้ว ก็มีการจัดหมวดหมู่ไปด้วย

การจัดหมวดหมู่นั้นก็เพื่อให้ทรงจำได้สะดวก และง่ายต่อการแบ่งหน้าที่กันในการรักษา กับทั้งเกื้อกูลต่อการศึกษาค้นคว้าด้วย

นอกจากแบ่งโดยส่วนใหญ่เป็น ธรรมกับวินัย แล้วก็ยังมีการจัดแยกซอยย่อยออกไปอีก

ธรรมนั้นแยกย่อยออกไปเป็น ๒ ส่วน เพราะธรรมนั้นมากมายเหลือเกิน ต่างจากวินัยซึ่งมีขอบเขตแคบกว่า เพราะวินัยเป็นเรื่องของบทบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาสังฆะคือคณะสงฆ์ไว้ เพื่อให้ชุมชนแห่งพระภิกษุและพระภิกษุณี ดำรงอยู่ด้วยดี แต่ธรรมเป็นคำสอนที่ครอบคลุมพระพุทธศาสนาทั้งหมด สำหรับพุทธบริษัททั้ง ๔

เนื่องจากธรรมมีมากมาย จึงมีการแบ่งหมวดหมู่ออกไปอีก โดยแยกขั้นแรกเป็น ๒ ก่อน คือ

    ๑. ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไปตามกาลเทศะ ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น คือเสด็จไปพบคนโน้น เขาทูลถามเรื่องนี้ พระองค์ก็ตรัสตอบไป เสด็จไปพบชาวนา ทรงสนทนาโต้ตอบกับเขา จนจบไป ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เสด็จไปเจอกับพราหมณ์ ได้สนทนากับเขา หรือตอบคำถามของเขา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเสด็จไปเจอกษัตริย์หรือเจ้าชาย ก็สนทนากันอีกเรื่องหนึ่ง ธรรมที่ตรัสแสดงแก่บุคคลต่างๆ ในสถานการณ์ต่างๆ แต่ละเรื่องๆ จบไปเรื่องหนึ่งๆนี้ เรียกว่าสูตรหนึ่งๆ

ธรรมมาในรูปนี้มากมาย เรื่องหนึ่งๆ ก็มีสาระไปอย่างหนึ่ง ตามแต่ว่าพระองค์ได้ตรัสแก่บุคคลประเภทใด เพื่อทรงชี้แจงอธิบายหรือตอบปัญหาเรื่องไหน ตรงกับพื้นเพภูมิหลังความสนใจ และระดับความรู้ความเข้าใจ หรือระดับสติปัญญาของเขา ฉะนั้นธรรมแบบนี้จึงเห็นได้ว่ามีเนื้อหาแตกต่างกันมาก พอจบเรื่องนี้ที่ตรัสแก่ชาวนา ซึ่งเป็นธรรมระดับหนึ่ง เพียงเปลี่ยนไปอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น ก็เป็นธรรมคนละด้านคนละระดับกันเลย

ตัวอย่างเช่น ตรัสกับชาวนา เป็นเรื่องการทำมาหากิน หรือเรื่องการหว่านพืช ก็อาจจะตรัสเกี่ยวกับความขยันหมั่นเพียร หรืออาจจะเทียบกับการปฏิบัติบางอย่างของพระภิกษุก็สุดแต่ แต่พอไปอีกเรื่องหนึ่ง พระองค์สนทนากับพราหมณ์ ก็อาจจะตรัสเรื่องวรรณะ หรือเรื่องไตรเพทของพราหมณ์ หรือเรื่องการบูชายัญ ดังนี้เป็นต้น

ธรรมที่ตรัสแบบนี้ พอเปลี่ยนเรื่องไป เนื้อหาก็เปลี่ยนไป ห่างกันมาก ฉะนั้นเนื้อหาสาระจึงไม่ไปตามลำดับ แต่ละเรื่องๆ นั้นก็เรียกว่าสูตรหนึ่งๆ

ธรรมที่ตรัสแสดงแบบนี้ คือตรัสแสดงแก่บุคคล โดยปรารภเรื่องราว เหตุการณ์ สถานการณ์คนละอย่างๆ นี้ รวมไว้ด้วยกัน จัดไว้พวกหนึ่ง เรียกว่า พระสูตร

    ๒. ธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือธรรมที่แสดงไปตามเนื้อหา ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์ ไม่คำนึงว่าใครจะฟังทั้งสิ้น เอาแต่เนื้อหาเป็นหลัก อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่าเป็นวิชาการล้วนๆ คือยกหัวข้อธรรมอะไรขึ้นมา ก็อธิบายให้ชัดเจนไปเลย เช่นยกเรื่องขันธ์ ๕ มา ก็อธิบายไปว่าขันธ์ ๕ นั้น คืออะไร แบ่งออกเป็นอะไรบ้าง แต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไรๆ อธิบายไปจนจบเรื่องขันธ์ ๕ หรือว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็อธิบายไปในแง่ด้านต่างๆ จนกระทั่งจบเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น ธรรมที่แสดงเอาเนื้อหาเป็นหลักอย่างนี้ ก็จัดเป็นประเภทหนึ่ง เรียกว่า พระอภิธรรม

ส่วนวินัยก็ยังคงเป็นวินัยอยู่เท่านั้น เรียกกันว่า พระวินัย

@@@@@@@

ตอนนี้จะเห็นว่า เมื่อแยกธรรมเป็น ๒ ส่วน คือเป็นพระสูตรกับพระอภิธรรม แล้วมีวินัยเดิมอีกหนึ่ง ธรรมเป็น ๒ วินัย ๑ รวมกันก็เป็น ๓ ถึงตอนนี้ก็เกิดเป็นการจัดหมวดหมู่ พระธรรมวินัยอีกแบบหนึ่ง เป็นปิฎก ๓ ที่เรียกว่า พระไตรปิฎก

ปิฎก แปลว่าตะกร้า หรือกระจาด โดยมีความหมายเชิงเปรียบเทียบว่าเป็นที่รวบรวม เพราะกระจาด ตะกร้า กระบุง บุ้งกี๋นั้น เป็นที่รวบรวมทัพสัมภาระ ในที่นี้ก็คือรวบรวมจัดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นประเภทๆ เป็นหมวดๆ จึงเป็น ๓ ปิฎก เรียกว่า ไตรปิฎก คือ

    ๑. พระวินัยปิฎก เป็นที่รวบรวมพระวินัย ซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์กติกา สำหรับรักษาภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ไว้
    ๒. พระสุตตันตปิฎก เป็นที่รวบรวมพระสูตรทั้งหลาย คือธรรมที่ตรัสแสดงแก่บุคคล หรือปรารภเหตุการณ์หรือสถานการณ์อะไรบางอย่าง เป็นแต่ละเรื่องๆ ไป
    ๓. พระอภิธรรมปิฎก เป็นที่รวบรวมคำอธิบายหลัก คำสอนที่เป็นเนื้อหาสาระ เป็นหลักการแท้ๆ หรือเป็นวิชาการ ล้วนๆ

@@@@@@@

พระไตรปิฎกสำคัญเพียงใด

เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้ก็รวมความได้ว่า พระไตรปิฎก ก็คือที่รวบรวมพระธรรมวินัย อันได้แก่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า นี่แหละคือศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า จะต้องรักษา แล้วก็เล่าเรียน และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกนี้

พร้อมกันนั้นก็ใช้คำสั่งสอน คือพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกนี้แหละ เป็นหลักเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการตัดสินความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายว่า เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่ได้รวบรวมประมวลสังคายนาและรักษาสืบต่อไว้ในพระไตรปิฎก หรือคลาดเคลื่อนจากนั้น ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา ถ้าถูกต้องตามนั้นก็เป็นพระพุทธศาสนา

สิ่งที่เราเล่าเรียนปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นด้านวินัยของพระภิกษุสงฆ์ เช่น การบวช การมีโบสถ์ การสร้างกุฏิ การกรานกฐิน และสังฆกรรมต่างๆ การใช้ไตรจีวรของพระภิกษุ การที่พระภิกษุทำอะไรได้หรือไม่ได้ การที่จะต้องอาบัติต่างๆ มีปาราชิกเป็นต้น หรือการที่ชาวบ้านจะทำบุญทำทาน

คำว่าทานก็ดี คำว่าบุญก็ดี เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ไตรสิกขา ภาวนาต่างๆ ขันธ์ ๕ ไตรลักษณ์ อริยสัจจ์ ตลอดถึงพระนิพพาน ก็ล้วนมาจากพระไตรปิฎกทั้งนั้น ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก เราก็ไม่รู้จักถ้อยคำเหล่านี้เลย และพระภิกษุก็ไม่มีมาตรฐานที่จะวัดว่า ตัวประพฤติปฏิบัติอย่างไรถูก อย่างไรผิด อะไรเป็นอาบัติปาราชิก อะไรเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์

ไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นอันหมดสิ้น คือหมดสิ้นพระพุทธศาสนานั่นเอง

เป็นอันว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เราก็ฟังคำสั่งสอนของพระองค์จากพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เราต้องการพระพุทธศาสนา คือ ต้องการคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไปเอาจากที่ไหน ก็ต้องไปเอาจากที่ท่านรวบรวมประมวลไว้ ซึ่งถ่ายทอดสืบต่อกันมาในพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎกเป็นที่รักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาไว้ หรือรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้

@@@@@@@

พระไตรปิฎกยุคท่องจำ แม่นยำแค่ไหน

ทีนี้การรักษาสืบต่อพระไตรปิฎกนั้นท่านทำกันมาอย่างไร เรื่องนี้ต้องแบ่งเป็น ๒ ยุค คือ
    ๑. ยุคที่สืบต่อมาด้วยการทรงจำแบบปากเปล่า เรียกว่ามุขปาฐะ หรือมุขบาฐ และ
    ๒. ยุคที่ได้จารึกเป็นตัวอักษร เช่น ในใบลาน เป็นต้น

ช่วงแรก เป็นยุคของการรักษาไว้ด้วยการทรงจำ โดยสวดหรือสาธยาย

แต่ก่อนนี้อาตมาเองก็เคยสงสัย เหมือนหลายคนสงสัยว่า เมื่อรักษาด้วยการทรงจำ ก็น่ากลัวว่าจะมีการคลาดเคลื่อนเลอะเลือนหลงลืมไป

แต่เมื่อเวลาผ่านมา ได้พิจารณาไตร่ตรอง และได้เห็นหลักฐานและหลักการต่างๆ ก็กลายเป็นว่า การรักษาด้วยการท่อง โดยสวดแล้วทรงจำไว้นั่นแหละ เป็นวิธีที่แม่นยำยิ่งกว่ายุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร

ที่ว่าอย่างนั้นเพราะอะไร? เพราะว่าการท่องที่จะทรงจำพระไตรปิฎก หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าธรรมวินัยนั้น ท่านทำด้วยวิธีสวดพร้อมกัน คือ คล้ายกับที่เราสวดมนต์กันทุกวันนี้แหละ เวลาสวดมนต์พร้อมกัน เช่น สวดกัน ๑๐ คน ๒๐ คน ๕๐ คน ๑๐๐ คนนั้น จะต้องสวดตรงกันหมดทุกถ้อยคำ จะตกหล่นตัดขาดหายไปก็ไม่ได้ จะเพิ่มแม้คำเดียวก็ไม่ได้ เพราะจะขัดกัน ดีไม่ดีก็สวดล้มไปเลย

เพราะฉะนั้น การที่จะสวดโดยคนจำนวนมากๆ ให้เป็นไปด้วยดี ให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ก็จะต้องสวดเหมือนกันหมด ท่านจึงรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยวิธีนี้ คือทรงจำพระไตรปิฎกด้วยวิธีสวดพร้อมกันจำนวนมากๆ

พระสงฆ์ทั้งหลายนั้นท่านเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก เพราะรู้อยู่ว่า นี้แหละคือพระพุทธศาสนา ถ้าหมดพระไตรปิฎกเมื่อไร พระพุทธศาสนาก็หมดไปเมื่อนั้น ถ้าพระไตรปิฎกเคลื่อนคลาดไป พระพุทธศาสนาก็เคลื่อนคลาดไปด้วย

พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ก็ต้องถึงกับพูดกันว่า

    “อักษรตัวหนึ่งๆ อันเป็นพระปริยัติศาสน์ของพระศาสดา มีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง”
     (ญาโณทยปกรณ, ๓๕)

เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือจะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อย ก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก

แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาดแม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่งเป็นบาปมาก

@@@@@@@

นี่แหละท่านให้ความสำคัญถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพระเถระรุ่นก่อน ท่านจึงระวังมากในเรื่องการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน รวมความว่า

    ๑. มีความระมัดระวัง เห็นเป็นสำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนา
    ๒. ถือเป็นงานของส่วนรวม โดยเฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ ผู้นำหมู่คณะ และพระสงฆ์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา จะต้องเอาธุระในการดูแลรักษาอย่างยิ่ง

เป็นอันว่า การรักษาด้วยวิธีเดิม คือการทรงจำด้วยการสาธยายนั้น เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด เพราะรักษาโดยส่วนรวมที่สวดพร้อมกัน พร้อมกันนั้นแต่ละองค์ก็มีหน้าที่ต้องท่องจำอยู่แล้ว โดยจะต้องมีการซักซ้อม และทบทวนกันอยู่เสมอ ซึ่งปรากฏแม้แต่ในสมัยนี้

ในพม่าก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ กล่าวคือในยุคนี้ ทั้งๆ ที่มีคัมภีร์จารึกและพิมพ์เป็นเล่มหนังสือแล้ว เขาก็ยังพยายามสนับสนุนพระภิกษุให้ทรงจำพระไตรปิฎก

ในพม่าปัจจุบันยังมีประเพณีเป็นทางการของบ้านเมือง คือมีการสอบพระภิกษุที่มาสมัครเพื่อจะแสดงความสามารถในการทรงจำพระไตรปิฎก พระภิกษุองค์ใดสอบผ่านแสดงว่า ทรงจำพระไตรปิฎกได้หมด ซึ่งถ้านับเป็นตัวหนังสือพิมพ์เป็นอักษรไทย ก็ได้ ๔๕ เล่ม ๒๒,๐๐๐ กว่าหน้า ถ้าจำได้ทั้งหมด ทางการจะตั้งให้เป็น พระติปิฏกธร แปลว่า ผู้ทรงจำพระไตรปิฎกจะได้เป็นพระที่เคารพนับถือองค์หนึ่ง และทางรัฐบาลจะเลี้ยงดูโยมพ่อแม่ของพระภิกษุนั้น และอุปถัมภ์บำรุงด้วยประการต่างๆ

เดี๋ยวนี้ก็ยังมีพระติปิฏกธร คือพระภิกษุรูปเดียวที่สามารถจำพระไตรปิฎกได้หมดทั้ง ๒๒,๐๐๐ กว่าหน้า เป็นหลักฐานยืนยันให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัย นี่คือองค์เดียวเท่านั้น ก็ยังจำไหว

ในสมัยโบราณต้องใช้วิธีทรงจำโดยท่องปากเปล่าอย่างนี้ เพราะไม่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะฉะนั้นพระภิกษุทั้งหลายก็ทรงจำกันไว้ องค์ไหนทรงจำไว้ได้มากที่สุด ก็จะได้รับความเชื่อถือ และเคารพนับถือ

(ยังมีต่อ..)



(2-)คุณหมอกาญจนา เกษสอาด ปรารภสภาพทั่วไปในหมู่พุทธบริษัทปัจจุบัน ที่น้อยนักจะรู้จักพระไตรปิฎก และได้ฝากถามในนามของผู้ใกล้ชิดคุ้นเคย ขอให้พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ตอบอธิบายว่าพระไตรปิฎกสำคัญอย่างไร พระธรรมปิฎกได้พูดตอบ แทนเขียนจดหมาย เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๒ ดังปรากฏเนื้อความต่อไปนี้
6  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / รู้จักพระไตรปิฎก เพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ เมื่อ: เมษายน 28, 2024, 11:37:14 am




รู้จักพระไตรปิฎก เพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้
Somdet Phra Buddhaghosacariya (P. A. Payutto)

พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา(1-)

ขออนุโมทนาที่ทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้จัดทำพระไตรปิฎก ฉบับแปลภาษาไทย สำเร็จเรียบร้อย นับว่าเป็นงานใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่การพระศาสนา คือเป็นเครื่องรักษาพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญ ถือว่าเป็นงานที่สมกับเกียรติฐานะของมหาวิทยาลัยสงฆ์

มหาจุฬาฯใช้เวลา ๕ ปี ในการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับนี้ ให้สำเร็จเรียบร้อย นับว่าใช้เวลาไม่นาน เพราะงานที่จัดทำนั้น นอกจากเป็นงานที่ใหญ่ในตัวแล้ว ก็ได้จัดทำให้สมกับเป็นงานวิชาการด้วย หมายความว่า นอกจากเป็นงานสำคัญทางพระศาสนาแล้ว ก็มีความเป็นวิชาการอยู่ในตัว เช่น การที่ได้ทำบทนำ สรุปเนื้อหาสาระ จุดเด่น ลักษณะพิเศษ ของพระไตรปิฎกเล่มนั้นๆ ไว้ด้วย เป็นต้น

เมื่องานนี้สำเร็จลุล่วงไปจึงจัดงานฉลองขึ้น การสมโภชนั้นเท่ากับเป็นการประกาศให้รู้ทั่วกันด้วย คือไม่ใช่ฉลองแสดงความยินดีเท่านั้น แต่เป็นการทำให้ประชาชนได้มีโอกาสรับทราบกว้างขวางออกไป จะได้ช่วยกันใช้พระไตรปิฎกฉบับนี้ให้เป็นประโยชน์ การใช้ให้เป็นประโยชน์ก็คือการนำไปศึกษา เล่าเรียน ค้นคว้า เพื่อเป็นฐานของการปฏิบัติต่อไป

การที่ขอให้แสดงปาฐกถานี้ ก็ขอบคุณที่ให้โอกาส แต่ไม่มีโอกาสที่จะไปร่วมงาน ยิ่งตอนนี้เกิดปัญหาซ้อนเข้ามาเฉพาะหน้า คือเป็นไข้ และคออักเสบอีก คงจะพูดเท่าที่เป็นไปได้ในหัวข้อเรื่อง “พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา”

คำว่า “ธำรง” ในที่นี้ ถือว่ามีความหมายเหมือนกับคำว่า “รักษา” จะพูดรวมกันไปก็ได้ว่า “ธำรงรักษา” เรื่อง พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนา จึงมีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องของพระไตรปิฎกกับการรักษาพระพุทธศาสนา

• ธำรงพระพุทธศาสนาด้วยการรักษาพระไตรปิฎก

 :25: :25: :25:

รักษาพระไตรปิฎก คือรักษาพระพุทธศาสนา

แม้แต่ในความหมายอย่างง่ายๆ ก็เห็นได้ทันทีว่าพระไตรปิฎกสัมพันธ์กับการธำรงพระพุทธศาสนาอย่างไร
พระพุทธศาสนาคืออะไร ตอบง่ายๆ โดยแปลตามตัวอักษรว่า พระพุทธศาสนา คือคำสอนของพระพุทธเจ้า
พระไตรปิฎกคืออะไร พระไตรปิฎก ก็คือคัมภีร์ที่ประมวลเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาจารึกไว้ พระไตรปิฎกจึงเป็นที่รวบรวม บรรจุไว้ หรือจารึกไว้ ซึ่งพระพุทธศาสนานั้นเอง

ในเมื่อพระพุทธศาสนาแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระไตรปิฎกเป็นที่ประมวลไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น การรักษาพระไตรปิฎกจึงเป็นการรักษาพระพุทธศาสนา

ถ้าตอบอย่างสั้นที่สุด ก็พูดได้ว่า พระไตรปิฎกกับการธำรงพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องเดียวกัน การธำรงพระไตรปิฎก ก็คือการธำรงพระพุทธศาสนานี้ เป็นความหมายอย่างง่ายที่สุด

@@@@@@@

รักษาพระไตรปิฎก เท่ากับรักษาพระพุทธเจ้า

ถ้าพูดให้ลึกลงและให้กว้างออกไป พระไตรปิฎกมีความสำคัญต่อการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาอีกหลายอย่าง นอกจากมองพระพุทธศาสนาในความหมายที่เป็นคำสั่งสอนแล้ว พระพุทธศาสนายังหมายถึง การเล่าเรียน การศึกษา การปฏิบัติ และการจัดการต่างๆ ให้มีการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัตินั้นทั้งหมด ซึ่งรวมถึงทุกอย่างที่เราเรียกว่า เป็นสถาบันและเป็นพระพุทธศาสนาที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจ ในความหมายนี้พระไตรปิฎกก็มีความสำคัญต่อการธำรงพระพุทธศาสนา ดูง่ายๆ ดังต่อไปนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองก่อนปรินิพพาน ซึ่งเราจำกันแม่นทีเดียวว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานล่วงลับไป ไม่ได้ทรงตั้งพระภิกษุองค์ใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่พระองค์ได้ทรงมอบหมายให้ชาวพุทธได้รู้กันว่า พระธรรมวินัยนั้นแหละเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ ชาวพุทธจำนวนมากถึงกับจำพุทธพจน์ภาษาบาลีได้ว่า

      “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา”

      แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายโดยกาลที่เราล่วงลับไป

นี้คือพุทธพจน์ที่ให้เห็นว่า พระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยนี้ก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเอง พระธรรมวินัยจึงเท่ากับเป็นองค์พระศาสดา และเป็นตัวพระพุทธศาสนา

พระธรรมวินัยนี้ก็ประมวลอยู่ในพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นที่สถิตของพระธรรมวินัย

เมื่อพระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระธรรมวินัย พระไตรปิฎกจึงเป็นที่สถิตของพระบรมศาสดาของชาวพุทธ เมื่อรักษาพระไตรปิฎกไว้ จึงเท่ากับดำรงรักษาพระพุทธเจ้าไว้ และรักษาพระพุทธศาสนาด้วยนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ในความหมายนี้ พระไตรปิฎกก็มีความสำคัญต่อการรักษาพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่

@@@@@@@

รักษาพระไตรปิฎก คือรักษาผลงานและจุดหมายของการสังคายนา

ในแง่ของการสังคายนา ชาวพุทธก็รู้กันอยู่แล้วว่าการสังคายนาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการประมวลหรือรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

การสังคายนานั้น เริ่มมีมาตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ดังที่พระองค์เคยปรารภกับพระจุนทะว่า ควรจะสังคายนาธรรมทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ เพื่อให้พรหมจริยะคือพระศาสนาดำรงอยู่ได้ยั่งยืน

พระพุทธศาสนานั้นมีชื่อเรียกได้หลายอย่าง คำเรียกอย่างหนึ่ง คือที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “พรหมจริยะ” หรือ “พรหมจรรย์” พรหมจรรย์หรือพรหมจริยะนั้น คือพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ควรสังคายนาหลักธรรมคำสอนของพระองค์ เพื่อให้พรหมจริยะดำรงอยู่ยั่งยืนนาน เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พหูชน

ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระสารีบุตรได้ทำสังคายนาเป็นตัวอย่างไว้ ดังปรากฏในสังคีติสูตร ซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๑

การสังคายนาพระธรรมวินัยเริ่มเอาจริงเอาจังเป็นงานเป็นการใหญ่ของสงฆ์ส่วนรวมขึ้น หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน เมื่อพระมหากัสสปเถระเป็นประธานทำสังคายนาครั้งที่ ๑

การสังคายนา ก็คือการประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันได้แก่พระธรรมวินัย มาจัดวางไว้เป็นแบบแผน ให้ทรงจำไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นหลักของพระพุทธศาสนาสืบมา

พระธรรมวินัยที่ได้สังคายนารวบรวมไว้นี้ ต่อมาก็เป็นพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นผลของการสังคายนา โดยเป็นที่รวบรวมพระธรรมวินัยที่ได้สังคายนาไว้นั้น

ในเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า ให้สังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อให้พรหมจริยะคือพระศาสนายั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก พระไตรปิฎกก็คือผลงานที่เป็นประจักษ์พยานของการสังคายนานี้ เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎก จึงมีความสำคัญโดยเป็นที่รักษาพระพุทธศาสนาอยู่ในตัวของมันเอง

@@@@@@@

รักษาพระไตรปิฎก ทำให้พุทธบริษัทมีคุณสมบัติที่จะรักษาพระพุทธศาสนา

ก่อนจะปรินิพพานพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า พระองค์จะปรินิพพานต่อเมื่อพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายทั้งปวง คือพระภิกษุ ทั้งเถระ ทั้งมัชฌิมะ ทั้งนวกะ ภิกษุณีก็เช่นเดียวกัน พร้อมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ทั้งที่ถือพรหมจรรย์ และที่เป็นผู้ครองเรือนทั้งหมด ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาได้ คือ

1. ต้องเป็นผู้
    ก) มีความรู้ เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ดี และ
    ข) ประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง ตรง เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ
2. นอกจากรู้เข้าใจเอง และปฏิบัติได้ดีแล้ว ยังสามารถบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนผู้อื่นได้ด้วย
3. เมื่อมีปรัปวาทเกิดขึ้น คือ คำจ้วงจาบสอนคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัย ก็สามารถชี้แจงแก้ไขได้ด้วย

ถ้าพุทธบริษัททั้ง ๔ มีความสามารถอย่างนี้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน ตอนที่พระองค์จะปรินิพพานนั้น มารก็มากราบทูลว่า เวลานี้พุทธบริษัท ๔ มีคุณสมบัติพร้อมอย่างที่พระองค์ได้ตรัสเหมือนกับเป็นเงื่อนไขไว้แล้ว

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นอย่างนั้น จึงทรงรับที่จะปรินิพพาน โดยทรงปลงพระชนมายุสังขาร

พุทธดำรัสนี้ ก็เหมือนกับว่าพระพุทธเจ้าทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัททั้ง ๔ แต่ต้องมองให้ตลอดด้วยว่า ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัทที่เป็นอย่างไร ซึ่งก็ตอบได้เลยว่า ทรงฝากไว้กับพุทธบริษัทที่มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวมาแล้ว เริ่มด้วยรู้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย หรือถูกต้องตามธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

พระธรรมวินัยนี้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยก็อยู่มาจนถึงปัจจุบันไม่ได้
เพราะฉะนั้น ชาวพุทธจะเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าฝากพระศาสนาไว้ ก็โดยมีพระไตรปิฎก และเรียนรู้เข้าใจพระธรรมวินัยจากพระไตรปิฎกนี้แหละ

เป็นอันว่า ในแง่นี้พระไตรปิฎกก็เป็นหลักของพุทธบริษัท ต้องอยู่คู่กับพุทธบริษัท โดยเป็นฐานให้แก่พุทธบริษัท ซึ่งจะทำให้ชาวพุทธเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้

นี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่งที่พระไตรปิฎกมีความสำคัญต่อการธำรงพระศาสนา




รักษาพระไตรปิฎกไว้เป็นฐานของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

อีกแง่หนึ่ง ขอให้มองว่าพระพุทธศาสนานี้คืออะไรบ้าง เราพูดกันว่า พระพุทธศาสนานี้ ตัวแท้ตัวจริงถ้าสรุปง่ายๆ ก็เป็น ๓ ดังที่เรียกว่าเป็นสัทธรรม ๓ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ พระศาสนาทั้งหมดก็มีเท่านี้ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ

ปริยัติ ก็คือพุทธพจน์ที่เรานำมาเล่าเรียนศึกษา พุทธพจน์ที่เราจะเล่าเรียนนั้นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพระไตรปิฎก พุทธพจน์ก็ไม่สามารถมาถึงเราได้ การที่ท่านสังคายนา ก็คือนำพุทธพจน์มารวมไว้ให้อยู่ในพระไตรปิฎกนี่เอง พุทธพจน์ที่รวบรวมไว้เหล่านี้นี่แหละ เป็นปริยัติที่เราเล่าเรียน

ปริยัติเป็นผลจากปฏิเวธ และเป็นฐานของการปฏิบัติ

ที่ว่า ปริยัติเป็นผลมาจากปฏิเวธนั้น หมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงปฏิเวธ คือทรงบรรลุผลการปฏิบัติของพระองค์แล้ว จึงทรงนำประสบการณ์ที่เป็นผลจากการปฏิบัติของพระองค์นั้นมาเรียบเรียงร้อยกรองสั่งสอนพวกเรา คือทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยไว้ คำสั่งสอนของพระองค์นั้น ก็มาเป็นปริยัติของเรา คือเป็นสิ่งที่เราจะต้องเล่าเรียน

ปริยัติที่เป็นผลจากปฏิเวธนั้น หมายถึงปฏิเวธของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ คือผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า และที่พระพุทธเจ้าทรงยอมรับเท่านั้น ไม่เอาผลการปฏิบัติของโยคี ฤาษี ดาบส นักพรต ชีไพร อาจารย์ เจ้าลัทธิ หรือศาสดาอื่นใด

ที่ว่าปริยัติเป็นฐานของการปฏิบัติ ก็คือ ถ้าไม่ได้เล่าเรียนปริยัติ ไม่รู้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติ ก็เขว ก็ผิด ก็เฉไฉ ออกนอกพระพุทธศาสนา ถ้าปฏิบัติผิด ก็ได้ผลที่ผิด หลอกตัวเองด้วยสิ่งที่พบซึ่งตนหลงเข้าใจผิด ปฏิเวธก็เกิดขึ้นไม่ได้

ถ้าไม่มีปริยัติเป็นฐาน ปฏิบัติและปฏิเวธก็พลาดหมด เป็นอันว่าเหลวไปด้วยกัน

พูดง่ายๆ ว่า จากปฏิเวธของพระพุทธเจ้า ก็มาเป็น ปริยัติของเรา แล้วเราก็ปฏิบัติตามปริยัตินั้น เมื่อปฏิบัติถูกต้องก็บรรลุปฏิเวธอย่างพระพุทธเจ้า ถ้าวงจรนี้ยังดำเนินไปพระศาสนาของพระพุทธเจ้าก็ยังคงอยู่

ปริยัติ ที่มาจากปฏิเวธของพระพุทธเจ้า และเป็นฐานแห่งการปฏิบัติของพวกเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ก็อยู่ในพระไตรปิฎกนี้แหละ

ฉะนั้น มองในแง่นี้ก็ได้ความหมายว่า ถ้าเราจะรักษาปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธไว้ ก็ต้องรักษาพระไตรปิฎกนั่นเอง
ตกลงว่า ในความหมายที่จัดแบ่งตัวพระศาสนาเป็นสัทธรรม ๓ หรือบางทีแยกเป็นศาสนา ๒ คือ ปริยัติศาสนา กับปฏิบัติศาสนานั้น รวมความก็อยู่ที่พระไตรปิฎกเป็นฐาน จึงต้องรักษาพระไตรปิฎกไว้ เมื่อรักษาพระไตรปิฎกได้ ก็รักษาพระพุทธศาสนาได้

@@@@@@@

รักษาพระไตรปิฎกไว้ได้ พระรัตนตรัยจึงจะยังปรากฏอยู่

แม้แต่จะมองในแง่พระรัตนตรัย เราก็เห็นว่าพระไตรปิฎกนี้เป็นที่รักษาพระรัตนตรัยอีกเช่นกัน เราบอกว่าพระรัตนตรัยนั้นเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นหลักแห่งความเชื่อหรือหลักแห่งศรัทธา

    ๑. พระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้า แม้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เราก็มีพุทธพจน์ตรัสไว้อย่างที่ได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไป ธรรมวินัยจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระธรรมวินัยก็อยู่ในพระไตรปิฎก แสดงว่า พระศาสดาของเรายังอยู่ พระพุทธเจ้ายังอยู่ และอยู่ในพระไตรปิฎกนั่นเอง ดังที่บอกแล้วว่าพระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้า

    ๒. พระไตรปิฎกทำหน้าที่ของพระธรรม เรารู้จักพระธรรมวินัย คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก พระธรรมวินัยนั้น เราเรียกสั้นๆ ว่า พระธรรม เวลาเราจะแสดงอะไรเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรม เราก็เอาพระไตรปิฎกมาตั้งเป็นเครื่องหมายของพระธรรม เพราะพระธรรมอยู่ในพระไตรปิฎก

    ๓. พระไตรปิฎกเป็นที่รองรับพระสงฆ์ พระสงฆ์นั้นเกิดจากพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎก หมายความว่า พระภิกษุทั้งหลายที่รวมเป็นภิกขุสังฆะคือภิกษุสงฆ์นั้น บวชขึ้นมาและอยู่ได้ด้วยพระวินัย

วินัยปิฎกเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ กติกา คือพุทธบัญญัติที่รักษาไว้ซึ่งภิกขุสังฆะ สงฆ์อยู่ได้ด้วยวินัย วินัยนั้นเป็นที่ก่อกำเนิดและเป็นที่ดำรงไว้ซึ่งสังฆะ และสังฆะนั้นก็ทำหน้าที่เป็นผู้ที่จะรักษาสืบทอดพระศาสนา สังฆะจึงผูกพันเนื่องอยู่ด้วยกันกับพระไตรปิฎก

รวมความว่า พระรัตนตรัย ต้องอาศัยพระไตรปิฎกเป็นที่ปรากฏตัวแก่ประชาชนชาวโลก เริ่มตั้งแต่พุทธศาสนิกชนเป็นต้นไป พระไตรปิฎก จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นที่ปรากฏของพระรัตนตรัย

ดังนั้น การธำรงพระไตรปิฎกจึงเป็นการธำรงไว้ซึ่งพระรัตนตรัย ซึ่งก็คือการธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

@@@@@@@

รักษาพระไตรปิฎก คือรักษาไตรสิกขา ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในชีวิตของชาวพุทธ

อีกแง่หนึ่ง เราอาจมองลึกลงไปถึงขั้นที่เอาพระพุทธศาสนาเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา หรือเป็นชีวิตของแต่ละคน
พระพุทธศาสนาในความหมายที่เป็นแก่นสารแท้ๆ ก็คือผลที่เกิดขึ้นเป็นความดีความงาม เป็นความเจริญก้าวหน้างอกงามขึ้น หรือเป็นการพัฒนาขึ้นของไตรสิกขาในชีวิตของเรานี้เอง

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาเจริญขึ้นเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา หรือเป็นชีวิตของเราที่ซึมซาบเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาไว้ในเนื้อในตัว

พระพุทธศาสนาชนิดที่เป็นเนื้อเป็นตัวเป็นชีวิตของเรานี้ ก็ต้องอาศัยพระไตรปิฎกอีกเช่นกัน เพราะว่าพระพุทธศาสนาในความหมายนี้ หมายถึงการที่สามารถละ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ การที่จะละ โลภะ โทสะ โมหะ ได้ ก็ด้วยการปฏิบัติตาม ศีล สมาธิ ปัญญา

ถามว่า : ศีล สมาธิ ปัญญา เรารู้ได้จากไหน.?
ตอบว่า : ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นข้อปฏิบัติที่ต้องมีปริยัติเป็นแหล่งชี้บอก และแหล่งปริยัติที่ชี้บอกนั้นก็คือพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกที่แสดงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ไว้นั้น ประกอบด้วย

    ๑. พระวินัยปิฎก เป็นแหล่งที่รวมศีลของพระสงฆ์ เพราะศีลของพระภิกษุที่เรียกกันว่าศีล ๒๒๗ อยู่ในพระวินัยปิฎก แต่ที่จริงไม่เฉพาะ ๒๒๗ ที่เป็นศีลในปาติโมกข์เท่านั้น แม้ศีลนอกปาติโมกข์ก็ยังมีในพระวินัยปิฎกนั้นอีกมาก และทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของวินัยหรือเรื่องศีล คือการฝึกหัดพัฒนาพฤติกรรมที่แสดงออกในความสัมพันธ์ทางกาย และวาจา

    ๒. พระสุตตันตปิฎก ความจริงพระสูตรมีครบหมด มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา แต่เวลาจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ ท่านชี้ให้เห็นจุดเด่นของพระไตรปิฎกแต่ละปิฎก ท่านกล่าวว่า พระสุตตันตปิฎกนี้เน้นหนักในสมาธิ คือ การพัฒนาด้านจิตใจ

    ๓. พระอภิธรรมปิฎก เน้นหนักด้านปัญญา พูดอย่างปัจจุบันว่าเป็นเนื้อหาทางวิชาการล้วนๆ ยกเอาสภาวธรรมที่ละเอียดประณีตลึกซึ้งขึ้นมาวิเคราะห์วิจัย จึงเป็นเรื่องของปัญญา ต้องใช้ปรีชาญาณอันลึกซึ้ง

@@@@@@@

เป็นอันว่า พระไตรปิฎกนั้นท่านเอามาโยงกับข้อปฏิบัติที่เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่เกิดผลเป็นจริงในชีวิตจิตใจของคน อันจะทำให้พระพุทธศาสนาถูกย่อยเข้าไปเป็นชีวิตจิตใจของเรา

ถ้าใครปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา ที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎก ชีวิตของผู้นั้นจะกลายเป็นเหมือนตัวพระพุทธศาสนาเอง เหมือนดังว่าเรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ด้วยชีวิตของเรา เพราะพระพุทธศาสนาเจริญขึ้นมาเป็นเนื้อตัวเป็นชีวิตของเราแล้ว ตราบใดชีวิตเรายังอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ เราอยู่ไหน เราเดินไปไหน พระพุทธศาสนาก็อยู่ที่นั่น และก้าวไปถึงนั่น

ข้อนี้เป็นขั้นที่สำคัญมาก คือ ชาวพุทธจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ดีที่สุด ด้วยชีวิตของแต่ละคน

เมื่อแต่ละคนนั้นมีทั้งความรู้ มีทั้งการปฏิบัติ และได้ประจักษ์แจ้งผลของพระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธศาสนาก็เป็นเนื้อเป็นตัวของเขา เป็นชีวิตของเขา ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่ พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ เพราะอยู่ในตัวของแต่ละคน แล้วคนอื่นลูกหลานก็มาสืบต่อกันไป

อย่างนี้เรียกว่าพระพุทธศาสนาอยู่ด้วยวิธีการรักษาอย่างสูงสุด พูดได้ว่า พระไตรปิฎกเข้ามาอยู่ในเนื้อตัวของคนแล้ว ไม่ใช่อยู่แค่เป็นตัวหนังสือ

แต่ก่อนจะมาอยู่ในตัวคนได้ ก็ต้องมีคัมภีร์พระไตรปิฎกนี้แหละเป็นแหล่งบรรจุรักษาไว้ แม้แต่เราจะปฏิบัติให้สูงขึ้นไป เราก็ต้องไปปรึกษาพระอาจารย์ที่เรียนมาจากพระไตรปิฎก หรือจากอาจารย์ที่เรียนต่อมาจากอาจารย์รุ่นก่อนที่เรียนจากพระไตรปิฎก ซึ่งอาจจะถ่ายต่อกันมาหลายสิบทอด ถ้าเราอ่านพระไตรปิฎกเองไม่ได้ ก็ไปถาม
พระอาจารย์ให้ท่านช่วยค้นให้ ถ้าเราค้นเองเป็น เราก็ไปค้นเอง เมื่อค้นได้ความรู้ในหลักคำสอนมาแล้ว เราก็สามารถปฏิบัติให้เจริญงอกงามใน ศีล สมาธิ ปัญญา ยิ่งขึ้นไป

สรุปว่า ชีวิตของเราชาวพุทธอิงอาศัยพระไตรปิฎกโดยตรง ด้วยการนำหลักคำสอนมาปฏิบัติให้เกิดผลในชีวิตจริง
นี้เป็นความหมายแง่ต่างๆ เกี่ยวกับความสำคัญของพระไตรปิฎก ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

เมื่อพระไตรปิฎกดำรงพระพุทธศาสนา เราจะรักษาพระพุทธศาสนา เราก็มาดำรงรักษาพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นการดำรงรักษาพระไตรปิฎกก็เท่ากับดำรงพระพุทธศาสนาไว้ด้วย

@@@@@@@

ธำรงพระพุทธศาสนาได้ เมื่อพระไตรปิฎกอยู่คู่พุทธบริษัท ๔

องค์ประกอบใหญ่ๆ ในการรักษาพระพุทธศาสนา มี ๒ อย่าง คือ

    ๑. ผู้ที่จะรักษาพระพุทธศาสนา ก็คือพุทธบริษัท ๔ การที่จะรักษาก็ต้องมีคนที่จะรักษา ไม่อย่างนั้นจะไปรักษาได้อย่างไร คนที่จะรักษาพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า ได้แก่ พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เวลานี้ภิกษุณีไม่มีแล้ว ก็ไม่เป็นไร พุทธบริษัทที่อยู่นี่เราก็ถือว่าเหมือนกับบริษัท ๔ ยังทำหน้าที่กันอยู่ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นบรรพชิต กับคฤหัสถ์ หรือชาววัด กับชาวบ้าน หรือพระสงฆ์ กับญาติโยม พุทธบริษัท ๔ เป็นผู้รักษาพระพุทธศาสนา

    ๒. เนื้อตัวของพระพุทธศาสนาที่เราจะรักษานั้น ก็อยู่ที่พระไตรปิฎก เนื้อตัวของพระไตรปิฎก หรือตัวพระพุทธศาสนาแท้ๆ ที่อยู่ในพระไตรปิฎกนั้น เราเรียกว่าพระธรรมวินัย พระธรรมวินัยเป็นตัวหลักการ
เป็นอันว่ามี ๒ ฝ่าย คือ

       1. ตัวคนที่จะรักษาพระพุทธศาสนา ได้แก่พุทธบริษัท ๔
       2. ตัวพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักการที่เราจะต้องรักษา ได้แก่พระธรรมวินัยที่อยู่ในพระไตรปิฎก

สองอย่างนี้อาศัยซึ่งกันและกัน พระธรรมวินัยที่เป็นหลักของพระศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะดำรงอยู่ และจะเกิดผลเป็นประโยชน์ ก็ต้องมาปรากฏที่ตัวพุทธบริษัท ๔ ต้องอาศัยพุทธบริษัท ๔ เป็นทั้งที่รักษาไว้ และเป็นที่ปรากฏผล หรือเป็นที่จะนำไปใช้ประโยชน์

พร้อมกันนั้นในเวลาเดียวกัน พุทธบริษัท ๔ จะมีความหมายเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้ และจะได้ประโยชน์เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา ก็เพราะมีธรรมวินัยที่รักษาไว้ในพระไตรปิฎกเป็นหลักอยู่

ฉะนั้น สองอย่างนี้จึงต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เท่ากับเป็นเครื่องเตือนใจว่า เราชาวพุทธ หรือพุทธบริษัททั้ง ๔ นี่แหละ คือผู้มีหน้าที่ที่จะรักษาพระพุทธศาสนา และการรักษาพระพุทธศาสนานั้นก็ทำได้ด้วยการรักษา

พระธรรมวินัย และจะรักษาพระธรรมวินัยได้ก็ด้วยการเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ ให้พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกเกิดประโยชน์เป็นจริงขึ้นแก่ชีวิตของตนและแก่สังคมทั้งหมด

เราจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ก็ต้องให้พระไตรปิฎกยังคงอยู่คู่กับพุทธบริษัททั้ง ๔

@@@@@@@

ที่พูดมานี้มีความหมายว่า พุทธบริษัทจะต้องรำลึกตระหนักถึงความสำคัญของพระธรรมวินัย และพุทธบริษัทนั้นจะต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ด้วยการเล่าเรียน ศึกษา ปฏิบัติ ทำให้เกิดเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตน และนำไปขยายผลให้เกิดเป็นประโยชน์แก่สังคมและแก่ชาวโลกทั้งหมด

ทั้งนี้ ให้สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พรหมจริยะ คือพระพุทธศาสนา ควรจะอยู่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน ถ้าพูดด้วยภาษาสมัยใหม่ก็คือแก่มวลชน ตลอดจนให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งหมด ตามคติที่ว่า โลกานุกัมปายะ

นั่นคือหน้าที่ของพุทธบริษัท โดยเฉพาะพระภิกษุ ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาวโลก
นี่แหละคือความสัมพันธ์ระหว่างพุทธบริษัท ๔ กับพระธรรมวินัย ซึ่งจะต้องระลึกตระหนักไว้ให้ดี

บัดนี้ พวกเราเหล่าพุทธบริษัท ทั้ง ๔ มาประชุมพร้อมกันแล้ว เรากำลังทำหน้าที่ของชาวพุทธ คือการรักษาพระพุทธศาสนา โดยเริ่มต้นด้วยการเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎก วันนี้เราจึงพร้อมใจกันมาร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก แสดงว่าอย่างน้อยเราเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกแล้ว แต่อย่าเอาแค่เห็นความสำคัญ

การเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกนั้น แน่นอนว่าสำคัญอย่างยิ่ง เวลานี้เรารู้จักพระไตรปิฎกกันน้อยไปหน่อย เห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกกันน้อยไปหน่อย ต่อไปนี้จะต้องรู้จักพระไตรปิฎกกันให้มาก และเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกกันให้มาก

เมื่อเห็นความสำคัญแล้วก็ชวนกันรักษา ชวนกันรักษาอย่างไร ก็มาเล่าเรียน มาชวนกันอ่าน มาชวนกันเรียน มาเล่าให้กันฟัง มาอธิบายให้กันฟัง ครั้นเล่าเรียนแล้วก็เอาไปใช้ปฏิบัติ โดยนำเอาความรู้เข้าใจที่ได้ศึกษามาแล้วนั้นไปพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา ขัดเกลาพฤติกรรม กาย วาจา ของตน พัฒนาจิตใจของตน พัฒนาปัญญาของตน ให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นใน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะได้รับประโยชน์เสวยผลที่พึงเกิดมีจากพระพุทธศาสนา

ที่กล่าวมานี้คิดว่าเป็นคุณค่าซึ่งจะเกิดขึ้นจากการฉลองหรือสมโภชพระไตรปิฎกครั้งนี้ด้วย หมายความว่า การสมโภช ฉลองพระไตรปิฎกจะเกิดผลแท้จริง ก็ต่อเมื่อไปออกผลแก่ชีวิตและสังคมของชาวพุทธ ตลอดจนคนทั้งโลก เรียกว่านำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ชาวโลกทั้งปวง

ขอให้การสมโภชเฉลิมฉลองพระไตรปิฎกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยครั้งนี้ จงเกิดผลอำนวยประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา แก่ชีวิตของชาวพุทธทุกคน และแก่ชาวโลกทั้งมวล ให้อยู่ในความดีงามและร่มเย็นเป็นสุข ตลอดกาลยั่งยืนนานทุกเมื่อ

(ยังมีต่อ..)



(1-)ปาฐกถาธรรมของพระธรรมปิฎก โดยวีดิทัศน์ (ถ่ายที่วัดญาณเวศกวัน เนื่องจากพระธรรมปิฎกอาพาธ) ฉายในวันสมโภชพระไตรปิฎก ฉบับแปลภาษาไทย ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
7  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เสียงจากผู้ปราชัย เรื่องราวของ “เจ้าอนุวงศ์” ในตำราเรียนลาว เมื่อ: เมษายน 27, 2024, 08:06:08 am
.

อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว


เสียงจากผู้ปราชัย เรื่องราวของ “เจ้าอนุวงศ์” ในตำราเรียนลาว

“เจ้าอนุวงศ์” กษัตริย์ลาว ผู้ถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏในมุมมองไทย จากการกระทำอันมีลักษณะกระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม แต่ในมุมมอง “คนลาว” นั้น เป็นธรรมดาที่พวกเขาจะมองบรรพชนของตนว่ามีคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง การเคลื่อนไหวของเจ้าอนุวงศ์ที่พยายามนำอาณาจักรล้านช้างให้ “แข็งเมือง” ต่อกรุงเทพฯ จึงถูกยกย่องเชิดชูอยู่ใน “ตำราเรียน” ลาว

อาณาจักรล้านช้างในช่วง พ.ศ. 2322 ถึง พ.ศ. 2371 เป็นช่วงที่ตกเป็นประเทศราชของสยาม โดยช่วง พ.ศ. 2322-2421 คนลาวถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานและได้รับความทุกข์ยาก เป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์นำกำลังรวบรวมครัวลาวกลับคืนนครเวียงจันทน์ เหตุการณ์นี้นำไปสู่การนองเลือดและการทำลายเวียงจันทน์โดยทหารไทยอย่างราบคาบ ใน พ.ศ. 2370

ทั้งนี้ ที่ สปป. ลาว เคยมีงานเสวนาทางวิชาการ “วีระกำพะเจ้าอนุวง” (15-16 สิงหาคม 2543) ของสถาบันค้นคว้าวัฒนธรรม กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมแห่ง สปป. ลาว ซึ่งร่วมกับนักวิชาการ นักเขียน นักวิจัยอิสระ  ประเด็นหลักคือการพูดคุยถึงความความเห็นมาและความกล้าหาญของเจ้าอนุวงศ์ แต่ไม่ใช่การโจมตีหรือประณามไทย หากเป็นการปลูกจิตสำนึกความสามัคคีของคนในชาติ เชิดชูความเสียสละของเจ้าอนุวงศ์ในฐานะวีรชนลาว

ผศ. ดร. วริษา กมลนาวิน ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เรียบเรียงประเด็นสำคัญ ๆ จากงานเสวนาข้างต้นมานำเสนอในบทความ “เจ้าอนุวงศ์ในมุมมองของลาว บทสะท้อนจากหนังสือและตำราเรียนลาว” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2544 ดังนี้ [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ (ลาว-ผู้เขียน) ย้ำเป็นพิเศษคือ เจ้าอนุฯ ของพวกเขามิได้มีเจตนาจะเดินทัพมายังไทยเพื่อรุกรานและเบียดแย่งเอาดินแดนไทย (ทั้ง ๆ ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็เคยเป็นที่อยู่ของ “คนลาว” มาก่อน) แต่เพื่อมากวาดต้อนเอาครอบครัวลาวซึ่งถูกใช้ให้ไปขุดลอกคูคลองอย่างหนัก และโดนกระทำทารุณกรรมต่าง ๆ นานากลับไปยังดินแดนของพวกเขา





อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว


เจ้าอนุฯ จึงเป็นกษัตริย์ที่กล้าหาญและยอมสละชีพเพื่อชาติ

ที่จริงแล้วเหตุการณ์สมัยเจ้าอนุวงศ์ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องในฐานะเป็นวีรกษัตริย์ของลาวเป็นเรื่องที่รัฐบาลลาวให้ความสำคัญมาตลอด จะเห็นได้จากแบบเรียนสายวิชาสังคมศาสตร์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษา นักเรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่พลีชีพเพื่อชาติตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ได้แก่ เจ้าฟ้างุ่ม สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระยาสามแสนไท เจ้าอนุวงศ์

เรื่อยมาจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ลาวตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ซึ่งมีวีรบุรุษหลายคน ได้แก่ ท่านไกสอน พมวิหาน เสด็จสุพานุวงศ์ หรือ “ลุงสุพานุวง” ผู้ยึดถือความเสมอภาคของประชาชนอย่างไม่แบ่งชั้นวรรณะทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นต้น

@@@@@@@

“เจ้าอนุวงศ์” ในตำราเรียนลาว

เด็กลาวจะซึมซับค่านิยมในเรื่องความรักชาติ และความรู้ทางการเมืองผ่านแบบเรียนวิชาภาษาลาวตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นเลยทีเดียว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถึงปีที่ 4 จะได้อ่านบทความสั้น ๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เช่นเรื่อง “อนุสาวะลีนักรบนิละนาม” เพื่อนึกถึงทหารผู้เสียสละเพื่อชาติ เรื่อง “วีระชนสีทอง” ผู้ไม่ยอมจำนนต่อศัตรูในสมัยที่ “จักกะพัดต่างด้าว” (พวกล่าเมืองขึ้น) เข้ามารุกราน จนได้รับนามยศเป็นวีรชนแห่งชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักเรียนลาวจะได้เริ่มเรียนประวัติศาสตร์ลาวอย่างละเอียดเป็นครั้งแรกจากตำรา “แบบเรียนโลกอ้อมตัวเรา” ชั้นประถมปีที่ 4 ซึ่งกล่าวถึงกษัตริย์ในฐานะวีรบุรุษของลาว ตั้งแต่กษัตริย์พระองค์แรกคือเจ้าฟ้างุ่มซึ่งเป็นผู้รวบรวมอาณาจักรลาวให้เป็นปึกแผ่น เรื่อยมาจนกระทั่งลาวตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม เนื่องจากการขัดแย้งกันเองของกลุ่ม “สักดินาลาว” ตำราได้กล่าวถึงการกระทำของพวกสยามไว้ ดังนี้

“…ในตะหลอดเวลาที่ตกเป็นเมืองขึ้นของสะหยาม ปะชาชนลาวได้ถืกกดขี่อย่างหนักหน่วง พวกเขาเจ้าได้ถืกเก็บเกนไปออกแรงงานเฮ็ดเวียกสับพะทุกในทุก ๆ อย่าง เพื่อรับใช้แก่สักดินาสะหยาม เช่น : ไปขุดคองน้ำป้องกันตัวเมืองหลวงเชิ่งเอิ้นว่า ‘คองแสนแสบ’ และอื่น ๆ ด้านการปกคอง เจ้าชีวิดสะหยามได้เป็นผู้กำหนดแต่งตั้งเจ้าชีวิดลาวโดยตงเพื่อปกคอง พ้อมทั้งบังคับสักดินาลาวต้องร่วมมือกับสักดินาสะหยามดำเนินการปาบปามพวกที่ลุกขึ้นต่อสู้กับสะหยาม…”

แบบเรียนโลกอ้อมตัวเรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (1997), หน้า 114


@@@@@@@

ในช่วงที่เจ้าอนุวงฯ “ก่อการกบฏ” ในสายตาของคนไทยนี้เอง ตำราเรียนโลกอ้อมตัวเราได้สอนนักเรียนลาวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง ดังความต่อไปนี้

“…นับแต่เวลาที่อานาจักลาวล้านช้างได้ตกเป็นเมืองขึ้นของสักดินาสะหยาม ได้เกิดมาขะบวนการต่อสู้กู้ชาดของปะชาชนลาวต้านพวกสักดินาสะหยามมาโดยตะหลอด ในนั้นอันเด่นกว่าหมู่ แม่นการลุกขึ้นต่อสู้ในทั่วปะเทด โดยแม่นเจ้าอะนุวงวิละชนแห่งชาดเป็นผู้นำพา ในปี ค.ส. 1827 เถิง 1828

เพื่อต้านคืนกับ นะโยบายของบางกอกที่อยากหันเอาพนละเมืองลาวเป็นพนละเมืองสะหยาม ส่งคอบคัวคนลาวที่ถืกบังคับให้อบพะยบไปอยู่สะหยามแต่คาวก่อน กับคืนมาอยู่ในอานาจักล้านช้างคือเก่า แต่ก็ถืกเจ้าชีวิดสะหยามปะติเสด เจ้าอานุจึ่งได้จัดกองทับแบ่งออกไปเป็น 3 ปีก เดินทางม้งหน้าสู่บางกอก ดำเนินกานบุก ตียึดเอาโคลาด แล้วมาบขู่ว่าจะตีเข้าเมืองหลวงบางกอก แต่ถืกกองทับสะหยามที่นำพาโดยพะยาบอดินตีให้กองทับลาวแตกอยู่บั้นรบทุ่งสำริด

หลังจากนั้นกงทับลาวก็ถอยมาตั้งอยู่เมืองอุบน แต่ถืกเจ้าเมืองอุบนทำการกะบด เจ้าอนุ  พ้อมด้วยแม่ทับในกอง และทะหานได้ถอยทับมาตั้งอยู่หนองบัวลำพู อยู่ที่นี้ กองทับลาวได้ปะทะกับกองทัพสะหยาม และได้ทำกานสู้รบอย่างดุเดือด กองทับสะหยามก็เลยข้ามแม่น้ำของ (แม่น้ำโขง-ผู้เขียน) มายึดเอาพะนะคอนเวียงจันได้

…เพื่อปะติบัดตามบางกอก พะยาสุพาวดีแม่ทัพบสะหยาม ได้นำเอากำลังมาม้างเพทำลายเมืองเวียงจันอย่างราบเกี้ยงจนกายเป็นเมืองร้างในปี ค.ส. 1828

เถิงว่าจะปะลาไช เจ้าอานุก็ยังเป็นกะสัดลาวที่มีน้ำใจรักชาดอันสูงสุด ก้าเสียสะหละทุกอย่างเพื่อกอบกู้ปะเทดชาด นำพาปะชาชนลาวสร้างวีละกำอันล้ำเลิด ทั้งหมดได้สะแดงเถิงมูนเชื้อต่อสู้อันพิละอาดหาน บ่ยอมจำนนต่อสัดตู อันได้กายเป็นมูนเชื้อแบบอย่างแก่เยาวะชนลาวในต่อมา…”

@@@@@@@

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เน้นการสดุดีวีรกรรมของกษัตริย์และผู้นำลาวในช่วงสมัยต่าง ๆ ที่นำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากการคุกคามของ “สักดินาสะหยาม” และพม่า

ที่เน้นพิเศษก็คือ การต่อสู้ของคนลาวทุก ๆ ครั้ง เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินของตนเอาไว้ มิใช่การรุกรานหรือการใช้อำนาจแสดงความป่าเถื่อนต่อชาติอื่น ๆ …

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียน (อ.วริษา) เชื่อว่า คณะผู้แต่งแบบเรียนคงไม่มีเจตนาที่จะปลูกฝังให้เยาวชนลาวเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อไทย เพราะหนังสือยังเขียนประณามกษัตริย์หลวงพระบางในบางสมัยที่ถูกไทยหลอกใช้ให้มาช่วยตีเอาเวียงจัน จุดประสงค์ในการบรรยายเหตุการณ์ดังกล่าวคงจะเขียนเพื่อปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนลาวเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่คนในชาติขาดความสามัคคีกันแล้ว ประเทศชาติจะอ่อนแอ เป็นเหตุให้ชาติอื่นที่มีความเข้มแข็งกว่ามารุกรานเอาได้ง่าย ๆ

แบบเรียนภาษาลาวและวรรณคดี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันค้นคว้าวิทยาศาสตร์และศึกษาแห่งชาติ กล่าวถึงวรรณกรรมในรูปแบบของกาพย์ชิ้นหนึ่ง ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและสมัยที่แต่ง

@@@@@@@

แต่คาดว่า ผู้แต่งเป็นเจ้าอนุฯ เพราะมีการบรรยายถึงการรุกรานของพวกศักดินาสยาม

วรรณกรรมเรื่องนี้มีชื่อว่า “สานลึบพะสูน” หรือสานลึบบ่สูน แปลว่า บังดวงตะวัน ดร.สุสด โพทิสาน และท่านหนูไซ พูมมะจัน (วิทยากร/นักวิชาการลาว) กล่าวว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนบังละหัด ตอนสมที่คิด และตอนสุดที่อ่าว

เนื้อหาของกาพย์สะท้อนให้เห็นภาพของดวงจันทร์ซึ่งถูกราหูบดบัง เหมือนดั่งเมืองเวียงจันถูกต่างชาติเข้ายึดครอง นาคถูกครุฑเปล่งรัศมีเข้าครอบ นาคหมายถึงประชาชนลาว ถูกครุฑซึ่งหมายถึงพวกศักดินาสยามเข้ามารุกรานและยึดครองลาว โดยรวมหมายถึงประชาชนสูญเสียเอกราช หนทางเดียวที่จะได้เอกราชกลับคืนคือพร้อมใจกันต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราช เช่น :

“…ปีกซ้ายปีกขวา   โยทาไหลออก
หอกง้าวทั้งปืน   ลูกแม้งดำโดน
เขาโตนออกค่าย   คนร้ายไล่ฟัน
ไทขับไล่ต้อน   เลือดข้อนไหลนอง
ตายกองต้นไม้   พ่องล้มคานไป
เป็นหมู่เป็นกอง   ละวองละวู่…”

กาพย์ในตอนนี้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งคนลาวถูกกวาดต้อนไปสยาม และได้ถูกฆ่าตายไปเป็นจำนวนมาก ส่วนกาพย์ต่อไปนี้ก็บรรยายถึงภาพที่น่าสลดหดหู่ เมื่อถูกคนไทยกวาดต้อนเอาครอบครัวลาวไป

“…พวกเขาตีเขาฟาด   โอกาดเนืองนอง
ร้องคางหิวไห้   เสิกไล่คัวลง
เขาปงคำฆ่า   กินหย้าคังโทม
เสิกโจมแผ่นผ่าน   ไทม่านไทยวน
ทั้งพวนทั้งลาว   หญิงสาวร้องไห้
เสิกได้ปันกับ   น้ำเนตรนองตา
เชียงเดดเชียงงา วัดวาสูนเส้า…”

อ.นู ไซยะสิดทิวง ใน สำมะนาประหวัดสาดลาว : ตามหารอยเจ้าอะนุวง 1997, หน้า 53-54.

@@@@@@@

ถึงตรงนี้ต้องบอกว่า เป็นธรรมดาที่ชนชาติหนึ่งจะเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์ของอีกชนชาติ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนยุคปัจจุบันจะต้องเป็นคู่อาฆาตกัน ในยุคที่การกวาดต้อนผู้คน เข่นฆ่า ช่วงชิงทรัพยากร ตลอดจนทำลายเมืองทั้งเมือง เป็น “เทรนด์” ของโลกยุคจารีต คนรุ่นหลังหรือผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ต้องเปิดใจกว้างทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์เหล่านี้ รวมถึงชุดความคิดอันนำมาสู่การถ่ายทอดหรือเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะในสื่อฯ หรือ “ตำราเรียน” ที่สร้างโดยรัฐ

ก็ในเมื่อพม่ายังเป็น “ตัวร้าย” ในประวัติศาสตร์ไทย โทษฐานทำลายกรุงศรีอยุธยา สยามจะเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์ลาวบ้างก็คงไม่ใช่หนักหนาจนเกินจะยอมรับ…


อ่านเพิ่มเติม :-

   • “ศึกเจ้าอนุวงศ์” สงครามปลดแอกชาติลาว
   • ความปราชัยของ “เจ้าอนุวงศ์” วิเคราะห์เหตุความพ่ายแพ้ของมหาราชชาติลาว
   • พระราชพิธีตัดไม้ข่มนามในสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 26 เมษายน 2567
website : https://www.silpa-mag.com/history/article_131562
8  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / “อคติ” ยอดฮิตที่คนเผลอคิดแบบไม่รู้ตัว เมื่อ: เมษายน 27, 2024, 07:26:18 am
.



“อคติ” ยอดฮิตที่คนเผลอคิดแบบไม่รู้ตัว

ถ้าคุณท่องโลกโซเชียลในช่วงนี้ คุณอาจเห็นคำๆ หนึ่งที่ปรากฏตัวออกมาบ่อยๆ คำๆ นั้นก็คือ “Bias” ที่แปลว่า อคติ หรือก็คือ ความลำเอียง ที่ใจของเราเทไปในทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไป แบบที่ไม่ได้ใช้เหตุผลเข้ามากำกับ แต่ใจมันชอบล้วนๆ หรือบางทีก็อาจมองสิ่งนั้นในแง่ลบมากจนเกินไป

@@@@@@@

3 อคติ หลุมพลางแห่งความคิด และจิตใจตามกลไกสมอง

วันนี้เราจะมาตีแผ่เรื่องที่มีกลิ่นอายความขมของดาร์กไซด์เข้ามาปะปนนิด ๆ เรื่องไหนที่ใจเรามักเผลอคิด “อคติ” ไปแบบไม่รู้ตัว

    1. Blind Spot Bias คนอื่นล้วนมีแต่อคติต่อฉัน!
    เป็นหลุมพรางที่มองว่าตัวเราไม่ได้มีอคติต่อคนอื่นนะ แต่คนอื่นต่างหากที่มักจะมีอคติต่อตัวเรา! ซึ่งจะทำให้เป็นการปิดกั้นความคิดเห็นของคนอื่น ไม่นำสิ่งที่เขาคอมเมนต์มาคิดวิเคราะห์ต่อยอด ซึ่งก็อาจจะทำให้คุณพลาดอะไรไปก็ได้ และยังเป็นการมองตัวเองในแง่ดี “มากจนเกินไป” ด้วย

    2. Fundamental Attribution Error ความผิดเขาเท่าภูเขา ความผิดเราเท่าเส้นผม
    เป็นอคติที่มีความลำเอียงแบบสุด ๆ เลย คนที่มีอคติประเภทนี้ มักมองว่าปัญหาที่คนอื่นก่อขึ้นมันเป็นเรื่องร้ายแรงมาก (ถึงแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมันจะไม่ได้ใหญ่โตอย่างที่คุณคิดก็ตาม) ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวเรา ก็มักจะมีข้ออ้างหรือเหตุผลมาเสริมเสมอ

    3. Stereotypical Bias เหมารวมไปเลย
    เป็นหนึ่งในอคติที่พบมากที่สุด เป็นการเหมารวมเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากประสบการณ์ของตัวเอง เช่น เจอผู้ชายเจ้าชู้ก็เหมารวมว่า ผู้ชายจะต้องเจ้าชู้เหมือนกันหมดทั้งโลก หรือตัวเองเกิดมาในครอบครัวที่ดีมีความรักความอบอุ่น ก็เหมารวมว่าทุกครอบครัวจะต้องเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด ไม่ยอมรับความแตกต่าง ไม่ยอมรับความทุกข์ของผู้อื่น

@@@@@@@

เราทุกคนสามารถเป็นคนที่มีจิตใจที่เปิดกว้างมากขึ้นได้ ขอเพียงแค่ไม่ได้มองแค่มุมตัวเราเพียงฝ่ายเดียว แต่ลอง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ลองคิดดูสิว่าถ้าเป็นเรา เราจะรู้สึกยังไงในสถานการณ์นั้น และพยายามทำใจให้กว้าง มองโลกในหลายแง่มุมทำความเข้าใจว่าชีวิตของแต่ละคนนั้น “ไม่เหมือนกัน” 

สุดท้าย คุณจะเป็นคนที่เข้าใจโลกได้มากขึ้น ได้พัฒนาความคิดของตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น แล้วคุณจะได้เจอสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตอย่างแน่นอน





ขอบคุณ : https://www.beartai.com/life/1375140
โดย ภูษิต เรืองอุดมกิจ | 17/04/2024
9  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / สัลเลขสูตร : ว่าด้วย ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส เมื่อ: เมษายน 26, 2024, 07:55:03 am
.



สัลเลขสูตร

ว่าด้วย : ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส
เหตุการณ์ : พระมหาจุนทะถามพระพุทธองค์ถึงอุบายการละทิฏฐิต่าง ๆ พระพุทธองค์ทรงให้อุบายการละทิฏฐิแล้ว ทรงแสดงธรรมเรื่องธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ธรรมสำหรับหลีกเลี่ยงคนชั่ว และอุบายการบรรลุนิพพาน




 :25:

อุบายในการละทิฏฐิ

ทิฏฐิเหล่านั้นเกิดขึ้นในอารมณ์ใด นอนเนื่องอยู่ในอารมณ์ใด และท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์ใด ให้พิจารณาเห็นอารมณ์นั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นมิใช่ของเรา เรามิใช่นั่น นั่นมิใช่ตัวตนของเรา

พระผู้มีพระภาคไม่ทรงกล่าวว่า การเข้าฌาน ๑ - ฌาน ๘ เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของพระอริยะ เป็นเพียงธรรมเครื่องอยู่สงบระงับ 


ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส

เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลากิเลสในข้อเหล่านี้ คือ เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า

ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน
ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ลักทรัพย์ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการลักทรัพย์
ชนเหล่าอื่นจักเสพเมถุนธรรม ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักประพฤติพรหมจรรย์

ชนเหล่าอื่นจักกล่าวเท็จ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการกล่าวเท็จ
ชนเหล่าอื่นจักกล่าวส่อเสียด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการกล่าวส่อเสียด
ชนเหล่าอื่นจักกล่าวคำหยาบ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการกล่าวคำหยาบ
ชนเหล่าอื่นจักกล่าวคำเพ้อเจ้อ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการกล่าวเพ้อเจ้อ

ชนเหล่าอื่นจักมักเพ่งเล็งภัณฑะของผู้อื่น ในข้อนี้เราทั้งหลายจักไม่เพ่งเล็งภัณฑะของผู้อื่น
ชนเหล่าอื่นจักมีจิตพยาบาท ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีจิตพยาบาท
ชนเหล่าอื่นจักมีความเห็นผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีความเห็นชอบ
ชนเหล่าอื่นจักมีความดำริผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีความดำริชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีวาจาผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีวาจาชอบ
ชนเหล่าอื่นจักมีการงานผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีการงานชอบ
ชนเหล่าอื่นจักมีอาชีพผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีอาชีพชอบ
ชนเหล่าอื่นจักมีความเพียรผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีความเพียรชอบ

ชนเหล่าอื่นจักมีสติผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีสติชอบ
ชนเหล่าอื่นจักมีสมาธิผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีสมาธิชอบ
ชนเหล่าอื่นจักมีญาณผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีญาณชอบ
ชนเหล่าอื่นจักมีวิมุติผิด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีวิมุติชอบ

ชนเหล่าอื่นจักถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักปราศจากถีนมิทธะ
ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน
ชนเหล่าอื่นจักมีวิจิกิจฉา ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักข้ามพ้นจากวิจิกิจฉา
ชนเหล่าอื่นจักมีความโกรธ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความโกรธ

ชนเหล่าอื่นจักผูกโกรธไว้ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่ผูกโกรธไว้
ชนเหล่าอื่นจักลบหลู่คุณท่าน ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่ลบหลู่คุณท่าน
ชนเหล่าอื่นจักยกตนเทียมท่าน ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่ยกตนเทียมท่าน
ชนเหล่าอื่นจักมีความริษยา ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความริษยา

ชนเหล่าอื่นจักมีความตระหนี่ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความตระหนี่
ชนเหล่าอื่นจักโอ้อวด ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่โอ้อวด
ชนเหล่าอื่นจักมีมารยา ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีมารยา
ชนเหล่าอื่นจักดื้อด้าน ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่ดื้อด้าน

ชนเหล่าอื่นจักดูหมิ่นท่าน ในข้อนี้เราทั้งหลายจักไม่ดูหมิ่นท่าน
ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ว่ายาก ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้ว่าง่าย
ชนเหล่าอื่นจักมีมิตรชั่ว ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักมีกัลยาณมิตร
ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนประมาท ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นคนไม่ประมาท

ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนไม่มีศรัทธา ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นคนมีศรัทธา
ชนเหล่าอื่นจักไม่มีหิริ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีหิริในใจ
ชนเหล่าอื่นจักไม่มีโอตตัปปะ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีโอตตัปปะ
ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้มีสุตะน้อย ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสุตะมาก

ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนเกียจคร้าน ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้ปรารภความเพียร
ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้มีสติหลงลืม ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสติดำรงมั่น
ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนมีปัญญาทราม ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นคนถึงพร้อมด้วยปัญญา

@@@@@@@

ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยยาก ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยง่าย

เราย่อมกล่าวแม้จิตตุปบาทว่า มีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะต้องกล่าวไปไยในการจัดทำให้สำเร็จ ด้วยกาย ด้วยวาจาเล่า

เพราะเหตุนั้นแหละ จุนทะในข้อนี้ เธอทั้งหลายพึงให้จิตเกิดขึ้นว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยยาก ในข้อนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยง่าย


@@@@@@@

การปฏิบัติเพื่อการขัดเกลากิเลส เป็นธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงคนชั่ว

    ผู้ที่ตนเองจมอยู่ในเปือกตมอันลึกแล้ว จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้
    ผู้ที่ตนเองไม่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปลือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
    ผู้ที่ไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้
    ผู้ที่ฝึกตน แนะนำตน ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้
    การปฏิบัติเพื่อการขัดเกลากิเลส เป็นเหตุแห่งความเป็นเบื้องบน เหตุแห่งความดับสนิท

แล้วทรงตรัสต่อไปว่า

    เหตุแห่งธรรมเครื่องขัดเกลา เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งจิตตุปบาท เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความเป็นเบื้องบน เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความดับสนิท เราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้  กิจอันใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เอ็นดูอนุเคราะห์ แก่เหล่าสาวกจะพึงทำ กิจนั้นเราทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว

    นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจเถิด อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นคำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย





ขอขอบคุณ :-
อ้างอิง : สัลเลขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๐๐-๑๐๙
URL : https://uttayarndham.org/node/1316
10  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / Re: การเสื่อมสลายของ "ปราสาทขอม" ในดินแดนไทย มาจากสาเหตุและปัจจัยใดบ้าง.? เมื่อ: เมษายน 26, 2024, 07:40:45 am

 :25:

อ่านเพิ่มเติม :-

    • “ขอม” คือใคร? ศรีศักร วัลลิโภดม วิจารณ์ จิตร ภูมิศักดิ์
    • ขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน
    • เมืองสิงห์ และปราสาทเมืองสิงห์ที่แควน้อย ไม่ใช่ “ขอม” (เขมร) ?!?




กิติกรรมประกาศ : ขอขอบคุณ
- ดร. โสมสุดา ลียะวณิช รองอธิบดีกรมศิลปากร
- อาจารย์รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
- คุณไมเคิล ไรท (เมฆ มณีวาจา) ที่ปรึกษาศิลปวัฒนธรรม

ขอขอบคุณ :-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2549
ผู้เขียน : ดร. ปรีดา โกมลกิติ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 28 มิถุนายน 2560
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_10334
11  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พนักงานลาบวชได้กี่วัน.? ตามกฎหมายแรงงาน เมื่อ: เมษายน 26, 2024, 07:16:51 am
.



HR ต้องรู้! พนักงานลาบวชได้กี่วัน? ตามกฎหมายแรงงาน

HR หลายคนยังคงมีคำถามว่า จริงๆ แล้วตามกฎหมายแรงงาน พนักงานลาบวชได้กี่วัน? และได้รับเงินเดือนตามปกติหรือไม่? มาหาคำตอบในบทความนี้



 :25:

พนักงานลาบวชได้กี่วัน.? ตามกฎหมายแรงงาน

ในส่วนของงานราชการนั้น ถูกระบุไว้ชัดเจนว่า สามารถลาบวชได้ 120 วัน ต้องยื่นขอลาล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน โดยจะต้องรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน แต่ตามกฎหมายแรงงานยังไม่มีกำหนดเรื่องสิทธิกาลาบวชสำหรับองค์กรเอกชนไว้ใน พรบ.คุ้มครองแรงงาน ดังนั้นองค์กรเอกชนแต่ละองค์กรจึงสามารถกำหนดสิทธิวันลาบวชได้เอง โดย HR สามารถจัดให้เป็นสวัสดิการบริษัทเพิ่มเติมจากที่กฎหมายแรงงานกำหนดได้เลย

ตัวอย่างหลักเกณฑ์สิทธิการลาบวชที่องค์กรเอกชนส่วนมากกำหนดไว้ดังนี้

    1. มีอายุงาน 1 ปีขึ้นไป
    2. ลาบวชได้ 15 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
    3. ลาบวชได้ไม่เกิน 60 วัน โดยได้รับอนุมัติจากหัวหน้างาน
    4. ใช้สิทธิลาบวชได้ 1 ครั้ง ตลอดอายุการทำงาน

หากไม่ได้กำหนดไว้ ก็สามารถแนะนำให้พนักงานใช้สิทธิลากิจ ลาพักร้อน หรือใช้สิทธิวันลากิจตามที่ พรบ.คุ้มครองแรงงาน ระบุไว้ว่าการลาไปปฎิบัติธรรมทางศาสนาตามธรรมเนียมปฏิบัติ อย่าง งานบวช เป็น วันลากิจประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถลาแบบได้รับค่าจ้าง 3 วันต่อปี




แล้วเมื่อพนักงานเอกชนลาบวช จะได้รับเงินตามปกติหรือไม่.?

คำตอบคือ เมื่อพนักงานเอกชนลาบวช จะได้รับเงินเดือนตามปกติหรือไม่ เป็นเวลากี่วัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กรกำหนดเลย เพราะทางกฎหมายแรงงานก็ไม่ได้มีกำหนดในเรื่องนี้ไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยส่วนมากองค์กรเอกชนทั่วไปมักจะกำหนดสิทธิการลาบวช 15 วัน โดยได้รับค่าจ้าง หรือแล้วแต่การตกลงเป็น Case by case ไปอีกที

สรุปสิทธิการลาบวชตามกฎหมายแรงงานในองค์กรเอกชน

เมื่อกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดสิทธิการลาบวชไว้ HR จึงสามารถกำหนดสิทธิการลาในองค์กรของตนเองตามความเหมาะสม หรือตามหลักเกณฑ์ที่แนะนำไว้ดังกล่างได้เลย โดยกำหนดไว้ในกฎระเบียบบริษัท เพื่อความเป็นระเบียบและชัดเจนในการทำงานร่วมกัน





ขอบคุณที่มา : https://www.humansoft.co.th/th/blog/ordination-leave?utm_source=Taboola&utm_medium=hms_tab_blog_cpc&utm_campaign=ordination-leave_1&tblci=GiAS-TOUCWbnNlLjdwtnnulcBgB8ML0IJ3ZBMLnbiatvsSDkyGQoj6ry9bzc4IQB#tblciGiAS-TOUCWbnNlLjdwtnnulcBgB8ML0IJ3ZBMLnbiatvsSDkyGQoj6ry9bzc4IQB
14/11/2023 | HR Knowledge
12  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / การเสื่อมสลายของ "ปราสาทขอม" ในดินแดนไทย มาจากสาเหตุและปัจจัยใดบ้าง.? เมื่อ: เมษายน 26, 2024, 06:44:15 am
.

พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี


การเสื่อมสลายของ "ปราสาทขอม" ในดินแดนไทย มาจากสาเหตุและปัจจัยใดบ้าง.?

ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงจากการยึดถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ผสมผสานกับพุทธมหายานของขอม มาเป็นพุทธเถรวาทลังกา เมื่อราวต้นพุทธศักราช 1800 ในดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ตลอดจนบริเวณที่ราบสูงอีสาน เราจะพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงช่วงแรกเริ่มของการเปลี่ยนแปลงว่ายังคงยึดถือรูปแบบสถาปัตยกรรมขอมดั่งเดิม นั่นคือ ปรางค์ประธาน ซึ่งเดิมใช้สำหรับประดิษฐานรูปเคารพของพราหมณ์ เปลี่ยนมาเป็นรูปเคารพทางพุทธศาสนาเข้าแทนที่ ส่วนอื่นๆ ของ ปราสาทขอม เช่น มณฑป หรืออาคารด้านหน้าของปรางค์นั้น สามารถดัดแปลงมาเป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาได้

ถึงแม้ว่าจะไม่สอดคล้องกับความต้องการพื้นที่ใช้สอยได้โดยตรง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นทางออกที่ดีสำหรับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ



สภาพปูนฉาบผิวนอกของปรางค์แขก จังหวัดลพบุรี ที่สึกกร่อนลงตามกาลเวลา เผยให้เห็นถึงโครงสร้างอิฐก่อชิดย่อมุม อันเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของสถาปัตยกรรมปราสาทขอมในยุคแรกเริ่ม

ปราสาทขอมที่ได้รับการดัดแปลงเพื่อประโยชน์ของพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งพบว่ามีจำนวนไม่มากนัก ได้มีการใช้สอยอาคารอย่างต่อเนื่องมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะปล่อยทิ้งร้างไปในที่สุด และเป็นที่น่าสังเกตว่าปราสาทขอมที่ได้รับการดัดแปลงประโยชน์ใช้สอยดังกล่าวนี้ จะอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในรูปโครงสร้าง ความทรุดโทรมจะถูกจำกัดเพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้น ส่วนปราสาทขอมที่สำคัญอื่นๆ ในบริเวณที่ราบสูงอีสานนั้น กลับไม่พบการใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง แต่เป็นการหยุดใช้งานลงโดยฉับพลันในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงศาสนาและการปกครอง จากพราหมณ์ฮินดูมาเป็นพุทธเถรวาทลังกาแทบทั้งสิ้น

ปราสาทขอมที่มิได้รับการดัดแปลงให้ใช้งานต่อเนื่องในบริเวณดังกล่าว จะถูกทิ้งร้างหรือทำลายลงด้วยสาเหตุต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งแยกโดยทั่วไปได้ ดังนี้

1. อาคารถูกทิ้งร้างให้เสื่อมโทรมลงตามสภาพธรรมชาติ
2. อาคารถูกทำลายลงโดยแรงกระทำของธรรม ชาติ เช่น แผ่นดินไหว พายุ น้ำหลาก ฟ้าผ่า
3. อาคารถูกทำลายลงโดยอัคคีภัย
4. อาคารถูกทำลายลงโดยการเสื่อมสภาพของโครงสร้าง
5. อาคารถูกทำลายลงด้วยน้ำมือมนุษย์

ในการพิจารณาการเสื่อมสลายของ ปราสาทขอม ในดินแดนไทยนั้น จำต้องศึกษาโดยละเอียดในแต่ละอาคารถึงสภาพที่เป็นอยู่ในช่วงก่อนได้รับการบูรณะว่ามีสภาพเป็นอย่างไร จากนั้นจึงเปรียบเทียบหลักฐานจากรายละเอียดของชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่ขุดหรือค้นพบจากบริเวณโดยรอบอาคาร เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนที่ยังคงสภาพอยู่กับตัวอาคาร เราจะพบความแตกต่างที่บ่งบอกถึงระยะเวลาของการถูกทำลายลงและทิ้งร้างได้ว่ายาวนานไปเพียงไร เนื่องจากชิ้นส่วนของลวดลายต่างๆ มักแกะสลักจากหินทราย ซึ่งเมื่อถูกฝังกลบในชั้นดินแล้วจะคงสภาพเดิมตลอดไป ซึ่งแตกต่างกับลวดลายเหล่านั้นที่ยังคงอยู่บนตัวอาคาร ย่อมสลายตัวลงตามสภาวะการกัดกร่อนของธรรมชาติ

องค์ประกอบอีก 2 ประการ ที่มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับการเสื่อมสลายของตัวอาคาร ได้แก่
    - รูปแบบหรือเทคนิคการก่อสร้าง และ
    - วัสดุที่นำมาใช้ว่ามีความคงทนต่อสภาพดินฟ้า หรือแรงกระทำอื่นๆ อย่างไร



ปรางค์แขก จังหวัดลพบุรี


1. อาคารถูกทิ้งร้างให้เสื่อมโทรมลงตามสภาพธรรมชาติ

สภาพดินฟ้าอากาศถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการกัดกร่อนผิววัสดุอาคารปราสาทขอม ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยวัสดุหลัก 4 ประเภท ได้แก่ อิฐเปลือย อิฐฉาบปูน ศิลาแลง และหินทราย ความชื้นและความร้อนถือเป็นตัวการที่สำคัญในการทำลายวัสดุเหล่านี้ให้เสื่อมสภาพ ทุกครั้งที่อาคารเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน และถูกแผดเผาด้วยความร้อนระอุของแสงแดดในเวลาต่อมา ส่วนหนึ่งของอณูที่ยึดประกอบเป็นพื้นผิวของวัสดุจะแตกสลายลง ผิวอาคารประเภทก่ออิฐฉาบปูนจะเริ่มแตกร้าวและสลายตัวลงก่อนในชั่วอายุคน ส่วนผนังที่ก่ออิฐเผาเรียบจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าถึงหลายชั่วอายุคน

ปราสาทขอมที่ก่อสร้างด้วยวัสดุประเภทหินทรายขาว เช่น ปรางค์ประธานปราสาทพิมายนั้น จะมีอายุการใช้งานที่สูงมากนับพันปีขึ้นไปโดยไม่เสื่อมสลาย ถ้าสังเกตให้ดีจะพบลวดลายแกะสลักหินทรายบริเวณเรือนธาตุของปรางค์ประธาน ยังคงสภาพความสมบูรณ์สูงมาก แสดงถึงความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศของวัสดุที่สถา ปนิกหรือวิศวกรผู้สร้างสรรค์เลือกนำมาใช้เป็นอย่างดี

2. อาคารถูกทำลายลงโดยแรงกระทำของธรรมชาติ

นอกจากการถูกกัดกร่อนโดยสภาพดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติแล้ว แรงกระทำโดยตรงจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำหลาก ฟ้าผ่า ลมพายุ หรือแม้ แต่การฝังรากลงในตัวอาคารของต้นไม้ใหญ่ ยังเป็นสาเหตุสำคัญในการพังทลายลงของอาคารโดยทั่วไป

สำหรับปราสาทขอมในไทย เราไม่พบการพังทลายโดยน้ำท่วมหรือน้ำหลาก อาจเป็นไปได้ว่าสถาปนิกจะเลือกชัยภูมิที่สูงจึงรอดพ้นสภาวะอันตรายนี้ได้ ส่วนกรณีลมพายุนั้นไม่มีผลต่ออาคารที่มีลักษณะการก่อสร้างมั่นคงด้วยอิฐและหินล้วนได้ สำหรับฟ้าผ่านั้นอาจก่อให้เกิดความร้อนต่อส่วนยอดสุดของปรางค์หรือกลศ มีตรีศูลเป็นโลหะ ทำหน้าที่เสมือนสายล่อฟ้า เป็นเหตุให้กลศอาจแตกสลายลงได้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้อาคารพังทลายลงทั้งหลัง

สาเหตุที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อโครงสร้างอาคารปราสาทขอมได้ก็คือแผ่นดินไหว ในขณะที่ผิวโลกเคลื่อนที่ไปมาในแนวราบ ร่วมกับการเคลื่อนไหวในแนวดิ่งเป็นการออสซิเลต (oscil-late) ยังผลให้เกิดความเครียดอย่างมหาศาลในวัสดุที่รองรับมวลน้ำหนักของโครงสร้างทั้งหมดที่อยู่เหนือขึ้นไป ผลก็คือวัสดุประเภทอิฐและหินที่มีความยืดหยุ่นตัวได้น้อย จะแตกร้าวไม่สามารถรับน้ำหนักได้อีกต่อไป และส่วนของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปจะพังทลายลงมากองกับพื้น โดยทั่วไปแล้วตำแหน่งของจุดเครียดของวัสดุจะอยู่ที่ระดับความสูง 2 ใน 5 ของอาคาร

จากการสำรวจโดยทั่วไปแล้ว ไม่พบข้อบ่งชี้การพังทลายของปราสาทขอมในที่ราบสูงอีสานว่าเกิดจากแผ่นดินไหว ด้วยเหตุว่าหากแผ่นดินไหวเป็นสาเหตุจริง เราจะพบรอยแตกแยกของวัสดุในตำแหน่งดังกล่าวปรากฏอย่างชัดเจน และไม่เพียงแต่ปรางค์ประธานเท่านั้นที่ถูกทำลายลง แต่ปรางค์ข้างเคียงรวมทั้งอาคารส่วนประกอบอื่นๆ และกำแพงแก้วจะพังทลายลงในลักษณะเดียวกันและพร้อมกันอีกด้วย



(ซ้าย) ปรางค์ด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย, (ขวา) ปรางค์ประธานปราสาทนารายณ์เจงเวง จังหวัดสกลนคร


3. อาคารถูกทำลายลงโดยอัคคีภัย

ไฟไหม้จะเป็นด้วยอุบัติเหตุหรือจงใจก็ตาม สามารถทำลายอาคารทั้งหลังลงได้ แต่คงไม่ใช่ในกรณีปราสาทขอมในไทย ด้วยเหตุว่ามีชิ้นส่วนของโครง สร้างไม้ที่เป็นวัสดุติดไฟประกอบอยู่น้อยมากจะมีก็เพียงฝ้าเพดานขนาดเล็กในห้องโถงภายในของปรางค์หรือมณฑป และโครงสร้างหลังคาส่วนประกอบอื่นของปราสาท ที่มิใช่เป็นส่วนโครงสร้างหลัก ดังนั้นประเด็นอาคารพังทลายลงอันเนื่องมาจากอัคคีภัยจึงมิใช่ประเด็นของปราสาทขอมในไทย

@@@@@@@

4. อาคารถูกทำลายลงโดยการเสื่อมสภาพของโครงสร้าง

การเสื่อมสภาพของโครงสร้าง มักเป็นสาเหตุสำคัญของการพังทลายลงในอาคารต่างๆ ที่เห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสื่อมสภาพของฐานราก หรือฐานรากทรุดตัวนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในอาคารยุคสมัยเกี่ยวกับปราสาทขอมในไทยคือ บุโรพุทโธ ของอินโดนีเซีย ที่พื้นฐานดาดฟ้าชั้นบนของอาคารทรุดตัวลงอันเนื่องมาจากฐานที่บดอัดไว้ทรุดตัว เป็นเหตุให้สิ่งก่อสร้างทั้งหมดในชั้นบนของอาคารพังทลายลงโดยสิ้นเชิง

แต่จากการตรวจสอบสภาพฐานรากอาคารปราสาทขอมในไทยโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่พบสาเหตุดังกล่าว วิศวกรปราสาทขอมคงตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ และก่อฐานอาคารโดยเฉพาะปรางค์ประธานที่จะสูงใหญ่เป็นพิเศษให้มีความคงทนตลอดไปได้เป็นอย่างดี สาเหตุหลักอีกประการที่พบเห็นเกิดจากการใช้หินทรายแดงเป็นวัสดุโครงสร้าง เนื่องจากหินทรายแดงมีคุณสมบัติที่สามารถกะเทาะร่อนได้ง่าย ดังนั้นการผุกร่อนของวัสดุชนิดนี้ อาจทำให้อาคารทรุดตัวและพังทลายลงได้

@@@@@@@

5. อาคารถูกทำลายลงด้วยน้ำมือมนุษย์

เมื่อธรรมชาติมิใช่สาเหตุการพังทลายของปราสาทขอมในไทยแล้ว สาเหตุสุดท้ายซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักเพียงประการเดียวคือฝีมือของมนุษย์นั่นเอง การรื้อทำลายอาคารประเภทศาสนสถานโดยทั่วไปของมนุษย์ มักเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งดังนี้
    1. ขุดค้นหาสมบัติ
    2. ลักขโมยส่วนประกอบสถาปัตยกรรมของอาคาร
    3. ศึกสงคราม
    4. ความขัดแย้งทางศาสนา

เนื่องจากอาคารปราสาทขอมในไทยมีความแตกต่างจากพุทธสถานในสมัยอยุธยาที่มักจะบรรจุสิ่งสักการะหรือซุกซ่อนของมีค่าไว้ในเจดีย์ ปราสาทขอมจะไม่นิยมซุกซ่อนของมีค่าไว้ นอกจากมงคลวัตถุเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ดังนั้นการขุดค้นหาสมบัติจึงมิใช่ประเด็นสาเหตุการพังทลาย

การลักลอบขโมยชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม เช่น ทับหลัง หรือกลีบขนุน หรือส่วนประดับอื่นๆ นั้นมีพบเห็นทั่วไป เป็นเหตุให้อาคารมีลักษณะเว้าแหว่งเช่นที่ปรากฏ แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้อาคารทั้งหลังพังทลายลง

การศึกสงครามดูเป็นเรื่องร้ายแรงมากสำหรับอาคารพุทธสถานในสุโขทัย กำแพงเพชร หรืออยุธยา รวมทั้งเมืองต่างๆ ที่ไม่อาจรอดพ้นจากการทำลายล้างของศึกสงครามได้ แต่ดูเหมือนว่าศึกสงครามของกรุงสุโขทัยและของกรุงศรีอยุธยานั้น มิใช่สาเหตุที่เกิดกับปราสาทขอมในที่ราบสูงอีสาน เนื่องจากปราสาทขอมเหล่านั้นได้หมดความสำคัญลงก่อนหน้านั้นนานแล้ว และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรื้อทำลาย อาจเป็นด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ที่ปรางค์ขอมทั้งสามที่สุโขทัย 1 แห่ง และลพบุรีอีก 2 แห่งนั้นสามารถรอดพ้นการทำลายมาได้ ในขณะที่อาคารพุทธสถานแทบทั้งหมดถูกทำลายลง

ความขัดแย้งทางศาสนาดูจะเป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันคนกลุ่มหนึ่งที่นับถือศาสนาหนึ่ง เมื่อความขัดแย้งหรือโกรธแค้นต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งที่นับถืออีกศาสนาหนึ่งเข้ามาถึงจุดแตกหัก ก็จะยกพวกพากันเข้าไปรื้อถอนทุบทำลายศาสนสถานของอีกฝ่ายหนึ่ง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกศาสนา ทุกมุมโลกมาช้านาน ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมาจนจบปัจจุบัน และเมื่อความขัดแย้งนี้ขยายตัวเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น ก็กลายเป็นสงครามศาสนา ดังนั้นทฤษฎีของความขัดแย้งหรือการเปลี่ยนแปลงศาสนาจากพราหมณ์ฮินดูผสมผสานกับพุทธมหายาน มาเป็นพุทธเถรวาทลังกาที่เคร่งครัดในยุคปลดแอกอิทธิพลขอมนั้น ดูจะเป็นประเด็นหลักที่มีน้ำหนักมากและยากที่จะปฏิเสธได้

ข้อยืนยันจากหลักฐานโบราณวัตถุ ได้แก่ การพังทลายลงของปราสาทขอมในไทยนั้นเป็นอย่างมีระบบ นั่นคือปรางค์ประธาน ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์หรือวัฒนธรรมขอมจะถูกรื้อทำลาย จากนั้นส่วนยอดของปรางค์บริวารและบางส่วนของโคปุระจะถูกทำลาย ที่เหลือคือส่วนประดับต่างๆ จะถูกทำลาย เช่น หลังคาระเบียงคด สะพานนาคราช และเสานางเรียง เป็นต้น

@@@@@@@

เป็นที่น่าสังเกตว่าการพังทลายของปราสาทขอมแทบทั้งหมดในเขตอีสานสูง เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ยกเว้นอาคารประเภทอโรคยศาล หรือธรรมศาลาต่างๆ ที่สร้างไว้ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ด้อยความสำคัญในแง่สัญลักษณ์ของศาสนา ยังคงสภาพโครงสร้างที่ชัดเจนและสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่มิได้ถูกรื้อทำลาย

ข้อสังเกตที่ชี้ชัดถึงการพังทลายของปราสาทขอมในไทยอีกประการหนึ่งว่าเป็นผลจากการกระทำของธรรมชาติหรือมนุษย์ อยู่ที่ลักษณะของเศษหรือชิ้นส่วนของโครงสร้างที่กองทับซ้อนอยู่กับที่ หรือกระจัด กระจายไปคนละทิศละทาง ในกรณีของการพังทลายโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะด้วยการเสื่อมสภาพของโครงสร้างหรือแรงกระทำอื่นๆ จากธรรมชาติ ชิ้นส่วนต่างๆ ของอาคารซึ่งประกอบด้วยหินก็ดี อิฐก็ดี จะแยกตัวออกจากกันเมื่อแรงยึดเหนี่ยวของวัสดุหมดไป วัสดุเหล่านั้นจะตกลงมากองที่พื้นโดยแรงโน้มถ่วงของโลก วัสดุจะแตกหักอันเป็นผลมาจากการอัดกระแทกของชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ตกตามกันลงมา การกระจัดกระจายจะอยู่ในวงจำกัด และค่อนข้างจะมีระเบียบในทิศทางของการพังทลาย

ในทางตรงกันข้าม หากการพังทลายนั้นเกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้ว วิธีที่ง่ายและได้ผลที่สุดในยุคที่เครื่องจักรหรือระเบิดยังไม่ได้นำมาใช้ คือการใช้เชือกขนาดใหญ่คล้องส่วนต่างๆ ของยอดปรางค์ เช่น กลศ หรือกลีบขนุน และฉุดลากลงมาด้วยแรงมนุษย์หรือช้างงาน จากนั้นชิ้นส่วนที่เหลือจะเริ่มแยกตัวออกจากกันง่ายต่อการฉุดลากลงมา

ผลที่ปรากฏคือ เศษชิ้นส่วนจะกระจัดกระจายไร้ทิศทาง ไร้ระเบียบ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมของยอดปรางค์ที่ถูกชักรอกลงมาในลำดับต้นๆ นั้น อาจตกลงดินห่างจากอาคารพอสมควรและอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ในช่วงแรกของการบูรณะอาคารปราสาทหิน กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมจำนวนมากที่อยู่ในสภาพดีและสามารถนำมาตกแต่งเข้าที่เดิมได้ ซึ่งหากการพังทลายเกิดจากแรงกระทำของธรรมชาติแล้ว โอกาสที่ชิ้นส่วนเหล่านั้นจะอยู่รอดคงสภาพตามที่ปรากฏเห็นนั้นย่อมมีความเป็นไปได้น้อยมาก

@@@@@@@

ผลวิเคราะห์การเสื่อมสลายของ ปราสาทขอม ในไทย

การเสื่อมสภาพและพังทลายลงของปราสาทขอมในไทย แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะที่ชัดเจนคือ เกิดจากการทิ้งร้างและเกิดจากการทำลายโดยมนุษย์ จากการสำรวจพบว่ามีปราสาทขอมจำนวนน้อยที่รอดพ้นจากการทำลายของมนุษย์ ส่วนที่เหลือนั้นเป็นฝีมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น

1. ในส่วนแรกที่เกิดจากการทิ้งร้างให้ผุกร่อนลงตามธรรมชาติ ได้แก่ ปราสาทขอมทั้ง 2 องค์ ในจังหวัดลพบุรี คือพระปรางค์สามยอดซึ่งสร้างด้วยศิลาแลงฉาบด้วยปูนและหินทรายแกะลวดลายในส่วนประกอบสถาปัตยกรรม นักวิชาการเชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากนั้นก็ได้รับการปฏิสังขรณ์และสร้างต่อเติมในสมัยพระนารายณ์มหาราชยุคกรุงศรีอยุธยา ส่วนอาคารอีกหลังหนึ่งคือปราสาทปรางค์แขก สร้างด้วยอิฐเผาขัดเรียบวางซ้อนกัน ผิวนอกฉาบปูน เชื่อว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15 และได้รับการบูรณะต่อเติมภายหลังในสมัยอยุธยา

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปราสาทขอมทั้ง 2 องค์นี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เป็นดินทับถมของผิวโลกมีความอ่อนตัวพอสมควร กับทั้งยังก่อสร้างด้วยวัสดุที่มีความคงทนไม่มากนัก คืออิฐและศิลาแลง ฉาบด้วยปูน แต่สภาพอาคารทั้งสองยังอยู่ในลักษณะสมบูรณ์ทางโครงสร้าง จากฐานถึงยอดอาคาร สภาพผิวของอาคาร ปราสาทปรางค์แขก ซึ่งมีอายุมากกว่าปรางค์สามยอด ไม่ต่ำกว่า 200 ปี จะอยู่ในสภาพที่สึกกร่อนมากกว่าตามธรรมชาติของวัสดุที่นำมาใช้ สิ่งที่น่าสนใจคือปราสาททั้งสองนี้ รอด พ้นจากการทำลายของมนุษย์ทั้งๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ของศึกสงครามตลอดระยะเวลา 400 ปีเต็ม ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่าอาคารปราสาทขอม ได้เลือกใช้เทคนิคและวัสดุการก่อสร้างที่สามารถยืนหยัดต้านภาวะการทำลายของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

อาคารปราสาทขอมอีก 2 องค์ที่รอดพ้นจากการทำลาย และคงสภาพโครงสร้างดั่งเดิมจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ปรางค์ด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย และปรางค์ประธาน ปราสาทนารายณ์เจงเวง จังหวัดสกลนคร ซึ่งอาคารทั้งสองได้มีการใช้งานต่อเนื่องที่ยาวนาน สำหรับปราสาทนารายณ์เจงเวงเป็นศิลปะแบบบาปวน สร้างด้วยศิลาแลงเป็นฐาน จากเรือนธาตุขึ้นไปจนจบส่วนยอดเป็นหินทราย โครง สร้างหลักจากส่วนฐานอาคารจนถึงส่วนยอดยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ส่วนบนของมุมด้านหน้าพังทลายลง สำหรับปราสาทขอมด้านทิศเหนือของวัดพระพายหลวงนั้น ยังคงสภาพโครงสร้างที่ดี เชื่อว่ามีการใช้งานต่อเนื่องระยะหนึ่ง

ส่วนปรางค์ประธานองค์กลางนั้น ได้รับการดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของอาคารใหม่ที่สร้างต่อเติมเชื่อมเข้าหาจากด้านตะวันออก และสร้างพระพุทธรูปอิงอยู่บนผนังนั้น อาคารทั้งหลังรวมทั้งปรางค์ประธานถูกทำลายลงจากการศึกสงคราม ซึ่งปัจจุบันยังคงเหลือซากอาคารให้เห็นเป็นหลักฐานชัดเจน ส่วนปรางค์ด้านทิศใต้ได้ถูกรื้อถอนทำลายลงก่อนหน้านั้นนานแล้ว ทั้ง 2 อาคารปราสาทขอมเป็นตัวอย่างที่ดีถึงความคงทนถาวรต่อสภาพดินฟ้าอากาศของการก่อสร้าง

2. ส่วนที่ 2 ของปราสาทขอมในไทย เป็นลักษณะของการเสื่อมสลายอันเนื่องมาจากการทำลายของมนุษย์ อาจเรียกได้ว่าอาคารปราสาทขอมแทบทุกอาคารในเขตอีสานสูง อันได้แก่ โคราช บุรีรัมย์ ศรีสะ เกษ สุรินทร์ พังทลายลงโดยฝีมือคน ยกเว้นอาคารประเภทธรรมศาลา หรืออโรคยศาล ซึ่งจำนวนหนึ่งยังคงสภาพโครงสร้างที่ดีและเสื่อมสลายลงตามสภาพธรรมชาติในส่วนที่เป็นรายละเอียดของผิวนอกอาคาร



(ซ้าย) ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ก่อนการบูรณะ, (ขวา) ปรางค์พรหมทัต ปราสาทพิมาย


การพังทลายของปราสาทพิมาย

อาคารปราสาทขอมที่เป็นตัวอย่างชัดเจนของการพังทลายโดยฝีมือมนุษย์ ได้แก่ ปราสาทพิมาย อาคารที่โดดเด่นที่สุดของสถาปัตยกรรมขอมในไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมานั่นเอง

ภาพถ่ายของสิ่งก่อสร้างก่อนการบูรณะโดยกรมศิลปากร จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งมีศาสตรา จารย์ หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ผู้อำนวยการบูรณะ และนายแบว์นาร์ด ฟิลลิปป์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสร่วมอยู่ด้วย ในช่วงปี พ.ศ. 2507-12 เป็นหลักฐานที่ดี ภาพถ่ายได้แสดงถึงอาคารหลักที่สำคัญทั้งสาม ได้แก่ ปรางค์ประธาน ปรางค์หินแดง ปรางค์พรหมทัต ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าปรางค์ประธานนั้น ส่วนยอดจะขาดหายไป คงเหลือแต่เฉพาะชั้นล่างสุดของวิมานที่ยังปรากฏครบสมบูรณ์ทั้งนาคปักและบันแถลง รวมถึงรายละเอียดสถาปัตยกรรมอื่นๆ ส่วนปรางค์หินแดงนั้น โครงสร้าง พังทลายลงมาเป็นแนวตั้งส่วนหนึ่ง สำหรับปรางค์พรหมทัตยังสมบูรณ์ทางโครงสร้างหากรายละเอียดสถาปัตย กรรมนั้นไม่ปรากฏให้เห็น



ปรางค์หินแดง ปราสาทพิมาย

ในลักษณะโครงสร้างของอาคารทั้งสาม เป็นการก่อด้วยหินสกัดผิวเรียบวางซ้อนกันจากฐานถึงส่วนยอดของโครงสร้างในลักษณะเดียวกันหมด ส่วนวัสดุที่นำมาใช้นั้นแตกต่างกันออกไป ปรางค์ประธานใช้หินทรายขาว ปรางค์พรหมทัตใช้ศิลาแลง ส่วนปรางค์หินแดงใช้หินทรายแดง

ในแง่วัสดุนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศและกาลเวลาที่แตกต่างกันออกไป หิน ทรายขาวจะมีความคงทนสูงสุดต่อดินฟ้าอากาศและอายุใช้งานยาวนานหลายพันปีไม่เสื่อมสภาพ ส่วนหินทรายแดงจะมีจุดอ่อนตรงที่สามารถแตกล่อนได้เมื่อกระทบความชื้นและแสงแดดสลับกันไป และศิลาแลงนั้น ถึงแม้จะมีความแกร่งน้อยกว่าหินทรายแดง แต่ก็ไม่แตกล่อนได้ง่าย

ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายดั่งเดิมก่อนการบูรณะกับคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาใช้แล้ว ภาพของปรางค์หินแดงและปรางค์พรหมทัตดูจะสอดคล้องกันดี เนื่องจากการแตกตัวของหินทรายแดงจะทำให้บางส่วนของโครงสร้างอ่อนตัวไม่สามารถรับน้ำหนักตัวเองได้ และพังทลายลงตามแรงโน้มถ่วงของโลกในแนวตั้ง ส่วนปรางค์พรหมทัตยังคงยืนหยัดต่อไปจากฐานถึงส่วนยอดอาคารอีกได้นานนับพันปี

ในส่วนของภาพถ่ายที่ไม่สอดคล้องกับความจริงของคุณสมบัติของวัตถุ และค้านกับกรรมวิธีการก่อสร้าง นั่นคือ ปรางค์ประธานที่สร้างด้วยหินทรายขาวซึ่งในความเป็นจริงแล้วปรางค์ประธานควรจะมีสภาพที่สมบูรณ์แบบดังภาพถ่ายปัจจุบันหลังการบูรณะ มิใช่ภาพที่เห็นก่อนการบูรณะ เนื่องจากความแข็งแกร่งทนทานอันเป็นคุณสมบัติเด่นของหินทรายขาว จากการพิจารณาภาพถ่ายก่อนการบูรณะ เราจะพบเส้นแนวฐานอาคารที่ตรงไม่ทรุดเอียง แสดงว่าไม่มีปัญหาของฐานรากทรุดตัว

ในบริเวณโครงสร้างหลักที่รับน้ำหนักจากส่วนยอดอาคารหรือเรือนธาตุนั้น ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ราวกับเพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน จากการสำรวจด้วยตาเปล่า ไม่พบรอยแตกอันเกิดจากแรงเค้นของแผ่นดินไหว แสดงให้เห็นว่าแรงกระทำของธรรมชาติมิใช่ปัญหา ดังนั้นคำตอบเดียวที่ยังคงเหลือก็คือฝีมือมนุษย์ ซึ่งหากไม่มีการกระทำของมนุษย์แล้วปรางค์ประธานจะอยู่ในสภาพโครงสร้างที่สมบูรณ์ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน



ปรางค์สีดา จังหวัดนครราชสีมา

อาคารปราสาทพิมาย เป็นหนึ่งในจำนวน 37 อาคารสิ่งก่อสร้างแบบปราสาทขอมที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทำเนียบโบราณสถานขอม ในเขตจังหวัดนครราชสีมา และเมื่อศึกษาดูจะพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำลายโดยฝีมือมนุษย์ ซึ่งในจำนวนนี้อาจมีแรงกระทำของธรรมชาติร่วมอยู่ด้วย เช่น ปรางค์บ้านสีดา ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา เราจะพบรอยร้าวเริ่มจากฐานขึ้นไปและแยกตัวเพิ่มขึ้นจนถึงส่วนบนของโครงสร้างที่ยังคงเหลืออยู่ อันเป็นหลักฐานของการทรุดตัวของฐานราก และเป็นสาเหตุหลักของการพังทลาย ปัญหาการทรุดตัวของฐานรากยังพบที่ปราสาทหินโนนกู่ และปราสาทหินเมืองเก่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา แต่โดยภาพรวมแล้วปัญหาการพังทลายยังคงมาจากมนุษย์เป็นสาเหตุหลัก

นอกจากปราสาทขอมที่จังหวัดนครราชสีมาจำนวน 37 แห่งแล้ว ยังมีที่บุรีรัมย์อีก 50 แห่ง ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้คือปราสาทพนมรุ้งที่รู้จักกันดี ส่วนที่สุรินทร์มีอยู่จำนวน 31 แห่ง จังหวัดชัยภูมิ 6 แห่ง จังหวัดร้อยเอ็ด 14 แห่ง จังหวัดศรีสะเกษ 11 แห่ง และจังหวัดอุบลราชธานีอีก 6 แห่ง รวมเป็นปราสาทขอมในอีสานสูงทั้งสิ้น 155 แห่ง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับทำเนียบโบราณสถานขอมในไทย ของกรมศิลปากร และยังคงทิ้งหลักฐานของการพังทลายให้ศึกษาต่อไปในอนาคต



ปราสาทพิมายระหว่างการบูรณะ


สรุปข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเสื่อมสลายของ ปราสาทขอม ในไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่าอาคารปราสาทขอมที่สำคัญทั้งสองในลพบุรีและปรางค์วัดพระพายหลวงในสุโขทัยนั้นยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์รอดพ้นจากการถูกทำลาย แต่ส่วนที่ได้รับการต่อเติมของปรางค์ทั้งสามในสมัยอยุธยาเพื่อพิธีกรรมทางพุทธศาสนากลับถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงจากศึกสงคราม

แต่ในทางกลับกันอาคารปราสาทขอมอีกจำนวนมากมายในบริเวณที่ราบสูงอีสานเกือบจะเรียกได้ว่าทั้งหมดของจำนวน 155 แห่งถูกทำลายลง ยกเว้น อโรคยศาลและธรรมศาลา จำนวนเพียง 3-4 แห่งที่รอดพ้นจากการถูกทำลาย และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในกลุ่มปราสาทตาเมือนทั้งสาม ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊จ และปราสาทตาเมือน ที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์นั้น ปรางค์ประธานของปราสาทตาเมือนธม อันเป็นศาสนสถานของพราหมณ์ฮินดูที่มีความสำคัญมาก และเป็นที่ประดิษฐานของสวยัมภูลึงค์ หรือองค์ศิวลึงค์จากแท่งหินธรรมชาติ



ปราสาทพิมายหลังการบูรณะ

สำหรับปรางค์ประธานและอาคารสิ่งก่อสร้างโดยรอบซึ่งสร้างขึ้นจากหินทราย เป็นวัสดุหลักได้ถูกรื้อทำลายลง ในขณะที่ปราสาทตาเมือนโต๊จและปราสาทตาเมือนซึ่งเป็นอโรคยศาลและธรรมศาลาที่สร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกันและตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ด้วยศิลาแลงอันเป็นวัสดุที่ด้อยคุณภาพและมีความคงทนน้อยกว่าหินทรายมาก เรากลับพบปรางค์ประธานปราสาทตาเมือนโต๊จยังคงสภาพเดิม ส่วนปราสาทตาเมือนนั้น เราพบด้านหน้าของอาคารพังทลายลงบางส่วนในแนวตั้ง เผยให้เห็นลักษณะโครงสร้างอาคารอย่างชัดเจนจากภาพถ่ายระหว่างการบูรณะ

ข้อสรุปพอจะกล่าวได้ว่า อาคาร ปราสาทขอม ในบริเวณที่ราบสูงอีสานโดยรวมมิได้เสื่อมสลายลงตามธรรมชาติหรือถูกทำลายลงด้วยพลังธรรมชาติอันได้แก่ พายุ น้ำท่วม เพลิงไหม้ หรือแผ่นดินไหว ส่วนการเสื่อมสลายของโครงสร้าง หรือการทรุดตัวของฐานอาคารก็มิใช่สาเหตุหลัก ซึ่งผลของการศึกษานี้กลับชี้ให้เห็นว่า การพังทลายของปราสาทขอมในบริเวณที่ราบสูงอีสาน เป็นการกระทำของมนุษย์นั่นเอง และหลักฐานจากตัวอย่างที่พบเห็นนั้นชัดเจนมาก แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีปรางค์ประธานของปราสาทขอมองค์ใดบริเวณที่ราบสูงอีสานที่รอดพ้นจากการทำลาย



ปรางค์ประธานปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า อาคารสถาปัตยกรรมหลักของปราสาทขอมที่มีความสำคัญมากในบริเวณที่ราบสูง อีสาน อันได้แก่ ปราสาทพิมาย ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงเขาพระวิหาร ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษนั้น ปรางค์ประธานซึ่งเปรียบเหมือนหัวใจของปราสาทขอมจะถูกทำลายมากที่สุด จากนั้นส่วนที่มีความสำคัญรองลงมา เช่น ปรางค์บริวาร โคปุระ กำแพงแก้ว หรือบรรณาลัยจะถูกทำลายบางส่วนตามลำดับเหมือนกันหมด

ส่วนอาคารปราสาทขอมอื่นๆ ที่ด้อยความสำคัญลงมา ถูกทำลายด้วยความรุนแรงที่ไม่ด้อยลง ผลคืออาคารส่วนใหญ่ถูกทำลายลงจนแทบไม่เหลือสภาพเดิมให้เห็น

หลักฐานของการทำลายล้างทั้งหมดคล้ายกับจะบอกคนรุ่นหลังถึงเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งที่มาเยือนดินแดนแห่งนี้ เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดถอนรากถอนโคน โดยไม่อาจหวนกลับมาใหม่ของวัฒน ธรรมขอมในดินแดนไทย

คงเป็นเรื่องที่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ต้องขบคิดและขุดค้นหาหลักฐานเรื่องราวอีกมากว่าเกิดอะไรขึ้นในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนจากการนับถือพราหมณ์ฮินดู และพุทธมหายาน มาเป็นพุทธเถรวาทลังกา พร้อมกับการเปลี่ยนจากอารยธรรมขอมมาเป็นสยาม



ธรรมศาลาปราสาทตาเมือน ระหว่างการบูรณะ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบรุนแรงและฉับพลันในบริเวณอีสานสูงนั้นมีความเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดกับสงครามปลดแอกของพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวที่สุโขทัย และเหตุการณ์ที่มิอาจ มองข้ามไปได้คงเป็นเรื่องราวจากบันทึกจดหมายเหตุโจวต้ากวาน เลขาท่านทูตจีนผู้ไปเยือนกัมพูชาในปี พ.ศ. 1839 ที่กล่าวถึงกองทัพเสียมที่เข้าปิดล้อมพระนครหลวง มีการรบพุ่งกันจนหมู่บ้านกลายเป็นที่โล่ง และส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงศาสนาและการปกครองในกัมพูชา ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของอิทธิพลอารย ธรรมขอมและพราหมณ์ฮินดู มาเป็นระบบกษัตริย์ ตามพุทธคติและการนับถือพุทธศาสนาในแบบฉบับของเถรวาทลังกาเป็นหลัก

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่บริเวณอีสานสูงอย่างไร คำถามต่างๆ คงไม่สิ้นสุดลงจนกว่าจะได้คำตอบว่าอะไรเป็นเหตุแห่งแรงบันดาลใจให้มีการปฏิบัติการครั้งสำคัญนี้ และใครเป็นแกนนำของขบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คำถามอาจเลยเถิดไปถึงว่าแกนนำที่สำคัญเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับแกนนำที่ไปปลดแอกสุโขทัย และกองทัพเสียมที่ไปปิดล้อมพระนครหลวงกัมพูชาตามคำบอกเล่าของ โจวต้ากวานอย่างไร เนื่องจากช่วงเวลาของเหตุการณ์สำคัญทั้งสุโขทัยก็ดี ที่ราบสูงอีสานก็ดี และที่พระนครหลวงก็ดี ต่างมีความคาบเกี่ยวกันในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ตามมาจากการทำลายล้างอิทธิพลขอมในบริเวณที่ราบสูงอีสานได้ปิดฉากวัฒนธรรมขอมที่ฝังรากลึกไม่น้อยกว่า 400 ปีในดินแดนแห่งนี้ลงโดยสิ้นเชิง และเปิดศักราชใหม่ให้แก่วัฒนธรรมที่มีพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากลังกาเป็นแบบฉบับและเจริญงอกงามมาจนปัจจุบัน
13  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” ย้ำวัดต้องสร้างศรัทธา-ทำประโยชน์ต่อสังคม เมื่อ: เมษายน 26, 2024, 06:20:00 am
.



“สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” ย้ำวัดต้องสร้างศรัทธา-ทำประโยชน์ต่อสังคม

"สมเด็จพระมหาวีรวงศ์" ประธานกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมกล่าวให้โอวาทต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ประจำปี 2567

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของ มส. ประธานกรรมการอำนวยการ ขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ประจำปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ที่วัดเขียนเขต จ.ปทุมธานี พร้อมทั้งกล่าวให้โอวาทเปิดการประชุม ว่า

โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นหนึ่งในกิจการพระพุทธศาสนา มุ่งพัฒนาวัดและชุมชนให้สะอาด เรียบร้อย รื่นรมย์ เป็นศูนย์การเรียนรู้และการพัฒนาจิตใจของประชาชน รวมทั้งไปถึงการจัดการมรดกวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ 15 หน่วยงาน หัวใจของโครงการนี้ คือ การสร้างสายสัมพันธ์ความร่วมแรงร่วมใจของวัด ชุมชน และภาคเครือข่ายในท้องถิ่นด้วยอุดมการณ์ร่วมกัน คือ ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และให้วัดเป็นสถานสัปปายะ สำหรับผู้เข้ามาพึ่งพาบำบัดทุกข์และเสริมสร้างความสุขทั้งแก่กายและใจ




สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าวต่อไปว่า เราอยากให้ทุกคนมองวัดด้วยความเชื่อ ความศรัทธา เลื่อมใส ให้สำนึกว่าวัดเป็นสมบัติของทุกคน จะได้เกิดการมีส่วนร่วมในการเข้ามาพัฒนาวัดทั้งด้านกายภาพและจิตใจ ในการบ่มเพาะคุณธรรม เกิดสุขภาพจิตที่ดี โครงการนี้เราพยายามจะทำให้ชาวบ้านมาร่วมเป็นเจ้าของวัด ช่วยดูแลวัด และต้องทำให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า วัดทำประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร เป็นผู้นำทางศีลธรรม จริยธรรม ได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน เราต้องทำให้พระสงฆ์เป็นผู้นำทางคุณธรรม จริยธรม ประพฤติดี ปฏิบัติชอบด้วย อย่าให้มัวหมองแก่พระศาสนา ยิ่งในปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง ซึ่งกระทบถึงคณะสงฆ์ด้วย เพราะจะทำให้คนเข้ามาบวชน้อยลงไปอีก ซึ่งในประมาณ 10 ปีข้างหน้า จะเกิดปัญหามากขึ้นแน่นอน จึงอยากให้ช่วยกันคิดด้วยว่าในเรื่องบุคลากรของคณะสงฆ์จะดำเนินการอย่างไร




พระธรรมรัตนาภรณ์ ประธานกรรมการบริหารกลางขับเคลื่อนโครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข กล่าวว่า สำหรับพันธกิจของโครงการที่กำหนดไว้ คือ

   1. พัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะ
   2. พัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของวัด ชุมชน ด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ
   3. การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้าง “วัดสวยด้วยความสุข” และ “การสร้างวัดในใจคน”

นอกจากนี้ ยังเสนอแนวทางยกระดับการพัฒนาโครงการฯ ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและจิตใจ การเสริมกิจกรรม Big Cleaning day และเจริญพระพุทธมนต์ ในวันสำคัญต่าง ๆ รวมถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ลงในแผนปฏิบัติการประจำปีของโครงการด้วย





Thank to : https://www.dailynews.co.th/news/3374178/
25 เมษายน 2567 ,13:55 น. | การศึกษา-ศาสนา
14  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / แนะหลักธรรมก้าวพ้น ‘ขัดแย้ง’ ยก ‘โลกธรรม 8’ เป็นแนวทางนักการเมือง เมื่อ: เมษายน 25, 2024, 09:44:01 am
.

พระไพศาล วิสาโล

พระไพศาล วิสาโล แนะหลักธรรมก้าวพ้น ‘ขัดแย้ง’ ยก ‘โลกธรรม 8’ เป็นแนวทางนักการเมือง



 :25:

แนะหลักธรรมก้าวพ้น ‘ขัดแย้ง’ ยก ‘โลกธรรม 8’ เป็นแนวทางนักการเมือง

ในทำเนียบพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยุคนี้ ชื่อของพระไพศาล วิสาโล วัย 67 ปี เจ้าอาวสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ก็อยู่ในนั้นด้วย ท่านบวชมา 41 พรรษา นอกจากเป็นพระนักเผยแผ่ด้วยการเทศน์และการเขียนหนังสือหลายเล่มแล้ว ท่านยังเป็นพระอนุรักษ์ป่าที่ทำให้ผืนป่าใน จ.ชัยภูมิกลับมาเขียวขจี มีโอกาสไปกราบนมัสการท่านที่วัดป่ามหาวัน จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นอีกวัดที่ท่านดูแลอยู่ เลยได้สนทนากับท่านในหลากหลายหัวข้อ

พระไพศาลเล่าว่า ที่ผ่านมาเขียนหนังสือหลายแนว ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม สันติวิธี เหตุแห่งความขัดแย้ง เรื่องปฏิรูปพระพุทธศาสนา เรื่องการรักษาป่า และเรื่องธรรมะ เรื่องของการฝึกจิตฝึกใจในการแก้ปัญหาชีวิต แก้ปัญหาความทุกข์ ในแต่ละเล่มเนื้อหาแตกต่างกันไป

ใจความสำคัญคือให้คนได้เกิดความตระหนักในเรื่องส่วนรวม และช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รู้จักการแก้ปัญหาส่วนตัว ทั้งในระดับครอบครัว จนถึงระดับจิตใจ

ซึ่งอาตมาเน้นในการเปลี่ยนแปลงสังคม แก้ปัญหาสังคมกับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แก้ปัญหาตัวเอง ซึ่งก็เรื่องเดียวกันแหละ โดยอาศัยธรรมะ อาศัยมุมมองต่อชีวิตและสังคมที่มีจุดร่วมเดียวกันคือว่า ความเมตตา ความมีสติ ความรู้สึกตัว และการเข้าใจความจริงของชีวิตและโลก ซึ่งเป็นแกนกลางที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้


@@@@@@@

พระพุทธศาสนาแกนกลางอยู่ที่ธรรมะ ธรรมะก็มีอยู่ 2 ความหมาย
    ที่หนึ่ง คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงและโลก ในความจริงของชีวิตและโลก ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าไร ถ้าพูดง่ายๆ หลักการใหญ่ๆ อันนี้เรียกว่าสัจธรรม
    อีกอันหนึ่งคือ ข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ในการเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ที่เรียกว่าจริยธรรม
    โดยหลักการแล้ว สัจธรรมและจริยธรรมก็ยังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

กับคำถามที่ว่า เวลานี้ในสังคมไทยมีความแตกแยกกันเยอะ ควรใช้หลักธรรมคำสอนอย่างไรที่จะทำให้สังคมลดความแตกแยกลงได้

เจ้าอาวสวัดป่าสุคะโตอธิบายว่า ต้องเปิดใจฟังให้มากขึ้น และอย่าด่วนตัดสิน เพราะว่าสิ่งที่ได้ฟังมาผ่านสื่อ อาจไม่ใช่ความจริง หรืออาจเป็นแค่ความจริงเพียงส่วนเดียว และคนทุกวันนี้รับรู้ความเป็นจริงผ่านสื่อ ซึ่งมีการตีความ มีการกลั่นกรอง รวมทั้งอาจมีอคติเข้ามาแทรก จึงไม่ควรด่วนสรุปในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังทางสื่อ

ควรเปิดใจรับฟังข้อมูลจากสื่อต่างๆ ที่หลากหลาย เพราะสื่อยุคนี้มักเลือกข้าง เพราะถ้าเลือกข้างจะอยู่ได้ ถ้าไม่เลือกข้างเลยอยู่ยาก ฉะนั้น ในยุคปัจจุบันผู้คนไม่สามารถที่จะพึ่งพาสื่ออันใดอันหนึ่งได้ แต่ต้องรับรู้ผ่านสื่อที่หลากหลาย และมาใคร่ครวญ กลั่นกรองและหาข้อสรุป

ต้องมีสิ่งหนึ่งที่ทางพุทธเรียกว่า สัจจานุรักษ์ คือ หลักธรรมที่ว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุปความคิดของตัวเองเท่านั้นที่ถูก ต้องเปิดใจกว้าง ไม่ด่วนสรุป หรือปักใจเชื่อว่าความคิดความเห็น ข้อมูลข่าวสารของเราเท่านั้นที่ถูก ตรงนี้สำคัญมาก บางคนเรียกว่ามีขันติธรรม คือ ใจกว้าง ไม่คับแคบ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือการมีสติ และต้องมีปัญญาในการใคร่ครวญ เพื่อแยกแยะว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร

@@@@@@@

อย่างไรก็ตาม ปัญญาจะใช้การได้ต้องมีหลักธรรมข้อหนึ่ง ที่เรียกว่า กาลามสูตร จะมี 10 ข้อ เป็นข้อทักท้วงหรือตักเตือน อาทิ อย่าเชื่อเพียงเพราะได้ยินเสียงเล่าลือ และอย่าเชื่อเพราะเป็นครูของเรา ฯลฯ

เมื่อให้ท่านแนะนำหลักธรรมคำสอนที่อยากให้นักการเมือง หรือผู้บริหารในประเทศปฏิบัติเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และเพื่อให้บ้านเมืองเจริญ-สงบสุข

    “อยากให้ตระหนักถึงหลักธรรม เรื่องโลกธรรม 8 ก็มีอยู่ 2 ส่วน คือ โลกธรรมฝ่ายบวก และฝ่ายลบ ซึ่งแยกจากกันไม่ออก ได้ลาภกับเสื่อมลาภเป็นของคู่กัน ได้ยศกับเสื่อมยศเป็นของคู่กัน สรรเสริญกับนินทาว่าร้ายเป็นของคู่กัน สุขและทุกข์ ตอนนี้นักการเมืองจำนวนมาก เขาหลงใหลเรื่องของยศ ทรัพย์ อำนาจกันมาก และคิดว่าถ้ามียศ มีทรัพย์ มีอำนาจ สามารถจะทำอะไรได้ทุกอย่าง และจะได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตของเขา มีความสุข”

    “แต่อันนี้เป็นความหลง เพราะถ้านำมาเป็นสรณะแล้ว จะนำไปสู่การคอร์รัปชั่น ไปสู่การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว แต่คนที่เข้าใจเรื่องโลกธรรม 8 เขาก็จะใช้หน้าที่และอำนาจเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม ซึ่งจะทำให้เขามีความสุขอย่างแท้จริง”

    “และทำให้ชีวิตของเขามีคุณค่าและมีความหมาย”



พระไพศาล วิสาโล

ในชีวิตการบวช 41 พรรษา พระไพศาลเล่าถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ที่นำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องว่า มีหลายท่าน ตอนเป็นวัยรุ่นก็มีพระอาจารย์พุทธทาส และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ต่อมาก็มีหลวงพ่อเทียน จิตตะสุโภ หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ และครูบาอาจารย์ที่อาตมาได้เรียนรู้ผ่านหนังสือ อย่างหลวงพ่อชา สุภัทโท หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นต้น ท่านเหล่านี้คือครูบาอาจารย์ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตการบวชของอาตมา ทำให้อาตมาบวชได้นานถึงทุกวันนี้

สิ่งที่ได้สำคัญๆ ทำให้เข้าใจว่าพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรม ไม่ใช่เรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องของสัจธรรมความจริงที่เป็นสากล และที่สำคัญอีกอย่างคือ ได้ค้นพบวิธีในการฝึกจิตฝึกใจ ให้มีความทุกข์น้อยลงคือ มีธรรมะมากขึ้น

    “คำสอนของหลวงปู่ชาก็ได้หลายอย่าง อย่างเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า เรื่องการฝึกจิต เรื่องเจริญภาวนา รวมทั้งการให้ความสำคัญกับสังฆะ เรื่องธรรมวินัย ส่วนคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสที่ว่าไว้ ชีวิตที่ดีที่สุดคือชีวิตที่สงบและเป็นประโยชน์ นี่คือหลักการสำคัญเลยที่ช่วยประคับประคอง หล่อหลอมชีวิตการบวชของอาตมาให้มาถึงจุดนี้ ถ้าเกิดเราสามารถเข้าถึงภาวะที่สงบเย็น และใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ได้ ก็ไม่มีคำถามแล้วว่าเกิดมาทำไม อยู่ไปทำไม”

ถามว่า มองอย่างไรตอนนี้ชาวต่างชาติเข้ามาบวชเรียนพระพุทธศาสนาในบ้านเรามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสายวัดป่า สายวิปัสสนา

พระไพศาลกล่าวว่า อาตมามองว่าเป็นภาพสะท้อนว่าความสะดวกสบาย ความมั่งคั่ง หรือว่าความสำเร็จในทางโลก ไม่ใช่คำตอบที่แท้ของชีวิต อาจจะช่วยทำให้เข้าถึงคำตอบของชีวิตได้ แต่ไม่ใช่ตัวคำตอบที่แท้ ชาวต่างชาติที่ได้ประสบภาวะที่พรั่งพร้อมทางวัตถุ แม้ว่าจะเป็นสังคมที่ให้หลักประกันทางด้านสันติภาพ และสิทธิหลายอย่างที่น่าจะทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านั้นยังไม่พอ

@@@@@@@

สิ่งที่ขาดหายไปคือความหมายในทางจิตใจ หรือถ้าพูดง่ายๆ เป็นรูปธรรมคือ ความสงบทางจิตใจ ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ความสะดวกสบายที่เทคโนโลยีไม่สามารถทำให้เกิดความสงบอย่างแท้จริงในจิตใจ คนเราถ้าขาดความสงบในจิตใจ ก็ไม่มีทางที่จะพบความสุขที่แท้ได้ และท่านเหล่านั้นพบว่าพระพุทธศาสนาให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ ทำให้พบความสงบในจิตใจ

การที่มีชาวต่างชาติมาศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะลงมาปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ยังมีคนที่เห็นคุณค่า และสามารถจะนำมาใช้ในการแก้ทุกข์ของตัวเองได้อย่างแท้จริง ธรรมะในพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่เรื่องล้าสมัย ยังทันยุคทันสมัย ไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปในทางใด สุดท้ายคนก็ยังหนีความทุกข์ไม่พ้น ท่านเหล่านั้นก็เป็นหลักฐานว่า หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามีอีกอย่างหนึ่งคือสมสมัย รวมทั้งยังเหมาะกับคนในยุคปัจจุบัน และยุคต่อๆ ไปด้วย

ประเด็นที่ว่าเวลาผู้คนในบ้านเราดูเหมือนจะมุ่งไปสายมูมากกว่าปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนา หลายวัดเน้นสร้างวัตถุกันมาก

พระไพศาลพูดถึงเรื่องนี้ว่า “อาตมาไม่ค่อยแน่ใจว่าคนไทยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา นับถือศาสนาบริโภคนิยมมากกว่า จุดมุ่งหมายส่วนใหญ่ คือ รวย รวย รวย จริงๆ แล้วโดยแก่นแท้เขานับถือศาสนาบริโภคนิยม ศาสนาวัตถุนิยม ซึ่งอาจถูกห่อคลุมด้วยลัทธิธรรมเนียมทางพระพุทธศาสนา รูปแบบเป็นพระพุทธศาสนา แต่เนื้อในเป็นบริโภคนิยม และเพราะเหตุนี้วัดหรือพระ จึงตอบสนองความต้องการในเชิงบริโภคนิยมของญาติโยม ด้วยการสร้างวัดวาอารามแบบนั้น หรือการขายวัตถุมงคล หรือที่เรียกว่า พุทธพาณิชย์


@@@@@@@

และนี่คือเหตุว่าทำไมความเชื่อที่เรียกว่าสายมูจึงแพร่ระบาด เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาศรัทธานับถือจะนำมาซึ่งโชคลาภ ความสำเร็จทางโลก ทำให้มั่งมี ทำให้ร่ำรวย ในเมื่อมีความเชื่อแบบนี้ การที่จะหวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อดลบันดาลให้สมปรารถนาจึงเป็นเรื่องที่แพร่ระบาด

อย่างญาติโยมที่มาวัดอาตมาบางคนก็คอยเฝ้าดูว่าอาตมาจะให้เลขอะไรหรือเปล่า หรือไม่ก็มาวัดมาทำบุญ เพราะคิดว่าจะช่วยให้มีโชคมีลาภ มาถวายสังฆทาน เพราะคิดว่าบุญจะแปรเป็นโชคเป็นลาภได้ ถึงวันพระก็ใส่บาตรกันเยอะมาก เพราะคิดว่าถ้าใส่บาตรแล้วจะได้บุญ บุญจะทำให้ถูกล็อตเตอรี่ ยิ่งวันที่ 16 หรือ 1 ของเดือน คนจะใส่บาตรกันเยอะกว่าปกติ

ท่านเองเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย อยากให้ผู้คนตระหนักเรื่องนี้อย่างไร

“อาตมาเน้นเรื่องชีวิตก่อนความตาย โดยเฉพาะในระยะสุดท้าย จะเผชิญกับความตายอย่างไรด้วยใจสงบ คิดว่าคนไทยยอมรับความตายได้มากขึ้น ตามโรงพยาบาลก็ตอบรับในเรื่องนี้ การยื้อชีวิตเพื่อหนีความตายเริ่มลดลงแล้ว เริ่มยอมรับกระบวนการทางการแพทย์ที่ไม่ได้ยื้อชีวิต แต่เป็นไปเพื่อให้เผชิญความตายได้ดีที่สุดคือ การดูแลแบบประคับประคอง”






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
เผยแพร่ : วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_762625
15  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / บทสวด ในลีลา เฮฟวี่ เมทัล การรุกคืบ ในทาง “ความคิด” เมื่อ: เมษายน 25, 2024, 09:25:53 am
.



E-DUANG : บทสวด ในลีลา เฮฟวี่ เมทัล การรุกคืบ ในทาง “ความคิด”

การนำเอา”บทสวดมนต์” มาทำเป็น”ดนตรี”ด้วยท่วงทำนองอย่างที่เรียกว่า”เฮฟวี่ เมทัล” ก่อให้เกิดอาการ”ช็อค”ในทาง ”ความรู้สึก” อย่างแน่นอน และที่ ”ช็อค” รุนแรงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ทำให้เห็นว่าเป็นการบรรเลงและร้องโดยวงดนตรีที่เป็น ”สมณะ” ในเครื่องแบบเหลืองอร่ามงามจับตา

นี่ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าเป็น”วงดนตรี”อันประกอบส่วนขึ้นจากพระสงฆ์อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นการนำเอา”บทสวดมนต์”มาเป็น”เพลง”

แม้จะมีหลายคนออกมาอธิบายในลักษณะแก้ต่างว่ามิได้เป็นพระสงฆ์จริงๆหรอก หากแต่เป็นพระที่สร้างมาจาก AI หรือที่เรียกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” กระนั้น หากมองในแง่ของ”พุทธศาสนิก”ก็ถือได้ว่าไม่เหมาะ สม เป็นการจาปจ้วงละเมิด ไม่เพียงแต่ต่อ”พระ”หากแต่ท้าทายต่อความศักดิ์สิทธิ์ของบทสวดมนต์

ยิ่งติดตามการนำเสนอผ่านโลกโซเชียลยิ่งเห็นว่า มิได้เป็นเรื่องประเภทวูบๆวาบๆ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป หากแต่ดำรงอยู่อย่างจำหลักและหนักแน่น


@@@@@@@

ทุกบทสวดมนต์ที่ถือว่า ศักดิ์สิทธิ์ล้วนได้รับการปรับแต่งให้เป็นเนื้อร้องผ่านบทเพลงที่คิดประดิษฐ์สร้างและนำเสนอโดยช่องทางที่ชื่อว่า MICKDANCE STUDIOS ทั้งสิ้น ไม่ว่า”มาสวดมนต์คาถาชินบัญชรกันเถอะ” ไม่ว่า”บทสวดปฏิจจสมุปบาท”

ไม่เพียงปรากฏผ่านท่วงทำนองในแบบที่รู้จักในนามเฮฟวี่ เมทัล อึกทึกกึกก้อง หากมีการทดลองผ่านท่วงทำนองอย่างที่รู้จักว่าเร็กเก้ ยิ่งกว่านั้นยังมีการนำเอาบทกลอนของ”สุนทรภู่”อันเป็นอาขยานซึ่งอยู่ใน”พระอภัยมาณี”มาสะท้อนทั้งในแบบบอซซาโนว่า แบบป็อบ และแบบริทึ่ม แอนด์ บลู

เพียงได้ยิน”บทสวด”ก็รู้ว่าคนทำมีความสนใจด้านใด เมื่อนำเอาอาขยายจากนิทานคำกลอน”พระอภัยมณี” ยิ่งสัมผัสได้ในรากฐานทางวรรณคดีและในทางศาสนา เมื่อประสานเข้ากับประสบการณ์ในการเล่นเกม ในการไล่ฟ์เกมจึงดำเนินไปเพื่อทำให้”การสวดมนต์ไม่น่าเบื่อกันอีกต่อไป”

ปรากฏการณ์แห่งการประยุกต์นำเอา”บทสวดมนต์”มาทำเป็นเพลงโดยการบรรเลงของวงดนตรีในชุด”เหลือง”จึงเป็นการรุกคืบ รุกคืบเข้าไปในพื้นที่ของ”ศาสนา” เข้าไปในพื้นที่”เพลง”

ในเบื้องต้นอาจเป็นเรื่องอันมาพร้อมกับ”ปัญญาประดิษฐ์” แต่หากเมื่อใดสามารถรุกคืบเข้าไปในแต่ละพื้นที่ทาง”อารมณ์” และในทาง”ความคิด” นั่นหมายถึงการยึดครอง การยึดครองทาง”ความคิด” ยึดครองทาง”วัฒนธรรม”


 


ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/e-duang/article_764071
เผยแพร่ : วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ.2567
16  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / มิตรเทียม-มิตรแท้ | "สมานมิตร" ด้วยการแบ่งโภคสมบัติออกเป็น ๔ ส่วน เมื่อ: เมษายน 25, 2024, 07:59:07 am
.



มิตรเทียม-มิตรแท้ | "สมานมิตร" ด้วยการแบ่งโภคสมบัติออกเป็น ๔ ส่วน

มิตรเทียม ได้แก่ คน ๔ จำพวก ซึ่งควรเว้นให้ห่างไกล คือ คนปอกลอก คนดีแต่พูด คนหัวประจบ และคนชักชวนในทางฉิบหาย

   • คนปอกลอก ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย และคบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว

   • คนดีแต่พูด ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ เก็บเอาสิ่งที่ผ่านไปแล้วมาพูด อ้างเอาสิ่งที่ยังมาไม่ถึงมาพูดสงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้ และแสดงความขัดข้องเมื่อมีกิจเกิดขึ้น

   • คนหัวประจบ ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว ตามใจเพื่อนให้ทำความดี ต่อหน้าสรรเสริญ และลับหลังนินทา

   • คนชักชวนในทางฉิบหาย ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ชักชวนให้เที่ยวดูการมหรสพ และชักชวนให้เล่นการพนัน

@@@@@@@

มิตรแท้ มีใจดี พึงเข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพ ได้แก่ มิตร ๔ จำพวก คือ มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะประโยชน์ และมิตรมีความรักใคร่

   • มิตรมีอุปการะ ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว เป็นที่พึ่งได้เมื่อมีภัย และเพิ่มทรัพย์ให้สองเท่าเมื่อมีกิจที่ต้องทำเกิดขึ้น

   • มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ บอกความลับแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อน ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย และแม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์เพื่อนได้

   • มิตรแนะประโยชน์ ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ ห้ามจากความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง และบอกทางสวรรค์ให้

   • มิตรมีความรักใคร่ ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน ยินดีด้วยความเจริญของเพื่อน ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน และสรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน

@@@@@@@

ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีลย่อมรุ่งเรือง เมื่อบุคคลออมและสะสมโภคสมบัติแล้ว พึงแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ย่อมสมานมิตรไว้ได้

    • โดยใช้สอยโภคสมบัติด้วยส่วนหนึ่ง
    • ประกอบการงานด้วยสองส่วน และ
    • เก็บส่วนที่สี่ไว้ในยามอันตราย




ขอขอบคุณ :-
อ้างอิง : พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๓ ข้อ [๑๗๒] ถึงข้อ [๒๐๖] สิงคาลกสูตร
ข้อธรรม : https://uttayarndham.org/node/1579
17  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / การ ฝึก สร้าง ความ คิด เชิง บวก เมื่อ: เมษายน 24, 2024, 08:55:34 am
.

ขอบคุณภาพจาก : https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/421


ความคิดเชิงบวก
นำเสนอโดย เทพ สงวนกิตติพันธุ์ ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ.อุดรธานี



 :welcome:

กายกับใจนั้นเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน แน่นอนว่าการมีร่างกายที่เจ็บป่วยอาจทำให้ใจห่อเหี่ยว แต่ใจที่ป่วยจากการคิดร้าย มีแต่ความเคียดแค้นเกลียดชังก็นำมาซึ่งโรคทางกายได้เช่นเดียวกัน ทางการแพทย์เรียกว่า Psychosomatic disorder หรือการเจ็บป่วยทางกายอันเนื่องมาจากจิตใจ ดังที่มีคำกล่าวที่ว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว"

     • การมองสิ่งต่างๆ ในด้านลบ ไม่เพียงแต่ทำให้จิตใจร้อนรุ่มกระวนกระวายเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบให้สมองส่วนล่างเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางลบ คือ ฮอร์โมนความเครียดหลั่ง หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง กรดในกระเพาะสูง ภูมิต้านทานต่ำลง 

     • ในขณะที่การมองด้านบวก จิตจะสั่งการสมองส่วนล่างด้วยคำสั่งอีกแบบหนึ่ง คือทำให้ฮอร์โมนความสุขหลั่ง หัวใจเต้นช้าลง ความดันเลือดลดลง หายใจช้าลง และภูมิต้านทานสูงขึ้น

ความคิดเชิงบวก (positive thinking)

หมายถึง ความคิดที่เกิดจากการมองสิ่งต่างๆ อย่างเข้าใจ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราทั้งในทุกเรื่อง และหากเป็นเรื่องไม่ดีก็รู้จักคิดและพยายามหามุมมองที่เป็นประโยชน์ทางด้านบวกจากสิ่งนั้นๆ ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น

การคิดเชิงบวกเป็นการหามุมมองที่เป็นบวก มุมมองที่ทำให้เรานั้นมีแง่คิดที่ดี มุมมองที่ทำให้เรามีกำลังใจ มุมมองที่ทำให้เรารู้สึกมีความทุกข์น้อยลง มุมมองที่ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น มีแรงจูงใจที่จะต่อสู้กับชีวิต กล้าที่จะเผชิญชีวิต หรืออยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นถ้าสามารถคิดในเชิงบวกได้ตลอดเวลา แปลว่าเราสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและความสุข

ประโยชน์ของการคิดเชิงบวก

การคิดเชิงบวกเป็นการหามุมมองที่เป็นบวก มุมมองที่ทำให้เรานั้นมีแง่คิดที่ดี ซึ่งให้ประโยชน์ดังนี้
1. ทำให้เรามีกำลังใจมากขึ้น
2. ทำให้เรารู้สึกมีความทุกข์น้อยลงมีความสุขมากขึ้น
3. ทำให้เรามีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดียิ่งขึ้น
4. ทำให้เรามีแรงจูงใจที่จะต่อสู้กับชีวิต หรือพร้อมที่จะเผชิญชีวิต
5. ทำให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและพร้อมที่จะเสียสละเพื่อสังคมมากขึ้น

@@@@@@@

การฝึกสร้างความคิดเชิงบวก

ก่อนที่จะเรียนรู้ถึงวิธีคิดเชิงบวก ลองถามตัวเองดูก่อนว่าอยากเป็นคนที่มีความสุขมากกว่านี้ไหม หรือกำลังมีความทุกข์เพราะความคิดของตัวเองตลอดเวลาหรือเปล่า หากคำตอบคือ "ใช่" นั่นคือหัวใจสำคัญของการฝึกฝน เพราะ "ความตั้งใจ" เท่านั้นที่จะทำให้การฝึกความคิดเชิงบวกเป็นผลสำเร็จได้

บันไดขั้นที่ 1 : มองตัวเองในแง่ดี

การที่คนเราจะมองโลกหรือมองคนอื่นในแง่ดีได้ ต้องมาจากพื้นฐานที่มองและเชื่อว่าตัวเองดีเสียก่อน ขั้นตอนเพื่อการมองตัวเองว่าดี มีดังต่อไปนี้
     - หาข้อดีของตนเอง ลองสำรวจพิจารณาข้อดีของตนเอง (ไม่ใช่การเข้าข้างตัวเอง) อาจเป็นความดีเล็กๆน้อย เช่น พาคนแก่ข้ามถนน ช่วยลูกนกที่ตกต้นไม้ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความรักและความภาคภูมิใจในตัวเอง
     - ถ่อมตัว การมองเห็นความดีของตนเองนั้นมีไว้เพื่อบอกตัวเราเองให้เกิดความพอใจในตัวเอง รักตัวเอง แต่ไม่ใช่เพื่อข่มหรือคุยทับคนอื่น การถ่อมตัวจึงเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่พึงจะมีควบคู่กัน
     - นอกจากจะรู้จุดแข็ง(ข้อดี) แล้ว ยังต้องสำรวจจุดอ่อนของตนเองอีกด้วย เมื่อเรายอมรับได้ว่านั่นคือข้อบกพร่องของเราจริงๆ ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด
     - เพิ่มความดี แม้จะรู้ว่าตนมีข้อดีในด้านใดบ้าง ก็ไม่ควรหยุดตัวเองไว้เพียงเท่านั้น แต่ควรเพิ่มคุณสมบัติอื่นๆที่ดีให้มากยิ่งขึ้น อาจเริ่มต้นโดยการตั้งเป้าหมายเป็นข้อๆ ว่าอยากจะทำอะไรดีๆเพิ่มขึ้นอีกบ้าง แล้วค่อยๆ ฝึกฝนไปทีละข้อ

บันไดขั้นที่ 2 : มองคนอื่นในแง่ดี

เมื่อผ่านบันไดขั้นแรกมาแล้ว จะทำให้เราเริ่มตระหนักว่าคนทุกคนล้วนแต่ไม่สมบูรณ์ ย่อมมีข้อบกพร่องมากน้อยแตกต่างกันออกไป ( แม้แต่ตัวเราก็ยังมีข้อเสีย) ดังนั้น การมีชีวิตที่มีความสุขจึงหมายถึงการอยู่ร่วมกันโดยเลือกมองและใช้ประโยชน์จากความดีที่ผู้อื่นมีอยู่ โดยไม่ใช่การเสแสร้ง แต่เห็นความดีของเขาจริงๆ

บันไดขั้นที่ 3 : มองวิกฤติให้เป็นโอกาส

เมื่อเกิดปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ขึ้น ลองมองความทุกข์หรือปัญหานั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วย่อมกลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่เราสามารถนำมาพิจารณาได้ว่าในวิกฤติที่เราพบนั้นมีข้อดีอะไรแฝงอยู่หรือจะใช้ประโยชน์จากปัญหานั้นได้อย่างไรบ้าง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งรู้สึกว่า รักตัวเองมากขึ้น เลิกทำอะไรไร้สาระ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจมากขึ้น โดย การฝึกสมาธิ ช่วยงานการกุศล เป็นต้น

บันไดขั้นที่ 4 : หมั่นบอกกับตัวเองในเรื่องที่ดี

ขึ้นชื่อว่าเป็นความคิดก็มักจะอยู่กับเราไม่นาน แต่ความคิดก็มักเป็นต้นทางและบ่อเกิดของการกระทำ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องทำให้ความคิดดีๆ อยู่กับเราตลอดเวลา เช่น บอกตัวเองว่าเป็นคนเก่งทุกครั้งที่ทำอะไรสำเร็จ แม้จะเป็นเพียงความสำเร็จเล็กน้อย บอกตัวเองว่าเพื่อนร่วมงานก็เป็นคนดีคนหนึ่งแม้เขาจะมีข้อบกพร่องอีกหลายอย่าง บอกตัวเองว่าเราโชคดีที่ได้ทำงานยากๆแม้ค่าตอบแทนจะน้อยแต่ก็ทำให้เราได้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่ายๆ ฯลฯ

บันไดขั้นที่ 5 : ใช้ประโยชน์จากคำว่า “ขอบคุณ”

เคยมีคำสอนจากอาจารย์ รศ.ดร.ทัศนา เเสวงศักดิ์ ได้กล่าวว่า เมื่อต้องพบเจอเรื่องร้าย จงยิ้มแล้วกล่าวคำว่า “ขอบคุณ” เพราะนั่นคือ บททดสอบที่ดีของการมีชีวิตที่เข้มแข็ง หากมีคนด่าว่าคุณ แทนที่จะโต้ตอบให้กล่าวคำว่าขอบคุณ มันจะช่วยลดท่าทีความรุนแรงลงได้เกือบทั้งหมด ทั้งยังทำให้บุคคลนั้นแปลกใจและอาจกลับไปพิจารณาพฤติกรรมของตัวเองได้ โดยที่คุณไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มเติมอีก

หากเราตั้งสติและพินิจพิเคราะห์อุปสรรคต่างๆ อย่างมากพอ เราจะรู้สึกขอบคุณต่อข้อขัดข้องเหล่านั้น อย่างน้อยมันก็ทำให้เราเรียนรู้ที่จะเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เข้าใจถึงความผิดพลาดว่า ใดไม่ควรทำ และช่วยให้รู้จักมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดนั้นซ้ำอีก

โธมัส อัลวา เอดิสัน เคยบอกกับผู้ช่วยของเขาในระหว่างการทดลองประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าว่า

    "เราไม่ได้ล้มเหลวจากการทดลอง 700 กว่าครั้งที่ผ่านมา แต่เรากำลังเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่า มี 700 วิธีที่ไม่ควรทำ และเราใกล้จะพบคำตอบแล้ว"



ขอบคุณภาพจาก : https://dwf.go.th/contents/36361


คิดบวก ชีวิตบวก

ท่าน ว. วชิรเมธี (พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี) ได้ให้คำสอนในเรื่องการ คิดบวก ชีวิตบวก ไว้ดังนี้

     1. เวลาเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ
     2. เวลาเจอปัญหาซับซ้อน ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทเรียนที่จะสร้างปัญญาได้อย่างวิเศษ
     3. เวลาเจอความทุกข์หนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต
     4. เวลาเจอนายจอมละเมียด ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการฝึกตนให้เป็นคนสมบูรณ์แบบ
     5. เวลาเจอคำตำหนิ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการชี้ขุมทรัพย์มหาสมบัติ

     6. เวลาเจอคำนินทา ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการสะท้อนว่าเรายังคงเป็นคนที่มีความหมาย
     7. เวลาเจอความผิดหวัง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือวิธีที่ธรรมชาติกำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต
     8. เวลาเจอความป่วยไข้ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการเตือนให้เห็นคุณค่าของการรักษาสุขภาพให้ดี
     9. เวลาเจอความพลัดพราก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทเรียนของการรู้จักหยัดยืนด้วยขาตัวเอง
   10. เวลาเจอลูกหัวดื้อ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสทองของการพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง

   11. เวลาเจอแฟนทิ้ง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือความเป็นอนิจจังที่ทุกชีวิตมีโอกาสพานพบ
   12. เวลาเจอคนที่ใช่แต่เขามีคู่แล้ว ให้บอกตัวเองว่า นี่คือความจริงที่ว่าไม่มีใครได้ทุกอย่างดั่งใจหวัง
   13. เวลาเจอภาวะหลุดจากอำนาจ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือความอนัตตาของชีวิตและสรรพสิ่ง
   14. เวลาเจอคนกลิ้งกะล่อน ให้บอกตัวเองว่า นี่คืออุทาหรณ์ของชีวิตที่ไม่น่าเจริญรอยตาม
   15. เวลาเจอคนเลว ให้บอกตัวเองว่า นี่คือตัวอย่างของชีวิตที่ไม่พึงประสงค์

   16. เวลาเจออุบัติเหตุ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือคำเตือนว่าจงอย่าประมาทซ้ำอีกเป็นอันขาด
   17. เวลาเจอศัตรูคอยกลั่นแกล้ง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบททดสอบว่าที่ว่า "มารไม่มีบารมีไม่เกิด"
   18. เวลาเจอวิกฤต ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทพิสูจน์สัจธรรม "ในวิกฤตย่อมมีโอกาส"
   19. เวลาเจอความจน ให้บอกตัวเองว่า นี่คือวิธีที่ธรรมชาติเปิดโอกาสให้เราได้ต่อสู้ชีวิต
   20. เวลาเจอความตาย ให้บอกตัวเองว่า นี่คือฉากสุดท้ายที่จะทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์





ขอบคุณที่มา : https://www.stou.ac.th/main/index.html
เอกสารดาวน์โหลดเรื่อง "การ ฝึก สร้าง ความ คิด เชิง บวก" ของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ดาวน์โหลด Doc.file ได้ที่ด้านล่าง

อ้างอิง :- 
1. รศ. ดร.ประดินันท์ อุปรมัย การคิดเชิงบวกเพื่อคุณภาพชีวิต : www.vibhavadi.com/health399.html
    วันที่สืบค้น 28/12/2559
2. ดร.สิทธิชัย-จันทานนท์ การคิดเชิงบวก-positive-thinking : www.facebook.com/notes/โรงเรียนศรีวิกรม์
    วันที่สืบค้น 28/12/2559
18  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ช้าก่อนโยม! วัดสุดทน ติดป้ายบอก นักบุญสายหิ้ว ให้เลี้ยงอาหารคนในโรงทานก่อน เมื่อ: เมษายน 24, 2024, 06:28:57 am
.



ช้าก่อนโยม! วัดสุดทน ติดป้ายบอก นักบุญสายหิ้ว ให้เลี้ยงอาหารคนในโรงทานก่อน

ช้าก่อนโยม! วัดสุดทน ติดป้ายบอก นักบุญสายหิ้ว ให้เลี้ยงอาหารคนในโรงทานก่อน เหตุสายหิ้วแห่ขนกลับบ้าน จนอาหารคนที่มาโรงทานไม่เพียงพอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีวัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ถึงกับต้องทำป้ายประกาศขอความร่วมมือจากบรรดานักบุญสายหิ้วของโรงทาน ขอให้เลี้ยงแขกที่มาเยือนให้อิ่มก่อน ค่อยหิ้วกลับบ้าน ทำเอาบรรดาเจ้าภาพโรงทานพากันอมยิ้มกับป้ายประกาศครั้งนี้กันทุกราย

ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่ วัดห้วยขานาง หมู่ 1 ต.หนองยาง อ.หนองฉาง หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม วัดหลวงปู่พลอย หนึ่งในอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัด

โดยวันนี้ที่วัดมีการจัดงานประจำปีด้วยกัน 5 วัน บรรดาผู้มีจิตศรัทธาพากันมาร่วมกันทำบุญที่วัด และมีการตั้งโรงทานเพื่อไว้เลี้ยงต้อนรับคนที่มาร่วมบุญที่วัดในครั้งนี้

@@@@@@@

ซึ่งพบว่า ที่บริเวณจุดตั้งเลี้ยงโรงทานของวัดนั้น มีการแขวนป้ายสีแดงแผ่นใหญ่ มีการเขียนข้อความไว้ว่า “โรงทานวัดห้วยขานาง หยุดก่อนอย่าเพิ่งใส่ถุง เลี้ยงแขกผู้มาเยือนให้อิ่มก่อน ขอความร่วมมืออย่างเคร่งครัด” เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขนอาหารกลับบ้านจนไม่เพียงพอสำหรับผู้มาร่วมงาน

นายวรภัทธ์ วะชูสิทธิ์รัตน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 15 กล่าวว่า แม่ครัวที่วัดทำอาหารอร่อยมาก จึงเป็นที่หมายปองของผู้ที่ชื่นชอบการนำอาหารกลับบ้าน งานวัดที่เคยจัดครั้งก่อนหน้านี้มักจะมีการขนอาหารกลับไปบ้านกันเยอะมาก เกรงว่าอาหารและขนมจะไม่เพียงพอ จึงได้ปรึกษากับทางกรรมการวัดและทางพระ จึงได้ทำป้ายเตือนสติในการเข้ามาในโรงทาน เนื่องจากงานวัดจัดติดต่อกันหลายวัน จึงจำเป็นต้องติดป้ายดังกล่าวไว้ให้เห็นเด่นชัด ซึ่งตั้งแต่มีป้ายนี้ ผู้ที่มาวัดก็ไม่กล้าขนอาหาร หรือขนมกลับไปกันอีกเลย





ขอบคุณ : https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_8199823
23 เม.ย. 2567 - 22:53 น.
19  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พระโอวาทของท่านอรหันต์จี้กง เมื่อ: เมษายน 24, 2024, 06:05:13 am
.



พระโอวาทของท่านอรหันต์จี้กง

อ่านแล้วเก็บรักษา บุญรักษาเนืองนอง รู้แล้วบอกทั่วกัน บุญกุศลเรืองรอง

        1. ชีวิตย่อมเป็นไปตามลิขิต (ละชั่วทำดี)    ...วอนขออะไร
        2. วันนี้ไม่รู้เหตุการณ์ในวันพรุ่งนี้    ...กลุ้มเรื่องอะไร
        3. ไม่เคารพพ่อแม่แต่เคารพพระพุทธองค์    ...เคารพทำไม
        4. พี่น้องคือผู้ที่เกิดตามกันมา   ...ทะเลาะกันทำไม
        5. ลูกหลานทุกคนล้วนมีบุญตามลิขิต    ...ห่วงใยทำไม
        6. ชีวิตย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จ   ...ร้อนใจทำไม
        7. ชีวิตใช่จะพบเห็นรอยยิ้มกันได้ง่าย    ...ทุกข์ใจทำไม
        8. ผ้าขาดปะแล้วกันหนาวได้    ...อวดโก้ทำไม
        9. อาหารผ่านลิ้นแล้วกลายเป็นอะไร   ...อร่อยไปใย
      10. ตายแล้วบาทเดียวก็เอาไปไม่ได้   ...ขี้เหนียวทำไม

      11. ที่ดินคือสิ่งที่สืบทอดแก่คนรุ่นหลัง    ...โกงกันทำไม
      12. โอกาสจะได้กลายเป็นเสีย    ...โลภมากทำไม
      13. สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เหนือศีรษะเพียง 3 ฟุต    ...ข่มเหงกันทำไม
      14. ลาภยศเหมือนดอกไม้ที่บานอยู่ไม่นาน    ...หยิ่งผยองทำไม
      15. ทุกคนย่อมมีลาภยศตามวาสนาที่ลิขิต   ...อิจฉากันทำไม
      16. ชีวิตลำเค็ญเพราะชาติก่อนไม่บำเพ็ญ    ...แค้นใจทำไม (บำเพ็ญไวไว)
      17. นักเล่นการพนันล้วนตกต่ำ   ...เล่นการพนันทำไม
      18. ครองเรือนด้วยความประหยัดดีกว่าไปขอพึ่งผู้อื่น   ...สุรุ่ยสุร่ายทำไม
      19. จองเวรจองกรรมเมื่อไรจะจบสิ้น   ...อาฆาตทำไม
      20. ชีวิตเหมือนเกมหมากรุก    ...คิดลึกทำไม

      21. ฉลาดมากเกินจึงเสียรู้    ...รู้มากทำไม
      22. พูดเท็จทอนบุญจนบุญหมด    ...โกหกทำไม
      23. ดีชั่วย่อมรู้กันทั่วไปในที่สุด    ...โต้เถียงกันทำไม
      24. ใครจะป้องกันมิให้มีเรื่องเกิดขึ้นได้ตลอด    ...หัวเราะเยาะกันทำไม
      25. ฮวงซุ้ยที่ดีอยู่ในจิตไม่ใช่อยู่ที่ภูเขา    ...แสวงหาทำไม
      26. ข่มเหงผู้อื่นคือทุกข์ รู้ให้อภัยคือบุญ    ...ถามโหรเรื่องอะไร
      27. ทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยความตาย    ...วุ่นวายทำไม




ขอขอบคุณ :-
ข้อธรรม : https://84000.org/pray/orrahan_jeekong.shtml
ภาพ : https://www.silpa-mag.com
20  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เจดีย์ถล่มพังครืน.! วัดล้านขวด ญาติโยมเศร้าเศษซากกองกับพื้น เมื่อ: เมษายน 24, 2024, 05:48:29 am
.



เจดีย์ถล่มพังครืน.! วัดดังระดับโลก ญาติโยมเศร้าเศษซากกองกับพื้น ชาวบ้านไม่พลาดตีเลขหวย

ชาวพุทธเศร้า เจดีย์วัดล้านขวดพังถล่มครืนลงมากองกับพื้น รักษาการเจ้าอาวาส เผยต้องรื้อเศษวัสดุออกให้หมดแล้วเริ่มสร้างใหม่ เพื่อบรรจุอัฐิหลวงพ่อลอด พระผู้สร้างวัดจนโด่งดังไปทั่วโลก

วันที่ 23 เม.ย.2567 ที่วัดล้านขวด ต.สิ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ญาติโยมพากันเศร้าใจ หลังเกิดเหตุเจดีย์พังถล่มลงมากองราบอยู่กับพื้นเมื่อเวลา 03.00 น. คืนวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งวัดล้านขวดแห่งหนี้เป็นวัดชื่อดังและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางพุทธศาสนาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.ศรีสะเกษ

เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างด้วยขวด ฝาขวดน้ำอัดลม และฝาเครื่องดื่มบำรุงกำลังทุกชนิด จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากพากันมาเที่ยวชมและกราบไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา




พระไวพจน์ ธรรมะปาโร รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดล้านขวด เล่าว่า เจดีย์แห่งนี้เริ่มก่อสร้างช่วงเดือน พ.ย.2566 อาตมาก่อสร้างด้วยตนเอง ต่อมาด้วยสุขภาพที่แก่ชราแล้วจึงจ้างช่างมาช่วยก่อสร้าง ใช้เงินไปแล้ว 1 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินที่ได้มาจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวอ.ขุนหาญ และชาวพุทธทั่วประเทศ ร่วมสมทบทุนก่อสร้าง เป็นเจดีย์กว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร สูง 15 เมตรก่อสร้างไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่เพียงประดับตกแต่งภายในเจดีย์ และปรับตกแต่งภูมิทัศน์โดยรอบเท่านั้น



“สาเหตุที่เจดีย์พังลงมานั้น เนื่องจากเสารับน้ำหนักของมุขมีเพียง 2 ด้าน อีก 1 ด้านไม่มีเสารับน้ำหนัก อีกทั้งเป็นเสาขนาดเล็ก เหล็กที่นำเอามาใช้ก่อสร้างก็เป็นเหล็กขนาดเล็ก เพราะว่า อาตมาสร้างเจดีย์ขึ้นมาตามกำลังปัจจัยที่ได้รับบริจาคมาค่อนข้างจำกัดมาก ทำให้ต้องใช้เหล็กเส้นขนาดเล็ก จากนี้ไปต้องรื้อซากเศษวัสดุที่พังออกไปให้หมดแล้วก่อสร้างเจดีย์ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บอัฐิของหลวงพ่อลอด พ่อของอาตมาเองที่เป็นพระผู้สร้างวัดแห่งนี้จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก และจะยังคงใช้ขวดก่อสร้างเจดีย์เช่นเดิม เพราะว่าหลวงพ่อลอดชอบใช้ขวดก่อสร้างวัด”

ด้านคุณยายบรรจงจิตร อายุ 77 ปีชาว อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี บอกว่า มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่หลวงพ่อลอดสร้างวัดนี้ขึ้นมาใหม่ๆ ยายนอนอยู่ที่ศาลาติดกับเจดีย์ห่างกันแค่ 3 เมตรเท่านั้น ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 03.05 น.ตื่นขึ้นมาสวดมนต์ ปรากฏว่า




” ได้ยินเสียงดังสนั่นหวั่นไหวฝุ่นกระจายคลุ้ง ตกใจมากเมื่อออกมาดูก็เห็นเจดีย์ที่กำลังก่อสร้างพังลงมากองอยู่กับพื้นดินแล้ว ยายและผู้ที่มาปฏิบัติธรรมทุกคนรู้สึกเศร้าเสียใจมาก เพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสถานที่บรรจุอัฐิของหลวงพ่อลอด พระผู้สร้างวัดล้านขวด ”

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ชาวบ้านที่ทราบข่าวพากันเศร้าใจ แต่ก็ไม่พลาดแห่ตีเลขหวยนำไปหาซื้อลอตเตอรี่ลุ้นรางวัลงวดนี้




... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_8199586
23 เม.ย. 2567 - 18:32 น.
21  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / มส.ปรับปรุงลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธี และรัฐพิธี เมื่อ: เมษายน 24, 2024, 05:43:28 am
.



มส.ปรับปรุงลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธี และรัฐพิธี

ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เห็นชอบปรับปรุงการจัดลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธี และรัฐพิธี

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. เว็บไซต์มหาเถรสมาคม ได้เผยแพร่มติมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 09/2567 มติที่ 302/2567 เรื่อง ขอความเห็นชอบปรับปรุงการจัดลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธี และรัฐพิธี ระบุว่า ในการประชุม มส. ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 เลขาธิการมหาเถรสมาคม เสนอว่า ในการประชุม มส. ครั้งที่ 6/2541 เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2541 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธี และรัฐพิธี และคณะสงฆ์ได้ปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

ตามที่ได้มีการประกาศใช้กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ประกอบกับ มส. ได้มีมติเห็นชอบ ในการประชุม ครั้งที่ 6/2541 เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2541 เรื่อง ลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธี และรัฐพิธี การแต่งตั้งพระสังฆาธิการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และการขอพระราชทานสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานสมณศักดิ์เพิ่มอีก

เช่น พระครูที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ พระครูเทียบเจ้าคณะอำเภอ และพระครูสัญญาบัตรสายวิปัสสนาธุระ (เพิ่มบางตำแหน่ง) ซึ่งทำให้ไม่สอดคล้องกับการจัดลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธี และรัฐพิธี ที่ มส. ได้มีมติให้ความเห็นชอบไปแล้ว นั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เห็นควรนำเสนอ มส. เพื่อโปรดพิจารณา รายละเอียดดังนี้

ลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธีและรัฐพิธี ตามมติ มส. มติที่ 302/2567 ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567

@@@@@@@

สมเด็จพระราชาคณะ

1.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
2.สมเด็จพระสังฆราช
3.สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ

พระราชาคณะ

4.รองสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นหิรัญบัฏ
5.รองสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสัญญาบัตร
6.พระราชาคณะชั้นธรรม
7.พระราชาคณะชั้นเทพ
8.พระราชาคณะชั้นราช
9.พระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะ ปลัดขวา-ปลัดกลาง-ปลัดซ้าย พระราชาคณะ รองเจ้าคณะภาค พระราชาคณะ เจ้าคณะจังหวัด พระราชาคณะ รองเจ้าคณะจังหวัด พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ป.ธ. 9-8-7-6-5-4-3 พระราชาคณะชั้นสามัญเทียบเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระราชาคณะชั้นสามัญเทียบเปรียญพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระราชาคณะชั้นสามัญยก (เฉพาะพิธีรับผ้าพระกฐินพระราชทาน เจ้าอาวาสนั่งหน้าพระภิกษรูปอื่นซึ่งแม้จะมีสมณศักดิ์สูงกว่า)

พระครูสัญญาบัตร

10.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะจังหวัด (จจ.)
11.พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะจังหวัด (รจจ.)
12.พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก (จล.ชอ.)
13.พระครูสัญญาบัตร ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (ทป.จอ.พ.วิ.)
14.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จอ.ชพ.วิ.)
15.พระครูสัญญาบัตร เทียบเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (ทจอ.ชพ.วิ.)

16.พระครูสัญญาบัตร ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ (ทป.จอ.ชพ.)
17.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ (จอ.ชพ.)
18.พระครูสัญญาบัตร เทียบเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ (ทจอ.ชพ.)
19.พระครูปลัดของสมเด็จพระราชาคณะ
20. พระเปรียญธรรม 9 ประโยค

21.พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท (จล.ชท.) 22.พระครูสัญญาบัตร ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (ทป.จอ.ชอ.วิ.) 23.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จอ.ชอ.วิ.) 24.พระครูสัญญาบัตร เทียบเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (ทจอ.ชอ.วิ.) 25.พระครูสัญญาบัตร ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (ทป.จอ.ชอ.)

26.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (จอ.ชอ.) 27.พระครูสัญญาบัตร เทียบเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (ทจอ.ชอ.) 28.พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นตรี (จล.ชต.) 29.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท (จอ.ชท.) 30.พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก (รจล.ชอ.)

31.พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท (รจล.ชท.) 32.พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นตรี (รจล.ชต) 33.พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ หรือเทียบเท่า (ผจล.ชพ. วิ. หรือ ทผจล.ชพ. วิ.) 34.พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ หรือเทียบเท่า (ผจล.ชพ. หรือ ทผจล.ชพ.) 35.พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ หรือเทียบเท่า (ผจล.ชอ. วิ. หรือ ทผจล.ชอ. วิ.)

36.พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก หรือเทียบเท่า (ผจล.ชอ. หรือ ทผจล.ชอ.) 37.พระครูปลัดของพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ 38.พระครูปลัดของพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นสัญญาบัตร 39.พระครูฐานานุกรม ชั้นเอก ของสมเด็จพระสังฆราช 40.พระเปรียญธรรม 8 ประโยค

41.พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท หรือเทียบเท่า (ผจล.ชท. หรือ ทผจล.ชท.) 42.พระเปรียญธรรม 7 ประโยค 43.พระครูปลัดของพระราชาคณะ ชั้นธรรม 44.พระครูฐานานุกรม ชั้นโท ของสมเด็จพระสังฆราช (พระครูปริตร) 45.พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (รจอ.ชอ.)

46.พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท (รจอ.ชท.) 47.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จต.ชอ. วิ.) 48.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นเอก (จต.ชอ.) 49.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จต.ชท. วิ.) 50.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นโท (จต.ชท.)

51.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นตรี (จต.ชต.) 52.พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จร.ชอ. วิ.) 53.พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นเอก (จร.ชอ.) 54.พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จร.ชท. วิ.) 55.พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท (จร.ชท.)

56.พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัคราษฎร์ ชั้นตรี (จร.ชต.) 57.พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (รจร.) 58.พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (ผจร.) 59.พระเปรียญธรรม 6 ประโยค 60.พระเปรียญธรรม 5 ประโยค

61.พระครูปลัดของพระราชาคณะชั้นเทพ 62.พระครูปลัดของพระราชาคณะชั้นราช 63.พระครูวินัยธร 64.พระครูธรรมธร 65.พระครูคู่สวด

66.พระเปรียญธรรม 4 ประโยค 67.พระปลัดของพระราชาคณะ ชั้นสามัญ 68.พระเปรียญธรรม 3 ประโยค 69.พระครูรองคู่สวด 70.พระครูสังฆรักษ์

71.พระครูสมุห์ 72.พระครูใบฎีกา 73.พระสมุห์ 74.พระใบฎีกา 75.พระพิธีธรรม

ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงการจัดลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญ ในงานพระราชพิธี และรัฐพิธี ตามที่เสนอ และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม





ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/news/3367910/
23 เมษายน 2567 , 13:37 น. | การศึกษา-ศาสนา
22  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: สาธยายธรรม กับ สวดมนต์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร.? เมื่อ: เมษายน 23, 2024, 06:05:23 am
.



สวดมนต์ ต้องไม่โค่นสาธยาย

"นี่ เราสวดมนต์กันอย่างไร สวดกันมา ๕๐ ปี ยังไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร"

การสวดมนต์นั้น ตัวแท้ตัวจริง แก่นสาระของมัน ก็คือการสาธยาย และมนต์ที่เราเอาคำของพราหมณ์มาใช้แบบเทียบเคียงหรือล้อคำพูดของเขานั้น เราหมายถึงพุทธพจน์ คือคำตรัสสอนแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า การสวดมนต์จึงมุ่งให้เป็นการสาธยายพุทธพจน์ คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระสูตร เป็นคาถา เป็นเนื้อความในพระไตรปิฎก

ที่ว่าสาธยาย ก็คือมีสติจำได้ระลึกถึงจับยกนำเอาข้อมูล ความรู้(ในที่นี้คือพุทธพจน์) ขึ้นมาระบุบ่งชี้จัดเรียงเข้าที่ตรงตามลำดับอย่างถูกต้องครบถ้วน อาจจะเป็นการท่อง การทวน หรือการทาน ก็ได้ สติจึงเป็นตัวทำงานของการสาธยาย




 :25:

บอกกล่าว

"สวดมนต์ ต้องไม่โค่นสาธยาย" โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
พิมพ์ ครั้งที่ ๓. ,ตุลาคม ๒๕๖๓ ๕๐๐ เล่ม ,งานพระราชทานเพลิงศพ นาวาอากาศเอก บํารุง กันสิทธิ์

พิมพ์เป็นธรรมทาน โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์
ท่านผู้ใดประสงค์จัดพิมพ์ โปรดติดต่อขออนุญาตที่...
วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ๗๓๒๑๐
http://www.watnyanaves.net
ขอบคุณที่มา : https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/682

ผู้โพสต์จะขอนำบทความบางตอนที่น่าสนใจ ในหนังสือเล่มนี้ มานำเสนอตามลำดับ ท่านใดประสงค์จะอ่านฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลด pdf file ได้ ผู้โพสต์ได้แนบไว้ ในตอนท้ายของโพสต์นี้

หรือดาวน์โหลดต้นฉบับได้ที่ https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/682

23  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / รถยนต์สีขาว ฮิตจริงฮิตจัง เปิดที่มาของรถสีขาว ทำไมถึงมีแต่คนชอบ เมื่อ: เมษายน 23, 2024, 05:33:05 am
.



รถยนต์สีขาว ฮิตจริงฮิตจัง เปิดที่มาของรถสีขาว ทำไมถึงมีแต่คนชอบ

ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เราจะเห็นได้ถึงรถยนต์บนถนนนั้น ที่ค่อนข้างคั่บคั่งหนาแน่นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากหลาย ๆ บ้านก็เดินทางออกจากต่างจังหวัด มีวันหยุดยาวได้ออกไปทำธุระปะปังกัน ทำให้รถยนต์เยอะมากบนถนนต่าง ๆ

ลองมาสังเกตดูจากการที่รถติด ๆ นั่งมองเพลิน ๆ จะเห็นได้ว่ารถยนต์สีขาวนั้นมากกว่าสีอื่นบนถนน นั่งนับ ๆ ดู เอ๊ะ! ทำไมเยอะจัง ที่มาที่แท้จริงเป็นอย่างไรกันนะ

เรารวม ๆ คำตอบจากหลายๆ หลายแหล่งที่มา บอกว่ารถยนต์สีขาวในยุคก่อน ๆ มีราคาถูกที่สุด ผู้คนจึงมักซื้อสีนี้ พอจำนวนผู้ใช้มากขึ้น ก็เป็นเหมือนเทรนด์การใช้ ทำให้ผู้ใช้รายอื่นเห็นและซื้อตาม ๆ กันมา มองไปมองมาก็สวยดี  จนดันให้สีขาวของรถยนต์ ถูกพัฒนาสี จากสีขาวธรรมดา เป็นขาวแบบพิเศษ มีเมทัลลิก มีประกายเงางามมากกว่าเดิม เพิ่มความนิยมมากขึ้นไปกว่าเดิม จากรุ่นล่างสุดกลายมาเป็นตัว TOP ที่สุดในรุ่น และต้องเพิ่มเงินค่าสีกันด้วยซ้ำ

    - ข้อดีของรถยนต์สีขาวถึงจะเลอะจากคราบสกปรกต่าง ๆ ได้ง่ายมาก แต่ก็สามารถมองเห็นและทำความสะอาดได้ง่ายเช่นเดียวกัน

    - รถยนต์สีขาวสามารถเห็นตัวรถได้ง่าย ในเวลาที่ขับใช้งานในช่วงกลางคืน และดูหรูหรา ไม่แก่จนเกินไป ดูไม่ตกยุคสมัย และสามารถจับมาแต่งองค์ทรงเครื่องได้ง่ายกว่าสีอื่น จับสีไหนมาคู่ก็ดูเข้ากัน

    - รวมไปถึงอาจจะเป็นสีที่ถูกโฉลกกับวันเกิดของผู้ใช้รถบางคนอีกด้วย





Thank to : https://www.amarintv.com/article/detail/63929
Powered by อมรินทร์ นิวส์ - ยานยนต์ | 21 เม.ย. 67
24  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / มท.-วัดระฆังโฆสิตาราม พร้อมเครือข่าย เอ็มโอยู โครงการพื้นที่ต้นแบบอารยเกษตร เมื่อ: เมษายน 23, 2024, 05:26:48 am
.



มท.-วัดระฆังโฆสิตาราม พร้อมเครือข่าย เอ็มโอยู โครงการพื้นที่ต้นแบบอารยเกษตร

มท. วัดระฆังโฆสิตาราม จ.นครนายก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เอ็มโอยู โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอารยเกษตร

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่พระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างกระทรวงมหาดไทย วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจังหวัดนครนายก โดยได้รับเมตตาจากพระมหาปรีชา ปสนฺโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร เลขานุการวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร เป็นผู้แทนพระเทพประสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ร่วมลงนาม

โดยมี รศ.สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดี ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ร่วมลงนาม โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส เจ้าอาวาสวัดป่ามหาธีราจารย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต พระครูพิพิธวรกิจจาทร พระครูสังฆรักษ์อำพล จตฺตมโล พระครูวินัยธรสมชาย ปุปฺผโก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม พระเถรานุเถระ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายเปลี่ยน แก้วฤทธิ์ รกน.ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมที่ดิน นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง นายบูรณิศ ยุกตะนันทน์ ผู้อำนวยการองค์การตลาด ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย ร่วมในพิธี




นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างกระทรวงมหาดไทย วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจังหวัดนครนายก เป็นเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะออกแบบ พัฒนา วางแผนและบริหารจัดการการใช้ประโยชน์พื้นที่ ในที่ดินของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร โฉนดที่ดินที่ 2623 จำนวน 100 ไร่ และโฉนดที่ดินที่ 2624 จำนวน 50 ไร่ รวมจำนวน 150 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองใหญ่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

โดยจัดตั้งเป็น “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตามแนวทางพุทธอารยเกษตร สู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน” อันจะเป็นพื้นที่ตัวอย่างแห่งความยั่งยืนให้กับกระทรวง กรม และจังหวัดต่าง ๆ ในการน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่อารยเกษตร หรือโคก หนอง นา โดยได้รับเมตตาจากพระเทพประสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร มอบหมายให้พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ได้บริหารจัดการที่ดินแปลงนี้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามความร่วมมือในครั้งนี้




“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคิดค้นทฤษฎีใหม่เป็นจำนวนมากเพื่อยังคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพสกนิกรของพระองค์ ทั้งนี้ เกษตรทฤษฎีใหม่เป็น 1 ใน 40 ทฤษฎี ธรรมชาติมีแหล่งน้ำ มีนา ปลูกข้าวกินเอง เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร มีไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว โดยทรงใช้วัดเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เป็นพื้นที่ทดลอง เพราะพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินปูน โดยทรงใช้องค์ความรู้มาคิดค้นคว้า แบ่งพื้นที่ว่าชีวิตจะอยู่ได้ “น้ำคือชีวิต” จึงทรงหาวิธีการที่ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยทำให้พื้นที่ทำมาหากินต้องมีน้ำ เกษตรทฤษฎีใหม่ 30% ของพื้นที่ทำแหล่งน้ำ 30% เป็นพื้นที่เกษตรผสมผสาน 30% เป็นพื้นที่สร้างความร่มเย็น ไม้เป็นอาหาร ไม้ใช้สอย ด้วยไม้ยืนต้น และแหล่งมรดกสร้างที่อยู่อาศัย และอีก 10% ทำที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และต่อมา ทรงคิดทฤษฎีใหม่อื่น ๆ อาทิ เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช ป่าเปียก หลุมขนมครก อธรรมปราบอธรรม

โดยต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด จึงพระราชทานโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังให้แก่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และต่อมากระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำไปขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา” โดยทรงนิยามคำว่า “อารยเกษตร” เพราะพื้นที้ที้เราพัฒนาแล้วจะเกิดความสวยงาม ทั้งภาพลักษณ์ และอรรถประโยชน์ มองทางไหนก็เหมือนอยู่ในรีสอร์ท มีคลองไส้ไก่คดเคี้ยวเลี้ยวลด มีผืนแผ่นดินทำมาหากิน อยู่อาศัย ที่มีต้นไม้สูง กลาง ต่ำ เตี้ย เรี่ยดิน อันจะทำให้คนมีกิน มีใช้ และดูแลให้คนในครอบครัวมีความสุข โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มอบหมายให้ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล เป็นผู้นำภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ในการออกแบบขยายผลจนเกิดมรรคผลทั่วประเทศในขณะนี้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว




นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการในครั้งนี้ จะทำให้พวกเราทุกคนได้มีโอกาสร่วมสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตามพระราชดำรัส “อารยเกษตร” เป็นแนวทางหลักในการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า คน ภูมินิเวศและภูมิวัฒนธรรม อันเป็นความสำเร็จที่ทำให้พสกนิกรชาวไทยได้มีความสุขในชีวิตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความเป็นอารยะ พร้อมน้อมนำหลัก บวร (บ้าน วัด ราชการ) ในการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ให้มีรูปแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

โดยมุ่งมั่นบูรณาการความร่วมมือพร้อมด้วยสรรพกำลังตามความเชี่ยวชาญอย่างเต็มที่ในการพัฒนาที่ดิน การสำรวจพื้นที่เพื่อนำมาพัฒนาและออกแบบ ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตามแนวทางพุทธอารยเกษตร สู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน” ที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาพื้นที่เพื่อการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นแหล่งรวมปัจจัย 4 ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และยารักษาโรค ตลอดจนการพัฒนาดินเพื่อช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและสัตว์ สร้างสภาพแวดล้อมให้ร่มเย็นเพื่อช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศและลดภาวะโลกร้อน เป็นต้น

นอกจากนี้เราจะได้ส่งเสริมให้เกิดการน้อมนำหลักธรรมตามพระพุทธศาสนา ให้เกิดการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติธรรม และเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และอารยเกษตรอีกด้วย ซึ่งจะทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นใบบุญในการทำให้คณะสงฆ์ ตลอดจนประชาชนคนไทยได้มีโอกาสที่ดีของชีวิตในการน้อมนำพระราชดำริสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน




“พื้นที่แห่งนี้จะเป็นต้นแบบทำให้ผู้คน ประเทศชาติ และโลกใบเดียวนี้อยู่รอด จะทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ว่า “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ได้ทำให้คนแค่พอมี พอกิน แต่จะทำให้คนเป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อ มีจิตอาสา ดูแลสังคม และสามารถทำให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวยได้ ตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4 ขั้นแรกทำให้พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น ขั้นต่อไปเมื่อมีเหลือใช้ก็แบ่งทำบุญ กับพระสงฆ์ ทำทานกับผู้ยากไร้ และขั้นต่อมา คือ การแปรรูป ถนอมอาหาร และรวมผลผลิต และรวมตัวกันทำการตลาด อันจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่อย่างยั่งยืน โดยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย คือ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ขับเคลื่อนพื้นที่แห่งบุญกุศลไปสู่ต้นแบบแห่งการอยู่ดีมีสุขตามพระราชดำริต่อไป”นายสุทธิพงษ์ กล่าว

พระมหาปรีชา ปสนฺโน กล่าวว่า วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหารในฐานะเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่ดินที่วัดได้ซื้อไว้ตั้งแต่ก่อนปี 2500 แปลงหนึ่ง และเป็นแปลงที่ทายาทอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ถวายให้กับวัดแปลงหนึ่ง โดยเมื่อวัดได้รับทราบว่ากระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นร่วมพัฒนาที่ดินตามหลักพุทธอารยเกษตร ซึ่งเป็นความตั้งใจที่ดีงาม โดยเฉพาะชื่อโครงการที่ถือเป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ อันเป็นสิ่งที่จะเกิดประโยชน์อย่างไพบูลย์กับประเทศชาติ พระศาสนา และประชาชน จึงขออนุโมทนากับการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันนี้ และขออำนวยพรให้ประสบความสำเร็จตามความมุ่งมั่นตั้งใจทุกประการ

รศ.สุพจน์ กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับเกียรติในการสนับสนุนให้ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ตามหลักอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริมาต่อเนื่องกว่า 10 ปีในลักษณะ “นักวิชาการจิตอาสา” ซึ่งสถาบันฯ มีความภูมิใจและชื่นชมยินดีกับอาจารย์ทั้ง 2 ท่านที่มีส่วนในการพัฒนาความยั่งยืนให้กับประเทศชาติและประชาชน โดยพิธีการในวันนี้ พวกเราผู้มีจิตใจที่ดีงาม จะได้ร่วมกันทำให้ประเทศชาติก้าวไปสู่ความเจริญอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยสถาบันฯ จะมุ่งมั่นถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมากที่สุดและดีที่สุดเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณตลอดไป




นายสุภกิณห์ กล่าวว่า จังหวัดนครนายก ในฐานะพื้นที่มีความมุ่งมั่นในการร่วมกับภาคีเครือข่ายน้อมนำแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย เจตนารมณ์ของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ตลอดจนถึงสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และความมุ่งมั่นตั้งใจของภาคีเครือข่ายอย่างเต็มกำลังความสามารถ

การพัฒนาที่ดินของวัดระฆังโฆสิตาราม ขนาด 150 ไร่ ที่คลอง 15 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ตามบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ จะนำไปสู่การจัดทำแบบแนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่สู่การเป็น “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตามแนวทางพุทธอารยเกษตร สู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน” ซึ่งถือเป็น 1 ใน 6 พื้นที่ทั่วประเทศที่กระทรวงมหาดไทยได้คัดเลือกดำเนินการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ทำให้ประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน





ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/politics/news_4537767
วันที่ 22 เมษายน 2567 - 17:15 น.   
25  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / คณะสงฆ์กทม.ติวเข้มทักษะไอทีพระภิกษุสามเณร เผยแผ่พุทธศาสนาออนไลน์ เมื่อ: เมษายน 23, 2024, 05:19:41 am
.



คณะสงฆ์กทม.ติวเข้มทักษะไอทีพระภิกษุสามเณร เผยแผ่พุทธศาสนาออนไลน์

คณะสงฆ์กรุงเทพฯ จัดโครงการอบรมพัฒนาบุคลากร เพิ่มพูนทักษะทางไอที หนึ่งวัดหนึ่งเว็บไซต์ รุ่นที่ 2

พระธรรมวชิรมุนี วิ. กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการอบรมพัฒนาบุคลากรเพิ่มพูนทักษะทางไอที หนึ่งวัดหนึ่งเว็บไซต์ ของคณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร (รุ่นที่ 2) เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า โครงการดังกล่าว เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจด้านไอทีที่จำเป็นให้กับพระภิกษุสามเณรของวัดในเขตกรุงเทพฯ ต่อจากรุ่นแรกที่ได้ดำเนินการไปเมื่อปี 2566 ทั้งยังเป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567

“มีผู้กล่าวไว้ว่า เทคโนโลยีก้าวไกล พระสงฆ์ไทยควรก้าวให้ทัน ใจความสำคัญคือ พระภิกษุสามเณร จะดึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาใช้ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เกิดประโยชน์อย่างไร เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะว่าเทคโนโลยีนี้เป็นของใหม่ และทันสมัย อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีก็ยังเป็นอุปกรณ์ในการประชาสัมพันธ์ผลงาน ศาสนกิจ ของแต่ละวัดได้ และช่วยให้ผู้สนใจ พุทธศาสนิกชน ได้เข้าถึงข้อมูลที่สำคัญของวัดได้ตลอดเวลา ด้วยแต่ละวัดมีงานต้องดำเนินการตามนโยบายคณะสงฆ์ การอบรมครั้งนี้ เพื่อให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาศักยภาพของพระภิกษุสามเณร อีกทางหนึ่ง ซึ่งละเลยไม่ได้ เพราะการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางเว็บไซต์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถทำให้คนทั่วโลกเข้าถึงได้” เจ้าคณะกรุงเทพฯ กล่าว






ด้านพระครูภาวนาวิธาน วิ. หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานเจ้าคณะกรุงเทพฯ ประธานโครงการฯ กล่าวว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการประกอบธุรกรรมทางสังคม และการดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มว่าจะก้าวหน้า รวดเร็ว และก้าวไกลมากยิ่งขึ้น องค์กรที่พึ่งพาเทคโนโลยี จำเป็นต้องทำการพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ความเข้าใจ ใช้ประโยชน์ให้ตรงกับภาระงานอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนเจ้าคณะกรุงเทพฯ และคณะสงฆ์กรุงเทพฯ จึงเห็นควรให้มีการอบรมดังกล่าวขึ้น ระหว่างวันที่ 20-24 เม.ย. ที่ตึกมหาธาตุวิทยาลัย ชั้น 1 วัดมหาธาตุฯ

โดยกำหนดขอบเขตเนื้อหาในการอบรมเกี่ยวเนื่องกับการเผยแพร่ศาสนาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ด้วยการจัดทำเว็บไซต์ประจำวัดในเขตปกครอง เพิ่มความรู้เบื้องต้นงานสิ่งพิมพ์ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมวัด การถ่ายภาพเพื่อการทำรายงานศาสนกิจ รวมทั้งเพื่อขับเคลื่อนกิจการและการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์กรุงเทพฯ ให้ก้าวหน้า รวดเร็วและทันสมัย อีกทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากรด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น





ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/news/3364547/
22 เมษายน 2567 ,13:03 น. ,การศึกษา-ศาสนา
26  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: สาธยายธรรม กับ สวดมนต์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร.? เมื่อ: เมษายน 22, 2024, 07:00:50 am
.



กรุยทางสร้างบุญบารมีด้วยการสวดมนต์

การสวดมนต์เริ่มต้นตั้งแต่พุทธกาล แต่ในครั้งนั้นยังไม่มีการบันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นตัวหนังสืออย่างพระไตรปิฎกในปัจจุบัน ใช้วิธีการท่องจำที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนอะไรไว้ พระภิกษุก็จะท่องจำแล้วจึงบอกต่อๆ กันจนกระจายไปทั่วทั้งแผ่นดิน
         
การสวดมนต์คือ การสาธยายธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ ถือเป็นการทบทวนบ่อยๆ เพื่อป้องกันการลืมเลือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นหัวข้อธรรมที่สำคัญๆ ก็ยิ่งต้องท่องจำจนขึ้นใจ ส่วนหัวข้อธรรมที่นานๆ ใช้ครั้ง ก็ต้องแบ่งหน้าที่กันว่า พระภิกษุรูปใดจะท่องจำหัวข้อธรรมเรื่องอะไร

ธรรมเรื่องหลักๆ เช่น คุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือเรื่องการพิจารณาขันธ์ 5 ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นเรื่องธรรมดาต่างๆนั้น จะต้องทบทวนเป็นประจำ จึงรวบรวมมาเป็นบทสวดมนต์ทำวัตรที่เราใช้สวดกันในปัจจุบัน ถ้ายังเป็นเด็กก็ให้ท่องบทสวดสั้นๆ ว่า “อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา ....” คือ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ชาวพุทธโดยทั่วไปส่วนใหญ่ สวดมนต์เป็นตั้งแต่ยังเด็กๆ แล้ว

การสวดมนต์ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็นนั้น เป็นการสวดเพื่อรำลึกนึกถึงพระรัตนตรัย ซึ่งผู้สวดจะได้รับประโยชน์นานัปการเลยทีเดียว เราพบว่าหลายคนที่เรียนดี เรียนเก่งนั้นมีเคล็ดลับโดยการนั่งสมาธิ การสวดมนต์ ถือว่าเป็นการเตรียมใจให้พร้อมเบื้องต้น สำหรับการทำสมาธิก็ว่าได้ หากพิเคราะห์วิถีชาวพุทธที่ประกอบด้วยทาน ศีล ภาวนา คำว่า “ภาวนา” ครอบคลุมทั้งการสวดมนต์ นั่งสมาธิ

เพราะฉะนั้นการสวดมนต์ถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง อานิสงส์ประการแรกคือ ทำให้ใจสงบ เป็นสมาธิ พอใจสงบเป็นสมาธิแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ได้ผลดี และประสบความสำเร็จ ประการต่อมา ทำให้เป็นทางมาแห่งบุญ หมายความว่า การสวดมนต์นี้ได้บุญ ท่านเรียกว่า “ภาวนามัย” คือ บุญที่เกิดจากการทำภาวนา


@@@@@@@

สวดมนต์ทำให้เทวดาลงรักษา

ใครก็ตามที่สวดมนต์บ่อยๆ หากต้องพบเหตุการณ์ร้ายๆ ก็แคล้วคลาดไป แล้วสิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น ท่านว่าเทวดาจะลงรักษา เพราะเทวดาและนางฟ้าล้วนอยากได้บุญ แต่ท่านเหล่านั้นอยู่ในภาวะเป็นกายละเอียด อยู่ในช่วงเสวยบุญ ทำบุญด้วยตัวเองไม่สะดวก

ดังนั้น เมื่ออยากได้บุญ เหล่าเทวดานางฟ้า จะดูว่าในโลกนี้มีใครที่เป็นคนดีแล้วทำความดีบ้างเขาก็จะลงรักษา เมื่อคนนั้นไปทำความดี เทวดา นางฟ้า ก็จะได้ส่วนบุญนั้นด้วย ในฐานะเป็นผู้สนับสนุน ลองทบทวนดูก็ได้ว่า ตอนที่เราเป็นเด็ก มีหลายครั้งหลายหนที่ดูเหมือนว่า เราไม่น่าจะรอดชีวิตมาได้ จนถึงปัจจุบัน เช่น อาจจะเคยมีเหตุการณ์ ที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่า เราน่าจะโดนรถชนไปแล้ว เราน่าจะตกต้นไม้ไปแล้ว เราน่าจะตกบันไดไปแล้ว แต่เราก็รอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นเพราะบุญในตัวเราที่มีอยู่ ทำให้เทวดานางฟ้าลงรักษา เราจึงอยู่รอดปลอดภัยมาถึงปัจจุบัน

อาตมภาพเคยเจอเหตุการณ์ที่เด็กกลิ้งตกบันได ท่าทางหัวจะปักพื้นแน่แล้วจู่ๆ คอเสื้อก็ไปเกี่ยวกับตะปู ตัวเลยห้อยต่องแต่ง แล้วก็รอดมาได้ หรือเด็กบางคนที่ปีนต้นไม้ จะไปเก็บผลสุกที่ปลายสุดกิ่งไม้ ซึ่งกิ่งไม้นั้นเล็กนิดเดียว พอลมพัดก็เอนไปเอียงมา ทำท่าจะหัก แต่สุดท้ายเขาก็รอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่างนี้เรียกว่า “แคล้วคลาด”

@@@@@@@

สวดมนต์สั้นหรือยาว ได้บุญมากน้อยต่างกันหรือไม่.?

ในการสวดมนต์นั้น เราไม่ถึงต้องขนาดกำหนดว่าควรสวดมนต์สั้นยาวแค่ไหน ได้ผลเท่าไร แต่ให้นึกถึงว่า ควรสวดอย่างสม่ำเสมอด้วยใจที่สงบ คือระหว่างสวดมนต์ก็ทำใจนิ่งๆ เป็นสมาธิ ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าไปด้วย อาจระลึกนึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เราเคารพเป็นพิเศษ นึกภาพท่านได้ง่าย ก็นึกให้เห็นองค์ท่านใสๆ อยู่ที่กลางท้องของเรา ถ้าสวดมนต์บ่อยๆ แล้วเราจะรู้หลัก เมื่อสวดแล้วใจจะสงบ พอสงบแล้วผลดีเกิด บุญเกิด ยิ่งใจสงบมากเท่าไร บุญก็ยิ่งเกิดมาเป็นตามส่วน

ยกตัวอย่างเด็กๆ สวดบูชาพระรัตนตรัยบทสั้นๆ ว่า “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา ....” อย่างนี้ถือเป็นบันไดขั้นแรกของการทำใจให้สงบ เมื่อโตขึ้นอีกหน่อยก็ให้สวด “นะโม ตัสสะ ....” แถมเข้าไปด้วย แล้วถ้าโตขึ้นอีกนิดก็แถมบทสวด “อิติปิโส ภะคะวา ....” ไม่นานก็จะท่องได้คล่องไปโดยปริยาย

การสวดมนต์ถือเป็นบันไดขั้นแรกในการทำจิตใจให้สงบ เมื่อสวดแล้วได้บุญและแคล้วคลาด อีกทั้งยังเป็นการทบทวนคำสอนที่สำคัญๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องถึงขนาดที่ว่าระหว่างสวดมนต์ ต้องคิดคำสอนไปด้วย แต่ให้เน้นหลักทำใจให้สงบ ระหว่างสวดมนต์เป็นสมาธิ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในระดับที่ลึกกว่า คือ ด้วยใจที่นิ่งและมีความซาบซึ้ง เพราะการที่ใจนิ่งแล้วสวดมนต์นั่นเอง ความเคารพบูชา ซาบซึ้งในพระรัตนตรัย จะเกิดได้อย่างเต็มที่

หลังจากนั้น ระหว่างที่เรามีเวลาว่าง ก็ให้หยิบหนังสือสวดมนต์ พร้อมบทแปลมาพลิกดูบ้าง จะได้รู้ว่าบทสวดมนต์ ที่เราสวดไปนั้นมีเนื้อหาความหมายว่าอย่างไร ถือเป็นการทบทวนธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกทางหนึ่งด้วย


@@@@@@@

สวดมนต์โดยไม่รู้ความหมาย ได้ประโยชน์หรือไม่.?

ในระหว่างที่เราสวดมนต์ แม้ว่าเราจะไม่ทราบความหมาย ของบทสวดนั้น ก็อย่าไปคิดว่าสวดอะไรไปก็ไม่รู้ หรือคิดไปว่าการที่เราไปฟังพระสวดทั้งที่ไม่รู้ความหมายนั้นไม่ได้ประโยชน์ ความจริงแล้วการฟังพระท่านสวดมนต์ ไม่ว่าจะในงานสวดพระอภิธรรมก็ตาม ถวายภัตตาหารพระภิกษุก็ตาม แม้เราไม่รู้ความหมาย แต่เราก็รู้ว่า ที่ท่านสวดคือการบูชาพระรัตนตรัย แล้วมีนัยความหมายที่ดี ให้เราตั้งใจฟังคำสวดโดยทำใจนิ่งๆ สงบๆ เพียงเท่านี้บุญก็เกิดขึ้นอย่างมหาศาลแล้ว

พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านเปรียบไว้ว่า การทำใจให้สงบแม้เพียงช่วงสั้นๆ เพียงแค่ “ช้างกระพือหู งูแลบลิ้น” อานิสงส์มหาศาลยิ่งกว่าสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ลองคิดดูว่าช้างกระพือหูนั้นแป๊บเดียว ยิ่งถ้างูแลบลิ้นนั้นใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที ใจสงบแค่นั้นบุญยังเกิดมหาศาล เพราะฉะนั้นในขณะที่พระท่านกำลังสวดมนต์ใช้เวลาเป็นสิบๆนาที หากเราทำสมาธิแล้วฟังด้วยใจที่สงบ ตั้งใจฟัง ไม่พูดคุยกัน เราย่อมได้บุญมหาศาล

ดังนั้น เมื่อมีพระมาเจริญพุทธมนต์ที่บ้านก็ตาม เข้าไปร่วมงานศพฟังพระท่านสวดพระอภิธรรมก็ตาม ไม่ว่าจะมีการสวดมนต์ในงานใดก็ตาม ขอให้ตั้งใจฟัง พนมมือแล้วหลับตา ทำใจนิ่งๆ อยู่ที่กลางท้องของเรา ที่จุดศูย์กลางกายฐานที่ 7 เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ ให้สบายๆ สงบๆ แล้วฟังเสียงพระเจริญพระพุทธมนต์ ระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง ปฏิบัติอย่างถูกหลักวิชา บุญกุศลจะเกิดขึ้นกับเราอย่างมหาศาล

เคยมีเหตุเกิดมาแล้วในอดีต มีพระภิกษุท่านสาธยายธรรมขณะนั้นเองมีค้างคาวอยู่ท้ายวัดได้ฟังธรรม ทั้งๆที่ค้างคาวฟังไม่รู้เรื่องแต่เมื่อฟังแล้วใจเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ฟังแล้วรู้สึกสบาย ฟังแล้วมีความสุข อานิสงส์ของการฟังพระภิกษุสาธยายธรรมนั้น หนุนนำให้เมื่อตายจากค้างคาวไปเกิดเป็นเทวดา แค่ฟังแล้วส่งใจไปตามกระแสเสียงสวดมนต์ของพระท่าน บุญยังส่งให้เป็นเทพบุตร เพราะฉะนั้นอย่าดูเบาเรื่องการสวดมนต์ ยิ่งถ้าเราสวดเองด้วยแล้ว ยิ่งได้บุญทับทวีคูณ

@@@@@@@

เหตุใด.? เราจึงสวดมนต์เป็นภาษาบาลี

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่คงไว้ซึ่งพุทธพจน์ เป็นภาษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ในการสั่งสอนธรรม แล้วภาษาบาลีเวลาสวดแล้วจังหวะจะเชื่อมต่อกันอย่างราบรื่น ทำให้ใจเป็นสมาธิกว่าภาษาอื่นๆ เพราะฉะนั้นเราจึงเน้นสวดมนต์ด้วยภาษาบาลีเป็นหลัก บางท่านถามว่าสวดบทแปลสลับกับภาษาบาลีดีหรือไม่ ตอบว่าถ้าบทสวดสั้นๆ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นบทสวดยาวๆ สวดบาลียาวไปเลยจะดีกว่า เพราะพอสวดคำแปลด้วย บางบทมีการเอื้อนจะทำให้จังหวะไม่เหมือนกัน เกิดอาการติดขัดได้

ดังนั้น เราควรเน้นสวดภาษาบาลีเป็นหลัก ยกเว้นบางบทที่อยากจะให้รู้จริงถึงความหมายสั้นๆ ไม่กี่นาที ก็ให้แถมบทแปลไปด้วยก็ได้ แต่โดยภาพรวมทั้งหมด ถ้าสวดเป็นภาษาบาลีจะดีกว่า ซึ่งไม่เกี่ยวกับความขลัง แต่เกี่ยวกับความราบรื่นของใจ ที่สงบและเป็นสมาธิ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะสวดบทแปลหรือไม่แปล “สวดก็ย่อมดีกว่าไม่สวด”




ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
บทความ : เพราะไม่รู้สินะ ตัวเราไม่ธรรมดา - กรุยทางสร้างบุญบารมีด้วยการสวดมนต์ โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
URL : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=8630
วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558






สวดมนต์รักษาสุขภาพ

ปัจจุบันมีผลการวิจัยของนักวิจัยชาวตะวันตกเรื่องการสวดมนต์ สามารถรักษาสุขภาพได้ โดยสามารถอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า มนุษย์ประกอบด้วยกายกับใจ ทั้งสองส่วนส่งผลสืบเนื่องกัน ให้ลองสังเกตว่า ถ้าตอนไหนเรามีเรื่องเครียด ไม่สบายใจกลัดกลุ้มใจ พอหลายๆวันเข้า ร่างกายของเราอาจจะป่วยได้ ไม่สบายเป็นโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ นอนไม่หลับ ความดันสูง สารพัดโรคเกิดขึ้นได้มากมาย แต่ถ้าตอนไหนเรารู้สึกสบายใจ อารมณ์ดี รู้สึกว่ากำลังมีสิ่งดีๆเกิดขึ้น ในชีวิต หน้าตาผิวพรรณของเราก็จะสดใส

ในทำนองเดียวกัน ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง เกิดอาการป่วยไข้ นานวันเข้าใจย่อมหดหู่ตามไปด้วย แต่ถ้าร่างกายแข็งแรง ใจเราก็จะมีโอกาสสดชื่นได้มากกว่า กายกับใจส่งผลซึ่งกันและกันอย่างนี้

การสวดมนต์ทำให้ใจเรานิ่งสงบ แล้วเกิดความสบายใจ พอสบายใจใจได้สมดุล ย่อมนำไปสู่ภาวะร่างกายที่สมดุลด้วย เพราะฉะนั้นร่างกายป่วย อาการไม่สบายก็จะทุเลาลง แล้วค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ ถ้าสุขภาพดีอยู่แล้วก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก

ผลึกน้ำกับกระแสใจ

คนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันมักจะชื่นชอบอะไรที่เป็นรูปธรรม มองเห็นได้ จับต้องได้ ถ้ามีคนมาบอกเราว่าสวดมนต์แล้วดี เราฟังแล้วอาจจะคิดตามเพียงเห็นดีด้วย แต่ยังไม่เห็นภาพชัดเจนเป็นรูปธรรม
   
มีผู้เชี่ยวชาญในญี่ปุ่นท่านหนึ่งทำการทดลองเรื่อง “ น้ำ ” อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมา เขาทำการทดลองโดยนำน้ำมาทำให้แข็งตัว คือ เย็นจนกระทั่งจับผลึก พอได้ผลึกน้ำแล้วก็มาส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูว่าลักษณะของผลึกน้ำนั้นเป็นอย่างไร

จากนั้นก็ทดลองโดยใช้น้ำที่มาจากแหล่งน้ำเดียวกัน นำมาแยกเป็น 2 ขวด โดยน้ำขวดหนึ่งเราพูดจาไพเราะกับมัน ส่วนอีกขวดหนึ่งเราพูดด้วยถ้อยคำร้ายๆ เช่น แย่ เลว ผลปรากฎว่าผลึกน้ำนั้นมีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง น้ำในขวดที่เราพูดไพเราะด้วยนั้น มีลักษณะของผลึกที่เป็นรูปหกเหลี่ยมสวยงาม แต่น้ำในขวดที่เราพูดไม่ดีด้วยนั้น กลับมีลักษณะของผลึกที่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง อย่างกับคนหัวใจสลาย

มีตัวอย่างผลึกของน้ำจากเขื่อนฟูจิวาร่า ก่อนได้ฟังสียงสวดมนต์ลักษณะของผลึกไม่เป็นรูปทรง แต่พอสวดมนต์ให้ฟังทุกวันๆระยะหนึ่ง ผลปรากฎว่าผลึกน้ำกลายเป็นรูปหกเหลี่ยม คล้ายอัญมณีที่มีความงดงาม นี่คือการทดลองวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำซ้ำได้ ไม่ว่าจะทดลองซ้ำอีกกี่ครั้ง ก็ปรากฎผลลัพธ์ที่เหมือนเดิม

แม้แต่การทดลองที่นำข้าวสุกที่หุงเสร็จเรียบร้อยแล้วมาใส่ขวดโหลแยกออกเป็น 2 ขวด แล้วปิดฝาไว้ ขวดหนึ่งพูดด้วยคำพูดที่ไพเราะ อ่อนโยน อีกขวดหนึ่งพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี ผ่านไปเพียงไม่กี่วันช้าวในขวดโหลที่เราพูดจาไพเราะด้วยนั้นมีสีเหลืองนวลสวย แต่ข้าวอีกขวดหนึ่งที่เราพูดไม่ดีด้วยทุกๆวันนั้นกลับมีสีดำ

จากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า ข้าวก็ตาม น้ำก็ตามไม่ได้เข้าใจภาษาแต่อย่างใด ยกตัวอย่างในการทดลองนี้โดยใช้ภาษาญี่ปุ่นพูดกับข้าวกระปุกหนึ่งว่า “ อาริงาโตะ ” แปลว่า “ ขอบคุณ ” ส่วนข้าวอีกกระปุกหนึ่งพูดว่า “ บากะ ” ซึ่งแปลว่า “ ไอ้โง่ ” ถามว่าข้าวเข้าใจภาษาญี่ปุ่นด้วยหรือ แล้วถ้าเราเปลี่ยนมาพูดภาษาไทยว่า “ ขอบคุณ ” กับ “ ไอ้โง่ ” หรือพูดภาษาต่างประเทศล่ะ ข้าวจะรู้เรื่องหรือไม่

ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องของภาษา แต่เป็นเรื่องของกระแสใจ คือ ในขณะที่เราพูดว่า “ ขอบคุณ ” โดยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตาม กระแสใจที่ออกมาในขณะที่พูดนั้นจะเป็นกระแสของความรู้สึกดี เป็นกระแสทางบวก แต่ถ้าเราพูดว่า “ ไอ้โง่ ” ถึงแม้ว่าเราจะแกล้งพูดก็ตาม ภาพที่เกิดขึ้นมาในใจเราขณะที่พูดคำไม่ไพเราะนั้น กระแสใจเราจะเริ่มเปลี่ยนแล้ว ยิ่งถ้าเกิดเรารู้สึกอย่างที่พูดจริงๆ กระแสใจในแง่ลบก็จะยิ่งแรงขึ้น ยิ่งถ้าเราพูดซ้ำๆ ทุกวันก็ยิ่งส่งผลรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ข้าวเอย น้ำเอย ไม่มีชีวิต ไม่รู้ภาษามนุษย์ แต่มันสัมผัสถึงกระแสใจเราที่ส่งออกไปได้ โดยกระแสที่ออกไปนั้น ส่งผลต่อลำดับโครงสร้างโมเลกุลของน้ำ ส่งปลต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในข้าว
   
เพราะฉะนั้นคลื่นเสียงเป็นสื่อของคลื่นใจ เริ่มต้นมาจากใจ แล้วส่งออกไปเป็นคลื่นเสียง ถ้าคลื่นใจดี คลื่นเสียงที่ส่งออกไปจะมีจังหวะที่ดีด้วย ถ้าคลื่นใจเสียก็จะส่งผลไม่ดีออกไปด้วยเช่นกัน แล้วส่งผลไปถึงทุกสรรพสิ่ง

ดังนั้น หากเราสวดมนต์ทุกวันหมั่นสร้างคลื่นใจที่ดีให้กับตัวเองจากภายในด้วยความดื่มด่ำซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัย กระแสดีๆ ก็จะออกมาจากใจเรา สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นในชีวิต ทั้งเลือดและน้ำในตัวเราทั้งหมดจะเกิดเป็นผลึกที่สวยงาม ผิวพรรณวรรณะก็จะผ่องใส เพราะฉะนั้นถ้าปรารถนาให้ตัวเรามีสุขภาพแข็งแรง มีความเบิกบานผ่องใส ก็ให้หมั่นสวดมนต์เป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่ว่าเครื่องสำอางค์ราคาแพงยี่ห้อไหนก็สู้การสวดมนต์ไม่ได้
   
ที่สำคัญการสวดมนต์เป็นการทบทวนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตของเราก็จะดำเนินไปในทางบวก สุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจเบิกบาน ผ่องใสทั้งการเรียนและหน้าที่การงาน ดำเนินไปอย่างได้ผลดี

@@@@@@@

เรื่องราวที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์

ณ กรุงพาราณสี มีเด็กสองคนเป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งอยู่ในครอบครัวสัมมาทิฐิ มีความเห็นชอบ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ส่วนเด็กอีกคนหนึ่งอยู่ในครอบครัวมิจฉาทิฐิ มักเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

เมื่อถึงเวลาแข่งกีฬาตีคลี เด็กที่มาจากครอบครัวสัมมาทิฐิมักจะสวดมนต์บทสวดสั้นๆก่อนลงแข่งเสมอว่า “นะโมพุทธายะ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ส่วนเด็กที่มาจากครอบครัวมิจฉาทิฐิ มักจะกล่าวบูชาพระพรหมว่า “ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพรหม” เพียงเท่านั้นไม่กล่าวบูชาพระรัตนตรัย

ครั้นผลการแข่งออกมา ปรากฎว่าเด็กคนแรกมักจะกุมชัยชนะเสมอ จนเด็กคนที่สองเกิดความสงสัย จึงเอ่ยถามเพื่อนว่า “เธอมีเคล็ดลับอะไรถึงได้ชนะฉันทุกครั้งไป”
   
เด็กคนแรกได้ยินดังนั้น จึงสอนให้เพื่อนสวดมนต์เหมือนกับตนเองว่า “ นะโมพุทธายะ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เด็กคนที่สองก็ทำตามทั้งที่ไม่รู้เรื่อง เพียงเห็นว่าท่องสั้นดี และหวังจะให้ทุกอย่างออกมาราบรื่นบ้าง

เวลาต่อมา เด็กชายในครอบครัวมิจฉาทิฐิได้ตามพ่อของเขา เข้าไปตัดต้นไม้ในป่าใหญ่ ครั้นเมื่อผู้เป็นพ่อตัดต้นไม้เสร็จ ปรากฎว่าโคที่เทียมเกวียนหนีเตลิดหายเข้าไปในป่า พ่อจึงออกไปตามหาโคจนมืดค่ำ

เด็กน้อยนี่งรอพ่ออยู่ก็เกิดความหวาดกลัว จึงหลบไปนอนรอพ่ออยู่ใต้เกวียน โดยหารู้ไม่ว่าในป่าใหญ่นี้มียักษ์อยู่ 2 ตน ยักษ์ตนหนึ่งเป็นสัมมาทิฐิ ไม่รังแกคน แต่ยักษ์อีกตนหนึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ ชอบรังแกคนบ้าง จับกินเป็นอาหารบ้าง

เมื่อยักษ์ทั้งสองเดินทางผ่านมาพบกับเกวียนที่จอดนิ่งอยู่กลางป่าเข้าก็เกิดความรู้สึกสงสัย ยืนด้อมๆมองๆอยู่ครู่หนึ่ง ไม่นานนักเจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิก็เหลือบไปเห็นเท้าของเด็กน้อยโผล่มาจากใต้เกวียน จึงเกิดความดีใจพร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า “วันนี้ข้าโชคดีมีลาภลอย ได้เจ้าเด็กนี่เป็นอาหารแล้ว”

ยักษ์สัมมาทิฐิได้ยินดังนั้นจึงพูดแย้งขึ้นว่า “อย่าไปยุ่งเลย เราไปหาผลไม้กินกันก็ได้” เจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิไม่ฟังเสียง คว้าขาเด็กน้อยได้ก็ลากออกมาทันที เด็กตกใจจึงรีบท่องคำที่เพื่อนเคยสอน “นะโมพุทธายะ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ทันใดนั้นเจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิก็รู้สึกร้อนเหมือนจับโดนเหล็กเผาไฟ มันสะดุ้งแล้วรีบคลายมือที่จับขาเด็กน้อยออกทันที ด้วยอานิสงส์ของการกล่าววาจานอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า เจ้ายักษ์ มิจฉาทิฐิรู้ได้ในทันทีว่าเด็กน้อยเป็นผู้มีบุญ จะไปทำอันตรายเขาไม่ได้ มันจึงหันไปปรึกษายักษ์อีกตนหนึ่ง ยักษ์ผู้มีความประพฤติดีจึงตอบเพื่อนกลับไปว่า “เจ้าทำบาปกับผู้มีบารมีแล้ว เพราะฉะนั้นเจ้าต้องกล่าวขอโทษเขา”

เจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิเกรงกลัวบาปกรรม จึงรีบเร่งไปเก็บผลไม้มาเลี้ยงเด็กแล้วขอขมาลาโทษ ไม่นานเด็กน้อยกับพ่อก็ได้พบกัน แล้วกลับบ้านอย่างปลอดภัยในที่สุด

เรื่องราวเหล่านี้ชี้ให้เห็นอานิสงส์ของการสวดมนต์ แม้จะสวดเพียงสั้นๆ โดยไม่รู้ความหมายบุญก็เกิดได้ คนโบราณรู้หลักข้อนี้ดี เวลาเกิดเหตุให้ตกใจก็มักอุทานว่า “คุณพระช่วย” แต่ถ้าเป็นในสมัยพุทธกาลเขาอุทานกันว่า “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต....” ตกใจแต่ละทีจะต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน นึกถึงพระรัตนตรัยก่อน แล้วเอาใจผูกไว้อย่างนั้น เพราะรู้ว่าผูกไว้กับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้วจะดีขึ้น ถ้าเราเองจับหลักนี้ได้เหมือนกับปู่ย่าตายยาย ชีวิตของเราก็จะดีตาม ผลดีจะเกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว






ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
บทความ : เพราะไม่รู้สินะ ตัวเราไม่ธรรมดา - สวดมนต์รักษาสุขภาพ โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
URL : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=8631
วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558






หนังสือเล่ม "เพราะไม่รู้สินะ" โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
"จะทนทุกข์ไปทำไม ในเมื่อคุณสามารถลิขิตชีวิตตนเองได้ เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ลองมองโลกในอีกมุมที่ต่างไป ลองเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต คุณอาจได้คำตอบว่า ความสุขนั้นหาได้ง่ายๆ ถ้าคุณคิดได้และคิดเป็น"

วางแผงจำหน่ายแล้วที่ :-
- ซีเอ็ดบุ๊ค
https://www.se-ed.com/product-search/เพราะไม่รู้สินะ.aspx?keyword=เพราะไม่รู้สินะ&search=name
- ร้านนายอินทร์
https://www.naiin.com/product/detail/141416/เพราะไม่รู้สินะ
- Book Smile
http://www.booksmile.co.th/ศาสนา-ปรัชญา/เพราะไม่รู้สินะ.html
27  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดอภัยทายาราม อนุสรณ์ 200 ปี สมานฉันท์ จักรี-ธนบุรี เมื่อ: เมษายน 22, 2024, 06:14:56 am
.

พระอุโบสถวัดอภัยทายาราม ที่บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่บนฐานเดิม เมื่อปี พ.ศ. 2489 ภาพนี้ถ่ายจากอาคารพัชรกิติยาภา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2549)


วัดอภัยทายาราม อนุสรณ์ 200 ปี สมานฉันท์ จักรี-ธนบุรี

“วัดอภัยทายาราม” หรือที่ชาวบ้านยังเรียกกันในปัจจุบันว่า “วัดมะกอก” ตั้งอยู่ติดกับเขตโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หันหน้าเข้าสู่คลองสามเสน ใน พ.ศ. 2549 เป็นวาระที่วัดอภัยทายารามมีอายุครบ 200 ปี ซึ่งวัดแห่งนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

สาเหตุอย่างหนึ่งอาจมาจากประวัติวัด “อย่างเป็นทางการ” ของกรมการศาสนาซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 ก็ใช้อ้างอิงไม่ได้ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างวัดแห่งนี้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่หลายข้อ รวมไปถึงการระบุเจ้านายผู้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นใหม่ผิดองค์

ประวัติการปฏิสังขรณ์วัด “ตัวจริง” ได้ถูกจารึกเป็นเพลงยาวไว้บนแผ่นไม้สักลงรัก เขียนทอง เก็บรักษาไว้ที่วัดมาตลอดโดยมิได้เคลื่อนย้ายไปไหน แต่ก็มิได้มีการอนุรักษ์ ซ่อมแซม จนปัจจุบันเพลงยาวที่จารึกไว้ได้ลบเลือนจนยากที่จะอ่านได้ความ

อย่างไรก็ดีคุณบุญเตือน ศรีวรพจน์ แห่งสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้พบเพลงยาวฉบับตัวเขียนในสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเนื้อหาตรงกันกับเพลงยาวที่จารึกไว้บนแผ่นไม้ของวัด และได้เขียนแนะนำไว้พอสังเขปแล้วในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2548 ทำให้เราได้ “ความสมบูรณ์” ในการปฏิสังขรณ์วัดอภัยทายารามเมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 1 นอกจากนี้ ทัศน์ ทองทราย ก็ได้บันทึกประวัติวัด “จากคำบอกเล่า” ของเจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน ไว้ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดียวกัน

แต่ในวาระที่วัดอภัยทายารามมีอายุครบ 200 ปี ในปี 2549 นอกจากประวัติการปฏิสังขรณ์วัดจากเพลงยาวและประวัติวัดจากคำบอกเล่าแล้ว ยังควรพิจารณาแง่มุมอื่นๆ ที่ยังไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน โดยเฉพาะในประเด็นของ “ชื่อวัด” และวัตถุประสงค์ในการปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้



แผ่นไม้สักขนาดใหญ่ลงรักเขียนทอง จารึกประวัติการสร้างและฉลองวัดอภัยทายาราม อายุกว่า 200 ปี https://www.nlt.go.th


ปฏิสังขรณ์วัดบ้านนอก เสมอด้วยวัดหลวง

วัดอภัยทายาราม เดิมเป็นวัดที่ทรุดโทรม ซึ่งน่าจะสร้างมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมา “เจ้าฟ้าเหม็น” พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และยังเป็นพระเจ้าหลานเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คงเสด็จมาพบเข้า เห็นวัดนั้นเสื่อมโทรมไม่สมกับเป็นที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ ดังที่เพลงยาวได้กล่าวไว้ดังนี้

ในอารามที่ปลายซองคลองสามเสน   เหนบริเวณเปนแขมคาป่ารองหนอง
ไม่รุ่งเรืองงามอรามด้วยแก้วทอง   ไร้วิหารท้องน้อยหนึ่งมุงคา
ไม่ควรสถิศพระพิชิตมาเรศ   น่าสังเวทเหมือนเสดจ์อยู่ป่าหญ่า
ทั้งฝืดเคืองเบื้องกิจสมณา   พระศรัดทาหวังประเทืองในเรืองธรรม

เมื่อเสด็จมาพบเข้าดังนี้ ก็มีพระประสงค์จะทำการกุศล จึงทรงสั่งการให้เกณฑ์ไพร่มาเตรียมการปฏิสังขรณ์ใหญ่ ณ วัดแห่งนี้ ตั้งแต่ปีจุลศักราช 1159 (พ.ศ. 2340)

ครั้นถึงปีจุลศักราช 1160 (พ.ศ. 2341) เจ้าฟ้าเหม็นจึงเสด็จถวายพระกฐินและวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เป็นการเริ่มต้นการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ คือ สร้างใหม่ทั้งวัด อย่างไรก็ดีวันเดือนปีที่ปรากฏในเพลงยาวนั้นยังคลาดเคลื่อนกับปฏิทินอยู่บ้างเล็กน้อย คือ กำหนดพระฤกษ์วันเสด็จในการถวายพระกฐินและวางศิลาฤกษ์เพลงยาวได้ระบุว่าเป็น “สุริยวารอาสุชมาล กาลปักทวาทัสมี ปีมเมียสำฤทศกปรมาร” ถอดคำแปลออกมาเป็น วันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 12 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1160 ซึ่งตามปฏิทินนั้นเดือนแรม ดังกล่าวจะตรงกับวันจันทร์ ไม่ใช่วันอาทิตย์

นอกจากนี้ในบทอื่นๆ ที่กล่าวถึงวันเดือนปีก็จะคลาดเคลื่อนทุกครั้ง จึงเป็นการยากที่จะถอดวันเดือนปีในเพลงยาว ให้เป็นวันเดือนปีในปฏิทินสุริยคติที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

วัดอภัยทายาราม เมื่อแรกปฏิสังขรณ์นั้นยิ่งใหญ่ และงดงามอย่างยิ่ง เสนาสนะทุกสิ่งอันล้วนวิจิตรบรรจงและอลังการ เทียบเคียงได้กับวัดสำคัญๆ ในสมัยนั้น และสิ่งที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าวัดนี้เป็น “วัดสำคัญ” นอกกำแพงพระนครคือ “พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์” เสด็จพระราชดำเนินมาในการพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และ “วังหน้า” กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความขัดแย้งและหวาดระแวง

ที่ตั้งของวัดจะอยู่ค่อนข้างไกลจากศูนย์กลางของเมืองในขณะนั้น สามารถจัดได้ว่าเป็น “วัดบ้านนอก” ดังนั้นการเสด็จทั้ง 2 พระองค์ในครั้งนี้ย่อมมีนัยยะอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งต้อง “สืบสวน” กันอย่างละเอียดเพื่อหาเหตุผลของการเสด็จพระราชดำเนินมายัง “วัดบ้านนอก” ในครั้งนั้น



ภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2489 ที่ลูกศรชี้คือพระอุโบสถวัดอภัยทายารามหลังเก่าที่ “เจ้าฟ้าเหม็น” ทรงสร้าง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2549)

ขณะที่ “พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์” เสด็จพระราชดำเนินนั้น วัดยังอยู่ระหว่างก่อสร้างคือเมื่อ เดือนยี่ ปีจุลศักราช 1163 (พ.ศ. 2344) จึงไม่ได้เสด็จมาเพื่อเฉลิมฉลองหากแต่มาทรงผูกพัทธสีมา “จผูกพัดเสมาประชุมสงฆ” แต่ถึงกระนั้นก็เสด็จมาทางชลมารคด้วยกระบวนเรือ “มหึมา”

สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสององค์   ผู้ทรงธรรม์อันสถิศมหาสถาร
ก็เสดจ์ด้วยราชบริพาน   กระบวนธารชลมาศมหึมา
ถึงประทับพลับพลาอาวาสวัด   ดำรัดการที่สืบพระสาสนา
สท้านเสียงดุริยสัทโกลา   หลดนตรีก้องประโคมประโคมไชย
เสจพระราชานุกิจพิทธีกุศล   เปนวันมนทณจันทรไม่แจ่มไส
ประทีปรัตนรายเรืองแสงโคมไฟ   เสดจ์คันไลเลิกกลับแสนยากร

การปฏิสังขรณ์ใหญ่วัดอภัยทายารามใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ปี จึงแล้วเสร็จในเดือน 3 ปีจุลศักราช 1168 (พ.ศ. 2349) ผ่านมาครบ 200 ปีในปีนี้พอดี เมื่อการปฏิสังขรณ์สำเร็จบริบูรณ์จึงมีการเฉลิมฉลองขึ้น เป็นงานใหญ่ 7 วัน 7 คืน มีมหรสพ ละคร การละเล่นอย่างยิ่งใหญ่ และเทียบเท่ากับงานเฉลิมฉลองระดับ “งานหลวง” ทั้งสิ้น องค์ประธานองค์ประธานผู้ทรงปฏิสังขรณ์ วัดเสด็จร่วมงานฉลองครบทุกวันจนจบพิธี แล้วขนานนามวัดว่า “อไภยทาราม”

ส้างวัดสิ้นเงินห้าสิบเก้าชั่ง   พระไทยหวังจไห้เป็นแก่นสานต์
ตั้งทำอยู่แปดปีจึ่งเสจการ   ขนานชื่อวัดอไภยทาราม

สิ่งที่น่าสนใจและเป็นปริศนาชวนให้ค้นหาคำตอบของ วัดอภัยทายาราม ทั้งที่ปรากฏอยู่ในเพลงยาว และอื่นๆ ไม่ใช่การปฏิสังขรณ์อย่างยิ่งใหญ่ ไม่ใช่การสร้างเสนาสนะอย่างวิจิตรบรรจง หรือแม้แต่งานฉลอง 7 วัน 7 คืน ด้วยการละเล่นดุจเดียวกับงานหลวง สิ่งเหล่านี้มีฐานะเป็นแต่เพียง “พยาน” สำคัญ ที่จะนำไปสู่การไขคำตอบสำคัญ ซึ่งก็คือเหตุอันเป็นที่มาของชื่อวัด “อไภยทาราม” นั่นเอง

@@@@@@@

วัดอไภยทาราม ไม่ได้ตั้งตามพระนามเจ้าฟ้าเหม็น

นามวัด “อภัยทายาราม” เป็นนามที่ตั้งขึ้นใหม่ในชั้นหลัง เดิมนามวัดตามที่ปรากฏในเพลงยาวขนานนามว่า “อไภยทาราม” ซึ่งก็น่าจะเป็นนามพระราชทาน ชื่อ “อไภยทาราม” นี้อาจจะดูเหมือนว่าเป็นการตั้งตามพระนามของเจ้าฟ้าเหม็น ผู้ทรงปฏิสังขรณ์วัด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แต่พระนาม “เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์” ของเจ้าฟ้าเหม็นนั้น มิได้ใช้โดยตลอด เนื่องด้วยมีพระราชดำริเห็นว่าเป็นนามอัปมงคล!

ที่มาที่ไปของพระนามอัปมงคล เริ่มต้นและเกี่ยวพันกับพระชาติกำเนิดของเจ้าฟ้าเหม็น ในฐานะผู้ที่ทรงอยู่กึ่งกลางระหว่างความขัดแย้งของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชบิดา และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คือพระอัยกา หรือ “คุณตา” ซึ่งได้สำเร็จโทษพระราชบิดาเจ้าฟ้าเหม็นเมื่อคราวเปลี่ยนแผ่นดิน

เจ้าฟ้าเหม็นเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ พระสนมเอก ท่านผู้นี้เป็นธิดาของเจ้าพระยาจักรี หรือต่อมาเสด็จขึ้นปกครองแผ่นดินเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 ในพระราชวงศ์จักรี

เจ้าฟ้าเหม็นประสูติในแผ่นดินกรุงธนบุรีในปีพุทธศักราช 2322 ต่อมาอีกเพียง 3 ปี “คุณตา” เจ้าพระยาจักรี ก็ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัว สถาปนาพระราชวงศ์ใหม่ โดยได้สำเร็จโทษ “เจ้าตาก” พระราชบิดาของเจ้าฟ้าเหม็น พร้อมกับพระญาติบางส่วนในเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือเป็นอันสิ้นแผ่นดินกรุงธนบุรี

หลังจากเหตุการณ์ล้างครัว “เจ้าตาก” จบลงยังเหลือพระราชวงศ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกบางส่วนที่ได้รับการยกเว้น รวมทั้งเจ้าฟ้าเหม็นด้วย เนื่องจาก “คุณตา” ทรงอาลัยหลานรักพระองค์นี้ยิ่งนัก ดังนั้นตลอดรัชกาลที่ 1 แม้เจ้าฟ้าเหม็นจะทรงถูก “ตัด” ออกจากราชการบ้านเมืองทั้งสิ้น แต่ก็ยังทรงเป็น “พระเจ้าหลานเธอ” พระองค์โปรดของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ตลอดรัชกาล

พระนามพระราชทานแรกของเจ้าฟ้าเหม็น ที่เป็นนาม “พ่อตั้ง” คือ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ พระนามนี้ใช้ในแผ่นดินกรุงธนบุรี ครั้นต่อมาเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็มีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนพระนามเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ในแผ่นดินก่อน ด้วยไม่สมควรที่จะใช้เรียกขานในแผ่นดินใหม่นี้

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่าเจ้าตากขนานพระนามพระราชนัดดาให้เรียก เจ้าฟ้าสุพันธวงษ์ ไว้แต่เดิมนั้น จะใช้คงอยู่ดูไม่สมควรแก่แผ่นดินประจุบันนี้ จึ่งพระราชทานพระนามใหม่ว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศ นเรศรสมมติวงษ พงษอิศวรราชกุมาร”

อย่างไรก็ดีพระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ที่คาดว่าเป็นพระนามที่นำไปขนานนาม “วัดอไภยทาราม” นั้น ตามความเป็นจริงพระนามนี้ใช้อยู่เพียงระยะสั้น ก็มีพระราชดำริให้เลิกเสียและเปลี่ยนพระนามใหม่อีกครั้ง

“ภายหลังข้าราชการกราบบังคมทูลหาสิ้นพระนามไม่ กราบทูลแต่ว่า เจ้าฟ้าอภัย จึ่งทรงเฉลียวพระไทย แล้วมีพระราชดำรัสว่า ชื่อนี้พ้องต้องนามกับเจ้าฟ้าอภัยทัต เจ้าฟ้าปรเมศ เจ้าฟ้าอภัย ครั้งแผ่นดินกรุงเก่า ไม่เพราะหูเลย จึ่งพระราชทานโปรดเปลี่ยนพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ์ร นเรศว์รสมมติวงษพงษอิศวรราชกุมารแต่นั้นมาฯ” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน), อมรินทร์, 2539, น. 43)

เหตุการณ์นี้บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ฉบับตัวเขียน) ในช่วงปีจุลศักราช 1145 (พ.ศ. 2326) เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลที่ 1 จึงเท่ากับว่าพระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ใช้อยู่ไม่เกิน 2 ปี จึงยกเลิกเสีย ด้วยว่าเป็นพระนามอัปมงคลแก่ผู้เป็นเจ้าของ กล่าวคือพระนาม “เจ้าฟ้าอภัย” ที่ใช้ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยานั้น เจ้าของพระนามล้วนแต่ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ทุกพระองค์

นอกจากนี้หลักฐานการเปลี่ยนพระนามยังสอดคล้องกับการอ้างถึงพระนามที่เปลี่ยนใหม่ เมื่อทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกให้ “ทรงกรม” ในปีพุทธศักราช 2350 หลังจากที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทาราม 1 ปี ขณะนั้นทรงใช้พระนามเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์อยู่แล้ว

“โปรดตั้งพระราชนัดดา เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต 1 สมเด็จพระเจ้าหลานพระองค์นี้ ครั้งกรุงธนบุรีมีพระนามว่า เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระราชทานพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ข้าราชการขานพระนามโดยย่อว่า เจ้าฟ้าอภัย ได้ทรงสดับรับสั่งว่า พ้องกับพระนามเจ้าฟ้าอภัยทัต ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และเจ้าฟ้าอภัย ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มีพระนามนั้น จึงโปรดให้เปลี่ยนพระนามใหม่ว่า เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรมศิลปากร, 2531, น. 102)

ดังนั้นหากกำหนดระยะเวลาโดยสังเขปเกี่ยวกับ พระนามเจ้าฟ้าเหม็น ควรจะได้ดังนี้ เจ้าฟ้าเหม็น เป็นพระนามลำลอง คงใช้ตลอดพระชนมายุ เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ใช้แต่แรกเกิดในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2322-5) เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ใช้เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2325-6) เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ใช้เรื่อยมาจนกระทั่งทรงกรม (พ.ศ. 2326-50) และกรมขุนกษัตรานุชิต ใช้เป็นพระนามสุดท้าย (พ.ศ. 2350-2)

ระยะเวลาของการใช้พระนามแต่ละพระนามนั้นชี้ให้เห็นว่า พระนามเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์นั้นถูกยกเลิกโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2326 หรือเป็นปีที่ 2 ในรัชกาลที่ 1 ก่อนที่จะทรงปฏิสังขรณ์วัดอไภยทารามในปีพุทธศักราช 2349 เป็นเวลานานถึง 23 ปี นอกจากนี้พระนามอภัยธิเบศร์ ยังได้รับพระราชวิจารณ์ว่า “ไม่เป็นสวัสดิมงคลแก่ผู้มีพระนามนั้น” จึงไม่มีเหตุผลสมควรที่จะนำพระนามที่เลิกใช้ไปนานแล้วและเป็นอัปมงคลกลับมาใช้ใหม่ โดยนำไปตั้งเป็นชื่อวัด อันควรแก่นามสิริมงคลเท่านั้น

ดังนั้นหากชื่อวัดอไภยทารามไม่ได้ตั้งตามพระนามเจ้าฟ้าเหม็นแล้ว ชื่อวัดแห่งนี้ย่อมจะมีนัยยะอย่างใดอย่างหนึ่งแอบแฝงไว้หรือไม่?

@@@@@@@

แผนการ “ตา” ปกป้องหลาน

เมื่อเริ่มมีการลงมือปฏิสังขรณ์วัดนั้นตกอยู่ในปีพุทธศักราช 2341 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระชนมพรรษามากแล้วถึง 62 พรรษา แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ชรามากนัก แต่ก็ไม่สามารถประมาทได้ ด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่าง “วังหน้า” และ “วังหลวง” ยังคงมีแฝงอยู่ตลอดรัชกาล

ซึ่งต่อมาอีกเพียง 10 ปีหลังจากการปฏิสังขรณ์วัด ก็สิ้นรัชกาลที่ 1 ด้วยพระชนมพรรษา 72 พรรษา จึงเป็นไปได้ว่าการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงเห็นชอบให้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้อย่างยิ่งใหญ่ เพราะมีพระราชประสงค์มากไปกว่าการสร้างวัดเพื่อการกุศลเท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อปีมะโรง พุทธศักราช 2334 เกิดเหตุใหญ่ขึ้นที่เรียกว่า “วิกฤตวังหน้า” ถึงขั้นที่กรมพระราชวังบวรฯ ไม่เสด็จลงเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 เหมือนอย่างเคย เหตุจากความหวาดระแวงที่สะสมกันเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อมีพิธีตรุษ วังหลวงได้ลากปืนใหญ่ขึ้นป้อมเล็งตรงมายังวังหน้า กรมพระราชวังบวรฯ เห็นว่าวังหลวงอาจจะมีประสงค์ร้าย ก็มีรับสั่งให้คนไปสืบความ ครั้นได้ความว่า ปืนนั้นเพื่อการพิธีตรุษ ก็ทรงคลายพระพิโรธลง เหตุการณ์ครั้งนี้หมิ่นเหม่ถึงขั้นที่จะเกิดศึกกลางเมือง ตามที่ปรากฏอยู่ในนิพานวังน่า ดังนี้

เพราะพระปิ่นดำรงบวรสถาน   กระหึ่มหาญทุนเหี้ยมกระหยับย่ำ
เหมือนจะวางกลางเมืองเมื่อเคืองคำ   พิโรธร่ำดั่งจะรุดเข้าโรมรัน
ครั้นทรงทราบว่าพระจอมบิตุลา   ให้พลกัมพูชาลากปืนขัน
ประจุป้อมล้อมราชวังจันทร์   จึงมีบันฑูรสั่งให้สืบความ

ตรัสให้มาตุรงค์ตรงรับสั่ง   มิไปฟังราชกิจก็คิดขาม
มาสืบเรื่องพระไม่ปลงจะสงคราม   ก็ประณามทูลบาทไม่พาดพิง
ว่าคำขอมน้อมพจมานสาร   ไม่หาญเสน่หาพระนุชยิ่ง
แต่พิธีตรุศยืนลากปืนจริง   ยังนึกกิ่งกริ้วนั้นพอบันเทา

ยังมีเหตุการณ์ใหญ่อีกครั้งหนึ่งอันเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพี่น้องสองวัง คือในปีพุทธศักราช 2338 หลังการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิ สมเด็จพระชนกนาถ เมื่อวังหน้า “ลักไก่” ซ่อนฝีพายฝีมือจัดไว้ในงานแข่งขันเรือพาย ฝ่ายข้าราชการวังหลวงทราบเข้าก็ถวายรายงานให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงมีพระราชดำรัสว่า เล่นดังนี้จะเล่นด้วยที่ไหนได้ และทรงให้เลิกการแข่งเรือระหว่างสองวังตั้งแต่นั้นมา เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้กรมพระราชวังบวรฯ ไม่เสด็จลงเฝ้าอีกเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ข้อบาดหมางหวาดระแวงยังเกิดขึ้นอีกหลายเรื่อง รวมไปถึงการที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงกราบทูลขอพระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่ม สำหรับแจกจ่ายข้าราชการ แต่ก็ทรงถูกปฏิเสธ

แม้ว่าการกระทบกระทั่งกันอยู่เนืองๆ เช่นนี้ ที่ไม่ถึงขั้นตัดรอนขาดจากกัน ก็เพราะมีสมเด็จพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์ทรงเป็น “กาวใจ” ประสานความแตกร้าวนี้อยู่เสมอ

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์สุดท้ายที่เป็นหลักฐานว่า พี่น้องสองวังนี้ยังคง “คาใจ” กันอยู่จนวาระสุดท้าย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จมาทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของกรมพระราชวังบวรฯ ก็ยังมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งของทหารรักษาพระองค์ทั้ง 2 วัง จนกระทั่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อมีพระราชปรารภในช่วงปลายพระชนมายุ ที่ทรงห่วงวังหน้าและลูกหลานวังหน้า เกรงว่าจะถูกเบียดเบียนจากวังหลวง

“ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุนให้แรง กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข” (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 13, คุรุสภา, 2507, น. 47)

แน่นอนว่าไม่ใช่แต่เพียงวังหน้าเคืองวังหลวงเท่านั้น เหตุการณ์ “กบฏวังหน้า” ก็ทำให้วังหลวงเคืองวังหน้าด้วยเช่นกัน ถึงขั้นตัดรอนไม่เผาผีกัน

“รักลูกยิ่งกว่าแผ่นดิน ให้สติปัญญาให้ลูกกำเริบจนคิดประทุษร้ายต่อแผ่นดิน เพราะผู้ใหญ่ไม่ดีจะไม่เผาผีแล้ว” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, กรมศิลปากร, 2531, น. 95)

เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้านี้ ย่อมส่งผลทางตรงต่อสวัสดิภาพของเจ้าฟ้าเหม็นโดยตรง หากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จสวรรคตเสียก่อนกรมพระราชวังบวรฯ เนื่องจากกรมพระราชวังบวรฯ ทรงเป็นผู้ถวายคำแนะนำให้ “กำจัด” เจ้าฟ้าเหม็นเมื่อคราวปราบดาภิเษก ทรงเป็นเจ้าของวรรคทองที่ว่า “ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก” นั่นเอง

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังฯ เสด็จลงมาเฝ้า กราบทูลว่าบรรดาบุตรชายน้อยๆ ของเจ้าตากสินจะรับพระราชทานเอาไปใส่เรือล่มน้ำเสียให้สิ้น คำบุราณกล่าวไว้ ตัดหวายอย่าไว้หนามหน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก ซึ่งจะเลี้ยงไว้นั้นหาประโยชน์ไม่ จะเป็นเสี้ยนหนามไปภายหน้า” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, คลังวิทยา, 2516, น. 460)

แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วถึง 19 ปี แต่ต้องยอมรับว่าไม่มีใครลืมความเป็น “ลูกเจ้าตาก” ของเจ้าฟ้าเหม็นได้ ซึ่งต้องทรงแบก “แอก” นี้ ไว้จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

ย้อนหลังไป 2 ปี ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงผูกพัทธสีมาที่วัดอไภยทาราม สมเด็จพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ลงในปีเดียวกัน โดยเฉพาะกรมสมเด็จ พระเทพสุดาวดี พระพี่นางพระองค์ใหญ่ ที่ทรงชุบเลี้ยงเจ้าฟ้าเหม็นแทนพระมารดามาแต่ประสูติ เท่ากับร่มโพธิ์ร่มไทรหรือเกราะป้องกันภัยของเจ้าฟ้าเหม็นได้สิ้นลงไปด้วย เหลือแต่เพียง “คุณตา” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ อีกเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

การที่ “พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์” จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมกันได้นั้น ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารมักจะเป็น “งานยักษ์” เช่น ในงานพระศพสมเด็จพระพี่นาง (พ.ศ. 2342) หรือในงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ ปีเดียวกับที่เสด็จวัดอไภยทาราม ดังนั้นการที่พระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาบำเพ็ญพระกุศลพร้อมกันที่ “วัดบ้านนอก” ของ “ลูกเจ้าตาก” จึงไม่ใช่เรื่องปรกติในเวลานั้น

@@@@@@@

วัดอไภย คือวัดไม่มีภัย

คำว่า อไภย พจนานุกรมฉบับหมอบรัดเลย์เริ่มทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แปลไว้ว่า ไม่มีไภย, เช่นคนอยู่ปราศจากไภย มีราชไภย เปนต้นนั้น. พจนานุกรมฉบับหมอคาสเวลในสมัยรัชกาลที่ 3 แปลว่า อะไภย นั้นคือขอโทษ เหมือนคำพูดว่าข้าขออไภยโทษเถิด ส่วนพจนานุกรมสมัยใหม่ฉบับมติชนแปลว่า ยกโทษให้ไม่เอาผิด และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า ยกโทษให้, ความไม่มีภัย

จากความหมายของชื่อวัดดังกล่าวนี้ กับการที่กรมพระราชวังบวรฯ ผู้ที่ทรงเคยสังฆ่าเจ้าฟ้าเหม็น โดยเสด็จฯ มายังวัดแห่งนี้พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มายัง “วัดอไภย” ซึ่งไม่ใช่ตั้งตามพระนามของเจ้าฟ้าเหม็นนี้ ย่อมมีนัยยะแห่งการ “สมานฉันท์” ระหว่างกรมพระราชวังบวรฯ กับเจ้าฟ้าเหม็น ประการหนึ่ง และอาจหมายรวมถึงการ “ยกโทษ” หรือ “ขอโทษ” แก่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปด้วยในเวลาเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าวัดอไภยทาราม เมื่อแรกปฏิสังขรณ์ นั้นไม่ใช่แค่การ “สร้างวัดให้หลานเล่น” แน่ แต่เป็นการสร้างขึ้นอย่างจริงจัง มีเสนาสนะครบบริบูรณ์อย่างวัดหลวง มีพระอุโบสถ เจดีย์ใหญ่ ลวดลายจิตรกรรมวิจิตรบรรเจิด มีการเกณฑ์ไพร่มาทำงานนับพันคน นิมนต์พระสงฆ์เกือบ 2,000 รูป มีงานฉลอง การละเล่น ละคร ของหลวง 7 วัน 7 คืน สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้สะท้อนเพียงเพราะองค์ผู้ปฏิสังขรณ์เป็น “เจ้าฟ้า” หรือ “หลานรัก” เท่านั้น แต่สิ่งอันยิ่งใหญ่เหล่านี้ล้วนแต่เหมาะสม กับการยกโทษหรือขอโทษ สำหรับราชภัยในอดีต

อย่างไรก็ดีเมื่อวัดนี้สร้างเสร็จจนมีงานฉลองในปีพุทธศักราช 2349 นั้น กรมพระราชวังบวรฯ ก็ทิวงคตไปก่อนหน้าแล้วในปีพุทธศักราช 2346 แผนการสมานฉันท์จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป และวัดอไภยทารามก็ไม่สามารถคุ้มครองเจ้าฟ้าเหม็นได้ตามพระราชประสงค์ความพยายามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในการปกป้องหลานรักจบลงเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต

เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน เจ้าฟ้าเหม็นก็ถูกสำเร็จโทษสิ้นพระชนม์ในต้นรัชกาลที่ 2 แห่งพระราชวงศ์จักรี

อ่านเพิ่มเติม :-

    • 13 กันยายน 2352 วันสิ้นพระชนม์ “เจ้าฟ้าเหม็น” โอรสพระเจ้าตาก
    • เจ้านายผู้เป็น “ลูกกษัตริย์-หลานกษัตริย์” กลับมีพระนามอัปมงคล





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2549
ผู้เขียน : ปรามินทร์ เครือทอง
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 16 กันยายน 2565
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_93185
28  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เศรษฐกิจสายมู ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ส่งออก ‘พระเครื่อง’ ไกลถึง ‘จีน’ เมื่อ: เมษายน 22, 2024, 05:42:51 am
.



เศรษฐกิจสายมู ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ส่งออก ‘พระเครื่อง’ ไกลถึง ‘จีน’

“พระเครื่อง” และจักรวาลแห่งความเชื่อในวงการพุธศาสนาไทยกำลังแสดงมนต์ขลังด้วยการเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” เพราะดารานักแสดงทั่วโลกให้ความสนใจ แบบที่ไม่ต้องโปรโมท และกำลังกลายเป็นเศรษฐกิจสายมูที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

หรือ "ซอฟต์พาวเวอร์ไทย" จะมาในรูปแบบ "พระเครื่อง" เพราะกำลังดังไกลถึงจีน ถึงขั้นที่ดารานักแสดงชื่อดังในจีนให้ความสนใจแบบไม่ต้องโปรโมท จนพลังศรัทธาใน “พุทธคุณ” และ "ความเชื่อเรื่องมูเตลู" ทำให้เกิดการเช่าบูชาพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง จนกลายเป็น "เศรษฐกิจสายมู" ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในแง่มุมของการท่องเที่ยวและพุธพาณิชย์ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท


@@@@@@@

• “พระเครื่อง” สินค้าส่งออกที่ไม่ธรรมดา

“พระเครื่อง” ไม่ได้เป็นเพียงวัตถุมงคลที่ผู้คนเคารพสักการะ แต่ในปัจจุบันนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่ากลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ตลาดพระเครื่องในประเทศไทยมีมูลค่าการเช่าพระ (ซื้อขาย) หมุนเวียนปีละหลายหมื่นล้านบาท และกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยว “ชาวจีน” ที่มีที่มีความเลื่อมใสในพุทธคุณและนิยมสะสมพระเครื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ในปี 2562 คาดว่าตลาดพระเครื่องในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1.7-2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดจากการจำหน่ายให้กับเฉพาะคนไทยที่ยังไม่นับรวมที่จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือการส่งออกไปต่างประเทศ

@@@@@@@

• จากความเชื่อและศรัทธา ต่อมากลายเป็นธุรกิจ

โทมัส แพตตัน นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยซิตี้ เผยว่าเริ่มเห็นร้านค้าเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังในฮ่องกงครั้งแรกในปี 2551 และ 2552 ซึ่งชาวฮ่องกงที่หลงใหลในโลกแห่งเครื่องรางมากที่สุด และเวทมนตร์ของไทยเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ คือชนชั้นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

ขณะเดียวกัน “เปรมวดี อมราภรณ์พิสุทธิ์” หรือ “บีบี” แม่ค้าคนไทยไลฟ์สดขายสินค้าไทยไปประเทศจีนใน ผ่าน Tiktok จีน หรือ โต่วอิน เผยว่าแต่เดิมทีชาวจีน ไม่ว่าจีนแผ่นดินใหญ่หรือจีนไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า รวมทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ล้วนมีความเชื่อและความศรัทธา ที่ต้องการบูชาพระพุทธคุณในเรื่องโชคลาภเป็นทุนเดิม แต่พระเครื่องกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อดาราจีนและฮ่องกงออกงานพร้อมกับสวมใส่ “พระเครื่อง” แทนเครื่องประดับ

เริ่มต้นจากดาราฮ่องกงอย่าง “เฉิน หลง” ใส่พระเครื่องในการแสดงหนัง รวมทั้งฉากบู้อยู่หลายครั้ง จนเกิดอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำแต่ไม่มีการบาดเจ็บทำให้คนทั้งกองถ่ายแปลกใจจนให้ความสนใจกับพระเครื่องที่อยู่บนคอของเฉิน หลง คือ หลวงพ่อแพร วัดพิกุลทอง “ หรือ"จาง ป๋อ จือ" นักแสดงหญิงชาวจีน เดินทางมาเมืองไทยและตัดสินใจเช่าพระเครื่ององค์หนึ่งด้วยเงิน 150,000 ดอลลาร์ฮ่องกงฯ รวมทั้งเลี้ยง “กุมารทอง”เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ฉินเฟิน” ไอดอลหนุ่มชาวจีน ร่วมเดินพรมแดงในเทศกาลหนังเมืองคานส์ใส่เลสหลวงพ่อรวยกับสูทสีดำ

โดย“หลวงพ่อรวย” เป็นพระเครื่องได้รับความนิยมจากชาวจีนมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งมีพุทธคุณช่วยเสริมความมั่งคั่ง ร่ำรวย เห็นผลกลับมามีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้ง ทำให้ชาวจีนหลั่งไหลกันมาที่วัดตะโก วัดชื่อดังแห่งอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อกราบไหว้ หลวงพ่อรวยพระเกจิอาจารย์แห่งกรุงเก่าที่เด่นดังด้านมหาลาภ เมตตามหานิยม และแคล้วคลาดปลอดภัย

    “คนจีน” มีความสนใจพระเครื่องที่มีพุธทคุณ “เรียกทรัพย์ ร่ำรวย ค้าขาย การพนัน” นิยมเล่น พระปิดตาเงินล้าน หลวงปู่โต๊ะ เซียนแปะ พระกริ่ง หลวงพ่อรวย วานรสี่หูห้าตา ยี่กอฮง และหลวงปู่ทิม

“ยีนส์ เมืองนนท์” เซียนพระในห้างสรรพสินค้าในนนทบุรี เปิดเผยกับทางกรุงเทพธุรกิจว่า ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาสอบถามพระเครื่องรวมทั้งเครื่องรางของขลังของคนไทยเป็นจำนวนมากทั้งหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีสัดส่วนเทียบเท่ากับลูกค้าชาวไทย แม้ว่าจะไม่มีความชำนาญด้านการส่องพระแท้ หรือปลอม แต่มีความเชื่อใจผู้ประกอบการชาวไทยเพราะการมีใบรับรองพระแท้

หลายครั้งลูกค้าชาวจีนเปิดเผยโดยตรงว่าเป็นการนำพระเครื่องจากประเทศไทยไปปล่อยเช่าต่อในประเทศจีน พร้อมทั้งเผยว่าชาวจีนมีความนิยมและมีความต้องการพระเครื่องไทยอย่างมาก แต่ถือว่ายังน้อยหากเทียบกับสัดส่วนประชากรในประเทศที่มีมากถึงพันกว่าล้านคน

@@@@@@@

• จักรวาลความเชื่อ=ซอฟต์พาวเวอร์ไทย

สิ่งทีี่น่าสนใจ ถ้าหากชาวจีนกำลังจะกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของตลาดพระเครื่องไทย 3 สิ่งสำคัญที่สะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจน คือ

1. การขยายตลาดพระเครื่องไทยให้ใหญ่ขึ้น เพราะในปัจจุบันตลาดพระเครื่องไทยใหญ่ที่สุดในเอเชีย

2. จีนมีกำลังซื้อ สู้ราคาและต้องการจำนวน ทำให้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพียงแค่พระเก่าแก่อายุหลายร้อยปีเท่านั้น

3. พระไทย ต้องมาซื้อที่ไทยซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการท่องเที่ยวและเม็ดเงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจมูเตลู

ไม่เพียงพระเครื่องเท่านั้นที่กำลังกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย แต่จักรวาลความเชื่อที่เกิดขึ้นในวงการพุทธศาสนากำลังแสดงมนต์ขลังแบบที่ไม่ต้องโปรโมท เช่น ดารานักแสดงระดับโลกอย่าง "แองเจลินา โจลี" และ "แบรด พิตต์" รวมถึง “ฟาบิโอ คันนาวาโร” อดีตกองหลังทีมชาติอิตาลี ต่างหลงใหลการ“สักยันต์”ของอาจารย์หนู กันภัย หรือ “เอ็ด ชีแรน” นักร้องดังชาวอังกฤษ ได้สักยันต์กับอาจารย์เหน่งระหว่างมาทัวร์คอนเสิร์ตที่ไทย





ขอขอบคุณ :-
อ้างอิง : scmp อายุน้อยร้อยล้าน
URL : https://www.bangkokbiznews.com/world/1123076
21 เม.ย. 2024 ,เวลา 11:37 น.
29  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: สาธยายธรรม กับ สวดมนต์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร.? เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 07:24:21 am
.


คำนมัสการคุณานุคุณ

คำนมัสการคุณานุคุณ เป็นผลงานการประพันธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อยอาจารยางกูร) มีเนื้อหาว่าด้วยการน้อมรำลึกและสำนึกในคุณงามความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูอาจารย์ โดยมีความมุ่งหมายให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทย ยึดมั่นในความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและนำแบบอย่างอันดีงามไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

@@@@@@@

๑. ความเป็นมา

คำนมัสการคุณานุคุณที่คัดมาให้ศึกษามีเนื้อหาแบ่งออกเป็น ๕ ตอน แต่ละตอนมีที่มาจากคาถาภาษาบาลี ดังนี้

คำนมัสการพระพุทธคุณ : อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

คำนมัสการพระธรรมคุณ : สวาก ขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมังนะมัสสามิ

คำนมัสการพระสังฆคุณ : สุปะฏิปปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ

คำนมัสการมาตาปิตุคุณ : มารดาทั้งสองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณอันหาที่สุดมิได้ ข้าพเจ้าขอไหว่เท้าทั้งสองของมารดาบิดาของข้าพเจ้าด้วยความเคารพอย่างสูง

คำนมัสการพระอาจริยคุณ : ครูอาจารย์ผู้ใหญ่และผู้น้อยทั้งหลายล้วนเป็นผู้มีพระคุณอันประเสริฐยิ่ง ได้อบรมสั่งสอนให้ศิษย์มีวิชาความรู้ ได้ให้โอวาทตักเตือนด้วยเมตตาธรรม ข้าพเจ้าขอกราบไว้คุณครูอาจารย์เหล่านั้นด้วยความเคารพ



๒. ประวัติผู้แต่ง

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารกูร) เป็นนักปราชญ์คนสำคัญของไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รอบรู้ในวิชาภาษาไทย และได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเป็นครูที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม อุทิศชีวิตเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติอีกด้วย

๓. ลักษณะคำประพันธ์

คำนมัสการคุณานุคุณแต่ละตอนแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทต่างๆดังนี้

    ๓.๑ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
    อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ เป็นฉันท์ที่นำมาแต่งคำนมัสการคุณานุคุณ มาตาปิตุคุณ และอาจริยคุณ มีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้



    ๓.๒ กาพย์ฉบัง ๑๖
    กาพย์ฉบัง ๑๖ เป็นกาพย์ที่นำมาแต่งคำนมัสการพระธรรมคุณและพระสังฆคุณมีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้



๔. เนื้อเรื่อง
         
     คำนมัสการพระพุทธคุณ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

    ๏ องค์ใดพระสัมพุทธ์    สุวิสุทธสันดาน
       ตัดมลเกลศมาร    บมิหม่นมิหมองมัว
    ๏ หนึ่งในพระทัยท่าน    ก็เบิกบานคือดอกบัว
       ราคีบพันพัว       สุวคนธกำจร
    ๏ องค์ใดประกอบด้วย    พระกรุณาดังสาคร
       โปรดหมู่ประชากร    มละโอฆกันดาร
    ๏ ชี้ทางบันเทาทุกข์    และชี้สุขเกษมสานต์
       ชี้ทางพระนฤพาน    อันพ้นโศกวิโยคภัย
    ๏ พร้อมเบญจพิธจัก    ษุจรัสวิมลใส
       เห็นเหตุที่ใกล้ไกล    ก็เจนจบประจักษ์จริง
    ๏ กำจัดน้ำใจหยาบ    สันดานบาปแห่งชายหญิง
       สัตวโลกได้พึ่งพิง    มละบาปบำเพ็ญบุญ
    ๏ ข้าขอประณตน้อม    ศิรเกล้าบังคมคุณ
       สัมพุทธการุณ       ญภาพนั้นนิรันดร ฯ
                                               
     คำนมัสการพระธรรมคุณ (กาพย์ฉบัง ๑๖)

     ๏ ธรรมะคือคุณากร          ส่วนชอบสาธร
        ดุจดวงประทีปชัชวาล
     ๏ แห่งองค์พระศาสดาจารย์     ส่องสัตว์สันดาน
        สว่างกระจ่างใจมนท์
     ๏ ธรรมใดนับโดยมรรคผล      เปนแปดพึงยล
        และเก้ากับทั้งนฤพาน
     ๏ สมญาโลกอุดรพิสดาร        อันลึกโอฬาร
        พิสุทธิ์พิเศษสุกใส
     ๏ อีกธรรมต้นทางคระไล        นามขนานขานไข
       ปฏิบัติปริยัติเปนสอง
     ๏ คือทางดำเนินดุจคลอง        ให้ล่วงลุปอง
       ยังโลกอุดรโดยตรง
     ๏ ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์         นบธรรมจำนง
        ด้วยจิตต์และกายวาจา ฯ

     คำนมัสการพระสังฆคุณ (กาพย์ฉบัง ๑๖)

     ๏ สงฆ์ใดสาวกศาสดา       รับปฏิบัติมา
        แต่องค์สมเด็จภควันต์
     ๏ เห็นแจ้งจัตุสัจเสร็จบรร    ลุทางที่อัน
        ระงับและดับทุกข์ภัย
     ๏ โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร    ปัญญาผ่องใส
        สอาดและปราศมัวหมอง
     ๏ เหินห่างทางข้าศึกปอง       บมิลำพอง
        ด้วยกายและวาจาใจ
     ๏ เปนเนื้อนาบุญอันไพ       ศาลแด่โลกัย
        และเกิดพิบูลย์ภูลผล
     ๏ สมญาเอารสทศพล       มีคุณอนนต์
        อเนกจะนับเหลือตรา
     ๏ ข้าขอนบหมู่พระศรา       พกทรงคุณา
        นุคุณประดุจรำพัน
     ๏ ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์    พระไตรรัตน์อัน
        อุดมดิเรกนิรัติสัย
     ๏ จงช่วยขจัดโพยภัย       อันตรายใดใด
        จงดับและกลับเสื่อมสูญ ฯ

    คำนมัสการมาตาปิตุคุณ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

     ๏ ข้าขอนบชนกคุณ       ชนนีเป็นเค้ามูล
        ผู้กอบนุกูลพูน          ผดุงจวบเจริญวัย
    ๏ ฟูมฟักทะนุถนอม        บ บำราศนิราไกล
       แสนยากเท่าไรไร       บ คิดยากลำบากกาย
    ๏ ตรากทนระคนทุกข์      ถนอมเลี้ยง ฤ รู้วาย
       ปกป้องซึ่งอันตราย      จนได้รอดเป็นกายา
    ๏ เปรียบหนักชนกคุณ      ชนนีคือภูผา
       ใหญ่พื้นพสุนธรา         ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน
    ๏ เหลือที่จะแทนทด        จะสนองคุณานันต์
       แท้บูชไนยอัน            อุดมเลิศประเสริฐคุณ

     คำนมัสการอาจริยคุณ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

     ๏ อนึ่งข้าคำนับน้อม   ต่อพระครูผู้การุณย์
        โอบเอื้อและเจือจุน   อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
     ๏ ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ   ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
       ชี้แจงและแบ่งปัน   ขยายอรรถให้ชัดเจน
     ๏ จิตมากด้วยเมตตา   และกรุณา บ เอียงเอน
        เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์   ให้ฉลาดและแหลมคม
     ๏ ขจัดเขลาบรรเทาโม   หะจิตมืดที่งุนงม
        กังขา ณ อารมณ์   ก็สว่างกระจ่างใจ
     ๏ คุณส่วนนี้ควรนับ   ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
        ควรนึกและตรึกใน   จิตน้อมนิยมชม

@@@@@@@

บทวิเคราะห์ คุณค่าด้านเนื้อหา
   
    ๑. คำนมัสการพระคุณ มีเนื้อหาสำคัญคือ การสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า
    ๒. คำนมัสการพระธรรมคุณ พระธรรมคือ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
    ๓. คำนมัสการพระสังฆคุณ ถ้าพรพุทธองค์ไม่ได้ทรงสถาปนาคณะสงฆ์ขึ้นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบย่อมสูญสิ้นไปพร้อมกับเสด็จดับขันธ์ปรินิพาน
    ๔. คำนมัสการมาตาปิตุคุณ มารดาบิดาเป็นผู้มีพระคุณก่เราเพราเป็ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเราโดยไม่หวังผลตอบแทน
    ๕. คำนมัสการอาจริยคุณ เนื่องด้วยครูอาจารย์เป็นผู้มีพระคุณแก่เราเพราะเป็นผู้อบรมสั่งสอนและถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เรา


คุณค่าด้านกลวิธีการแต่ง

     ๑. การเลือกสรรคำเหมาะกับเนื้อเรื่อง กวีเลือกสรรถ้อยคำนำมาใช้ได้อย่างไพเราะเหมาะสม
     ๒. การเลือกสรรคำที่มีเสียงเสนาะ กวีใช้ความงามและเสียงเสนาะในการอ่าน นอกเสียงโดยการใช้สัมผัสอักษรละสัมผัสสระ ได้แก่ สัมผัส การเล่นคำ
     ๓. ภาพพจน์ กวีใช้การเปรียบเทียบแบบอุปมาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น

เมื่อประมวลความดีเด่นด้านเนื้อหาและวรรณศิลป์แล้ว
 
คำนมัสการคุณานุคุณจึงถือว่ามีความครบเครื่องในเรื่องคุณค่าทางวรรณกรรม ควรแก่การท่องจำ เพื่อเป็นเครื่องช่วยกำกับกาย วาจา ใจ และเตือนสติให้ทุกคนโดยเฉพาะเยาวชนไทยได้สำนึกและน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูอาจารย์ สมดังเจตนารมณ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ผู้ประพันคำนมัสการคุณานุคุณ




ขอบคุณที่มา : https://docs.google.com/document/d/1uBIBxDo06VlqeS2Kf2AHs0ycpchuCrB-xOfAM0YTFiQ/edit?pli=1
30  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / วัดดังสมุทรสงครามไอเดียเก๋ให้ชาวบ้านนำขยะมาแลกไข่ไก่-ผักสด อย่างคึกคัก เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 06:10:17 am
.



วัดดังสมุทรสงครามไอเดียเก๋ให้ชาวบ้านนำขยะมาแลกไข่ไก่-ผักสด อย่างคึกคัก

คณะสงฆ์วัดอินทาราม แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ร่วมกับผู้นำท้องที่ท้องถิ่น จัดโครงการพลังบวรเปลี่ยนขยะแลกผักปันสุขพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยพระเมธีวัชรประชาทร ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดอินทาราม เป็นประธานบรรยายธรรมถึงอานิสงค์ของการให้

จากนั้นชาวบ้านที่มารับมอบได้ตั้งเป็น 2 แถว เดินเข้ารับผักปันสุขที่วัดอินทารามแจกทุกวันเสาร์ มาเป็นปีที่ 4 กันเป็นระเบียบเรียบร้อย

หลังจากชาวบ้านรับผักเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ที่นำขวดน้ำ จะนำมาแลกไข่ในอัตราขวดใหญ่ 10 ใบแลกได้ไข่ 2 ฟอง ขวดธรรมดา 15 ใบ แลกไข่ได้ 2 ฟอง กระป๋องอลูมิเนียม 5 ใบแลกไข่ได้ 2 ฟอง โดยขวดที่ได้จะนำไปขาย เพื่อนำเงินมาซื้ออาหาร เลี้ยงไก่ในสวนพุทธเกษตร โคกหนองนาวัดอินทารามต่อไป โดยมีชาวบ้านนำขวดน้ำมาแลกไข่กันอย่างคึกคัก ในจำนวนนี้มีคุณยายปทุม มิร่อน อายุ 78 ปี ที่ขับรถจักรยานไฟฟ้าลากรถซาเล้งบรรทุกขวดน้ำจำนวน 405:ใบ ได้ไข่ไก่ได้ 27 ฟอง








คุณยายปทุม บอกว่า พอทราบว่าขวดน้ำแลกไข่ได้ก็ไปเก็บขวดน้ำตามสถานที่ต่างๆมาแลกไข่ซึ่งตนชอบมาก ดีกว่าเอาขวดน้ำไปขาย แต่นำมาแลกไข่ไก่ได้เยอะกว่า จึงไปเก็บชวดมาแลกไข่เป็นประจำ

พระเมธีวัชรประชาทร กล่าวว่า โครงการพลังบวรเปลี่ยนขยะแลกผักปันสุขพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นการต่อยอดโครงการแจกผักที่วัดอินทารามดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2563 เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 มาถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว โดยวัดอินทารามได้เลี้ยงไก่ ในสวนพุทธเกษตร โคกหนองนาวัดอินทาราม มีไข่ไก่จำนวนมาก จึงนำมาเป็นวัตถุดิบในการสนับสนุนโครงการ

ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลายประการ คือ อิ่มบุญที่ได้ฟังธรรมจากพระสงฆ์ อิ่มท้องคือได้รับผักหลากหลายชนิด และไข่ไก่ไปทำอาหาร รวมทั้งยังได้ช่วยกัน ลดปัญหาขยะล้นเมือง ส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะ รักษาสิ่งแวดล้อม ในระยะแรกเริ่มจากการรับขวดน้ำ ขวดอลูมิเนียม ก่อน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้การคัดแยกขยะ จากนั้นจะเริ่มขยายเป็นลังกระดาษ และขยะรีไซเคิลอื่นๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตามในอนาคต จะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักกินเองในครัวเรือน โดยวัดอินทาราม ร่วมกับภาคราชการ จะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผัก ซึ่งจะติดตามการปลูกผัก หากประสบความสำเร็จ วัดอินทารามจะมีรางวัลให้ด้วย













ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/region/news_4535121
วันที่ 20 เมษายน 2567 - 18:50 น
31  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / 5 วิธีสร้างรายได้บนโลกออนไลน์ด้วย AI ในปี 2024 เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 05:51:01 am
.



5 วิธีสร้างรายได้บนโลกออนไลน์ด้วย AI ในปี 2024

เผยแนวทางการสร้างรายได้ และอาชีพบนโลกออนไลน์ด้วย Generative AI ของคนรุ่นใหม่ในปี 2024 นี้

AI ปัญญาประดิษฐ์ หนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาปรับพฤติกรรมของมนุษย์ และพลิกโฉมการใช้ชีวิต และการทำงานของเราในเกือบทุกด้าน ตั้งแต่การสื่อสารทางการทำงาน และธุรกิจที่เป็นลายลักษณ์อักษร การดำเนินการทางการตลาด การบริการลูกค้า การเป็นเจ้าภาพการประชุม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการดำเนินการวิจัยตลาด AI ที่ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างแท้จริง

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับ Generative AI คือ มีการนำ AI มาใช้กันอย่างรวดเร็ว แถมยังมากไปด้วยศักยภาพ แม้ว่าจะมีความรู้ทางเทคโนโลยีที่จำกัดก็ตาม แต่ก็สามารถนำอาชีพมาประยุกต์ใช้กับ AI ได้อย่างลงตัว จนมีการพัฒนา และเพิ่มรายได้อย่างมีนัยสำคัญ

Generative AI มีความสามารถที่เกือบจะเหมือนมนุษย์ ที่ทำให้สามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ในเวลาอันสั้นกว่าปกติ และ ลดระยะเวลาแถมยังประหยัดเงินได้ในขณะเดียวกัน




ปัจจุบันมี Generative AI ที่มีความสามารถที่หลากหลาย และเฉพาะตัว ทำให้เกิดการนำไปสร้างรายได้ เริ่มสิ่งใหม่ๆ เช่น การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ทั้งหมดนั้นไม่เพียงเป็นไปได้เท่านั้น แต่ยังง่ายกว่าเดิมมากขึ้นอีกด้วยในโลกออนไลน์

AI ช่วยให้คุณสร้างรายได้ออนไลน์ได้ ที่ผู้คนนิยมใช้กันเลย คือ การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ เพื่อรับรายได้ทางที่สอง เช่น หากคุณเป็นบล็อกเกอร์อยู่แล้ว ก็จะสามารถใช้เครื่องมือ AI เพื่อช่วยในสร้างไอเดียเนื้อหาใหม่ๆ และแนะนำวิธีการใหม่ๆ ในการขยายการเข้าถึงไปยังผู้ชมในวงกว้างขึ้น ปรับปรุง SEO และการจัดอันดับบน Google หรือ สามารถนำ AI ไปสร้างแหล่งรายได้ใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการหาไอเดียแนวคิดการเริ่มต้นธุรกิจ และแผนธุรกิจที่ครบครัน

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ประโยชน์เล็กๆ ของ Generative AI เท่านั้นซึ่งสามารถใช้นำมาต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์ในการสร้างรายได้ในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น ตามข้อดังกล่าวด้านล่างต่อไปนี้




    • สร้าง AI Chatbot

หนึ่งในทักษะสำคัญสำหรับการสร้างรายได้บนโลกออนไลน์ หากมีทักษะการเขียนโปรแกรม และการเขียนโค้ดที่ดี ก็อาจสามารถสร้างรายได้ผ่านความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแชตบอตที่ออกแบบตามความต้องการสำหรับธุรกิจ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการภายใน เช่น สำหรับการแบ่งปันความรู้สำหรับพนักงาน

นอกจากนี้สำหรับการขาย และการบริการลูกค้า ผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ AI Chatbot นี้ก็สามารถเป็นตัวช่วยในการสรรหาคำต่างๆ เพื่อมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มยอดการขาย และกำไรได้

    • ใช้ AI เพื่อสร้างหลักสูตร

การพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ เป็นวิธีที่ดีในการสร้างรายได้เป็นงานเสริม แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกเมื่อใช้ AI เพื่อช่วยเร่งกระบวนการหลักสูตรได้เช่นกัน โดยอัลกอริทึมต่างๆ จาก AI จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ในกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานอย่างเช่น ขั้นตอนการวิจัยตลาดในการพัฒนาเนื้อหาของหลักสูตร

นอกจากนี้เครื่องมือ AI เชิงสร้างสรรค์ บางอย่างยังสามารถช่วยวางแผนโครงร่าง และโครงสร้างทั้งหมดของเนื้อหา พร้อมด้วยคำถามและกิจกรรมการอภิปราย และยังสามารถใช้เครื่องมือ AI เพื่อสร้างการประเมินหลักสูตรได้ภายในไม่กี่นาที โดยที่ไม่ต้องสร้างแบบทดสอบ และแบบทดสอบด้วยตนเอง




    • ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์

ปัจจุบันการใช้ AI เพื่อประเมิน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตัวเองเป็นสิ่งที่นิยมทำกันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการสร้างรายได้โดยการนำ AI มาพัฒนา เพิ่มทางเลือก และแก้ไขสินค้า ให้ตรงความต้องการของตลาดเพื่อปิดการขาย นอกจากนี้ยังสามารถนำ AI ไปออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับกลุ่มลูกค้า ธีมของสินค้า เป็นต้น

    • การให้คำปรึกษาด้าน AI

AI เป็นเทคโนโลยีนี้ค่อนข้างใหม่ จึงยังคงมีธุรกิจต่างๆ ที่กำลังต้องการการแนะนำ รู้ผู้ที่มีความรู้เพื่อนำมาบูรณาการ และนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ได้อย่างถูกต้อง หากตนเองมีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญในการใช้ AI มาบ้าง ก็จะสามารถนำไปต่อยอด ที่นอกจากการทำการตลาดด้วย AI ของตัวเองแล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่มีไปเป็นอาวุธเสริมในฐานะที่ปรึกษา AI ที่เข้าไปช่วยปรับแต่งบริการ และเพิ่มทางเลือกในการบูรณาการ ปรับใช้ AI ให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของบริษัทนั้นๆ ได้ เพื่อเป็นหนึ่งในอาชีพเสริมที่ใข้ประสบการณ์ได้อีกทางหนึ่ง

    • ใช้ AI บนงานกราฟิก

หนึ่งในสิ่งที่ AI สามารถช่วยออกแบบไอเดีย หรือแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องภาพ และกราฟิกในเวลาที่เร่งรีบ เพื่องานการตลาดดิจิทัล หรือโซเชียลมีเดีย AI นี้เองสามารถช่วยคุณออกแบบกราฟิกสำหรับโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ และโฆษณาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้หากทำงานเกี่ยวกับศิลปะ ก็สามารถนำมายึดเป็นแนวทาง และแรงบันดาลใจได้ไวมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ AI ลดกระบวนการรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะทำให้ระยะการทำงานนั้นสั้นลง และเกิดกระบวนการสร้างสรรค์ที่ง่ายมากขึ้น เพื่อที่จะนำชิ้นงานต่างๆ ไปต่อยอด เพื่อสร้างกำไรได้ในลำดับถัดไป





Thank to : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2779484
19 เม.ย. 2567 18:22 น. | ไลฟ์สไตล์ > ไลฟ์ > ไทยรัฐออนไลน์
ข้อมูล : forbes | ภาพ : istock
32  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / 5 เพชรคำสอน...2 มหาบุรุษ...1 ครูผู้ถ่อมตน.! เมื่อ: เมษายน 21, 2024, 05:26:54 am
.



5 เพชรคำสอน...2 มหาบุรุษ...1 ครูผู้ถ่อมตน.!

เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์ กับ 5 คำสอนดั่งเพชรในชีวิต จาก 2 มหาบุรุษ และ 1 ครูผู้ถ่อมตน

นับตั้งแต่การกำเนิดของมนุษย์ยุคใหม่โฮโมเซเปียนส์คนแรกๆ ตามทฤษฎีแม่อีฟ เมื่อประมาณสอง-สามแสนปีมาแล้วในแอฟริกา ถึงวันนี้ มนุษย์โฮโมเซเปียนส์กำเนิดขึ้นมาแล้วประมาณหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านคน...

แต่มีมนุษย์เพียงไม่กี่คน ที่ได้รับการยกย่องเป็น “มหาบุรุษ” และก็มีมนุษย์อีกจำนวนหนึ่งมากกว่ามหาบุรุษ ที่ได้รับการยกย่องเป็น “ครู”  แต่ก็ลดจำนวนลงไปอีก เมื่อจำเพาะลงไปที่ “ครูผู้ถ่อมตน”

“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับ “5 เพชรคำสอน” ของ “มหาบุรุษ” และ “ครูผู้ถ่อมตน” เพียง 3 คน...




2 คนเป็นมหาบุรุษ คือ พระเยซูคริสต์ และ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีก 1 คนเป็นครู คือ ขงจื๊อ

เชื่อว่าหลายท่านที่เห็นชื่อ 2 มหาบุรุษ และ 1 ครูผู้ถ่อมตน ก็จะนึกถึงเรื่องของศาสนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ไม่ผิด เพราะบุคคลทั้งสามที่ผู้เขียนยกมากล่าวถึง ทั้งพระเยซูคริสต์และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ ส่วนขงจื๊อก็ได้รับการกล่าวถึงในฐานะเป็นศาสดาของศาสนาขงจื๊อ...

ผู้เขียนจึงขอรีบเรียนท่านผู้อ่านว่า เรื่องของเราวันนี้ มิใช่เรื่องการลงลึกถึงหลักศาสนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพราะผู้เขียนไม่มีความรู้มากพอที่จะให้กับท่านผู้อ่านได้...แต่ที่เป็นความตั้งใจของผู้เขียน คือ แบ่งปันสิ่งที่ผู้เขียนได้เก็บเกี่ยว และได้อาศัยเป็นเข็มทิศวิเศษนำทางชีวิตตลอดมา

@@@@@@@

2 เพชรคำสอนของพระเยซูคริสต์

ผู้เขียนมิใช่ชาวคริสต์โดยกำเนิดและการประกาศตน แต่ผู้เขียนโชคดีที่มีเพื่อนชาวคริสต์หลายคน ทั้งที่เป็นชาวคริสต์ตั้งแต่เกิด คนไทยที่หันมานับถือศาสนาคริสต์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาประมาณเจ็ดปีครึ่ง (ระหว่างปี ค.ศ. 1962-1970) ที่มหาวิทยาลัยโมนาช กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และประมาณสี่เดือนเศษ (ระหว่างเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1973-มกราคม ค.ศ. 1974) ที่มหาวิทยาลัยอุปซาลา (Uppsala University) เมืองอุปซาลา ประเทศสวีเดน ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสทั้งเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับนักศึกษา, อาจารย์ และบาทหลวง ลงลึกในเรื่องของศาสนาคริสต์ (และเรื่องของศาสนาพุทธเปรียบเทียบกับศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ ของโลก)

คริสต์ศักราช หรือ ค.ศ. เริ่มต้นจากปีประสูติของพระเยซูคริสต์ ถึงปัจจุบันก็เป็น ค.ศ. 2024 แต่รากเหง้าของศาสนาคริสต์ย้อนหลังไปถึงศาสนายิวกับผู้นำคนสำคัญ ดังเช่น โมเสส ผู้ได้รับบัญญัติ 10 ประการ สลักบนแผ่นหินสองแผ่น จากพระเจ้าบนเขาซีนาย เมื่อประมาณ 1,440 ปีก่อน ค.ศ. เพื่อให้ “ลูกหลานอิสราเอล” ยึดปฏิบัติให้พ้นวิถีแห่งบาป

น่าสนใจว่า ในบัญญัติ 10 ประการนั้น มีบัญญัติ 6 ข้อที่ตรงกับ “ศีล 5” ของศาสนาพุทธ คือ :-
    *ห้ามฆ่าคน
    *ห้ามผิดประเวณี (แยกละเอียดเป็น 2 ใน 10 ข้อ)
    *ห้ามลักขโมย
    *ห้ามพูดเท็จใส่ร้ายผู้อื่น
    *ห้ามโลภในทรัพย์สินของผู้อื่น
แต่ที่มีอยู่ในศีล 5 โดยไม่มีในบัญญัติ 10 ประการ คือ ศีลข้อ 5 : ห้ามดื่มสุรายาเมา

ศาสนาคริสต์ในปัจจุบัน เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือ ประมาณ 31% ตามด้วยอันดับสอง ศาสนาอิสลาม ประมาณ 25% กลุ่มผู้ไม่ประกาศตนว่านับถือศาสนาอะไร ประมาณ 16% ศาสนาฮินดู ประมาณ 15% และศาสนาพุทธเป็นอันดับห้า มีผู้นับถือทั่วโลกประมาณ 7%

ถึงแม้ศาสนาคริสต์ในปัจจุบัน จะแบ่งเป็นนิกายต่างๆ หลายนิกาย แต่หลักใหญ่ของศาสนาคริสต์ล้วนตรงกัน กล่าวคือ ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรัก...

ความรักที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าเฉพาะความรักระหว่างชายกับหญิง และเพชรเม็ดงามแห่งคำสอนของพระเยซูคริสต์ ที่ผู้เขียนตกผลึกจากการเรียนรู้กับเพื่อนๆช าวคริสต์ ก็เป็นคำสอนเกี่ยวกับความรัก





เพชรเม็ดที่หนึ่ง : พระเจ้าจะอยู่กับทุกคนที่เชื่อในพระองค์

เพชรเม็ดแรกแห่งคำสอนของพระเยซูคริสต์นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก (ที่โคราช เมืองย่าโม) เพราะชอบไปร่วมในกิจกรรมเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่โบสถ์ศาสนาคริสต์ ที่จัดบ่อยหรือแทบเป็นประจำในวันอาทิตย์ โดยมีเด็กๆ และผู้ปกครอง รวมทั้งคนวัยหนุ่มสาวไปร่วมจำนวนมาก

ที่ผู้เขียนชอบไป มิใช่เป็นเพราะสนใจอยากเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่เป็นเพราะบรรยากาศที่สนุกสนาน มีสีสัน มีการร้องเพลง มีการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ โดยไม่มีการชักชวนให้นับถือศาสนาคริสต์อย่างตรงๆ

ผู้เขียนชอบฟังเรื่องราวที่เหมือนกับ “นิทาน” อยู่แล้ว และในงานก็มี “ของกินมากมาย” แล้วก็ที่สำคัญและที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษก็คือ การ์ดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ แบบเดียวกับการ์ดคริสต์มาส เป็นภาพเขียนสวยงาม

จากการไปร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก นอกเหนือไปจากเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกติดอยู่ในสมองตั้งแต่นั้นมาก็คือ คำสอน...แบบเป็นคำกล่าวเล่าเรื่อง...ว่า พระเจ้าศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าอยู่ทุกหนแห่ง และอยู่กับทุกคนที่เชื่อในพระเจ้า

อย่างไรก็ตาม คำสอนนี้สำหรับผู้เขียนก็ไม่ “ติดใจ” อะไรมากมายนักในช่วงวัยเด็ก และเป็นวัยรุ่น เพราะคิดว่าก็เป็นเพียงวิธีการชักชวนให้คนนับถือพระเจ้าของศาสนาคริสต์

ต่อๆ มา เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาศาสนาคริสต์อย่างจริงจังมากขึ้น จนกระทั่งถึงวันนี้ ผู้เขียนจึงคิดว่าพอจะเข้าใจและนำมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านในวันนี้

ที่มาจริงๆ ของคำสอนนี้ เป็นหลักสำคัญของศาสนาคริสต์ ซึ่งกล่าวถึงความหมายและความสำคัญของ “พระเจ้า” ในฐานะเป็นพระเจ้าองค์เดียว จากพระเจ้า (พระบิดา), พระบุตร (พระเยซู) และพระจิต ตามหลักตรีเอกานุภาพ หรือ Trinity ของศาสนาคริสต์ (แตกต่างจากเทพเจ้าสามพระองค์ หรือ Trinity ของศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดู) ซึ่งรวมเป็น “พระเจ้าองค์เดียว” ของศาสนาคริสต์ และเป็น “พระเจ้าองค์เดียว” ที่รัก “ทุกคน” และจะอยู่กับ “ทุกคน” ที่เชื่อและรักพระองค์

ความวิเศษของคำสอนนี้สำหรับผู้เขียน คือ หลักคิดที่ “ทรงพลัง” อย่างที่สุดของมนุษย์ทุกคน ที่จะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และเผชิญกับปัญหาความทุกข์ยากทุกอย่างได้อย่างไม่ต้องโดดเดี่ยว เพียงขอให้ยึดมั่นหลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ถูกทาง ไม่ทุจริต ไม่คิดร้ายใคร เพราะพระเจ้าจะ “ทราบ” และจะช่วยให้ผ่านความทุกข์ยากทุกอย่างได้อย่างมีศักดิ์ศรี ในขณะเดียวกัน คนที่คิดร้าย คิดในทางทุจริต พระเจ้าก็จะทราบและจะถูกลงโทษเสมอ

อย่างเป็นรูปธรรม ตามความคิดของผู้เขียน คำสอนนี้บอกว่า “ความลับไม่มีในโลก ทุกคนรู้ตัวดีเสมอว่ากำลังคิด และทำอะไรอยู่ ยกเว้นคนเสียสติ หรือคนบ้า”





เพชรเม็ดที่สอง : ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน จงหันแก้มอีกข้างให้เขาด้วย

เพชรเม็ดที่สองที่เป็นคำสอนของมหาบุรุษคือ พระเยซูคริสต์ มีที่มาชัดเจน เป็นพระวรสารบันทึกโดยมัทธิว (ข้อที่ 39 บทที่ 5 คือ มัทธิว 5:39) หนึ่งใน 12 สาวกผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ และเป็นหนึ่งในสี่ของผู้ที่พระเยซูคริสต์ทรงเลือกให้เป็นผู้บันทึกคำสอนของพระองค์

มัทธิวเป็นชาวยิว ทำงานเป็นผู้เก็บภาษีชาวยิว ส่งให้จักรวรรดิโรมันมาก่อน ทำให้เขาเป็นที่เกลียดชังของชนชาวยิว วันหนึ่ง พระเยซูคริสต์ทรงเดินผ่านมา และก็ทรงเรียกมัทธิวให้ตามพระองค์ไป มัทธิวก็ลุกขึ้นออกจากโต๊ะที่กำลังทำงานเก็บภาษีอยู่ แล้วก็ตามพระเยซูคริสต์ไป ทำให้ชาวยิวไม่พอใจพระเยซูคริสต์ด้วย

คำสอนของพระเยซูคริสต์ข้อนี้ ผู้เขียนก็ได้ยินมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก จากการเข้าร่วมกิจกรรมวันอาทิตย์ที่โบสถ์คริสต์ แต่ก็ไม่ “ลึกซึ้ง” อะไรเลย จริงๆ แล้ว กลับรู้สึกหัวเราะ หึหึ ในใจ...

จนกระทั่งเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ใช้ชีวิตและทำงานอย่างเต็มตัว ได้พบผู้คนหลากหลายอุปนิสัยและพฤติกรรม ความเป็นเพชรของคำสอนที่สองนี้จึงเด่นชัดขึ้น...

และมาตกผลึกเป็นหนึ่งใน “12 ข้อคิดเพื่อร่างกายกับจิตใจ” เป็นบทสรุปสุดท้าย ข้อที่ 8 (เมตตาให้คนคิดร้าย) ในหนังสือ “ผ่ามิติจินตนาการ” ของผู้เขียน (ผ่ามิติจินตนาการ, ชัยวัฒน์ คุประตกุล, พาบุญมา, 2553 : รางวัลหนังสือดีเด่นประเภทสารคดีประจำปี พ.ศ. 2554 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่รู้จักเรียกกันเป็น รางวัลหนังสืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ)

คำสอนของพระเยซูคริสต์ เพชรเม็ดที่สองนี้ สะท้อนความเป็น “ศาสนาแห่งความรัก” ของศาสนาคริสต์อย่างลึกซึ้ง และเพราะ “เมื่อเราถูกยั่วยุให้โกรธ ถ้าเราตอบโต้อย่าง...ตาต่อตา...ฟันต่อฟัน...ความเป็นสันติแห่งชีวิตก็จะหายไป แต่ถ้าเราตอบโต้ด้วย...ความรัก...ความมีเมตตา...การให้อภัย สมองและชีวิตของเราก็จะปลอดโปร่ง สามารถมีชีวิตที่เป็นสุขอย่างแท้จริงได้"

@@@@@@@

2 เพชรคำสอนของพระพุทธเจ้า

ผู้เขียนก็เช่นเดียวกับชาวพุทธทุกคน ที่เห็นเพชรมากมายในคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สำหรับการค้นหาเพชรคำสอนของพระพุทธเจ้าเพียงสองคำสอน ผู้เขียนยอมรับว่า ก็เป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดกับผู้เขียนเอง ที่มองเห็นเพชรงามที่สุดสองเม็ดในสายตาของผู้เขียนอย่างไม่ยากเย็นเลย

ทำไม.? เพชรคำสอนสองเม็ดขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ผู้เขียนได้พบ คืออะไร.?





เพชรเม็ดที่สาม : ตน...เป็นที่พึ่งแห่งตน

ผู้เขียนพบเพชรเม็ดที่สามเร็วพอๆ กับที่ได้ยินได้ฟังเรื่องของเพชรเม็ดที่หนึ่งและที่สอง แต่ไม่ต้องรอนาน จึงเห็นคุณค่าของเพชรเม็ดที่สาม

จริงๆ แล้ว ที่มาของการพบเพชรเม็ดที่สาม คือ การที่ผู้เขียนไม่สามารถจะหาซื้อหนังสือได้ตามใจชอบในช่วงสมัยเป็นเด็ก (ดู “ตามล่า...หาขุมทรัพย์ทางปัญญา”, เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์, ไทยรัฐออนไลน์, วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2566) ผู้เขียนจึง “อ่านแหลก” หนังสือในห้องสมุดและที่อื่นๆ รวมทั้งร้านกาแฟ และ “จดแหลก” ข้อมูลความรู้และความคิดดีๆ ของปราชญ์ และนักคิดชั้นยอดของโลก

เพชรเม็ดที่สามเป็นเพชรที่ชาวพุทธทุกคนรู้จักกันดี เพราะเป็นพุทธวจน “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” แปลว่า “ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน” ที่คุ้นเคยกันดี แต่สำหรับผู้เขียน จำได้ว่า ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ได้ “พบ” และ “จด” พุทธวจนนี้ ก็รู้สึกว่าเป็นคำสอนที่ยิ่งใหญ่ ที่มีคุณค่า และผู้เขียนก็ได้พยายาม “ยึด” ตามพุทธวจนนี้...

และยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งรู้สึกว่าเป็น “เข็มทิศวิเศษ” นำทางชีวิต ให้สามารถมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและภาคภูมิใจได้จริง

อย่างแน่นอน การดำเนินชีวิตของมนุษย์แต่ละคน ล้วนต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น การยึดมั่นในพุทธวจน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ มิได้หมายความว่า มนุษย์ทุกคนจะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นเลย เพราะอย่างน้อย ทุกคนก็ต้องพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่เกิด จนกระทั่งถึงวันเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ต้อง “รับผิดชอบตนเอง” เต็มที่...

แต่หมายความว่า ต้องมุ่งดำเนินชีวิตโดย “พึ่งตนเอง” เป็นหลัก ไม่แสวงหาผลประโยชน์ ความก้าวหน้าของหน้าที่การงาน โดยหวังพึ่งคนอื่น





เพชรเม็ดที่สี่ : การเป็นหนี้ เป็นทุกข์อย่างยิ่ง

เพชรเม็ดที่สี่ที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ ก็คล้ายกับเพชรเม็ดที่สาม คือ เป็นพุทธวจน “อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก” แปลตรงๆ คือ “การเป็นหนี้  เป็นทุกข์ในโลก” ที่ผู้เขียน “จด” จนขึ้นใจเป็น “การเป็นหนี้ เป็นทุกข์อย่างยิ่ง”

ที่มาของการค้นพบเพชรเม็ดนี้ สำหรับผู้เขียน ก็คล้ายกับกรณีของเพชรเม็ดที่สาม คือ พบตั้งแต่วัยเด็กที่ “อ่านแหลก” และ “จดแหลก” แล้วก็สะดุด (ชอบ) เมื่อพบพุทธวจนนี้

แต่ที่แตกต่างไปจากเพชรเม็ดที่สาม คือ ในขณะที่ความตระหนักในความเป็นเพชรของเม็ดที่สามค่อยๆ ชัดเจนขึ้น ความเป็นเพชรของเม็ดที่สี่ “สว่างวาบ” ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และก็ไม่เคยลดความสว่างเลยถึงทุกวันนี้

อย่างตรงๆ เพชรเม็ดที่สี่ เป็นคำสอนที่ผู้เขียนยึดอย่างจริงจัง ตั้งแต่เด็ก...จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ อย่างไร.? เช่น :-
    *ไม่มี (เงิน) ก็ไม่ซื้อ (ทุกอย่าง)
    *ไม่มี (เงิน) ก็ไม่กิน (แล้วอยู่ได้หรือ? ผู้เขียนตอบได้เลยว่า อยู่ได้!)
    *ไม่อยากได้ อยากมี สิ่งที่ไม่ควรได้ ไม่ควรมี
    *ไม่รับของขวัญจากชาวกรีก (ดู “ระวัง...ของขวัญจากชาวกรีก!”, เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์, ไทยรัฐออนไลน์, วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566)

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับว่า คำสอนอันเป็นเพชรเม็ดที่สี่นี้ ก็มีขีดจำกัดสำหรับการใช้ประโยชน์อย่างน้อยหนึ่งกรณี คือ นักธุรกิจ รวมทั้งนักลงทุน เพราะตามหลักธุรกิจและการลงทุน ย่อมจำเป็นจะต้องมีการระดมทุนหรือหาเงินทุน ซึ่งโดยปกติก็จำเป็นจะต้อง “กู้” (เป็นหนี้) ธนาคาร...

แต่สำหรับหลายอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการ ที่ทุ่มเทให้กับงานราชการอย่างสุจริต ถึงแม้จะไม่ร่ำรวยเป็นระดับเศรษฐีร้อยล้าน...พันล้าน...ได้ แต่ถ้าใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม ดังเช่นการยึดมั่นในคำสอนที่เป็นเพชรเม็ดที่สี่นี้ ผู้เขียนก็บอกอย่างมั่นใจได้ว่า...“จะไม่ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่ก็จะไม่จน!”





เพชรเม็ดที่ห้า : ปัญญาเหมือนน้ำของขงจื๊อ

ขงจื๊อ เป็นหนึ่งในสองของ “ครู” หรือ “ปราชญ์” คนสำคัญของจีน คู่กับเหลาจื๊อ เป็น “เจ้า” ลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋าตามลำดับ

ขงจื๊อ มีประวัติชีวิตและคำสอนบันทึกชัดเจน ลัทธิหรือศาสนาขงจื๊อ เน้นความสัมพันธ์อันดีงามของทุกภาคส่วนของสังคม (ชนชั้นผู้ปกครอง, ประชาชน, ...) ที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม จารีตประเพณีอันดีงาม และการเคารพนับถือบรรพบุรุษ...

ส่วนเหลาจื๊อ มีประวัติที่บันทึกไว้จริงๆ น้อย แต่ชัดเจนในหลักของลัทธิหรือศาสนาเต๋า เน้นความสำคัญของการดำรงชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ ตาม “วิถีแห่งธรรมชาติ” (เต๋า หรือ Tao เป็นภาษาจีน แปลว่า วิถี หรือ way)

ขงจื๊อกับเหลาจื๊อ มีชีวิตร่วมสมัยกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยขงจื๊อเกิด 8 ปีก่อนการเสด็จสู่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ส่วนเหลาจื๊อมีอายุมากกว่าขงจื้อประมาณ 50 ปี

ขงจื๊อและเหลาจื๊อพบกันหนึ่งครั้ง โดยขงจื๊อเป็นฝ่ายเดินทางไปหาเหลาจื๊อ ขณะที่ขงจื๊อมีอายุประมาณ 35 ปี และเป็นอาจารย์ที่เริ่มมีชื่อเสียง มีสำนัก มีลูกศิษย์มากมาย

เพชรเม็ดที่ห้าที่ผู้เขียนคัดมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านเป็นคำตอบของขงจื๊อที่ตอบลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่ถามว่า “อาจารย์เป็นครูมีชื่อเสียง มีความรู้ที่คนทั่วแผ่นดินยกย่อง แล้วทำไมอาจารย์จึงต้องเดินทางไกลไปหาเหลาจื๊ออีก?”

คำตอบของขงจื๊อคือ “สายน้ำที่ใสสะอาดก็เพราะน้ำไม่เคยหยุดไหล ถ้าน้ำหยุดนิ่ง น้ำใสก็จะกลายเป็นน้ำขุ่น นานๆ เข้าก็จะเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว”

เป็นคำตอบที่แสดงอย่างชัดเจนของคนมีความรู้ระดับคนเป็นครู เป็นปราชญ์ มีลูกศิษย์มากมาย แต่ก็ยัง “ถ่อมตน” ในความรู้ที่ตนมี และยังต้องแสวงหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ

สำหรับผู้เขียน คำตอบของขงจื๊อต่อลูกศิษย์เป็นคำตอบที่ “เตือนสติ” ของผู้ใฝ่รู้ว่า ความรู้ไม่มีหยุดนิ่ง ถ้าไม่มุ่งหาความรู้ใหม่เสมอ ความรู้ที่มีอยู่ก็จะไร้ประโยชน์ เหมือนน้ำนิ่งที่กลายเป็นน้ำเสีย!

@@@@@@@

5 เพชรคำสอนของมหาบุรุษและครูผู้ถ่อมตนที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านวันนี้ มีเพชรเม็ดใดตรงกับของท่านผู้อ่านบ้างครับ...และตัวท่านผู้อ่านเอง มีเพชรคำสอนของ “ใคร” “อย่างไร” บ้างครับ?





ขอขอบคุณ :-
บทความโดย : ชัยวัฒน์ คุประตกุล  นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ , เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์
URL : https://www.thairath.co.th/scoop/world/2779139
20 เม.ย. 2567 09:03 น. | สกู๊ปไทยรัฐ > WORLD > ไทยรัฐออนไลน์
33  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / Re: สาธยายธรรม กับ สวดมนต์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร.? เมื่อ: เมษายน 20, 2024, 08:29:48 am
.



การสวดมนต์ไหว้พระ

การสวดมนต์ไหว้พระเป็นการสร้างมนต์ชีวิตไว้ประจําตัว เป็นการดํารงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาทและสร้างพลังจิต ยังความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับตนเองในการดํารงชีวิตประจําวันให้มีสติระลึกอยู่เสมอในการที่จะประพฤติชอบ ในกรอบของศีลธรรม อันเป็นการนําความสุขความเจริญมาสู่ตนเอง เป็นชีวิต ที่มั่นคง และจักส่งผลให้เกิดความมั่นคงทั้งต่อตนเองและประเทศชาติ

ประเภทของการสวดมนต์

การสวดมนต์มีอยู่ ๒ แบบ คือ

    ๑. การสวดมนต์เป็นบทๆ เป็นคําๆ เรียกว่า แบบบทภาณะ เช่น แบบที่พระสงฆ์สวดกันอยู่ทั่วไปในวัดหรือในงานพิธีต่าง ๆ

    ๒. การสวดแบบใช้เสียงตามทํานองของบทประพันธ์ ฉันทลักษณ์ต่างๆ เรียกว่า แบบสรภาณะ เช่น แบบที่พระสงฆ์สวดในงานพิธีรับเทศน์หรือ ในเทศกาลพิเศษ เช่น การสวดในวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา เป็นต้น วิธีสวดแบบ สรภาณะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สรภัญญะ” (อ่านว่า สะ-ระ-พัน-ยะ) และ ต่อมาได้วิวัฒนาการให้พระสงฆ์เทศน์เป็นทํานองแหล่ขึ้น ในบททํานองร่ายยาว เช่น ในเรื่องพระเวสสันดรชาดกจนถึงปัจจุบัน

    การสวดมนต์ทํานองสรภัญญะด้วยภาษาบาลี มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ส่วนการสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัย ทํานองสรภัญญะ ที่เป็นภาษาไทย สันนิษฐานว่า น่าจะมีขึ้นประมาณรัชกาลที่ ๕ ด้วยเหตุผลว่า คําประพันธ์ สวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยที่เป็นภาษาไทย (คือ องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ ญ ภาพนั้นนิรันดร, ธรรมะคือคุณากร ฯลฯ ด้วยจิตและกายวาจา และสงฆ์ใด สาวกศาสดา ฯลฯ จึงดับและกลับเสื่อมสูญ) ที่เป็นบทฉันทลักษณ์ต่างๆ ซึ่งใช้สวดในปัจจุบันนี้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้ประพันธ์


อานิสงส์ของการสวดมนต์

    ๑. ขจัดนิวรณ์ อันเป็นอุปสรรคต่อการทําความดี ก่อให้เกิด ความสดชื่นแจ่มใส จิตใจเบิกบาน
    ๒. ได้ศึกษาคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามหลักไตรสิกขา เพราะในขณะสวดมนต์มีกาย วาจาปกติ (มีศีล) มีใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับ บทสวดมนต์ (มีสมาธิ) ได้รู้คุณความดีของพระรัตนตรัยตามคําแปลของบทสวด (มีปัญญา)
    ๓. ตัดรากเหง้าแห่งความเห็นแก่ตัว เพราะขณะสวดมนต์จิตจดจ่อ
อยู่ที่บทสวด ไม่คิดถึงตัวเอง ความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงไม่ได้โอกาส เข้ามาแทรกในจิตได้
    ๔. จิตไม่ขุ่นมัว เกิดสมาธิมั่นคง เพราะขณะสวดมนต์ผู้สวดจะต้อง สํารวมใจแน่วแน่ ด้วยเกรงว่าจะสวดผิด จิตจึงเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความสงบเยือกเย็นย่อมเกิดขึ้น
    ๕. ได้เสริมส่งปัญญาบารมี การสวดมนต์ได้รู้คําแปล รู้ความหมาย ย่อมทําให้ผู้สวดได้ปัญญาบารมี ทําให้คําสอนมั่นคง ไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
    6. สืบสานความดีสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะการสวดมนต์ ผู้สวดย่อมได้รู้แนวทางปฏิบัติในการดําเนินชีวิตที่ดี เมื่อปฏิบัติตามย่อมได้รับผล เป็นความสะอาด สว่าง สงบของจิตใจ นั่นคือพระพุทธศาสนามั่นคงอยู่กับผู้สวดมนต์ และถือได้ว่าได้ปฏิบัติบูชาสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไปโดยแท้จริง
    ๗. ทําหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกาให้สมบูรณ์ ผู้สวดมนต์ย่อมได้ชื่อว่า ได้ทําหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกาให้สมบูรณ์ เป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม เกิดความสามัคคีในสังคมและหมู่คณะ



ขอบคุณที่มา : หนังสือแบบฝึกสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย



 :25: :25: :25:

สรภัญญะ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สรภัญญะ (คำอ่านภาษาไทย: /สะระพันยะ/ หรือ /สอระพันยะ/) คือ ทำนองสำหรับสวดฉันท์ เป็นทำนองแบบสังโยค คือ สวดเป็นจังหวะหยุดตามรูปประโยคฉันทลักษณ์ มักใช้สวดบูชาพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา

การสวดฉันท์ทำนองสรภัญญะมีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านั้นนิยมสวดฉันท์ภาษาบาลี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และผู้สวดส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ทำนองสรภัญญะไม่แพร่หลายนัก ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ป.ธ.8 องคมนตรีและเจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 แปลบทสรรเสริญคุณต่าง ๆ เป็นฉันท์ภาษาไทย เรียก "คำนมัสการคุณานุคุณ" มี 5 ตอน คือ

    - บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
    - บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
    - บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
    - บทสรรเสริญมาตาปิตุคุณ และ
    - บทสรรเสริญอาจาริยคุณ ตามลำดับ

บทประพันธ์นี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ใช้สวดกันโดยทั่วไป และเนื่องจากบาทแรกเริ่มว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ" จึงมักเรียว่า "บทสวดองค์ใดพระสัมพุทธ"

นอกจากบทสรรเสริญพระรัตนตรัยแล้ว ทำนองสรภัญญะยังใช้สวดคาถาบทอื่นอีก เช่น บทแปลคาถาพาหุงซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเริ่มว่า "ปางเมื่อพระองค์ปรมพุทธ"




ขอบคุณที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/สรภัญญะ


.



ขับร้องสรภัญญะ

ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)

สรภัญญ์ คือ ทำนองสำหรับสวดฉันท์ เป็นทำนองแบบสังโยค คือ สวดเป็นจังหวะหยุดตามรูปประโยคฉันทลักษณ์ มักใช้สวดบูชาพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา การสวดฉันท์ทำนองสรภัญญะมีมานานตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๔ ก่อนหน้านั้นนิยมสวดฉันท์ภาษาบาลี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และผู้สวดส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ทำนองสรภัญญะไม่แพร่หลายนัก

ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ป.ธ.๘ องคมนตรีและเจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชการที่ ๕ แปลบทสรรเสริญคุณต่าง ๆ เป็นฉันท์ภาษาไทย เรียก "คำนมัสการคุณานุคุณ" มี ๕ ตอน คือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ บทสรรเสริญพระธรรมคุณ บทสรรเสริญพระสังฆคุณ บทสรรเสริญมาตาปิตุคุณ และบทสรรเสริญอาจาริยคุณตามลำดับ บทประพันธ์นี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ใช้สวดกันโดยทั่วกัน และเนื่องจากบาทแรกเริ่มว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ" จึงมักเรียกว่า บทสวดองค์ใดพระสัมพุทธ"

ประวัติสรภัญญ์ เป็นทำนองสวดทำนองหนึ่ง มีจุดกำเนิดมาจากการสวดทางพุทธศาสนา เป็นทำนองเทศน์ในตอนแรก เทศน์โปรดพุทธศาสนิกชน ต่อมาจึงฝึกให้ฆารวาสร้อง การร้องในภาคอีสาน มีกันแพร่หลายในเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านว่างจากการทำงาน และรอช่วงการเก็บเกี่ยวมาถึง ชาวบ้านใช้เวลานี้ไปร่วมทำบุญที่วัด เช่น จัดทำดอกไม้ ในสมัยก่อนจัดทำน้ำมันพืช เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดให้มีแสงสว่างพอที่พระสงฆ์จะใช้เวลากลางคืน

นอกจากนี้มีสตรีจับกลุ่มกันร้องสรภัญญ์โดยมีรุ่นเก่าเป็นครูฝึก ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาหมู่บ้านต่าง ๆ จะมีประเพณีทอดเทียน ทอดสาด หมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพจะเชิญหมู่บ้านต่าง ๆ ส่งคณะสรภัญญ์เข้าประกวดกันจะประกอบด้วยสตรีอายุประมาณ ๑๕ ปี ขึ้นไป จำนวน ๑๐-๒๐ คน คนที่มีเสียงไพเราะที่สุดจะเป็นหัวหน้า และจากผลดังกล่าวชาวบ้านเกิดความรักความสามัคคีกันในหมู่คณะและเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีด้วย เพื่อให้คงอยู่คู่ชุมชนตราบนานเท่านาน

บทร้องสรภัญญ์ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา สรรเสริญบูชาพระรัตนตรัย เล่าเรื่องพุทธประวัติ บทสวดคุณของบิดามารดา บทสวดไหว้ครู

 



ขอบคุณ : https://www2.m-culture.go.th/sisaket/ewt_news.php?nid=973&filename=index
วันที่ 24 พ.ย. 2560
34  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / สาธยายธรรม กับ สวดมนต์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร.? เมื่อ: เมษายน 20, 2024, 07:51:53 am
.

ขอบคุณภาพจาก : https://www.pinterest.ca/


สาธยายธรรม กับ สวดมนต์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร.?

สาธยายธรรมกับสวดมนต์ โดยทั่วไปสำหรับชาวพุทธ มีความหมายไม่ต่างกัน แต่ในรายละเอียด(โดยเฉพาะบาลี)มีความหมายต่างกัน ดังนี้






บาลีวันละคำ : สาธยาย

สาธยาย อ่านว่า สา-ทะ-ยาย และ สาด-ทะ-ยาย

บาลีเป็น “สชฺฌาย” อ่านว่า สัด-ชา-ยะ
“สชฺฌาย” รากศัพท์มาจาก ส (มี, พร้อม, ของตน) + อธิ (ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) อิ (ธาตุ = สวด, ศึกษา) + อ ปัจจัย, แปลง อธิ เป็น อชฺฌ, แปลง อิ เป็น ย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อ (อะ) ที่ –ฌ เป็น อา : ส + อธิ > อชฺฌ = สชฺฌ + อิ > ย = สชฺฌย > สชฺฌาย แปลตามศัพท์ว่า “การสวดพร้อมหมดอย่างยิ่ง” “การศึกษาอย่างยิ่ง (ซึ่งมนตร์) ของตน”

“สชฺฌาย” หมายถึง การสาธยาย, การสวด, การท่อง (repetition, rehearsal study)
“สชฺฌาย” สันสกฤตเป็น “สฺวาธฺยาย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า (สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺวาธฺยาย : (คำนาม) การอัธยายมนตร์เงียบๆ หรือสังวัธยายมนตร์ในใจ ; เวทหรือพระเวท ; การอัธยายหรือศึกษาพระเวท ; inaudible reading or muttering of prayers ; the Vedas or scripture ; perusal or study of the Vedas.”

@@@@@@@

“สชฺฌาย” ในภาษาไทยใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “สาธยาย”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“สาธยาย : (คำนาม) การท่อง, การสวด, การทบทวน, เช่น สาธยายมนต์, (ภาษาปาก) การชี้แจงแสดงเรื่อง เช่น สาธยายอยู่นั่นแหละ ไม่รู้จักจบเสียที. (ส. สฺวาธฺยาย; ป. สชฺฌาย).”

สชฺฌาย > สฺวาธฺยาย > สาธยาย หรือการท่องจำเป็นขั้นตอนแรกๆ ในกระบวนการศึกษาตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป คือขั้นการรับรู้และซึมซับข้อมูล ต่อจากนั้นไปจึงเป็นการวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูล สังเคราะห์ ประมวลข้อมูล แล้วสรุปผลลงเป็นหลักวิชาแล้วนำไปใช้ตามประสงค์

และสุดท้ายก็วนกลับไปที่ “สาธยาย” อีก คือการทบทวนเพื่อมิให้ลืมเลือนกฎหรือสูตรของวิทยาการนั้นๆ รวมทั้งเป็นการสรุปความก้าวหน้าหรือข้อบกพร่องไปด้วยในตัว


@@@@@@@

ควรเข้าใจให้ตรงกัน

   ๑. นักคิดบางสำนักในบ้านเราโจมตีวิธีท่องจำว่าเป็นการสอนคนให้เป็นนกแก้วนกขุนทอง คิดอะไรไม่เป็น จึงสอนนักเรียนโดยไม่ให้มีการท่องจำ

   ๒. ตามธรรมชาติ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตประเภท “ปัญจโวการภพ” (ปัน-จะ-โว-กา-ระ-พบ) คือ มีองค์ประกอบ 5 ส่วน ได้แก่
       (1) ร่างกาย (corporeality)
       (2) ความรู้สึก (feeling; sensation)
       (3) ความจำ (perception)
       (4) ความคิด (mental formations; volitional activities)
       (5) ความรู้เข้าใจ (consciousness)

   ๓. วิธีสาธยายหรือท่องจำเป็นการใช้งานตามธรรมชาติของชีวิต และเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเท่านั้นของกระบวนการศึกษา ไม่ใช่ทั้งหมดของการศึกษา และไม่ใช่จบลงเพียงแค่ท่องจำ แต่ยังจะต้องส่งต่อไปยังความคิด ความรู้เข้าใจต่อไปอีก

   ๔. การจะให้เกิดผลคือจำข้อมูลได้ การ “สาธยาย-ท่องจำ” นับว่าเป็นวิธีตามธรรมชาติของมนุษย์สากล สำหรับมนุษย์ที่รังเกียจวิธีนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะคิดค้นวิธีอื่นได้อีก แต่จะไม่ให้มนุษย์ต้องจำอะไรเลยนั้นคือผิดธรรมชาติ

อุปมาอุปไมย

    "การสาธยายเป็นกระบวนการเก็บข้อมูลความรู้ไว้ในสมอง เมื่อถึงเวลาต้องการ ก็เปิดออกมาใช้ได้ทันที ฉันใด การทำบุญก็เป็นกระบวนการเก็บเสบียงไว้ในใจ เมื่อถึงเวลาต้องจากไป ก็พร้อมเดินทางได้ทันที ฉันนั้น"




ขอบคุณ : https://dhamtara.com/?p=3311
tppattaya2343@gmail.com | 15 พฤษภาคม 2015






บาลีวันละคำ : สวดมนต์

สวดมนต์ ภาษาบาลีว่าอย่างไร

(๑) “สวด” เป็นคำไทย ตรงกับบาลีว่า “สชฺฌาย”
     “สชฺฌาย” อ่านว่า สัด-ชา-ยะ รากศัพท์มาจาก ส (มี, พร้อม, ของตน) + อธิ (ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) อิ (ธาตุ = สวด, ศึกษา) + อ ปัจจัย, แปลง อธิ เป็น อชฺฌ, แปลง อิ เป็น ย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ –ฌ เป็น อา (สชฺฌ > สชฺฌา) : ส + อธิ > อชฺฌ = สชฺฌ + อิ > ย = สชฺฌย > สชฺฌาย แปลตามศัพท์ว่า “การสวดพร้อมหมดอย่างยิ่ง” “การศึกษาอย่างยิ่ง (ซึ่งมนตร์) ของตน”

    “สชฺฌาย” หมายถึง การสาธยาย, การสวด, การท่อง (repetition, rehearsal study)

(๒) “มนต์”
     บาลีเป็น “มนฺต” อ่านว่า มัน-ตะ รากศัพท์มาจาก
     (1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย : มนฺ + ต = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้”
     (2) มนฺต (ธาตุ = ปรึกษา) + อ ปัจจัย : มนฺต + อ = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “การปรึกษา”

@@@@@@@

“มนฺต” ในภาษาบาลีมีความหมาย ดังต่อไปนี้

   1. ความหมายเดิม คือ คำพูดหรือคำตัดสินของเทพเจ้าบนสวรรค์ แล้วกลายมาเป็นประมวลคำสอนที่เร้นลับของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้แก่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ หรือคัมภีร์พระเวท (a divine saying or decision, hence a secret plan)
   2. คัมภีร์ศาสนา, บทร้องสวด, การร่ายมนตร์ (holy scriptures in general, sacred text, secret doctrine)
   3. ศาสตร์ลี้ลับ, วิทยาคม, เสน่ห์, คาถา (divine utterance, a word with supernatural power, a charm, spell, magic art, witchcraft)
   4. คำแนะนำ, คำปรึกษา, แผนการ, แบบแผน (advice, counsel, plan, design)
   5. เล่ห์เหลี่ยม, ชั้นเชิง (a charm, an effective charm, trick)
   6. สูตรวิชาในศาสตร์สาขาต่างๆ (เช่น H2O = น้ำ หรือแม้แต่สูตรคูณ ก็อยู่ในความหมายนี้) (law)
   7. ปัญญา, ความรู้ (wisdom, knowledge, insight, discernment)


@@@@@@@

“มนฺต” ใช้ในภาษาไทยว่า มนต์, มนตร์ (มน) และเข้าใจกันแต่เพียงว่าหมายถึง “คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์”

“สวดมนต์” ตรงกับคำบาลีว่า “มนฺตสชฺฌาย” (มัน-ตะ-สัด-ชา-ยะ)

มนฺต + สชฺฌาย = มนฺตสชฺฌาย แปลตามศัพท์ว่า “การสาธยายมนต์” หรือแปลตรงตัวว่า “สวดมนต์” นั่นเอง

การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนามีมูลเหตุมาจากการสาธยายพระสูตรหรือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อมิให้ลืมเลือนอย่างหนึ่ง และเพื่อตรวจสอบข้อความให้ถูกต้องตรงกันอีกอย่างหนึ่ง

   สวดมนต์เพื่อทบทวนความรู้ จะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ
   สวดมนต์เพื่อเจริญสมาธิสติ ธรรมะก็ผลิเบ่งบาน
   สวดมนต์เพื่อขลัง ยังต้องนุงนังไปอีกนาน


(อธิบายเร่งด่วนตามประสงค์ของพระคุณท่าน So Phom)




ขอบคุณ : https://dhamtara.com/?p=3796
tppattaya2343@gmail.com | 29 ตุลาคม 2015
35  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ข้องใจวัดพระธาตุดอยคำ เชียงใหม่ เก่าแก่กว่า 1,300 ปี เผยเพิ่งขอเป็นวัดได้สำเร็จ เมื่อ: เมษายน 20, 2024, 05:30:29 am
.



ณพลเดช ข้องใจวัดพระธาตุดอยคำ จ.เชียงใหม่ เก่าแก่กว่า 1,300 ปี เผยเพิ่งขอเป็นวัดได้สำเร็จ

ณพลเดช ข้องใจวัดพระธาตุดอยคำ จ.เชียงใหม่ เก่าแก่กว่า 1,300 ปี เผยเพิ่งขอเป็นวัดได้สำเร็จ ยกเครดิตให้ กมธ.ศาสนาฯ

เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่วัดพระธาตุดอยคำ ต.แม่เหียะ อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ นายณพลเดช มณีลังกา ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าสักการะ พระครูสุนทรเจติยารักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยคำ โดยพระครูสุนทรเจติยารักษ์ ได้อนุโมทนาหลังจากที่กรมอุทยานอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสร้างวัดได้

ขณะนี่้ได้ยื่นขอวิสุงคามสีมาแล้ว ตนได้โทรศัพท์ถึงอธิบดีกรมอุทยาน และได้ขอบคุณที่ได้ดำเนินตามกระบวนกฎหมาย ซึ่งวันนี้ก็เป็นวันที่ประสบความสำเร็จ ที่ได้วัดในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องเพิ่มมาอีกวีดหนึ่ง






นายณพลเดช กล่าวต่อไปว่า วัดพระธาตุดอยคำ เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เป็นวัดสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ มีคนนำดอกมะลิไปไหว้เป็นจำนวนมาก อายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี น่าจะออกโฉนดที่ดินและขอวิสุงคามสีมา ได้มานานแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นวัดที่ไม่มีวิสุงคามสีมา ภายหลังผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จ.เชียงใหม่ ก็ได้ให้ความสะดวกและดำเนินการตามกรอบกฎหมาย

ทั้งนี่ได้ที่ดินวัดที่เป็นโฉนดราว 7 ไร่ กำลังอยู่ในขั้นตอนขอวิสุงคามสีมา ซึ่งจะทำให้สามารถ บวชพระ และประกอบศาสนกิจของสงฆ์ได้ตามพุทธวินัยได้ต่อไป อีกทั้งจะสามารถดำเนินกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรม ที่ได้สืบต่อกันมา

อย่างไรก็ดี ต้องขอให้เครดิตกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎรในชุดก่อน และชุดปัจจุบันที่ทำงานงานอย่างหนัก โดยเฉพาะ ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ที่ทุ่มเทงานอย่างมาก




ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/region/news_4528031
วันที่ 15 เมษายน 2567 - 23:24 น.   
36  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ไฟเขียว.! โครงการ 'ยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง' เฉลิมพระเกียรติ “ในหลวง” เมื่อ: เมษายน 20, 2024, 05:20:55 am
.



ไฟเขียว.! โครงการ 'ยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง' เฉลิมพระเกียรติ “ในหลวง”

รัฐบาล เห็นชอบ 6 โครงการของสำนักพุทธฯ ร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567

นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้เห็นชอบโครงการในการร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 โดยมีโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล เป็นโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้งหมดจาก 23 หน่วยงาน จำนวน 76 โครงการนั้น

@@@@@@@

นายอินทพร กล่าวต่อไปว่า ในส่วน พศ.มีโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล ประกอบด้วย

    - โครงการยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567
    - โครงการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567
    - โครงการเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธี    มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567
    - โครงการปฏิบัติธรรมเจริญจิตภาวนา เจริญปัญญา เจริญสุข เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567
    - โครงการพิธีสาธยายพระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 และ
    - โครงการสามเณรทรงพระปาติโมกข์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567





ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/news/3357982/
19 เมษายน 2567 | 16:10 น. | การศึกษา-ศาสนา
37  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ฮือฮา.! สัปเหร่อสาวไต้หวัน บินลัดฟ้ามาแต่งหน้าศพ-สอนฟรี เมื่อ: เมษายน 20, 2024, 05:11:58 am
.



ฮือฮา.! สัปเหร่อสาวไต้หวัน บินลัดฟ้ามาแต่งหน้าศพ-สอนฟรี

ชาวบ้านฮือฮา! “แอมม่า” สัปเหร่อสาวสวยชาวไต้หวัน บินลัดฟ้ามาแต่งหน้าศพ-สอนการแต่งศพให้ฟรี

ที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวบ้านปลื้ม เมื่อสัปเหร่อสาวสวยชาวไต้หวัน เดินทางมาแต่งหน้าศพให้คนตายในพื้นที่ แถมสอนแต่งหน้าศพฟรีให้กับชาวบ้าน

โดย แอมม่า สาวชาวไต้หวัน อายุ 33 ปี เดินทางเข้ามาช่วย แต่งหน้าศพ ให้กับคนผูกคอเสียชีวิตที่บ้านตาโหงก หมู่ 8 ต.สนามชัย อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเสียชีวิตมาประมาณ 3 วัน สร้างความประหลาดใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะเป็นหญิงสาวหน้าตาดี ที่กล้าแต่งหน้าศพ




แอมม่า บอกว่า ตนเองมีอาชีพเป็นสัปเหร่ออยู่ที่ไต้หวัน มาแล้วกว่า 4 ปี ที่ผ่านมาพบข้อมูลว่า "คนไทยไม่ชอบแต่งหน้าศพ" จึงได้เรียนภาษาไทยเพื่อให้สื่อสารได้เข้าใจ จากนั้นเมื่อเห็นเพจ "บ้านหลังสุดท้ายได้ทุกคน" จึงทักไปว่าอยากจะไปช่วยแต่งหน้าศพและสอนการแต่งศพให้

ซึ่งครั้งนี้เดินทางมาไทยเป็นรอบที่ 2 แล้ว ที่ผ่านมาแต่งหน้าศพแล้วประมาณ 50 ศพ และยืนยันว่า จะมาช่วยแต่งหน้าศพที่เมืองไทยอีก

ด้าน นายยิ่งพันธ์ ว่องไว อายุ 48 ปี พ่อค้าโลงศพ บอกว่า เห็นหญิงสาวรายนี้ทักมาในเพจ ตอนแรกคิดว่าเป็น”มิจฉาชีพ”เพราะคนสวยขนาดนี้จะมาแต่งหน้าศพได้อย่างไร ส่วนหนึ่งก็อยากลองว่าจะมาจริงหรือไม่ จึงตอบรับไป จนกระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แอมม่า ทักมาว่า”ถึงเมืองไทยแล้ว” จึงไปรับจากสนามบินสตึก




หลังจากนั้นแอมม่า ได้มาอาศัยอยู่ที่บ้านแล้วออกตระเวณแต่งหน้าศพแบบมืออาชีพ พออยู่ได้ประมาณ 10 วัน แอมม่าก็กลับไต้หวัน จนกลับมาอีกครั้ง โดยแอมม่า จะสอนการแต่งหน้าศพ ให้เหมือนคนนอนหลับมากที่สุด ที่ผ่านมาชาวบ้านและญาติผู้ตาย ต่างมีความปลื้มใจ เพราะไม่คิดว่าคนสวยอย่างแอมม่าจะกล้าแต่งหน้าศพ




Thank to : https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/221957
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 19 เม.ย. 2567 ,08:38น.
38  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / พาไปรู้จัก "ประเพณีบุญลูกหนู" หาดูยากของชาวมอญ ที่วัดยอดพระพิมลเมืองนนท์ เมื่อ: เมษายน 19, 2024, 08:40:59 am
.



พาไปรู้จัก "ประเพณีบุญลูกหนู" หาดูยากของชาวมอญ ที่วัดยอดพระพิมลเมืองนนท์

รายการกินไปทั่วมั่วบ้านงาน สัปดาห์นี้ พาไปรู้จัก "ประเพณีบุญลูกหนู" วัดยอดพระพิมล ต.ขุนศรี อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี

ประเพณีบุญลูกหนู วัดยอดพระพิมล ต.ขุนศรี อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี หรือ ประเพณีแข่งจุดลูกหนู เป็นประเพณีอย่างหนึ่งในงานฌาปนกิจของพระสงฆ์ชาวมอญระดับเจ้าอาวาส ในสมัยก่อนการเผาศพพระสงฆ์มอญ ไม่ใช้มือจุดแต่จะจุดไฟเผาด้วยลูกหนู

ต่อมาภายหลังกลายเป็นประเพณีการแข่งขัน โดยจะให้ลูกหนูวิ่งไปชนตัวปราสาท หรือโลงศพจำลอง ที่ยอดปราสาทจะคล้ายกับยอดเมรุ โดยถ้าลูกหนูใครยิงไปโดนป้าย หรือยอดเมรุให้ล่วงลงพื้นก็จะมีรางวัล

โดยก่อนที่จะทำการแข่งขันแต่ละทีมจะต้องนำลูกหนูแห่รอบเมรุเวียนซ้ายเสียสามรอบก่อน เพื่อแสดงความเคารพถึงครูบาอาจารย์ หลังจากนั้นจึงแห่ออกไปยังสนามแข่งขัน และเริ่มทำการแข่งขัน โดยวิธีการแข่งแต่ละทีมจะมีลูกหนู 12 ลูก จุดวนไปจนครบทุกลูก ผู้ชนะก็คือผู้ที่สามารถชนยอดปราสาทหลังใหญ่ (เป้า) ให้ตกถึงพื้นได้

สำหรับเมรุที่ใช้ในงานพระราชทานเพลิงศพ จะเป็นเมรุลอยปราสาท 9 ยอด พร้อมโลงศพแบบมอญ โดยก่อนที่จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ จะมีประเพณี “วอญย์แฝะ” การโล้ปราสาทแย่งศพ เพื่อแสดงความเคารพ และระลึกถึงครูบาอาจารย์ ซึ่งทั้ง 2 ประเพณีนี้ทุกวันนี้หาดูได้ยาก

ชมวิดีโอได้ที่ : https://youtu.be/Unu0FSdmh08

















 
Thank to : https://www.amarintv.com/news/detail/214631
18 เม.ย. 67
39  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / เปิดภาพ "พิธีบวงสรวงคันไถ" งานพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2567 เมื่อ: เมษายน 19, 2024, 08:30:06 am
.



เปิดภาพ "พิธีบวงสรวงคันไถ" งานพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2567

กระทรวงเกษตรฯ จัดพิธีบวงสรวงคันไถงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี 2567 เพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีบวงสรวงคันไถในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2567 โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง และเทพีคู่หาบเงิน เข้าร่วม ณ บริเวณปะรำพิธีอาคารจัดเก็บคันไถ กรมส่งเสริมการเกษตร

โดยพิธีบวงสรวงคันไถได้เริ่มขึ้นในเวลา 09.00 น. ประธานในพิธีจุดเทียนธูปบูชาเครื่องสังเวยบวงสรวงคันไถ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ กล่าวนำคำอธิษฐานจิต จากนั้นประธานปักธูปบนเครื่องสังเวยบวงสรวงคันไถ นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยเทพีคู่หาบทอง หาบเงิน ปักธูปบนเครื่องสังเวยบวงสรวงคันไถ พระมหาราชครูฯ อ่านโองการ ประพรมน้ำเทพมนตร์ และเจิมคันไถ




ลำดับต่อมาประธานและอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นำพวงมาลัยคล้องคันไถตามลำดับ จากนั้นประธานโปรยข้าวตอกดอกไม้ บริเวณเครื่องสังเวยเพื่อความเป็นสิริมงคล ผู้บริหารที่ร่วมในพิธี เทพีคู่หาบทอง หาบเงิน ร่วมวางพวงมาลัยบนพานหน้าคันไถเพื่อสักการะ เป็นอันเสร็จพิธี

นายประยูรกล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้จัดเก็บ ดูแล รักษา ซ่อมแซม ปรับปรุง และจัดเตรียมคันไถ สำหรับเข้าร่วมวันซ้อมย่อย วันซ้อมใหญ่ และวันงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประจำปี 2567 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ปฏิบัติหน้าที่นี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

โดยในช่วงเดือนเมษายน ก่อนพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของทุกปี กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการซ่อมแซม ปรับปรุงคันไถให้มีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน และปี 2567 นี้ ได้กำหนดจัดพิธีบวงสรวงคันไถ เพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงาน




ทั้งนี้ ในอดีต คันไถเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเตรียมดินก่อนปลูกข้าว ใช้แรงงานสัตว์ เช่น โค กระบือ ในการขับเคลื่อน ซึ่งถูกนำมาใช้ประกอบพิธีไถหว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทุกปี โดยพระราชพิธีฯ มีมาแต่โบราณตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีพิธีสงฆ์ เรียกว่า “พระราชพิธีพืชมงคล” ร่วมด้วย จึงทำให้พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธีพืชมงคลรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ซึ่งพระราชพิธีนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในการทำนา เป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกร กำหนดจัดขึ้นในเดือนหก ทางจันทรคติ หรือเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะเวลาเหมาะสมในการเริ่มต้นการทำนาของทุกปี โดยในปี 2567 สำนักพระราชวังกำหนดให้มีพระราชพิธีพืชมงคล ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง




สำหรับคันไถ ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีฯในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2539 โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีชุดองค์ประกอบ ดังนี้

1) คันไถ ขนาดความสูงวัดจากพื้นถึงเศียรนาค 2.26 เมตร และยาวจากเศียรนาคถึงปลายไถ 6.59 เมตร ทาสีแดงชาดตลอดคันไถ หัวคันไถทำเป็นเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับคันไถเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายไถหุ้มผ้าขาวขลิบทองสำหรับมือจับ

2) แอกเทียมพระโค ยาว 1.55 เมตร ตรงกลางแอกประดับด้วยรูปครุฑยุดนาคหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองอยู่บนฐานบัว ปลายแอกทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับเป็นลาย กระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายแอกแต่ละด้านมีลูกแอกทั้งสองด้านสำหรับเทียมพระโคพร้อมเชือกกระทาม

3) ฐานรอง เป็นที่สำหรับรองรับคันไถพร้อมแอก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งทาด้วยสีแดงชาด มีลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองทั้งด้านหัวไถและปลายไถ

4) ธงสามชาย เป็นธงประดับคันไถติดตั้งอยู่บนเศียรนาคทำด้วยกระดาษและผ้าสักหลาด เขียนลวดลายลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกแวว มีพู่สีขาวประดับเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เพื่อประดับพระเกียรติ ธงสามชายมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ฐานยาว 41 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร และเสาธงยาว 72 เซนติเมตร





ขอบคุณที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1545410
วันที่ 18 เมษายน 2567 - 13:57 น.
40  เรื่องทั่วไป / forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน / ปลัดมท.นำพุทธศาสนิกชน ประกอบพิธียกฉัตรยอดเจดีย์เสมาจตุรทิศ ณ วัดปรมัยยิกาวาส เมื่อ: เมษายน 18, 2024, 07:02:57 am
.



ปลัดมท.นำพุทธศาสนิกชน ประกอบพิธียกฉัตรยอดเจดีย์เสมาจตุรทิศ ณ วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร

เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พร้อมด้วยปลัดมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำพุทธศาสนิกชน ประกอบพิธียกฉัตรยอดเจดีย์เสมาจตุรทิศ ณ วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร โอกาสมงคลวาระครบรอบ 150 ปีการฉลองพระอาราม และร่วมบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวไทยเชื้อสายมอญและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

เมื่อเวลา 17.17 น. วันที่ 17 เมษายน ที่วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาสพิธียกฉัตรยอดเจดีย์เสมาจตุรทิศ พระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร โดยได้รับเมตตาจาก พระครูพิพิธเจติยาภิบาล (บัวทอง ถาวโร) ป.ธ.5 เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ร่วมประกอบพิธี

โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พลเอก พิสิษฐ์ นพเมือง รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภิรมย์ ชุมนุม นายอำเภอปากเกร็ด นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด นายสมชาย ทัดชัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด พลโท ชาติวัฒน์ งามนิยม ไวยาวัจกรวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร นายบรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู หัวหน้าส่วนราชการ คณะอุบาสก อุบาสิกา พุทธศาสนิกชน ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก




โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้น พระครูพิพิธเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และผู้ร่วมพิธี เข้าถวายสักการะแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าหน้าที่กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยและอาราธนาศีลแบบรามัญ จบแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร ประธานฝ่ายสงฆ์ ปิดทองยอดฉัตร ผูกผ้าชมพู และคล้องมาลัยฉัตร แล้วประกอบพิธียกฉัตร จนครบทั้ง 4 ทิศ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำ รับพร เป็นอันเสร็จพิธี

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหาร เดิมชื่อ วัดปากอ่าว เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อในภาษามอญว่า “เภี่ยมุเกี๊ยะเติ้ง” หมายความว่า วัดหัวแหลม เป็นวัดเก่าแก่ที่ถูกทิ้งร้างหลังจากคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปี 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนที่เกาะเกร็ด พระสุเมธาจารย์ (เถ้า) พระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายรามัญได้รวบรวมผู้มีจิตศรัทธาสร้างเจดีย์ทรงรามัญ รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ขึ้น และท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้

จวบจนในปี 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดกฐิน ณ วัดปากอ่าว โดยได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณวัดซึ่งเสนาสนะต่างชำรุดทรุดโทรมและบางส่วนปรักหักพัง จึงทรงอนุสรณ์รำลึกนึกถึง สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งวัดโดยรักษารูปแบบมอญไว้

เพื่อถวายเป็นพระกุศลสนองพระคุณ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ และได้พระราชทานนามวัดว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” ซึ่งมีความหมายว่า วัดของพระบรมอัยยิกา ปัจจุบันมี พระครูพิพิธเจติยาภิบาล (บัวทอง ถาวโร) ป.ธ.5 เป็นเจ้าอาวาส






“วัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ได้ดำเนินการบูรณะฉัตรยอดสีมาจตุรทิศ ซึ่งเป็นฉัตรเดิมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีผูกสีมาขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2427 จนแล้วเสร็จ และได้รับพระกรุณาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจิมเพื่อความเป็นสวัสติมงคลแล้ว จึงได้กำหนดจัดพิธียกฉัตรยอดเจดีย์สีมาจตุรทิศขึ้น ซึ่งวันนี้ พระครูพิพิธเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหาร ได้เชิญชวนอุบาสกอุบาสิกา ผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันบูรณะพระอารามวัดปรมัยยิกาวาส วรวิหารแห่งนี้

อันถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างศูนย์รวมให้เกิดความรู้รักสามัคคีขึ้นในชุมชน ได้พร้อมใจกันร่วมประกอบพิธียกฉัตรขึ้นสู่พระอุโบสถ มีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ อันเป็นฤกษ์งามยามดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปีการฉลองพระอาราม และเป็นการบูรณะในรอบ 30 ปี ซึ่งทุกท่านได้มาร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาปฏิบัติบูชาเพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา

เพื่อให้พระอุโบสถแห่งนี้ เป็นมงคลสถานที่ในการประกอบศาสนกิจของพระเถรานุเถระ ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนพื้นที่เกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมวิถีมอญ ให้คงอยู่คู่กับชุมชนแห่งนี้ ดำรงคงอยู่ให้กับลูกหลานของเราสืบไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม






นายสุทธิพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน มาร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของพุทธศาสนิกชนคนไทย ด้วยการทำปฏิบัติบูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสำคัญทางศาสนา โดยการเชิญชวนครอบครัวลูกหลานมาเข้าวัด ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำบุญตักบาตร ปลูกต้นไม้ ปล่อยปลา ทำกิจกรรมจิตอาสา สร้างการมีส่วนร่วมในการทำสิ่งที่ดี สร้างเสริมความรักสามัคคี พร้อมถ่ายทอดไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้น้อมนำเอาหลักศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งสำคัญคือผู้นำทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายสงฆ์ที่จะต้องช่วยกันสืบสาน รักษา และต่อยอด พร้อมถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามสู่เยาวชนคนรุ่นใหม่

ด้วยการทำให้ส่งเสริมวัดแห่งนี้ได้เป็นสถานที่ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนตลอดจนเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ เป็นสัปปายะสถานสำหรับประชาชน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือในรูปแบบของพลัง “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ ส่งเสริมสิ่งที่ดีในชีวิต ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมหลักการพึ่งพาตนเอง ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อทุกคนในสังคมปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีก็จะทำให้สังคมดี คนในสังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนำไปสู่ความสงบสุขของประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป





ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/politics/news_4530759
วันที่ 17 เมษายน 2567 - 23:40 น.
หน้า: [1] 2 3 ... 708