ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ศีล สมาธิ ปัญญา ของอริยบุคคล ต่างกันอย่างไร  (อ่าน 3177 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28472
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ 
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

 
เสขสูตรที่ ๒

ตรัสแสดงว่า พระโสดาบัน  เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา แต่ก็อาจต้องอาบัติเล็กน้อยได้ มี   ๓ ประเภท คือ   เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓ จึงจะท่องเที่ยวไปในเทพและมนุษย์อย่างมากเพียง ๗ ครั้งก็ทำที่สุดทุกข์ได้,   ท่องเที่ยวไปสู่ ๒ - ๓ สกุล     ( ๒ - ๓ ชาติ ) ก็ทำที่สุดทุกข์ได้,  เกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งเดียวก็ทำที่สุดทุกข์ได้.

ทรงแสดง พระสกทคามี  พิเศษออกไปว่า เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๓  และเพราะมีราคะ โทสะ โมหะน้อยลง(กว่าพระโสดาบัน) จึงจะมาสู่โลกนี้ เพียงครั้งเดียวแล้วทำที่สุดทุกข์ได้.

ทรงแสดง พระอนาคามี ว่าทำให้บริบูรณ์ในศีล ,ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ, ทำพอประมาณในปัญญา  เพราะสิ้นสัญโญชน์ ๕ ( เพิ่มการละกามราคะ  ความกำหนัดในกาม และปฏิฆะ ความขัดใจ รวมเป็นข้อที่ ๔ และที่ ๕) จึงเป็นพระอนาคามีประเภทใดประเภทหนึ่งใน ๕ ประเภท คือ   

๑. อุทธังโสโต   อกนิฏฐคามี (ผู้มีกระแสในเบื้องบน ไปสู่อกนิฏฐภพ)   
๒. สสังขารปรินิพพานยี (ดับกิเลสในภพที่เกิด ต้องใช้ความพยายาม   
๓. อสังขารปรินิพพานยี (ดับกิเลสในภพที่เกิดโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม)   
๔. อุปหัจจปรินิพพานยี (มีอายุเกินกึ่ง จึงดับกิเลส คำว่า ดับกิเลส หมายถึงบรรลุอรหัตตผล เพ่งถึงกิเลสปรินิพพาน อนึ่ง คำอธิบายของอรรถกถาอังคุตตรนิกาย ตรงนี้คำบาลีเคลื่อนคลาด อาจทำให้ตีความหมายผิด )   
๕. อัตราปรินิพพายี (มีอายุไม่ถึงกึ่งดับกิเลสได้).


แล้วตรัสแสดงถึง ท่านผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ(พระอรหันต์) ว่าเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล , สมาธิ, และปัญญา.   

ตรัสอธิบาย การมีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ว่าเป็นอธิศีลสิกขา,
             การเจริญฌาน ๔ ว่าเป็นอธิจิตตสิกขา ,
             การรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริงว่าเป็นอธิปัญญาสิกขา.   


อีกนัยหนึ่งทรงแสดง การทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ว่าเป็นอธิปัญญาสิกขา.



อ้างอิง พระไตรปิฎก ฉบับประชาชน โดย อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ
http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prasuttanta/12.4.html
ขอบคุณภาพจากwww.bloggang.com,http://buddha.dmc.tv
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28472
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศีล สมาธิ ปัญญา ของอริยบุคคล ต่างกันอย่างไร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 19, 2011, 02:13:48 pm »
0

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ 
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

 
เสขสูตรที่ ๒

             [๕๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้ มาสู่อุเทศ
ทุกกึ่งเดือน ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาประโยชน์ศึกษากันอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลายสิกขา ๓ นี้
ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด สิกขา ๓ นั้นเป็นไฉน คือ

อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓นี้แล  ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้
แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และเป็นผู้มีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

เธอเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป
เป็นผู้มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณ
ในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้างย่อมออกจากอาบัติบ้าง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้นสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

เธอเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ และโมหะเบาบาง จะมายังโลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญาเธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้ แต่สิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

เธอเป็นผู้ผุดขึ้นเกิด จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ หมดสิ้นไป



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และมีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำได้เพียงบางส่วน ย่อมให้สำเร็จบางส่วน ผู้ทำให้บริบูรณ์ ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสิกขาบททั้งหลายว่า ไม่เป็นหมันเลย ฯ



อ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  บรรทัดที่ ๖๑๒๓ - ๖๑๖๐.  หน้าที่  ๒๖๑ - ๒๖๓.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=6123&Z=6160&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=526
ขอบคุณภาพจากhttp://picdb.thaimisc.com,www.kalyanamitra.org

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ