ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อุบายชนะกามคุณ ของอริยสงฆ์  (อ่าน 53114 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28447
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
อุบายชนะกามคุณ ของอริยสงฆ์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 17, 2011, 08:41:51 am »
0
อุบายชนะกามคุณ ของอริยสงฆ์

กาม ความใคร่, ความอยาก, ความปรารถนา, สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่, กามมี ๒ คือ
๑.กิเลสกาม กิเลสที่ทำให้ใคร่
๒.วัตถุกาม วัตถุอันน่าใคร่ ได้แก่กามคุณ ๕

กามคุณ ๕ (ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม)
๑. รูปะ (รูป)
๒. สัททะ (เสียง)
๓. คันธะ (กลิ่น)
๔. รสะ (รส)
๕. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย)

๕ อย่างนี้ เฉพาะส่วนที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เรียกว่า กามคุณ

กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น, ความพอใจในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (นิวรณ์ข้อ ๑)

กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม, ความอยากได้กาม เป็นอย่างหนึ่งในตัณหา ๓ 

กามภพ ที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม, โลกเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสพกาม ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษยโลก และสวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงชั้นปรนิมมิตสวัตดีรวมเป็น ๑๑ ชั้น

กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม, ความใคร่กาม

ที่มา  พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม และฉบับประมวลศัพท์ (ป.อ.ปยุตโต)



พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
คังคมาลชาดก


กามทั้งหลายเกิดจากความดำริ
[๑๑๕๕]    แผ่นดินร้อนเหมือนถ่านไฟ ดาดาษไปด้วยทรายอันร้อนเหมือนเถ้ารึง
เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้ายังทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ขับเพลงอยู่ได้ แดดไม่เผาเจ้า
ดอกหรือ? เบื้องบนก็ร้อน เบื้องล่างก็ร้อน เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้ายังทำ
เป็นทองไม่รู้ร้อน ขับเพลงอยู่ได้ แดดไม่เผาเจ้าดอกหรือ?


[๑๑๕๖]    ข้าแต่พระราชา แดดหาเผาข้าพระองค์ไม่ แต่ว่าวัตถุกาม และกิเลสกาม
ย่อมเผาข้าพระองค์ เพราะว่าความประสงค์หลายๆ อย่าง มีอยู่ ความ
ประสงค์เหล่านั้นย่อมเผาข้าพระองค์  แดดหาได้เผาข้าพระองค์ไม่.

[๑๑๕๗]    ดูกรกาม เราได้เห็นมูลรากของเจ้าแล้ว เจ้าเกิดจากความดำริ เราจักไม่
ดำริถึงเจ้าอีกละ เจ้าจักไม่เกิดด้วยอาการอย่างนี้.


[๑๑๕๘]    กามแม้น้อยก็ไม่พอแก่มหาชน มหาชนย่อมไม่อิ่มด้วยกามแม้มาก น่า
สลดใจที่พวกคนพาลพากันบ่นว่า รูป เสียง เหล่านี้จงมีแก่เรา กุลบุตร
ผู้ประกอบความเพียร พึงเว้นให้ขาดเถิด.

อ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗  บรรทัดที่ ๔๙๑๐ - ๔๙๓๗.  หน้าที่  ๒๒๘ - ๒๒๙.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=4910&Z=4937&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถาชาดกนี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1155




อุบายชนะกามคุณ ของ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
วัดดอยเเม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

... หลวงปู่ว้าวุ่นใจเป็นอย่างยิ่ง จิตที่เคยควบคุมบังคับให้สงบนิ่งได้ก็เกิดปรวนแปรไป ความคิดคำนึงคอยแต่จะโลดแล่นซัดส่ายไปหาหญิงงามอย่างเดียว ทำให้หลวงปู่แหวนเกิดความหวาดกลัวตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ขืนอยู่ต่อไปอาจจะพ่ายแพ้ต่อกิเลสเมื่อไหร่ก็ได้

ดังนั้น หลวง ปู่แหวนจึงตัดสินใจเก็บบริขารทั้งหลายเดินทางกลับประเทศไทยอย่างฉับพลัน ทันที เมื่อข้ามแม่น้ำโขงสู่ผืนแผ่นดินมาตุภูมิแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นไปทางอำเภอศรี เชียงใหม่ ระหว่างเดินทางหนี "มาตุคาม" ซึ่งเป็นเนื้อคู่บุพเพสันนิวาสมาแต่ชาติปางก่อน จิตใจของหลวงปู่ยังโลดแล่นไปหาสาวงามเกือบตลอดเวลา เป็นความรู้สึกที่ฟุ้งซ่านที่รุนแรงร้ายกาจสุดพรรณนาทีเดียว

หลวงปู่แหวนเดินทางมาถึงพระบาทเนินกุ่ม หินหมากเป้ง จึงหยุดยั้งอบรมตนอยู่ ณ ที่นี้ และก็เป็นวาสนาของหลวงปู่ที่ได้พบกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่แหวนมีปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับท่านอาจารย์ใหญ่ การได้มาพักอบรมตนอยู่ใกล้กับท่านพระอาจารย์มั่นก่อนเข้าพรรษาปีนั้น ทำให้หลวงปู่แหวนระงับความฟุ้งซ่านลงได้ไม่น้อย

แม้ กระนั้นภาพของหญิงงามก็ยังปรากฏเป็นครั้งคราว ทำให้ดวงจิตหวั่นไหวอยู่เสมอ แต่เมื่อเร่งภาวนายิ่งขึ้นภาพนั้นก็สงบระงับไป หากพลั้งเผลอเมื่อใดภาพสาวงามก็จะผุดขึ้นมาอีก

หลัง จากเข้าพรรษาแล้ว หลวงปู่แหวนได้ตั้งใจปรารภความเพียรอย่างหนัก การเร่งความเพียรอย่างเต็มที่ทำให้จิตสงบอย่างรวดเร็ว ทรงตัวสู่ฐานสมาธิได้ง่าย ไม่วุ่นวายฟุ้งซ่านอีก คล้ายกับจิตมันยอมสยบราบคาบแล้ว และเกิดอุบายทางปัญญาพอสมควร

แต่ หลวงปู่หารู้ไม่ว่า ยิ่งเร่งความเพียรเอาจริงเอาจังหนักขึ้นเท่าใด กิเลสที่แสร้งสงบนิ่งก็เริ่มต่อต้านเอาจริงเอาจังมากขึ้นเท่านั้น คราวนี้แทนที่จะควบคุมจิตให้ดำเนินไปตามทางที่ต้องการ มันกลับเตลิดโลดแล่นไปหา "สาวงาม" ที่บ้านนาสอง ริมฝั่งแม่น้ำงึมอีก และครั้งนี้พลังของกิเลสดูจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
หลวงปู่แหวนพยายามหาอุบายธรรมต่างๆ มาปราบเจ้าตัวกิเลสที่ฟูขึ้นมา แต่ไม่สำเร็จ หลวงปู่เล่าว่า

" ยิ่งเร่งความเพียร ดูเหมือนเอาเชื้อไปใส่ไฟ ยิ่งกำเริบหนักเข้าไปอีก เผลอไม่ได้เป็นต้องไปหาหญิงนั้นทันที บางครั้งมันหนีออกไปซึ่งๆ หน้า คือขณะที่คิดอุบายการพิจาณาอยู่นั้นเอง (จิต) มันก็วิ่งออกไปหาหญิงนั้นซึ่งๆ หน้ากันเลยทีเดียว"

โอ... "มาตุคาม" นี้อันตรายนัก และหากเป็นบุพกรรมอันผูกพันร้อยรัดอยู่ด้วยบุพเพสันนิวาสเข้าไปอีก การเอาชนะเพื่อยุติกรรมยิ่งลำบากยากเข็ญเป็นที่สุด"

หลวงปู่แหวน ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อพลังกิเลสกองนี้โดยเด็ดขาด อุบายการปฏิบัติธรรมทุกอย่างถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับกิเลสมารสุดชีวิต เช่น เว้น การนอนเสีย มีเฉพาะอิริยาบถนั่ง เดิน ยืน เท่านั้น หลวงปู่แหวนทรมานจิตมันอยู่หลายวันหลายคืน พร้อมกันนั้นก็พิจารณาดูว่าจิตยอมอยู่ใต้บังคับหรือไม่ มันคลายความรักต่อหญิงงามคนนั้นหรือไม่ ทำถึงอย่างนี้แล้วกลับไม่ได้ผล เพราะเผลอเมื่อไหร่ จิตมันจะโลดทะยานไปหาหญิงนั้นอีก


เอาใหม่...เมื่อจิตมันยังรัดรึงอยู่กับ "มาตุคาม" ไม่ยอมปล่อย ยอมคลาย หลวงปู่จึงตัดอิริยาบถนั่งกับนอนทิ้งไป เหลือยืนกับเดินจงกรม กระทำความเพียรเช่นนี้ทั้งวันทั้งคืน
แต่จิตมันก็ยังแส่ส่ายไปหาหญิงงามไม่ยอมหยุด ยิ่งทรมานมันมากเท่าไหร่ ดูเหมือนว่ามันจะดื้อรั้นโต้ตอบมากเท่านั้น

คราวนี้เปลี่ยนวิธีใหม่อีก... ไม่ ฉันอาหารมันล่ะ เหลือแต่น้ำอย่างเดียว ถ้าจิตมันยังดื้อถือดี ยังทะยานเข้าหากองกิเลสไม่ยอมเลิกรา หลวงปู่ตั้งเจตนาว่า ตายเป็นตาย ให้มันรู้ไปว่าจิตได้พ่ายแพ้แก่อำนาจกิเลสอย่างราบคาบแล้ว


หลวง ปู่แหวนเพ่งพิจารณาหาอุบายกำราบจิตใหม่โดยการเพ่งเอาร่างกายของหญิงงามนั้น ยกขึ้นมาแล้วพิจารณากายคตาสติ แยกอาการ ๓๒ นั้นทีละส่วน โดยอนุโลม ปฏิโลมเทียบเข้าหากายของตน พิจารณาละเอียดให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อวัยวะแต่ละส่วนของหญิงนั้นก็มีเหมือนกันทุกอย่าง จะผิดแผกแตกต่างกันก็ด้วยลักษณะแห่งเพศเท่านั้น

หลวงปู่ทรงสมาธิแล้วพิจารณาอยู่เช่นนั้นกลับไปกลับมา ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญญาพิจารณา "กายคตาสติ" ไปจนถึงหนังถ้าถลกหนังที่ห่อหุ้มเนื้อออกจนหมด ความจริงก็ปรากฏทันที

นั่นคือ เนื้อ กายซึ่งปราศจากผิวหนังห่อหุ้มอยู่ย่อมีสภาพที่ไม่น่าดู หรือ ดูไม่ได้เอาเสียเลย เพราะเหลือแต่เนื้อแดง ๆ เยิ้มด้วยน้ำเหลือง มีเส้นเลือดผุดพราวไปทั่ว "ตัวรู้" ก็บอกว่าหากหญิงงามไม่มีหนังหุ้ม เหลือแต่เนื้อแดง ๆ ใครเล่าจะพิศวาสได้ลงคอ

อ้อ... คนเรามา "หลง" อยู่ตรง "หนัง" นี่เอง

ปัญญา เพ่งพินิจต่อไปอีกจนเห็นความเน่าเปื่อยแล้วก็สลายกาย เป็นกองเนื้อเน่า ๆ และกองกระดูกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรตั้งอยู่ทรงสภาพเดิมไว้ได้อีก ไม่มีส่วนไหนจะคงอยู่ได้เลย


ปัญญา เพ่งต่อไปถึง มูตร (ปัสสาวะ) และ กรีษ (อุจจาระ) ของหญิงงาม ปัญญาก็ตั้งคำถามอีกว่า ที่หญิงงาม น่ารัก น่าพิศวาสนั้น มูตรกับกรีษงามด้วยหรือเปล่า กินได้ไหม เอามาตระกองกอดได้ไหม "จิต" ตอบว่า "ไม่ได้"

ปัญญาก็ตั้งคำถามอีกว่า เมื่อกินไม่ได้ เอามาตระกองกอดไม่ได้ แล้วอันไหนล่ะที่ว่างาม อันไหนที่ว่าดี
จิตโดนปัญญาซักฟอกอย่างหนักเช่นนั้นก็ตอบไม่ได้ หาเหตุผลมาโต้แย้งไม่ได้ จิตมันก็อ่อนลงเพราะจนด้วยเหตุผลของปัญญา ก็ต้องยอมรับความเป็นจริง ยอมสารภาพผิดแต่โดยดี


จิตซึ่งเคยโลดแล่นแส่ส่ายออกไปตามวิสัยความอยากของมันก็พลันถึงความสงบ ไม่กำเริบร้อนเร่าอีก
หลวงปู่แหวนยังไม่วางใจจิตนัก ท่านจึงทดสอบโดยส่งจิตไปหาหญิงงามบ้านนาสอง ริมฝั่งแม่น้ำงึมหลายครั้ง
แต่จิตก็ไม่ยอมโลดแล่นไปอีก จิตคงทรงอยู่ในความสงบเพราะได้เห็นความเป็นจริงของธรรมแล้ว

การอด อาหาร และทำความเพียรอย่างยิ่งยวด เพื่อเอาชนะกิเลสมารของหลวงปู่แหวนครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ จิตของท่านรู้แจ้งเห็นจริงในภัยของมาตุคาม อย่างทะลุปรุโปร่งและสิ้นพยศตั้งแต่นั้น...ตลอดไป




อุบายชนะกามคุณ ของ หลวงปู่หลุย จันทสาโร
วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย

รอยกรรมอันเนื่องมาจากบุพเพสันนิวาส
" ภิกษุ" หมายถึง ชายผู้ได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้มองเห็นภัยในสังขารหรือผู้ทำลายกิเลส มีพระธรรมวินัยควบคุม กาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกรอบสมณะธรรม เพื่อปฏิบัติจิตให้เกิดสมาธิ ปัญญา กระทั่งหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลายได้สำเร็จเด็ดขาด ไม่ย้อนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีก


การ ต่อสู้ห้ำหั่นเพื่อประหารกิเลสให้หมดสิ้น เป็นภาวะอันหนักหนาแสนสาหัสสุดยอด ต้องอาศัยความตั้งใจมั่น มีความมั่นคงแน่วแน่ และมีความเพียรพยายามอย่างถึงที่สุด
กิเลส ทั้งหลายที่ภิกษุจะเอาชนะได้ยากที่สุด ลำบากยากเข็ญที่สุด กว่าจะหลุดพ้นไปได้อย่างสำเร็จเด็ดขาด คือกิเลสอันเนื่องจากมาตุคาม หรือ ผู้หญิงนี่แหละ

มี พระภิกษุไม่ว่าจะอยู่ในสมัยพุทธกาล หรือสมัยปัจจุบัน ได้พ่ายแพ้ให้แก่ ภัยมาตุคามมาแล้วมากมาย ด้วยเหตุนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้กำหนดพระวินัยเอาไว้โดยละเอียด เพื่อภิกษุทั้งหลายจะได้พึงสังวรระมัดระวัง และตัดขาดจากมหาภัยนี้ได้สำเร็จ

อัน ที่จริง ใช่ว่ามาตุคามจะคอยจ้องทำลายพรหมจรรย์แห่งสมณะเพศก็หาไม่ หากเป็นกิเลสกามที่ซับซ่านอยู่ในกมลสันดานของสัตว์โลก เป็นตัวผลักด้นให้อารมณ์เตลิด โลดเถลิงไปกับอำนาจของมันเป็นสำคัญ
อีกประการหนึ่ง เนื่อง จากอดีตกรรมที่เคยกระทำมาในบุพชาติ โดยเฉพาะในข้อ บุพเพสันนิวาส การเคยเป็นเนื้อคู่กัน การเคยอยู่ร่วมกันในชาติก่อน ดังนั้น เมื่อใดที่บุพเพสันนิวาสเวียนวนมาปรากฏ พลังอำนาจแห่งกิเลสกามก็จะหนุนเนื่องตามมาอย่างน่ากลัวเป็นพลังอันรุนแรง เกรี้ยวกราดยากยิ่งที่จะต้านทานไว้ได้

รอย กรรมอันเนื่องด้วย บุพเพสันนิวาสเช่นนี้ พระอริยเจ้าหลายรูป เคยประสบพบพานมาแล้วขณะที่ท่านกำลังบำเพ็ญความเพียรเพื่อก้าวข้ามห้วงแห่ง โอฆะด้วยวิริยะบากบั่นอย่างถึงที่สุด
ดังเช่น จะขออัญเชิญเรื่องของพระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทสาโร วาระที่ท่านเผชิญกับรอยกรรมแห่งบุพเพสันนิวาส ดังต่อไปนี้


ครั้ง นั้น... หลวงปู่หลุย จันทสาโรไปร่วมงานพิธีบรรจุอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ ไว้ในเจดีย์ ณ บริเวณวัดพระบาทบัวบก ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี จากนั้นหลวงปู่หลุยก็ออกธุดงค์วิเวกมาทางจังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์

ในอดีตสมัยนั้น เส้นทางธุดงค์ผ่านจังหวัดเลยเชื่อต่อเพชรบูรณ์ยังสมบูรณ์ด้วยป่าไม้แน่นขนัด เทือกทิวแห่งภูเขาสลับซับซ้อนเหยียดยาวไปจนสุดสายตา สงบงามท่ามกลางบรรยากาศอันวิเวก นับเป็นสถานสัปปายะอย่างยิ่งของพระธุดงคกรรมฐานผู้ซึ่งกำลังกำลังพากเพียร บำเพ็ญสมณะธรรม

หลวง ปู่หลุยจาริกธุดงค์มาถึงหล่มสัก ได้แวะโปรดญาติโยมที่นี่ เนื่องจากที่หล่มสักนี้เป็นพื้นเพภูมิลำเนาดั้งเดิมของโยมมารดาและยังมีญาติ พี่น้องซึ่งคุ้นเคยกันอยู่จำนวนมาก
เมื่อ ท่านถึงหล่มสักแล้ว พอดีกับบ้านญาติผู้หนึ่งมีผู้เสียชีวิตและได้จัดงานศพขึ้นที่บ้าน มีการนิมนต์พระไปสวดมนต์หน้าศพตามประเพณี หลวงปู่หลุยก็ได้รับนิมนต์ไปสวดมนต์งานศพที่บ้านนั้นด้วย

เมื่อถึงกำหนดเวลาไปสวดงานศพ หลวงปู่หลุยก็ไปที่บ้านงานศพตามที่ได้รับนิมนต์ และขึ้นนั่งบนอาสนะเรียงลำดับตามพรรษากับพระรูปอื่นซึ่งรับนิมนต์ไปเช่นกัน โดยมีท่านพระอาจารย์ได้เวลาสวดมนต์ หลวงปู่หลุยก็สวดด้วยจิตสงบจดจ่ออยู่กับบทสวด กระทั่งผ่านไปจบหนึ่ง ระหว่างพักสวดเจ้าภาพได้นำน้ำปานะมาถวายพระแก้คอแห้ง

ขณะ นั้น หลวงปู่หลุยได้ชำเลืองตามองไปที่กลุ่มแขกซึ่งมานั่งฟังสวดมนต์โดยมิได้ ตั้งใจ ในพลันที่ท่านสบตากับสุภาพสตรีท่านหนึ่งซึ่งนั่งรวมอยู่ในหมู่คนกลุ่มนั้น ท่านมีความรู้สึกแปล๊บเข้าไปในหัวใจ ดุจสายฟ้าฟาดเข้าให้แทบสิ้นสติสมประดีถึงกับซวนเซประหนึ่งจะล้มฟุบอยู่ตรงนั้น

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งรับนิมนต์มาเช่นกันนั่งใกล้กับท่าน
สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เห็นอาการเช่นนั้นของหลวงปู่หลุยก็เข้าประคองไว้ทันท่วงที กล่าวให้สติประหนึ่งกำหนดรู้อาการเช่นนั้นว่ามีสาเหตุเนื่องมาจากอะไร


ทาง ฝ่ายท่านสุภาพสตรีผู้นั้น ดูเหมือนจะมีอาการหนักหนาสาหัสยิ่งกว่า เพราะเธอถึงกับฟุบเป็นลมคาที่ มารดาและญาติผู้ใหญ่ต้องเข้ามาประคองและช่วยปฐมพยาบาลกันชุลมุน

ความรู้สึกอันรุนแรงเกรี้ยวกราดที่ผุดวูบขึ้นมาอย่างกะทันหันอย่างทันทีทันใดนั้น เป็นความรู้สึกเช่นเดียวกับที่ชาวโลกเรียกกันว่า "รักแรกพบ" แต่ดูจะมีอานุภาพเชี่ยวกรากน่ากลัวเหลือประมาณ
แม้ หลังจากกลับจากงานสวดมนต์แล้ว จิตของหลวงปู่หลุยก็ยังไม่หายสั่นสะเทือน มีความปราถนาอยากลาสิกขาบท แล้วโลดแล่นติดตามไปครองคู่อยู่เคียงกับสตรีท่านนั้นเพียงอย่างเดียว


หาก บุญบารมีในเพศพรหมจรรย์ของหลวงปู่ยังมีอยู่ ทำให้ท่านพยายามเหนี่ยวรั้งใจเอาไว้เต็มเหนี่ยว แต่แทบสุดจะฝืนสุดจะกล้ำกลืนเอาไว้ได้เหมือนกัน อีกทั้งยังมีพระอาจารย์สิงห์คอยกำกับประคับประคองอยู่เคียงข้าง ให้สติ ให้แนวทางแห่งการหลุดพ้นภัยมาตุคามครั้งนี้ตลอดเวลา

สำหรับกรณีรอยกรรมจากบุพเพสันนิวาสนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาโม เคยมีส่วนรู้เห็นและให้ความช่วยเหลือแนะนำแก่สหายธรรมิกรูปหนึ่งมาแล้ว คือ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร คราว นั้น พระอาจารย์ฝั้นและพระอาจารย์สิงห์อยู่กรุงเทพ ฯ พระอาจารย์ฝั้นพบสุภาพสตรีท่านหนึ่งนั่งสามล้อสวนทางมา เพียงตาสบตารู้สึกปล๊าปไปทั้งตัวแทบจะวิ่งตามเขาไป

ดี แต่ว่าท่านพระอาจารย์สิงห์ให้สติ และแนะนำให้ขังตัวเองไว้ในโบสถ์ พิจารณาดับความรู้สึกนึกคิดในทางโลกด้วยการเจริญอสุภะกระทั่งสามารถตัด อารมณ์ทุรนทุรายได้สำเร็จเด็ดขาด ซึ่งก็นับว่าเป็นภาวะหนักหนาสาหัสเหลือประมาณ

ใน ครั้งนั้น ท่านพระอาจารย์ฝั้น พิจารณาลงไปก็ได้ความว่าเนื่องด้วยบุพเพสันนิวาส เคยเป็นคู่กันมาแต่บุพชาติ หากแต่บุญบารมีในสมณะธรรมยังเกื้อหนุนอยู่ พระอาจาย์ฝั้นจึงรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้อย่างหวุดหวิด
ในกรณีท่านพระอาจารย์ฝั้นนั้น เป็นการพบกันเพียงวูบเดียว ครั้งเดียวแล้วก็จากกันไป สุภาพสตรีท่านนั้นจะเป็นใคร อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้


แต่สำหรับ กรณีหลวงปู่หลุยหนักหนาสาหัสกว่า เพราะตัวท่านกับสุภาพสตรีคนดังกล่าวมีโอกาสพบกันอีกหลายครั้ง ญาติผู้ใหญ่ของท่านทั้งสองฝ่ายก็สนิทกันประดุจญาติ
และ ตัวท่านกับสุภาพสตรีท่านนี้ก็อาจเคยพบกันมาแล้วตั้งแต่เด็กๆ เพียงแต่ฝ่ายหญิงถูกส่งไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เล็กๆ มาพบกันอีกครั้งคือครั้งนี้ หลวงปู่หลุยได้เข้าสู่เพศพรหมจรรย์เป็นบรรพชิตไปแล้ว

สำหรับ ท่านสุภาพสตรี เมื่อไปอยู่กรุงเทพฯ ได้เข้าเรียนจนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนสตรีมีชื่อภาษาต่างประเทศ โรงเรียนหนึ่ง นานๆ ครั้งจึงจะกลับมาเยี่ยมบ้าน เมื่อมาเยี่ยมบ้านท่านจะมีบุคคลิกของสาวสมัยใหม่ เครื่องแต่งกายงดงามทันสมัย และชอบขี่ม้าเล่น ขี่ม้าเก่ง เวลาขี่ม้า ใส่ท๊อปบู๊ตดูสง่างามผิดไปจากสาวๆ พื้นบ้านท้องถิ่นนั้นกุลสตรีท่านนี้เป็นสาวสวย รูปร่างสวย หน้าสวย นัยน์ตาโตงาม ผมก็งาม เพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ คุณสมบัติ และทรัพย์สมบัติครบถ้วน


ใน ขณะที่หลวงปู่หลุย พะว้าพะวังจะลาจากเพศพรหมจรรย์เสียให้ได้ ท่านพระอาจารย์สิงห์เห็นอาการแล้วคงไม่ดีแน่ จึงรีบพาหลวงปู่ออกจากหล่มสัก พาหนีไปให้ไกลห่างสถานที่เกิดเหตุ เที่ยววิเวกตามป่าตามเขา เร่งกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ แม้กระทั่งอดนอน อดอาหารเพื่อผ่อนคลายคิดถึงมาตุคาม ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็สนับสนุนให้กระทำ

เมื่อ หลวงปู่หลุยพิจารณาอย่างหนัก ก็ได้นิมิตว่า สุภาพสตรีท่านนั้นเคยเป็นคู่บุพเพสันนิวาสกันมาแต่บุพชาติ ท่านพระอาจารย์สิงห์อธิบายเพิ่มเติมให้อีกว่า เธอผู้นั้นในอดีตชาติคงตั้งความปรารถนาบำเพ็ญบารมีคู่กันมา อานุภาพเมื่อสบตากันครั้งแรกจึงรุนแรงเกรี้ยวกราดถึงปานนั้น


แม้ หลวงปู่หลุยจะได้นิมิตแห่งรอยกรรมอันเนื่องด้วยบุพเพสันนิวาส ท่านก็ไม่ยอมสิโรราบ แล้วยอมรับชะตากรรมไปตามนั้น จิตใจมุ่งที่จะบำเพ็ญเพศพรหมจรรย์ต่อไป ทั้งๆ ที่หัวอกประหนึ่งจะกลัดหนอง
ใช้ มานะข่มขันธ์ เร่งกระทำความเพียร และยังมีท่านพระอาจารย์สิงห์คอยกำกับให้สติเป็นเวลาพอสมควร หลวงปู่หลุยจึงสามารถตัดขาดเยื่อใยแห่งบุพเพสันนิวาสจนขาดสะบั้น ไม่มีชาติภพจะสืบต่อไปอีกทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคตใด ๆ

ด้วย เหตุนี้ หลวงปู่หลุยจึงตะหนักถึงภัยมาตุคามที่มีต่อเพศพรหมจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อท่านเทศนาอบรมภิกษุสามเณรเกี่ยวกับมาตุคามและบุพเพสันนิวาสครั้งใด จะกล่าวย้ำกล่าวเตือนว่าต้องใช้กำลังใจอย่างสูงสุดจึงจะเอาชนะได้
นับแต่นั้น หลวงปู่หลุย จันทสาโส ก็ดำเนินไปตามวิถีแห่งสมณะธรรมโดยสว่างสงบ ตราบกระทั่งท่านละสังขารเป็นปริโยสาน


สำหรับ สุภาพสตรีอันเป็นรอยกรรมท่านนั้น เมื่อกลับมายังกรุงเทพมหานครแล้ว ท่านก็ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงด้วยอัจฉริยภาพอันโดดเด่น เป็นที่รู้จักชื่อเสียงของท่านในวงการผู้รักหนังสือร่วมสมัย และ...แม้แต่ในปัจจุบัน

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28447
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อุบายชนะกามคุณ ของอริยสงฆ์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 17, 2011, 08:56:08 am »
0

อุบายชนะกามคุณ ของ หลวงปู่หลอด ปโมทิโต 
วัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนานิคม) ลาดพร้าว บางกะปิ กรุงเทพฯ
 
……..ข้าพเจ้าก็เจอมารทางจิตใจอย่างสาหัส มันโถมกำลังย่ำยี จนข้าพเจ้าแทบป่นปี้ ตั้งตัวไม่ติด มารที่ว่าคือ กามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) เกิด ขึ้น ก่อกวนใจอย่างหนัก มีรูปและเสียงปรากฏทางนิมิตเสมอ จิตใจของข้าพเจ้าทุรนทุราย ร้อนรุ่ม อึดอัด หนักอึ้ง เป็นอาการที่แสนทรมาน เกือบจะเอาเพศบรรพชิตไปไม่ตลอด

แต่แล้วสติปัญญา (ปัญญาบารมี) ที่รับการอบรมมาจากครูอาจารย์ ก็ผุดมาช่วยแก้ปัญหา ประมาณเดือนหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าแสนทรมาน แต่แล้วก็ปลุกใจตนเองว่า
ปัญหาคือสิ่งที่ต้องแก้ อุปสรรคคือสิ่งที่ต้องสู้

เราจะหาวิธีแก้มัน สู้มันให้สมกับการเป็นลูกผู้ชาย เป็นไงก็เป็นกัน ฉันจะไม่ยอมสยบต่อมาร ว่าแล้วก็กำหนดหาวิธีแก้แบบอัตโนมัติ ตามแต่จะคิดได้
ครั้งแรกกำหนดหลักการว่า จะฉันให้น้อยพออยู่ได้ แต่จะเดินจงกรมทั้งวัน เพื่อเป็นการทรมานให้เมื่อยเพลีย จิตใจจะได้ไม่มีโอกาสคิดถึงรูปเสียง


... ขั้นตอนในการปฏิบัติคือ ฉันเช้าเสร็จ พอล้างบาตรเสร็จเรียบร้อย ก็เข้าห้องไหว้พระ ให้ใจสบาย พร้อม กับขอให้บารมีพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ได้ช่วยบันดาลให้จิตใจของข้าพเจ้าพบความเบา ความสว่าง ความสงบ ให้จิตได้คลายจากกามคุณทั้ง ๕ จากนั้นก็เข้าสู่ที่จงกรม

พอ ๓ โมงเช้าก็เริ่มเดินจงกรม เดินไปเดินมาอยู่อย่างนั้น จนถึง ๕ โมงเย็น ก็เลิกเดิน แล้วไปทำกิจวัตรประจำวัน ตั้งใจว่า ทำอยู่อย่างนั้น ถ้าครบ ๑๕ วันแล้วไม่ได้ผล ก็จะเปลี่ยนวิธีใหม่ ทำความเพียรเพื่อทรมานตนโดยไม่ยอมถอย แม้ว่าฝนจะตกแดดจะออกครบ ๑๕ วันแล้วก็ยังไม่ได้ผล กามคุณมิได้เพลาเลย แต่กลับยิ่งกำเริบ

ปัญญาบารมีช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากบ่วงมาร

ทรมานตนให้ลำบากครบ ๑๕ วันแล้ว กามคุณก็ยิ่งกำเริบ เลยนึกได้ว่า ทุกขกิริยานั้นมิใช่ทางประเสริฐ ฉะนั้น กิเลสจึงมิได้ลดละ ต่อไปนี้เราควรใช้ หลักสติปัฏฐานเข้าแก้ปัญหาดู

นั่นคือ จะคอยติดตามดูจิตอยู่ทุก ๆ ขณะจิต
คิดไปไหน เราจะตามกำหนดรู้จิตมันอยู่อย่างไร เราจะตั้งใจดูอาการอยู่ของจิต
ถ้ามันร้อน มันร้อนยังไง และมันร้อนเพราะอะไร
ถ้าจิตรู้สึกสบาย ก็จะกำหนดดูว่ามันสบายอย่างไง
จะ คอยควบคุมให้สติสัมปชัญญะอยู่กับจิตตลอดเวลาโดยไม่ลดละ ถ้ามันหาเรื่องหาราวที่เป็นทุกข์ใส่ตัว เราก็จะพยายามรู้ มันใฝ่ไปทางดี ทางเสีย เราก็ตาม
รู้

พอพยายามอยู่อย่างนั้นทุก ๆ ขณะ ได้ประมาณ ๓๐ นาที จิตเริ่มเบา เย็น สงบ ข้าพเจ้าอุทานในใจ ด้วยความดีใจว่า นี่ถูกวิธีแล้ว ๆ
จาก นั้นก็เกิดอาการภูมิใจ อิ่มใจ ปลื้มใจจนขนลุกขนชัน และก็ยิ่งมีกำลังใจ จึงตามดูจิตอย่างหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผลก็ยิ่งคืบหน้า คือจิตยิ่งสบาย ๆ จนในที่สุดก็ปกติเหมือนเมื่อครั้งก่อน ๆ มา

สำหรับ ข้าพเจ้าเอง เมื่อมีปัญหาทางจิต ก็ใช้แนวทางของสติปัฏฐานในการแก้ปัญหา และก็ได้ผลดีเสมอมา นี่คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับตนเอง
แต่นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ควรปลงใจเชื่อข้าพเจ้าทันที เพราะอุปนิสัยและบารมีของแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลจึงอาจจะแตกต่างกันไป


ถึงอย่างไรด้วยความหวังดีต่อกัน ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอแนะต่อผู้ปฏิบัติว่า เมื่อท่านเจอมารทางกาย หรือ มารทางใจก็ตาม
ท่านจงตั้งสติให้ดี อย่าให้หวั่นไหว อย่าให้สติรวน
จงควบคุม ความคิดของตัวเองให้มั่นคง อย่าให้หวั่นไหว อย่าให้คลอนแคลน
แล้วค่อย ๆ คิดหาวิธีแก้ปัญหานั้นด้วยความใจเย็น และให้สุขุมรอบคอบที่สุด
โดยเฉพาะต้องใช้ขันติและความฉลาดให้มากเป็นพิเศษ

เมื่อ กำหนดหลักการในการแก้ปัญหาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินการแก้ปัญหาตามหลักการที่กำหนดไว้นั้นด้วยความมีสัจจะที่แน่นอน และมั่นคงว่า จะทดลองแก้ปัญหานั้นตามหลักการนั้น ๆ สักกี่วันก็พยายามทำให้ได้ตามที่ตั้งใจ ถ้าไม่ได้ผลโดยวิธีปฏิบัติเช่นนั้น ท่านก็จะพบวิธีใดวิธีหนึ่งในใจของท่านเองจนได้ เพราะจิตที่ศึกษาสภาพ ย่อมจะเกิดการรู้ผลไปโดยอัตโนมัติ 


ที่ ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ก็โดยอาศัยหลักค่อยทำ ค่อยปฏิบัติ ค่อยติดตามดูจิตนั่นเอง เอาจิตศึกษาจิต แล้วก็เกิดความรู้สึกที่เป็นสภาวธรรม โดยผู้นั้นจะรู้ด้วยตนเองดีว่า สภาพจิตนั้นมันเป็นอย่างไร (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ)





ครั้งนั้น... ปี พ.ศ.๒๔๙๓ <>ท่านไปจำพรรษที่ถ้ำพวง อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
...ณ. ถ้ำพวงแห่งนี้ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ก็ได้เผชิญกับอันตรายจาก "มาตุคาม" อีก ครั้งหนึ่ง ซึ่งท่านได้เล่าให้บันทึกไว้เพื่อเป็นประโยชน์ เป็นสติ ปัญญาแก่พระภิกษุ สามเณรทั่วไป...

ข้อความที่ท่านให้บันทึกไว้มีดังนี้
..... อยู่ต่อมา ได้มีพวกญาติโยม พ่อออก แม่ออก สีกาสาวขึ้นไปเที่ยวชมถ้ำพวงมากขึ้น บางคนก็ไปส่งเสบียงอาหาร ญาติของสามเณรคนหนึ่งเป็นหญิงสาวไปส่งอาหารถวายพระทุกวัน เขาไม่ได้ส่งแค่อาหาร หากแต่ส่งสายตามาให้ด้วย ทำตาหวานหยาดเยิ้ม สายตาของเขา ลิด... ลิด

ลิด แรกๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร แต่มองตาหวานทุกวัน ๆ ก็เกิดความรักความยินดีในหญิงนั้น เห็นนัยน์ตาของเขาว่างาม ว่าสวย ความจริงเขาอาจจะมีกิริยาอ่อนหวาน ทำตาหวานเช่นนั้นเองตามประสาหญิงสาว แต่ตัวเราไปหมายนัยน์ตาของเขาเอง หลายวันเข้าจิตก็เกิดยินดีในสายตาของเขา

เวลา ภาวนาเคยพิจารณากระดูกของข้าพเจ้าเอง มองเห็นแจ่มชัด กำหนดลงไปทีไรก็เห็นกระดูกของเราชัดแจ้งอยู่ดังนั้น แต่คราวนี้ภาวนาไป พิจารณากรรมฐานไปกลับมองไม่เห็นกระดูกของเรา เห็น แต่สายตาของสีกามาซับซาบอยู่ในจิต เห็นแต่ความงามของรูปร่างหน้าตาของเขาลอยวนเวียนแทนหมด จิตไม่สงบ พยายามแก้ไขอย่างไรก็ไม่เป็นผล ภาวนาทีไรก็เห็นแต่ตาหวานของเขาทุกที จิตไปจดจ่ออยู่แต่สายตาลิด... ลิดๆ ของเขา

เผอิญ มีโยมผู้ชาย ๒ คน ขึ้นมาสนทนาด้วย คือ พ่อออกเล็กและพ่อออกนิลมาเล่าว่า มีคนมาฆ่าช้างตายอยู่ไม่ไกลนักและเวลานี้ เขากำลังเผาซากช้างนั้น ข้าพเจ้าจึงถามว่ามีกระดูกช้างเหลือบ้างไหม เขาตอบว่ามี จึงบอกเขาว่าจะขอกระดูกขาช้างสักท่อนหนึ่ง จะเอามาทำยาแก้โง่

เขา ก็รับคำและลาไปเอากระดูกช้างมาให้ ที่ซึ่งช้างตายนั้นอยู่ไม่ไกลจากถ้ำที่ข้าพเจ้าอยู่ ห่างกันเพียง ๓ เส้น ดังนั้นประเดี๋ยวเดียวโยมก็แบกกระดูกขาช้างกลับมาท่อนหนึ่ง ยาวสักศอกหนึ่งได้

ข้าพเจ้า จึงเอาฝ้ายมาพันทำเป็นเชือกร้อยกระดูกขาช้างท่อนนั้น แล้วก็เอาขึ้นมาแขวนคอตนเองไว้ แขวนไว้ตลอด เวลาเดินจงกรมก็แขวนไว้ที่คอ นั่งภาวนาก็แขวนไว้ที่คอ แขวนมันอยู่เช่นนั้นไม่ยอมถอดออก แล้ว ก็สอนตัวเองว่า "เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้นั่ง เอากระดูกมาแขวนคออย่างนี้แหละ ถ้าเธอภาวนาไม่เห็นร่างกระดูกไม่เห็นกระดูกในตนของตนแล้ว เราจะไม่ปลด ไม่เปลื้อง ไม่แก้ออกให้ แขวนมันอยู่อย่างนี้ ! รู้จักไหมกองกระดูก กระดูกภายนอก กระดูกภายในมันก็เหมือนกัน เราก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง"

ข้าพเจ้าเทศน์ให้มันฟัง มันอยากจิตไม่สงบ มัวแต่ไปหมายสายตาของเขาอยู่อย่างนั้นและเกิดอุบายว่า " ธรรมดาถ้าควายตัวไหนมันดื้อ มันด้านไปบุกรั้วเขา ไปเข้ากินพืชผักในสวนของเขา ไม่เชื่อฟังเจ้าของเขาก็จะต้องแขวนไม้ไว้ทรมานมัน... อย่างนี้แหละ เธอก็เหมือนกัน จิตมันดื้อมันด้านไปหมายสายตาของเขาว่าดี ว่าสวยอย่างนั้นอย่างนี้ เราจึงต้องเอากระดูกช้างมาแขวนคอแก้จิตดื้อด้านของตัวเองบ้าง เดินจงกรมก็แขวน นั่งภาวนาก็แขวน แขวนมันอยู่อย่างนั้น เว้นเสียแต่นอน ถ้าเธอไม่แก้ไขตัวเอง"

"ถ้าจิตเธอไม่สงบ ไม่ถอนจากสายตาของเขา เราเป็นไม่แก้ให้"

ข้าพเจ้าให้โอวาท ทรมานมัน บางทีเวลาฉันหมากบ้วนน้ำหมากไปถูกกระดูกช้างกระดูกก็แดงเหมือนเลือด ข้าพเจ้าแขวนกระดูกช้างไว้เช่นนั้น จนกระทั่งจิตสงบไม่มีความรู้สึกในสีกาคนนั้นอีกแล้ว จึงยอมถอดกระดูกนั้นออกจากคอ

ระหว่าง ที่ยังคงเอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรม นั่งภาวนานั่นแหละ วันหนึ่งท่านอาจารย์เพ็ง เตชะพโล มาเห็นข้าพเจ้าเอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรมภาวนา ท่านก็หัวเราะก้ากใหญ่เลย คงคิดว่าข้าพเจ้ามีสติวิปลาสไปแล้ว พอรุ่งเช้าลงไปบิณฑบาตท่านอาจารย์เพ็งจึงไปกราบเรียนหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่จำพรรษาอยู่ตีนเขาภูเหล็ก คือที่หวายสะนอยนั่นเองว่า
" ครูบาจวนเอากระดูกช้างมาแขวนคอเดินจงกรมและนั่งภาวนา และก็เคี้ยวหมากบ้วนน้ำหมากลงรดกระดูกช้างเป็นสีแดงจ้า ครูบาจวนทำอย่างนั้น เห็นจะเป็นบ้าไปแล้ว วิปริตไปเสียแล้ว"

หลวงปู่ขาว อนาลโยได้ฟังดังนั้น จึงได้นิ่งพิจารณาและตอบว่า
" ฮ้าย...ไม่ใช่เป็นคนบ้า ไม่ใช่คนวิปริตหรอก อันนี้เป็นอุบายของท่านต่างหาก ท่านคงมีเหตุจำเป็น จึงต้องใช้อุบายนี้ คนบ้าคงจะไม่ทำอย่างนี้ นี่เป็นอุบายสำหรับทรมานของท่านต่างหาก คงจะเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง เราควรคอยรอฟังกันไปก่อนอย่าเพิ่งเข้าใจว่าท่านเป็นบ้าเลย"


ครั้น ข้าพเจ้าจิตสงบเป็นปกติ จิตจืดจางจากสายตาหวานของหญิงสาวผู้นั้น การภาวนาก็ดี จึงเอากระดูกช้างออกจากคอ แล้ววันหนึ่งก็ไปกราบนมัสการหลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านก็ทักและถามว่า
"ท่านจวน ทำไมจึงเอากระดูกช้างไปแขวนคอเดินจงกรมและนั่งภาวนา"

ข้าพเจ้าก็เลยเรียนถวายท่านว่า " ขณะนั้นสีกาสาวที่บ้านโพนสว่าง เขามาส่งอาหารแทบทุกวัน เขามาส่งสายตาให้ทำตาหวานใส่ หลายวันเข้าก็ไปหมายสายตาของเขาทำให้จิตใจไม่สงบ ฉะนั้น กระผมจึงหาอุบาย เอากระดูกช้างมาแขวนคอเดินจงกรมและภาวนา เพื่อทรมานมัน

ตอนก่อนนั้นกระผมพิจารณากระดูกตัวเอง เห็นชัดเจน พอมาคิดถึงสายตาของสีกาสาวเข้า ทำให้ไม่สามารถพิจารณากระดูกของตัวเองได้ จึงเอากระดูกช้างซึ่งเป็นกระดูกสัตว์เหมือนกัน มาเป็นสักขีพยานแขวนคอภายนอก เพื่อน้อมเอากระดูกที่แขวนคออยู่ภายนอกและกระดูกที่แขวนคออยู่ภายในก็เป็น กระดูกสัตว์เหมือนกัน ทำไมท่านจึงไม่เห็น ถ้าท่านไม่เห็น เราก็ไม่แก้ออกให้

นี่ แหละท่านไปหมายเอาสายตาของเขา โบราณท่านว่า...เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้นั่ง กระดูกแขวนคอ ต่องแต่ง...ต่องแต่ง... อย่างนี้ และกระผมก็ได้อุบายสอนตนอีกว่า ธรรมดาควายตัวไหนมันห้าว มันคะนอง มันดื้อ มันดัน มันไปบุกรุก ทำลายเรือกสวนของคนอื่นเขา เขาต้องทรมานมัน เอาไม้ยาวๆ มาแขวนคอมันเพื่อให้มันละพยศอันร้าย เมื่อมันละพยศอันร้ายแล้วเขาจึงเอาไม้ออกจากคอมัน"

หลวงปู่ขาวท่านก็เลยย้อนถามว่า
"เมื่อท่านทำเช่นนี้แล้ว เป็นอย่างไรได้ผลไหม สงบไหม"

ข้าพเจ้าจึงเรียนท่านว่า
"ได้ผลครับ ได้ผลดี หายเลย จิตสงบดีแล้ว ผมจึงปลดออกแก้ออกจากคอคนเอง"

ท่านหัวเราะใหญ่ และชมว่า
"แหม... อุบายอย่างนี้ชอบกลนัก ดีมาก ผมยังคิดไม่ได้เลย เมื่อท่านเพ็งมาบอกผมว่า ท่านจวนเป็นบ้า
จิตวิปริต เอากระดูกช้างแขวนคอเดินจงกรมและนั่งภาวนา ผมก็ยังไม่เชื่อ อุบายอย่างนี้แปลกประหลาดจริงๆ ดีนัก ได้ผลดี!"





อุบายดูจิตพิชิตกามคุณ
โดย พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช
วัดสวนสันติธรรม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

หลายวันก่อน มีเมล์ถามปัญหาเกี่ยวกับกามราคะ โดยผู้ถามอยากจะถามในกระทู้ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาแต่ไม่กล้าถาม ได้อ่านด้วย ผมจึงรับอาสามาตั้งกระทู้ตอบให้เสียเอง เพราะผู้ถามเป็นผู้หญิง

ประเด็นของเธอก็คือ เธอสังเกตเห็นว่า เมื่อมีโทสะแล้ว มักจะพบกามราคะตามมาเสมอ โทสะนั้นเธอคิดว่าพอสู้ได้ แต่กามราคะ ยังเป็นสิ่งที่เธอพ่ายแพ้ จึงอยากทราบวิธีการในการต่อสู้กับกามราคะ

ความจริงแล้ว กามราคะและโทสะนั้น เหมือนคนละด้านของเหรียญอันเดียวกัน เช่น ในเวลาที่เกิดความต้องการทางเพศ แต่ไม่รู้ว่ามีกามราคะแล้ว และกดข่มไว้ โดยไม่รู้ทันว่าได้กดข่มไว้ จิตก็จะพลิกไปเป็นโทสะจิต เหมือนเด็กโยเยเพราะไม่ได้ของเล่นที่ชอบใจ ครั้นโทสะจิตผ่านไปแล้ว กามราคะก็แสดงตัวชัดขึ้นมาอีกสลับกันไป หรือแม้ว่ากามราคะได้รับการตอบสนองแล้วก็ตาม จะพบว่าจิตมีโทสะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หลังจากที่เสพกามไปแล้ว เพราะการเสพกามนั้น ทำให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหวได้มาก ยิ่งไปยุ่งกับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน ยิ่งหวั่นไหวมาก

ท่านจึงสอนให้สันโดษในคู่ของตน เพราะแม้จิตจะเศร้าหมองบ้างก็ไม่มากนัก ไม่เหมือนกับไปยุ่งกับคนอื่นๆ ดังนั้น ถ้าประพฤติพรหมจรรย์ไม่ได้ ก็อย่าประพฤติผิดในกาม เพราะกิเลสทั้งราคะและโทสะจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ปฏิบัติที่มองกามราคะซึ่งเกิดขึ้นแต่แรกไม่ออก แล้วกดข่มไว้จึงคิดว่าตนเองเกิดโทสะขึ้นมาก่อน แต่สู้โทสะได้ แล้วจึงเกิดราคะตามมาทีหลัง ความจริงแลัว โทสะก็อาศัยกามราคะที่ไม่ได้รับการตอบสนองเกิดขึ้นนั่นเอง ถ้าปราศจากกามราคะ โทสะก็พลอยไม่เกิดไปด้วย


ก่อนจะต่อสู้กับกามราคะ ควรทราบเสียก่อนว่า กามราคะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ที่จิตพึงพอใจในกาม ได้แก่ ความพึงพอใจ ติดตรึงใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย เป็นคำที่กว้างกว่าความต้องการทางเพศ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของสตรีเป็นที่พึงใจของบุรุษ และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของบุรุษเป็นที่พึงใจของสตรี ดังนั้น เรื่องของเพศตรงข้ามจึงจัดเป็นกามราคะที่ร้ายแรงมาก มากกว่ารูปวาดสวยๆ เสียงเพลงเพราะๆ ดอกไม้

กามราคะเกิดขึ้นเพราะจิตไม่รู้เท่าทันความไม่มีสาระของกาย จิต จึงเพลิดเพลินพึงใจที่จะหาความสุขทางกาย ด้วยการมองหารูปสวย/หล่อ เสียงเพราะ กลิ่นหอม สัมผัสที่พอใจ ฯลฯ หากเมื่อใดจิตเห็นจริงว่า กายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเป็นอสุภะ กิเลสกามก็จะอ่อนกำลังลงทันที

อุบายภาวนาในการสู้รบกับกาม ก็มีเป็นขั้นๆ ไป อย่างอ่อนๆ ก็เช่น การหลีกเลี่ยงผัสสะ เช่น ครูบาอาจารย์บางองค์ ท่านแบกกลดหนีสาวที่ท่านไปหลงรักเข้า เพราะถ้าสู้ไม่ไหว ก็ต้องหนีเอาไว้ก่อน

อุบายที่เข้มข้นขึ้นไปอีก ได้แก่ การพิจารณาเพศตรงข้าม เช่น การพิจารณาคนที่เราพอใจลงเป็นอสุภะ หรือไตรลักษณ์ ถ้าจิตเห็นจริงแล้ว จะลดความผูกพันกันทางกามลงได้


หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เคย เล่าให้ผมฟังว่า มีพระรูปหนึ่งบริกรรมพุทโธได้ไม่นาน จิตกลับไปบริกรรมชื่อแฟน หลวงพ่อจึงให้บริกรรมชื่อแฟนต่อไป จนเกิดนิมิตรูปแฟนขึ้นมา พระท่านก็ดูรูปแล้วบริกรรมต่อไป รูปก็เริ่มเ**่ยวโทรมลง หมดสวยหมดงาม จิตของท่านก็ถอดถอนจากความผูกพันในกามกับแฟน

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ สมัย เป็นฆราวาส ท่านแก้ความรักสาวโดยการไปพิจารณาอุจจาระของสาว สมัยนั้นพิจารณาได้ เพราะชาวบ้านถ่ายกันตามทุ่งนา เดี๋ยวนี้จะเอาแบบวิธีนี้คงไม่ได้แล้ว เพราะสาวเขาปกปิดร่องรอยมิดชิด

อุบายถัดมา เป็นการทรมานตนเอง เช่น พระบางรูปไปหลงรักผู้หญิง ท่านยอมอดข้าวจนกว่าจะตัดรักได้ วันแรกยังตัดไม่ได้ พอหลายวันเข้าก็ตัดได้ เพราะจิตกลัวว่ากายจะตายจึงเลิกรักสาว เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เรารักที่สุดก็คือตัวเราเอง

อุบายถัดมา เป็นการใช้ปัญญาพิจารณาตนเอง ซึ่ง พระส่วนมากท่านพิจารณาร่างกายของท่านลงเป็นอสุภะบ้าง พิจารณาความตายบ้าง พิจารณาความเป็นทุกข์ของกายบ้าง วิธีนี้เป็นวิธีที่ประณีตยิ่งขึ้น เพราะเป็นการพิจารณาตนเอง ไม่ใช่วิธีพิจารณาเพศตรงข้าม หรือหนีเพศตรงข้าม

อุบาย ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงการเอาตัวรอดเป็นครั้งคราวเท่านั้น ต่อเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะมากเข้า จนจิตเกิดปัญญาวิปัสสนาอย่างแท้จริงแล้ว นั่นแหละจึงจะเอาชนะกามได้อย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งปฏิฆะด้วย ที่ ผมเคยใช้แล้วได้ผลในการต่อสู้กับกามโดยไม่ได้เจตนาก็คือ การเดินจงกรมแล้วเอาสติระลึกรู้ลงในกาย เห็นกายเดินไปตามสภาพของกาย จิตเป็นคนดูอยู่ ถึงจุดหนึ่งจิตเกิดปัญญาขึ้นว่า กายนี้มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย

แต่ถึงกระนั้นมันก็ไม่เป็นทุกข์อะไร เพราะมันเป็นเพียงธาตุเท่านั้น ความทุกข์มันเกิดจากจิตเข้าไปยึดกายแล้วอยากอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ยอมรับความจริงว่า กายมันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไปตามเหตุปัจจัย จิตจึงเป็นทุกข์เพราะความอยากของจิตเอง เมื่อจิตเดินปัญญามาถึงจุดนี้ จิตก็เห็นกายเป็นของธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่งซึ่งว่างเปล่าจากตัวตน พอจิตไม่ยึดกายแล้ว กามก็หาที่ตั้งไม่ได้เอง ไม่จำเป็นต้องไปต่อสู้เพื่อละกามโดยตรงแต่อย่างใด

ปกติกามราคะและปฏิฆะจะขาดไปพร้อมๆ กัน เพราะเหตุที่ว่ากามและปฏิฆะมันเกิดจากรากเหง้าอันเดียวกัน คือเกิดจากความโง่ของจิตที่เข้าไปยึดกาย และ มันรักความสุขทางกาย มัน (จิต) อยากให้ตาเห็นแต่รูปที่ดี ไม่อยากให้ตาเห็นรูปที่ไม่ดี มันอยากให้หูได้ยินเสียงที่ดี ไม่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี มันอยากให้จมูกได้กลิ่นหอม ไม่อยากได้กลิ่นเหม็น มันอยากให้ลิ้นรู้รสอร่อย ไม่อยากรู้รสที่ไม่อร่อย มันอยากให้กายสัมผัสความเย็นร้อนอ่อนแข็งที่พอเหมาะ ไม่อยากสัมผัสสิ่งที่รุนแรงเกินไป

เมื่อมันได้สิ่งที่ชอบใจ มันก็เกิดกามราคะ คือรักใคร่ผูกพันในอารมณ์ที่ดี เมื่อมันได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ มันก็เกิดปฏิฆะ คือความขัดใจ
ความยึดในกายนี้แหละเป็นที่ตั้งของกามราคะและปฏิฆะ เหมือนที่ความยึดในจิตเป็นที่ตั้งของสังโยชน์เบื้องสูง คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา


อัน ที่จริง เมื่อเรายังละกามไม่ได้ ก็ควรควบคุมให้มันอยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะ คืออย่าทำผิดศีล 5 แล้วเจริญสติสัมปชัญญะเรียนรู้คุณและโทษของมันไป ความทุกข์ทรมานเพราะกามก็จะค่อยลดน้อยลงเป็นลำดับ

กามนั้นไม่ใช่จะเป็นโทษอย่างเดียว คุณของมันก็มีเรียกว่ากามคุณ ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากมันเสียบ้าง ก็จะดีไม่น้อย แม้พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้คนทำทานและถือศีล แล้วได้เสวยกามสุขในสวรรค์ ถัดจากนั้นจึงสอนให้เห็นโทษของกามเป็นลำดับต่อไป ท่านไม่หักหาญ ห้ามเรื่องกามกับคนที่ยังไม่พร้อม แต่ใช้กามเป็นเหยื่อล่อจิตที่อินทรีย์ยังอ่อนให้ยอมรับธรรม แล้วค่อยแนะนำทางเจริญปัญญาในภายหลัง

เหมือน กับครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาด เอากิเลสมาแก้กิเลส เอาหนามบ่งหนาม คือผมรู้จักพระชาวออสเตรเลียรูปหนึ่ง ท่านเครียดและหงุดหงิดใจอยู่เสมอ เนื่องจากต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยมากมาย ครูบาอาจารย์จึงออกอุบายอนุญาตให้ท่านเลี้ยงไก่สวยงามนานาชนิด (เลี้ยงแบบไก่ป่า คือทำที่อยู่ให้ตามต้นไม้ ไม่ได้กักขัง ไก่มีความสุขกันมากทีเดียว) เนื่องจากท่านชอบไก่มาก (คลับคล้ายว่าจะเป็นดอกเตอร์เกี่ยวกับไก่ด้วย) พอเห็นไก่แล้ว ท่านจะอารมณ์ดีหายหงุดหงิดได้

ครูบาอาจารย์ท่านฉลาดมาก คือท่านแก้ปฏิฆะด้วยกามราคะ เนื่อง จากปฏิฆะที่ต่อเนื่องรุนแรงนั้น แทบจะทำให้พระรูปนี้ทิ้งวัดไป จึงต้องล่อด้วยของที่ชอบใจคือไก่ที่สวยงาม เมื่อพระท่านดูแลไก่นานเข้า ไม่ไปสนใจกับผู้อื่น จิตใจของท่านก็ผ่อนคลาย เกิดความนุ่มนวลอ่อนโยน แล้วจิตใจก็เปลี่ยนจากกาม ไปเป็นความเมตตาต่อไก่อันเป็นกุศลจิต และทำให้ง่ายที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป

การทำงานศิลปะ การปลูกต้นไม้ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง การเล่นพระเครื่อง การเล่นแสตมป์ การยิงธนู ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ยังแฝงด้วยราคะ หรือมีโลภมูลจิตอยู่ครับ เพราะทำไปด้วยความชอบใจ แต่โทษของมันเบาบางกว่าโทสะ เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า โทสะมีโทษมาก แต่แก้ง่าย ราคะมีโทษน้อย แต่แก้ยาก ส่วนโมหะมีโทษมาก และแก้ยาก

บาง คราว การใช้กิเลสก็เป็นอุบายสู้กิเลส โดยเปลี่ยนจากกิเลสที่มีโทษมาก ให้เป็นกิเลสที่มีโทษน้อยลง (แต่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของครูบาอาจารย์) เช่น แทนที่จะหมกมุ่นกับความน้อยเนื้อต่ำใจเสียใจ คับแค้นใจ กลุ้มใจ อันเป็นโทสะซึ่งมีโทษมาก ก็หันมาทำงานอดิเรกที่ชอบใจ จิตใจก็จะสงบลง หายเร่าร้อน แล้วกลับมาปฏิบัติธรรมก็ทำได้ง่ายขึ้น

หรือ บางคราวโมหะครอบจิตจนมืดตื้อแกะไม่ออก ยิ่งนั่งดู ก็ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ซ้ำโทสะก็จะเริ่มเข้าผสมโรง คือหงุดหงิดใจขึ้นมา โมหะมีโทษมาก โทสะก็มีโทษมาก ผมจึงเคยแนะพวกเราบางคนว่า ให้หยุดการปฏิบัติไว้ก่อนชั่วคราว ไปเปลี่ยนอารมณ์เดินดูสิ่งที่สวยๆ งามๆ ให้สบายใจ แล้วถ้าจิตเกิดราคะ ก็ให้รู้ราคะไป อันนี้ก็เป็นอุบายเอาตัวรอดจากกิเลสที่มีโทษมาก ไปเป็นกิเลสที่โทษน้อย แล้วค่อยพลิกกลับมาเป็นกุศลจิตทีหลัง

อันตราย มันอยู่ตรงที่ พลิกกลับไปเป็นกุศลจิตไม่ได้ นี่แหละครับเรื่องอย่างนี้จึงควรอยู่ในสายตาของครูบาอาจารย์ไว้ สำหรับคนที่ชอบปลูกต้นไม้ก็ปลูกไปเถอะครับ จิตใจที่สบายๆ ร่วมกับการที่เราทำทาน รักษาศีลเจริญภาวนาเป็นนิจ เกิดพลาดพลั้งเป็นอะไรไป ถึงชาตินี้อาจจะไม่รู้ธรรม แต่สุคติก็เป็นที่หวังได้ด้วย

อัน ที่จริงการหาอุบายแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง มีได้หลายแบบครับ เช่น การเข้าไปอยู่ในป่าคนเดียว จิตใจเกิดกิเลสคือความกลัว ตอนนั้นกามราคะจะกระโจนหนีแบบไม่รู้ทางไปทีเดียว

ครู บาอาจารย์บางองค์ นั่งสมาธิแล้วชอบหลับ ท่านก็ไปนั่งริมเหว จิตใจกลัวร่างกายจะตาย ก็เลยไม่ยอมหลับใน ดังนั้น ถ้าจะปฏิบัติด้วยอุบายดูสาว ก็ควรรู้บทเรียนต่อไปที่จะแก้กามราคะด้วยนะครับ

การ ที่เรามีฐานที่ตั้งของสติยืนพื้นไว้มีประโยชน์มาก เพราะถ้าจิตคลาดไปจากฐานนิดเดียวก็จะรู้ทันเร็ว สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าให้ฐานนั้นกลายเป็นเครื่องจองจำจิตนะครับ คือไม่ได้ทำเพื่อให้จิตหลงจ่อลงที่จุดนั้น จะกลายเป็นสมถะไปทันที แต่ทำเพื่อให้สิ่งนั้นเป็นวิหารธรรม คือเป็นเครื่องรู้ เครื่องอยู่ที่สบายของจิต แล้วเวลากิเลสตัณหาผ่านมา จิตจะรู้ทันได้ไวมากขึ้น

อีกอย่างหนึ่ง การที่เดินรู้เท้าที่กระทบพื้นนั้น ถ้าเห็นว่าจิตมันเบาลง ทุกข์มันน้อยลงไป แล้ว รู้ เท่านั้น ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว เพราะมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของจิต

แต่ ถ้าจิตจดจ่อจมลงในเท้า อันนั้นเป็นสมถะเฉยๆ นะครับ ให้พยายามรู้เท่าทันจิตใจตนเองไปด้วยจะดีกว่า เพราะการเจริญสติสัมปชัญญะนั้น ทำได้ในชีวิตประจำวันครับ ไม่ใช่ว่าในชีวิตประจำวันจะเจริญสติได้อย่างเดียวหรอกครับ

ครูบาอาจารย์ระดับหลวงปู่เทสก์ เวลาญาติโยมเข้าไปกราบท่านคราวละเป็นร้อยเป็นพัน ท่านยังเคยขยับนิ้วไปเรื่อยๆ เป็นเครื่องอยู่เลยครับ ทั้งที่สติสัมปชัญญะของท่านบริบูรณ์แล้ว เราจึงควรมีเครื่องอยู่ เครื่องกระตุ้นสติสัมปชัญญะประจำตัวไว้บ้าง จะช่วยให้จิตใจไม่ห่างไกลธรรม คลุกคลีอยู่กับธรรม และเจริญในธรรมโดยง่าย

ขอเพิ่มเติมเรื่องการถือศีลสักหน่อยครับ คือความรู้สึก หรือทัศนะต่อศีลของชาวบ้านกับผู้ปฏิบัติจะต่างกัน
ชาวบ้านเขาถือว่าศีลคือข้อห้าม ถ้าฝ่าฝืนจะบาป นักปฏิบัติเห็นว่าศีลเป็นเครื่องสบายกายสบายใจ ทำแล้วจิตสงบสบาย ชาวบ้านจะถือศีล ก็ต้องสมาทานเป็นข้อๆ นักปฏิบัติตั้งใจละอกุศล เจริญกุศลในจิต แล้วเกิดศีลขึ้นมาเอง
ชาว บ้านเห็นว่าศีลทำให้กายและวาจาเรียบร้อย นักปฏิบัติเห็นว่า ใจที่เป็นปกติเรียบร้อย ไม่หลงตามกิเลสคือศีล เมื่อใจเรียบร้อยแล้ว กายวาจาก็เรียบร้อยไปด้วยโดยไม่ต้องควบคุม

ศีล ของชาวบ้านจะขาดหรือไม่ ต้องอาศัยการตีความ เช่น จะปาราชิกเพราะเสพเมถุนนั้น อวัยวะต้องล่วงเข้าไปชั่วเมล็ดงาขึ้นไป ฯลฯ ศีลที่ต้องตีความเป็นศีลโลกๆ เหมือนรัฐธรรมนูญที่ต้องตีความกันเรื่องๆ ส่วนศีลเหนือโลกไม่ต้องตีความ เพราะผู้ปฏิบัติที่มีสติสัมปชัญญะย่อมไม่นำตนเข้าสู่ภาวะล่อแหลมต่อการเสีย ศีล


ความแตกต่างกันนี้เอง ทำให้ชาวบ้านเขาถือศีลได้อย่างกะพร่องกะแพร่ง ส่วนผู้ปฏิบัติที่แท้จริงจะมีศีลโดยไม่ต้องสมาทานและรักษา เพราะสติสัมปชัญญะที่รักษาจิตตนเองนั้นแหละ คือเครื่องทำศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ไปในตัว

จิต ที่มีสติสัมปชัญญะอยู่อย่างสมบูรณ์ จนเห็นความปรุงแต่งของจิตเกิดขึ้นจัดเป็นมหากุศลจิตครับ มันจะไม่มีความรู้สึกทางเพศหรอกครับ เรื่องนี้เมื่อนานแล้ว มีพระสอนว่าขณะเสพกามก็ให้ดูจิตไปด้วย แล้วผมแสดงความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำอย่างนั้น


จำได้ว่ามีท่านผู้หนึ่งซึ่งถอนตัวไปจากลานธรรมแล้ว แย้งว่า เป็นไปได้ แต่จนป่านนี้ ผมก็ยังเห็นว่าเป็นไปไม่ได้อยู่ดี เว้นแต่ผู้ชายคนนั้น สามารถเสพกามได้ทั้งที่จิตปราศจากการย้อมของกามราคะ เพราะมหากุศลจิตจากการเจริญสติสัมปชัญญะ กับอกุศลจิตเช่นจิตที่มีกามราคะ มันเกิดพร้อมกันไม่ได้หรอกครับ

จิตที่เป็น กุศลกับอกุศลจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น จิตมีอกุศลอยู่ เช่น กำลังหลงเหม่อด้วยอำนาจของโมหะ หรือเผลอเพลินด้วยอำนาจของราคะ แล้วต่อมาเกิดมีสติสัมปชัญญะขึ้นมา จิตที่เป็นอกุศลจะดับทันที เกิดเป็นกุศลจิตในฉับพลัน

ดังนั้น พอรู้ตัวแล้ว ผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องไปพยายามละกิเลส เพราะกิเลสจริงๆ ดับไปแล้ว เหลือแต่ความจำกิเลสได้เท่านั้นเอง ตรงจุดนี้ผู้ปฏิบัติมักจะหลงผิดไปพยายาม "ละ" กิเลส แล้ว "ต่อสู้" กับกิเลสอย่างเอาเป็นเอาตายทีเดียว

ดังนั้น ถ้าเรามีกิเลสอยู่ แล้วเกิดสติสัมปชัญญะรู้ทันว่ามีกิเลส ก็ให้รู้แล้วปล่อยวางเสีย อย่าไปยินร้ายกับกิเลสในอดีตที่ดับไปแล้วนั้น หรือถ้าจิตเกิดความอึดอัดกลัดกลุ้มมากๆ หรือแน่นขึ้นมาเต็มอก ถ้ารู้ด้วยความเป็นกลางไม่ได้ ก็เปลี่ยนอารมณ์เสีย ความรู้สึกอึดอัดเหล่านั้นจะดับไปทันที

เช่น เผลออยู่ (เป็นอกุศลจิต) แล้วเกิดรู้ตัว (เป็นมหากุศลจิต) ว่าเผลอ แล้วเกิดความพยายามดึงความรู้สึกกลับมา ด้วยความหลงผิด (เป็นอกุศลอีกรอบหนึ่ง) ว่าจิตหนีไป ต้องดึงคืนมา หรือพอรู้ตัวว่าเผลอไปแล้ว แทนที่จะยุติอยู่แค่ปัจจุบัน กลับไปห่วงว่า "ทำอย่างไรหนอ เราจะไม่เผลออีกในอนาคต" แล้วก็พยายามควบคุมบังคับจิตตนเอง จนเกิดความรู้สึกแน่นหน้าอก (เป็นวิบากของอกุศลรอบหลัง)

ตรงนี้ถ้ารู้ทันด้วยจิตที่เป็นกลาง ความอึดอัดก็จะดับไป แต่ถ้าทำไม่ได้ แค่เปลี่ยนอารมณ์เสียใหม่เช่น หันไปชมนกชมไม้ จิตก็จะโปร่งเบาทันทีเพราะได้ผัสสะที่ชอบใจ ถัดจากนั้นจึงค่อยมาเจริญสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันความสุขหรือความพอใจต่อไป

หรือ อย่างนักปฏิบัติส่วนมากจะติดสมถะ จิตหลงไปเกาะอารมณ์อันเดียวนิ่งอยู่ พอรู้ตัวว่าหลงไปแล้ว ก็ควรพอใจแค่นั้น เพราะนั่นเป็นการรู้เท่าทันแล้วในปัจจุบัน ไม่ต้องกังวลไปถึงอนาคตว่า "ทำอย่างไรหนอ เราจะไม่หลงเพ่งอีกในอนาคต" ถ้ากังวลและพยายามบังคับจิตไม่ให้หลงใหลไปเกาะอารมณ์นิ่งๆ นั้น จะเกิดอึดอัดทันที ตรงนี้แก้ง่ายมาก แค่หยุดเพ่งเสีย จิตก็หลุดออกมาแล้ว (ความจริงไม่ใช่จิตหลุดออกมา แต่จิตที่เพ่งมันดับไป เกิดจิตที่ไม่เพ่งแทน)

การ ที่เรารู้เท่าทันกลไกการทำงานของจิตมากๆ นั้น จะช่วยให้การปฏิบัติราบรื่นเข้าทุกที ซึ่งการจะรู้ทันก็อาจทำได้ด้วยการศึกษาปริยัติธรรมบ้าง ด้วยการศึกษาจากครูบาอาจารย์บ้าง แต่ถึงจะรู้ปริยัติหรือฟังครูบาอาจารย์มามากเพียงใด เวลาลงมือปฏิบัติจริงก็มักจะพลิกตำราไม่ทัน จะไม่เหมือนกับความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ของตนเอง ที่ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งชัดเจนและเรียบง่ายเข้าทุกทีๆ


ความจริงเมื่อจิตเกิดสติสัมปชัญญะนั้น จะเกิดมหากุศลจิตขึ้นมาทันที อำนาจของการเจริญสติสัมปชัญญะจะทำให้กิเลสทำงานไม่ได้ เมื่อนานเข้า อนุสัย ซึ่งเป็นกิเลสละเอียดที่ซ่อนตัวอยู่ในจิตใต้สำนึกจะอ่อนกำลังลง เพราะมันไม่สามารถเจริญงอกงามเป็นกิเลสหยาบๆ ขึ้นมาได้ (เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีหัวอยู่ใต้ดิน) ถ้าเราคอยตัดยอดทิ้งไปเรื่อยๆ ไม่ให้ปรุงอาหารได้ หัวของมันก็จะค่อยๆ ฝ่อไปเพราะขาดอาหาร)

เมื่อ กำลังของสติ สมาธิ และปัญญาแก่รอบจริงๆ แล้ว สติสมาธิและปัญญาจะรวมกำลังกันเข้าเป็นหนึ่ง แล้วขุดคุ้ยเข้าไปทำลายกิเลสละเอียดที่ฝังซ่อนอยู่ในกมลสันดานเอง
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28447
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อุบายชนะกามคุณ ของอริยสงฆ์
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 17, 2011, 09:09:49 am »
0


อุบายคลายความคิดถึง ของ หลวงพ่อชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
จากหนังสือ “ชวนม่วนชื่น” ของพระอาจารย์พรหม

ในปีแรกที่อาตมาบวชเป็นพระที่ภาคอีสานของไทย
อาตมากำลังนั่งอยู่ในตอนหลังของรถคันหนึ่งกับพระฝรั่งอีกสองรูป
หลวงพ่อชาท่านอาจารย์ของอาตมานั่งที่เบาะหน้า


จู่ๆหลวงพ่อชาก็หันหน้ามาข้างหลัง
และจ้องดูพระหนุ่มชาวอเมริกันซึ่งเพิ่งบวชใหม่ๆ ที่นั่งอยู่ข้างๆอาตมา
แล้วท่านก็พูดอะไรบางอย่างเป็นภาษาไทย

พระฝรั่งอีกรูปหนึ่งที่นั่งอยู่ในรถที่ท่านพูดภาษาไทยได้คล่อง จึงแปลให้พระฝรั่งรูปที่หลวงพ่อพูดด้วยว่า
“หลวงพ่อบอกว่า คุณกำลังคิดถึงแฟนของคุณที่อยู่ที่แอลเอนู่น”


พระบวชใหม่ชาวอเมริกันถึงกับอ้าปากค้างด้วยความงงงัน..........

หลวงพ่อรู้วาระจิตของท่าน
รู้ว่าท่านกำลังคิดอะไรอยู่ แถมยังแม่นยำเสียด้วย.........

หลวงพ่อชายิ้ม แล้วพูดต่อว่า
“ไม่ต้องห่วง เรื่องนี้จัดการได้ ให้เขียนจดหมายไปหาเธอ
ขอให้เธอส่งของส่วนตัวบางอย่างมาให้คุณ
เอาสิ่งที่ใกล้ชิดกับตัวเธอมากที่สุด
ที่คุณจะสามารถเอาออกมาชื่นชมได้ เมื่อคุณคิดถึงเธอ เพื่อจะเตือนคุณให้ระลึกถึงเธอ


พระบวชใหม่ถามด้วยความประหลาดใจว่า
“โอ้ ! พระเจ้าเราทำได้หรือครับ”
หลวงพ่อชาตอบว่า “ทำได้”

เห็นทีพระท่านก็เข้าอกเข้าใจในเรื่องรักๆใคร่ๆ กระมัง……
สิ่งที่หลวงพ่อชากล่าวต่อไปนั้นต้องใช้เวลาอยู่หลายนาที
กว่าพระฝรั่งรูปที่เข้าใจภาษาไทยจะแปลออกมาได้
ล่ามของเราถึงกับต้องกลั้นหัวเราะให้อยู่และรวบรวมสมาธิเสียก่อน


“หลวงพ่อบอกว่า…………………..”
ท่านพยายามที่จะเอ่ยคำออกมา
พลางปาดน้ำตาที่เล็ดจากการหัวเราะทิ้ง

“หลวงพ่อบอกว่า................
คุณควรจะขอให้เธอส่งขี้ใส่ขวดมาให้
แล้วเมื่อไหร่ที่คุณคิดถึงเธอ
คุณก็จะได้หยิบขวดขี้ของเธอออกมาสูดดม !


ที่มา http://board.palungjit.com/f4/อุบายชนะกามคุณ-181876.html



ภัยจากมาตุคามนี้ พระอาจาย์เทสก์  เทสรังสี ได้ปรารภไว้ว่า
                เราละอายแก่ใจมาก ไม่อยากจะพูดเลยว่ามาตุคามเป็นภัยอันตรายแก่พรหมจรรย์ เพราะมารดาของเราก็เป็นผู้หญิงและพุทธศาสนาที่เราซุกหัวพึ่งร่มเงาอยู่ในขณะ นี้โดยมากก็อาศัยผู้หญิงค้ำจุนไว้โดยแท้ อันมาตุคามเป็นภัยแก่พรหมจรรย์อย่างมหันต์ แต่ก็มีคุณอนันต์แก่พระศาสนาเท่ากัน เพราะมาตุคาม เป็นเรือนร่างที่เกิดของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลาย และยังเป็นที่ปรารภให้เกิดธรรมของท่านเหล่านั้นด้วย ภิกษุผู้ล่วงละเมิดในพระวินัยที่น่าเกลียดที่สุดคือสิกขาบทที่เกี่ยวด้วย เรื่องความรักๆ ใคร่ๆที่เรียกว่ากามโลกีย์นี้

 
คัดลอกบางส่วนจาก : มาตุคาม มหาภัยพรหมจรรย์
นที ลานโพธิ : รวบรวม/เรียบเรียง
ที่มา http://www.watkoh.com/kratoo/forum_posts.asp?TID=2513&PID=9712



พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒
ทีฆนิกาย มหาวรรค
๓. มหาปรินิพพานสูตร (๑๖)


 [๑๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติในมาตุคาม
อย่างไร ฯ
             การไม่เห็น อานนท์ ฯ

             ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อการเห็นมีอยู่ จะพึงปฏิบัติอย่างไร ฯ
             การไม่เจรจา อานนท์ ฯ

             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อต้องเจรจา จะพึงปฏิบัติอย่างไร ฯ
             พึงตั้งสติไว้ อานนท์ ฯ

ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=%C1%CB%D2%BB%C3%D4%B9%D4%BE%BE%D2%B9%CA%D9%B5%C3&book=9&bookZ=33

อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค
มหาปรินิพพานสูตร


               มาตุคาเม ปฏิปตฺติวณฺณนา
               ด้วยบทว่า อทสฺสนํ อานนฺท ทรงแสดงว่า
การไม่เห็นมาตุคามเสียได้เลย เป็นข้อปฏิบัติธรรมอันสมควรในข้อนี้.

 
               จริงอยู่ ภิกษุเปิดประตูนั่งบนเสนาสนะ ตราบใดที่ไม่เห็นมาตุคามที่มายืนอยู่ที่ประตู ตราบนั้น ภิกษุนั้นย่อมไม่เกิดโลภ จิตไม่หวั่นไหวโดยส่วนเดียวเท่านั้น. แต่เมื่อยังเห็นอยู่แม้ทั้ง ๒ อย่างนั้นก็พึงมี.
 
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อทสฺสนํ อานนฺท
               ด้วยบทว่า ทสฺสเน ปน ภควา สติ กถํ พระอานนท์ทูลถามว่า เมื่อการเห็นในที่ๆ ภิกษุเข้าไปรับภิกษาเป็นต้น ภิกษุจะพึงปฏิบัติอย่างไร.

   ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุรุษผู้ยืนถือมีดด้วยกล่าวว่า ถ้าท่านพูดกับเราๆ จะตัดศีรษะท่านเสียในที่นี้แหละ หรือนางยักษิณียืนพูดว่า

   ถ้าท่านพูดกับเราๆ จะแล่เนื้อท่านเคี้ยวกินเสียในที่นี้ นี่แหละยังจะดีกว่า เพราะความพินาศเหตุมีข้อนั้นเป็นปัจจัย ย่อมมีได้อัตตภาพเดียวเท่านั้น ไม่ต้องเสวยทุกข์ที่กำหนดไม่ได้ในอบายทั้งหลาย

   ส่วนเมื่อมีการเจรจาปราศรัยกับมาตุคามอยู่ ความคุ้นก็มี เมื่อมีความคุ้น ช่องทางก็มี ภิกษุผู้มีจิตถูกราคะครอบงำก็ถึงความพินาศแห่งศีล ต้องไปเต็มอยู่ในอบาย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนาลาโป ดังนี้.
               
สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   บุคคลพึงพูดกับบุคคลผู้มีดาบในมือ กับปีศาจ
                         นั่งชิดกับอสรพิษ ผู้ที่ถูกคนมีดาบ ปีศาจ อสรพิษกัด
                         แล้วย่อมไม่มีชีวิต ภิกษุพูดกับมาตุคามสองต่อสอง
                         ก็ไม่มีชีวิตเหมือนกัน.

____________________________
๑- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๕๕
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต ๕. มาตุปุตติกสูตร
)

               บทว่า อาลปนฺเน ปน ความว่า ถ้ามาตุคามถามวันขอศีล ใคร่ฟังธรรม ถามปัญหา
ก็หรือมีกิจกรรมที่บรรพชิตจะพึงทำแก่มาตุคามนั้น

มาตุคามนั้นก็จะพูดกะภิกษุผู้ไม่พูดในเวลาเห็นปานนี้ว่า ภิกษุองค์นี้เป็นใบ้หูหนวก
ฉันแล้วก็นั่งปากแข็ง เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงพูด โดยแท้.

 
               ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า พระเจ้าข้า ภิกษุเมื่อพูดอย่างนี้ จะพึงปฏิบัติอย่างไร.
              ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาพระโอวาทที่ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย

พวกเธอจงตั้งจิตคิดว่ามารดาในสตรีปูนมารดา

ตั้งจิตคิดว่าพี่สาวในสตรีปูนพี่สาว

ตั้งจิตคิดว่าลูกสาวในสตรีปูนลูกสาว๒-

จึงตรัสว่า อานนท์ พึงตั้งสติไว้.


๒- สํ. ส. เล่ม ๑๘/ข้อ ๑๙๕
(พระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๘  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ภารทวาชสูตร)
ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10.0&i=67&p=4



อุปมาโทษของกามตามที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้มีอยู่ 10 ประการ 

1. กามเปรียบเหมือนสุนัขหิวแทะท่อนกระดูกเปื้อนเลือด คือ ยิ่งแทะ ยิ่งเหนื่อย อร่อยแต่ไม่เต็มอิ่ม เหมือนความสุขทางเนื้อหนัง ไม่เคยอิ่มจริงๆสักที สุขแค่ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็หิวกามอีก 

2. กามเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่แร้งหรือเหยี่ยวคาบบินมา คือ ต้องถูกแย่งชิงโดยนกกาตัวอื่น ต้องต่อสู้ปกป้องตลอดเวลา มีทรัพย์มากก็กลัวโจรแย่งชิง มีคนรักก็ต้องคอยหึงหวง ยิ่งสวย ยิ่งหล่อก็ยิ่งมีคนอยากแย่งชิง 

3. กามเปรียบเหมือนคนถือคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้าลุกโพลงเดินทวนลมไป คือ ถือได้ไม่นานก็ต้องทิ้งไป มิฉะนั้นจะไหม้มือ แถมถูกควันไฟรมเอาตลอดเวลาที่ถือ เหมือนยศถาบรรดาศักดิ์ มีไว้ก็เหนื่อยในการรักษา กลัวคนเลื่อยจากเก้าอี้ ต้องเอาใจเจ้านาย เอาใจประชาชน แต่สุดท้ายก็ต้องสละทิ้งหมด 

4. กามเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง คือ ที่ใดมีรัก ที่นั้นก็มีทุกข์ ใจเหมือนไฟเผาผลาญตลอดเวลา รักมากก็ทุกข์มาก   

5. กามเปรียบเหมือนความฝัน คือ เห็นแต่ความสุข แต่ไม่เคยพบจริงๆ เหมือนชีวิตคู่ที่วาดหวังจะมีความสุขข้างเดียว แต่พอพบความจริง กลับเป็นเรื่องที่เหน็ดเหนื่อยลำบากในการครองเรือน   

6. กามเปรียบเหมือนสมบัติที่ยืมเขามา คือ กามไม่อยู่กับเราตลอด มันแปรปรวนไปเป็นธรรมดา หมดบุญก็ครอบครองไม่ได้   

7. กามเปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีผลดกอยู่ในป่า คือ ใครผ่านไปมาก็เข้ามาเด็ดผลหักกิ่งตามใจชอบ ใครเป็นเจ้าของก็ต้องลำบากในการระวังรักษา

8. กามเปรียบเหมือนเขียงสับเนื้อ คือ ชีวิตคฤหัสถ์ต้องถูกโขกสับตลอดเวลา ลำบากในการหาทรัพย์ กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ   

9. กามเปรียบเหมือนหอกและหลาว คือ ไปเกี่ยวข้องต้องประสบทุกข์สาหัส ใจเหมือนโดนทิ่มแทง ทุกข์เพราะรัก ทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ล้วนเจ็บปวดสาหัส   

10. กามเปรียบเหมือนหัวงูพิษ คือ กามมีภัยมาก ไม่ระวังอาจถูกฉกกัดถึงตายได้ กามนำภัยมาสู่ตน เช่น ติดเอดส์ นำไปสู่อบาย เป็นต้น   

กาม ตรงข้ามกับ การประพฤติพรหมจรรย์ ซึ่งมีอานิสงค์ดังนี้

1. ทำให้ปลอดโปร่งใจ ไม่ต้องกังวล หรือระแวง
2. ทำให้เป็นอิสระเหมือนนกในอากาศ
3. ทำให้มีเวลามากในการทำความดี


4. ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย
5. ทำให้ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ
6. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย


ที่มา http://board.palungjit.com/f4/อุบายชนะกามคุณ-181876.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ