ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สาธยายธรรม กับ สวดมนต์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร.?  (อ่าน 177 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28469
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.

ขอบคุณภาพจาก : https://www.pinterest.ca/


สาธยายธรรม กับ สวดมนต์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร.?

สาธยายธรรมกับสวดมนต์ โดยทั่วไปสำหรับชาวพุทธ มีความหมายไม่ต่างกัน แต่ในรายละเอียด(โดยเฉพาะบาลี)มีความหมายต่างกัน ดังนี้






บาลีวันละคำ : สาธยาย

สาธยาย อ่านว่า สา-ทะ-ยาย และ สาด-ทะ-ยาย

บาลีเป็น “สชฺฌาย” อ่านว่า สัด-ชา-ยะ
“สชฺฌาย” รากศัพท์มาจาก ส (มี, พร้อม, ของตน) + อธิ (ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) อิ (ธาตุ = สวด, ศึกษา) + อ ปัจจัย, แปลง อธิ เป็น อชฺฌ, แปลง อิ เป็น ย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อ (อะ) ที่ –ฌ เป็น อา : ส + อธิ > อชฺฌ = สชฺฌ + อิ > ย = สชฺฌย > สชฺฌาย แปลตามศัพท์ว่า “การสวดพร้อมหมดอย่างยิ่ง” “การศึกษาอย่างยิ่ง (ซึ่งมนตร์) ของตน”

“สชฺฌาย” หมายถึง การสาธยาย, การสวด, การท่อง (repetition, rehearsal study)
“สชฺฌาย” สันสกฤตเป็น “สฺวาธฺยาย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า (สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺวาธฺยาย : (คำนาม) การอัธยายมนตร์เงียบๆ หรือสังวัธยายมนตร์ในใจ ; เวทหรือพระเวท ; การอัธยายหรือศึกษาพระเวท ; inaudible reading or muttering of prayers ; the Vedas or scripture ; perusal or study of the Vedas.”

@@@@@@@

“สชฺฌาย” ในภาษาไทยใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “สาธยาย”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“สาธยาย : (คำนาม) การท่อง, การสวด, การทบทวน, เช่น สาธยายมนต์, (ภาษาปาก) การชี้แจงแสดงเรื่อง เช่น สาธยายอยู่นั่นแหละ ไม่รู้จักจบเสียที. (ส. สฺวาธฺยาย; ป. สชฺฌาย).”

สชฺฌาย > สฺวาธฺยาย > สาธยาย หรือการท่องจำเป็นขั้นตอนแรกๆ ในกระบวนการศึกษาตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป คือขั้นการรับรู้และซึมซับข้อมูล ต่อจากนั้นไปจึงเป็นการวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูล สังเคราะห์ ประมวลข้อมูล แล้วสรุปผลลงเป็นหลักวิชาแล้วนำไปใช้ตามประสงค์

และสุดท้ายก็วนกลับไปที่ “สาธยาย” อีก คือการทบทวนเพื่อมิให้ลืมเลือนกฎหรือสูตรของวิทยาการนั้นๆ รวมทั้งเป็นการสรุปความก้าวหน้าหรือข้อบกพร่องไปด้วยในตัว


@@@@@@@

ควรเข้าใจให้ตรงกัน

   ๑. นักคิดบางสำนักในบ้านเราโจมตีวิธีท่องจำว่าเป็นการสอนคนให้เป็นนกแก้วนกขุนทอง คิดอะไรไม่เป็น จึงสอนนักเรียนโดยไม่ให้มีการท่องจำ

   ๒. ตามธรรมชาติ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตประเภท “ปัญจโวการภพ” (ปัน-จะ-โว-กา-ระ-พบ) คือ มีองค์ประกอบ 5 ส่วน ได้แก่
       (1) ร่างกาย (corporeality)
       (2) ความรู้สึก (feeling; sensation)
       (3) ความจำ (perception)
       (4) ความคิด (mental formations; volitional activities)
       (5) ความรู้เข้าใจ (consciousness)

   ๓. วิธีสาธยายหรือท่องจำเป็นการใช้งานตามธรรมชาติของชีวิต และเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเท่านั้นของกระบวนการศึกษา ไม่ใช่ทั้งหมดของการศึกษา และไม่ใช่จบลงเพียงแค่ท่องจำ แต่ยังจะต้องส่งต่อไปยังความคิด ความรู้เข้าใจต่อไปอีก

   ๔. การจะให้เกิดผลคือจำข้อมูลได้ การ “สาธยาย-ท่องจำ” นับว่าเป็นวิธีตามธรรมชาติของมนุษย์สากล สำหรับมนุษย์ที่รังเกียจวิธีนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะคิดค้นวิธีอื่นได้อีก แต่จะไม่ให้มนุษย์ต้องจำอะไรเลยนั้นคือผิดธรรมชาติ

อุปมาอุปไมย

    "การสาธยายเป็นกระบวนการเก็บข้อมูลความรู้ไว้ในสมอง เมื่อถึงเวลาต้องการ ก็เปิดออกมาใช้ได้ทันที ฉันใด การทำบุญก็เป็นกระบวนการเก็บเสบียงไว้ในใจ เมื่อถึงเวลาต้องจากไป ก็พร้อมเดินทางได้ทันที ฉันนั้น"




ขอบคุณ : https://dhamtara.com/?p=3311
tppattaya2343@gmail.com | 15 พฤษภาคม 2015






บาลีวันละคำ : สวดมนต์

สวดมนต์ ภาษาบาลีว่าอย่างไร

(๑) “สวด” เป็นคำไทย ตรงกับบาลีว่า “สชฺฌาย”
     “สชฺฌาย” อ่านว่า สัด-ชา-ยะ รากศัพท์มาจาก ส (มี, พร้อม, ของตน) + อธิ (ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) อิ (ธาตุ = สวด, ศึกษา) + อ ปัจจัย, แปลง อธิ เป็น อชฺฌ, แปลง อิ เป็น ย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ –ฌ เป็น อา (สชฺฌ > สชฺฌา) : ส + อธิ > อชฺฌ = สชฺฌ + อิ > ย = สชฺฌย > สชฺฌาย แปลตามศัพท์ว่า “การสวดพร้อมหมดอย่างยิ่ง” “การศึกษาอย่างยิ่ง (ซึ่งมนตร์) ของตน”

    “สชฺฌาย” หมายถึง การสาธยาย, การสวด, การท่อง (repetition, rehearsal study)

(๒) “มนต์”
     บาลีเป็น “มนฺต” อ่านว่า มัน-ตะ รากศัพท์มาจาก
     (1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย : มนฺ + ต = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้”
     (2) มนฺต (ธาตุ = ปรึกษา) + อ ปัจจัย : มนฺต + อ = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “การปรึกษา”

@@@@@@@

“มนฺต” ในภาษาบาลีมีความหมาย ดังต่อไปนี้

   1. ความหมายเดิม คือ คำพูดหรือคำตัดสินของเทพเจ้าบนสวรรค์ แล้วกลายมาเป็นประมวลคำสอนที่เร้นลับของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้แก่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ หรือคัมภีร์พระเวท (a divine saying or decision, hence a secret plan)
   2. คัมภีร์ศาสนา, บทร้องสวด, การร่ายมนตร์ (holy scriptures in general, sacred text, secret doctrine)
   3. ศาสตร์ลี้ลับ, วิทยาคม, เสน่ห์, คาถา (divine utterance, a word with supernatural power, a charm, spell, magic art, witchcraft)
   4. คำแนะนำ, คำปรึกษา, แผนการ, แบบแผน (advice, counsel, plan, design)
   5. เล่ห์เหลี่ยม, ชั้นเชิง (a charm, an effective charm, trick)
   6. สูตรวิชาในศาสตร์สาขาต่างๆ (เช่น H2O = น้ำ หรือแม้แต่สูตรคูณ ก็อยู่ในความหมายนี้) (law)
   7. ปัญญา, ความรู้ (wisdom, knowledge, insight, discernment)


@@@@@@@

“มนฺต” ใช้ในภาษาไทยว่า มนต์, มนตร์ (มน) และเข้าใจกันแต่เพียงว่าหมายถึง “คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์”

“สวดมนต์” ตรงกับคำบาลีว่า “มนฺตสชฺฌาย” (มัน-ตะ-สัด-ชา-ยะ)

มนฺต + สชฺฌาย = มนฺตสชฺฌาย แปลตามศัพท์ว่า “การสาธยายมนต์” หรือแปลตรงตัวว่า “สวดมนต์” นั่นเอง

การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนามีมูลเหตุมาจากการสาธยายพระสูตรหรือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อมิให้ลืมเลือนอย่างหนึ่ง และเพื่อตรวจสอบข้อความให้ถูกต้องตรงกันอีกอย่างหนึ่ง

   สวดมนต์เพื่อทบทวนความรู้ จะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ
   สวดมนต์เพื่อเจริญสมาธิสติ ธรรมะก็ผลิเบ่งบาน
   สวดมนต์เพื่อขลัง ยังต้องนุงนังไปอีกนาน


(อธิบายเร่งด่วนตามประสงค์ของพระคุณท่าน So Phom)




ขอบคุณ : https://dhamtara.com/?p=3796
tppattaya2343@gmail.com | 29 ตุลาคม 2015
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 20, 2024, 07:53:56 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28469
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



การสวดมนต์ไหว้พระ

การสวดมนต์ไหว้พระเป็นการสร้างมนต์ชีวิตไว้ประจําตัว เป็นการดํารงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาทและสร้างพลังจิต ยังความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับตนเองในการดํารงชีวิตประจําวันให้มีสติระลึกอยู่เสมอในการที่จะประพฤติชอบ ในกรอบของศีลธรรม อันเป็นการนําความสุขความเจริญมาสู่ตนเอง เป็นชีวิต ที่มั่นคง และจักส่งผลให้เกิดความมั่นคงทั้งต่อตนเองและประเทศชาติ

ประเภทของการสวดมนต์

การสวดมนต์มีอยู่ ๒ แบบ คือ

    ๑. การสวดมนต์เป็นบทๆ เป็นคําๆ เรียกว่า แบบบทภาณะ เช่น แบบที่พระสงฆ์สวดกันอยู่ทั่วไปในวัดหรือในงานพิธีต่าง ๆ

    ๒. การสวดแบบใช้เสียงตามทํานองของบทประพันธ์ ฉันทลักษณ์ต่างๆ เรียกว่า แบบสรภาณะ เช่น แบบที่พระสงฆ์สวดในงานพิธีรับเทศน์หรือ ในเทศกาลพิเศษ เช่น การสวดในวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา เป็นต้น วิธีสวดแบบ สรภาณะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สรภัญญะ” (อ่านว่า สะ-ระ-พัน-ยะ) และ ต่อมาได้วิวัฒนาการให้พระสงฆ์เทศน์เป็นทํานองแหล่ขึ้น ในบททํานองร่ายยาว เช่น ในเรื่องพระเวสสันดรชาดกจนถึงปัจจุบัน

    การสวดมนต์ทํานองสรภัญญะด้วยภาษาบาลี มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ส่วนการสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัย ทํานองสรภัญญะ ที่เป็นภาษาไทย สันนิษฐานว่า น่าจะมีขึ้นประมาณรัชกาลที่ ๕ ด้วยเหตุผลว่า คําประพันธ์ สวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยที่เป็นภาษาไทย (คือ องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ ญ ภาพนั้นนิรันดร, ธรรมะคือคุณากร ฯลฯ ด้วยจิตและกายวาจา และสงฆ์ใด สาวกศาสดา ฯลฯ จึงดับและกลับเสื่อมสูญ) ที่เป็นบทฉันทลักษณ์ต่างๆ ซึ่งใช้สวดในปัจจุบันนี้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้ประพันธ์


อานิสงส์ของการสวดมนต์

    ๑. ขจัดนิวรณ์ อันเป็นอุปสรรคต่อการทําความดี ก่อให้เกิด ความสดชื่นแจ่มใส จิตใจเบิกบาน
    ๒. ได้ศึกษาคําสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามหลักไตรสิกขา เพราะในขณะสวดมนต์มีกาย วาจาปกติ (มีศีล) มีใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับ บทสวดมนต์ (มีสมาธิ) ได้รู้คุณความดีของพระรัตนตรัยตามคําแปลของบทสวด (มีปัญญา)
    ๓. ตัดรากเหง้าแห่งความเห็นแก่ตัว เพราะขณะสวดมนต์จิตจดจ่อ
อยู่ที่บทสวด ไม่คิดถึงตัวเอง ความโลภ ความโกรธ ความหลง จึงไม่ได้โอกาส เข้ามาแทรกในจิตได้
    ๔. จิตไม่ขุ่นมัว เกิดสมาธิมั่นคง เพราะขณะสวดมนต์ผู้สวดจะต้อง สํารวมใจแน่วแน่ ด้วยเกรงว่าจะสวดผิด จิตจึงเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความสงบเยือกเย็นย่อมเกิดขึ้น
    ๕. ได้เสริมส่งปัญญาบารมี การสวดมนต์ได้รู้คําแปล รู้ความหมาย ย่อมทําให้ผู้สวดได้ปัญญาบารมี ทําให้คําสอนมั่นคง ไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
    6. สืบสานความดีสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะการสวดมนต์ ผู้สวดย่อมได้รู้แนวทางปฏิบัติในการดําเนินชีวิตที่ดี เมื่อปฏิบัติตามย่อมได้รับผล เป็นความสะอาด สว่าง สงบของจิตใจ นั่นคือพระพุทธศาสนามั่นคงอยู่กับผู้สวดมนต์ และถือได้ว่าได้ปฏิบัติบูชาสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไปโดยแท้จริง
    ๗. ทําหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกาให้สมบูรณ์ ผู้สวดมนต์ย่อมได้ชื่อว่า ได้ทําหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกาให้สมบูรณ์ เป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม เกิดความสามัคคีในสังคมและหมู่คณะ



ขอบคุณที่มา : หนังสือแบบฝึกสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย



 :25: :25: :25:

สรภัญญะ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สรภัญญะ (คำอ่านภาษาไทย: /สะระพันยะ/ หรือ /สอระพันยะ/) คือ ทำนองสำหรับสวดฉันท์ เป็นทำนองแบบสังโยค คือ สวดเป็นจังหวะหยุดตามรูปประโยคฉันทลักษณ์ มักใช้สวดบูชาพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา

การสวดฉันท์ทำนองสรภัญญะมีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านั้นนิยมสวดฉันท์ภาษาบาลี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และผู้สวดส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ทำนองสรภัญญะไม่แพร่หลายนัก ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ป.ธ.8 องคมนตรีและเจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 แปลบทสรรเสริญคุณต่าง ๆ เป็นฉันท์ภาษาไทย เรียก "คำนมัสการคุณานุคุณ" มี 5 ตอน คือ

    - บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
    - บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
    - บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
    - บทสรรเสริญมาตาปิตุคุณ และ
    - บทสรรเสริญอาจาริยคุณ ตามลำดับ

บทประพันธ์นี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ใช้สวดกันโดยทั่วไป และเนื่องจากบาทแรกเริ่มว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ" จึงมักเรียว่า "บทสวดองค์ใดพระสัมพุทธ"

นอกจากบทสรรเสริญพระรัตนตรัยแล้ว ทำนองสรภัญญะยังใช้สวดคาถาบทอื่นอีก เช่น บทแปลคาถาพาหุงซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเริ่มว่า "ปางเมื่อพระองค์ปรมพุทธ"




ขอบคุณที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/สรภัญญะ


.



ขับร้องสรภัญญะ

ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)

สรภัญญ์ คือ ทำนองสำหรับสวดฉันท์ เป็นทำนองแบบสังโยค คือ สวดเป็นจังหวะหยุดตามรูปประโยคฉันทลักษณ์ มักใช้สวดบูชาพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา การสวดฉันท์ทำนองสรภัญญะมีมานานตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๔ ก่อนหน้านั้นนิยมสวดฉันท์ภาษาบาลี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และผู้สวดส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ทำนองสรภัญญะไม่แพร่หลายนัก

ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ป.ธ.๘ องคมนตรีและเจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชการที่ ๕ แปลบทสรรเสริญคุณต่าง ๆ เป็นฉันท์ภาษาไทย เรียก "คำนมัสการคุณานุคุณ" มี ๕ ตอน คือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ บทสรรเสริญพระธรรมคุณ บทสรรเสริญพระสังฆคุณ บทสรรเสริญมาตาปิตุคุณ และบทสรรเสริญอาจาริยคุณตามลำดับ บทประพันธ์นี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ใช้สวดกันโดยทั่วกัน และเนื่องจากบาทแรกเริ่มว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ" จึงมักเรียกว่า บทสวดองค์ใดพระสัมพุทธ"

ประวัติสรภัญญ์ เป็นทำนองสวดทำนองหนึ่ง มีจุดกำเนิดมาจากการสวดทางพุทธศาสนา เป็นทำนองเทศน์ในตอนแรก เทศน์โปรดพุทธศาสนิกชน ต่อมาจึงฝึกให้ฆารวาสร้อง การร้องในภาคอีสาน มีกันแพร่หลายในเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวบ้านว่างจากการทำงาน และรอช่วงการเก็บเกี่ยวมาถึง ชาวบ้านใช้เวลานี้ไปร่วมทำบุญที่วัด เช่น จัดทำดอกไม้ ในสมัยก่อนจัดทำน้ำมันพืช เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดให้มีแสงสว่างพอที่พระสงฆ์จะใช้เวลากลางคืน

นอกจากนี้มีสตรีจับกลุ่มกันร้องสรภัญญ์โดยมีรุ่นเก่าเป็นครูฝึก ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาหมู่บ้านต่าง ๆ จะมีประเพณีทอดเทียน ทอดสาด หมู่บ้านที่เป็นเจ้าภาพจะเชิญหมู่บ้านต่าง ๆ ส่งคณะสรภัญญ์เข้าประกวดกันจะประกอบด้วยสตรีอายุประมาณ ๑๕ ปี ขึ้นไป จำนวน ๑๐-๒๐ คน คนที่มีเสียงไพเราะที่สุดจะเป็นหัวหน้า และจากผลดังกล่าวชาวบ้านเกิดความรักความสามัคคีกันในหมู่คณะและเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีด้วย เพื่อให้คงอยู่คู่ชุมชนตราบนานเท่านาน

บทร้องสรภัญญ์ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา สรรเสริญบูชาพระรัตนตรัย เล่าเรื่องพุทธประวัติ บทสวดคุณของบิดามารดา บทสวดไหว้ครู

 



ขอบคุณ : https://www2.m-culture.go.th/sisaket/ewt_news.php?nid=973&filename=index
วันที่ 24 พ.ย. 2560
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 20, 2024, 08:31:21 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28469
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


คำนมัสการคุณานุคุณ

คำนมัสการคุณานุคุณ เป็นผลงานการประพันธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อยอาจารยางกูร) มีเนื้อหาว่าด้วยการน้อมรำลึกและสำนึกในคุณงามความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูอาจารย์ โดยมีความมุ่งหมายให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทย ยึดมั่นในความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและนำแบบอย่างอันดีงามไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

@@@@@@@

๑. ความเป็นมา

คำนมัสการคุณานุคุณที่คัดมาให้ศึกษามีเนื้อหาแบ่งออกเป็น ๕ ตอน แต่ละตอนมีที่มาจากคาถาภาษาบาลี ดังนี้

คำนมัสการพระพุทธคุณ : อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

คำนมัสการพระธรรมคุณ : สวาก ขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมังนะมัสสามิ

คำนมัสการพระสังฆคุณ : สุปะฏิปปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ

คำนมัสการมาตาปิตุคุณ : มารดาทั้งสองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณอันหาที่สุดมิได้ ข้าพเจ้าขอไหว่เท้าทั้งสองของมารดาบิดาของข้าพเจ้าด้วยความเคารพอย่างสูง

คำนมัสการพระอาจริยคุณ : ครูอาจารย์ผู้ใหญ่และผู้น้อยทั้งหลายล้วนเป็นผู้มีพระคุณอันประเสริฐยิ่ง ได้อบรมสั่งสอนให้ศิษย์มีวิชาความรู้ ได้ให้โอวาทตักเตือนด้วยเมตตาธรรม ข้าพเจ้าขอกราบไว้คุณครูอาจารย์เหล่านั้นด้วยความเคารพ



๒. ประวัติผู้แต่ง

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารกูร) เป็นนักปราชญ์คนสำคัญของไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รอบรู้ในวิชาภาษาไทย และได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเป็นครูที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม อุทิศชีวิตเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติอีกด้วย

๓. ลักษณะคำประพันธ์

คำนมัสการคุณานุคุณแต่ละตอนแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทต่างๆดังนี้

    ๓.๑ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑
    อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ เป็นฉันท์ที่นำมาแต่งคำนมัสการคุณานุคุณ มาตาปิตุคุณ และอาจริยคุณ มีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้



    ๓.๒ กาพย์ฉบัง ๑๖
    กาพย์ฉบัง ๑๖ เป็นกาพย์ที่นำมาแต่งคำนมัสการพระธรรมคุณและพระสังฆคุณมีลักษณะบังคับ ดังแผนผังต่อไปนี้



๔. เนื้อเรื่อง
         
     คำนมัสการพระพุทธคุณ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

    ๏ องค์ใดพระสัมพุทธ์    สุวิสุทธสันดาน
       ตัดมลเกลศมาร    บมิหม่นมิหมองมัว
    ๏ หนึ่งในพระทัยท่าน    ก็เบิกบานคือดอกบัว
       ราคีบพันพัว       สุวคนธกำจร
    ๏ องค์ใดประกอบด้วย    พระกรุณาดังสาคร
       โปรดหมู่ประชากร    มละโอฆกันดาร
    ๏ ชี้ทางบันเทาทุกข์    และชี้สุขเกษมสานต์
       ชี้ทางพระนฤพาน    อันพ้นโศกวิโยคภัย
    ๏ พร้อมเบญจพิธจัก    ษุจรัสวิมลใส
       เห็นเหตุที่ใกล้ไกล    ก็เจนจบประจักษ์จริง
    ๏ กำจัดน้ำใจหยาบ    สันดานบาปแห่งชายหญิง
       สัตวโลกได้พึ่งพิง    มละบาปบำเพ็ญบุญ
    ๏ ข้าขอประณตน้อม    ศิรเกล้าบังคมคุณ
       สัมพุทธการุณ       ญภาพนั้นนิรันดร ฯ
                                               
     คำนมัสการพระธรรมคุณ (กาพย์ฉบัง ๑๖)

     ๏ ธรรมะคือคุณากร          ส่วนชอบสาธร
        ดุจดวงประทีปชัชวาล
     ๏ แห่งองค์พระศาสดาจารย์     ส่องสัตว์สันดาน
        สว่างกระจ่างใจมนท์
     ๏ ธรรมใดนับโดยมรรคผล      เปนแปดพึงยล
        และเก้ากับทั้งนฤพาน
     ๏ สมญาโลกอุดรพิสดาร        อันลึกโอฬาร
        พิสุทธิ์พิเศษสุกใส
     ๏ อีกธรรมต้นทางคระไล        นามขนานขานไข
       ปฏิบัติปริยัติเปนสอง
     ๏ คือทางดำเนินดุจคลอง        ให้ล่วงลุปอง
       ยังโลกอุดรโดยตรง
     ๏ ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์         นบธรรมจำนง
        ด้วยจิตต์และกายวาจา ฯ

     คำนมัสการพระสังฆคุณ (กาพย์ฉบัง ๑๖)

     ๏ สงฆ์ใดสาวกศาสดา       รับปฏิบัติมา
        แต่องค์สมเด็จภควันต์
     ๏ เห็นแจ้งจัตุสัจเสร็จบรร    ลุทางที่อัน
        ระงับและดับทุกข์ภัย
     ๏ โดยเสด็จพระผู้ตรัสไตร    ปัญญาผ่องใส
        สอาดและปราศมัวหมอง
     ๏ เหินห่างทางข้าศึกปอง       บมิลำพอง
        ด้วยกายและวาจาใจ
     ๏ เปนเนื้อนาบุญอันไพ       ศาลแด่โลกัย
        และเกิดพิบูลย์ภูลผล
     ๏ สมญาเอารสทศพล       มีคุณอนนต์
        อเนกจะนับเหลือตรา
     ๏ ข้าขอนบหมู่พระศรา       พกทรงคุณา
        นุคุณประดุจรำพัน
     ๏ ด้วยเดชบุญข้าอภิวันท์    พระไตรรัตน์อัน
        อุดมดิเรกนิรัติสัย
     ๏ จงช่วยขจัดโพยภัย       อันตรายใดใด
        จงดับและกลับเสื่อมสูญ ฯ

    คำนมัสการมาตาปิตุคุณ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

     ๏ ข้าขอนบชนกคุณ       ชนนีเป็นเค้ามูล
        ผู้กอบนุกูลพูน          ผดุงจวบเจริญวัย
    ๏ ฟูมฟักทะนุถนอม        บ บำราศนิราไกล
       แสนยากเท่าไรไร       บ คิดยากลำบากกาย
    ๏ ตรากทนระคนทุกข์      ถนอมเลี้ยง ฤ รู้วาย
       ปกป้องซึ่งอันตราย      จนได้รอดเป็นกายา
    ๏ เปรียบหนักชนกคุณ      ชนนีคือภูผา
       ใหญ่พื้นพสุนธรา         ก็ บ เทียบ บ เทียมทัน
    ๏ เหลือที่จะแทนทด        จะสนองคุณานันต์
       แท้บูชไนยอัน            อุดมเลิศประเสริฐคุณ

     คำนมัสการอาจริยคุณ (อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

     ๏ อนึ่งข้าคำนับน้อม   ต่อพระครูผู้การุณย์
        โอบเอื้อและเจือจุน   อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
     ๏ ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ   ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
       ชี้แจงและแบ่งปัน   ขยายอรรถให้ชัดเจน
     ๏ จิตมากด้วยเมตตา   และกรุณา บ เอียงเอน
        เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์   ให้ฉลาดและแหลมคม
     ๏ ขจัดเขลาบรรเทาโม   หะจิตมืดที่งุนงม
        กังขา ณ อารมณ์   ก็สว่างกระจ่างใจ
     ๏ คุณส่วนนี้ควรนับ   ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
        ควรนึกและตรึกใน   จิตน้อมนิยมชม

@@@@@@@

บทวิเคราะห์ คุณค่าด้านเนื้อหา
   
    ๑. คำนมัสการพระคุณ มีเนื้อหาสำคัญคือ การสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้า
    ๒. คำนมัสการพระธรรมคุณ พระธรรมคือ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
    ๓. คำนมัสการพระสังฆคุณ ถ้าพรพุทธองค์ไม่ได้ทรงสถาปนาคณะสงฆ์ขึ้นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบย่อมสูญสิ้นไปพร้อมกับเสด็จดับขันธ์ปรินิพาน
    ๔. คำนมัสการมาตาปิตุคุณ มารดาบิดาเป็นผู้มีพระคุณก่เราเพราเป็ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเราโดยไม่หวังผลตอบแทน
    ๕. คำนมัสการอาจริยคุณ เนื่องด้วยครูอาจารย์เป็นผู้มีพระคุณแก่เราเพราะเป็นผู้อบรมสั่งสอนและถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เรา


คุณค่าด้านกลวิธีการแต่ง

     ๑. การเลือกสรรคำเหมาะกับเนื้อเรื่อง กวีเลือกสรรถ้อยคำนำมาใช้ได้อย่างไพเราะเหมาะสม
     ๒. การเลือกสรรคำที่มีเสียงเสนาะ กวีใช้ความงามและเสียงเสนาะในการอ่าน นอกเสียงโดยการใช้สัมผัสอักษรละสัมผัสสระ ได้แก่ สัมผัส การเล่นคำ
     ๓. ภาพพจน์ กวีใช้การเปรียบเทียบแบบอุปมาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้น

เมื่อประมวลความดีเด่นด้านเนื้อหาและวรรณศิลป์แล้ว
 
คำนมัสการคุณานุคุณจึงถือว่ามีความครบเครื่องในเรื่องคุณค่าทางวรรณกรรม ควรแก่การท่องจำ เพื่อเป็นเครื่องช่วยกำกับกาย วาจา ใจ และเตือนสติให้ทุกคนโดยเฉพาะเยาวชนไทยได้สำนึกและน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูอาจารย์ สมดังเจตนารมณ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ผู้ประพันคำนมัสการคุณานุคุณ




ขอบคุณที่มา : https://docs.google.com/document/d/1uBIBxDo06VlqeS2Kf2AHs0ycpchuCrB-xOfAM0YTFiQ/edit?pli=1
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28469
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



กรุยทางสร้างบุญบารมีด้วยการสวดมนต์

การสวดมนต์เริ่มต้นตั้งแต่พุทธกาล แต่ในครั้งนั้นยังไม่มีการบันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นตัวหนังสืออย่างพระไตรปิฎกในปัจจุบัน ใช้วิธีการท่องจำที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนอะไรไว้ พระภิกษุก็จะท่องจำแล้วจึงบอกต่อๆ กันจนกระจายไปทั่วทั้งแผ่นดิน
         
การสวดมนต์คือ การสาธยายธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ ถือเป็นการทบทวนบ่อยๆ เพื่อป้องกันการลืมเลือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นหัวข้อธรรมที่สำคัญๆ ก็ยิ่งต้องท่องจำจนขึ้นใจ ส่วนหัวข้อธรรมที่นานๆ ใช้ครั้ง ก็ต้องแบ่งหน้าที่กันว่า พระภิกษุรูปใดจะท่องจำหัวข้อธรรมเรื่องอะไร

ธรรมเรื่องหลักๆ เช่น คุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือเรื่องการพิจารณาขันธ์ 5 ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นเรื่องธรรมดาต่างๆนั้น จะต้องทบทวนเป็นประจำ จึงรวบรวมมาเป็นบทสวดมนต์ทำวัตรที่เราใช้สวดกันในปัจจุบัน ถ้ายังเป็นเด็กก็ให้ท่องบทสวดสั้นๆ ว่า “อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา ....” คือ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ชาวพุทธโดยทั่วไปส่วนใหญ่ สวดมนต์เป็นตั้งแต่ยังเด็กๆ แล้ว

การสวดมนต์ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็นนั้น เป็นการสวดเพื่อรำลึกนึกถึงพระรัตนตรัย ซึ่งผู้สวดจะได้รับประโยชน์นานัปการเลยทีเดียว เราพบว่าหลายคนที่เรียนดี เรียนเก่งนั้นมีเคล็ดลับโดยการนั่งสมาธิ การสวดมนต์ ถือว่าเป็นการเตรียมใจให้พร้อมเบื้องต้น สำหรับการทำสมาธิก็ว่าได้ หากพิเคราะห์วิถีชาวพุทธที่ประกอบด้วยทาน ศีล ภาวนา คำว่า “ภาวนา” ครอบคลุมทั้งการสวดมนต์ นั่งสมาธิ

เพราะฉะนั้นการสวดมนต์ถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง อานิสงส์ประการแรกคือ ทำให้ใจสงบ เป็นสมาธิ พอใจสงบเป็นสมาธิแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ได้ผลดี และประสบความสำเร็จ ประการต่อมา ทำให้เป็นทางมาแห่งบุญ หมายความว่า การสวดมนต์นี้ได้บุญ ท่านเรียกว่า “ภาวนามัย” คือ บุญที่เกิดจากการทำภาวนา


@@@@@@@

สวดมนต์ทำให้เทวดาลงรักษา

ใครก็ตามที่สวดมนต์บ่อยๆ หากต้องพบเหตุการณ์ร้ายๆ ก็แคล้วคลาดไป แล้วสิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น ท่านว่าเทวดาจะลงรักษา เพราะเทวดาและนางฟ้าล้วนอยากได้บุญ แต่ท่านเหล่านั้นอยู่ในภาวะเป็นกายละเอียด อยู่ในช่วงเสวยบุญ ทำบุญด้วยตัวเองไม่สะดวก

ดังนั้น เมื่ออยากได้บุญ เหล่าเทวดานางฟ้า จะดูว่าในโลกนี้มีใครที่เป็นคนดีแล้วทำความดีบ้างเขาก็จะลงรักษา เมื่อคนนั้นไปทำความดี เทวดา นางฟ้า ก็จะได้ส่วนบุญนั้นด้วย ในฐานะเป็นผู้สนับสนุน ลองทบทวนดูก็ได้ว่า ตอนที่เราเป็นเด็ก มีหลายครั้งหลายหนที่ดูเหมือนว่า เราไม่น่าจะรอดชีวิตมาได้ จนถึงปัจจุบัน เช่น อาจจะเคยมีเหตุการณ์ ที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่า เราน่าจะโดนรถชนไปแล้ว เราน่าจะตกต้นไม้ไปแล้ว เราน่าจะตกบันไดไปแล้ว แต่เราก็รอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ความจริงไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นเพราะบุญในตัวเราที่มีอยู่ ทำให้เทวดานางฟ้าลงรักษา เราจึงอยู่รอดปลอดภัยมาถึงปัจจุบัน

อาตมภาพเคยเจอเหตุการณ์ที่เด็กกลิ้งตกบันได ท่าทางหัวจะปักพื้นแน่แล้วจู่ๆ คอเสื้อก็ไปเกี่ยวกับตะปู ตัวเลยห้อยต่องแต่ง แล้วก็รอดมาได้ หรือเด็กบางคนที่ปีนต้นไม้ จะไปเก็บผลสุกที่ปลายสุดกิ่งไม้ ซึ่งกิ่งไม้นั้นเล็กนิดเดียว พอลมพัดก็เอนไปเอียงมา ทำท่าจะหัก แต่สุดท้ายเขาก็รอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่างนี้เรียกว่า “แคล้วคลาด”

@@@@@@@

สวดมนต์สั้นหรือยาว ได้บุญมากน้อยต่างกันหรือไม่.?

ในการสวดมนต์นั้น เราไม่ถึงต้องขนาดกำหนดว่าควรสวดมนต์สั้นยาวแค่ไหน ได้ผลเท่าไร แต่ให้นึกถึงว่า ควรสวดอย่างสม่ำเสมอด้วยใจที่สงบ คือระหว่างสวดมนต์ก็ทำใจนิ่งๆ เป็นสมาธิ ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าไปด้วย อาจระลึกนึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เราเคารพเป็นพิเศษ นึกภาพท่านได้ง่าย ก็นึกให้เห็นองค์ท่านใสๆ อยู่ที่กลางท้องของเรา ถ้าสวดมนต์บ่อยๆ แล้วเราจะรู้หลัก เมื่อสวดแล้วใจจะสงบ พอสงบแล้วผลดีเกิด บุญเกิด ยิ่งใจสงบมากเท่าไร บุญก็ยิ่งเกิดมาเป็นตามส่วน

ยกตัวอย่างเด็กๆ สวดบูชาพระรัตนตรัยบทสั้นๆ ว่า “อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา ....” อย่างนี้ถือเป็นบันไดขั้นแรกของการทำใจให้สงบ เมื่อโตขึ้นอีกหน่อยก็ให้สวด “นะโม ตัสสะ ....” แถมเข้าไปด้วย แล้วถ้าโตขึ้นอีกนิดก็แถมบทสวด “อิติปิโส ภะคะวา ....” ไม่นานก็จะท่องได้คล่องไปโดยปริยาย

การสวดมนต์ถือเป็นบันไดขั้นแรกในการทำจิตใจให้สงบ เมื่อสวดแล้วได้บุญและแคล้วคลาด อีกทั้งยังเป็นการทบทวนคำสอนที่สำคัญๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องถึงขนาดที่ว่าระหว่างสวดมนต์ ต้องคิดคำสอนไปด้วย แต่ให้เน้นหลักทำใจให้สงบ ระหว่างสวดมนต์เป็นสมาธิ ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในระดับที่ลึกกว่า คือ ด้วยใจที่นิ่งและมีความซาบซึ้ง เพราะการที่ใจนิ่งแล้วสวดมนต์นั่นเอง ความเคารพบูชา ซาบซึ้งในพระรัตนตรัย จะเกิดได้อย่างเต็มที่

หลังจากนั้น ระหว่างที่เรามีเวลาว่าง ก็ให้หยิบหนังสือสวดมนต์ พร้อมบทแปลมาพลิกดูบ้าง จะได้รู้ว่าบทสวดมนต์ ที่เราสวดไปนั้นมีเนื้อหาความหมายว่าอย่างไร ถือเป็นการทบทวนธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกทางหนึ่งด้วย


@@@@@@@

สวดมนต์โดยไม่รู้ความหมาย ได้ประโยชน์หรือไม่.?

ในระหว่างที่เราสวดมนต์ แม้ว่าเราจะไม่ทราบความหมาย ของบทสวดนั้น ก็อย่าไปคิดว่าสวดอะไรไปก็ไม่รู้ หรือคิดไปว่าการที่เราไปฟังพระสวดทั้งที่ไม่รู้ความหมายนั้นไม่ได้ประโยชน์ ความจริงแล้วการฟังพระท่านสวดมนต์ ไม่ว่าจะในงานสวดพระอภิธรรมก็ตาม ถวายภัตตาหารพระภิกษุก็ตาม แม้เราไม่รู้ความหมาย แต่เราก็รู้ว่า ที่ท่านสวดคือการบูชาพระรัตนตรัย แล้วมีนัยความหมายที่ดี ให้เราตั้งใจฟังคำสวดโดยทำใจนิ่งๆ สงบๆ เพียงเท่านี้บุญก็เกิดขึ้นอย่างมหาศาลแล้ว

พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านเปรียบไว้ว่า การทำใจให้สงบแม้เพียงช่วงสั้นๆ เพียงแค่ “ช้างกระพือหู งูแลบลิ้น” อานิสงส์มหาศาลยิ่งกว่าสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ลองคิดดูว่าช้างกระพือหูนั้นแป๊บเดียว ยิ่งถ้างูแลบลิ้นนั้นใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที ใจสงบแค่นั้นบุญยังเกิดมหาศาล เพราะฉะนั้นในขณะที่พระท่านกำลังสวดมนต์ใช้เวลาเป็นสิบๆนาที หากเราทำสมาธิแล้วฟังด้วยใจที่สงบ ตั้งใจฟัง ไม่พูดคุยกัน เราย่อมได้บุญมหาศาล

ดังนั้น เมื่อมีพระมาเจริญพุทธมนต์ที่บ้านก็ตาม เข้าไปร่วมงานศพฟังพระท่านสวดพระอภิธรรมก็ตาม ไม่ว่าจะมีการสวดมนต์ในงานใดก็ตาม ขอให้ตั้งใจฟัง พนมมือแล้วหลับตา ทำใจนิ่งๆ อยู่ที่กลางท้องของเรา ที่จุดศูย์กลางกายฐานที่ 7 เหนือระดับสะดือ 2 นิ้วมือ ให้สบายๆ สงบๆ แล้วฟังเสียงพระเจริญพระพุทธมนต์ ระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง ปฏิบัติอย่างถูกหลักวิชา บุญกุศลจะเกิดขึ้นกับเราอย่างมหาศาล

เคยมีเหตุเกิดมาแล้วในอดีต มีพระภิกษุท่านสาธยายธรรมขณะนั้นเองมีค้างคาวอยู่ท้ายวัดได้ฟังธรรม ทั้งๆที่ค้างคาวฟังไม่รู้เรื่องแต่เมื่อฟังแล้วใจเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ฟังแล้วรู้สึกสบาย ฟังแล้วมีความสุข อานิสงส์ของการฟังพระภิกษุสาธยายธรรมนั้น หนุนนำให้เมื่อตายจากค้างคาวไปเกิดเป็นเทวดา แค่ฟังแล้วส่งใจไปตามกระแสเสียงสวดมนต์ของพระท่าน บุญยังส่งให้เป็นเทพบุตร เพราะฉะนั้นอย่าดูเบาเรื่องการสวดมนต์ ยิ่งถ้าเราสวดเองด้วยแล้ว ยิ่งได้บุญทับทวีคูณ

@@@@@@@

เหตุใด.? เราจึงสวดมนต์เป็นภาษาบาลี

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่คงไว้ซึ่งพุทธพจน์ เป็นภาษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ในการสั่งสอนธรรม แล้วภาษาบาลีเวลาสวดแล้วจังหวะจะเชื่อมต่อกันอย่างราบรื่น ทำให้ใจเป็นสมาธิกว่าภาษาอื่นๆ เพราะฉะนั้นเราจึงเน้นสวดมนต์ด้วยภาษาบาลีเป็นหลัก บางท่านถามว่าสวดบทแปลสลับกับภาษาบาลีดีหรือไม่ ตอบว่าถ้าบทสวดสั้นๆ ก็ได้ แต่ถ้าเป็นบทสวดยาวๆ สวดบาลียาวไปเลยจะดีกว่า เพราะพอสวดคำแปลด้วย บางบทมีการเอื้อนจะทำให้จังหวะไม่เหมือนกัน เกิดอาการติดขัดได้

ดังนั้น เราควรเน้นสวดภาษาบาลีเป็นหลัก ยกเว้นบางบทที่อยากจะให้รู้จริงถึงความหมายสั้นๆ ไม่กี่นาที ก็ให้แถมบทแปลไปด้วยก็ได้ แต่โดยภาพรวมทั้งหมด ถ้าสวดเป็นภาษาบาลีจะดีกว่า ซึ่งไม่เกี่ยวกับความขลัง แต่เกี่ยวกับความราบรื่นของใจ ที่สงบและเป็นสมาธิ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะสวดบทแปลหรือไม่แปล “สวดก็ย่อมดีกว่าไม่สวด”




ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
บทความ : เพราะไม่รู้สินะ ตัวเราไม่ธรรมดา - กรุยทางสร้างบุญบารมีด้วยการสวดมนต์ โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
URL : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=8630
วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558






สวดมนต์รักษาสุขภาพ

ปัจจุบันมีผลการวิจัยของนักวิจัยชาวตะวันตกเรื่องการสวดมนต์ สามารถรักษาสุขภาพได้ โดยสามารถอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ได้ว่า มนุษย์ประกอบด้วยกายกับใจ ทั้งสองส่วนส่งผลสืบเนื่องกัน ให้ลองสังเกตว่า ถ้าตอนไหนเรามีเรื่องเครียด ไม่สบายใจกลัดกลุ้มใจ พอหลายๆวันเข้า ร่างกายของเราอาจจะป่วยได้ ไม่สบายเป็นโรคท้องอืด ท้องเฟ้อ นอนไม่หลับ ความดันสูง สารพัดโรคเกิดขึ้นได้มากมาย แต่ถ้าตอนไหนเรารู้สึกสบายใจ อารมณ์ดี รู้สึกว่ากำลังมีสิ่งดีๆเกิดขึ้น ในชีวิต หน้าตาผิวพรรณของเราก็จะสดใส

ในทำนองเดียวกัน ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง เกิดอาการป่วยไข้ นานวันเข้าใจย่อมหดหู่ตามไปด้วย แต่ถ้าร่างกายแข็งแรง ใจเราก็จะมีโอกาสสดชื่นได้มากกว่า กายกับใจส่งผลซึ่งกันและกันอย่างนี้

การสวดมนต์ทำให้ใจเรานิ่งสงบ แล้วเกิดความสบายใจ พอสบายใจใจได้สมดุล ย่อมนำไปสู่ภาวะร่างกายที่สมดุลด้วย เพราะฉะนั้นร่างกายป่วย อาการไม่สบายก็จะทุเลาลง แล้วค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ ถ้าสุขภาพดีอยู่แล้วก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก

ผลึกน้ำกับกระแสใจ

คนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันมักจะชื่นชอบอะไรที่เป็นรูปธรรม มองเห็นได้ จับต้องได้ ถ้ามีคนมาบอกเราว่าสวดมนต์แล้วดี เราฟังแล้วอาจจะคิดตามเพียงเห็นดีด้วย แต่ยังไม่เห็นภาพชัดเจนเป็นรูปธรรม
   
มีผู้เชี่ยวชาญในญี่ปุ่นท่านหนึ่งทำการทดลองเรื่อง “ น้ำ ” อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมา เขาทำการทดลองโดยนำน้ำมาทำให้แข็งตัว คือ เย็นจนกระทั่งจับผลึก พอได้ผลึกน้ำแล้วก็มาส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูว่าลักษณะของผลึกน้ำนั้นเป็นอย่างไร

จากนั้นก็ทดลองโดยใช้น้ำที่มาจากแหล่งน้ำเดียวกัน นำมาแยกเป็น 2 ขวด โดยน้ำขวดหนึ่งเราพูดจาไพเราะกับมัน ส่วนอีกขวดหนึ่งเราพูดด้วยถ้อยคำร้ายๆ เช่น แย่ เลว ผลปรากฎว่าผลึกน้ำนั้นมีลักษณะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง น้ำในขวดที่เราพูดไพเราะด้วยนั้น มีลักษณะของผลึกที่เป็นรูปหกเหลี่ยมสวยงาม แต่น้ำในขวดที่เราพูดไม่ดีด้วยนั้น กลับมีลักษณะของผลึกที่ไม่เป็นรูปเป็นร่าง อย่างกับคนหัวใจสลาย

มีตัวอย่างผลึกของน้ำจากเขื่อนฟูจิวาร่า ก่อนได้ฟังสียงสวดมนต์ลักษณะของผลึกไม่เป็นรูปทรง แต่พอสวดมนต์ให้ฟังทุกวันๆระยะหนึ่ง ผลปรากฎว่าผลึกน้ำกลายเป็นรูปหกเหลี่ยม คล้ายอัญมณีที่มีความงดงาม นี่คือการทดลองวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำซ้ำได้ ไม่ว่าจะทดลองซ้ำอีกกี่ครั้ง ก็ปรากฎผลลัพธ์ที่เหมือนเดิม

แม้แต่การทดลองที่นำข้าวสุกที่หุงเสร็จเรียบร้อยแล้วมาใส่ขวดโหลแยกออกเป็น 2 ขวด แล้วปิดฝาไว้ ขวดหนึ่งพูดด้วยคำพูดที่ไพเราะ อ่อนโยน อีกขวดหนึ่งพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี ผ่านไปเพียงไม่กี่วันช้าวในขวดโหลที่เราพูดจาไพเราะด้วยนั้นมีสีเหลืองนวลสวย แต่ข้าวอีกขวดหนึ่งที่เราพูดไม่ดีด้วยทุกๆวันนั้นกลับมีสีดำ

จากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า ข้าวก็ตาม น้ำก็ตามไม่ได้เข้าใจภาษาแต่อย่างใด ยกตัวอย่างในการทดลองนี้โดยใช้ภาษาญี่ปุ่นพูดกับข้าวกระปุกหนึ่งว่า “ อาริงาโตะ ” แปลว่า “ ขอบคุณ ” ส่วนข้าวอีกกระปุกหนึ่งพูดว่า “ บากะ ” ซึ่งแปลว่า “ ไอ้โง่ ” ถามว่าข้าวเข้าใจภาษาญี่ปุ่นด้วยหรือ แล้วถ้าเราเปลี่ยนมาพูดภาษาไทยว่า “ ขอบคุณ ” กับ “ ไอ้โง่ ” หรือพูดภาษาต่างประเทศล่ะ ข้าวจะรู้เรื่องหรือไม่

ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องของภาษา แต่เป็นเรื่องของกระแสใจ คือ ในขณะที่เราพูดว่า “ ขอบคุณ ” โดยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตาม กระแสใจที่ออกมาในขณะที่พูดนั้นจะเป็นกระแสของความรู้สึกดี เป็นกระแสทางบวก แต่ถ้าเราพูดว่า “ ไอ้โง่ ” ถึงแม้ว่าเราจะแกล้งพูดก็ตาม ภาพที่เกิดขึ้นมาในใจเราขณะที่พูดคำไม่ไพเราะนั้น กระแสใจเราจะเริ่มเปลี่ยนแล้ว ยิ่งถ้าเกิดเรารู้สึกอย่างที่พูดจริงๆ กระแสใจในแง่ลบก็จะยิ่งแรงขึ้น ยิ่งถ้าเราพูดซ้ำๆ ทุกวันก็ยิ่งส่งผลรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ข้าวเอย น้ำเอย ไม่มีชีวิต ไม่รู้ภาษามนุษย์ แต่มันสัมผัสถึงกระแสใจเราที่ส่งออกไปได้ โดยกระแสที่ออกไปนั้น ส่งผลต่อลำดับโครงสร้างโมเลกุลของน้ำ ส่งปลต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในข้าว
   
เพราะฉะนั้นคลื่นเสียงเป็นสื่อของคลื่นใจ เริ่มต้นมาจากใจ แล้วส่งออกไปเป็นคลื่นเสียง ถ้าคลื่นใจดี คลื่นเสียงที่ส่งออกไปจะมีจังหวะที่ดีด้วย ถ้าคลื่นใจเสียก็จะส่งผลไม่ดีออกไปด้วยเช่นกัน แล้วส่งผลไปถึงทุกสรรพสิ่ง

ดังนั้น หากเราสวดมนต์ทุกวันหมั่นสร้างคลื่นใจที่ดีให้กับตัวเองจากภายในด้วยความดื่มด่ำซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัย กระแสดีๆ ก็จะออกมาจากใจเรา สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นในชีวิต ทั้งเลือดและน้ำในตัวเราทั้งหมดจะเกิดเป็นผลึกที่สวยงาม ผิวพรรณวรรณะก็จะผ่องใส เพราะฉะนั้นถ้าปรารถนาให้ตัวเรามีสุขภาพแข็งแรง มีความเบิกบานผ่องใส ก็ให้หมั่นสวดมนต์เป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่ว่าเครื่องสำอางค์ราคาแพงยี่ห้อไหนก็สู้การสวดมนต์ไม่ได้
   
ที่สำคัญการสวดมนต์เป็นการทบทวนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตของเราก็จะดำเนินไปในทางบวก สุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจเบิกบาน ผ่องใสทั้งการเรียนและหน้าที่การงาน ดำเนินไปอย่างได้ผลดี

@@@@@@@

เรื่องราวที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์

ณ กรุงพาราณสี มีเด็กสองคนเป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งอยู่ในครอบครัวสัมมาทิฐิ มีความเห็นชอบ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ส่วนเด็กอีกคนหนึ่งอยู่ในครอบครัวมิจฉาทิฐิ มักเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

เมื่อถึงเวลาแข่งกีฬาตีคลี เด็กที่มาจากครอบครัวสัมมาทิฐิมักจะสวดมนต์บทสวดสั้นๆก่อนลงแข่งเสมอว่า “นะโมพุทธายะ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ส่วนเด็กที่มาจากครอบครัวมิจฉาทิฐิ มักจะกล่าวบูชาพระพรหมว่า “ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพรหม” เพียงเท่านั้นไม่กล่าวบูชาพระรัตนตรัย

ครั้นผลการแข่งออกมา ปรากฎว่าเด็กคนแรกมักจะกุมชัยชนะเสมอ จนเด็กคนที่สองเกิดความสงสัย จึงเอ่ยถามเพื่อนว่า “เธอมีเคล็ดลับอะไรถึงได้ชนะฉันทุกครั้งไป”
   
เด็กคนแรกได้ยินดังนั้น จึงสอนให้เพื่อนสวดมนต์เหมือนกับตนเองว่า “ นะโมพุทธายะ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เด็กคนที่สองก็ทำตามทั้งที่ไม่รู้เรื่อง เพียงเห็นว่าท่องสั้นดี และหวังจะให้ทุกอย่างออกมาราบรื่นบ้าง

เวลาต่อมา เด็กชายในครอบครัวมิจฉาทิฐิได้ตามพ่อของเขา เข้าไปตัดต้นไม้ในป่าใหญ่ ครั้นเมื่อผู้เป็นพ่อตัดต้นไม้เสร็จ ปรากฎว่าโคที่เทียมเกวียนหนีเตลิดหายเข้าไปในป่า พ่อจึงออกไปตามหาโคจนมืดค่ำ

เด็กน้อยนี่งรอพ่ออยู่ก็เกิดความหวาดกลัว จึงหลบไปนอนรอพ่ออยู่ใต้เกวียน โดยหารู้ไม่ว่าในป่าใหญ่นี้มียักษ์อยู่ 2 ตน ยักษ์ตนหนึ่งเป็นสัมมาทิฐิ ไม่รังแกคน แต่ยักษ์อีกตนหนึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ ชอบรังแกคนบ้าง จับกินเป็นอาหารบ้าง

เมื่อยักษ์ทั้งสองเดินทางผ่านมาพบกับเกวียนที่จอดนิ่งอยู่กลางป่าเข้าก็เกิดความรู้สึกสงสัย ยืนด้อมๆมองๆอยู่ครู่หนึ่ง ไม่นานนักเจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิก็เหลือบไปเห็นเท้าของเด็กน้อยโผล่มาจากใต้เกวียน จึงเกิดความดีใจพร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า “วันนี้ข้าโชคดีมีลาภลอย ได้เจ้าเด็กนี่เป็นอาหารแล้ว”

ยักษ์สัมมาทิฐิได้ยินดังนั้นจึงพูดแย้งขึ้นว่า “อย่าไปยุ่งเลย เราไปหาผลไม้กินกันก็ได้” เจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิไม่ฟังเสียง คว้าขาเด็กน้อยได้ก็ลากออกมาทันที เด็กตกใจจึงรีบท่องคำที่เพื่อนเคยสอน “นะโมพุทธายะ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ทันใดนั้นเจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิก็รู้สึกร้อนเหมือนจับโดนเหล็กเผาไฟ มันสะดุ้งแล้วรีบคลายมือที่จับขาเด็กน้อยออกทันที ด้วยอานิสงส์ของการกล่าววาจานอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า เจ้ายักษ์ มิจฉาทิฐิรู้ได้ในทันทีว่าเด็กน้อยเป็นผู้มีบุญ จะไปทำอันตรายเขาไม่ได้ มันจึงหันไปปรึกษายักษ์อีกตนหนึ่ง ยักษ์ผู้มีความประพฤติดีจึงตอบเพื่อนกลับไปว่า “เจ้าทำบาปกับผู้มีบารมีแล้ว เพราะฉะนั้นเจ้าต้องกล่าวขอโทษเขา”

เจ้ายักษ์มิจฉาทิฐิเกรงกลัวบาปกรรม จึงรีบเร่งไปเก็บผลไม้มาเลี้ยงเด็กแล้วขอขมาลาโทษ ไม่นานเด็กน้อยกับพ่อก็ได้พบกัน แล้วกลับบ้านอย่างปลอดภัยในที่สุด

เรื่องราวเหล่านี้ชี้ให้เห็นอานิสงส์ของการสวดมนต์ แม้จะสวดเพียงสั้นๆ โดยไม่รู้ความหมายบุญก็เกิดได้ คนโบราณรู้หลักข้อนี้ดี เวลาเกิดเหตุให้ตกใจก็มักอุทานว่า “คุณพระช่วย” แต่ถ้าเป็นในสมัยพุทธกาลเขาอุทานกันว่า “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต....” ตกใจแต่ละทีจะต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน นึกถึงพระรัตนตรัยก่อน แล้วเอาใจผูกไว้อย่างนั้น เพราะรู้ว่าผูกไว้กับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้วจะดีขึ้น ถ้าเราเองจับหลักนี้ได้เหมือนกับปู่ย่าตายยาย ชีวิตของเราก็จะดีตาม ผลดีจะเกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว






ขอขอบคุณ :-
ภาพ : https://www.pinterest.ca/
บทความ : เพราะไม่รู้สินะ ตัวเราไม่ธรรมดา - สวดมนต์รักษาสุขภาพ โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
URL : https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=8631
วันที่ 14 กค. พ.ศ.2558






หนังสือเล่ม "เพราะไม่รู้สินะ" โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
"จะทนทุกข์ไปทำไม ในเมื่อคุณสามารถลิขิตชีวิตตนเองได้ เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ลองมองโลกในอีกมุมที่ต่างไป ลองเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต คุณอาจได้คำตอบว่า ความสุขนั้นหาได้ง่ายๆ ถ้าคุณคิดได้และคิดเป็น"

วางแผงจำหน่ายแล้วที่ :-
- ซีเอ็ดบุ๊ค
https://www.se-ed.com/product-search/เพราะไม่รู้สินะ.aspx?keyword=เพราะไม่รู้สินะ&search=name
- ร้านนายอินทร์
https://www.naiin.com/product/detail/141416/เพราะไม่รู้สินะ
- Book Smile
http://www.booksmile.co.th/ศาสนา-ปรัชญา/เพราะไม่รู้สินะ.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28469
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



สวดมนต์ ต้องไม่โค่นสาธยาย

"นี่ เราสวดมนต์กันอย่างไร สวดกันมา ๕๐ ปี ยังไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร"

การสวดมนต์นั้น ตัวแท้ตัวจริง แก่นสาระของมัน ก็คือการสาธยาย และมนต์ที่เราเอาคำของพราหมณ์มาใช้แบบเทียบเคียงหรือล้อคำพูดของเขานั้น เราหมายถึงพุทธพจน์ คือคำตรัสสอนแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า การสวดมนต์จึงมุ่งให้เป็นการสาธยายพุทธพจน์ คำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระสูตร เป็นคาถา เป็นเนื้อความในพระไตรปิฎก

ที่ว่าสาธยาย ก็คือมีสติจำได้ระลึกถึงจับยกนำเอาข้อมูล ความรู้(ในที่นี้คือพุทธพจน์) ขึ้นมาระบุบ่งชี้จัดเรียงเข้าที่ตรงตามลำดับอย่างถูกต้องครบถ้วน อาจจะเป็นการท่อง การทวน หรือการทาน ก็ได้ สติจึงเป็นตัวทำงานของการสาธยาย




 :25:

บอกกล่าว

"สวดมนต์ ต้องไม่โค่นสาธยาย" โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
พิมพ์ ครั้งที่ ๓. ,ตุลาคม ๒๕๖๓ ๕๐๐ เล่ม ,งานพระราชทานเพลิงศพ นาวาอากาศเอก บํารุง กันสิทธิ์

พิมพ์เป็นธรรมทาน โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์
ท่านผู้ใดประสงค์จัดพิมพ์ โปรดติดต่อขออนุญาตที่...
วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ๗๓๒๑๐
http://www.watnyanaves.net
ขอบคุณที่มา : https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/682

ผู้โพสต์จะขอนำบทความบางตอนที่น่าสนใจ ในหนังสือเล่มนี้ มานำเสนอตามลำดับ ท่านใดประสงค์จะอ่านฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลด pdf file ได้ ผู้โพสต์ได้แนบไว้ ในตอนท้ายของโพสต์นี้

หรือดาวน์โหลดต้นฉบับได้ที่ https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/682

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28469
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: สาธยายธรรม กับ สวดมนต์ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร.?
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: พฤษภาคม 03, 2024, 09:29:37 am »
0
.



ตอน ๑. รู้ไว้ก่อน กันเขว



 :25: :25: :25:

เรื่องเก่าคําเก่า พระพุทธเจ้าสอนให้คิดใหม่ทําใหม่

พูดถึงเรื่องที่ว่าชาวพุทธจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์จะทําอะไรๆ ก็ให้มีความรู้เข้าใจ ให้มองด้วยความรู้ ให้มีให้ได้ความรู้ ก็เลยขอพูด กว้างออกไปขอยกตัวอย่างสักหน่อย ที่เรียกกันว่าชาวพุทธเวลานี้ มีอะไร หลายอย่างที่ทําตามๆ กันไป ว่ากันเรื่อยเฉื่อย บางทีก็ทําไปแค่ ตามความรู้สึก คิดได้แค่ที่ถูกความรู้สึกลากไป ถึงเวลาจะต้องมา สะกิดใจนึกว่า เอ๊ะ.. ที่เราทํานั่นทํานี่นั้น เรารู้เรื่อง เราเข้าใจดีไหม

เอาง่ายที่สุด เรื่องสวดมนต์ อย่างพระมานี่ ก็มีการสวดมนต์ สวดปาติโมกข์ เอ๊ะ.. สวดมนต์นี้คืออะไร เราทําไปทําไม มี วัตถุประสงค์อะไรนะ เรารู้เราเข้าใจไหม บอกแล้วว่าพุทธศาสนา เป็นศาสนาของผู้รู้ ถ้าทําไปโดยไม่รู้ว่าไปตามความรู้สึก มันก็ไม่ใช่ ไม่เข้าหลักแล้ว

คําว่า “สวดมนต์” นี่ มามองดูกันหน่อย ว่ากันไปแล้ว มันก็ ไม่ใช่ศัพท์พระพุทธศาสนา ไม่ใช่คําพุทธแท้ด้วยซ้ำ “มนต์” มาจากไหน.? มนต์ คือ มันตะ มาจากบาลีว่า “มนุต” ใช้กันมาแต่เดิมในคัมภีร์ทั้งหลาย เป็นเรื่องของพวกพราหมณ์ พวก ฤๅษี ตรงกับคําสันสกฤตว่า “มนตร” คือ มันตระ แล้วก็มนตร์

ว่ากันตั้งแต่ดั้งเดิม มันตระ คือมนตร์นี่ ในความหมายที่ ๑ ซึ่งเป็นความหมายหลัก ก็คือ คัมภีร์พระเวท ที่เรียกว่าไตรเพท ในพระไตรปิฎกมากหลายแห่ง เมื่อกล่าวถึงพราหมณ์ ใหญ่โตคนสําคัญที่มาเฝ้ามาสนทนา มาโต้ตอบวาทะกับ พระพุทธเจ้าจะบอกว่าพราหมณ์นั้นๆ ผู้เป็น “อชฌายโก มนฺตธโร ติณณ์ เวทาน ปาร์ค..” คือ ผู้คงแก่เรียน ผู้ทรงมันตระ/มนตร์ (อรรถกถามักไขความว่า หมายถึงอาถรรพเวท แต่ก็มีคัมภีร์ที่อธิบายว่า มนต์ มันตระนี้หมายถึงมูลเวท คือพระเวทดั้งเดิม ส่วนทางฝ่ายสันสกฤตว่าคือ ตัวแท้ของพระเวท) จบไตรเพท

มนต์/มนตร์นั้น พวกพราหมณ์พวกฤษีบางทีก็เอาไว้สาปแช่ง คนอื่น แล้วก็มีมนต์ที่เป็นคําขลังศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น มนต์สะกดคน สะกดสัตว์ต่างๆ เช่นจะให้คนอ้าปากค้างพูดไม่ออก จะให้ช้างเชื่อง ให้ช้างให้เสืออยู่ใต้อํานาจ สามารถสั่งบังคับมันได้ ก็ร่ายมนต์ สะกดมัน คือมีมนต์ขลังสารพัดเลย แล้วคนก็มาวุ่นอยู่กับเรื่องขลัง เรื่องศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์อํานาจ ไปๆ มาๆ เมื่อไม่เอาความรู้ ไม่เอาปัญญาเป็นหลัก ก็จะพากันเพลินไปจนหลงเข้ากระแสของไสยศาสตร์

@@@@@@@

ทีนี้ ทําไมในพระพุทธศาสนาเราจึงมีการสวดมนต์ หรือใช้คํา ว่า “สวดมนต์” ด้วย นี่ก็น่าคิด

อย่างที่รู้กัน พระพุทธศาสนานั้นเกิดขึ้นในชมพูทวีป ในสมัย ที่ศาสนาพราหมณ์เป็นใหญ่ เรียกได้ว่าครอบงําสังคมทั้งหมด สภาพสังคม จนถึงบรรยากาศของสังคมเป็นเรื่องของศาสนา พราหมณ์ เช่น ไม่ว่าจะไปไหน ก็มีการสวดสาธยายมนต์ มีพิธีบูชา ยัญ มีการไหว้เทพเจ้าที่มีพระพรหมเป็นใหญ่ ถ้อยคําพูดจาของ ผู้คนก็มีความหมายตามความเข้าใจของคนที่อยู่ในศาสนา พราหมณ์ มีอะไรต่ออะไรที่เป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ทั้งนั้น

เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาในสภาพอย่างที่ว่านั้น จะทําอย่างไร เราจะสอนอะไรแปลกใหม่ ก็ไม่มีศัพท์แสงถ้อยคําที่ผู้คน จะเข้าใจ แล้วจะทําอย่างไร ถึงแม้ว่าเราจะมีคําใหม่ๆ ขึ้นมา เราก็ ต้องเอาศัพท์ของเขามาใช้บ้างเป็นธรรมดา แต่คําอย่างของเขาที่ เราใช้นั้น มีความหมายไม่เหมือนกับของเขา เราก็ต้องค่อยๆ ชี้แจง ว่า คําเดียวกับเขาที่เราใช้นี่ มิใช่หมายความอย่างของเขานะ นอกจากนั้น บ่อยครั้ง พระพุทธเจ้าทรงใช้คําของพราหมณ์ เพื่อจะทรงสอนให้เขาเปลี่ยนความคิดความเข้าใจเสียใหม่ คือให้ เลิกคิดเรื่องนั้นๆ ในความหมายเก่าของเขา แต่ให้หันมาคิดมาทําอย่างใหม่

ถ้อยคําสําคัญของพราหมณ์ ที่เป็นหลักการใหญ่ของเขา พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เขาคิดใหม่ทําใหม่ เช่น ในการบูชายัญของ พราหมณ์ เขาเอาแพะ แกะ วัว มาฆ่าบูชายัญ โดยเฉพาะผู้ครอง แผ่นดิน อย่างพระมหากษัตริย์ก็ทรงทําพิธีบูชายัญสําคัญ อย่าง อัศวเมธที่ใหญ่ยิ่ง ก็ฆ่าม้าที่เยี่ยมยอดบูชายัญ พร้อมทั้งฆ่าสารพัด พ่วงไปด้วย แต่ถ้าเป็นพิธีบูชายัญใหญ่ๆ รองลงมา ซึ่งทํากันบ่อย หน่อย ก็ฆ่าวัว ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ ดังที่ท่านเล่าไว้ บ่อยครั้งในพระไตรปิฎก

ทีนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนเลิกบูชายัญ ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ มากในพระไตรปิฎก บางครั้ง พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปพบกับ พราหมณ์ใหญ่ที่กําลังจะทําพิธี เช่น พราหมณ์เจ้าเมืองแห่งหนึ่ง กําลังจัดเตรียมพิธีบูชายัญ เริ่มต้นตั้งแต่ให้จับวัว แพะ แกะ เอามา ผูกกับหลักที่บูชายัญ พระพุทธเจ้าเสด็จตรงไปหาเจ้าเมืองผู้ทําพิธีนั้น แล้วก็ทรงสนทนาด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสบอกเขาว่า มีวิธีบูชายัญที่ไม่ต้องทําอย่างนี้ คือไม่ต้องทําให้ข้าทาสบริวารลําบากเดือดร้อน และสัตว์ทั้งหลายก็ ไม่ต้องเสียชีวิตถูกฆ่าถูกเฉือน แต่ได้ผลดีกว่าวิธีที่มีการฆ่าแบบนี้ ซึ่งในยุคโบราณก่อนนั้นก็ได้มีมาแล้ว

@@@@@@@@

เขาถามว่า มีอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกให้ โดยสรุป พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนวิธีบูชายัญ ด้วยการจัดการทรัพย์สิน โดยให้ผู้ครองเมือง หรือผู้ครองแผ่นดิน จัดตั้งแผนการจัดสรรทรัพย์ โดยรวบรวมทุน แล้วก็จัดสรรแบ่งปันกระจายออกไปให้ทั่วถึงกันแก่คนทุกหมู่เหล่าผู้ทําหน้าที่การงานการอาชีพประเภทนั้นๆ ให้ทั่วจนถึงราษฎรยากจนทั้งแผ่นดิน ให้อยู่กันดีมีพอกินพอใช้พอใจที่จะ ได้ตั้งใจทําการงานอาชีพของตนๆ ต่อไป

เมื่อผู้ครองเมืองบูชายัญแบบนี้ ก็จะเกิดผลดีถึงขั้นที่เรียกว่า "บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน ให้บุตรฟ้อนบนอก”

นี่เป็นสํานวนบาลี หมายความว่า ถ้าทําพิธีบูชายัญแบบนี้ ประชาชนก็จะอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ถึงขั้นที่ว่า “บ้านเรือนไม่ต้องลง กลอน” หมายความว่า ไปไหนก็ไม่ต้องใส่กุญแจบ้าน เพราะไม่มี คนที่จะมาลักขโมย ไม่มีโจรผู้ร้าย

แล้วที่ว่า “ให้บุตรฟ้อนบนอก" ก็หมายความว่า ในบ้านใน ครอบครัวจะมีความสุข ถึงขั้นที่ว่าไม่ต้องห่วงกังวลหวาดกลัวภัย อะไรๆ สามารถเล่นกับลูกน้อยให้เขากระโดดโลดเต้นบนอกของพ่อ แม่ คนจะมีความสุขกันอย่างนี้ นี่คือการบูชายัญตามคติของ พระพุทธศาสนา ไม่ใช่ยัญแบบพราหมณ์ แต่เป็นยัญแบบพุทธ ผู้ปกครองจะต้องทําบ้านเมืองให้คนอยู่กันได้อย่างนี้

เรื่องยัญนี้ พระพุทธศาสนาสอนเยอะ เพราะว่าพวก พราหมณ์นั้นมีพิธีบูชายัญทุกบ้านทุกครอบครัวและเป็นประจําทุกวัน ตั้งแต่เริ่มวันใหม่กันเลย แต่ละบ้านต้องบูชายัญประจําวัน ขาด ไม่ได้ และมีกําหนดว่าต้องทําอย่างนั้นๆ พระพุทธเจ้าเสด็จไปถึง ก็ทรงสอนให้เลิกทํา หรือให้แก้ไขเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด นอกจากการบูชายัญ ก็ทรงยกเลิกระบบวรรณะด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ง่ายๆ คือคําว่า “ทักษิณา” คํานี้เราก็เอา ของพราหมณ์มาใช้ เป็นบาลีว่า “ทักขิณา

ทักษิณา คือ ของตอบแทนที่มอบให้หรือถวายให้แก่พราหมณ์ ผู้ทําพิธีบูชายัญ ถ้าพูดอย่างไม่เกรงใจ ก็คือ ค่าจ้างทําพิธีบูชายัญ ทีนี้พระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงให้เลิกพิธีบูชายัญ ทักษิณาก็เปลี่ยนมามีความหมายใหม่ หมายถึงสิ่งที่นํามาทําบุญ ด้วยใจศรัทธา ที่เชื่อในบุญในกรรมในธรรม ความหมายเปลี่ยนใหม่ แต่สิ่งของก็คล้ายๆกัน คือเป็นของให้ ของถวาย

เรื่องที่ว่าความหมายเปลี่ยนไป หลักการเปลี่ยนไปอย่างนี้ มี ตัวอย่างเยอะแยะทั่วไป คือ คําเก่าเขาใช้มา เราเกิดมาใน สภาพการณ์อย่างนั้น ก็เอาคําของเขามาใช้ แล้วก็ค่อยๆ ให้คน เข้าใจใหม่ให้ถูกต้อง

@@@@@@

รู้จักพุทธมนต์ไว้ พอไม่ให้กลายเป็นไสยศาสตร์

ทีนี้ก็มาดูกันในเรื่องการสวดมนต์ ที่จริงเรามีศัพท์ของเราอยู่ แล้ว และแต่เดิมนั้นเราใช้คําว่า “มนต์” เพียงบางครั้งบางโอกาส โดยเป็นการใช้แบบเทียบเคียงเพื่อให้เขาเข้าใจเรื่องของเรา ด้วยค่าเรียกเรื่องที่เขารู้จักดีอยู่แล้ว

บางทีเราก็ใช้คําว่ามนต์นั้น เป็นเชิงล้อศัพท์ของพราหมณ์ เพื่อให้เห็นความหมายอย่างอื่นต่างออกไป ที่ประชาชนควรเข้าใจจะได้เลิกหลงเลิกติดอยู่กับมนต์ในความหมายอย่างเก่าของพวกพราหมณ์พวกฤษี

อย่างที่ได้บอกแล้วเมื่อกี้นี้ว่า มนต์ (บาลี : มนุต) หรือมนตร์ (สันสกฤต : มนตร) ตามความหมายหลักแต่เดิมมา หมายถึงพระ เวท ที่เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ แล้วรองลงมาก็หมายถึง ค่าขลังศักดิ์สิทธิ์ ที่พวกพราหมณ์พวกฤษนั้นเอามาร่ายมาเสกมา สาธยาย ให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ สาปแช่งคนให้ตายหรือให้ เป็นไปต่างๆ บ้าง ชุบคนตายให้เป็นขึ้นมาบ้าง สะกดคนสะกดสัตว์ ให้อยู่ในบังคับ ให้เป็นไปต่างๆ บ้าง

พวกฤษีนั้นโกรธเกลียดใครมากๆ ก็มักสาปแช่งให้ศีรษะแตก ตายใน ๗ วัน พระโพธิสัตว์ก็เคยถูกสาปแช่งอย่างนั้น โดยฤษีที่มา จากวรรณะพราหมณ์ คือพราหมณ์ที่มาบวชเป็นฤษี

ในเรื่องนั้น พระโพธิสัตว์เกิดเป็นคนจัณฑาล ต้องการปราบ มานะคือความเย่อหยิ่งถือตัวของพวกพราหมณ์ ก็ไปแกล้งฤษี พราหมณ์ แล้วก็ถูกฤษีพราหมณ์นั้นสาปแช่งว่า ให้แกต้องไปทําอย่างนั้นๆ ไม่อย่างนั้นให้ศีรษะแตกใน ๗ วัน แต่พระโพธิสัตว์แก้ไขได้ ไม่เป็นไร จนในที่สุดฤษีพราหมณ์นั้นต้องยอมแพ้ อะไรอย่างนี้มีเยอะ เรื่องผจญกับพวกพราหมณ์ ลัทธิเก่านี่มีมากมาย

@@@@@@@@

ทีนี้ คําว่า มนต์, มนตร์, มันตระนี่ ดังที่ว่าแล้ว เดิมนั้นเป็น เรื่องของพราหมณ์ ไม่ใช่เป็นคําพุทธ แต่บางครั้งท่านนํามาใช้ใน พระพุทธศาสนาในความหมายเชิงเทียบเคียง เช่น ในเรื่องของพระเถรีชื่อว่ากุณฑลเกสี

พระกุณฑลเกสี เป็นพระเถรีสําคัญมาก เป็นมหาสาวิกาองค์ หนึ่ง ท่านมีชื่อเป็นทางการว่า “พระภัททากุณฑลเกสา" พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในด้านชิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้ฉับพลัน (ค่าไทยว่า “ตรัสรู้” นี้ เท่าที่ค้นได้ สมเด็จพระสังฆราช สมัยก่อน ครั้ง ร.๒ อย่างน้อยถึง ร.5 ทรงใช้สําหรับทุกบุคคลที่บรรลุมรรคผล แต่สมัยนี้จํากัดว่าให้ใช้เฉพาะพระพุทธเจ้า)

พระกุณฑลเกสีเถรีนี้เป็นธิดาของเศรษฐีในเมืองราชคฤห์ มีประวัติเป็นเรื่องผจญทุกข์เผชิญภัย แล้วด้วยปัญญาไวก็เอาชนะ ผ่านมาได้ เป็นเรื่องตื่นเต้นน่าสนใจ แต่ขอเล่ารวบรัดว่า ต่อมาท่านได้เป็นปริพาชิกาในลัทธิภายนอก เที่ยวเดินทางไปแสวงธรรมหาความจริง และเพราะเป็นคนมีปัญญาเยี่ยม ก็เที่ยวท้าหาคนเก่งๆ มาตอบปัญหาโต้วาทะ จนมาเจอกับพระสารีบุตร ท่านถามปัญหา มากมาย พระสารีบุตรตอบได้หมด

แล้วพระสารีบุตรถามบ้าง ท่าน ตอบไม่ได้ และจึงถามด้วยความอยากรู้อยากเรียนว่า ที่พระสารีบุตรถามนั้นเป็นเรื่องอะไร พระสารีบุตรก็ตอบโดยใช้คําว่าเป็น “พุทธมนต์” นี่คือใช้คําว่ามนต์มาสื่อความหมายให้คนภายนอก เข้าใจถึงความสําคัญ ท่านกุณฑลเกสีอยากจะเรียน จึงได้บวช และต่อมาก็ได้เป็นพระภิกษุณีสําคัญ

ดังที่ว่า อย่างไรก็ดี ในเรื่องของพระกุณฑลเกสีเถรีนี้ คําที่ใช้ยังไม่แน่ชัด คือในคัมภีร์ฉบับของพม่า ของสิงหล และฉบับอักษรโรมัน บอกว่าพระสารีบุตรตอบโดยใช้คําว่าเป็น “พุทธปัญหา” ไม่ได้ใช้ คําว่าเป็น “พุทธมนต์” อย่างในฉบับของไทย ก็ไม่เป็นไร ถ้าจะให้ เป็นเรื่องที่แน่ชัดกว่านี้ ก็ต้องเอากรณีที่คนผู้เป็นพราหมณ์ชํานาญเวทมาพบกับพระเถราจารย์องค์สําคัญๆ

พระสาวกองค์สําคัญๆ ของพระพุทธเจ้า ส่วนมากมาบวช โดยสลัดออกจากตระกูลพราหมณ์ เพราะในระบบวรรณะนั้น คนที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ถือตัวว่าเป็นชนชั้นสูงสุด เป็นคนพวกเดียว ที่ติดต่อถึงกับพระพรหมผู้เป็นเจ้าได้ และเข้าถึงการศึกษาได้จริงจังเต็มที่ พราหมณ์จึงเป็นทั้งผู้มีอํานาจใหญ่โต และเป็นปัญญาชนของยุคสมัยนั้น

@@@@@@@@

ในที่นี้ จะพูดถึงพราหมณ์ ๒ ท่าน ที่ได้สละความเป็นพราหมณ์ออกมาบวช และได้เป็นบุคคลสําคัญ

ในประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา ยุคหลังพุทธกาล หลังพุทธปรินิพพาน ๒๐๐ ปี เศษ พระเจ้าอโศกได้เป็น มหาราชปกครองชมพูทวีปในยุคที่อินเดียกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด พระองค์ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงอุปถัมภ์บํารุงวัด และพระสงฆ์เต็มที่ แล้วก็ได้มีคนจากลัทธิภายนอก ซึ่งอยากได้ ลาภมากมายเพื่อให้เป็นอยู่สุขสบาย เข้ามาบวชและเอาคําสอนที่ ผิดเพี้ยนเข้ามาสั่งสอน เป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนา ทําให้ ความรู้ความเข้าใจหลักธรรมฟันเฟือน พระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้ ทรงอุปถัมภ์พระสงฆ์ในการทําสังคายนา (ครั้งที่ ๓) โดยได้พระ โมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานการสังคายนานั้น

พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระนี้ เดิมทีก็เกิดในวรรณะพราหมณ์ มีชื่อว่าติสสะ เป็นเด็กสมองดี จึงเรียนจบไตรเพทตั้งแต่เป็นมาณพ น้อยอายุเพียง ๑๖ ปี แล้ววันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่ทําให้พระเถระชื่อว่าสิคควะ มานั่งบนแท่นที่นั่งของเขา ติสสมาณพนั้นถือตัวนัก กลับจากบ้านของอาจารย์มาเห็นเข้า ก็โกรธมากและต่อว่า แล้วลงท้ายก็ถามกันถึงความรู้เรื่องมนต์

พระถามว่า “นี่มาณพน้อย เธอรู้มนต์บ้างไหม.?"
ติสสะตอบว่า “ถ้าคนอย่างข้าไม่รู้ คนอื่นที่ไหนใครจะรู้"
แล้วเขาก็ยกเอาเรื่องที่ยากๆ ในไตรเพทและคัมภีร์สําคัญของพราหมณ์ขึ้นมาพูดและถามพระเถระเพื่อจะข่ม แต่พระสิคควะตอบได้ อธิบายได้หมด เพราะท่านก็ได้เรียนจบไตรเพทมาแล้ว แถมได้ปฏิสัมภิทามีปัญญาแตกฉาน

มาณพหมดภูมิที่จะถามแล้ว พระเถระก็บอกว่า เธอถามมามากแล้ว ฉันถามบ้างได้ไหม ขอข้อเดียวแหละ มาณพบอกว่า ก็ถามมาสิ พระเถระถามว่า
     “จิตของผู้ใดเกิด ไม่ดับ จิตของผู้นั้น จักดับ จักไม่เกิด หรือว่า จิตของผู้ใด จักดับ จักไม่เกิด จิตของผู้นั้น เกิด ไม่ดับ”

มาณพน้อยเมื่อกี้หมดภูมิที่จะถามแล้ว คราวนี้ไม่มีภูมิ ที่จะตอบ คิดทางไหนก็ไปไม่ได้ ในที่สุดจึงถามว่า ที่ท่านถามมานั้น เป็นเรื่องอะไร พระตอบว่าเป็น “พุทธมนต์”

มาณพถามว่าให้ฉันได้ไหม พระตอบว่า ถ้าเธอเป็นเหมือนอย่างฉันนี่ ก็ให้ได้ (คือ ถ้าบวช เป็นพระเป็นเณรเหมือนกันแล้ว ก็จะให้) มาณพน้อยอยากได้พุทธมนต์ ก็ไปขออนุญาตบิดามารดา ฝ่ายพราหมณ์พ่อแม่คิดว่าลูกไปบวชได้มนต์แล้ว ก็จะกลับมาบ้านเอง จึงยอมให้ไป

พระเถระให้มาณพน้อยบวชเป็นสามเณรแล้ว ก็จัดการให้ได้ฝึกได้เรียนพุทธพจน์ จนถึงเวลาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่มีความรู้เชี่ยวชาญทรงพระไตรปิฎก แล้วก็ได้เป็นพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระที่เป็นประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น ใน พ.ศ. ๒๓๕-๖

@@@@@@@

ในเรื่องนี้จะเห็นว่า พระเถระใช้คําว่า “พุทธมนต์" เพื่อให้ มาณพได้ความคิดความเข้าใจและสนใจโดยเทียบเคียงกับเรื่อง จําพวกไตรเพทที่เขารู้จักอยู่แล้วและเขาถือว่าสําคัญยิ่งใหญ่ แต่ที่จริงพุทธมนต์นั้นก็คือพุทธพจน์ หรือบทธรรมข้อธรรมทั้งหลาย นี่เอง และพุทธมนต์ คือมนต์ของพระพุทธเจ้านี้เป็นเรื่องสําหรับ ศึกษาที่จะต้องเรียนให้รู้เข้าใจด้วยปัญญา ไม่ใช่แค่เอามาจําให้ แม่นใจแล้วว่าให้คล่องปาก โดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร

(คําว่า “พุทธมนต์” นี้ มีการใช้ในความหมายแบบที่เป็นมนต์ ของพราหมณ์ด้วย คือหมายถึงมนต์ในคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ ที่ ใช้ทํานายลักษณะของพระพุทธเจ้า และบุคคลสําคัญในระดับใกล้เคียง)

หลังสังคายนาเสร็จแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชทรงพอพระทัยว่าพระพุทธศาสนธรรมจะเจริญมั่นคง และควรจะให้ประเทศถิ่นดินแดนอื่นได้ประโยชน์ด้วย จึงทรงอุปถัมภ์ให้ส่งพระเป็นศาสนทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ๙ สาย รวมทั้งสุวรรณภูมิที่ตั้งประเทศไทยนี้ด้วย โดยเฉพาะที่ถือได้ว่าเป็น หลัก คือสายที่ ๙ สู่ลังกาทวีป ซึ่งพระหัวหน้าสาย คือพระมหินทเถระ เป็นโอรสของพระองค์เอง

สิ่งที่พระมหินทเถระนําไปเพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป คือ พระไตรปิฎกและอรรถกถาทั้งหลายนั้น (นําไปในตัวพระสงฆ์ ที่สมัยนั้นใช้วิธีสาธยายทรงจําไว้) ได้เป็นฐานที่มั่นสําคัญของพระพุทธศาสนา โดยต่อมาได้จารึกเป็นตัวอักษร และหลายประเทศได้มารับเอาไป รวมทั้งรับกลับไปสู่อินเดียแดนเดิมของพระพุทธศาสนาเอง

ที่ศรีลังกานั่นแหละ ต่อมา พระราชาก็ได้ทรงส่งทูตไปทูล พระเจ้าอโศก ขออาราธนาพระสังฆมิตตาเถรีมาประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ในลังกาทวีป พระสังฆมิตตาเถรีก็คือพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชเอง และพระเถรีได้นํากิ่งพระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกไว้ที่อนุราธปุระซึ่งเป็นเมืองหลวงของศรีลังกาในสมัยนั้นด้วย และในปัจจุบัน พระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้ก็ยังยืนต้นอยู่ โดยมีชื่อว่าเป็น ต้นไม้ประวัติศาสตร์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก




รู้จักพุทธมนต์จริง ก็จบพระพุทธศาสนา

ที่เล่าเมื่อกี้นี้เป็นเรื่องราวในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ซึ่งอยู่ในช่วงเวลา ๓ ศตวรรษแรก แต่หลังจากนั้น พุทธศาสนาในอินเดียก็ประสบภัย ถูก เบียดเบียนเรื่อยมา

บอกแล้วว่าพวกพราหมณ์ถือตัวว่าเป็นวรรณะประเสริฐ สูงสุด เป็นเจ้าคัมภีร์ที่พระพรหมทรงลิขิตชีวิตคนและสังคมไว้ และ พราหมณ์ก็ได้ผลประโยชน์ทุกอย่างจากอํานาจในฐานะของตน แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลิกถือวรรณะ ให้เลิกบูชายัญ ให้รู้ว่าคนมีชีวิตที่เกิดมาตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากพระพรหมสร้าง และมนุษย์สามารถฝึกศึกษาพัฒนาตัวให้ดีเลิศประเสริฐได้เหนือพระพรหม นี่ก็เท่ากับโค่นล้มพราหมณ์ลงทั้งหมด

แต่ก็พราหมณ์นั่นแหละจํานวนไม่น้อย ที่ใจดีมีปัญญา ได้ฟัง พระพุทธเจ้าแล้ว ก็เห็นตามที่พระองค์ทรงสอน และสละวรรณะ พราหมณ์ออกมาเป็นพุทธสาวกช่วยพระพุทธเจ้าสอนประชาชนให้ รู้เข้าใจความจริงและดําเนินชีวิตนําทางสังคมอย่างใหม่

เรื่องราวความเป็นไปอย่างที่ว่ามานี้ ทําให้พวกพราหมณ์ที่ยึดถือมั่นไม่พอใจ บ้างก็ถึงกับหาทางกําจัดพระพุทธศาสนา เฉพาะอย่างยิ่ง การบูชายัญเป็นหลักปฏิบัติใหญ่ เป็นที่ใช้อํานาจสิทธิ์ขาด และเป็นที่มาของผลประโยชน์มากมายของ พราหมณ์ เมื่อพระพุทธศาสนาสอนว่าการบูชายัญไม่มีผล และ สอนคนให้เลิกบูชายัญ พราหมณ์ก็ยิ่งผูกความแค้นเคืองอันไว้ จนถึงยุคหลังๆ ต่อมา พราหมณ์ใหญ่ที่ออกมาเป็นฮินดูทั้งหลาย ทั้งสายไวษณพ ที่นับถือพระวิษณุนารายณ์ และสายไศวะ ที่นับ ถือพระศิวะอิศวร ก็พากันพุ่งเป้ามาที่จะต้องกําจัด พระพุทธศาสนาลงให้ได้

เริ่มแต่ในยุคแรก ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๑๘- ๒๖๐) ที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนา อํานาจและอิทธิพลของ พราหมณ์ยิ่งน้อยลง พระเจ้าอโศก ถึงกับทรงให้เขียนประกาศใน ศิลาจารึกห้ามทําการบูชายัญด้วยชีวิต ไม่ว่าสัตว์ใหญ่น้อยชนิด ไหนๆ นี่คือทําให้พราหมณ์ขัดใจแค้นเคืองมาก

แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อพระเจ้าอโศกไม่ทรงถือวรรณะ พราหมณ์ซึ่งเป็นคนชั้นสูงเจ้าคัมภีร์ก็เข้ามารับราชการเป็นใหญ่เป็นโตโดยสะดวก เหมือนรอเวลาที่จะเอาคืน (เมื่ออังกฤษเข้ามาครองอินเดียเป็นอาณานิคม ก็ใช้อํานาจบังคับ ห้ามเอาคน เอาเด็ก เอาสาวพรหมจารีมาบูชายัญ จนถึงรัฐบาลอินเดียสมัยปัจจุบันก็มีกฎหมายห้าม แต่ขนาดมีกฎหมายให้ลงโทษอย่างแรง ก็ยังมีการลักลอบเอาเด็กหญิงพรหมจารีไปบูชายัญสังเวยเจ้าแม่กาลี นี่คืออํานาจความเชื่อแบบพราหมณ์)

@@@@@@@

เวลาผ่านมาแค่ราว ๑ ศตวรรษ ถึงรัชกาลพระเจ้าพฤหัทรถ ที่เป็นนัตตาหรือปนัดดาของพระเจ้าอโศกมหาราช พวกพราหมณ์ก็ ได้โอกาส โดยพราหมณ์ชื่อว่าบุษยมิตร ซึ่งเข้ามารับราชการจนได้เป็นเสนาบดี ได้วางแผนปลงพระชนม์ในพิธีสวนสนาม ล้มโมริยวงศ์ของพระเจ้าอโศกลงในราว พ.ศ. ๒๕๖ แล้วพราหมณ์ปุษยมิตร ก็ขึ้นเป็นราชา ตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อว่าคุงคะราชาปุษยมิตรได้รื้อฟื้นการบูชายัญขึ้นมา โดยทําพิธีอัศวเมธ (ฆ่าม้าบูชายัญ) อย่างยิ่งใหญ่ และทําลายพระพุทธศาสนา โดยเผาวัด กําจัดพระภิกษุสงฆ์ ถึงกับให้ค่าศีรษะแก่ผู้ฆ่าพระภิกษุ ได้ รูปละ ๑๐๐ ทินาร์

แต่ปุษยมิตรคงทําลายได้ไม่เต็มที่ เพราะแว่นแคว้นแตกแยก ออกไป บางถิ่นก็ยังบํารุงพระพุทธศาสนา เช่น พญามิลินท์ หรือ เมนานเดอร์ กษัตริย์พุทธแห่งแคว้นโยนก หรือ Bactria ซึ่ง ครองราชย์ที่เมืองสาคละ หรือสากละ (ในปัญจาบปัจจุบัน) ก็เป็น องค์อุปถัมภกสําคัญ

ต่อมาอีกราว ๗๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๑๐๕๐ เศษ ที่เมืองสาคละ นั่นแหละ กษัตริย์มิตรกุละ (หรือ มหิรกุละ) ซึ่งเป็นชนเผ่าฮั่นขาว หรือหูณะ ที่บุกเข้าอินเดียมาทางอิหร่านและอัฟกานิสถาน ได้ขึ้น ครองราชย์ อยู่ในศาสนาพราหมณ์ โดยเป็นฮินดูนิกายไศวะ (นับ ถือพระศิวะ คืออิศวร) ได้ทําการร้ายตามที่พระถังซัมจั๋งเขียนเล่าไว้ ว่า มิหิรกุละได้สั่งให้กําจัดพุทธศาสนาให้หมดสิ้นจากดินแดนของพระองค์ทุกแห่ง

แต่มิหิรกุละถูกตอบโต้โดยพระเจ้าพาลาทิตย์ กษัตริย์ราชวงศ์ คุปตะ แห่งมคธ แล้วทําสงครามกัน มีหิรกุละถูกจับได้และขังไว้

ต่อมา มีหิรกุละหนีได้ ไปลี้ภัยอยู่ในแคว้นกัษมีระ (แคช เมียร์) แล้วสังหารกษัตริย์กับมีระเสีย ขึ้นเป็นกษัตริย์เอง แล้วรื้อฟื้น แผนการกําจัดพระพุทธศาสนา โดยล้มล้างพระสถูปทั้งหลาย ทําลายวัด ๑,๖๐๐ วัด สังหารพุทธศาสนิกชน ๙๐๐ โกฏิ แต่ใน ที่สุด ได้กระทําอัตวินิบาตกรรม โดยโจนเข้ากองไฟ

ต่อมาอีก ๑๐๐ ปี ราว พ.ศ. ๑๑๕๐ ศาสางกะ ซึ่งอยู่ใน ศาสนาพราหมณ์นั่นแหละ โดยเป็นกษัตริย์ฮินดูนิกายไศวะ เช่นเดียวกัน ครองราชย์ในแคว้นเคาตะ ในเบงกอลปัจจุบันภาค กลาง ได้ปลงพระชนม์กษัตริย์พุทธพระนามว่าราชยวรรธนะ แล้ว ทําลายพุทธศาสนาอย่างมากมาย แม้แต่เหรียญเงินตราของ กษัตริย์นี้ ก็เขียนกํากับชื่อราชาไว้ว่า “ผู้ปราบพุทธศาสนา” พระถังซัมจั๋งเขียนบันทึกไว้ว่า ศาศางกะได้สังหารพระภิกษุ ในแถบกุสินารา (กุศนคร) หมดสิ้น ทําให้สงฆ์พินาศไป และเป็นราชาที่ไปโค่นต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยาลง และขุดรากขึ้นมาเผา กับทั้งนําเอาพระพุทธรูปออกไปจากพระวิหารทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น นําเอาศิวลึงค์เข้าไปไว้แทน

นอกจากนี้ นักบวชไศวะที่สําคัญคือ กุมารละ และตั้งกราจารย์ ก็เที่ยวสั่งสอนโจมตีพระพุทธศาสนา และไม่เท่านั้น เมื่อเดินทางไปไหน ก็พยายามชักจูงชวนกษัตริย์และคนชั้นสูงที่มีอํานาจ ให้เลิกอุปถัมภ์บํารุงวัดและพระพุทธศาสนา

แล้วสุดท้าย ราว พ.ศ. ๑๗๔๙ กองทัพมุสลิมเตอร์ก ก็บุกทําลายล้างพระพุทธศาสนาหมดสิ้นจากอินเดีย
ที่เล่ามานี้ เป็นตัวอย่างให้เห็นภัยอันตราย ที่ทําให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสลาย

@@@@@@@

ทีนี้ก็มาดูเหตุการณ์สําคัญเมื่อใกล้ก่อนถึง พ.ศ. ๑๐๐๐ จะ ได้เห็นว่าเวลานั้น ในอินเดีย พระพุทธศาสนาก็โทรมหนักแล้ว การเล่าเรียนศึกษาธรรมวินัยอ่อนกําลัง ทําได้ยาก

มีเรื่องว่า เมื่อราว พ.ศ. ๙๕๖ ที่อินเดีย ณ ถิ่นใกล้เคียงต้นมหาโพธิ์ที่ตรัสรู้นั่นเอง ในบ้านพราหมณ์ครอบครัวหนึ่ง มีเด็กฉลาดเกิดขึ้น ชื่อโมสะ มาณพน้อยนี้เรียนจบไตรเพท เก่งกล้าในศิลปศาสตร์ทุกอย่าง และเป็นเจ้าวาทะ จึงได้เดินทางไปในคามนิคมนครราชธานี ทั่วชมพูทวีป เที่ยวถกเถียงทางวิชาการไปทั่ว จนมาถึงวัดหนึ่ง ยังไม่พบใคร

ถึงราตรีก็สาธยายคําสอนของปตัญชลี (ผู้แต่ง “โยคสูตร”) พระมหาเถระที่วัดนั้นชื่อเรวัตได้ยิน ฟังแล้วก็รู้ว่าเขาเป็นคนเก่งมาก คิดว่าควรจะให้เขารู้จักธรรม จึงแกล้งพูดว่าใครหนอมา ร้องเสียงอย่างกับลา

มาณพถามกลับมาว่า ท่านรู้เข้าใจ ความหมายในเสียงลาหรือ พระเถระตอบว่ารู้ มาณพจึงซักถาม ตามหลักวิชาของพราหมณ์ ตั้งแต่ไตรเพท พระเถระก็ตอบได้หมด เสร็จแล้วจึงขอเป็นฝ่ายถามบ้าง (ในพุทธโฆสปปวตฺติกถา ท้าย คัมภีร์วิสุทธิมัคคี ฉบับอักษรไทย คําถามของพระเถระที่นี่ ตรงกับ ในเรื่องของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ในสมันตปาสาทิกา น่าจะ มีความพลั้งเผลออะไรสักอย่าง จึงขอเล่าพอเป็นเค้าตามคัมภีร์สาสนวงศ์)

โดยถามเรื่องปรมัตถธรรมตามนัยแห่งอภิธรรมมาติกา มาณพตอบไม่ได้ จึงถามว่าเป็นเรื่องอะไร พระเถระก็ตอบว่า เป็น "พุทธมนต์" มาณพก็อยากเรียน แล้วก็ได้บรรพชาและ อุปสมบท และศึกษาพุทธพจน์จนจบพระไตรปิฎก มีชื่อเสียง ปรากฏว่าเป็นพระพุทธโฆส

พระพุทธโฆสนี้มีปรีชาสามารถมาก จึงคิดแต่งตํารา เริ่มด้วยคัมภีร์ญาโณทัย เสร็จแล้วก็จะแต่งอรรถกถาอภิธรรม พระอาจารย์ คือพระมหาเถระเรวัตจึงบอกให้รู้ว่า ในชมพูทวีปนี้มีเหลือแต่พระไตรปิฎกบาลีเท่านั้น ไม่มีอรรถกถาและคัมภีร์อื่นๆ แต่ในสิงหลทวีปมีอรรถกถา ที่พระมหินทเถระจัดรวบรวมไว้เป็นภาษาสิงหล ซึ่งยังสืบกันมา ขอให้พระพุทธโฆสไปที่สิงหลทวีปนั้น สํารวจดูแล้ว แปลกลับมาเป็นภาษามคธคือภาษาบาลี ก็จักก่อเกิดประโยชน์แก่คนทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธโฆสจึงได้ลงเรือเดินทางไปลังกาทวีป เข้าไปอยู่ที่มหาวิหาร ในเมืองอนุราธปุระ และได้ขออนุญาตสังฆะ ที่นั่นในการที่จะแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับมาเป็นภาษาบาลี เพื่อนํากลับไปใช้ที่ถิ่นแดนเดิมในชมพูทวีป

ทั้งนี้มีเรื่องราวยืดยาว เริ่มตั้งแต่ทดสอบความสามารถด้วย การแต่งคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ แล้วได้รับอนุญาตให้แปลอรรถกถา จนในที่สุดก็สําเร็จจบสิ้นตามปรารถนา และนํากลับมายังชมพูทวีป ดังที่เรามีอรรถกถาภาษาบาลีซึ่งใช้ประกอบการศึกษาพระไตรปิฎกอยู่ในบัดนี้

ขอให้เข้าใจว่า พระพุทธโฆสาจารย์เป็นผู้เริ่มต้นยุคอรรถกถาที่กลับมีเป็นภาษาบาลีขึ้นใหม่ ท่านได้จัดทําอรรถกถาขึ้นเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ถึงกับครบบริบูรณ์ มีพระอรรถกถาจารย์รูปอื่นๆ ทําส่วนที่ยังขาดอยู่จนเสร็จสิ้น ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นและ ต่อจากนั้นไม่นาน

(ยังมีต่อ..)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 03, 2024, 09:48:14 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ