สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 22, 2018, 06:14:04 am



หัวข้อ: “วัดเขาพระอังคาร” ไหว้พระ ชมวัดโบราณพันปี ที่บุรีรัมย์
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 22, 2018, 06:14:04 am


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/561000010626701.JPEG)
อุโบสถวัดเขาพระอังคาร


“วัดเขาพระอังคาร” ไหว้พระ ชมวัดโบราณพันปี ที่บุรีรัมย์

งาน “โมโตจีพี ไทยแลนด์” หรือการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก โมโตจีพี 2018 ที่จัดขึ้นที่บุรีรัมย์เพิ่งจบไปหมาดๆ เป็นงานที่สร้างความคึกคักให้กับเมืองบุรีรัมย์ได้เป็นอย่างมาก และทำให้ชื่อของจังหวัดบุรีรัมย์เป็นที่รู้จักแก่ชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วก็คือ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” แต่วันนี้อยากแนะนำอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลกันและควรค่าแก่การไปชม นั่นก็คือ “วัดเขาพระอังคาร”

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/561000010626703.JPEG)
รอบอุโบสถมีพระพุทธรูปล้อมรอบ

“วัดเขาพระอังคาร” ตั้งอยู่ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ไม่ไกลจากเขาพนมรุ้ง ตัววัดตั้งอยู่บนยอดเขาพระอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว

ก่อนอื่นขอเล่าถึงลักษณะของเขาพระอังคาร ภูเขาลูกนี้เป็นเนินเขาฐานกว้าง เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟในยุคควอเทอร์นารีเมื่อประมาณ 700,000 ปีมาแล้ว หากทองจากที่สูงจะมองเห็นเป็นรูปพญาครุฑที่กำลังกระพือปีกหรือคว่ำหน้าหันหัวไปทางทิศใต้ โดยมีปากปล่องใหญ่อยู่ที่เขากระดูกซึ่งเป็นจุดสูงสุด เกิดจากหินหลอมละลายปะทุออกมาแล้วเย็นตัวอย่างรวดเร็ว จึงพอกสะสมตัวในทางดิ่ง กลายเป็นเนินเขาสูงชันแบบ Plug Dome รอบเขากระดูกเป็นแอ่ง Caldera ซึ่งเกิดจากการทรุดถล่มของปากปล่องภูเขาไฟ โดยเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดในประเทศไทย และวัดเขาพระอังคารตั้งอยู่ตรงขอบของแอ่งนี้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 320 เมตร


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/561000010626704.JPEG)
ภายในอุโบสถ

ก่อนที่จะมีการสร้างวัดเขาพระอังคารขึ้นในบริเวณนี้ มีหลักฐานว่าที่นี่เคยเป็นพุทธสถานมาแต่โบราณ โดยได้พบโบราณวัตถุคือใบเสมาหินบะซอลต์สมัยทวารวดีซึ่งพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยตั้งอยู่รอบอุโบสถ ใบเสมาเหล่านี้มีภาพสลักรูปบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 อายุประมาณ 1,300 ปี

อีกทั้งในประวัติลายแทงธาตุพนมกล่าวว่าเมื่อ พ.ศ.8 มีการนำพระอังคารธาตุ (เถ้ากระดูก) ของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานที่เขาลูกนี้ จนถึง พ.ศ. 2520 พระอาจารย์ปัญญา วุฒิโธ จึงได้มาสร้างวัดบนยอดเขา และนำพระอังคารธาตุขึ้นบรรจุในสถูปบนยอดของอุโบสถที่สร้างขึ้นโดยนำศิลปะสมัยต่างๆ มาผสมผสานกันภายในบริเวณวัด


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/561000010626705.JPEG)
เสมาหินทรายอายุนับพันปี

เมื่อมาถึงยังวัดจะมองเห็นอุโบสถที่ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมหลายสมัย เป็นพระปรางค์ที่มียอดเจดีย์ 3 องค์บนฐานเดียวกัน มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามมุมและซุ้มทิศต่างๆ เมื่อเข้าไปภายในกราบพระประธานก็จะได้รับบรรยากาศอันเงียบสงบ มองไปรอบๆ ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดก ที่มีความพิเศษคือมีตัวอักษรบรรยายเรื่องราวเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ชาวต่างชาติที่มาเยือนได้พอเข้าใจว่าแต่ละภาพเล่าถึงเรื่องราวอะไร

บริเวณรอบๆ อุโบสถมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยจำนวน 108 องค์ ตั้งเรียงรายล้อมรอบอุโบสถไว้ อีกทั้งยังมีใบเสมาหินทรายสลักภาพบุคคล สถูป ดอกบัว และธรรมจักรสมัยทวารวดี 8 คู่ ตั้งไว้รอบๆ โบสถ์ ในวิหารหลังหนึ่งด้านข้างพระอุโบสถประดิษฐานพระคันธารราษฎร์และรอยพระพุทธบาทจำลอง


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/561000010626706.JPEG)
ิวิหารด้านข้างอุโบสถ

ขณะที่บริเวณลานสนามกลางแจ้งหน้าวัดมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระพุทธรูปนอน) ขนาดใหญ่ สร้างด้วยงานพุทธศิลป์รูปแบบเฉพาะตัว เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของเขาอังคารให้ผู้ที่มาเยือนได้สักการะกัน

ผู้ที่อยากเดินทางมาชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัด สามารถเดินทางมาได้โดยจากบุรีรัมย์ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง-บ้านตะโก-บ้านตาเป็ก ซึ่งเป็นทางเดียวกับไปปราสาทหินพนมรุ้ง เมื่อเดินทางถึงบ้านตาเป็ก เลี้ยวขวาตามทางไปอำเภอละหานทรายประมาณ 13 กิโลเมตรจะพบทางแยกขวาไปวัดเขาอังคารอีก 7 กิโลเมตร โดยเขาพระอังคารอยู่ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้งไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/561000010626707.JPEG)
ภายในประดิษฐานพระคันธารราษฎร์และรอยพระพุทธบาท

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/561000010626709.JPEG)
วัดเขาพระอังคารอยู่ห่างจากเขาพนมรุ้งราว 20 ก.ม.

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/561000010626702.JPEG)
พระนอนกลางแจ้งขนาดใหญ่


ขอบคุณที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9610000102491
เผยแพร่ : 16 ต.ค. 2561 13:18 , โดย : ผู้จัดการออนไลน์
Facebook :Travel @ Manager