ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พญานาคกับพุทธศาสนา  (อ่าน 1755 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
พญานาคกับพุทธศาสนา
« เมื่อ: สิงหาคม 29, 2020, 06:49:57 am »
0


เกร็ดน่ารู้ : พญานาคกับพุทธศาสนา
 
+++++++++++++++++++++++++++++++++

ที่มาของตำนานนาคหรือพญานาค

นาค หรือ พญานาค มีลักษณะคือ เป็นงูใหญ่มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และนาคยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล นาคเป็นเทพเจ้าแห่งท้องน้ำ บางแห่งก็ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฟ้า พญานาคชั้นสูงเกิดแบบโอปปาติกะ เป็นชนชั้นปกครอง

ที่อยู่ของพญานาคมีตั้งแต่ในแม่น้ำ หนอง คลอง บึงต่างๆ ในอากาศ จนไปถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกพญานาคอยู่ในการปกครองของท้าววิรูปักษ์ ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศตะวันตก เหตุที่มาเกิดเป็นพญานาคเพราะทำบุญเจือด้วยราคะ

มีการสืบค้นได้ว่า ตำนานพญานาคมีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ ด้วยเหตุจากภูมิประเทศทางอินเดียใต้เป็นป่าเขาจึงทำให้มีงูอยู่ชุกชุม งูจึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้การนับถือว่ามีอำนาจ ชาวอินเดียใต้จึงนับถืองูเป็นสัตว์เทวะชนิดหนึ่ง ในเทพนิยายและตำนานพื้นบ้าน บ้างก็ว่า เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีความเชื่อเรื่องพญานาคแพร่หลายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วทวีปเอเชีย โดยเรียกชื่อต่างๆกัน

ปัจจุบันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีตำนานเรื่องพญานาคอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่า พญานาค อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษาโดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่ และเมื่อไปเล่นน้ำในแม่น้ำโขงควรยกมือไหว้เพื่อเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังความเชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาค ในช่วงเทศกาลออกพรรษา



ตระกูลของนาค นาคแบ่ง ออกเป็น 4 ตระกูลใหญ่ คือ
- ตระกูลวิรูปักษ์ พญานาคตระกูลสีทอง
- ตระกูลเอราปถ พญานาคตระกูลสีเขียว
- ตระกูลฉัพพยาปุตตะ พญานาคตระกูลสีรุ้ง
- ตระกูลกัณหาโคตมะ พญานาคตระกูลสีดำ

การเกิดของพญานาค เกิดได้ทั้ง 4 แบบ คือ
1. แบบโอปปาติกะ เกิดแล้วโตทันที
2. แบบสังเสทชะ เกิดจากเหงื่อไคล สิ่งหมักหมม
3. แบบชลาพุชะ เกิดจากครรภ์         
4. แบบอัณฑชะ เกิดจากฟองไข่

นาคแม้จะแปลงกายได้ แต่จะกลับมาเป็นงูใหญ่ได้ใน 5 กรณี ดังนี้
1) ขณะเกิด
2) ขณะลอกคราบ
3) ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค
4) ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ
5) ที่สำคัญ ตอนตาย
 

ภาพ : Shutter Stock

ความเชื่อเรื่องพญานาค

ตำนานความเชื่อเรื่องพญานาคมีความเก่าแก่มาก ดูท่าว่าจะเก่ากว่าพุทธศาสนาอีกด้วย ความเชื่อในฝั่งตะวันตกในตำนานของฝรั่ง หรือชาวตะวันตก ถือว่า เป็นตัวแทนของกิเลส ความชั่วร้าย ซึ่งตรงข้ามกับชาวตะวันออก ที่ถือว่า งูใหญ่ พญานาค มังกร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังอำนาจ
 
ชาวฮินดูถือว่า พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่าง ๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณ์ ที่เชื่อว่า นาค เป็นเทพแห่งน้ำ เช่นปีนี้ นาค ให้น้ำ 1 ตัว แปลว่า น้ำจะมาก จะท่วมที่ทำการเกษตร ไร่นา ถ้าปีไหน นาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อย ตัวเลขนาคให้น้ำจะกลับกันกับเหตุการณ์ เนื่องจาก ถ้านาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อยเพราะนาคกลืนน้ำไว้
 
@@@@@@@

รวมความเชื่อท้องถิ่นเกียวกับพญานาค

1. พญานาค งูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และ บันไดสายรุ้งสู่จักรวาล เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จากการจำศีล บำเพ็ญภาวนา ศรัทธาในพุทธศาสนา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เราจะพบเห็น เป็นรูปปั้นหน้าโบสถ์ ตามวัดต่าง ๆ บันไดขึ้นสู่วัดในพุทธศาสนา ภาพเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง กับศาสนาพุทธอีกมากมาย

2. พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้ เช่น คราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น
 
3. พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน

4. พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่า เมื่อบนสวรรค์มีเทพอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อน ๆ กัน ชั้นสูง ๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์
 
5. พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลกจนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขั้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้น ๆ

พญานาค หรือ งูใหญ่ นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก จะมีเป็นบางครั้งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ พญานาคเป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดี และความไม่ดี


ที่มา : Shutter Stock

นาคที่มีปรากฎในพระไตรปิฏก ในพุทธศาสนา

๑. แปลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวช

[๑๒๗] ก็โดยสมัยนั้นแล นาคตัวหนึ่งอึดอัด ระอา เกลียดกำเนิดนาค จึงนาคนั้นได้มีความดำริว่า ด้วยวิธีอะไรหนอ เราจึงจะพ้นจากกำเนิดนาค และกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน. ครั้นแล้วได้ดำริต่อไปว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวแต่คำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม หากเราจะพึงบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ด้วยวิธีเช่นนี้ เราก็จะพ้นจากกำเนิดนาคและกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน

    ครั้นแล้วนาคนั้นจึงแปลงกายเป็นชายหนุ่ม แล้วเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา. ภิกษุทั้งหลายจึงให้เขาบรรพชาอุปสมบท.

    สมัยต่อมา พระนาคนั้นอาศัยอยู่ในวิหารสุดเขตกับภิกษุรูปหนึ่ง.ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรี ภิกษุรูปนั้น ตื่นนอนแล้วออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง. ครั้นภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว. พระนาคนั้นก็วางใจจำวัด. วิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู. ขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง.

    ครั้นภิกษุรูปนั้นผลักบานประตูด้วยตั้งใจจักเข้าวิหาร ได้เห็นวิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู เห็นขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง ก็ตกใจ จึงร้องเอะอะขึ้น.
    ภิกษุทั้งหลายพากันวิ่งเข้าไปแล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า
    อาวุโส ท่านร้องเอะอะไปทำไม?
    ภิกษุรูปนั้นบอกว่า อาวุโสทั้งหลาย วิหารนี้ทั้งหลังเต็มไปด้วยงู ขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง.

    ขณะนั้น พระนาคนั้น ได้ตื่นขึ้นเพราะเสียงนั้น แล้วนั่งอยู่บนอาสนะของตน.
    ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส ท่านเป็นใคร?
    น. ผมเป็นนาค ขอรับ.
    ภิ. อาวุโส ท่านได้ทำเช่นนี้เพื่อประสงค์อะไร?
    พระนาคนั้นจึงแจ้งเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย.
    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วได้ทรงประทานพระพุทธโธวาทนี้แก่นาคนั้นว่า พวกเจ้าเป็นนาคมีความไม่งอกงามในธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา ไปเถิดเจ้านาค จงไปรักษาอุโบสถในวันที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์นั้นแหละ ด้วยวิธีนี้เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค และจักกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน.

     ครั้นนาคนั้นได้ทราบว่า ตนมีความไม่งอกงามในพระธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดาก็เสียใจหลั่งน้ำตา ส่งเสียงดังแล้วหลีกไป.

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งความปรากฏตามสภาพของนาค มีสองประการนี้ คือ เวลาเสพเมถุนธรรมกับนางนาค ผู้มีชาติเสมอกัน ๑ เวลาวางใจนอนหลับ ๑
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งความปรากฏตามสภาพของนาค ๒ ประการนี้แล
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว ต้องให้สึกเสีย.

 
อ้างอิง : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
ที่มา : เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔  บรรทัดที่ ๓๕๑๗ - ๓๕๕๐.  หน้าที่  ๑๔๓ - ๑๔๔.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=4&A=3517&Z=3550&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=127

ที่มา : Shutter Stock

๒. ภูริทัตตจริยาที่ ๒ ว่าด้วยจริยาวัตรของภูริทัตตนาคราช

[๑๒]  อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นพระยานาคชื่อ ภูริทัต มีฤทธิ์มาก เราไปยังเทวโลกพร้อมกับท้าววิรูปักข์มหาราช ในเทวโลกนั้น เราได้เห็นทวยเทพผู้สมบูรณ์ด้วยความสุขโดยส่วนเดียว จึงสมาทานศีลวัตร เพื่อต้องการจะไปยังสวรรค์นั้น เราชำระร่างกาย บริโภคอาหารพอเป็นเครื่องเลี้ยงอาชีพ

      แล้วอธิษฐานอุโบสถมีองค์ ๔ ประการว่า
     "ผู้ใดพึงทำกิจด้วยผิวหนังก็ดี ด้วยเนื้อก็ดี ด้วยเอ็นก็ดี ด้วยกระดูกก็ดี ขอผู้นั้นจงนำเอาอวัยวะที่เราให้นี้ไปเถิด" แล้วนอนอยู่บนยอดจอมปลวก

พราหมณ์อาลัมพาน อันบุคคลผู้ไม่รู้อุปการะที่บุคคลอื่นทำแล้ว บอกแล้ว ได้จับเราใส่ไว้ในตะกร้า ให้เราเล่นในที่นั้นๆ แม้เมื่อพราหมณ์อาลัมพานใส่เราไว้ในตะกร้า แม้เมื่อบีบเราด้วยฝ่ามือ เราก็ไม่โกรธ เพราะเรากลัวศีลของเราจะขาด

การที่เราบริจาคชีวิตของตนเป็นของเบาแม้กว่าหญ้า การล่วงศีลของเราเป็นเหมือนดังว่าแผ่นดิน เราพึงสละชีวิตของเราสิ้นร้อยชาติเนือง ๆ เราไม่พึงทำลายศีลแม้เพราะเหตุแห่งทวีปทั้ง ๔ ถึงแม้เราจะถูกพราหมณ์อาลัมพานใส่ไว้ในตะกร้าเราก็มิได้ทำจิตให้โกรธเคือง เพื่อรักษาศีลเพื่อบำเพ็ญศีลบารมีให้เต็ม ฉะนี้แล.

     จบภูริทัตตจริยาที่ ๒


 
อ้างอิง : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
ที่มา : เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓  บรรทัดที่ ๘๙๗๓ - ๘๙๙๑.  หน้าที่  ๓๘๔ - ๓๘๕.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8973&Z=8991&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=220

ที่มา : Shutter Stock

๓. พระสาคตเถระ เอตทัคคะในทางผู้ชำนาญเตโชสมาบัติ

พระสาคตะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ในเมืองสาวัตถี เมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดา แล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้วได้บำเพ็ญสมาณธรรมจนได้บรรลุสมาบัติ ๘ ฝึกฝนจนมีความชำนาญในองค์ฌานนั้น ที่ท่านมีความชำนาญเป็นพิเศษก็คือการเข้าเตโชสมาบัติแสดงฤทธิ์ช่วยชาวบ้าน

สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดา เสด็จจาริกไปตามคามนิคมและชนบทต่าง ๆ พระสาคตะได้ตามเสด็จไปด้วย พระพุทธองค์เสด็จถึงท่าเรืออัมพะ ซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านภัททวติกะ ใกล้พระนครโกสัมพี แคว้นเจตี ในบริเวณใกล้ ๆ ท่าเรือนั้น มีอาศรมฤาษีชฏิลตั้งอยู่ และชฏิลนั้นนับถือบูชาพญานาคชื่อว่าอัมพติฏฐกะ ซึ่งเป็นสัตว์มีพิษและมีฤทธิ์อำนาจมากกว่าพญานาคทั่วไป สามารถบันดาลให้ดินฟ้าอากาศเป็นไปตามต้องการได้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อันเป็นผลมาจากการบันดาลของพญานาคนั้น

พระสาคตเถระ ทราบความเดือดร้อนของชาวบ้าน เกิดความสงสารจึงได้ช่วยเหลือ ด้วยการเข้าไปในโรงไฟที่พญานาคอาศัยอยู่ นั่งขัดสมาธิอธิษฐานจิตในที่ไม่ไกลจากพญานาค ทำให้พญานาคโกรธแล้วพ่นควันพิษใส่ท่าน ท่านก็เข้าเตโชสมาบัติให้เกิดควันไฟใส่พญานาค บันดาลให้เกิดความเจ็บปวดแก่พญานาค

ทั้งพระเถระและพญานาคได้แสดงอิทธิฤทธิ์เข้าต่อสู้กันหลายประการ จนในที่สุดพญานาคก็สิ้นฤทธิ์ไม่สามารถจะทำอะไรพระเถระได้ แต่กลับถูกพระเถระกระทำจนได้รับความเจ็บปวดบอบช้ำ และในที่สุดก็เลิกละการกลั่นแกล้งให้ประชาชนเดือดร้อน ฝนตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านทำไร่ทำนาได้ดี มีความสุขกายสุขใจ และไม่ลืมที่จะระลึกถึงคุณของพระเถระที่ให้การช่วยเหลือ

 
อ้างอิง : http://www.84000.org/one/1/40.html




แหล่งข้อมูล :-
- พญานาคราช ย้อนรอยจากพุทธกาลสู่ตำนานลู่มแม่น้ำโขง สืบค้นจาก http://payanakara.blogspot.com/2012/10/blog-post.html ,เมื่อ 5 พย 61
- https://www.thairath.co.th/content/930225 ,เมื่อ 5 พย 61
- สืบค้นจาก http://www.84000.org/one/1/40.html ,เมื่อวันที่ 5 พย 61
Posted By มหัทธโน | 25 ต.ค. 61
ขอบคุรเว็บไซต์ : https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/69711/-dhart-
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 02, 2020, 08:02:31 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ