ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: โคทัตตเถรคาถา  (อ่าน 268 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
โคทัตตเถรคาถา
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 04, 2024, 08:50:37 am »
0
.



พระโคทัตตเถระ

ว่าด้วย : ผู้ไม่ติดอยู่ในโลก
เหตุการณ์ : บุพกรรมและคาถาสุภาษิตของพระโคทัตตเถระ

ท่านพระโคทัตตเถระได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานในภพนั้น ๆ ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก

ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลแห่งพ่อค้าเกวียนในกรุงสาวัตถี ชื่อว่าโคทัตตะ เมื่อท่านเจริญวัยแล้ว บิดาของท่านตายลง ท่านจึงรวบรวมทรัพย์เอาเกวียน ๕๐๐ เล่มบรรทุกสินค้า ท่องเที่ยวไป ๆ มา ๆ เลี้ยงชีพด้วยการค้าขาย กระทำบุญตามกำลังสมบัติ

วันหนึ่ง เมื่อโคที่เทียมแอกไว้ไม่สามารถลากเกวียนไปได้ ท่านจึงแทงโคนั้นที่หางอย่างแรง โคนั้นโกรธ กล่าวว่าโคลากเกวียนของท่านไปอย่างเต็มกำลังตลอดมา แต่วันนี้ท่านทำร้ายอย่างรุนแรง เพราะเหตุที่โคไม่อาจลากเกวียนนี้ไปได้ ถ้าโคตายจากอัตภาพนี้แล้ว จะขอตามเบียดเบียนท่านในอัตภาพหน้า เมื่อโคทัตตะได้ฟังจึงคิดว่าการเลี้ยงชีพด้วยการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายจะมีประโยชน์อะไรท่านเกิดความสังเวช ละสมบัติทั้งหมด บวชในสำนักของพระมหาเถระรูปหนึ่ง บำเพ็ญวิปัสสนากรรม ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต ยับยั้งอยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่สมาบัติ

วันหนึ่งจึงปรารภโลกธรรมของหมู่พระอริยะ ผู้เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต ผู้มายังสำนักของตน เมื่อจะแสดงธรรม จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

@@@@@@@

โคทัตตเถรคาถา คาถาสุภาษิตของพระโคทัตตเถระ

โคอาชาไนยที่ดีอันเขาเทียมแล้วที่แอกเกวียน ไปได้ไม่ย่อท้อต่อภาระอันหนัก ไม่ทอดทิ้งเกวียนอันเขาเทียมแล้ว แม้ฉันใด บุคคลเหล่าใดบริบูรณ์ด้วยปัญญา เหมือนมหาสมุทรอันเต็มด้วยน้ำ บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ดูหมิ่นผู้อื่น ฉันนั้น ย่อมเป็นดังอริยธรรมของสัตว์ทั้งหลาย

นรชนผู้ตกอยู่ในอำนาจของเวลา ตกอยู่ในอำนาจของภพน้อยภพใหญ่ ย่อมเข้าถึงความทุกข์และต้องเศร้าโศก

คนพาลไม่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง ย่อมเดือดร้อนด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
    มีใจฟูขึ้นเพราะเหตุแห่งสุข ๑
    มีใจฟุบลง เพราะเหตุแห่งทุกข์ ๑

ชนเหล่าใดก้าวล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในทุกขเวทนา ในสุขเวทนา และในอทุกขมสุขเวทนา ชนเหล่านั้นเป็นผู้ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวเหมือนเสาเขื่อน เป็นผู้ไม่ฟูขึ้นและฟุบลง ชนเหล่านั้นย่อมไม่ติดอยู่ในลาภ ความเสื่อมลาภ ในยศ การเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ทั้งหมด ดังหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น

    • นักปราชญ์ทั้งหลายมีความสุข และได้ชัยชนะในที่ทุกแห่งไป การไม่ได้ลาภโดยชอบธรรมกับการได้ลาภโดยไม่ชอบธรรม ทั้งสองอย่างนี้ การไม่ได้ลาภอันชอบธรรมประเสริฐกว่า การได้ลาภอันไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร

    • คนไม่มีความรู้ มียศ กับคนมีความรู้ แต่ไม่มียศ คนมีความรู้ไม่มียศประเสริฐกว่า คนไม่มีความรู้มียศจะประเสริฐอะไร

    • การสรรเสริญจากคนพาล กับการติเตียนจากนักปราชญ์ การติเตียนจากนักปราชญ์ประเสริฐกว่า การสรรเสริญจากคนพาลจะประเสริฐอะไร

    • ความสุขอันเกิดจากกามคุณ กับความทุกข์อันเกิดจากวิเวก ความทุกข์อันเกิดจากวิเวกประเสริฐกว่า ความสุขอันเกิดจากกามคุณจะประเสริฐอะไร

    • ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรม กับความตายโดยธรรม ความตายโดยธรรมประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร


@@@@@@@

ชนเหล่าใดละกามและความโกรธได้แล้ว มีจิตสงบระงับเที่ยวไป ในภพน้อยภพใหญ่ ไม่ติดอยู่ในโลก ชนเหล่านั้นไม่มีความรักความชัง

บุคคลเจริญโพชฌงค์ ๗ อินทรีย์ ๕ และพละ ๕ แล้วบรรลุถึงความสงบอันยอดเยี่ยม หาอาสวะมิได้ ย่อมปรินิพพาน

 

 

 
ขอขอบคุณ :-
ที่มา : แสงธรรมแห่งพระไตรปิฎก
อ้างอิง : โคทัตตเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๓๘๒
URL : https://uttayarndham.org/node/5048
image by : https://uttayarndham.org/dhama-daily
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ