ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดคำพิพากษาคดี “ฐิตินาถ ณ พัทลุง” “ชาวพุทธ” ยกมือสาธุการทั้งแผ่นดิน  (อ่าน 226 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



เปิดคำพิพากษาคดี “ฐิตินาถ ณ พัทลุง” “ชาวพุทธ” ยกมือสาธุการทั้งแผ่นดิน เหลือบไรอาศัย “ธรรมะ” หากินมีหนาว

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นคดีที่อาจไม่ได้น่าสนใจสำหรับใครบางคน แต่สำหรับ “ชาวพุทธ” ทั่วทั้งแผ่นดินแล้ว คำพิพากษาที่ออกมาถึงกับต้อง “ยกมือขึ้นสาธุการ” โดยพร้อมเพรียงกันเลยทีเดียว เพราะบรรยายเอาไว้ถึงขนาดสังคมมีการตั้งข้อสังเกตกันเลยว่า ผู้พิพากษาน่าจะศึกษาเปรียญธรรมมาอย่างถ่องแท้

ขณะที่บรรดาพวกที่ชอบอ้างตัวเป็นไลฟ์โค้ช เปิดคร์อสเก็บเงินทำมาหากินจนร่ำรวยด้วยการแอบอ้างสอนธรรมะส่งเดชไปเรื่อย ได้มีร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างไม่มากก็น้อย

คดีที่ว่านั้นก็คือ คดีที่

“ครูอ้อย-ฐิตินาถ ณ พัทลุง” ไลฟ์โค้ชเข็มทิศชีวิต เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท ไทยเวิลด์ มีเดีย จำกัด จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และละเมิด พร้อมเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5,052,777 บาท สืบเนื่องมาจากเนื่องจาก เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” โพสต์ภาพ น.ส.ฐิตินาถ และบุคคลในวงการบันเทิงอื่นๆ และมีข้อความในภาพว่า “รวมคนดังชีวิตหวิดพังเพราะเข็มทิศ” และเขียนข้อความประกอบภาพว่า “เป็นประเด็นอย่างต่อเนื่องสำหรับคอร์สหลักสูตร “เข็มทิศชีวิต” “ของครูอ้อย ฐิตินาถ ณ พัทลุง” หลังคนในวงการต่างทยอยถอนตัวออกจากการวงจรของเจ้าตัวมากขึ้น

และเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้อง


@@@@@@@

คำพิพากษาบางช่วงบางตอนเขียนบรรยายเอาไว้ว่า

“ผู้เป็นพุทธศาสนิกชนย่อมต้องยอมรับว่าพระธรรมคำสั่งสอนที่ได้ประทานไว้ให้โดยมหากรุณานั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ประเสริฐสูงสุดมีคุณค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินใดๆ ในโลก และเป็นการประทานให้เปล่าๆ ไม่ต้องใช้เงินหรือทองเข้าแลก ดังนั้น จึงไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เหล่าพุทธบริษัท 4 ผู้หนึ่งผู้ใด ที่ได้เรียนรู้พระธรรมแล้วจะอาศัยเอาพระธรรมนั้นออกแสดงเพื่อการค้า หรือเพื่อแสวงหาผลกำไร เพราะเป็นการตีราคาพระธรรมคำสอนเทียบค่ากับเงินทอง เป็นการกระทำที่ไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยประการหนึ่ง เป็นหนทางที่จะนำไปสู่การเบียดเบียนในทางทรัพย์สิน เงินทองได้ประการหนึ่ง ทำให้บุคคลที่ยังไม่ได้มั่นคงในพระรัตนตรัยพากันเสื่อมถอยหนีห่างไปจากศาสนาประการหนึ่ง และประการสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการสั่งสอนหรือถ่ายทอดธรรมะให้บุคคลอื่น ผู้ตั้งตนเป็นครูอาจารย์ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ เป็นผู้ได้เปรียญธรรมหรือศึกษาปฏิบัติธรรมจนเป็นผู้ข้ามโคตรจากปุถุชนเป็นอริยะบุคคลอย่างชอบขั้นโสดาบัน มีคุณธรรมวิเศษในใจ มีดวงตาเห็นธรรมรู้เห็นอยู่ในแนวทางแห่งพระนิพพาน มีมรรคองค์ 8 เป็นปฏิปทาในตนแล้วจึงค่อยสามารถให้การอบรมสั่งสอนปุถุชนผู้ยังมีปัญญามืดบอดแต่มีศรัทธาได้ เพราะคนที่ยังเป็นปุถุชนและยังไม่ได้เปรียญธรรมหากเที่ยวไปสั่งสอนคนอื่น ก็เท่ากับคนตาบอดเดินจูงคนตาบอดไป ย่อมจะไม่สามารถถึงจุดหมายตามที่ปรารถนาได้ แต่กลับต้องประสบกับทุกข์และคลาดเคลื่อนออกนอกทางแห่งพรหมจรรย์ที่ทรงแสดงไว้ให้อย่างแน่แท้ และยิ่งหากเข้าลักษณะเป็นการใช้เงินจ้างในการจูง ก็เป็นการพ้นวิสัยที่จะเอาผิดเอาโทษกับบุคคลผู้จูงทั้งในทางแพ่งและทางอาญาได้ ด้วยเหตุผลที่เขาอ้างเอาว่าการชำระเงินเป็นความสมัครใจของผู้อยากเรียนรู้ธรรม และที่ใครไม่สามารถสร้างปัญญาได้ก็เป็นเรื่องของวาสนาแต่ละบุคคลเท่านั้น ดังนี้ หากมีบุคคลใดได้แสดงตนกระทำการดังกล่าวเช่นนั้นจึงไม่นับว่าเป็นบุคคลที่สมควรจะได้รับการยกย่องจากสาธุชนทั่วไปว่า เป็นผู้ประกอบคุณงามความดีหรือนำประโยชน์ทางศาสนามาให้สังคมแต่ประการใด ในขณะเดียวกัน ก็ย่อมเป็นผู้ไม่สมควรที่จะได้ไปซึ่งเงินของบุคคลที่แสวงหาที่พึ่งทางใจจากคำสอนในพระพุทธศาสนาอีกด้วย”

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการนำเสนอคำพิพากษาดังกล่าวออกไป ปรากฏว่า มีผู้แสดงความเห็นต่อคำพิพากษาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และมีการแชร์ความไปในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง

บางรายถึงกับยกข้อความคำพิพากษาบางช่วงบางตอนมาโพสต์ต่อ เช่น “

@@@@@@@

แพรี่ ไพรวัลย์ วรรณบุตร” ที่บอกว่า “ดิฉันได้อ่านคำพิพากษาของศาลที่มีต่อกรณีของอาจารย์ที่้เป็นไลฟ์โค้ชสอนธรรมะท่านหนึ่งแล้ว ดิฉันปลาบปลื้มใจมากค่ะ...” พร้อมกับแสดงความคิดเห็นตบท้ายโพสต์อีกต่างหากว่า “ปล. สาธุ ศาลท่านเทศนาถึงเพียงนี้แล้ว ต่อไปพวกที่ชอบอ้างตัวเป็นไลฟ์โค้ชเจ้าลัทธิเจ้าศาสดา เปิดคอร์สเก็บเงิน แอบอ้างสอนธรรมะส่งเดชไปเรื่อย ได้มีร้อนๆ หนาวๆ บ้างล่ะ”

หรือ “มล.ชัยนิมิต นวรัตน์” ที่โพสต์แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “อยากให้พุทธศาสนิกชนได้อ่านคำพิพากษาของศาล ซึ่งได้อธิบายผิดชอบชั่วดีของการแอบอ้างเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือหากินอย่างแจ่มกระจ่าง เสียดายที่เป็นการยกฟ้องโจทก์ ซึ่งแพ้คดีแล้วก็เหมือนเจ๊า ไม่ได้ไม่เสีย ถ้าหากเป็นการพิพากษาให้จำเลยแพ้ในการกระทำเช่นเดียวกันนี้ คงจะได้รับผลกรรมสาสมในชาตินี้ ไม่ต้องรอถึงชาติไหน”

นอกจากนั้น ถ้าหากได้อ่านคำพิพากษาโดยละเอียดก็มีความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะในทางคดีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเช่น

“เมื่อคดีนี้โจทก์เป็นผู้ยังไม่ได้เปรียญธรรมมีแต่ปริญญาทางโลก ได้ยอมรับว่าได้นำเอาหลักศาสนาพุทธมาใช้เป็นปัจจัยในการประกอบธุรกิจ มีรายได้และผลกำไรจากการเปิดคอร์สอบรม “เข็มทิศชีวิต” เป็นเงินไม่น้อยประมาณปีละ 10 ล้านบาทขึ้นไปโดยการเก็บเงินค่าสมัครเข้าอบรมคอร์สเข็มทิศชีวิตจะกำหนดค่าสมัครตามจำนวนผู้สมัคร หากมีผู้สมัครจำนวนน้อยจะคิดค่าสมัครแพงกว่ากรณีที่มีผู้สมัครจำนวนมาก ค่าคอร์สรายบุคคลในราคาหลักหมื่นไม่ก็หลักแสน โดยเพียงบุคคลเดียวหากเรียนหลายคอร์สจะต้องใช้เงินประมาณ 3 ล้านบาทนั้น ย่อมเท่ากับเป็นการรับรองอยู่ในตัวต่อผู้มีศรัทธาในพระศาสนาว่า ตนเองมีภูมิจิตภูมิธรรมสูง เลยขั้นปุถุชนคนหนึ่งด้วยกิเลสไปแล้ว ซึ่งอย่างไรก็ดี คุณธรรมภายในใจเช่นว่าที่รู้ได้แต่เฉพาะตนส่วนคนอื่น ไม่สามารถจะรู้เห็นได้ ทำได้แต่เพียงคาดเดาเอาจากบุคลิกภาพ อันประกอบด้วย วาจากิริยา ท่าทางและการแต่งกาย อย่างไรก็ดี พอจะมีเครื่องหมายที่จะบ่งชี้ว่า อริยสาวกผู้ใดเป็นผู้มีคุณธรรมภายในเช่นนั้นได้ กล่าวคือ อริยสาวกผู้นั้นจะต้องเป็นผู้มีจิตเมตตา กรุณา ไม่กระทำสิ่งที่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจด้วยประการใด ๆ ทั้งสิ้น”


@@@@@@@

หรือที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการฟ้องร้องดำเนินคดีว่า...

“คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า บุคคลผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง เคยเข้าคอร์สอบรมเข็มทิศชีวิตกับโจทก์ มีความสนิทสนมรักใคร่ในตัวโจทก์ แต่ต่อมาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะลงข่าวกล่าวถึงโจทก์ด้วยกับคำตามฟ้อง บุคคลเหล่านั้นต่างก็ร้องขอให้โจทก์ลบรูปของตนที่ถ่ายคู่กับโจทก์ออกจากเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์คอร์สอบรม "เข็มทิศชีวิต" ของโจทก์และแสดงออกให้สังคมทราบว่า ไม่ยอมที่จะให้โจทก์ใช้ชื่อเสียงของตนไปประชาสัมพันธ์คอร์สอบรมของโจทก์อีก และเมื่อพิจารณาจากเอกสารข่าวของสำนักข่าวรวม 4 สำนัก ที่ลงข่าวในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 2566 มีเนื้อความกล่าวถึงพฤติการณ์ที่มีผู้เข้าคอร์ส "เข็มทิศชีวิต" กล่าวถึงพฤติกรรมของโจทก์ในการดำเนินงานเปิดคอร์สอบรมในทางเป็นลบต่อตัวโจทก์ สอดคล้องกับคำตอบถามค้านของพยานโจทก์ว่า โจทก์เป็นไลน์โค้ชชื่อดังมีรายได้จากการเปิดคอร์สอบรม "เข็มทิศชีวิต" หลายสิบล้านบาทต่อปี ได้ประสบปัญหาในเรื่องความไว้วางใจจากบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนที่เคยใกล้ชิดสนิทสนมและเคยเปิดคอร์สอบรม "เข็มทิศชีวิต" ของโจทก์ ต่างทยอยถอนตัวออกไปอยู่ห่างจากโจทก์ และไม่ยินยอมให้โจทก์ใช้ภาพถ่ายของเขาเหล่านั้น ที่เคยถ่ายร่วมกับโจทก์ ในขณะที่เข้าอบรมในคอร์ส "เข็มทิศชีวิต" นำไปใช้ในการโปรโมทคอร์สอบรมของโจทก์ และบางคนถึงขั้นขัดแย้งไปทางกฎหมายกับตัวโจทก์ ซึ่งเห็นว่าการที่โจทก์ต้องหยุดเปิดคอร์ส "เข็มทิศชีวิต" ไปก่อนหน้านี้ประมาณ 1 ปีเศษก็น่าเชื่อว่าเป็นผลมาจากข้อเท็จจริงการที่ผู้เข้าอบรมได้สัมผัสหรือได้เห็นปฏิปทาในทางธรรมของโจทก์ ที่ปรากฏอยู่ในข่าวซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนจำเลยที่ 1 ลงข่าว

@@@@@@@

“ดังนี้พฤติการณ์แห่งรูปคดีย่อมจะน่าเชื่อได้ว่า บรรดาบุคคลที่มีชื่อเสียงดังกล่าวนอกจากจะไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการเข้าคอร์สแล้ว ยังถึงขั้นกับตั้งตัวรังเกียจในตัวโจทก์อีกด้วย และโดยที่หลักการสำคัญของศาสนาพุทธ และทุกศาสนาที่ให้มนุษย์ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วยความมีเมตตาและกรุณา ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความผาสุกแล้ว เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงต้องเชื่อได้ว่าตัวโจทก์เป็นคนที่ได้กระทำให้บุคคลผู้เสียเงินสมัครเข้าอบรมคอร์ส “เข็มทิศชีวิต” ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ทั้งในด้านชื่อเสียงและเงินทอง จึงนับว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยหลักธรรมอันเป็นหลักการของศาสนาพุทธ ดังนี้ โจทก์จึงไม่อาจอาศัยการกระทำที่ขัดแย้ง ไม่ตรง และไม่เป็นไปโดยชอบด้วยคำสอนของพระศาสดา มีเจตนามุ่งหวังและแสวงหากำไรเป็นประโยชน์เฉพาะตน มาใช้เป็นฐานรองรับในการขอใช้อำนาจแห่งกฎหมายคุ้มครอง การกระทำดังกล่าวว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของตนโดยชอบธรรม เพื่อให้ลงโทษบุคคลอื่นที่กล่าวประกาศตีแผ่และตำหนิติเตียนเฉพาะแต่การกระทำและผลของการกระทำของโจทก์ โดยไม่ใช่เป็นการใส่ร้ายในเรื่องส่วนตัวของโจทก์แต่ประการใด ดังนี้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยในคดีอาญา ที่จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) พิพากษายกฟ้อง”

นี่นับเป็นคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่จำต้องบันทึกเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียว.






ขอบคุณ ; https://mgronline.com/daily/detail/9670000014590
เผยแพร่ : 17 ก.พ. 2567 05:54 | ปรับปรุง : 17 ก.พ. 2567 05:54 | โดย : ผู้จัดการออนไลน์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 17, 2024, 09:11:47 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ