ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "ทิด" คำสั้นนิด แต่ต้องคิดยาว  (อ่าน 735 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
"ทิด" คำสั้นนิด แต่ต้องคิดยาว
« เมื่อ: ธันวาคม 09, 2021, 10:19:34 am »
0




"ทิด" คำสั้นนิด แต่ต้องคิดยาว

คำนี้เขียนคำอ่านก็เขียนได้เท่าตัว คือ “ทิด” อ่านว่า ทิด เห็นคำว่า “ทิด” ก็ต้องรู้ว่าออกเสียงอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า
“ทิด : (คำนาม) คำนำหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระ เช่น ทิดบุญ ทิดเกิด.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ บอกไว้ว่า
“ทิด : (คำนาม) คำนำหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระ เช่น ทิดบุญ ทิดเกิด. (กร่อนมาจากคำว่า บัณฑิต).”

นั่นคือ พจนานุกรมฯ ฉบับ 54 เพิ่มคำในวงเล็บว่า “กร่อนมาจากคำว่า บัณฑิต” เป็นการให้ความรู้แก่ผู้อ่านว่า คำว่า “ทิด” มีที่มาอย่างไร

@@@@@@@

คำว่า “ทิด” ที่เป็นคำนำหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระ กร่อนมาจากคำว่า “บัณฑิต” ได้อย่างไร.?

“บัณฑิต” บาลีเป็น “ปณฺฑิต” อ่านว่า ปัน-ดิ-ตะ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น

     (1) ปณฺฑา ( = ปัญญา) + อิต ( = ไป, ดำเนินไป, เกิดขึ้นพร้อม) ลบสระที่ ปณฺฑา (ปณฺฑา > ปณฺฑ)
: ปณฺฑา > ปณฺฑ + อิต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” “ผู้มีปัญญาเกิดพร้อมแล้ว”

     (2) ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ปฑิ > ปํฑิ) แล้วแปลงเป็น ณ (ปํฑิ > ปณฺฑิ) : ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปสู่ความเป็นผู้ฉลาด”

     (3) ปณฺฑฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (ปณฺฑฺ + อิ + ต) : ปณฺฑฺ + อิ = ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์”

ความหมายของ “ปณฺฑิต” ในบาลีคือ สุขุม, ไตร่ตรอง, รอบรู้, ฉลาด, รู้ทัน, จัดเจน, หลักแหลม, รอบคอบ, ระมัดระวัง, ถี่ถ้วน, ชำนิชำนาญ, ช่ำชอง, ว่องไว, คล่องแคล่ว, มีความสามารถ, มีไหวพริบ, รู้จักคิด, รู้จักเหตุผล = รู้จักผิดชอบชั่วดีควรไม่ควร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑิต” เป็นอังกฤษว่า wise, clever, skilled, circumspect, intelligent.

“ปณฺฑิต” ในภาษาไทยใช้ว่า “บัณฑิต” (บัน-ดิด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า “บัณฑิต : ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต).”


@@@@@@@

ขยายความ

ความหมายเดิมแท้ของ “บัณฑิต” ก็คือ ผู้มีสติปัญญา รู้จักผิดชอบชั่วดี เว้นชั่ว ประพฤติดีได้ด้วยตนเองและสามารถแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย สังคมไทยถือว่า “วัด” เป็นสถาบันที่สั่งสอนอบรมคนให้รู้จักดำเนินชีวิตด้วยปัญญารู้จักผิดชอบชั่วดี ผู้ที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดเมื่อลาสิกขาออกมา สังคมจึงนับถือว่าเป็น “บัณฑิต”

ปัจจุบัน ความหมายของ “บัณฑิต” ในภาษาไทยมักหมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเท่านั้น จะมีความรู้จักผิดชอบชั่วดีหรือไม่แทบจะไม่คำนึงถึง นับว่าเป็นการทำให้ความหมายของคำบาลีทรามลงอย่างน่าเสียดาย

คำว่า “บัณฑิต” นี้ แต่เดิมเราคงอ่านว่า บัน-ทิด (ฑ มณโฑ ออกเสียงเหมือน ท ทหาร) ผู้เขียนบาลีวันละคำเอง เมื่อเริ่มอ่านหนังสือได้ก็อ่านคำว่า “บัณฑิต” ว่า บัน-ทิด

ต่อมาเสียง “บัน” กร่อนหายไป ทำนองเดียวกับคำไทยอีกหลายคำที่กร่อนแบบนี้ บัน-ทิด จึงเหลือแต่ “ทิด" พยางค์เดียว นี่คือคำตอบว่า “บัณฑิต” กร่อนกลายเป็น “ทิด” ได้อย่างไร

คำว่า “ทิด” จึงเป็นคํานําหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระมาจนทุกวันนี้ คนเก่าเรียกผู้สึกจากพระว่า “ทิด” กันทั่วไปอย่างสนิทปาก ผู้เขียนบาลีวันละคำเมื่อลาสิกขา ญาติมิตรส่วนมากไม่ได้เรียก “ทิด” แต่เรียกว่า “มหา” (มหาย้อย) แต่พี่สาวยังเรียกแบบคนเก่า คือเรียก “ทิดย้อย” บางครั้งก็เรียกเต็มยศว่า “ไอ้ทิดย้อย” ไม่เคยเรียก “มหา” เลย

อาจเป็นเพราะคนรุ่นน้องเรียกผู้สึกจากพระ โดยเพิ่มคำว่า “พี่” เข้าข้างหน้าเป็น “พี่ทิด” และเรียกเช่นนี้กันมาก ประกอบกับความรู้สึกที่ว่า คนที่บวชเรียนแล้วถือว่าเป็นผู้ใหญ่ จึงมักเรียกว่า “พี่ทิด” กันอย่างสนิทใจ คำว่า “พี่ทิด” จึงเป็นคำที่นิยมเรียกกันทั่วไปด้วย

การเรียกคนที่สึกจากพระว่า “ทิด” เป็นวัฒนธรรมทางภาษา-วัฒนธรรมของชาติอีกอย่างหนึ่ง

ดูก่อนภราดา.! เปลี่ยนคำ ง่ายเหลือล้น เปลี่ยนคน ยากเหลือล้ำ





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย
web : dhamma.serichon.us/2021/12/08/ทิด-คำสั้นนิด-แต่ต้องคิด/
Posted date : 8 ธันวาคม 2021, By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ